19/04/24 - 17:29 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 50
241
ไปติดต่อกรมแรงงาน (ที่ถูกคือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) แล้ว แต่ยังรู้สึกไม่โอ! เลยขอคำแนะนำว่าเอางัยดี?

เอาเป็นว่า..

ที่บอกว่าไปสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาแล้วนั้น ไปเล่าให้เจ้าหน้าที่ฟัง หรือไปเขียนคำร้องต่อเจ้าพนักงาน และถ้าเขียนคำร้องไม่ทราบว่าตอนเขียนคำร้อง (คร.๗) เขียนขออะไรไปบ้าง? เพือจะได้ดูว่าทีขอไปนั้น ครบถ้วนตามสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมายหรือไม่

เอาเป็นว่า หากยื่นคำร้องไปแล้ว และเห็นว่า ไม่โอเค ก็ถอนเรื่องออกมา แล้วไปฟ้องศาล ซึ่งช่องทางนี้ ก็อาจจะใช้เวลานานหน่อยนะครับ
หรือถ้าจะรอให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่ง แล้วค่อยว่ากันอีกที (หากกรณีที่ให้เราแพ้ ก็ยังมีสิทธิไปศาลได้อีก หรือถ้าให้เราชนะก็ดูว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์โดยฟ้องต่อศาลหรือไม่)
แต่ความเห็นของทนายเห็นว่า ถ้าได้ยื่นคำร้องไปแล้ว ก็ให้รอคำสั่งก่อน แล้วค่อยว่ากันทีละขั้นตอนครับ

ในส่วนใบเตือนที่บริษัทพยายามยัดเยียดให้นั้น หากเราไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกังวลครับ ความจริงคือความจริง..

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

242
ถูกคำสั่งย้ายให้ไปทำงานอีกบริษัท โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม แล้วถามว่า ต้องย้ายมั๊ย? จะได้เงินชดเชยกับค่าตกใจได้มั๊ย?

ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่า คำสั่งย้ายนั้น เป็นการย้ายไปสำนักงานสาขา ของบริษัทที่เราทำงานหรือไม่ หากใช่ ถือว่าคำสั่งนี้ชอบด้วยกฎหมาย หากตำแหน่งที่ให้ไปทำนั้นอยู่ในระดับเดิม หรือไม่ลดลง

แต่ถ้า ไม่ใช่สาขา แต่เป็นบริษัทในเครือ หรือบริษัทอื่น ที่เป็นคนละนิติบุคคล กรณีนี้ หากเราไม่ยอม ก็ย้ายไม่ได้ครับ เมื่อเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่จำต้องปฎิบัติตาม และไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

ปัญหาต่อไป เมื่อเราไม่ย้ายตามคำสั่ง ก็จะสร้างความไม่พอใจให้แก่นายจ้าง และก็หาทางเลิกจ้างเรา  ก็อาจจะสับสนนิดหน่อย เพราะแน่นอนว่า ในหนังสือเลิกจ้างก็จะต้องระบุความผิดว่าเราฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่จ่ายค่าชดเชย  ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ ก็ไปสู้เอาตามข้อกฎหมายที่ได้อธิบายไปแต่ต้น

ดังนั้น เมื่อเป็นคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และยังมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ รวมทั้งอาจได้รับเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิารณาคดีแรงงาน พ.ศ๒๕๒๒

เอาเป็นว่า ข้อแนะนำ ตือ ถ้าถูกกดดันให้เซ็นต์ใบลาออก ก็ห้ามเซ็นต์นะครับ หรือถ้าบริษัทอยากจะเลิกจ้างก็ให้บริษัทเลิกจ้างมาแล้วไปเรียกร้องสิทธิเอาภายหลังครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

243
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ผู้ค้ำประกัน
« เมื่อ: พฤษภาคม 28, 2020, 10:11:34 pm »
หลักกฎหมายในเรื่องฟ้องไล่เบี้ยในฐานะผู้ค้ำประกันหรือ ที่กฎหมายเรียกว่า "การรับช่วงสิทธิ" นั้น มีว่า..

ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปแล้วย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อเรียกจำนวนเงินกับดอกเบี้ยที่ชำระหนี้แทนลูกหนี้คืนเพราะการค้ำประกันนั้น โดยผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้

ดังนั้น จะฟ้องไล่เบี้ยได้ จะต้องมีการชำระหนี้แทนลูกหนี้หรือผู้กู้ไปแล้ว ซึ่งชำระไปเท่าใดก็ฟ้องได้เพียงเท่านั้น จะฟ้องยอดเงินในอนาคตที่เรายังไม่ได้ชำระหนี้แทนไม่ได้ เช่น เราค้ำประกันหนี้ ๑๐๐ บาท เราชำระหนี้แทนไป ๓๐ บาท ก็มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยได้เพียง ๓๐ บาท จะฟ้องทั้ง ๑๐๐ บาท ไม่ได้ เนื่องจากเป็นหนี้อนาคตที่ไม่แน่ชัดว่าหนี้นี้เราจะเป็นผู้ชำระหรือไม่  ประมาณนี้ครับ

แต่ถ้าชำระเต็มยอด  ก็มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยได้ทันทีในวันที่เราได้ชำระเเทนเลยครับ

กรณีที่ติดต่อผู้กู้ไม่ได้  ก็คงต้องให้ทนายความไปขอคัดสำเนาทะเบียนราษฎรที่อำเภอเพื่อหาที่อยู่ หรือเพื่อส่งคำฟ้องล่ะครับ

ทนายพร.

244
หลักกฎหมายในเรื่องนี้ คือ "หลักสุจริตใจ" ครับ

โดยปกติ เมื่อทำงานย่อมได้รับค่าจ้าง  ดังนั้น ให้พิจารณาดูว่า เงินที่โอนเข้ามานั้น หากคำนวนแล้วจะได้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานจำนวน ๘ วัน ตามที่ได้ทำงานไปหรือไม่

หากใช่ ก็ถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินอะไร

หากไม่มีคำตอบ ก็ถือว่าเงินที่ได้มานั้น เป็น "ลาภมิควรได้" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ ที่บัญญัติว่า "บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดีหรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา..."

ดังนั้น จึงต้องคืนเขาไป ส่วนจะคืนเลยหรือรอให้ทวงถามก่อน ก็อยู่ที่สถานการณ์และสภาพเงินในกระเป๋าเราล่ะครับ ;D ;D

หากตอนนี้ยังติดขัดอยู่ ก็รอให้ทวงก่อนค่อยคืน :) ;D

หากมีเงินเหลือๆ ก็ติดต่อคืนได้เลยครับ ;)

ทนายพร.

245
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: สอบถามดคียาเสพติด
« เมื่อ: พฤษภาคม 28, 2020, 09:35:18 pm »
ถ้าจะให้ทนายตอบว่า จะต้องติดคุกกี่ปี คงตอบแบบชัดเจนไม่ได้ เพราะเป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งก็ไม่ต่ำกว่า ๔ ปีเป็นแน่

และที่สำคัญ โดนจับเป็นครั้งที่ ๒ รอบนี้คงไม่ได้ลดหย่อนผ่อนโทษแล้วล่ะครับ นอกจากจะไม่ได้ลดโทษแล้ว ยังต้องถูกเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง ฐานไม่หลาบจำครับ

ก็คงต้องว่ากันไปตามรูปคดีครับ

ส่วนรถยนต์ กับทองคำ นั้น ต้องดูว่าพนักงานอัยการมีคำขอให้ยึดเป็นของหลวงหรือไม่ หากไม่ยึดก็ไปขอรับคืนได้ครับ

แล้วถามว่า...จะดูได้ที่ใหน ก็ตอบว่า ดูที่สำเนา "คำฟ้อง" ของพนักงานอัยการนั่นแหละครับ

แต่ดูแล้วส่วนใหญ่ รถยนต์กับทองคำหากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิด ศาลมักไม่ยึดนะครับ เว้นแต่ ทรัพย์นั้น ได้มาจากการค้ายาเสพติดแล้วนำไปซื้อ กรณีเช่นนี้จะถูกยึดทรัพย์ทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่รถยนต์หรือทองคำ บ้านช่องห้องหอ ก็ยึดหมดล่ะครับ

คงต้องหาทนายความให้ความช่วยเหลือแล้วล่ะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

246
กรณีนี้ ออกก้ำกึ่งครับ ว่าจะเป็นการ "เลิกจ้าง" หรือ "ให้ออกก่อนวันลาออกมีผล" ตามมาตรา ๑๗ วรรค ๒

เพราะสามารถวิเคราะห์ได้ทั้ง ๒ ทาง กล่าวคือ
๑. พฤติกรรมการเลิกจ้าง คือ ไม่ให้ทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ (ม.๑๑๘ วรรค ๒) และพฤติกรรมที่ยัดข้อหา
๒. ข้อความที่นายจ้างแจ้งคือ "ให้สิ้นสุดการทำงานก่อนกำหนดจากวันลาออก..." ก็น่าจะหมายถึงให้ออกไปเลยโดยถือตามหนังสือลาออก แต่กรณีนี้ก็ไม่น่าจะต้องออกใบเตือนอีก

จึงเป็นกรณีที่น่าสงสัย

ดังนั้น ให้ไลน์หรือโทรไปถามให้ชัดเจนว่า  ได้เลิกจ้างเรา หรือ ให้เราออกก่อนใบลามีผล
เพราะทั้ง ๒ กรณีนี้ จะมีผลต่างกัน คือ
หากเป็นกรณีที่ ๑ เราจะมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และอาจได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
แต่หากเป็นกรณีที่ ๒ เรามีสิทธิได้รับเงินเท่ากับค่าจ้างในวันที่ ๒๕ พ.ค. ถึง ๒๐ มิถุนายน แต่จะไม่ได้ค่าชดเชยและเงินอื่นๆครับ
ต้องไปหาความชัดเจนก่อนครับ

ทั้งนี้ ในเรื่องใบเตือนนั้น ต้องดูข้อหาของการกระทำความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า การออกใบเตือนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากจะถือว่าผิดซ้ำคำเตือนจะต้องเป็นการกระทำผิดในข้อหาเดียวกันภายใน ๑ ปี หากคนละเรื่องคนละข้อหา กรณีเช่นนี้ไม่ถือเป็นผิดซ้ำคำเตือนครับ

หากสงสัยโทรถามได้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

247
เป็นการตอบคำถามแบบต่อเนื่อง ;D ;D

เอาเป็นว่า เมื่อนายจ้างยังจ่ายค่าจ้างอยู่ ก็ยังถือว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างยังคงมีอยู่ หรือเรียกว่า เรายังเป็นลูกจ้างอยู่ครับ

แต่การที่บริษัท โอนเงินเดือนให้เพียงร้อยละ ๒๕ นั่น ไม่ถูกต้องแน่ๆ

ถามว่า แล้วจะทำอย่างไร

อย่างแรก  ให้สอบถามไปอีกว่า ทำไมถึงจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ ๒๕ และขอให้จ่ายให้ครบถ้วนด้วย

หลังจากนั้น ให้รอคำตอบ หรือถ้าไม่ตอบ ก็ไม่เป็นไร  ให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โดยแจ้งว่า นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างไม่ครบ

ขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายในส่วนที่เหลือ พร้อมดอกเบี้ย

นอกจากนี้ การที่นายจ้างจ่ายเงินไม่ครบ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยในคำร้องขอให้แจ้งพนักงานตรวจแรงงานไปด้วย เราต้องการให้นายจ้าง "เสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน" ของเงินที่ค้างจ่ายด้วย ซึ่งในข้อนี้ มีระบุไว้ในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญํติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ครับ

ส่วนค่าชดเชยนั้น คงยังไม่มีสิทธิได้รับ เนื่องจากนายจ้างยังไม่เลิกจ้างนั่นเอง และหากต่อมามีการเลิกจ้างก็ไม่ต้องกังวล เพราะในเรื่องค่าชดเชยมีอายุความ ๒ ปี จะฟ้องตอนใหนก็ได้ครับ แต่ต้องไม่เกิน ๒ ปี

ดำเนินการตามที่ทนายชี้ช่องเลยครับ  หากติดขัดปัญหาใดโทรสอบถามได้ครับ

ทนายพร.


248
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: กรณีถูกเลิกจ้าง
« เมื่อ: พฤษภาคม 28, 2020, 09:11:46 pm »
ตอบชัดๆ เลยครับ ว่า อย่าเซ็นต์ใบลาออกโดยเด็ดขาด

หากบริษัทอยากจะเลิกจ้างก็ให้ทำหนังสือเลิกจ้างมาครับ

เพราะถ้าหลงเซ็นต์ใบลาออกเมื่อใหร่ ก็เท่ากับว่า เราลาออกเอง หากบริษัทบิดพริ้วไม่จ่ายเงินค่าชดเชยขึ้นมา เดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่ครับ

เอาเป็นว่า ขอแค่หนังสือเลิกจ้างมา แล้วนำหนังสือเลิกจ้างนั้น ไปขอรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน กับประกันสังคมครับ

ทนายพร.

249
เครสนี้ ทนายได้อ่านคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ปรากฎข้อเท็จจริงจากการสอบข้อเท็จจริงว่า บริษัทถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัย จึงได้ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม กรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ ๖๒ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย และนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างยังคงมีอยู่

แต่มีข้อสังเกตุจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานว่า คำสั่งให้ลูกจ้างหยุดตั้งแต่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเริ่มดีขึ้น กละ ศบค.ได้ออกประกาศให้บางประเภทกิจการเปิดดำเนินการได้แล้ว ยังจะถือว่าเป็นเหตุสุดวินัยหรือไม่? ซึ่งหากไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวินัยแล้ว ลูกจ้างต้องมีสิทธิได้รับเงินในอัตราร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้าง ตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑

ซึ่งหากอยากรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คงต้งไปขอสำเนาหนังสือแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ที่นายจ้างได้แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวิเคราะห์

ทั้งนี้ หากเห็นว่าคำสั่งไม่ถูกต้อง ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือคำสั่งล่ะครับ

ทนายพร.

250
ก็น่าเห็นใจในสถานการณ์เช่นนี้ครับ

เอาเป็นว่า ถ้าไม่มีกำลังจ่าย ก็คงต้องปล่อยให้เจ้าหนี้เค้าดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปล่ะครับ ยอมเจ็บในตอนนี้ เพื่อตั้งหลักและก้าวเดินต่อไป

ทั้งนี้ ถ้าไม่มีทรัพย์สินก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะคงไม่มีทรัพย์อะไรให้ยึด แต่ถ้ามีทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน อาจจะต้องเจรจาหาคนมาซื้อต่อ ซึ่งในระหว่างนี้ก็ให้ติดต่อเจ้าหนี้ว่าอย่าพึ่งบังคับคดี หรือบังคับคดีแล้วก็ให้ไปขอเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอให้ระงับการบังคับคดีไว้ก่อน แล้วดำเนินการในการขาย แต่ทั้งนี้ หากขายได้เงินมาแล้วต้องนำไปชำระหนี้นะครับ มิเช่นนั้น จะถูกข้อหาโกงเจ้าหนี้ มีโทษจำคุกเลยล่ะทีนี้ งานจะงอกอีก

แต่ถ้าไม่มีคนมาซื้อ ก็ให้เจ้าหนี้บังคับคดีขายทอดตลาดไป หากมีเงินเหลือก็เอาไปทำทุนหาที่อยู่ใหม่ ก็ว่ากันไปตามสถานการณ์ละครับ

และในกรณีมีรายได้จากเงินเดือน ถ้าไม่ถึงสองหมื่นบาท ก็จะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเกินสองหมื่น หากเจ้าหนี้ขออายัดเงินเดือน ก็ให้ไปติดต่อที่สำนักงานบังคับคดีเพื่อยื่นคำร้องขอลดยอดในการส่งเงินจากร้อยละ ๓๐ ให้เหลือร้อยละ ๑๕ (เป็นยอดขั้นต่ำสุดแล้ว) โดยให้หาหลักฐานไปว่าเรามีภาระนั่นนี่โน้นประกอบคำร้องด้วย ซึ่งส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดสำนักงานบังคับคดีจะลดยอดบังคับคดีให้ตามขอเลยครับ

คำแนะนำก็มีประมาณนี้ และทนายเชื่อมั่นว่า ทุกปัญหามีทางออกเสมอ รอให้ค่อยๆคิดด้วยปัญหา เดี๋ยวปัญหาก็คลี่คลายครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

251
ที่อื่นไม่มีข้อสรุป มาที่นี่เลยครับ...ทนายพร...มีข้อสรุปแน่นอน ;D ;D

ก่อนอื่นก็ให้กำลังใจนะครับ ทนายเข้าใจว่า ตอนนี้คงว้าวุ่นใจไม่น้อย ทั้งๆที่หวังกับหน่วยงานที่พอจะช่วยเหลือได้ แต่ก็ไม่อธิบายข้อกฎหมายหรือแนะนำช่องทางเพื่อให้คลายความกังวลและเห็นแสงสว่างบ้าง และสถานการณ์ไวรัสโควิด ระบาดนี้ ก็เป็นช่องทางให้นายจ้างบางรายอาศัยสถานการณ์นี้ปลดออก เลิกจ้าง มิใช่น้อย ซึ่งคนงานอย่างเราๆก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นผู้ถามมาในเครสนี้

เอาล่ะ เข้าเรื่องดีกว่า  ;D

โดยหลักกฎหมาย ในการเลิกจ้างนั้น มีวิธีเลิกจ้างหลักๆอยู่ ๓ วิธี คือ (๑) บอกเลิกจ้างเป็นหนังสือ (๒) บอกเลิกจ้างด้วยวาจา และ (๓) เลิกจ้างโดยพฤติกรรม

ซึ่งตามวิธีที่ ๑  มีกำหนดไว้ในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญํติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๑
ส่วนวิธีที่ ๒ มีกำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย และวิธีที่ ๓ มีกำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง

เมื่อทราบข้อกฎหมายแล้ว มาดูกันว่าจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร

ในกรณีนี้ อย่างแรกต้องใจเย็นๆก่อน ใจร้อนไม่ได้เดี๋ยวคดีพลิก  ให้รอจนกว่าจะถึงวันเงินเดือนออก แล้วดูว่ามีเงินเดือนเข้าหรือไม่? ถ้าเงินเดือนไม่เข้า วิธีต่อไป ให้ติดต่อไปที่บริษัทในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง และให้บันทึกเสียงหรือข้อความไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน โดยให้ถามไปว่า ทำไมเงินเดือนถึงไม่เข้า ถ้าไม่มีคำตอบที่อธิบายได้อย่างมีเหตุผล ก็ไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงนะครับ เพราะไม่ได้หวังผลในคำอธิบายอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่านายจ้างไม่ให้ทำงานหรือไม่มีงานให้ทำ และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการเลิกจ้างแล้ว ซึ่งเรียกว่าเลิกจ้างโดยพฤติกรรม ซึ่งก็คือการเลิกจ้างตามวิธีที่ ๓ นั่นเอง

หลังจากนั้น ก็ให้นำเอาสมุดบัญชีไปปรับให้เป็นรายการปัจจุบัน และหลักฐานข้อความที่คุยกับบริษัทที่บอกไว้ตอนต้น ไปเรียกร้องสิทธิต่อไปได้เลย ซึ่งหากจะเรียกร้องเฉพาะค่าชดเชย กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทนายแนะนำให้ไปยื่นคำร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน (ไปเขียน คร.๗) เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งต่อไป  หรือจะเลือกไปศาล ก็อาจจะใช้เวลามากกว่า เพราะช่วงนี้ศาลก็เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเกือบปลายปีแล้วครับ 

แต่ถ้าไปร้องสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ แล้วเจ้าหน้าที่ยังอิดอ๊อดไม่ยอมดำเนินการให้ ให้เขียนชื่อ-นามสกุล ไว้แล้วมาบอกทนาย เดี๋ยวจะมีช่องทางแนะนำให้ว่าต้องทำงัยต่อ ซึ่งก็ไม่ยากอีกเหมือนกัน

เห็นมั๊ย ทุกปัญหามีทางออก และไม่ต้องกังวลครับ ทำตามที่ทนายบอก เชื่อว่าได้ผลแน่นอน

หากยังสงสัยถามเข้ามาใหม่ได้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

252
ต้องรับโทษตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญํติยาเสพติด พ.ศ.๒๕๒๒

ต้องโทษ สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาทครับ

ทนายพร.

253
อย่าได้กังวลไปเลยครับ  และที่ถูกจับและแค่เสียค่าปรับนั้น เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ซึ่ง พระราชบัญญัติย่าเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๖ วรรค ๒ บัญญัติเกี่ยวกับความผิดในการครอบครองใบกระท่อมไว้ว่า "ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" 

ดังนั้น ที่ไปเสียค่าปรับมา ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้วครับ

ส่วนคุณสมบัติของผู้เข้ารับราชการ มีข้อต้องห้ามดังนี้
 ลักษณะต้องห้าม
    (๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    (๒) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
    (๓) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
    (๔) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
    (๕) เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
    (๖) เป็นบุคคลล้มละลาย
    (๗) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
    (๘) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
    (๙) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัย ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
    (๑๐) เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
    (๑๑) เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงาน ในหน่วยงานของรัฐ

จะเห็นได้ว่า (๗) นั้น ต้องเคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เมื่อคุณไม่ได้ถูกจำคุก จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้ารับราชการได้ครับ

ขอให้เป็นข้าราชการที่ดีที่รับใช้ประชาชนนะครับ

โชคดีครับ

ทนายพร.

254
ถามมาสั้นๆ แต่ได้ใจความ และเป็นคำถามที่ดีมาก

ถามมาก็ตอบไปครับ จะได้เป็นความรู้กับผู้อ่านท่านอื่นด้วย  ตามนี้ครับ

ถามมาในข้อ ๑ ว่า ต้องจ่ายวันหยุดประจำสัปดาห์และนักขัติ ให้พนักงานหรือไม่ 1 3 4 6พ.ค.63 ? และข้อ ๒ ถามว่า หากบริษัทแจ้งเลิกจ้างพนักงานขาดงานเกิน3วัน คือวันที่ 2 5 7 พ.ค.63 ได้หรือไม่?

อืมม...ก่อนที่จะตอบอยากให้กลับไปดูข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเสียก่อนว่า ในหมวดวินัยและโทษ กำหนดโทษกรณีร้ายแรงโดยเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยในส่วนการ "ขาดงาน" หรือ "ละทิ้งหน้าที่" ว่าอย่างไร หากเขียนไว้ว่า "ขาดงานเกินกว่า ๓ วัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดขั้นหรือไม่ก็ตาม" กรณีอย่างนี้ หากลูกจ้างไม่มาทำงานในวันที่ ๒ , ๕ , ๗ ก็ถือว่าเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่เกินกว่า ๓ วัน ซึ่งถือเป็นเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

แต่หากเขียนว่า "ขาดงานเกินกว่า ๓ วันทำงานติดต่อกัน กรณีอย่างนี้ จะถือว่าขาดงานติดต่อกันเกินกว่า ๓ วันไม่ได้ เพราะในวันที่ ๑ , ๓-๔ และ ๖ เป็นวันหยุดตามประเพณี ซึ่งหากบริษัทกำหนดให้เป็นวันหยุด หากจะเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และถือว่าโทษตามข้อบังคับฯเป็นคุณกับลูกจ้างยิ่งกว่ามาตรา ๑๑๙ (๕) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และใช้บังคับได้

แต่ถ้าในข้อบังคับฯไม่ได้เขียนไว้เลย ก็สามารถยกมาตรา ๑๑๙ (๕) มาเป็นเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

ดังนั้น ที่ถามมาในข้อ ๑ ก็ตอบว่า หากไม่ถือว่าเป็นการขาดงานเกินกว่า ๓ วัน ก็ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี
ส่วนจะเลิกจ้างได้หรือไม่ ก็เป็นไปตามทีได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว

ทนายพร.

255
หากปริมาณยาเสพติดไม่ถูกต้องตรงกับความจริง ก็ให้แถลงต่อศาลไปว่าจำนวนยาไม่ถูกต้อง ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริง หรืออาจจะเป็นการพิมพ์ผิดก็ได้ ลองขอดูบันทึกการจับกุมก็ได้ครับ

ซึ่งโดยปกติ คดีมีกัญชา ศาลมักจะไม่ถูกจำคุกนะครับ ส่วนใหญ่จะรอการลงโทษ เพราะกัญชาถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ โทษไม่ค่อยสูงเท่าใหร่

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ถูกจับรอบ ๒ ในระหว่างรอลงอาญานี่เเหละ ที่ศาลจะมองว่า "ไม่หลาบจำ" ซึ่งแน่นอนว่า ในการลงโทษในครั้งนี้ จะต้องเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง ส่วนจะได้รับโอกาสในการรอลงอาญาอีกหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลละครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 50