23/04/24 - 18:49 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 27 28 [29] 30 31 ... 50
421
ฮั่นแน่..มีแอบดูงบด้วย...อิอิ
ทนายขอแนะนำให้กับทุกท่านเลยว่า หากท่านอยากรู้ว่าบริษัทนั่น นี่ โน้น มีผลประกอบการหรือมีใครเป็นกรรมการบริษัท ท่านสามารถไปขอคัดเอกสารได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด ลองค้นหาทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ครับ เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะครับ

ส่วนที่ถามมาว่า "ถ้านายจ้างไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง หรือ ค่าชดเชจตามกฎหมาย และ เราไปใช้สิทธิตาม กม.แรงงาน จนถึงที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาให้นายจ้างต้องจ่าย แต่ นายจ้างก็ไม่มีเงินมาจ่าย เราจะทำอย่างไรได้อีกบ้าง?"

ทนายก็ตอบว่า ต้องทำใจ..ฮา (ถ้าตอบอย่างนี้ไม่ต้องตอบก็ได้นะทนาย -ผู้ถามแอบต่อว่าในใจ..ฮา อีกรอบ)

เอาเป็นว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษามาแล้ว ก็ให้รีบยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วรีบยึดทรัพย์ของนายจ้างเท่าที่มี เช่น ที่ดิน , เงินฝาก , คอมพิวเตอร์ ,ทีวี , ตู้เย็น , เครื่องจักร หรือทรัพย์อื่นๆ และไม่ต้องไปสนใจว่าจะมีเจ้าหนี้รายอื่นหรือไม่ เพราะถ้าไม่ทำก็จะได้ไม่อยู่ดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังพอจะได้คืนอยู่บ้าง และก็แนะนำว่าให้ไปฟ้องศาลครับ โดยให้ลูกจ้างหลายๆคนไปฟ้องและรวมคดี และให้แต่งตั้งผู้แทนโจทก์เพื่อไปดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ลูกจ้างยังสามารถไปใช้สิทธิขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ตามระเบียบในระหว่างดำเนินคดีนี้ได้ด้วยนะครับ

หรือยังมีข้อสงสัยก็โทรมาถามได้นะครับ เพราะจะมีขั้นตอนค่อนข้างมากอยู่ครับ

ทนายพร.

422
หลายท่านคงเจอปัญหาอย่างนี้ และไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือบางคนก็คิดว่าเอารถไปคืนแล้วทุกอย่างจบ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีก หรือได้รับการบอกหรือแนะนำต่อๆกันมา ซึ่งก็ถูกบ้างไม่ถูกบ้างแล้วค่อยไปว่ากันภายภาคหน้าก็มีเยอะเช่นกัน

เอาเป็นว่า ในเรื่องการเช่าซื้อรถนี้ มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ นั่นก็คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.๒๕๖๑ (ฉบับแรกออกปี ๒๕๕๕ / ฉบับที่สองออกปี ๒๕๕๘ และแก้ไขเป็นฉบับปัจจุบัน) โดยทนายสรุปสาระสำคัญประมาณนี้คือ

๑.อัตราดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เช่นเดียวกับการคํานวณดอกเบี้ย สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ช่วยลดภาระ เงินต้นและเงินดอกให้กับผู้ซื้อรถ และยังช่วยคุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้นอีกด้วย
๒.หากรถที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้ซื้อไม่ได้กระทำผิด ตามกฎหมายใหม่ ห้ามไฟแนนซ์ฟ้องเรียกค่างวดที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าปรับกับผู้เช่าซื้อด้วย
๓.บังคับให้ไฟแนนซ์ หรือผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
๔.หากผู้ให้เช่าซื้อทำการยึดรถไปแล้วก่อนจะนำไปขายทอดตลาดจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน ๗ วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อมีทางเลือกว่าจะชำระต่อหรือไม่ หากไม่ก็จะแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ ภายใน ๑๕ วัน เพื่อให้ผู้ค้ำได้ตัดสินใจว่าจะชำระแทนหรือไม่หากทำการชำระแทนก็จะมีสิทธิในรถคันนั้นทันที ซึ่งในฉบับเดิมไม่มี
๕.อัตราค่าใช้จ่ายเมื่อมีการติดตามรถ หรือทวงถาม ที่ผ่านมาทางไฟแนนซ์เมื่อก่อนจะคิดจากผู้ซื้อ แต่ต่อไปในฉบับนี้จะไม่มีและไม่สามารถคิดจากผู้ซื้อได้
๖.เมื่อไฟแนนซ์มีการนำรถที่ถูกยึดไปขายทอดตลาดแล้ว กฏหมายบอกว่าไฟแนนซ์จะต้องทำหนังสือให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบด้วย
๗.หากได้กำไรไฟแนนซ์จะต้องแบ่งจ่ายส่วนต่างให้ผู้เช่าซื้อด้วย แต่หากขาดทุนผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายส่วนต่างนั้นให้กับผู้ให้เช่า

ส่วนที่ถามมาว่า จะต้องค้างชำระ ๓ งวดแล้วจึงถูกยึดรถที่เช่าซื้อคืนใช่หรือไม่  ทนายก็ขอให้ไปดูในสัญญาที่คุณได้เซ็นต์ไปว่ากำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร ถ้ากำหนดไว้ว่าค้างชำระ ๒ งวดผู้ให้เช่าซื้อสามารถเข้าครอบครองรถคันที่ให้เช่าซื้อคืนได้ ก็คงเป็นไปตามสัญญา

แต่อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ต้องเกี่ยวพันกับกฎหมายที่ทนายได้ยกไว้ให้ศึกษาข้างต้น ซึ่งบริษัทไฟแนนท์จะต้องดำเนินการในทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น หากไฟแนนท์ไม่ดำเนินการตามที่กำหนด เราก็สามารถปฎิเสธการชำระหนี้ส่วนต่างได้ ซึ่งแนวของศาลในปัจจุบันก็มักจะโน้มเอียงมาทางผู้เช่าซื้อมากขึ้นโดยเฉพาะถ้าเราผ่อนมานานแล้ว หากศาลจะตัดสินก็มักจะไม่ใช่ยอดที่ไฟแนนท์ฟ้องครับ หรือยกฟ้องเลยก็มีเยอะครับ แต่ต้องหาทนายช่วยเหลือในการทำคำให้การและสู้คดีล่ะครับ

ส่วนที่ทำได้ในตอนนี้ คือรอให้ไฟแนนท์ฟ้องมาครับ ไม่แน่ว่าไฟแนนท์อาจจะไม่ฟ้องก็ได้นะครับ เพราะยอดเงินไม่เยอะ ฟ้องไปก็ไม่คุ้มครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

423
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ขอเอาหุ้นชำระหนี้
« เมื่อ: สิงหาคม 02, 2019, 02:55:02 am »
ทนายเป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์และดำเนินกิจการมาก็ค่อนข้างนาน และก็จะเจอปัญหาใหม่ๆเข้ามาโดยตลอด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีและท้าทายในการบริหารว่าคณะกรรมการจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในการแกไขปัญหานั้น ต้องยึดหลักกฎหมายให้ดีนะครับ มิเช่นนั้น คณะกรรมการอาจต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวได้

และตามที่ถาม เมื่อสหกรณ์เคยมีการนำเงินประกันมาชำระหนี้ก่อนนำหุ้นมาหักลบก็คงต้องใช้หลักการนี้ต่อไป มิเช่นนั้นจะถูกข้อครหาได้ว่าไม่ยึดหลักการ

ดังนั้น ข้ออ้างที่มีเหตุมีผลก็คือมติคณะกรรมการล่ะครับ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่อาจจะต้องเสียในระหว่างรอเงินประกันนั้น ก็คงจะเลี่ยงไม่ได้ หรือหากสหกรณ์จะปราณีก็อาจจะเอาเงินปันผล (ถ้ามี) หรือเงินเฉลี่ยคืน (ถ้ามี) มารอหักจ่ายก็เป็นไปได้ โดยในที่ประชุมอาจจะมีมติเป็นเงื่อนไขไว้ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากสมาชิกพ้นสภาพด้วยความตาย ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลและเฉลียคืนในรอบบัญชีอยู่แล้ว เว้นแต่สหกรณ์ฯจะไปกำหนดไว้ในข้อบังคับฯเป็นอื่น

ก็ประมาณนี้ครับ แต่ต้องอธิบายให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจนะครับ

ทนายพร.

424
ยาไอซ์ คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (ยาไอซ์) โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๗

แต่ถ้ารับสารภาพโดยปกติก็จะได้รับการปราณีลดโทษให้กึ่งหนึ่งครับ ส่วนท้ายที่สุดศาลจะลงโทษจำคุกกี่ปี หรือจะปราณีรอลงอาญา เป็นดุลพินิจของศาลครับ

ส่วนการจะพิจารณาว่าจะไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯได้หรือไม่นั้น จะต้องดูว่าในขณะที่กระทำความผิดนั้น อายุเท่าใด ถ้าขณะทำผิดยังไม่เกิน ๑๘ ปีบริบูรณ์ก็จะต้องไปพิจารณาคดีทีศาลเยาวชนฯ แต่ถ้าเกินแล้วจะขอไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯก็คงจะทำอย่างนั้นไม่ได้ครับ

ทนายพร.

425
เครสนี้เห็นว่าเป็นเครสด่วนและได้ไขข้อข้องใจให้ทางโทรศัพท์แล้วครับ

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้อื่นที่สนใจก็ขอตอบในที่นี้อีกครังนะครับ

ถามว่า ถูกบริษัทบีบให้ลาออก แต่ลูกจ้างไม่ยอม จึงหาทางกลั่นแกล้งนั่นนี่โน้น สุดท้ายหาเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ควรทำอย่างไรดี

ทนายก็ตอบว่า สิ่งที่ผู้ถามเลือกที่จะไม่เซ็นต์ใบลาออก แล้วให้นายจ้างเลิกจ้างนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว หากคุณอยาก "ไปต่อ" เพราะถ้าลูกจ้างไปเซ็นต์ใบลาออกเองแล้ว จะไปเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่ยากเลยล่ะครับ

และสิ่งที่ควรทำในระหว่างนี้ ก็ต้องเตรียมตัวและหาวิธีที่จะหาพยานหลักฐานไว้ เช่น แบบประเมิน ผลการประเมิน หรือเอกสารต่างๆ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเรา อาจจะใช้วิธีถ่ายรูปไว้ แต่ห้ามขโมยมานะครับ เดี๋ยวงานจะเข้าอีก และในระหว่างนี้ก็ทำงานไปตามปกติ ทำใจให้สงบไว้ ก็จะเป็นผลดีกับเราในอนาคตครับ

และขอบอกว่า เหตุการณ์กรณีเช่นนี้ มีโทรเข้ามาขอคำปรึกษากับทนายเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหาร หรือเราบังเอิญไปทำอะไรไม่ถูกใจหัวหน้า ก็มักจะถูกบีบให้ลาออก เมื่อไม่ลาออก ก็จะขู่ในทำนองนี้ บางท่านก็ต่อสู้อย่างแข็งขัน บางท่านก็เจรจาเพื่อขอเงินค่าชดเชย หรือบางท่านไม่อยากมีปัญหาให้ถึงโรงถึงศาล ก็ลาออกไปหางานใหม่ อะไรประมาณนี้ครับ

อย่างไรก็ตามก็ให้กำลังใจนะครับ และจงเชื่อว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอครับ

ทนายพร.

426
ยาไอซ์ ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๑ ครับ และมีโทษสูงนะครับ
และการครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น
สำหรับโทษที่จะได้รับก็ตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไปถึงตลอดชีวิตล่ะครับตามมาตรา ๖๕ , ๖๖ หรือ ๖๗ แห่งพรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ เพราะจะถือว่าครอบครอง และครอบครองเพื่อจำหน่ายตามข้อสันนิฐานของกฎหมาย
ส่วนการรับสารภาพก็เป็นประโยชน์ต่อญาติคุณเองเพราะศาลก็จะปราณีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จาก ๑๐ ก็จะเหลือ ๕ อย่างนี้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โทษที่จะลงนั้น เป็นดุลพินิจของศาลที่จะเป็นผู้กำหนดครับ
หรือหากอยากจะรู้รายละเอียดให้หากฎหมาย "พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒" ก็จะได้รู้รายละเอียดมากขึ้นครับ
ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร

427
ทนายคงตอบคำถามทันนะครับ...และต้องขออภัย คิวงานของทนายช่วงนี้ก็แน่นเกิ๊น...

ไม่พูดมาก..เจ็บคอ...(อิอิ) ตอบตามที่ถามเลยนะครับ ...ถามมาว่า

- หนูไม่มีหลักฐานที่จะรับรองว่าทำงานมา1ปีแล้ว ที่นี่ไม่มีการเซ็นสัญญาเริ่มทำงาน และไม่มีสลิปเงินเดือนที่ระบุว่าเราทำงานมา 1 ปีแล้ว ทำการโอนเงินเข้าบัญชีโดยการให้พนักงานบัญชีถือเงินสดไปฝากหน้าเคาท์เตอรืธนาคารค่ะ
ตอบ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าในการจ้างแรงงานต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ เเม้โดยวาจาก็ถือว่าสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น แค่มีหลักฐานการรับเงิน , มีคนเห็นเราทำงานให้บริษัท หรือหลักฐานใดๆก็ได้ที่แสดงว่าเราเป็นลูกจ้างของบริษัทนี้ หรือถ้าเราคิดไม่ออก ก็ไปที่สำนักงานประกันสังคมขอให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อมูลการเป็นผู้ประกันตนของเราก็ได้ครับ ประเด็นนี้ไม่ต้องกังวลเลยครับ..

- นายจ้างแจ้งความประสงค์ในการเลิกจ้างงานโดยวาจา แต่ไม่ได้ออกหนังสือเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ค่ะ
ตอบ แจ้งเลิกจ้างด้วยวาจาก็ดีเลย แต่คนที่บอกเลิกจ้างนั้นต้องเป็นผู้มีอำนาจในการเลิกจ้างได้นะครับ เช่น เจ้าของบริษัท ผู้จัดการ อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าเราไม่แน่ใจว่าถูกเลิกจ้างแล้วหรือยัง ก็ให้โทรไปถามผู้จัดการและถามว่า "ท่านผู้จัดการคะ ตกลงว่าเลิกจ้างนู๋แล้วใช่ป่าวค่ะ" โดยทำการบันทึกเสียงการคุยไว้ และถ้าผู้จัดการตอบมาว่า เลิกจ้างแล้ว ...เเค่นี้ก็นำไปเป็นหลักฐานได้แล้วครับ
ซึ่งกฎหมายได้ให้หลักเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาจ้างไว้ว่า ในการบอกเลิกสัญญาจ้างนั้น หากนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ต้องทำเป็นหนังสือโดยต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นด้วย หากไม่ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบ จะยกเหตุดังกล่าวมาเพื่อไม่จ่ายเงินค่าชดเชยมิได้นะครับ อันนี้กฎหมายว่าไว้


- ถ้าเค้าไปแจ้งกับประกันสังคมว่าเราลาออกเอง โดยไม่มีหนังสือเซ็นลาออกได้มั้ยคะ
ตอบ แจ้งอ่ะแจ้งได้ครับ แต่เราต้องไปแจ้งกับประกันสังคมว่าเราไม่ได้ลาออก แต่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งเราต้องไปตรวจสอบดูนะครับ และถ้านายจ้างแจ้งว่าเราลาออก เราก็เอาหลักฐานตามข้อ ๒ ไปให้เค้าดู หรือไปเขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อให้มีคำวินิจฉัยก็ได้ครับ

หากยังสงสัยก็ถามเข้ามาใหม่นะครับ

ทนายพร.

428
อ่านเรื่องราวแล้วก็คิดตามว่า เกิดอะไรขึ้น หรือเคมีเกิดไม่ตรงกัน ทำให้จะต้องถึงกับเลิกจ้างเลยหรือ

แต่เอาละเมื่อถามทนายมาเป็นข้อๆ ทนายก็จะต้องตามที่ถามเลยนะครับ ซึ่งผู้ถามได้ถามมาว่า...

๑.ยังไงดิฉันก็จะไม่เซ็นเพราะไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง และทางโรงแรมไม่ได้เป็นคนเรียกดิฉันคุยแต่ดันเป็นคนในแผนกเอาใบนี้มาให้ตอนนี้ดิฉันควรไปปรึกษา Hr หรือควรโทรไปกรมแรงงานเพื่อปรึกษาก่อนดีคะ
ตอบ ที่คุณทำนี่ถูกต้องแล้ว เพราะถ้าเราอยากจะเรียกร้องสิทธิและไปต่อ ก็ต้องไม่เซ็นต์ใบลาออกโดยเด็ดขาด หากคุณเซ็นต์ ทุกอย่างจบนะครับ

๒.มีกฏหมายข้อไหนไหมคะที่หัวหน้าแผนกสามารถเดินเอาใบลาออกมาให้เราเขียนได้โดยไม่ต้องผ่านฝ่ายบุคคลเลย
ตอบ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้หรอกครับว่าให้สิทธิใครเป็นคนไปเอาใบลาออกมาให้เขียน..(ฮา) เอาเป็นว่า ถ้าเราไม่อยากลาออกก็ไม่ต้องเขียน ใครจะเอามาให้เขียนก็ไม่เขียน และบอกไปว่าเรายังอยากทำงาน ถ้าจะให้เราออกก็ให้ทำหนังสือเลิกจ้างมา แล้วค่อยไปเรียกร้องสิทธิ์เอาตามที่กฎหมายกำหนดครับ

๓.ในกรณีนี้เกิน ๑๒๐ วันมาแล้วถ้าิฉันจะออกจริงๆ สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ไหมคะ ควรทำก่อนหรือหลังเขียนใบลาออกแล้วต้องทำอย่างไรบ้างคะ
ตอบ ถ้าเขียนใบลาออก จะไม่ได้รับค่าชดเชยแม้แต่บาทเดียวนะครับ เว้นแต่จะถูกเลิกจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามอายุงาน (มาตรา ๑๑๘) ครับ

ให้กำลังใจนะครับ หรือถ้าสงสัยและต้องการคำแนะนำก็โทรสอบถามได้นะครับ

ทนายพร.

429
ถามมาว่า.
๑.กระผมควรปฏิบัติอย่างไรหากตัดสินใจทำงานต่อให้เสร็จจนถึง ตุลาคม 62 โดยไม่มีสัญญาฉบับใหม่ และกระผมจะได้รับเงินชดเชยไหม
ตอบ กรณีถ้าเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดกันแน่นอนและชัดเจน กรณีดังกล่าว หากมีการเลิกสัญญาก่อนที่จะครบสัญญา ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ได้รับค่าเสียหายเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ครับ จะไม่เรียกว่าค่าชดเชยนะครับ ทั้งนี้ต้องย้ำว่า เป็นสัญญาที่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนนะครับ

๒.นายจ้างมีช่องทางละเมิดผมหรือใช้ช่องทางไหนทางกฏหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย มีไหมและอะไรบ้าง
ตอบ ก็มีเหตุเดียวที่จะเลี่ยงได้คือ เรากระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานครับ (โปรดดู มาตรา ๑๑๙)

๓.หากมีการละเมิด เงินชดเชยผมเกิดขึ้นจริง มีขั้นตอนการต่อสู้คดีอย่างไรบ้างครับ
ตอบ มีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ ๑ ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่ท่านทำงานอยู่ และ ๒ ไปฟ้องต่อศาลครับ โดยท่านสามารถไปให้นิติกรศาลเขียนคำฟ้องให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ครับ

เอาเป็นว่า ทนายแนะนำให้ทำงานไปตามปกติ โดยไม่ต้องกังวลใดๆทั้งสิ้น และไม่ต้องไปเรียกร้องทำสัญญาใหม่แต่ประการใด เพราะถ้านายจ้างขอเลิกจ้างก่อนครบสัญญาก็ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับลูกจ้างเป็นเงินเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญาครับ

คงครบถ้วนตามที่ถามนะครับ หากยังสงสัยก็สามารถโทรสอบถามได้นะครับ

ทนายพร.

430
ขอผ่อนผันค่าปรับกรณีศาลตัดสินให้เสียค่าปรับด้วยนั้น สามารถทำได้นะครับ แต่ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยอ้างเหตุไม่มีเงินก็ได้ แต่ศาลจะอนุญาตหรือไม่นั้นก็เป็นดุลพินิจของศาล แต่ส่วนใหญ่ศาลก็จะปราณีนะครับ ยิ่งถ้าแสดงให้ศาลเห็นว่าเราไม่มีเงินจริงๆ

อาจจะต้องใช้ทนายในการเขียนคำร้องแล้วล่ะครับ ซึ่งท่านสามารถติดต่อขอใช้บริการทนายอาสาที่ประจำอยู่ที่ศาลทุกศาลทั่วประเทศครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

431
ผู้ถามคงมีคดีที่ศาล และพยานสำคัญคือพระภิษุสงค์ กระมัง...อย่ากระนั้นเลย ทนายก็จะตอบหลักกฎหมายตามที่ถามเลยนะครับ

กฎหมายได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในมาตรา มาตรา ๑๐๖/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดย(ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ.๒๕๕๐
"ห้ามมิให้ออกหมายเรียกพยานดังต่อไปนี้
(๑) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
(๒) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
(๓) ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมาย
ในกรณีตาม (๒) และ (๓) ให้ศาลหรือผู้พิพากษาที่รับมอบ หรือศาลที่ได้รับแต่งตั้งออกคำบอก กล่าวว่าจะสืบพยานนั้น ณ สถานที่และวันเวลาใดแทนการออกหมายเรียก โดยในกรณีตาม (๒) ให้ส่งไปยังพยาน ส่วนตาม (๓) ให้ส่งคำบอกกล่าวไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการ ตามบทบัญญัติว่าด้วยการนั้น หรือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
 
หมายความว่า จะนำพระมาเป็นพยาน ศาลไม่ห้ามนะครับ แต่จะต้องเป็นการมาโดยสมัครใจ และผูํ้ประสงค์จะอ้างพระเป็นพยานก็ต้องไปนิมนต์ท่านมาเองครับ

แต่ถ้าจะให้ศาลหมายเรียกเพื่อบังคับมานั้น กฎหมายห้ามตามที่ยกข้อกฎหมายมาให้ดูข้างต้นนะครับ เว้นแต่จะเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีและพระท่านเป็นพยานสำคัญที่ชี้แพ้-ชนะได้ ก็ใช้วิธียื่นคำร้องขอให้ศาลออกไปเผชิญสืบ หรือเรียกแบบชาวบ้านๆว่า ให้ศาลลงพื้นที่ไปสืบพยานเอง อย่างนี้ก็ได้ (แต่ศาลจะไปหรือเปล่านี่ก็เป็นดุลพินิจของศาลนะครับ)

ยังมีช่องทางอยู่ครับ และคงต้องใช้ทนายให้ช่วยเหลือแล้วล่ะครับ

ทนายพร.

432
ถามสั้นๆ เหมือนเล่าให้ฟัง..ฮา

เท่าที่จับความรู้สึกจากคำถาม เหตุการณ์คงประมาณว่า พนักงานได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.๗) กรณีเลิกจ้างแล้วนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ต่อมา พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้จ่ายภายใน ๓๐ วัน เเละเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้ว นายจ้างก็ไม่พอใจ จึงใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา มีการสืบพยานกันและศาลตัดสินยืนตามคำสั่งหรือพิพากษาว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้จ่ายเงินตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ประมาณนี้

แล้วถามว่า จะทำอย่างไรต่อไป

ถ้าตามมาประมาณนี้ก็ต้องตอบว่า ต้องไปตรวจสอบว่า นายจ้างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลสูงหรือไม่ หรือคดีสิ้นสุดแล้ว

แต่ไม่ต้องกังวลเพราะเงินพนักงานตรวจแรงงานสั่งให้่จ่ายนั้น นายจ้างได้นำเงินไปวางต่อศาลในวันที่ไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลแล้ว

หากคดีเสร็จสิ้นแล้ว หน้าที่ของเราก็แค่ยื่นคำร้องต่อศาลขอรับเงินนั้นมา ก็จบแล้วครับ

ไม่ยากครับ

ยินดีด้วยนะครับ

ทนายพร.

433
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: คดีครอบครอง เคตามีน
« เมื่อ: มิถุนายน 26, 2019, 03:41:54 am »
ทนายเคยตอบปัญหาเกี่ยวกับยาเค หรือเคตามีน ไปหลายครั้งแล้วเหมือนกัน แต่หาไม่เจอ..(ฮา)
ซึ่งยาเค ถือเป็นยาเสพติดประเภท ๒ ครับ

ส่วนจะให้ตอบว่า ศาลจะรอลงอาญา หรือต้องโทษจำคุกหรือไม่นั้น ทนายคงตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีครับ

เอาเป็นว่า ถ้ารับสารภาพศาลก็จะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง และดูว่าโทษที่ลดแล้วเกินกว่าห้าปีหรือไม่ ถ้าไม่เกินและศาลปราณีก็อาจรอลงอาญาก็เป็นได้ หรือถ้าศาลไม่รอ ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงเพื่อให้พิจารณารอการลงโทษ แต่ต้องหาทนายความที่มีประสบการณ์ในการทำอุทธรณ์ด้วยนะครับ มิเช่นนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นไม่รอลงอาญาแล้ว จะไปต่อที่ศาลฏีกายากมากนะครับ

ซึ่งตาม พรบ.ยาเสพติด และพรบ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท บัญญัติหลักกฎหมายไว้ว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖ (๗ ทวิ) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๕ -๒๐ ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

เอาเป็นว่า ถ้าทำจริง ก็รับสารภาพเพื่อจะได้ลดโทษ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และอย่าได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

434
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ขอคำปรึกษาคะ
« เมื่อ: มิถุนายน 26, 2019, 03:24:32 am »
อืมมม...อ่านแล้วก็สัมผัสความรู้สึกได้ว่า ผู้ถามได้สำนึกแล้วว่าสิ่งที่ทำไปไม่น่าจะถูกต้อง และตามต่อว่าจะโดนข้อหาอะไร?

ทนายก็ตอบว่า ถ้าอีกฝ่ายหรือผู้ที่เราเอารูปเค้ามาเป็น Profile ของเราเพื่อมีเจตนาไม่ดี ก็อาจจะเป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ครับ ซึ่งก็มีโทษทางอาญา หรือถ้าทำให้เค้าเสียหายก็มีโทษในทางเเพ่งถูกเรียกค่าเสียหายหรือสินใหมทดแทนได้

เอาเป็นว่า เมื่อยังไม่มีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนหรือหมายศาลมา ก็ทำใจให้สบาย ไม่ต้องคิดมากครับ เวลาก็ผ่านมานานพอสมควรแล้วก็ไม่มีอะไรแล้วมั๊งครับ รอเอาไว้ในวันที่ได้รับหมายเรียกจากตำรวจหรือหมายศาลมาก่อนค่อยมาว่ากันอีกทีครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

435
เครสนี้ทนายได้ให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ไปแล้ว แต่เพื่อเป็นประโยชน์ก็จะให้หลักกฎหมายไว้เป็นกรณีศึกษาครับ

ซึ่งหลักกฎหมายได้วางหลักไว้ว่า เมื่อนายจ้าง-ลูกจ้างได้ตกลงกันอันเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานทั้งเรื่องลักษณะการทำงาน วันเวลาทำงาน ค่าจ้าง หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "สภาพการจ้าง" หรือ "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง" ตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าของตัวนี้ หากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็น "คุณ" ยิ่งกว่า หรือเอาให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วดีกว่าเดิม นายจ้างก็สามารถเปลี่ยนได้เลยโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน

ดังนั้น ตามที่ผู้ถามได้ถาม หากเราไม่ยินยอม นายจ้างก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ครับ

เพียงแต่ว่า เราต้องมีความอดทน หรืออาจต้องเจ็บปวดหน่อยจากการกระทำของนายจ้างที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายมากดดัน เพื่อให้เราไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้และขอลาออกไปในที่สุด เช่น ไม่อนุญาตให้ลา หาเหตุกลั่นแกล้งหรือลงโทษเป็นต้น

เอาเป็นว่า หากอยากจะไปต่อ ต้องไม่เซ็นต์ใบลาออก หรือเซ็นต์เอกสารใดๆโดยเด็ดขาด หากนายจ้างไม่ต้องการเราแล้วก็บอกไปตรงๆเลยว่าให้เลิกจ้างเราเสีย แล้วค่อยไปดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมเอาภายหลังครับ

แต่ถ้าไปเซ็นต์ใบลาออกด้วยมือของเราเองแล้ว การที่จะไปเรียกร้องภายหลัง ต้องบอกตรงไปตรงมาว่ายากมากครับ

ให้กำลังใจนะครับ และผลเป็นเช่นไรบอกกล่าวมาหน่อยก็จะดีนะครับ และบอกกล่าวตรงนี้ว่า หากลูกจ้างท่านใดต้องการคำตอบเร่งด่วนก็สามารถโทรสอบถามได้เลยนะครับ เพราะบางครั้งทนายก็หาเวลายากในการเข้ามาตอบในเว็บนี้ครับ แต่ยืนยันได้ว่า จะเข้ามาตอบทุกเครสทุกคำถามครับ...ฮา

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 27 28 [29] 30 31 ... 50