ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย

ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย => ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย => ข้อความที่เริ่มโดย: June0089 ที่ สิงหาคม 20, 2021, 07:04:17 pm

หัวข้อ: งานฟรีแลนต์โดนเบี้ยวค่าคอมมิชชั่น
เริ่มหัวข้อโดย: June0089 ที่ สิงหาคม 20, 2021, 07:04:17 pm
สวัสดีค่ะ ทำงานฟรีแลนส์เป็นแอดมินขายสินค้าในเพจได้รับค่าตอบแทนเป็นคอมมิชชั่นตามยอดขาย พูดคุยงานผ่านไลน์ค่ะ ตอนนี้ลาออกแล้วแต่เจ้านายค้างค่าคอมอยู่ 11 เดือนค่ะ ตามทวงตลอดก็ยังไม่ได้ค่ะ เขาบอกว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังให้ไม่ได้ สามารถทำยังไงได้บ้างคะ
หัวข้อ: Re: งานฟรีแลนต์โดนเบี้ยวค่าคอมมิชชั่น
เริ่มหัวข้อโดย: มโนธรรม ที่ สิงหาคม 23, 2021, 07:09:28 am
ร้องผู้ตรวจการแรงงาน ในท้องที่ คงช่วยได้..
หัวข้อ: Re: งานฟรีแลนต์โดนเบี้ยวค่าคอมมิชชั่น
เริ่มหัวข้อโดย: bantonmai ที่ กันยายน 22, 2021, 01:15:31 pm
ตามด้วยคนค่าาา >:(
หัวข้อ: Re: งานฟรีแลนต์โดนเบี้ยวค่าคอมมิชชั่น
เริ่มหัวข้อโดย: ทนายพร ที่ กันยายน 23, 2021, 11:05:32 am
ก็น่าเห็นใจทุกๆฝ่ายในสถานการเช่นนี้นะครับ

เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกท่าน คำถามนี้จึงจะอธิบายข้อกฎหมายเพื่อให้ได้ความรู้กันนะครับ ;D

กรณีนี้ ทำงานเป็นฟรีแลนส์ ก่อนที่จะดำเนินการต้องพิจารณาลักษณะงานที่ทำก่อนว่า เป็นการ "จ้างแรงงาน" หรือ "จ้างทำของ"

ซึ่ง "จ้างแรงงาน" นั้น วิธีสังเกตุง่ายๆก็คือ ผู้จ้างมีอำนาจ "บังคับบัญชา" หรือเรียกง่ายๆว่า สามารถสั่งงานได้ หากทำผิดก็ต้องได้รับโทษเช่น โดยตักเตือน ถูกพักงาน หรือถูกเลิกจ้างได้ การทำงานก็ต้องมีการกำหนดวันเวลาทำงาน วิธีการจ่ายค่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งจ้างแรงงานนี้กฎหมายไม่บังคับว่าจะต้องทำหนังสือสัญญาจ้างกันเท่านั้น เพียงตกลงจ้างกันด้วยวาจาก็ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว

แต่ถ้าเป็น "จ้างทำของ" ลักษณะจะตรงกันข้ามกับจ้างแรงงาน ซึ่ง "ผู้ว่าจ้าง" จะไม่มีอำนาจมาเจ้ากี้เจ้าการหรือสั่งงานเราได้ เราอยากจะทำงานเมื่อใดก็ได้ แต่ขอให้มี "ผลสำเร็จของงาน" หากไม่พอใจกันและกันก็เพียงยกเลิกการจ้างงาน เช่น เราเอารถยนต์ไปเข้าศูนย์บริการ ตัวเราจะเรียกว่า "ผู้ว่าจ้าง" และศูนย์บริการ จำเรียกว่า "ผู้รับจ้าง" หากผู้รับจ้างทำงานไม่ได้ตามที่เราบอกก็แค่บอกเลิกกันกัน หรือถ้าผู้รับจ้างไม่อยากทำงานให้กับเรา ก็แค่บอกปัดไม่รับงาน สัญญาก็ยุตินั่นเอง ประมาณนี้

ดังนั้น ท่านต้องพิจารณาว่าท่านเข้าเงื่อนไขใด... เพราะช่องทางการใช้สิทธิ์จะไม่เหมือนกัน

หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็น "จ้างแรงงาน" ให้ท่านไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (ยื่น คร.๗) ในพื้นที่ที่ท่านทำงานอยู่ ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการนั้นก็ไม่เกิน ๖๐ วัน แต่อาจขยายได้อีก ๓๐ วัน พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งแล้ว อาจจะสั่งให้จ่ายหรืออาจจะสั่งไม่จ่ายก็อยู่ที่พยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย

หากเป็น "จ้างทำของ" ท่านต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม หากจำนวนเงินไม่เกินกว่า ๓ แสน ก็ฟ้องที่ศาลแขวง ถ้าเกิน ๓ แสนก็ฟ้องที่ศาลจังหวัด ในกรณีนี้ท่านอาจต้องจ้างทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือในการทำคดีเพราะขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน และอาจต้องรีบดำเนินการโดยด่วนเพราะมีอายุความเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อรู้ข้อกฎหมายแล้วก็เทียบเคียงกับงานที่เราทำว่าเป็นแบบใด แล้วก็ตัดสินใจลุยโลดดดด..

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.