27/04/24 - 09:59 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20 21 ... 50
271
อ่านเรื่องราวแล้วก็น่าอึดอัดไม่น้อย เพราะไม่มีความชัดเจนเลย  แต่เชื่อเถอะว่า ทุกปัญหามีทางออกเสมอ :)

เอาเป็นว่า ผู้ถามเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่มีกฎหมายเฉพาะคือพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยมี ๓ ประเภท คือวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัย , ประเภทผู้บริหาร เช่น อธิการบดี และประเภทวิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถึงประเภททั่วไปซึ่งแบ่งความเชียวชาญเป็นระดับเชียวชาญและชำนาญงาน ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดินหรือรายได้จากสถาบันเอง

ซึ่งทนายไม่ทราบว่า ผู้ถามอยู่ในประเภทใด สาย ก. สาย ข. สาย ค. หรือ สาย ง.

แล้วถามมาว่า จะทำงัยดี?

ทนายเห็นว่า เมื่อยังไม่มีความชัดเจนก็ควรจะไปทำงานตามปกติก่อน โดยขอให้มีบันทึกหรือเก็บหลักฐานการไปทำงานไว้ด้วยเผื่อว่าจะต้องนำไปใช้เป็นหลักฐานในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า จะได้เงินเดือนหรือไม่ ก็ไปลุ้นในวันเงินเดือนออก ถ้าเงินเข้าปกติ ก็ไปทำงานตามปกติต่อไป แต่ถ้าเงินไม่เข้า ก็ค่อยมาแก้ปัญหากันต่อไป ซึ่งก็ต้องตั้งโจทย์ว่า จะไปเรียกร้องสิทธิที่หน่วยงานใด อย่างไร? แล้วค่อยๆพิจารณาทางเลือกให้ดีที่สุด

ซึ่งแน่นอนว่าได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๒๙/๒๕๕๙ โดยเป็นกรณีพิพาทระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยนอกระบบแห่งหนึ่ง กับมหาวิทยาลัยนอกระบบแห่งหนึ่ง เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ต่อสัญญาจ้างกับพนักงานมหาวิทยาลัยตามระเบียบของมหาวิทยาลัยทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยคนดังกล่าวได้รับความเสียหาย โดยพนักงานมหาวิทยาลัยได้นำเรื่องฟ้องต่อศาลแรงงานแต่ทางมหาวิทยาลัยให้การว่ามีฐานะเป็นราชการส่วนกลางได้รับการยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาใช้ โดยให้เหตุผลว่าการจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นเป็นการจ้างเพื่อสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตาม มาตราสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง

และการฟ้องศาลปกครองก็ไม่ได้ยากอะไร ขอให้ถือหลักฐานเดินไปพบนิติกรของศาลปกครองได้เลยครับ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหลักฐานที่ถือไปก็อย่าลืมหลักฐานการไปทำงานตามที่บอกไปข้างต้นด้วย และเรียกค่าจ้างในระหว่างที่ทำงานแล้วไม่ได้เงินด้วย

แต่ทั้งนี้ ต้องภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รู้การละเมิดซึ่งก็คือวันเงินเดือนออกแล้วไม่ได้ตังค์นั่นแหละครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

272
มีคำอธิบาย ๒ คำที่สงสัย คือ "โดน ผลิต ครอบครองไว้เพื่อเสพ" ถ้าให้เดา น่าจะถูกจับ ต้มน้ำใบกระท่อม มั๊งเนี๊ยะ เพราะมีทั้งใบทั้งน้ำ ;D

เอาล่ะถ้าเป็นใบกระท่อม จะมีโทษแยกต่างหาก โดยมีกำหนดไว้ในมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๗ พ.ศ.๒๕๖๒ โทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับไม่เกิน ๒ หมื่น

แต่ถ้าเดาไม่ถูก และไม่ใช่ใบกระท่อม ก็จะได้รับโทษหนักขึ้นละครับ

ซึ่งที่เล่ามาก็ไม่ได้บอกว่า คดีอยู่ในชั้นใหน? ชั้นพนักงานอัยการ หรือยื่นฟ้องแล้ว ถ้ายื่นฟ้องแล้ว ก็รอคำพิพากษา ถ้ารับสารภาพก็ได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง และน่าจะไม่ถูกจำคุกคงรอลงอาญา พร้อมกับมีคำสั่งให้คุมประพฤติด้วย น่าจะประมาณนี้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

273
อย่างแรกที่อยากจะบอกเพื่อไม่ให้เครียดก็คือ เงินเดือนของข้าราชการครู จะไม่ถูกอายัดเพื่อชดใช้หนี้ตามคำพิพากษา

แต่จะถูกสหกรณ์ฯหักหน้าซอง จากการไปทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาข้อความในสัญญานั้น

ซึ่งจากที่เล่ามา ก็เข้าใจว่า ถูกสหกรณ์ฟ้องแล้ว (ที่สงสัยคือ ทำไมสหกรณ์ถึงฟ้อง...มีช่องทางที่จะไม่ฟ้องแต่ได้รับเงินคืนแน่นอน เช่น การไกล่เกลี่ย การปรับโครงสร้างหนี้ การรับสภาพหนี้ ซึ่งเหล่านี้ สหกรณ์ฯจะไม่เสียประโยชน์ และไม่ต้องตั้ง "หนี้สงสัยจะสูญ" อันจะส่งผลให้ "กำไร" ที่จะมาแบ่งปันให้กับสมาชิกลดลง)

และผ่านขั้นตอนในชั้นศาล และมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อในวันอ่านคำพิพากษา เราไม่ไปศาล ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง (ในทางปฎิบัติ ศาลจะไม่อ่านหรอก แต่จะให้ทนายโจทก์ไปขอคัดคำพิพากษาในวันหลัง) เมื่อลับหลังจึงถือว่า เรายังไม่ทราบคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์จึงต้องขอให้ศาล "ออกคำบังคับ" มาให้จำเลยทราบ ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะอยู่ถึงขั้นตอนนี้

ดังนั้น ข้อแนะนำ ก็คือ ให้ถือคำพิพากษานี้ไปหาสหกรณ์ และเขียนคำร้องขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยรวมหนี้นี้เข้าไปในหนี้เรา อาจจะต้องเจ็บตัวในการชำระหนี้แทนผู้กู้ โดยให้สหกรณ์ฯออกใบเสร็จรับเงินเต็มยอด แล้วไปใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้กู้ได้ เพราะถ้าไม่ใช้สิทธิตรงนี้ เดี๋ยวจะขาดอายุความอีก แต่ทั้งนี้ สหกรณ์ฯจะให้ปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ดุลพินิจของกรรมการดำเนินงานและระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกนะครับ

ถ้าช่องทางนี้ไม่ได้ ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆไปล่ะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

274
ตอบตามที่ถามเลยนะครับ

ถามมาว่า..

๑ มีวิธีไหน ที่จะแย้งข้อความผิด ตามที่ฝ่ายบุคคลแจ้งมาบ้าง  ( หากบริษัทแจ้งประกันสังคม กรณีออกจากงานเนื่องจาก ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินชดเชย)
ตอบ กฎหมายแรงงานของไทยได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ไว้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่ถึงแม้ว่าจะมีข้อห้ามมิให้นายจ้างกระทำก็ยังมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยหาช่องว่างของกฎหมายกระทำต่อลูกจ้าง เช่น กฎหมายบอกห้ามเลิกจ้าง ก็ยังปรากฎว่านายจ้างเลิกจ้างกันเยอะแยะ หรือกฎหมายบอก ห้ามให้ลูกจ้างทำ OT ก็ยังเห็นบังคับให้ลูกจ้างทำ OT กันเยอะแยะไป ดังนั้น หากนายจ้างเลิกจ้างเพราะเห็นละทิ้งหน้าที่เกินกว่า ๓ วัน หรือไม่ปฎิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยชอบ ก็คงต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรมแล้วล่ะครับ เพราะประเด็นแห่งคดีมีว่า คำสั่งย้ายของนายจ้างเป็นคำสั่งย้ายที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างและครอบครัวหรือไม่ หากเห็นว่าคำสั่งย้ายนั้นไม่ชอบและส่งผลกระทบต่อครอบครัวลูกจ้าง คุณก็มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกอบ ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ล่ะครับ
ดังนั้น หากถูกเลิกจ้างก็เอาสำเนาประกาศของบริษัท กับหนังสือแจ้งบริษัทไม่ขอติดตามไปที่ใหม่ ไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยไปยื่นเรื่องต่อ "คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน" (ก็เจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ที่ สสค.นั่นแหละ) เพื่อวินิจฉัยและมีคำสั่งต่อไปครับ

2. ถ้าไปฟ้องร้องเอาเงินชดเชย  สามารถบอกดอกเบี้ยด้วยได้ไหมคะ
ตอบ สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ครับ

3. เรียกค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้หรือเปล่าคะ
ตอบ  ดูจากที่เล่ามาและลงวันที่ ๑ เมษายน ๖๓ นายจ้างพยายามแสดงให้เห็นว่า ได้ปิดประกาศตามมาตรา ๑๒๐ วรรคแรกแล้ว ดังนั้นประเด็นนี้อาจจะไม่ได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าครับ เพราะถือว่ามีการบอกให้ทราบแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ครบ ๓๐ วันก็ตาม แต่ทนายแนะนำว่า ในการเขียนคำร้องก็ให้ขอไปเถอะ ได้หรือไม่ได้ เดี๋ยวคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน จะวินิจฉัยเองครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.
[/color][/size][/size]

275
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: คดียาเสพติดครับ
« เมื่อ: พฤษภาคม 02, 2020, 01:52:04 pm »
หลายท่านอ่านคำถามนี้แล้วก็ งงๆ ว่า มันคืออะไรอ่ะ SLD

อันว่า SLD ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
โดย SLD มีชื่อเต็มๆว่า Lysergic acid diethylamide   เป็นสารเสพติดที่สกัดได้จากเชื้อราที่อยู่บนข้าวไรย์
เป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรงที่สุด ผู้เสพนิยมเรียกว่า กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ สแตมป์มรณะ วิธีเสพคือการแปะหรือวางไว้บนลิ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเสพเข้าไปแล้วจะทำให้ อารมณ์ร่าเริง สนุกสนาน อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ และความดันโลหิตสูง เห็นภาพหลอน รู้สึกสับสน กระวนกระวาย สูญเสียการควบคุม  ก็ถือว่ามีผลกระทบรุ่นแรงจึงจัดให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท ๑

จากคำถาม สรุปว่า ถูก ๑๐๐/๒ ( หมายถึงถูกล่อซื้อจากผู้ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ หรือเรียกว่าถูกจับตามการขยายผล ซึ่งผู้ที่พาไปจับจะได้รับโทษน้อยลงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แต่จะต้องมีปริมาณยาเสพติดมากกว่าที่ถูกจับ)

แต่ทนาย งงๆ กับคำอธิบายที่บอกว่า "ปริมาณหน่วยการใช้ 0.13...กองพิสูจหลักฐานแจ้งตรวจไม่พบสารเสพติด(จำนวน8ชิ้น1คดี)(จำนวน2ชิ้น1คดี)) เพราะถ้าเป็นปริมาณหน่วยการใช้ จะเรียกว่าเป็น ชิ้น หรือ เม็ด หรือถ้าเป็น ๐.๑๓ ควรจะเป็นสารสกัดบริสุทธิ์ นอกจากนี้ ยังบอกว่า กองพิสูจน์หลักฐานแจ้งตรวจไม่พบสารเสพติดซะอีก เมื่อไม่เจอสารเสพติด ก็ถือว่า ไม่ผิด ก็คงไม่ได้รับโทษ

แต่ถ้านำ SLD ไปสกัดหาสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๑๓ กรัม จากการล่อซื้อ ก็ถือว่ามีความผิดฐานมียาเสพติดเพื่อจำหน่าย ต้องโทษ ๕ ปี ถึงตลอดชีวิตและมีโทษปรับด้วย ซึ่งโทษที่จะลงนี้เป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาคดี หากไม่เคยต้องโทษมาก่อน เคยทำดีต่อสังคม ก็เป็นเหตุให้ศาลปราณี หรืออาจจะรอการลงโทษก็เป็นได้

ดังนั้น ข้อแนะนำคือการเขียนคำให้การจำเลยต้องบรรยายการรับสารภาพให้ดี มีความดีความชอบอะไรก็ให้แนบไปด้วย เพื่อให้ศาลได้พิจารณาประกอบการตัดสินครับ

ทนายพร.

276
ผู้ถามก็รู้สึก งงๆ ว่าเกิดไรขึ้น แต่สรุปแล้วก็เป็นมาตรการในการบีบให้ลาออกแหละครับ เพราะถ้าคุณลาออกเอง นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆเลย ซึ่งกลับกัน หากเป็นการเลิกจ้าง นอกจากคุณจะได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว อาจจะได้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกด้วย ทั้งนี้ ก็ต้องดูเหตุผลในการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่

เอาล่ะ ถามมา ๓ ข้อ รวมทั้งขอคำแนะนำกับทนายด้วย  ไปตอบกันเลย...


ข้อแรกถามว่า. บริษัทให้ใบเตือน  เวลาผ่านไปแค่ ๗ วันเอาเราออกได้เลยเหรอค่ะ ยังไม่ได้ปรับปรุงตัว หรืออะไรเลย ก่อนหน้าก้อไม่มีการบอกกล่าว
ตอบ ก็อาจจะเอาออกได้ หากในระหว่าง ๗ วันนี้ คุณได้ทำผิดในข้อหาเดิม ที่เรียกว่า "ผิดซ้ำคำเตือน" แต่ถ้าทำผิดแต่คนละข้อหา อันนี้จะเลิกจ้างไม่ได้ หากเลิกจ้างก็เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งใบเตือน จะต้องระบุให้ชัดเเจ้งว่าเราทำผิดอะไร ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อใด หมวดใด และต้องมีลงท้ายว่าห้ามเราทำผิดอีก อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าใบเตือนออกโดยไม่ถูกต้องก็อาจถือว่าใบเตือนดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นผลให้ถือว่าไม่เคยมีการลงโทษด้วยการเตือนมาก่อนละครับ


คำถามต่อมา..บริษัทไม่ยอมให้เอกสารอะไรออกมาเลย แล้วให้ไปฟ้องกรมแรงงาน และทางบริษัทพร้อมฟ้องกลับ?
ข้อนี้ ทนายงงๆ โดยปกติเวลาให้ใบเตือนพนักงานก็ต้องให้ใบเตือนตัวจริงหรือสำเนาให้กับลูกจ้างเพื่อจะได้รู้ว่าลูกจ้างทำผิดข้อหาใด หากเห็นว่าไม่ถูกต้องจะได้ไปฟ้องเพิกถอนใบเตือนนั้นได้ แต่ถ้าให้เดา ก็คือ นายจ้างกลัวว่าคุณจะเอาไปฟ้องศาลนั่นแหละ ถึงไม่ให้มา แต่ไม่ต้องกังวลครับ เราเป็นว่า ไม่ได้สำเนาใบเตือนมาก็ไม่ต้องสนใจ ขอให้จำไว้ว่า ได้ใบที่เราเซ็นต์ใบแรกนั้น บริษัทกล่าวหาว่าคุณทำผิดเรื่องอะไร ข้อหาใด ก็อย่าได้ทำผิดเช่นนั้นอีก ไม่อย่างนั้น จะเป็นการผิดซ้ำคำเตือน เดี๋ยวจะมีปัญหาได้  และก็อยากจะให้ไปศึกษา "ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน" หมวด วินัยและโทษ ได้กำหนดระดับการลงโทษกี่ขั้นตอน และการที่บริษัทลงโทษเรานั้นเป็นไปตามลำดับขั้นตอนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ถือว่าไม่ชอบเช่นกันครับ

ถามมาข้อสุดท้ายว่า...บริษัทไม่มีนโยบายจ้างออก เลยจะไม่จ่ายชดเชยใดๆให้เลย เราอายุ มากแล้ว หางานในช่างนี้ด้วย มีคุณยายนอนป่วยติดเตียง มีภาระ
 จะทำอย่างไรต่อไปดีค่ะ รบกวนด้วยค่ะ
ทนายก็ขอให้กำลังใจในการฝ่าฝันอุปสรรคในครั้งนี้ไปให้ได้นะครับ เข้าใจว่าขณะนี้มีความลำบากทั้งกาย-ใจ และนายจ้างก็หาทางบีบบังคับให้เขียนใบลาออกให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย  เอาเป็นว่า ถ้าบริษัทไม่มีนโยบายจ้างออก เราก็ไปทำงานตามปกติ จนกว่าบริษัทจะไล่เราออก แล้วค่อยไปสู้ในกระบวนการยุติธรรมเอา แต่ทั้งนี้ คุณต้องไม่ไปเซ็นต์ใบลาออกนะครับ ถ้าคุณลาออกเอง ทุกอย่างจบเลยครับ จะไปเรียกร้องสิทธิใดๆก็ไม่ได้

หากไปทำงานแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกปลดออกเลิกจ้าง ก็บอกทนายมาครับ เดี๋ยวทนายว่าความให้ฟรีเลยครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

[/color][/size]

277
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: เพื่อนบ้าน
« เมื่อ: พฤษภาคม 02, 2020, 01:07:55 pm »
ข้อมูลเพียงเท่านี้ไม่พอวินิจฉัยครับ

ให้เล่าเรื่องพอให้เข้าใจ ไม่งั้นทนายก็ไม่รู้จะตอบอะไรเหมือนกัน ;D ;D

ท.พร

278
อัยยะ มีขอเงินโบนัสคืนด้วย

ตลกแระ! ;D ;D   มีด้วยหรืออย่างนี้..

เอาเป็นว่า ทนายแนะนำว่าไม่ต้องคืน อยากได้ให้ไปฟ้องเอา ถ้าถูกฟ้องมาบอกทนายนะครับ เดี๋ยวว่าความให้ฟรีเลย

ทนายพร.

279
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: คดีครองเสพ
« เมื่อ: เมษายน 29, 2020, 12:15:00 pm »
คดีก่อนอยู่ในระหว่างการคุมประพฤติ แล้วมาทำผิดซ้ำ อันนี้เรื่องใหญ่แล้วล่ะครับ

เพราะศาลจะมองว่า ถึงให้โอกาสก็ไม่น่าจะปรับตัวเป็นคนดีได้ หรือที่เรียกว่า มีพฤติกรรมทำผิดซ้ำซาก  ส่วนใหญ่ศาลมักจะลงโทษจำคุกและไม่ปราณีครับ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลล่ะครับ

ดังนั้น ขอฝากไว้ตรงนี้ว่า หากใครที่เดินหลงทาง ผิดทางไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เมือ่ได้รับความปราณีจากศาลแล้ว ก็อย่าไปทำผิดอีก และเลิกซะกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่าคิดว่าจะไม่โดนจับ เพราะข้อเท็จจริงอย่างที่รู้ๆกันว่า ตำรวจก็ต้องเลี้ยงสายลับไว้ เพื่อล่อซื้อ ซึ่งสายลับอยู่คือผู้ค้าผู้ขายหรือผู้ที่เคยเกี่ยวข้องนั่นแหละครับ อยู่ที่ตำรวจจะเข้าจับเมื่อใหร่เท่านั้น ดังนั้น อย่าคิดว่าจะรอดหูรอดตาไปได้นะครับ บอกเลยว่ารอดยาก

ส่วนความผิด พรบ.ฉุกเฉิน เป็นกรณีกระทำผิดต่างกรรม ก็ต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้คือ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐.- บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนจะได้รอลงอาญาหรือไม่อยู่ที่พฤติการว่าเจตนาที่จะฝ่าฝืนหรือไม่ และอยู่ที่ดุลพินิจของศาล

ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ในอำนาจการฟ้องของพนักงานอัยการ ก็ต้องไปลุ้นกันว่าพนักงานอัยการจะมีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อหรือไม่ ไปลุ้นเอาครับ

ขอให้โชคดี

ทนายพร.

280
เป็นคำถามที่ดี แต่คำตอบอาจไม่ถูกใจก็ได้นะครับ ;D

ถามและวินิจฉัยเองในตอนต้นว่า..สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด...ข้อนี้ถูกแล้ว และสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฏีกาว่า สัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลา หากจะเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า

แล้วถามต่อว่า...ไม่อยากต่อสัญญาและอยากได้ค่าชดเชยอ่ะ ทำงัยได้บ้าง?
ก็จะตอบว่า ในเมื่อได้วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาจ้างแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาตามที่กำหนดแล้วจะต้องทำสัญญาจ้างกันใหม่เสมอไป เพราะเมื่อเป็นสัญญาจ้างไม่กำหนดระยะเวลานิติสัมพันธ์จึงเป็นลูกจ้าง-นายจ้างกันโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิว่าจะทำสัญญาจ้างต่อกันอีก ซึงอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะสมัครใจทำสัญญาจ้างต่อกันเลย หากฉบับหลังตัดข้อความที่ระบุว่าสามารถเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ออก ก็จะเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน และคู่สัญญาต้องปฎิบัติไปตามนั้น ไม่ขัดต่อกฎหมาย

แล้วถามต่อว่า เมื่อกลายมาเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนแล้ว เมื่อไม่ต่อสัญญา จะได้ค่าชดเชยมั๊ย? อย่างแรกต้องไปดูก่อนว่า งานที่เราทำนั้นเป็นงานโครงการหรือไม่ หรือเป็นงานตามฤดูกาลหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยครับ แต่ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒

ส่วนที่ถามว่า หากไม่ต่อสัญญาจะได้เงินค่าชดเชยมั๊ย? ข้อนี้ตอบชัดเจนไม่ได้ เพราะถ้าครบสัญญาแล้วเราไม่ไปทำงาน ก็ถือว่าเราละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานเกินกว่า ๓ วัน นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย 
หรือถ้าอยากจะสู้เพื่อให้ได้ค่าชดเชย ก็ต้องต่อสู้ว่า สัญญาจ้างที่ทำกันไว้นั้น เป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน ซึ่งก็ขัดแย้งตามที่ได้วินิจฉัยไว้ตอนต้น ซึ่งประเด็นแห่งคดีก็จะมีว่า "สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ เพียงใด?" ก็ต้องไปสู้กันโดยตีความตามข้อความในเอกสารสัญญาจ้างกันละครับ

ดังนั้น หากอยากได้ค่าชดเชย มี ๒ ช่องทาง คือให้นายจ้างเลิกจ้างเราโดยไม่มีความผิดให้ได้ (ทนายก็ไม่รู้เหมือนกันต้องทำยังงัย ;D ;D)
หรือ หากครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ก็ไปฟ้องศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน ถ้าชนะก็ได้ค่าชดเชย ถ้าแพ้ก็อด ก็เท่านี้แหละครับ แต่ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงต้องชัดเจนนะครับว่าไม่ใช่งานโครงการ หรืองานฤดูกาลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ วรรค ๓ และวรรคท้าย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑

คงเครียร์นะครับ สำหรับคำตอบ หรือหากสงสัยก็ถามมาใหม่ได้นะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

281
ไม่แน่ใจว่า ผู้ถามเป็น คนกู้ หรือ คนค้ำ 

ซึ่งในเรื่องการกู้เงินสำหรับสหกรณ์นี้ มีข้อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ใน "้ขัอบังคับสหกรณ์ฯ" และ "ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้"

ซึ่งที่เล่ามา มึกลุ่มคนค้ำประกันถูกพิทักทรัพย์ (หมายถึงได้ถูกฟ้องล้มละลายต่อศาลแล้ว หากอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลาย จะเรียกว่าพิทักทรัพย์ชั่วคราว แต่ถ้าศาลมีคำพิพากษาและมีคำสั่งตั้ง เจ้าพนักงานพิทักทรัพย์แล้ว จะเรียกว่า พิทักทรัพย์เด็ดขาด จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน ๗ วัน แต่ก็สามารถเลือนการประชุมเจ้าหนี้ได้ ถ้าท้ายสุดไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ ขั้นตอนต่อไป จะตกเป็น "บุคคลล้มละลาย" ซึ่งในระหว่างนี้ จะไม่มีสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินต่างๆของตนได้เลย จะต้องอยู่ภายไต้เจ้าพนักงานพิทักทรัพย์) และไม่สามารถหักเงินชำระหนี้ได้ และเกิดปัญหาทำให้ผู้ค้ำรายอื่นต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินที่ส่งงวดชำระหนี้มากขึ้น ส่งผลให้เงินไม่พอใช้จ่าย ซึ่งปัญหานี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกสหกรณ์ และก็คาราคาซังกันอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ถ้าอลุ่มอร่วย กรรมการก็อาจมีความผิด ถ้าตึงมาก สมาชิก็บ่น และไม่พอใจ ก็น่าเห็นใจทุกฝ่ายครับ

ที่ทนายเคยทำคือ แนะนำให้สมาชิกทำหนังสือร้องทุกข์ถึงคณะกรรมการเพื่อขอปรับลดค่างวด ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่คณะกรรมการก็จะเข้าใจและปรับลดให้

ส่วนประเด็นที่สหกรณ์ฯ ให้หาคนค้ำใหม่ คำถามคือ ถ้าไม่หาใหม่ ก็จะทำให้หนี้นั้นถึงกำหนดชำระทั้งก้อนตามข้อบังคับ ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ ใครจะมาค้ำให้ ในเมื่อเห็นๆอยู่ว่าหากเข้าไปค้ำก็จะถูกหักเงินเดือนแน่ ดังนั้น ทางออกคือให้ทำหนังสือยืนยันว่าจำนวนคนค้ำประกันกับมูลหนี้มีความเหมาะสมแล้ว หรือเขียนคำร้องตามที่แนะนำไปข้างต้น

หากดำเนินการไปตามที่แนะนำแล้วยังไม่ได้ผล ก็คงต้องก้มหน้าก้มตาชำระหนี้ต่อไปจนกว่าจะหมดล่ะครับ

อนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น "ข้อบังคับ" หรือ "ระเบียบต่างๆ" สมาชิกสามารถขอดูได้ที่สหกรณ์ตามสิทธิของสมาชิกครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.




282
อ่านเล้วก็น่าเห็นใจ..เจอนายจ้างใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อจนไม่เห็นทางออกเลย

อย่างไรก็ตาม  ขอให้เข้าใจว่ากฎหมายได้วางหลักเกณฑ์เพื่อให้สงคมเกิดความเป็นธรรม โดยไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าเอาเปรียบจนเกินไปนัก หรือเรียกว่า "หลักสุจริตใจ" ซึ่งได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕ ที่บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต"

แต่ใช่ว่าในสังคมนี้จะไม่มีการเอาเปรียบกัน ซึ่งการกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบนั้น พบเห็นอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าไม่ค่อยมีใครจะอยากต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมากนัก เพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ใช่เรื่องน่าสนุก

เอาละ มาเข้าทำถามกัน...ถามมาว่า..

1.เราควรมีสิทได้รับค่าชดเชย เดือนนี้เต็มเดือน และเดือนหน้า บวกกับ ค่าตกใจ 1 เดือนใช่หรือไม่คะ
ตอบ เรื่องค่าชดเชยจะได้กี่เดือน ต้องดูว่าเราทำงานมาแล้วกี่เดือน?กี่ปี โดยกำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งต่ำสุดก็ ๓๐ วัน หรือหากทำงานมาแล้วเกินกว่า ๒๐ ปี ก็จะได้ ๔๐๐ วันครับ
ส่วน "ค่าตกใจ" หรือที่เรียกว่า "ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า" มีกำหนดไว้ในมาตรา ๑๗ ซึ่งบัญญํติว่า หากสัญญาจ้างนั้นเป็นสัญญาจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน ในการบอกเลิกสัญญานั้น จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหรือในวันกำหนดการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในคราวการจ่ายค่าจ้างถัดไป เช่น กำหนดวันเงินเดือนออกทุกวันที่ ๓๐ หากจะบอกเลิกจ้างก็ต้องบอกก่อนวันที่ ๓๐ หรืออย่างชัาในวันที่ ๓๐ เพื่อให้มีผลในวันที่ ๓๐ เดือนหน้า ดังนั้น การที่จะให้ตอบว่า ได้ค่าตกใจ ๑ เดือนใช่มั๊ย ก็ตอบว่า คงไม่ใช่ เพราะถ้าให้วิเคราะห์ ถ้าเงินเดือนออกวันที่ ๓๐ บอกเลิกจ้างวันที่ ๑๑ เม.ย. คุณมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๔๙ วันครับ (ถ้าเงินเดือนออกไม่ใช่วันที่ ๓๐ การคำนวณก็จะไม่ใช่ ๔๙ วัน)
ส่วนเงินเดือน ก็จะได้เท่ากับวันที่ทำงานมาครับ


2. เงินเดือนที่เราจะได้รับ จะได้แค่ 50% หรือต้องเป็นเงินจำนวนเต็มที่เราเคยได้มาก่อนคะ เนื่องจากลองอ่านดู เค้าบอกว่าต้องเป็นอัตราล่าสุด แต่เราเพิ่งเซ็นยินยอมลดเงินเดือนไปเมื่อวันก่อนที่เค้าจะไล่เราออก ถ้าเค้าจ่ายแค่ 50% ของเงินเดือนจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ได้ไหมคะ
ตอบ ไฮไลน์ อยู่ตรงนี้แหละครับว่าคิดคำนวณจากค่าจ้างใหม่หรือค่าจ้างเก่า
อย่างแรก หากดูพฤติกรรมการทำเอกสารมาให้ลงชื่อเพื่อขอลดค่าจ้าง เมื่อเรายินยอมแล้ว ก็มาเลิกจ้าง เห็นได้ชัดเจนว่า "เจตนาไม่สุจริต" และหลอกลวงเพื่อให้เราหลงเชื่อ เป็นการกระทำอันเห็นแก่ตัว เมื่อเป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตเสียแล้ว ผลของการลดค่าจ้างจึงเป็นโมฆะ คุณมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเดิมเต็มๆครับ
ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ หรือไม่นั้น ต้องดูเหตุผลแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น บอกเลิกจ้างเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผลประกอบการยังมีกำไรอยู่ เช่นนี้ ก็ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คุณมีสิทธิได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ

ข้อแนะนำของทนายคือ
๑. ไปขึ้นทะเบียนว่างงานกับกรมจัดหางาน(แจ้งได้ทางออนไลน์) แล้วนำเอกสารไปที่ สำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับสิทธิว่างงานครับ
๒. ให้ไปที่ศาลแรงงาน ไปแจ้งกับนิติกร ประจำศาล เพื่อทำคำฟ้อง โดยให้มีคำขอท้ายฟ้องคือ ค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า , ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม , ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ถ้ามี)

ไม่ต้องรอแล้วครับ ลุยเลย นายจ้างอย่างนี้ ถือว่าใช้ไม่ได้ครับ  >:
[/color][/size]

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

283
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ยาเสพติด
« เมื่อ: เมษายน 19, 2020, 02:05:29 am »
อ่านแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจคำถาม...แต่เดาว่า ถูกจับยาเสพติดจะติดคุกกี่ปี โดนจับครั้งที่ ๓ แล้ว...น่าจะประมาณนี้

เอาเป็นว่าตอบในภาพรวมแล้วกันนะครับ สำหรับผู้ที่อยากรู้เกี่ยวกับการพิจารณาโทษของศาล

ซึ่งโทษที่จะได้รับนั้น อยู่ที่ดุลพินิจของศาลนะครับ

โดยศาลจะพิจารณาจาก "ปริมาณ" ของยาเสพติด และ พฤติกรรมของจำเลยว่าเคยกระทำผิดมาก่อนหรือไม่หรือทำผิดซ้ำซาก รวมทั้งจะดูว่าเคยทำดีต่อสังคมมาบ้างมั๊ย เพื่อประกอบการพิจารณาโทษ

หากทำผิดซ้ำซาก ศาลมักจะไม่ปราณีหรือรอการลงโทษ มิหนำซ้ำกฎหมายกำหนดให้ศาลเพิ่มโทษอีกกึงหนึ่งอีกด้วย

หรือถ้ายังสงสัยก็ตั้งคำถามเข้ามาใหม่ได้ครับ

ทนายพร.

284
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายนะครับ เเต่เชื่อเถอะว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอครับ

ถามมาหลายประเด็น งั้นเครียร์ทุกประเด็นเลยครับ

ข้อเท็จจริงจากการเล่ามาว่า นายจ้างย้ายสถานประกอบการจาก แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ไปยังเขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด ซึ่งก็ห่างจากเดิมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร  แล้วถามว่า หากไม่ตามไปจะได้สิทธิเงินค่าชดเชยหรือไม่ อย่างไร

ก็ตอบว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้บัญญัติว่า "(วรรคหนึ่ง)นายจ้างซึ่งประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแห่งใดไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่หรือย้ายไปยังสถานที่อื่นของนายจ้าง ให้นายจ้างปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า โดยให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ และประกาศนั้นอย่างน้อยต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด

(วรรค ๒) ในกรณีที่นายจ้างไม่ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(วรรค ๓) หากลูกจ้างคนใดเห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้น และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการในกรณีที่นายจ้างมิได้ปิดประกาศตามวรรคหนึ่ง และให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘..."

จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้รับรองไว้ว่าหากการย้ายสถานประกอบการนั้น "มีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้าง" เช่น ไม่มีเวลาไปส่งลูกไปโรงเรียน เสียเวลาเดินทางมากกว่าเดิมมาก หรือใช้เวลาเดินทางจากเดิม ๓๐ นาทีถึงบริษัท เปลี่ยนเป็น ๒ ชั่วโมง อย่างนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตแล้ว ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงานครับ

ปัญหาคือ ระยะทางที่เก่ากับที่ใหม่ อยู่ไม่ห่างกันมากนัก จะถือว่า ลูกจ้างจะได้รับผลกระทบสำคัญคือไม่ กรณีนี้ หากถึงเวลาจริงๆจะต้องหาข้อมูลและพยานหลักฐานประกอบว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไร เอาให้เห็นภาพนะครับ ซึ่งก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ทนายก็ได้ใช้โปรแกรมวัดระยะทางจากที่บอกมาปรากฎว่าได้ระยะประมาณ ๑๐ กม. ดังนั้น ถ้าอยากให้คดีไปได้สวยก็ต้องหาหลักฐานและข้อมูลตามที่บอกนะครับ

แล้วถามต่อว่า.. เราต้องรอผู้บริหารทำจดหมายเลิกจ้างเราก่อน ถึงจะได้เงินชดเชยหรือไม่ครับ? แล้วถ้าผู้บริหารฯไม่ทำจดหมายเลิกจ้างเรา เราสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯและเรียกร้องเงินชดเชยตามมาตรา 118 และมาตรา 120 ใช่ไหมครับ?

ก็ตอบว่า...ไม่ต้องรอหนังสือเลิกจ้างเลยครับ (ถ้าได้ก็ดีจะได้ไม่ต้องไปสู่ในมาตรา ๑๒๐ ถือว่านายจ้างเลิกจ้างก็รับค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ ไป) เพราะตามมาตรา ๑๒๐ วรรค กำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ๓๐ วัน หรือหากไม่แจ้งก็ไม่เป็นไร เมื่อมีคำสั่งให้ย้าย ก็ให้ทำหนังสือ "บอกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิต"  ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้าย สปก.ล่ะครับ

ส่วนที่บริษัทจะอ้างว่าบริษัทขาดทุน / ถูกฉ้อโกง ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกเว้นในการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายครับ

น่าจะครบถ้วนนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

285
อืมม...ทนายว่าน่าจะทันอยู่นะ กรณีจะขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

เพราะตอนนี้รัฐบาลได้ออกมาตการหลายอย่างมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

ถ้าหากคุณดาวได้ลงทะเบียนแล้ว และระบบแจ้งว่าไม่มีสิทธิได้รับ ก็ทำการ "อุทธรณ์" ในระบบ โดยแสดงหลักฐาน "การแจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน" ส่งไปด้วย

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวให้ไปติดต่อขอรับได้ที่สำนักงานประกันสังคม ทุกแห่งทั่วประเทศครับ

ว่าแต่ว่า...ตามนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลนี้ กลุ่มผู้ว่างาน จะไม่ได้รับความช่วยเหลือไม่ใช่หราครับ?

หรือมีอาชีพอื่นรองรับหลังจากออกจากงานแล้วและเป็นกลุ่มอาชีพที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ แต่ติดว่า ในระบบแจ้งว่ายังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ ถ้ากรณีเช่นนี้ก็ให้ดำเนินการตามที่แนะนำไว้ข้างต้นเลยครับ

ขอให้โชคดัครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20 21 ... 50