25/04/24 - 20:08 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 50
301
อัยยะ เจอสายบู้ครับ ;)

โดยทั่วไปประชาชนจะอยู่ภายใต้กฎหมาย

ส่วนคนงานก็จะต้องอยู่ภายใต้ "ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน" หรือเรียกว่า "กฎหมายภายใน" โดยแต่ละบริษัทก็จะมีข้อบังคับที่แตกต่างกัน โดยในข้อบังคับฯนั้น ก็จะมีอยู่หมวดหนึ่งเขียนไว้แน่ๆ นั่นก็คือ หมวดที่ว่าด้วย "วินัยและการลงโทษ" ก็จะบรรยายไว้โดยละเอียดว่าความผิดอย่างนี้ต้องรับโทษอย่างไร

ดังนั้น ให้ท่านไปดูระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า การกระทำของท่านถือเป็นความผิดสถานใด ถ้าเป็นร้ายแรง ก็เลิกจ้างได้โดยไม่ได้รับเงินใดๆ

ถ้าให้ทนายเดาก็ น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาท ถือเป็นความผิดร้ายแรง

เมื่อเป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินใดๆ เว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของเงินสะสมที่เราสะสมไว้

ทีนี้ เมื่อบริษัทเลิกจ้างแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่แจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนของเราต่อสำนักงานประกันสังคม โดยในเอกสารจะมีช่องให้กรอกหรือติ๊กอยู่ ๗ ช่อง ตามนี้ http://www.personel.sci.psu.ac.th/images/file/information/sso/ssoform9.pdf

แน่นอนว่า บริษัทจะติ๊กในช่องที่ ๕ หรือในวงการเรียกว่า R5 คือ ไล่ออกเนื่องจากกระทำความผิด

เมื่อเป็น R5 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เว้นแต่ท่านจะไปต่อสู้ทางศาลแล้วชนะคดี หรือไปตกลงกับนายจ้างได้ว่าให้ไปแก้ไขข้อมูลเป็น R3 ท่านถึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินว่างงานครับ

เอาน่า เรื่องมันผ่านไปแล้ว หางานใหม่น่าจะไม่ยากเพราะท่านก็มีความสามารถอยู่แระ..จริงมั๊ย ;D

เอาใจช่วยครับ

ทนายพร.

302
ถามมาเกี่ยวกับยาเสพติด และถามแทนแฟน...อืม ก็คิดหนักเหมือนกันนะครับ เพราะดูแล้วน่าจะอยู่ในกลุ่มทำผิดซ้ำซาก เเม้แต่เข้าบำบัดแล้วยังกลับมาเสพอีก แสดงให้เห็นว่าระบบการบำบัด ยังมีความหละหลวม หรือยังไม่มีมาตราการที่รัดกุม  เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาอ่านเจอก็ฝากผู้หลักผู้ใหญ่ไปพิจารณาด้วยนะครับ

ถามว่า..จะได้ประกันตัวมั๊ย?

ในการประกันตัว เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ซึ่งการให้ประกันตัวเป็น "สิทธิ์ขั้นพื้นฐาน" ของจำเลยหรือผู้ต้องหา ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ว่า "ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าจำเลยกระทำความผิด ย่อมถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่ผิด" ย่อมได้สิทธิ์ในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ส่วนการไม่ให้ประกันตัว เป็น "ข้อยกเว้น" เช่น มีอัตราโทษสูง , มีพฤติการณ์จะหลบหนี้ , เป็นผู้มีอิทธิพล , จะไปข่มขู่พยาน อย่างนี้เป็นต้น

ทนายเป็นห่วงเรื่องโทษที่ศาลจะลงในคดีหลังนี่แหละครับ ซึ่งคดีเดิม ศาลรอลงอาญาไว้ เมื่อมาทำผิดภายในกำหนด ๕ ปี ศาลจะเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง เช่นศาลตัดสินจำคุกคดีหลัง ๒ ปี เพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง คือ ๑ ปี รวมโทษ ๓ ปี เป็นต้น

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.




303
เดิมเป็นสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน เมื่อครบกำหนดแล้วนายจ้างยังไม่ทำสัญญา แล้วถามว่า จะต้องทำงัย?

อย่างแรก ไปหาเหล้าให ไก่คู่ มาเลี้ยงฉลองเลยครับ เพราะท่านได้สิทธิใหม่ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาแล้ว ซึ่งนายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากันก่อน

ดังนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไร ทำงานไปตามปกติ แล้วก็ไม่ต้องไปทวงถามเรื่องสัญญากับนายจ้างนะครับ ปล่อยลืมๆกันไป เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะได้ประโยชน์จากการที่ไม่ได้ทำสัญญานะครับ

อย่างไรก็ตาม สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน ก็มีเงื่อนไขการจ้างด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่างานทุกประเภทจะกำหนดระยะเวลาจ้างได้ทั้งหมด ซึ่งการจะกำหนดสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลา จะต้องเป็นงานตามทีก่ำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า "การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง"

ขอให้มึความสุขกับการทำงานครับ

ทนายพร.

304
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: สอบถามหน่อยค่ะ
« เมื่อ: เมษายน 08, 2020, 02:21:12 pm »
การให้ประกันตัวเป็นสิทธิของผูั้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน ส่วนการไม่ให้ประกันตัวเป็นข้อยกเว้น

เครสนี้ ผิดสองข้อกล่าวหา คือ ยาเสพติด กับปืนเถื่อน

ซึ่งข้อหาปืนเถือน  ประกันตัวได้อยู่แล้ว

ส่วนยาไอซ์ เป็นยาเสพติดประเภท 1 อยู่ในกลุ่มเดียวกับยาบ้า การที่ศาลจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่นั้น อยู่ที่ปริมาณที่ถูกจับได้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงบอกว่า "ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ" ก็น่าจะไม่เยอะ คงจะประกันตัวได้อยู่ครับ

ยังงัยเตรียมเงินหรือหลักทรัพย์ในการประกันตัวตามข้อหาดังนี้ครับ

ความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

1.ครอบครองกัญชา กระท่อม ไม่เกิน 20 กรัม 10,000 30,000
2.จำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายกัญชา กระท่อม ไม่เกิน 20 กรัม 30,000 100,000
3.จำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายกัญชา กระท่อม 21 - 999 กรัม 100,000 150,000
4.จำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายกัญชา กระท่อม ตั้งแต่ 1,000 กรัมขึ้นไป 150,000 250,000
5.ครอบครองเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ไม่เกิน 1 กรัม 40,000 150,000
6.ครอบครองเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น เกิน 1 กรัม ถึง 20 กรัม 80,000 200,000
7.จำหน่ายเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่เกิน 1 กรัม 80,000 200,000
8.จำหน่ายเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ครอบครองเพื่อจำหน่ายเกิน 1-5 กรัม 150,000 250,000
9.จำหน่ายเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ครอบครองเพื่อจำหน่ายเกิน 5-20 กรัม 400,000 800,000
10.จำหน่ายเฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ครอบครองเพื่อจำหน่ายเกิน 20 กรัม 800,000 1,600,000
11.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 1-20 เม็ด 40,000 80,000
12.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 21-100 เม็ด 100,000 200,000
13.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 101-499 เม็ด 150,000 250,000
14.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 500-999 เม็ด 200,000 400,000
15.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 1,000-1,499 เม็ด 250,000 450,000
16.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 1,500-1,999 เม็ด 300,000 600,000
17.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) ตั้งแต่ 2,000-2,500 เม็ด 350,000 1,000,000
18.ครอบครองแอมเฟตามีน(ยาบ้า) เกิน 2,500 เม็ด ไม่ควรให้ประกัน

ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490

1.ปืนไม่มีทะเบียน 40,000 80,000
2.ครอบครองปืนมีทะเบียน (ปืนผิดมือ ) 20,000 40,000
3.มีกระสุนปืน 50,000 100,000
4.อาวุธปืนนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ , ปืนสงคราม 150,000 250,000
5.พกพาอาวุธปืนไม่มีทะเบียน 80,000 150,000
6.พกพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น 10,000 20,000
7.พกพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตัวเอง 5,000 10,000
8. พกพาอาวุธปืนไปในงานรื่นเริงฯ 50,000 100,000

ยังงัยก็ไปติดต่อที่ประชาสัมพันธ์ได้เลยครับ

ทนานพร.


305
สำนวนกับข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน  แต่ดูแล้ว ถ้าไม่ตรงกับความจริง ชุดจับกุมคงไม่เอามาเพิ่มหรอกครับ (เพราะตำรวจจะเอายาบ้าจากที่ใหนมาเพิ่ม..ฮา  ;D)

ถ้าคำฟ้องไม่ถูกต้อง ในวัน "สอบคำให้การจำเลย" ก็ให้แถลงต่อศาลว่า จำนวนยาเสพติดไม่ถูกต้อง หรือติดต่อทนายความให้ดำเนินการให้ได้ครับ

ซึ่งปริมาณหรือจำนวนของยาเสพติดจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ศาลจะใช้ดุลพินิจในการตัดสินโทษครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

306
คำถามสั้นๆ แต่เป็นคำถามเหมือนตอนสอบกฎหมายเลยอ่ะ ;D

ถามมาก็ตอบไปครับ

ถามมาว่า

๑ กรณีนี้สามารถร้องเรียนได้หรือไม่? ก็ตอบว่า..ร้องเรียนได้อยู่แล้วครับ ให้ไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่คุณทำงานอยู่ ไปเขียนคำร้อง คร.๗ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง อย่าทำเป็นเล่นไปนะครับ ค่าแรง ๒ ชั่วโมงนี่ก็หลายบาทอยู่นา  ส่วนจะคุ้มหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องนึงนะ

๒. ถ้านายจ้างผิด ผิดกฎหมายมาตราไหน อย่างไร
ตอบ หมวด ๔ มาตรา ๗๐ ครับ

๓. เคยมีคำพิพากษาไว้หรือไม่
ตอบ มีเยอะครับ ค้นหาได้ในเว็บนี้ครับ...http://www.thanaiphorn.com/content.php?type=2&id=625

๔. นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงให้ผมอย่างไร อ้างอิงจากกฎหมายมาตราไหน
ตอบ ได้ค่าจ้างวันละเท่าใหร่ หารด้วย ๘ จะเป็นค่าจ้างต่อชั่วโมง ได้เท่าใหร่เอาไปคูณด้วย ๒ คือค่าจ้างที่คุณจะได้ ส่วนมาตราตอบไปในข้อ ๒ แล้วครับ

ครบถ้วนนะครับจารย์ ;D ;D ;D

หากยังไม่ครบ ถามมาใหม่ได้ครับ

ทนายพร.

307
เครสนี้ พนักงานอัยการน่าจะยื่นฟ้องคนชนในความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และในระหว่างนี้ ศาลก็คงให้เราเรียกค่าเสียหายที่วงการนักกฎหมายเรียกว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๔/๑ นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยนะครับ

มาที่คำถามกันเลย..."ทางบริษัทมีสิทธิที่จะปฏิเสธเงินในส่วนที่เหลือไหมครับพี่ทนาย แล้วกรณีนี้ถ้าเขาไม่จ่ายหรือจ่ายล่าช้าผมควรจะทำยังไงต่อครับ?"

ก็ไขความกระจ่างว่า...อยากปฎิเสธก็ปฎิเสธไปครับ เดี๋ยวไปใช้สิทธิยึดทรัพย์บังคับคดีเอาก็ได้ ไม่เห็นยาก ยังงัยบริษัทประกันก็มีทรัพย์ให้ยึดอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ของคนเจรจาอยากจะได้ค่าน้ำร้อนน้ำชามากกว่ามั๊ง ทนายว่าอ่ะนะ

เอาละ..สิ่งแรกต้องมาดูก่อนว่า ศาลมีคำพิพากษาในส่วนค่าสินใหมทดแทนว่าอย่างไร ใครต้องรับผิดชอบบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทประกันจะรับผิดชอบเพียงเท่าวงเงินที่รับประกันไว้ ในส่วนที่เกินต้องไปเรียกเก็บกับผู้กระทำผิด ซึ่งในส่วนนี้จะบังคับใครได้เท่าใหร่ต้องดูคำพิพากษานั่นแหละ หากอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ถือคำพิพากษานั้นไปปรึกษาทนายหรือผู้รู้ ก็จะได้คำตอบที่ชัดเจน

เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าใครต้องรับผิดชอบเท่าใด อาจจะให้ทนายทำหนังสือทวงถามตามคำพิพากษาไปก่อนก็ได้ เผื่อว่าจะได้ผล แล้วนำเงินมาชำระ

หรือถ้าทวงถามแล้วยังนิ่งเฉย ก็ไปยื่นคำแถลงต่อศาลที่ตัดสินคดี ตั้งเรื่อง ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อยึดทรัพย์ขายทอดตลาดต่อไป แต่ก่อนตั้งต้องแน่ใจว่าจำเลยทราบคำพิพากษาแล้ว ถ้าจำเลยยังไม่ทราบคำพิพากษา (เช่นในวันตัดสินจำเลยไม่ได้ไปศาล ถือว่าจำเลยยังไม่ทราบคำพิพากษา) ก็ต้องยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออก "คำบังคับ" เสียก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีค่าธรรมเนียมศาลในการส่งหมายบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณหลักร้อยบาท

เอาเป็นว่าเอาคำพิพากษาไปปรึกษาทนายหรือผู้รู้ดีกว่าครับ

ขอให้โชคดี สุขภาพแข็งแรงนะครับ

ทนายพร.

308
เป็นคำถามที่ดีมาก...ซึ่งเราๆท่านๆ จะต้องรู้เรื่องนี้ ซึ่ง เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ มีกฎหมายเฉพาะที่ออกมาใหม่ เรียกว่า "พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วบางเช่น หมวดที่ ๑ และหมวดที่ ๔ ส่วนที่เหลือจะมีบังคับใช้หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ๑ ปี ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๖๒ จึงมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม ๖๓ เป็นต้นไปครับ

อยากให้ทุกท่านอ่านและทำความเข้าใจนะครับ เพราะเป็นเรื่องไกล้ตัว

เอาล่ะ...มาที่คำถามที่ถามว่า...จะบันทึกบัตรประชาชน จดชื่อที่อยู่ เลขบัตรประชาชน ในกรณีเข้าหมู่บ้าน ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคล จะได้มั๊ย จะผิดมั๊ย?

ก็ตอบว่า จากที่ถาม กับ พรบ.คุ้มครองข้อมูลฯ นั้น จะมีความเกี่ยวข้องกันพอสมควร ซึ่งกรณีผู้ "ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" จะดำเนินการเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้ ซึ่งการยินยอมต้องยินยอมโดยชัดแจ้งด้วย ยกเว้น เป็นกรณีที่การเก็บข้อมูลนั้นเป็นไปตาม มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ ก็สามารถกระทำได้

ในความเห็นของทนาย...การแลกบัตรโดยไม่ต้องถ่ายรูปไว้ การจดชื่อ-นามสกุล สามารถทำได้ แต่การจะไปจดเลขบัตรประชาชนหรือถ่ายรูปบัตรประชาชนไว้ อันนี้อาจจะเกินไป เพราะอาจจะมีมิจฉาชีพนำไปหาผลประโยชน์ได้ และอาจจะมีความผิดตาม พรบ.นี้ เพราะเจ้าของขัอมูลไม่ได้ให้ความยินยอมโดยชัดแจ้ง

ดังนั้น ทางออกก็คงหาวิธีที่จะรู้ว่าใครเข้าหมู่บ้าน ด้วยวิธีแลกบัตร และให้เปิดกระจกรถ แล้ววิ่งผ่านกล้องวงจรปิด ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีครับ

ทนายเคยเข้าไปหมู่บ้านหรูๆ ที่มีความเข้มงวดมาก เค้าใช้วิธีสอบถามว่าจะไปพบใคร แล้วโทรไปถาม (รปภ.มีเบอร์โทรภายในทุกบ้าน) ว่ารู้จักกับเรามั๊ย หรือได้นัดใครไว้มั๊ย ถ้าโอเคร ก็ให้เข้าไป ถ้าไม่โอเคร ก็ให้รออยู่หน้าป้อม รปภ. ประมาณนี้

ในกรณีที่มีการถ่ายรูปบัตรประชาชนก่อนเข้าไปในพื้นที่ มีพบอยู่ที่เดียวคือ ศาล  ซึ่งเดี๋ยวนี้ถ่ายรูปทุกศาล ตั้งแต่มียิงกันตายในศาลก็เข้มงวดมากเลยทีเดียว แต่จะนานเท่าใดไม่รู้ครับ ;D ;D ;D

คงครบถ้วนสำหรับข้อสงสัย หากยังคงใจ ก็สอบถามเข้ามาใหม่ได้ครับ

ทนายพร.

309
อ่านเรื่องราวแล้วก็ งงๆ ในความสัมพันธ์นิดหน่อยครับ..คือ " นายA คือแฟนใหม่ของแฟนเก่ากะผม  นาง B คือแฟนเก่ากะผม และนาย C คือ แฟนของนาย A"

คือเดิมผู้ถาม กับนาง B เป็นแฟนกัน...ต่อมาเลิกกัน นาง B จึงไปมีแฟนใหม่ชื่อนาย A
และเรื่องที่สับสนคือ นอกจากนาย A จะมีนาง B เป็นแฟนแล้ว ยังมี นาย C เป็นแฟนอีกคนใช่ป่ะ ;D

เอาล่ะ..อย่าสนใจประเด็นนี้เลย... ;D ;D

ถามมาว่า..
พอมีทางช่วยผู้ต้องหาได้ไหมครับ พอมีทางออกไหมครับ ทางบ้านผู้ต้องหาก็ยากจนครับ เลยไม่มีหลักทรัพย์ยื่น ขอคำชี้แนะจากท่าน ทนายด้วยเถิดครับ?

หลักจากกลับไปอ่านข้อความที่เขียนเล่ามาตั้งแต่ใครเป็นแฟนใครแล้ว ก็จับใจความได้ว่า ตำรวจไปล่อซื้อยาไอซ์ โดยคาดหมายว่า นาย C ถูกชุดจับกุมจับก่อน จึงขยายผลว่าได้ยามาจากใคร จึงให้ล่อซื้อจากนาย A โดยขณะนั้น มีนาง B อยู่ภายในห้องด้วย หลังจากเข้าจับกุมนาย A หลบหนี้ ชุดจับกุมยึดได้ยาไอซ์ เครื่องชั่ง โทรศัพท์ และนาง B แล้วถามว่า จะรอดมั๊ย  ประมาณนี้

ก็ตอบว่า...เท่าที่อ่านหากนาง B จะรอดต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่รู้เรื่อง ซึ่งประเด็นนี้ต้องไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าคนเราอยู่ด้วยกันจะไม่รู้เลยหรือว่าคนร่วมห้องกำลังทำอะไร ซ้ำร้ายยังเป็นผู้ติดต่อนาย C ให้มาหาที่ห้อง ทนายว่า ปกติก็ต้องถามแหละว่าให้มาหาทำไม ยิ่งมีตาชั่งอยู่ในห้องด้วย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า เรารู้เห็นและอาจมีส่วนร่วมกับกระบวนการค้ายาเสพติด โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ บทสรุปจึงออกมาอย่างที่เล่างัยครับ

ซึงถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็รอดยากนะครับ หากอยากจะสู้จริงๆคงต้องหาทนายความที่เชียวชาญไปช่วยเหลือแล้ว

ส่วนเรื่องประกันตัว หากไม่มีเงินให้ไปติดต่อ "กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม" ไปยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ยิ่งหากเราไม่ได้ทำผิดหรือไม่รู้เรื่องจริงๆ กรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ ก็จะไปดำเนินการทำเรื่องประกันตัวให้เราได้ครับ

และขอใช้สื่อตรงนี้แจ้งแก่ทุกท่านว่า หากท่านใดไม่มีเงินประกันตัวก็ไปติดต่อที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งตั้งอยู่ทุกจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลือได้ หากไม่รู้ว่าตั้งอยู่ที่ใดก็ให้ค้นหาทาง Google ได้เลยครับ

และหากต้องการทนายความให้ความช่วยเหลือ เวลาที่พนักงานอัยการสั่งฟ้อง หรือขึ้นศาลนัดแรกก็ให้แจ้งผู้พิพากษาไปว่าต้องการทนายความ เดี๋ยวศาลจะจัดหาทนายความให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกันครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.
[/color][/size]

310
เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากใสขณะนี้เกี่ยวกับการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐ ในทำนองฝนตกไม่ทั่วฟ้า ไม่ตายเพราะไวรัสโคโรน่า แต่จะตายเพราะไม่มีจะกัน

ก็ว่ากันไปครับ..ให้กำลังใจกับทุกฝ่าย ทุกสถานประกอบการทั้งนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งผู้ต้องปฎิบัติงานไกล้ชิดกับการเสี่ยงติดเชื้อไวรัสทุกท่านนะครับ

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้วยังมีอีกหลายธุรกิจครับ ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นผู้ถามนี้ ส่งเสียงไปก็ไม่มีใครได้ยิน จำต้องก้มหน้าแก้ปัญหากันต่อไป

เอาล่ะ...มาที่คำถามที่ถามว่า...ทำแบบนี้จะถูกต้องไหมคะ  หรือจะถูกเป็นโมฆะรึป่าวคะ?

ก็ตอบว่า...ปกติกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีวัตถุประสงค์คุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับการคุ้มครองตามมาตฐานขั้นต่ำ หากนายจ้างใดไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย จะต้องได้รับโทษทางอาญา และข้อตกลงใดที่ขัดต่อกฎหมายถือเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม หากทั้งลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันได้และทำสัญญาไว้ต่อกันว่าไม่ติดใจเรียกร้องเงินใดๆด้วยใจสมัคร (ต้องไม่บังคับข่มขู่กันนะครับ) ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างหนึ่งมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ บังคับได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ ๓๕๗/๒๕๖๑ ครับ

ดังนั้น การที่มีข้อตกลงและทำหนังสือเลิกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม ในสถานการณ์อย่างนี้ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีแล้วครับ เเละเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็อย่าลืมกลุ่มลูกจ้างเหล่านี้นะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

311
ถามมา ๔ ข้อ ตอบเลยละกัน เหลืออีกหลายคำถาม ;D

ถามว่า...

1.ในกรณีอย่างนี้ ถ้าผมหยุดไปทำงานเลย เพื่อที่เตรียมตัวจะไปฟ้องร้องต่อกรมแรงงาน ผมจะโดนข้อหาขาดงานเกินสามวันมั๊ยครับ
 2.การบอกเลิกจ้างแบบนี้ ถือว่าบังคับได้มั๊ย
 3.ผมมีความจำเป็นต้องกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ผมสามารถไปทำเรื่องที่ต่างจังหวัดได้มั๊ย(หมายถึงการไปยื่นร้องเรียนที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน) คือคนละที่กับที่ผมทำงานอยู่
 4.ส่วนการยื่นขอเงินชดเชยกับประกันสังคม ผมควรให้เรื่องนี้จบก่อนค่อยยื่น หรือว่ายื่นได้เลยครับ

ก็ขอตอบว่า
๑. บริษัทยังไม่ได้เลิกจ้างเลย เพียงแต่บอกว่าให้ไปเขียนใบลาออก เมื่อยังไม่ได้เลิกจ้าง หากเราไม่ไปทำงานเกินกว่า ๓ วัน ก็ถือว่าขาดงานละทิ้งหน้าที่ มีความผิดโดยบริษัทสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินใดๆได้เลย
๒. ข้อนี้ตอบไม่ได้ครับ แต่เท่าที่อ่านเรื่องราว ยังไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าเลิกจ้างแล้ว ยังงัยลองถอดเทปที่บันทึกไว้ ส่งมาให้ทนายดูก่อน จะได้วินิจฉัยว่าบริษัทเลิกจ้างแล้วหรือไม่ อย่างไร
๓. ค้องไปยื่น ณ พื้นที่ๆเราเคยทำงานอยู่ หรือจะยื่น ณ พื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ก็ได้ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยื่นได้แต่เจ้าหน้าที่ก็จะไล่ให้ไปยื่นตามพื้นที่ที่เราทำงานอยู่อยู่ดี อย่าไปให้เสียความรู้สึกเลยครับ เสียเวลาด้วย
๔.ต้องไปยื่นเรื่องภายหลังจากที่คิดว่าถูกเลิกจ้างแล้ว ๗ วัน ครับ ถ้าไม่ไปยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดจะเสียสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานครับ ส่วนยื่นแล้วจะได้หรือไม่ได้ค่อยว่ากันอีกทีครับ

คงครบถ้วนตามคำถามนะครับ สงสัยโทรสอบถามได้ครับ

ทนายพร.
[/color][/size]

312
นี่ก็เป็นปัญาที่เกิดขึ้นเยอะมากครับ ซึ่งก่อนที่จะว่าจ้างก็ให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะเสร็จแน่นอน สวยงามตามแบบ แต่เมื่อตกลงจ้างและจ่ายค่าจ้างงวดแรกไปแล้ว ภาระตกอยู่กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้าน  มาดูบ้านทีไร ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จะต่อว่า ก็กลัวผู้รับเหมาจะแกล้งนั่น นี่ โน้น สารพัด ท้ายสุดก็หยวนๆกันไป เมื่อเห็นว่าผู้ว่าจ้างไม่เอาจริง หลังๆเลยไม่ไปทำซะเลย ทิ้งงานไปซะงั้น ทำให้ผู้ว่าจ้างต้องน้ำตาริน ยืนมอง นั่งมอง ความฝันที่จะได้เข้าไปอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข แต่กลับต้องมาทุกข์ตั้งแต่ยังไม่เข้าไปอยู่ คิดดูว่า ในอนาคตจะเศร้าขนาดใหนเมื่อคิดถึงเรื่องนี้

เอาละ แนะนำทางออกเลยละกัน

อย่างแรก ให้ "ทำหนังสือให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา" โดยส่งไปทางไปรณีย์ตอบรับ แล้วเก็บหลักฐานไว้ อาจจะให้เวลาซัก ๑ - ๒ เดือน ก็ว่าไปอยู่ที่งานนั้นเหลือมากน้อยเพียงใด

ขั้นต่อไป เมื่อส่งหนังสือแล้ว ยังไม่มีสัญญาณตอบกลับว่าจะมาดำเนินการต่อ ก็ให้ทำหนังสืออีกหนึ่งฉบับ เป็นหนังสือ "ขอยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย" ส่งไปเหมือนเดิม แต่คราวนี้ให้เวลา ซัก ๑ เดือนก็พอ แต่ก๋อนที่จะทำหนังสือก็ไปติดต่อกับผู้รับเหมารายใหม่ให้มาประเมินว่าถ้าจะทำงานต่อให้เสร็จต้องจ่ายเงินอีกเท่าใหร่ ซึ่งยอดเงินดังกล่าวนั้น คือค่าเสียหายที่จะไปเรียกร้องกับผู้รับเหมารายเดิม

เมื่อครบกำหนดตามที่ยื่นโนติ๊ดไปแล้ว ทีนี้คงต้องอาศัยทนายความในการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ ดอกเบี้ย และ ฯลฯ ต่อไปครับ

ส่วนค่าจ้างทนายจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ก็คงไม่มีทางเลือกแล้วล่ะครับ ถึงขั้นนี้แล้ว เพราะอย่างไรก็ต้องสร้างต่อให้เสร็จ ได้คืนมาบ้างก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย หรือจะคิดว่าทำกฐินกองใหญ่ ทำบุญไป ก็จะเป็นสะพานบุญต่อไปในภายภาคหน้า ก็เป็นความคิดที่ไม่เลวครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

313
กำหนดการฝากขังได้กี่วันนั้น อยู่ที่โทษในความผิดนั้นๆ ถ้าโทษตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไป จะฝากครั้งได้ครั้งละ ๑๒ วัน ไม่เกิน ๗ ครั้ง รวมแล้วไม่เกิน ๘๔ วัน

ส่วนการให้ประกันตัวนั้น อยู่ที่ดุจพินิจของศาล ซึ่งการให้ประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ส่วนการไม่ให้ประกันตัวนั้น เป็นข้อยกเว้น คือต้องมีเหตุ เช่นมีพฤติการณ์จะหลบหนี้ , อัตราโทษสูง , จะไปข่มขู่พยานเป็นต้น

ส่วนประเด็นอายุไม่เกิน ๒๐ ปีนั้น โดยปกติแล้วผู้กระทำความผิดที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปี แต่ไม่เกิน ๒๐ ปี จะต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดโทษ ให้หนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนก็ได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าความรู้สึกผิดชอบของเขายังมีไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นเหตุที่พิจารณาจากตัวเด็กที่กระทำความผิดนั้นเอง ดังนั้น ในเรื่องนี้ก็เป็นดุลพินิจของศาลและพฤติกรรมของเด็กด้วยเช่นกันครับ

ก็เอาเป็นว่าหากทำผิดจริงก็รับสารภาพเพื่อศาลจะได้ปราณีและลดโทษให้หรืออาจจะให้โอกาสรอการลงโทษและคุมประพฤติไว้ก็เป็นได้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

314
อ่านคำถามแล้วก็น่าเห็นใจ ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ต่างได้รับผลประทบกันทั่วหน้า ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนก็คือคนงานนี่แหละครับ มักจะเป็น "เบี้ย" ให้เล่นก่อนการลดต้นทุนตัวอื่น...ก็ว่ากันไปครับ..แต่จงเชื่อว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ โบราณว่าไว้ ;D

มาที่คำถาม ถามว่า..
จะขอต่อรองจ่ายค่าชดเชยที่จะได้รับตามกฏหมายแค่ 50% จากที่จะได้รับ กรณีนี้พนักงานมีสิทธิ์ไม่รับการต่อรองนี้ได้หรือไม่คะ แล้วต้องทำอย่างไรบ้างคะ?
ตอบ อย่างแรก ไม่ควรไปต่อรองในเรื่องนี้ เพราะเป็นการต่อรองที่ต่ำกว่ากฎหมาย และค่าชดเชยเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้าง "ต้อง" ได้รับ เอาเป็นว่าถ้าจะต่อรองก็ไปต่อรองเรื่องอื่นครับ ถ้านายจ้างเลิกจ้างแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนตามอายุงาน ก็ให้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หรือไปเขียน คร.๗ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชย ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มตามมาตรา ๙ คือ ร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน เช่น ถ้าค้างจ่ายเงินค่าชดเชย ๑ แสนบาท ร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน ลูกจ้างก็จะได้ ๑๕,๐๐๐.- ทุก ๗ วัน หากไม่จ่าย ๑ เดือน ก็ ๔ รอบ คิดเป็นเงินเพิ่มที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นเงิน ๖๐,๐๐๐.- บาท เอามั๊ยล่ะ แล้วอย่างนี้นายจ้างจะกล้าเบี้ยวหรือ!

2. จะจ้างต่อ แต่จะจ่ายค่าจ้างตามงานที่ทำได้ หรือ ตามวันทำงานที่ได้ทำ
(เป็นพนักงานรายเดือน) กรณีนี้บริษัทสามารถทำได้หรือไม่คะ บริษัทต้องมีหนังสือยินยอมจากพนักงานก่อนหรือไม่คะ หากบริษัทจะทำเช่นนี้
หากพนักงานไม่ยอม สามารถทำอย่างไรได้บ้างคะ
ตอบ การเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณทำไม่ได้ กฎหมายห้าม เว้นแต่ลูกจ้างจะยินยอม ดังนั้น กรณีที่จะเปลี่ยนสถาพการจ้างแล้วไม่เป็นคุณต่อเราก็ควรจะตรึกตรองให้ถี่ถ้วนถึงข้อดีข้อเสีย หากเห็นว่าถูกเอาเปรียบจนเกินควรก็ไม่ต้องเซ็นยินยอม แต่ถ้าไม่มีทางเลือกก็ว่ากันไปตามสถานการณ์ แต่มีข้อแนะนำว่า ยังงัยซะก็อย่าไปหลงเซ็นใบลาออกนะครับ เดี๋ยวจะเสียสิทธิในการต่อสู้ไป

เอาน่าให้กำลังใจครับ

ทนายพร.
[/color][/size][/size]

315
หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ระบาด ก็สร้างผลกระทบกับทุกภาคส่วนถ้วนทั่วกัน รวมถึงกระบวนการยุติธรรมก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ซึ่งประธานศาลฏีกาได้ให้แนวทางในการพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน จึงได้ให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

เว้นคดีบางประเภทเท่านั้น เช่น ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก , นัดฟังคำพิพากษาที่คู่ความมีจำนวนน้อย เป็นต้น

ดังนั้นในระหว่างนี้ หากผู้ใช้แรงงานหรือนายจ้างท่านใดสงสัยในปัญหาข้อกฎหมายในวิธีปฎิบัติ หรือในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปิดงาน หรือไม่ให้ลูกจ้างทำงานต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินหรือไม่

ก็สามารถตั้งคำถามมาได้ที่ http://www.thanaiphorn.com

ทนายจะเข้ามาตอบทุกคำถาม หรือถ้าเร่งด่วนก็สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ ๐๘๑-๓๔๒๔๒๖๓ (ขอเป็นในเวลาราชการนะครับ หรือจำเป็นจริงๆไม่เกิน ๑๙.๐๐ น.)

แล้วเราจะฝ่าฟันอุปสรรคในครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

ด้วยความสมานฉันท์

ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย
๖ เมษายน ๒๕๖๓

หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 50