23/04/24 - 17:43 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 50
256
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ปรึกษาคดียาเสพติด
« เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2020, 02:21:42 am »
จากคำอธิบาย ก็จะขัดแย้งกันซักหน่อยนะครับ ที่บอกว่าถูกจับยา แต่อธิบายว่าเป็นเด็กดี  แต่ทนายก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มียาเสพติดจะเป็นเด็กไม่ดีนะครับ เพราะในวัยนี้อยู่ในช่วงอยากรู้อยากลอง และวุฒิภาวะยังไม่สูงมากนัก ทำให้อาจเดินหลงทางไปบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา อยู่ที่ว่าจะกลับสู่เส้นทางทีดีเช่นเดิมได้หรือไม่ ก็ต้องรอเวลาเพื่อพิสูจน์ต่อไป

เอาล่ะ ถ้ามาว่า ทำไมถึงถูกตั้งข้อหาครอบครองและครอบครองเพื่อจำหน่าย และจะติดคุกมั๊ย?

ก็ตอบว่า ที่น้องถูกตั้งข้อหาจำหน่ายด้วย ทั้งๆที่เจตนาจริงๆแล้วจะซื้อมาเพื่อเสพเอง นั้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าหากมีปริมาณยาหรือเรียกว่าหน่วยการใช้มากกว่า ๑๕ เม็ดหรือเรียกว่า ๑๕ หน่วยการใช้ จะถูกตั้งข้อหาว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรค ๓

ซึ่งหากมีไว้เพื่อเสพจริงๆ ก็คงต้องหาทนายช่วยเหลือในการต่อสู้คดีว่าไม่ได้จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งในประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ามีไว้เพื่อเสพเองเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่เป็นเด็ก..ทนายก็ไม่ทราบว่าน้องอายุเท่าใด แต่ถ้าอายุไม่เกิน ๑๘ ปี อยู่ในวัยเรียน จะได้ลดอัตราส่วนโทษต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ส่วนจะลดอัตราส่วนเท่าใดอยู่ที่อายุของผู้กระทำผิดเป็นสำคัญ

และคดียาเสพติด หากปริมาณยาไม่มาก ปกติศาลจะให้ประกันตัว เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ส่วนกรณีที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัวนั้นเป็นข้อยกเว้น เช่น คดีมีโทษหนัก เกรงว่าจะหลบหนี้ หรือเกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน อย่างนี้เป็นต้น

เอาเป็นว่า ทนายแนะนำให้หาทนายความเขียนคำให้การให้ดี มีความดีความชอบอย่างไร มีภาระอะไร ก็ให้เขียนและแนบเอกสารไป ก็จะเป็นเหตุให้ศาลพิจารณาปราณีโทษก็เป็นได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

257
โดยปกติ ในการกำหนดวงเงินประกันหรือหลักทรัพย์ในการประกันตัวนั้น จะพิจารณาจากฐานความผิดนั้น โดยจะดูอัตราโทษที่กำหนดตามข้อหา ส่วนจะเป็นเงินเท่าใดนั้น ท่านสามารถสอบถามได้ที่ประชาสัมพันธ์ประจำศาลได้เลยครับ หรือสามารถค้นหาทาง Google ได้ โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า "วงเงินประกันตัวคดีอาญา" แล้วดูว่าท่านถูกจับข้อหาอะไร มาตราอะไร มีอัตราโทษเท่าใด

ส่วนที่ถามมาว่า ถูกจับยาเค น้ำหนัก ๕.๗ กรัม ต้องใช้เงินประกันตัวเท่าใด

ก็ตอบว่า หากถูกฟ้องข้อหามียาเสพติดประเภท ๒ น้ำหนัก ๕.๗ กรัม จะมีความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคสาม โดยมีสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ ๕ กรัม แต่ไม่เกิน ๒๐ กรัม วงเงินประกันตัว หากเป็นเงินสด จำนวน ๓๐๐,๐๐๐.- บาท

ที่นายประกันบอกนั้นถูกต้องแล้วครับ

ทนายพร.

258
หากได้ใบเตือนในข้อหาเดิม จะถือว่าผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

หากเป็นใบเตือนในข้อหาอื่น หากเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นๆตามสิทธิครับ

ทนายพร.

259
ประเด็นที่ทนายรู้สึกไม่ชอบมาพากล คือ "แล้วให้เขียนใบลาออก" นี่แหละ มันจะเป็นประเด็น เพราะถ้าเราเขียนใบลาออก ก็ลืมเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปได้เลย ไม่ได้แน่นอน

เอาล่ะ เมื่อยืนยันว่าเลิกจ้าง ก็ย่อมมีสิทธิได้รับสิทธิตามกฎหมาย นั่นคือ ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือเรียกโดยทั่วไปว่าค่าตกใจ วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมและตามส่วนในปีที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หากการบอกเลิกจ้างนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควรและเราไม่ได้ทำผิด

แต่เอาล่ะ เมื่อถามมาก็จะสรุปข้อกฎหมายเกี่ยวกับการบอกกล่าวล่วงหน้า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านนะครับ

อันว่าบอกกล่าวล่วงหน้านี้ได้กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งกำหนดไว้ว่า "...ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้..."

ดังนั้น ถ้ากำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒ ของเดือน และบอกเลิกจ้างวันที่ ๑๐ วิธีนับว่าจะมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากี่วัน ก็คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๑ เรื่อยไปจนถึงวันที่ ๒ ก.ค. ก็จะได้ ๕๓ วัน (๒๑+๓๐+๒)

แต่จากที่เล่ามาก็ไม่ได้บอกว่า ที่ให้ทำงานปกติจนถึงวันที่ ๒๕ พ.ค. ๖๓ นั้น ในระหว่างวันที่ ๑๐ ถึงวันที่ ๒๕ นี้ นายจ้างได้จ่ายค่าจ้างให้หรือไม่ ถ้าจ่ายค่าจ้างให้ก็หักออก ๑๕ วัน คงเหลือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน ๓๘ วัน

ส่วนจะ OK. หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามนี้ล่ะครับ ;D

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

260
ในคำถามก็ไม่ได้บอกมาซะด้วย ว่ามีการยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลสั่งว่าให้ใครเป็นผู้จัดการมรดกแล้วหรือยัง

เอาเป็นว่า ตามหลักกฎหมาย หากทำพินัยกรรม ก็เป็นการจัดการทรัพย์สินก่อนตาย และให้แบ่งทรัพย์ไปตามพินัยกรรมนั้น ซึ่งก็ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้จัดการมรดกซะก่อน 

รวมทั้งหากมีทรัพย์นอกพินัยกรรม (หมายถึงในพินัยกรรมไม่ได้ระบุถึงทรัพย์นั้นไว้) ก็ถือว่าทรัพย์นั้น เป็นทรัพย์มรดก ตกได้แต่ทายาท ตามกฎหมาย

ดังนั้น หากยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้รีบไปดำเนินการ

แต่ถ้ามีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว โดยผู้จัดการมรดก คือผู้รับพินัยกรรม ก็ให้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้จัดการมรดกให้ทำารแบ่งปันทรัพย์นอกพินัยกรรมให้กับเราตามส่วน

และถ้าผู้จัดการมรดก ขโมยมรดกนอกพินัยกรรมไป ก็จะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

ทางแพ่งคือ อาจถูกเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตัดมิให้ได้รับมรดก
ทางอาญา คือ มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก มีโทษจำคุก ที่ทำคดีมา ศาลมักจะลงโทษจำคุก ๒ ปี

เรื่องนี้ต้องปรีกษาทนายเพื่อดำเนินการให้แล้วล่ะครับ เพราะมีรายละเอียดของคดีพอสมควร

ทนายพร.

261
อัยยะ...มีข้อหานี้ด้วยหรา ;D

หลักในการออกใบเตือน คือ ต้องมีการกระทำผิด อันเกิดจากการกระทำของพนักงานเอง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยต้องนำการกระทำผิดนั้นไปเปรียบเทียบกับบทกำหนดโทษ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่า ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะมีการกำหนดโทษไว้หลายสถาน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ พักงาน เลิกจ้าง เป็นต้น

ดังนั้น กรณีที่ถามมานี้ ต้องพิจารณาว่า ธุรกิจที่ทำนั้น จำเป็นต้องพึ่งอินเตอร์เน็ตในการประกอบธุรกิจ หรือเรียกว่าขาดไม่ได้เลยใช่ไหม เช่น ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น หากเป็นเช่นนี้ถือว่า อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญ  จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ตำแหน่ง IT support นั้น มี JD หรือรายละเอียดของงานในหน้าที่รับผิดชอบแค่ใหน อย่างไร

ถ้าเป็นเพียงผู้ปฎิบัติและมีผู้บังคับที่สูงกว่า และการที่อินเตอร์เน็ตใช้งานไม่ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ การออกใบเตือน ดูจะไม่เหมาะสมซักเท่าใหร่ แต่ถ้าทั้งบริษัทมีเรารับผิดชอบคนเดียว และใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้เป็นเวลานาน แล้วเราไม่ทำอะไรเลย กรณีนี้ก็พอฟังได้อยู่นะครับ


อย่างไรก็ตาม ทนายไม่อยากแนะนำให้ไปฟ้องเพิกถอนใบเตือนที่ออกโดยไม่ชอบ เพราะจะทำให้การทำงานร่วมกันมันยากขึ้น และจะมีความกดดันจนไม่มีความสุขกับการทำงานอีกเลย แต่ทนายจะแนะนำให้ ผู้ถามไปออกแบบการติดตั้งอินเตอร์เน็ตระบบคู่ ดูว่าจะมีความเป็นไปได้แค่ใหน ถ้าเป็นไปได้ ให้รีบเขียนแบบพร้อมกับการติดตั้ง ราคา เสนอหัวหน้างานหรือเจ้าของบริษัทไป ส่วนเสนอไปแล้วเค้าจะทำหรือไม่ทำก็ไม่ต้องไปสนใจ ถือว่าได้ทำหน้าที่อันควรทำแล้ว เมื่อทำหน้าที่อันควรทำแล้ว นายจ้างก็ไม่สามารถหาเหตุด้วยเรื่องนี้มาลงโทษเราได้อีก 

รวมทั้งงานอื่นๆที่เรารับผิดชอบด้วย อย่าลืมว่า การที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้สูง ยิ่งต้องสร้างผลงานให้มากเพราะนายจ้างก็หวังผลงานกับเราสูงด้วยเช่นกัน


เว้นแต่ เคมีไม่ตรงกัน อันนี้ก็ต้องทำใจ แม้แค่หายใจแรงยังผิด จริงป่ะ ;D

เอาเป็นว่า ที่ผ่านมาแล้วก็ก้าวข้ามมันไป และลุยไปข้างหน้าทำให้นายจ้างเห็นว่าเรามีความรู้ความสามารถ อย่าเก็บมาคิดให้รกสมอง แล้วทำงานต่อไปให้มีความสุขดีกว่าครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

262
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ค่าส่วนต่าง
« เมื่อ: พฤษภาคม 14, 2020, 02:37:54 am »
ก่อนที่ทนายจะตอบคำถาม อยากให้ผู้ถามกลับไปดูสัญญาเช่าซื้อโดยอ่านให้ละเอียดว่า ในสัญญานั้นหากเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายหรือค่าส่วนต่างหรือไม่ เพียงใด และกรณีที่ผู้เช่าซื้อขอยกเลิกสัญญา ผลจะเป็นเช่นไร

ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ผลจะแตกต่างกันมากเลยทีเดียว

หากเป็นกรณีที่เราผ่อนปกติ ไม่ค้างค่างวด และไม่อยากผ่อนต่อแล้ว จึงได้นำรถไปคืน กรณีอย่างนี้ จะถือว่าผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อ(ไฟแนนท์) จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าส่วนต่างไม่ได้

แต่หากเป็นกรณีที่ เราค้างค่างวดเกินกว่า ๓ งวด แล้วไฟแนนท์ส่งคนมายึดรถคืนไป หรือเรียกง่ายๆว่า เราเป็นฝ่ายผิดสัญญา กรณีนี้เรื่องยุ่งล่ะครับ เพราะเมื่อผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไฟแนนท์หรือผู้ให้เช่าซื้อ จึงสามารถเรียกร้องค่างวดและค่าเสียหายต่างๆได้ ซึ่งรวมถึง ค่าส่วนต่างจากการนำรถไปขายทอดตลาดด้วย

ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ถูกกำหนดไว้ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.๒๕๖๑
โดยการออกประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ครับ

ดังนั้น ที่ถามว่า จะต้องจ่ายจริงๆใช่มั๊ย? ก็ตอบว่า ถ้าไม่ค้างค่างวดแล้วเอารถไปคืน ก็ไม่ต้องจ่าย และหากถูกฟ้องก็ไปสู้ที่ศาลว่าเราไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าไฟแนนท์มายึด กรณีนี้เราเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องจ่าย ส่วนจะต้องจ่ายเท่าใหร่นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบด้วย เช่น การคิดดอกเบี้ย การคิดค่าปรับ รวมทั้งข้อต่อสู้เรื่องการไม่ได้รับเเจ้งในวันขายทอดตลาด เล่านี้ คือ ข้อต่ดสู้หากถูกฟ้องครับ

ทนายพร.

263
ครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ เพื่อจำหน่าย โทษหนักมากครับ
ท.พร.

264
พระราชบัญญํติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๖ พ.ศ.๒๕๖๐
ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ หากไปสกัดสารบริสุทธิ์แล้วได้ไม่เกิน ๒๐ กรัม จำคุก ๔ ปี ถึง ตลอดชีวิต และมีโทษปรับ ๘ หมื่น ถึง ๓ แสน

หากสกัดสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า ๒๐ กรัม ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับ ๑ ล้านถึง ๕ ล้านบาท

ซึ่งโทษทีจะลงนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาลครับ

ทนายพร.

265
จากที่เล่ามา ทนายกำลังจินตนาการอยู่ว่า งานที่เราทำนั้น เป็นงานขายในลัษณะจ้างกันตามผลงาน หมายถึง จ่ายเงินให้ตามผลงานที่ทำได้ เหมือนๆกับพนักงานขายรถยนต์ตามโชว์รูมต่างๆ เมื่อก่อน จะมีเงินเดือนให้ด้วยแต่ไม่มาก เช่นเดือนละ ๓-๔ พัน แต่ได้ค่าคอมมิชชั่นเเต่ละเดือนหลายหมื่นจากยอดขายรถได้ ในช่วงเศรษฐกิจบูมๆ บางคนได้ค่าคอมฯเดือนนึง ๒ แสน ลืมเรื่องเงินเดือนไปเลยก็มี  อยู่มาวันหนึ่ง มีพนักงานขายถูกเลิกจ้าง จึงได้ไปร้องพนักงานตรวจแรงงานว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเรียกว่า ได้เงินเดือนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ พนักงานตรวจแรงงานจึงมีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเรื่องเลยที่นี้ นายจ้างก็เลยเปลี่ยนว่า ต่อไปจะไม่เรียกว่า "พนักงานขาย" แต่ใช้คำในสัญญาว่า "ที่ปรึกษางานขาย" ไม่มีเงินเดือน มีแต่ค่าคอมมิชชั่น ถ้าขายไม่ได้ก็ อด ไม่ต้องลงเวลาทำงาน ไม่กำหนดวันหยุด จึงเป็นเหตุให้ไม่อยู่ในการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงาน เพราะไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างนั้นเอง

ของเราก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์นี้

แต่การกำหนดยอดขายให้ได้ ๓ คน หากไม่ถึงจะไม่ได้ค่าตอบแทนนั้น ไม่น่าจะเป็นธรรม เพราะถ้าหาได้ไม่ถึงก็จะเกิดภาวะอย่างเราในตอนนี้ ซึ่งถ้าจะให้เป็นธรรม จะต้องได้ค่าตอบแทนตั้งแต่คนแรก ส่วนจะได้มากน้อยอย่างไรก็ไปกำหนดให้ชัดเจน เช่น หากได้คนเดียวได้ ๕ บาท ถ้าได้คนที่ ๒ จะได้เพิ่มอีกเท่านั้นเท่านี้บาท ก็ว่าไป

เอาเป็นว่า ตอนไปตกลงทำงาน เรารู้เงื่อนไขนี้หรือไม่ หากรู้เรายอมตกลงหรือไม่ ถ้ารู้และตกลง ก็ต้องเป็นไปตามที่ตกลงล่ะครับ คงเรียกร้องอะไรไม่ได้ เว้นแต่รวมตัวกันไปเจรจากับนายจ้างตามข้อเสนอของทนายข้างต้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หากไปคุยแล้วไม่ได้ผล ก็ไปหาที่อื่นทำดีกว่ามั๋งทนายว่าอ่ะนะ อาจจะดีกว่าที่นี่ก็เป็นได้ จริงมั๊ย ;D

เอาใจช่วยครับ

ทนายพร.

266
ออกหนังสือให้มีผลย้อนหลังนั้น ทำได้ครับ ซึ่งจะเห็นกันทั่วไป เช่น เงินตกเบิกอย่างนี้เป็นต้น

แต่การทำหนังสือย้อนหลังโดยให้ผลเป็นโทษกับเราซึ่งได้ปฎิบัติหน้าที่ไปแล้วโดยสุจริตนั้น ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายครับ

ทนายพร.

267
อ่านแล้วก็น่าเป็นห่วงในสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานในอนาคตเหลือเกินว่า คงจะมีแรงกดดันอยู่ไม่น้อย  แต่ก็ชื่นชมในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม

เล่ามาเพื่อให้ทนายให้คำแนะนำ 

เอาเป็นว่า สิ่งที่คุณทำนั้น ถูกต้องแล้ว ก็ในเมื่อเราไม่ประสงค์จะลาออก และยังอยากทำงานอยู่ที่นี่ แล้วทำไมจะต้องเขียนใบลาออกด้วยล่ะ มันขัดแย้งกันอยู่ในตัว
เอาล่ะเพื่อลดแรงกดดัน ถ้าจะต้องเซ็นต์จริงๆ ขณะที่เซ็นต์ก็บันทึกเสียงไว้และพูดคุยในทำนองถามว่าให้เซ็นต์ไว้เพื่ออะไร เราไม่ได้ประสงค์จะลาออกนะ ไม่มีผลผูกมัดใช่หรือเปล่า , จะเอาใบลาออกไปทำอะไร หรือข้อความที่มีลักษณะถูกกดดัน ข่มขู่ให้ต้องยินยอมเซ็นต์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าเราถูกกดดัน ในขณะที่เรายังเป็นลูกจ้างและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ หากขัดขืนเกรงว่าจะไม่ได้ทำงานหรือถูกกลั่นแกล้ง เพราะเอาไว้เป็นหลักฐานในอนาคตกรณีที่บริษัทยกเรื่องใบลาออกมาอ้าง

ส่วนในระหว่างนี้ ก็ไปทำงานตามปกติครับ ปรับโหมดจิตใจในอยู่ในสภาพปกติ ถึงแม้จะมีความว้าวุ่น กังวลอยู่ก็ตาม พยายามชนะใจตนเองให้จงได้ พบเจอหัวหน้าก็ทำเสมือนว่าไม่เคยมีเหตุการณ์นี้ และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด  ทนายคิดว่าเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งครับ

แต่ถ้าเจ้านายไม่โอเค  จะเลิกจ้างโดยอ้างเรื่องไม่ผ่านการประเมิน ก็ไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ค่าชดเชยมีแน่ ส่วนจะได้ค่าเสียหายหรือไม่ต้องดูสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ถ้าบอกว่าไม่ผ่านโปร ก็ต้องมาดูหลักเกณฑ์การประเมินล่ะว่าเป็นธรรมหรือไม่ มีการกลั่นแกล้งหรือไม่ ก็คงต้องสู้กันซักตั้งล่ะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

268
ทนายอ่านคำถามแล้ว ก็พอจะรู้ว่าผู้ถามมีความสับสนไม่น้อย และไม่รู้ว่าจะหาทางออกทางใหน

เอาล่ะ หลังจากที่พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหาที่เล่ามา ก็พอจับใจความได้ว่า ทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยนายจ้างทำสัญญาจ้างระยะสั้น (๓ เดือน) และเมื่อสิ้นสุดสัญญาก็ได้มีการต่อสัญญากันมาเรื่อยๆ จวบจนนับอายุงานต่อเนื่องได้ ๒๗ ปี ต่อมานายจ้างบอกว่าไม่ต้องมาทำงานนะ ไม่มีงานให้ทำ หยุดยาวไปเลย โดนค่าจ้างของเดือนมีนาคมนายจ้างก็ให้เขียนใบลาว่าจะไม่ขอรับเงิน หลังจากนั้น จะไปทำงานแต่นายจ้างก็ไม่ให้เข้าไปทำงาน จึงถามมาว่า จะทำงัยดีครับท่านทนาย...ประมาณนี้ ;D

ข้อพิจารณามีว่า ๑. นายจ้างเลิกจ้างแล้วหรือยัง ๒.ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างในเดือนมีนาคมหรือไม่? ๓.หากถือว่าเลิกจ้างแล้วต้องดำเนินการอย่างไร และหากถือว่ายังไม่เลิกจ้างต้องทำอย่างไร

ก่อนอื่นต้องพิจารณาก่อนว่า ขณะถูกระทำมีกฎหมายพิเศษเพื่อมาบังคับใช้หรือไม่ เมื่อพิจารณาธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ภายใต้การควบคุมตาม พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ซึ่งในคำสั่งนั้น รวมกิจการโรงแรมอยู่ด้วย จึงถือได้ว่า โรงแรมได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติไวรัส โควิด-๑๙ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างในระหว่างที่คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีผลบังคับใช้ อยู่

แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้มีประกาศให้เหตุจากไวรัสโควิด-๑๙ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ ๖๒ ของค่าจ้าง

เมื่อข้อมูล+ข้อกฎหมายพร้อมแล้วก็วิเคราะห์ได้ว่า นายจ้างเลิกจ้างแล้วหรือไม่? เห็นว่า กรณีนี้ยังมีความก่ำกึ่งอยู่ว่าจะเลิกจ้างหรือนายจ้างปิดกิจการตามประกาศคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในเรื่องนี้ต้องหาข้อมูลเพิ่ม ซึ่งฝ่ายบุคคลของบริษัทก็ไม่อธิบายให้กระจ่าง เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ยุติจึงไม่สามารถวิเคราะห์ในประเด็นนี้ได้ แต่ถ้าพฤติกรรมไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ในทางกฎหมายถือเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย ทั้งนี้เพราะให้ได้ความกระจ่าง ให้สอบถามไปอีกครั้งว่า ที่ให้หยุดงานนี้เป็นการหยุดงานตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเลิกจ้าง เอาให้ชัด

และถ้าสรุปได้ว่า หยุดตามคำสั่งผู้ว่าฯ ก็ให้ไปขอรับเงินกรณีว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม ร้อยละ ๖๒  แต่ถ้าเป็นกรณีที่เลิกจ้าง ก็ให้ไปเขียนคำร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน เรียกร้องเงินค่าชดเชยครับ

ส่วนค่าจ้างในเดือนมีนาคม จะได้รับหรือไม่นั้น ถ้าเป็นกรณีที่ได้ทำงานมาแล้ว โดยหลักกฎหมายมีไว้ว่า เมื่อทำงานก็ย่อมได้รับค่าจ้าง ดังนั้น ค่าจ้างสำหรับวันทำงานที่เราได้ทำผ่านมาแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับ ส่วนวันที่เราไม่ได้ทำงานและเขียนใบลาโดยไม่ขอรับค่าจ้างนั้น ถือว่ามีผลบังคับได้ นายจ้างไม่จำต้องจ่ายในวันที่ลานั้นครับ

พอจะเข้าใจนะครับ ถ้าสงสัยให้โทรมาถามได้ครับ

ทนายพร.

269
การถูกตั้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ไว้ในครอบครองและครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย ก็เนื่องจากเป็นข้อสันนิฐานของกฎหมายว่า ถ้ามีปริมาณเท่านั้นเท่านี้ถือว่าจำหน่าย ซึ่งน้อง (น่าจะอายุน้อยกว่าทนายเพราะบอกว่ากำลังเรียนอยู่ ;D ;D) ก็น่าจะอยู่ในข่ายนี้

ส่วนแนวทางการต่อสู้ ก็คงต้องรับสารภาพว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ แต่ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้จำหน่าย ซึ่งถ้าสู้แผนนี้ก็อาจจะเสี่ยงหน่อยนะครับ ถ้าสู้ไม่หลุดก็โทษเต็ม แต่ถ้ารับสารภาพก็ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามก็ต้องเขียนคำให้การดีๆ หาพยานมายืนยันว่าซื้อมาเพื่อเสพ เว้นแต่ไปโดนล่อซื้อมีเบอร์แบงค์ อันนี้เลิกคิดสู้เลย สู้ยาก แต่ถ้าได้จากการค้นตัวก็ยังพอมีแนวทางการต่อสู้อย่างที่บอกไป

แต่เดิมนั้นในทางกฎหมายถือว่าเป็นข้อสันนิฐาน "เด็ดขาด" จากปริมาณยาเสพติด แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ศาลจะพิจารณาจากพฤติการณ์เป็นสำคัญ ว่าเจตนาเพื่อเสพหรือจำหน่าย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่า ซื้อมาเพื่อเสพ ก็ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์เพื่อหักล้างน้ำหนักของพนักงานอัยการให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้หากจะสู้จริงๆ คงต้องคุยกันยาว และพยานที่จะมาเบิกความก็มีความสำคัญไม่น้อย และก็มีคนรอดข้อหานี้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่รอดอาจจะต้องเสียอิสระภาพไป ๒ - ๔ ปี เป็นแน่

ก็เอาเป็นว่า ควรหาทนายให้ความช่วยเหลือครับ เอาตั้งแต่การวางแผนสู้คดี ทำคำให้การ หาพยานหลักฐาน การทำคำแถลงปิดคดี เอกสารความดีความชอบ หรือภาระที่ต้องดูเเล หลักฐานการศึกษา เพื่อประกอบการสู้คดี ก็คงจะมีโอกาสรอลงอาญาได้เหมือนกัน

ส่วนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน หมายถึง วันที่ศาลนัดทั้งสองฝ่ายมาอยู่ต่อหน้ากัน แล้วถามแต่ละฝ่ายว่ามีพยานหลักฐานอะไรบ้าง พยานแต่ละฝ่ายมีกี่ปาก (คน)หลักฐานใดที่รับกันได้ (หมายถึงอีกฝ่ายหนึ่งรับว่ามีอยู่จริงหรือเป็นเรื่องจริง เช่น ผลการตรวจหาสารบริสุทธิ์ของสารเสพติดที่จับได้จากกองพิสูจน์หลักฐาน เป็นต้น) และในวันเดียวกันนั้น ศาลก็จะให้ทั้งสองฝ่ายไปกำหนดวันนัดสืบพยานกันว่าจะเอาวันใหน โดยไปที่ศูนย์หน้าบัลลังค์ ก็ไปคุยกันว่าจะสืบกันกี่วัน วันใหน

หลังจากนั้น ก็สืบพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน โดยในคดีอาญา โจทก์จะเป็นฝ่ายสืบก่อน เสร็จแล้วจำเลยจึงนำพยานมาสืบต่อจนเสร็จ

หลังจากสืบพยานเสร็จแล้ว หากประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี ก็ให้แจ้งศาลไปว่า ประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี ซึ่งศาลมักจะอนุญาตเพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในวันเดียวกันศาลก็จะกำหนดวันนัดอ่านคำพิพากษา

โดยในวันอ่านคำพิพากษาก็จะเสียวๆหน่อย เพราะก่อนที่จะอ่าน เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังค์ ก็จะโทรหาเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลมาที่ห้องพิจารณาคดี เสร็จแล้วก็จะไส่กุญแจมือเราไว้ หากศาลพิพากษายกฟ้อง หรือรอลงอาญา ตำรวจก็จะไขกุญแจมือออก กลับบ้านได้ แต่ถ้ารอลงอาญา แต่มีโทษปรับด้วย ตำรวจก็จะเอาตัวเราไปห้องควบคุมตัวส่วนใหญ่จะอยู่ชั้นล่างหรือชั้นใต้ดิน รอจนกว่า ญาติของจำเลยจะไปดำเนินการจ่ายค่าปรับให้เป็นที่เรียบร้อย เมื่อจ่ายค่าปรับครบถ้วนแล้ว ก็ปล่อยตัวไป แต่ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็จะนำตัวไปที่เรือนจำ เพื่อควบคุมตัวแทนค่าปรับ โดยกำหนดวันละ ๕๐๐ บาท จนกว่าจะครบแต่ทั้งนี้ไม่เกิน ๒ ปี

แต่ถ้าไม่รอลงอาญา และต้องโทษจำคุก ก็จะถูกนำตัวไปควบคุมตัวไว้เช่นกัน หากจะสู้ต่อก็ให้ประกันตัว ซึ่งหลักประกันจะเพิ่มขึ้นอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์จากที่เคยประกันตัวมา แล้วก็ทำเรื่องอุทธรณ์ต่อไป

คงละเอียดนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.


270
ต้องขออภัยที่ตอบช้านะครับ เอาเป็นว่า แจ้ง ณ ที่นี้เลยว่า ถ้าเครสเร่งด่วนต้องการคำปรึกษา ให้โทรมาได้เลยครับ หรือฝากคำถามไว้ที่อีเมล์พร้อมเบอร์โทรของทนายก็ได้

ส่วนเครสนี้ได้โทรถามและได้อธิบายแล้ว แต่เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบและเป็นแนวทางจึงจะตอบให้ทางเว็บไซด์อีกทางหนึ่ง

ถามว่า จะทำงัยดี?

เอาเป็นว่า เมื่อร้องพนักงานตรวจแรงงานแล้ว (เขียนคำร้อง คร.๗) ก็ต้องรอให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยก่อนว่า เรามีสิทธิจะได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่

ซึ่งจากพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า บริษัทพยายามจะแก้ตัวว่าไม่ได้เลิกจ้าง แต่เป็นการหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งการหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา ๗๕ นั้น "มิใช่เหตุสุดวิสัย" ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ เมื่อไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ก็ต้องจ่ายเงินตามมาตรา ๗๕ เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ ให้ปิดสถานประกอบการเพราะไวรัสโควิด จึงจะถือว่าเข้าเหตุสุดวิสัย จึงจะไปใช้สิทธิที่ประกันสังคมกรณีว่างงาน แต่ถ้าผู้ว่าไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดก็ถือว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย(เงินตามมาตรา ๗๕ นี้ ไม่ใช่ค่าจ้าง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๗๖๗๕/๒๕๔๘) แต่ตามกฎหมายประกันสังคม ได้ประกาศให้ ไวรัสโควิด - ๑๙ เป็นเหตุสุดวิสัย ให้มีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงาน

ดังนั้น ดูว่าเมื่อครบรอบการจ่ายเงินในเดือนเมษายน บริษัทโอนเงินเข้าบัญชีเราหรือไม่ และถ้าเข้า เข้าเท่าใหร่ เต็มร้อย หรือ ๗๕

แต่ถ้าไม่เข้าเลย ตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ได้บัญญัติว่า "การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป"

ดังนั้น เมื่อไม่ได้ทำงานและไม่ได้ค่าจ้าง จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างแล้วครับ

เอาเป็นว่า รอคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก่อนนะครับ ผลเป็นประการใดเเจ้งให้ทนายทราบด้วยก็จะดีมากเลยครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 50