19/04/24 - 05:55 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 50
286
ถ้าจะให้ทนายตอบชัวร์ๆ ว่าติดกี่ปี ทนายคงตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะทนายไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

ซึ่งผู้ที่จะตอบได้คือผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนั้นๆครับ โดยศาลก็จะพิจารณา "พฤติการณ์" แห่งคดี ประกอบกับคุณงามความดีที่ผ่านมาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเคยทำดีอะไรให้กับสังคมบ้าง เป็นคนดีมั๊ย มีทำผิดมาก่อนหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น โทษที่จะลงแก่จำเลยก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลตามความหนักเบาแห่งข้อหาล่ะครับ

ข้อเท็จจริงที่ที่เล่ามีว่า ถูกอัยการฟ้องข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (ยาไอซ์) ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท ๑ ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ โดยรับว่าครอบครองจริงแต่ไม่ได้จำหน่าย ซึ่งในข้อนี้ เป็นข้อสันนิฐานของกฎหมายว่า หากครอบครองปริมาณเยอะ ให้ถือว่า ครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย ถึงแม้ว่าขณะจับกุมจะไม่ได้เบอร์แบงค์หรือไม่ได้ล่อซื้อก็ตาม เนื่องจากปกติหากครอบครอบเพื่อเสพเองคงจะไม่มียามากขนาดนี้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะปฎิเสธว่าไม่ได้จำหน่ายในทางกฎหมายก็ถือว่าผิดในฐานจำหน่ายครับ 

เช่นเดียวกับเราไปกินเหล้ามาแล้าตำรวจให้เป่าแอลกอฮอล์ แต่เพราไม่เป่า ปฎิเสธ เช่นนี้ กฎหมายก็ถือว่า เรามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือเมาแล้วขับนั่นแหละครับ

แล้วเล่าต่อว่า ตอนนี้ประกันตัวออกมา ถ้าศาลตัดสินจะต้องกลับไปติดคุกอีกป่าว?  ก็ตอบว่า  ถ้าศาลตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ก็ต้องติดคุกจริงล่ะครับงานนี้

ยิ่งข้อเท็จจริงมีว่า เคยโดนคดีเสพเมื่อ ๑ ปี ที่แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่า แฟนเรายังไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่ ยังตัดไม่ขาด ทำผิดซ้ำซาก อย่างนี้ ศาลมักจะไม่ปราณีครับ ส่วนจะโดนเท่าใหร่อยู่ที่ดุลพินิจศาลและปริมาณยาไอซ์ที่แยกสารบริษัทธิ์แล้วครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

287
ให้ตอบไปว่า
"ขอบคุณสำหรับการแจ้งข่าวและสื่อสาร แต่เนื่องจากดิฉันได้ลาออกจากบริษัทเดิมและตกลงมาร่วมงานกับบริษัท โดยดิฉันคาดหวังว่าจะทำงานจวบจนเกษียณอายุงานและมั่นใจว่าสร้างผลงานและผลประโยชน์ให้กับบริษัทอย่างแน่นอน ซึ่งเราได้ข้อตกลงร่วมกันตามสัญญาจ้างที่ได้ลงนามทั้งสองฝ่ายแล้ว และบริษัทได้แจ้งวันเริ่มงานในวันที่...และขอเลื่อนวันเริ่มงานอีกครั้งเป็นวันที่....และท้ายสุดจะให้ดิฉันเริ่มงานในวันที่.....ซึ่งดิฉันคาดหวังว่าจะได้เริ่มทำงานตามกำหนดดังกล่าว ซึ่งหากต้องเลื่อนวันเริ่มงานออกไปอีก จะทำให้ดิฉันต้องได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้ ซึ่งดิฉันยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครับ  ดังนั้น ดิฉันจึงขอยืนยันว่ายังประสงค์จะร่วมงานกับบริษัทต่อไป และขอยืนยันวันเริ่มงานในวันที่........และหวังว่าบริษัทจะเข้าใจดิฉัน ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ประสงค์จะดิฉันเข้าทำงานหรือต้องการยกเลิกสัญญา ก็ขอให้แจ้งมาได้เพื่อที่ดิฉันจะได้ตัดสินใจในอนาคตต่อไป"

เอาแบบนี้เลย ;D ;D

ทนายพร.
[/color][/size]

288
เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้ว

หากฝายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำนั่นนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วัน "ทราบ" คำสั่ง

ในกรณีที่ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้าง ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน ๓๐ วัน คำสั่งดังกล่าวถือเป็นที่สุด

หากนายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีสู่ศาล (หมายถึงฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน) นายจ้างต้องนำเงินตามคำสั่งไปวาง (หมายถึง นำไปมอบให้ศาลไว้ก่อน) ต่อศาลจึงจะยื่นฟ้องได้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายลูกจ้างที่นำคดีไปสู่ศาล ไม่ต้องวางเงินหรือเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆครับ

ซึ่งที่บรรยายมาทั้งหมด ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ครับ

ทนายพร.

289
นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจาก Coronavirus ทำให้ไม่ได้ทำงานซะที

เอาล่ะ มาตอบเลย

กรณีอย่างนี้ เมื่อมีการเซ็นต์สัญญากับบริษัทใหม่แล้ว ถือว่า นิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างเกิดขึ้นแล้ว

และการที่นายจ้างใหม่ไม่ให้ทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ (หมายถึงเลื่อนวันเริ่มงาน) ทำให้เราได้รับความเสียหาย

ถามว่า จะได้ค่าชดเชยมั๊ย? ตอบว่า ไม่ได้ครับ

ถามว่า แล้วจะเรียกร้องอะไรได้มั๊ย?  ตอบว่า เรียกร้องได้ครับ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเราเป็น "ผู้เสียหาย" เมื่อเป็นผู้เสียหายจึงมีสิทธิที่จะฟ้องต่อศาลว่านายจ้างใหม่รับเราเป็นลูกจ้างแล้ว โดยสัญญาว่าจะให้ค่าจ้างเท่านั้นเท่านี้บาท แต่เมื่อถึงกำหนดวันเริ่มงาน กลับไม่ให้ทำงาน และไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ ทำให้เราได้รับความเสียหาย

เมื่อเสียหาย จึงสามารถฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ครับ

ถามต่อว่า จะเรียกค่าเสียหายได้เท่าใหร่ล่ะ?

ก็ตอบว่า ค่าเสียหาย เป็นดุลพินิจของศาลจะเป็นผู้กำหนดโดยศาลจะดูพฤติการณ์และความเสียหายที่เราได้ครับ ในที่นี้ อนุมาณได้ว่า อาจจะคิดจากฐานค่าเจ้างเดิมที่เคยได้ คำนวณถึงวันที่คิดว่าเราน่าจะหางานใหม่ได้

ทั้งนี้ หากยื่นฟ้องบริษัทใหม่แล้ว ความสัมพันธ์ก็คงจะขาดกัน และคงจะร่วมงานกันไม่ได้ และสถานการณ์เช่นนี้ ก็ยากจะหางานใหม่ทำง่ายๆเช่นกัน

เอาเป็นว่าลองพิจารณาดูว่า หากบริษัทไม่จะเลื่อนอีก ก็ลองให้ยืนยันซักหน่อยว่า สุดท้ายแล้วจะให้เริ่มงานวันใหน หากถึงวันดังกล่าวแล้วยังขอเลื่อนอีก ทนายก็คิดว่าฟ้องเถอะ ถ้าขืนทำงานที่นี่ต่อไปอาจจะไม่มั่นคงก็เป็นได้

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

290
ถ้าเราไม่ยอม ก็แจ้งพนักงานตรวจแรงงานไปว่า ขอให้ออกคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนดเลยครับ

291
ถามเกี่ยวกับการคิดวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ส่วนใหญ่คนงานจะเรียกว่าวันลา แต่กฎหมายกำหนดว่าเป็นวันหยุด) ซึ่งหลายคนก็ยังมีความสับสน จึงขออธิบายให้เข้าใจดังนี้

คามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๓๐ บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้

นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้

สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้"

ก็หมายความว่า ในการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี มีทางเลือกได้ ๒ แบบ ๓ วิธี คือ
๑. นายจ้างเป็นคนกำหนดให้ลูกจ้างหยุด
๒. นายจ้างให้สิทธิลูกจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดเอง
๓. นายจ้างกำหนดให้หยุดบางส่วนและลูกจ้างกำหนดเองบางส่วน

แล้วทีนี้ สิทธิเกิดเมื่อไหร่?

เมื่อดูข้อกฎหมายจะเห็นว่า สิทธิจะเกิดเมื่อทำงานมาครบ ๑ ปีแล้ว เช่น เริ่มงาน ๑ สิงหาคม ๖๑ - ๓๑ กรกฎาคม ๖๒ ครบ ๑ ปี พอดี เมื่อครบแล้วก็ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของรอบปี สิงหาคม ๖๑ - ๓๑ กรกฎาคม ๖๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๖๒ เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๖๓ หรือจนกว่าจะใช้สิทธิหยุดครบถ้วนแล้ว....นี่คือข้อกฎหมาย

ปัญหาที่เกิดขึ้น...คือ...ถ้าคิดเช่นนี้ ฝ่ายบุคคลตายยยย...เพราะแต่ละคนเข้าทำงานไม่พร้อมกัน เมื่อไม่พร้อมกันก็เกิดสิทธิไม่พร้อมกัน ต้องมาตรวจสอบวุ่นวาย ก็เลยใช้วิธี "คิดตามส่วน" หมายความว่า ถ้าเข้าทำงานเดือนกรกฎาคม ถ้าบริษัทกำหนดให้พนักงานมีสิทธิได้รับวันหยุดประจำปีๆละ ๑๐ วัน ก็ตัดเลยตามส่วนไปเลย ๕ วัน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามวรรท้ายของมาตรา ๓๐

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องไปถามบริษัทว่า ถ้าทำงานไม่ครบปีจะได้สิทธิตามส่วนตามวรรคท้ายหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่  ก็ต้องใช้สิทธิตามที่อธิบายไว้ข้างต้นคือครบปีแล้วจึงใช้สิทธิ

เว้นแต่ปีสุดท้ายที่ทำงาน ให้คิดตามส่วนระยะเวลาที่ทำงานครับ

ดังนั้น ที่ถามมาว่าเข้าใจถูกมั๊ย ก็ตอบว่า มีทั้งถูกและไม่ถูกครับ เหตุผลก็เป็นไปตามที่อธิบายไว้ข้างต้นครับ

ทนายพร.


292
โห จะให้ลาแบบไม่รับค่าจ้าง (LWP) ไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น...แล้วอย่างนี้ลูกจ้างจะกินอะไร ท้องไม่ได้ตันเหมือนขาอ่ะ จริงมะ....

เอาล่ะ..ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรค ๒ บัญญัติว่า "การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป"

ซึ่งถ้าดูจากที่เล่ามาก็จะเข้าเงื่อนไขตามข้อกฎหมายที่ยกมาให้เห็นข้างต้น

ดังนั้น ข้อแนะนำคือ อย่าเซ็นต์ใบลาออก ไม่ต้องเขียนลาแบบไม่รับค่าจ้าง รอให้เวลาผ่านไปซัก ๒ เดือนแล้วก็ไปเขียนคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้สั่งจ่ายค่าชดเชย ก็เป็นช่องทางหนึ่ง

หรือ สถานการณ์อย่างนี้ หากเป็นบริษัทไม่ใหญ่หรือทุนไม่หนา ก็คงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โควิด - ๑๙ อยู่แน่นอน ใจเขาใจเรา ก็ให้เจรจากัน หาทางออกร่วมกัน ที่บอกว่าค่าชดเชยจะจ่ายเดือน ๗ ก็อาจจะขอให้นายจ้างผ่อนจ่ายเพื่อใปซื้อหาอาหารกิน แล้วทำสัญญาต่อกันไว้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

หรือถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็จัดการตามข้อ ๑ ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

293
ทนายได้รับการร้องเรียนและบอกเล่าในเรื่องนี้หลายเครสแล้ว และตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางการขายของออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการโกงเอาเงินแล้วเอาเราไปเป็นเหยื่อ ซึ่งวิธีการก็เป็นไปตามที่ผู้ถามได้ตั้งคำถามมาเลย ยังงัยก็ระวังไว้ด้วยนะครับ

ข้อเเนะนำ อย่างแรก หากได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ให้รีบเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนโดยไว พร้อมทั้งนำหลักฐานประกอบด้วย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้าออนไล์ หลักฐานการโอนเงิน และข้อความแชททางไลน์หรือทาง FB ก่อนที่จะซื้อของ นำไปสอบให้พนักงานสอบสวน เพื่อสืบหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริงต่อไป

เรื่องนี้ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนเราก็บอกไปตามความจริง  คุณคงไม่มีความผิดอะไรหรอกครับ อาจจะเสียเวลาบ้าง ก็คิดซะว่าช่วยกันจับโจรตัวจริงครับ

และถ้าหากผู้เสียหาย (เราก็เสียหาย) โทรมาทวงถามก็อธิบายให้กับเค้าไปตามความเป็นจริง อาจจะส่งหลักฐานการซื้อขายออนไลน์ไปให้ดูด้วยก็ได้ แล้วก็ไปร่วมมือกันจับโจรตัวจริงต่อไป

ก็ฝากกันไว้ในที่นี้ว่า ในกรณีจะโอนเงินกับการซื้อขายออนไลน์ต้องตรวจสอบชื่อบัญชีกับบัตรประชาชนของผู้ขายด้วยว่า ตรงกันหรือไม่ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องถามในช่องแชทให้ดีว่าเป็นบัญชีของใคร เกี่ยวข้องอย่างไรก็ผู้ขาย เพื่อเก็บหลักฐานไว้ เผื่อว่าจะมีปัญหาในอนาคตครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

294
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ร้องทุกข์
« เมื่อ: เมษายน 10, 2020, 11:52:35 am »
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจมากครับ...ยิ่งสถานการณ์อย่างนี้หากงานก็ยาก ยังมาถูกเอารัดเอาเปรียบอีก

เอาเป็นว่าที่ถามมา จะหักได้มั๊ย

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ ให้อำนาจนายจ้างหักค่าจ้างด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(๑) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(๒) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(๓) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(๔) เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(๕) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบและจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

ดังนั้น จึงตอบได้ว่า  นายจ้างจะหักเงินของเราไม่ได้ครับ

ขอแนะนำคือ ให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (ไปเขียน คร.๗) ในพื้นที่ที่เราทำงาน เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินคืนให้เราครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

295
ถามสั้นๆ จากการไปอ่านเจอและสงสัยจึงนำมาถาม...ก็ตอบดังนี้

มีทั้งเหมือนกันและต่างกัน

ที่เหมือนกัน คือต่างก็กระทำผิดเหมือนกัน

ที่ต่างกัน คือ  ผู้กระทำผิด คือได้ทำผิดแล้วหรืออยู่ในระหว่างการพิจารณา ส่วนผู้เคยกระทำผิด คือ ผู้ที่ทำผิดและผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดจริง

ส่วนที่เพิ่มเติมมาว่า ลักทรัพย์มาแต่ยังไม่ถูกฟ้อง ยังทำผิดอยู่ใหม ก็ตอบว่า เมื่อกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ก็ถือว่าต้องหาเป็นผู้กระทำผิด ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถูกฟ้องก็ตาม ก็ยังถือว่า ทำผิดอยู่ไปจนกว่าจะตายนั่นแหละครับ

ทนายพร.

296
โห..แล้วรีบเซ็นต์ไปทำมัยล่ะคร๊าบ... ;D

มีต้องกังวลครับ  ถ้าไม่จ่ายก็ฟ้องครับ

ถามต่อแล้วจะเอาอะไรเป็นหลักฐาน

อย่างแรก ถ้าบริษัทยืนยันว่าจ่ายให้ครบด้วย ก็ถามว่า จ่ายเมื่อใหร่? อย่างไร?

ถ้าบอกจ่ายผ่านธนาคาร ก็ไปขอรายการเดินบัญชีธนาคารมาดู

ถ้าบอกจ่ายเงินสด  ก็ให้ขอหมายศาลให้ออกหมายเรียกเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินของบริษัท เช่น งบดุล งบกระแสเงินสด ก็ได้ ไม่ยากครับ

ไม่ต้องกังวลครับ ทนายเชื่อว่าบริษัทไม่เบี้ยวหรอก

แล้วอย่าลืมไปขึ้นทะเบียนว่างงานด้วยนะครับ

ทนายพร.

297
ท่านอาจารย์ถามมาเกี่ยวกับปัญหาการรับทุน ซึ่งหลายๆท่านหลังจากที่ไปเล่าเรียนมาแล้ว จึงค้นพบตัวเองว่าไม่ได้ชอบงานสายนี้เท่าใหร่ จึงอยากจะเปลี่ยนเส้นทางเดิน แต่ก็ติดปัญหาที่ไปเซ็นต์สัญญาและเงื่อนไขการรับทุนไว้ อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหามีทางออกเสมอครับ

อาจารย์ถามมาเป็นข้อๆ ก็จะตอบเป็นข้อๆเหมือนทำข้อสอบเลยนะครับ ;D

ถามว่า..
1. ผมไม่สามารถลาออกจากม. เพราะว่าติดสัญญาทุนเรียนต่อใช่ไหมครับ ถ้าอยากลาออกต้องใช้เป็นเงินคืนอย่างเดียว
ตอบ ลาออกได้ แต่ก็ต้องปฎิบัติตามสัญญาครับ แต่ไม่ต้องกังวล มีเวลาพอให้ตั้งตัวครับ เพราะหลังจากที่ลาออก กว่าจะยื่นฟ้องก็อีกหลายเดือนอยู่ครับ อาจจะคิดอะไรดีๆหรือหาทางออกก็เป็นได้ครับ

2. ถ้าภายในปี 64 ผมบอกว่า ผมไม่มีสามารถมีตำแหน่งวิชาการได้ ผมสามารถขอให้เขาเลิกจ้างได้เลยไหมครับ หรือต้องรอถึงปี 66 แล้วให้ทางม. เลิกจ้าง
ตอบ จริงๆ ทนายอยากดูสัญญาว่าเขียนไว้อย่างไร เพราะจะดูประเด็นนี้แหละครับว่า หากมหาวิทยาลัย เลิกจ้าง ผลของสัญญาเป็นอย่างไร ต้องชดใช้ทุนตามข้อ ๑ หรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องไปหาวิธีให้ ม. เลิกจ้าง แต่จะไปบังคับให้ ม. เลิกจ้างคงเป็นไปไม่ได้แน่ครับ

3. หรือว่า มีวิธีอื่นบ้างไหมครับ ที่ทำให้ผมลาออกได้เร็วแล้วเจ็บตัวน้อยที่สุด
ตอบ การที่จะให้เจ็บตัวน้อยที่สุดคือ เลิกคิดเรื่องลาออก แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำผลงานทางวิชาการตามเงื่อนไข ซึ่งไม่น่าจะยากมากมายนัก อาจจะหาผู้ช่วยเก่งๆมาช่วยเขียนช่วยค้นคว้าก็ได้ ไม่แน่ว่า ทำๆไปอาจจะชอบก็ได้ เมื่อครบกำหนดเงื่อนไขการรับทุนคือ ๘ ปีหรือปี ๖๘ หรืออีก ๕ ปีข้างหน้า ค่อยว่ากันอีกที หรือหากคิดว่าระยะเวลา ๕ ปีนี้ หากออกไปทำงานอื่นจะมีรายได้มากว่ายอดเงินที่จะต้องคืนทุนไม่น้อยกว่า ๑๐ เท่า ก็อย่ารอเลยครับ เข้าไปคุยกับอธิการฯ ขอเจรจาแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความและชดใช้ทุนตามที่ตกลงกัน ก็จะเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งครับ

คำตอบและข้อแนะนำก็มีประมาณนี้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.
[/color][/size]

298
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: สอบถามยาเค
« เมื่อ: เมษายน 08, 2020, 11:32:12 pm »
ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine) ถือเป็นยาเสพติดประเภท ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ผู้ใดครอบครองจะมีความผิดตามมาตรา ๑๖

ยาเค  เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ใช้เป็นยาสลบก่อนทำการผ่าตัด สามารถระงับปวด ช่วยขยายหลอดลม ต่อต้านอาการซึมเศร้าได้ ซึ่งจะออกฤทธิ์ประมาณ ๕ นาที

ซึ่งหลังจากที่ยาออกฤทธิ์จะทำให้ผู้เสพจะรู้สึกมึนงง ความคิดสับสน ตาลาย หูแว่ว การรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจเกิดอาการประสาทหลอน การเสพในระยะเวลานาน จะทำให้ผู้เสพประสบกับสภาวะโรคจิต และกลายเป็นคนวิกลจริตได้

ซึ่งโทษเกี่ยวกับยาเค นี้ หากถูกฟ้องข้อหาเสพ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี และมีโทษปรับด้วย

หากเป็นกรณีครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุก ๑-๕ ปี และมีโทษปรับด้วยเช่นกัน 

แต่ถ้าเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๕-๒๐ ปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงสองล้านบาท

และจากคำถาม..มียา ๐.๕ กรัม ถือเป็นจำหน่ายมั๊ย

ก็ตอบว่า..เมื่อไปพิจารณาข้อกฎหมายตามมาตรา ๑๗ ได้วางเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเกินกว่า ๑๐๐ กรัมขึ้นไป ถือว่าจำหน่าย จึงตอบว่าผิดฐานครอบครองครับ

ส่วนข้อแนะนำคือ...อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลยครับ ถ้าพลาดไปแล้ว และคิดว่าทำผิดจริงก็รับสารภาพ ศาลก็จะลดโทษให้ และยิ่งถ้าเป็นความผิดครั้งแรกอาจจะรอการลงโทษก็เป็นได้ แต่ถ้าผิดซ้ำซาก ศาลมักจะไม่ปราณีและเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง ฐานไม่หลาบจำครับ

คงครบถ้วนนะครับ ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.




299
การที่ทำสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคท้าย ได้กำหนดลักษณะงานที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้ คือ "การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง"

ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่า งานที่ทำนั้น เป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือไม่?

หรือ งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือไม่?

หรือ งานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นหรือไม่?

ซึ่งงานทั้ง ๓ ประเภทนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปี

เมื่อรู้ข้อกฎหมายแล้ว สิ่งที่จะพิจารณาต่อไปว่า บริษัทเอาท์ซอสที่คุณทำงานนั้นทำธุรกิจอะไร? เกี่ยวกับล่ามแปลภาษาโดยเฉพาะหรือไม่?

ถ้าใช่...ก็ถือเป็นงานปกติ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย 

รวมทั้งต้องพิจารณาต่อไปตามข้อกฎหมายต่อไปอีกว่า งานที่คุณทำเป็น "งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือไม่"

ซึ่งในที่นี้หมายถึงงานโครงการใหม่ๆ อันมิใช่ธุรกิจปกติของนายจ้าง เช่น การจ้างนักวิจัยมาทำการวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือการโปรแกรมเมอร์มาสร้างระบบงาน อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงบริษัทเอาท์ซอสประกอบธุรกิจล่ามแปลภาษา(เดาเอานะว่าประกอบธุรกิจนี้ หากไม่ใช่ คำตอบก็จะเป็นไปอีกแนวหนึ่ง) จึงมิใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว อันจะเข้าข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายเงินค่าชดเชยเช่นกัน

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ให้มาวิเคราะห์ได้ว่า คุณมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ ครับ

ทนายพร.

300
เรื่องคดียาเสพติดนี้ ปกติทนายที่ทำคดีจะต้องลงไปสอบถามข้อเท็จจริงกับผู้ต้องหาด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่นอกจากต้องการรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงแล้ว ทนายทุกคนมักจะดู "ภาษากาย" และ "ปฎิกิริยา" ต่างๆ ระหว่างพูดคุยว่า สิ่งที่บอกมาเป็นความจริง ความเท็จ หรือบอกเล่าไม่หมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถามว่ารู้ได้อย่างไร ก็ตอบยากครับ อยู่ที่ประสบการณ์ของแต่ละคน

เอาล่ะ ....ถามมาสั่นๆว่าศาลจะตัดสินโทษกี่ปี ปรับเท่าไหร่?

ถ้าตอบแบบขำๆก็คือ ไม่รู้ครับ เพราะทนายไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี

แต่ถ้าตอบแบบวิเคราะห์ ต้องดูพฤติกรรมประกอบ รวมทั้งต้องดูที่สำนวนคำฟ้องของอัยการว่า ตั้งข้อหาอะไรบ้าง บรรยายลักษณะของรูปคดีอย่างไร มีช่องว่างหรือมีข้อต่อสู้อะไรบ้าง เมื่อไม่เห็นจึงวิเคราะห์แบบฟันธงไม่ได้  และการที่ไม่มีเบอร์แบงค์ก็ไม่ใช่ว่าต่อไปจะไม่มีถึงเวลาขึ้นศาลอาจจะมีก็ได้ รวมทั้งในการสืบพยาน อัยการก็ต้องหาหลักฐานมาอย่างแน่นหนาเพื่อให้ศาลตัดสินเป็นไปตามคำฟ้อง

และจากข้อเท็จจริง น้ำหนักไม่เกินก็จริง แต่ถูกล่อซื้อ และคงถูกตั้งขอหาครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ก็โทษสูงอยู่เหมือนกัน ทำผิดครั้งแรกเท่าที่มีประสบการณ์จากการทำคดีก็ประมาณ ๔ ปี หากรับสารภาพนะครับ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ข้อเท็จจริงและดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 50