26/04/24 - 18:40 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 46 47 [48] 49 50
706
สรุปจากการอธิบายได้ความว่า

๑.เป็นพนักงานขายรถยนต์ โดยบริษัทให้ค่าจ้างในจำนวนที่แน่นอนจำนวนหนึ่งและตกลงจ่ายค่าคอมฯให้อีกจำนวน...บาทต่อคัน หากทำยอดได้เกินเป้าที่กำหนด (ในที่นี้ได้กำหนดไว้ ๓ คันต่อเดือน)

๒.บริษัทอ้างว่าส่งเอกสารไม่ครบถ้วนจึงไม่จ่ายค่าคอมฯ

๓ .หากบริษัทเรียกพบและกดดันให้เราลาออกควรจะทำอย่างไร?

ขอตอบอย่างนี้ครับ

๑.การเป็นพนักงานขายรถยนต์ ก็เป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน ซึ่งนายจ้างต้องกำหนดอัตราค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด (ในที่นี้คาดว่าจะได้ค่าจ้างไม่น่าถึงเก้าพันบาท เพราะเคยมีญาติทำงานในลักษณะนี้เหมือนกัน) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากค่าคอมฯแล้ว ไม่เข้าองค์ประกอบของค่าจ้าง แต่เป็นสวัสดิการเพื่อจูงใจให้ทำยอดให้ได้ตามเป้า ดังนั้น เมื่อเป็นข้อตกลงกันในเรื่องของการจ่ายค่าคอมฯแล้ว เมื่อพนักงานทำได้ตามเงื่อนไข (ได้ตามเป้า) พนักงานย่อมมีสิทธิได้รับค่าคอมฯอย่างแน่นอนครับ


๒.บริษัทยกข้ออ้างว่าเราส่งเอกสารไม่ครบถ้วนจึงไม่จ่าย.....ขอตอบอย่างนี้ครับ..

หากบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยได้มีการเรียกเราไปรับทราบหรือให้เราเซ็นต์รับทราบเงื่อนใขดังกล่าว ถือว่าเราได้ยอมรับเงื่อนไขนั้น แต่หากว่าเราไม่รู้เงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่สามารถมาตัดสิทธิอันพึงได้ของเราได้ครับ ...หากเราไม่รู้มาก่อน จะมาตัดค่าคอมฯเราไม่ได้ครับ

๓.หากบริษัทเรียกตัวและกดดันให้ลาออก ควรทำอย่างไร?...

ก็อยู่ที่เราครับ..จริงๆหากเราไม่เซ็นต์ใบลาออก นิติสัมพันธ์ระหว่างเรา (ลูกจ้าง) กับบริษัท(นายจ้าง) ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป (แต่อาจจะทำงานอย่างลำบากมากขึ้น เช่น ไม่มอบหมายงานให้ทำ)

ดังนั้นอาจจะพูดแบบตรงไปตรงมาเลยว่า หากจะให้เราออกจะให้เงินช่วยเหลือเราเท่าใหร่? หากเราพอใจก็รับไป..หากไม่พอใจก็อยู่เป็นพนักงานต่อไป ซึ่งบริษัทก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้เรา หรือหากบริษัทบอกเลิกจ้างเรา หรือบอกว่า "คุณไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วนะ" อย่างนี้ ถือว่าบริษัทได้เลิกจ้างเราแล้วตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน(ดูมาตรา ๑๑๘)

และหากเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้อีกครับ รวมทั้งหากมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ก็มีสิทธิได้รับเงินเท่ากับค่าจ้างทั้งหมดด้วย และหากนายจ้างบอกเลิกจ้างไม่ถูกต้องก็ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกครับ(หรือที่เรียกว่าค่าตกใจ)

หรือหากยังสงสัยประการใดก็สามารถโทรสอบถามได้ครับ


707
วันนี้มีคนโทรมาสอบถามว่า บุตรชายได้ไปขโมยรถจักรยานยนต์มาจากที่ผับแห่งหนึ่งในตอนกลางคืน และตำรวจตามจับได้พร้อมของกลาง และแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ บุตรชายได้ยอมรับผิดแล้ว ถามว่าจะถูกจำคุก หรือไม่ อย่างไร กี่ปี

ความผิดเรื่องลักทรัพย์นี้ หากผู้ต้องหาถูกฟ้องเป็นจำเลยและให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง  ศาลสามารถพิพากษาได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการสืบพยานเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 176

(ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษ อย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง)


สำหรับบทลงโทษนั้น มีดังนี้ครับ


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  334  ระบุว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท


มาตรา 335 ผู้ใด ลักทรัพย์

                (1) ในเวลา กลางคืน
                (2) ในที่ หรือ บริเวณ ที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่ หรือ บริเวณ ที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัย แก่ รถไฟ หรือ ยานพาหนะอื่น ที่ประชาชนโดยสาร หรือ ภัยพิบัติอื่น ทำนองเดียวกัน หรือ อาศัยโอกาส ที่มีเหตุ เช่นว่านั้น หรือ อาศัยโอกาส ที่ประชาชน กำลังตื่นกลัว ภยันตรายใดๆ
                (3) โดยทำอันตราย สิ่งกีดกั้น สำหรับคุ้มครอง บุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ โดยผ่าน สิ่งเช่นว่านั้น เข้าไป ด้วยประการใดๆ
                (4) โดยเข้า ทางช่องทาง ซึ่ง ได้ทำขึ้น โดยไม่ได้จำนง ให้เป็นทางคนเข้า หรือ เข้าทางช่องทาง ซึ่ง ผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
                (5) โดยแปลงตัว หรือ ปลอมตัว เป็นผู้อื่น มอมหน้า หรือ ทำด้วยประการอื่น เพื่อไม่ให้ เห็นหรือจำ หน้าได้
                (6) โดยลวงว่า เป็นเจ้าพนักงาน
                (7) โดยมี อาวุธ หรือ โดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่ สองคน ขึ้นไป
                (๘) ใน เคหสถาน สถานที่ราชการ หรือ สถานที่ ที่จัดไว้ เพื่อบริการสาธารณ ที่ตนได้เข้าไป โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ซ่อนตัว อยู่ในสถานที่นั้นๆ
                (9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือ เรือสาธารณ สาธารณสถาน สำหรับขนถ่ายสินค้า หรือ ในยวดยานสาธารณ
                (10) ที่ใช้ หรือ มีไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์
                (11) ที่เป็นของ นายจ้าง หรือ ที่อยู่ใน ความครอบครอง ของนายจ้าง
                (12) ที่เป็นของ ผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็น ผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือ เครื่องมือ อันมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม หรือ ได้มาจากการกสิกรรม นั้น

            ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง ห้าปี และ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท

            ถ้า ความผิด ตามวรรคแรก เป็นการกระทำ ที่ประกอบด้วย ลักษณะดังที่บัญญัติไว้ ในอนุมาตราดังกล่าว ตั้งแต่ สองอนุมาตรา ขึ้นไป ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง เจ็ดปี และ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นสี่พันบาท

            ถ้า ความผิด ตามวรรคแรก เป็นการกระทำต่อ ทรัพย์ ที่เป็น โค กระบือ เครื่องกล หรือ เครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรม มีไว้สำหรับ ประกอบกสิกรรม ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ สามปี ถึง สิบปี และ ปรับตั้งแต่ หกพันบาท ถึง สองหมื่นบาท

            ถ้า การกระทำความผิด ดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำ โดยความจำใจ หรือ ความยากจนเหลือทนทาน และ ทรัพย์นั้น มีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษ ผู้กระทำความผิด ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้


มาตรา  357  ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


708
วันนี้มีลูกจ้างที่ทำงานประจำในผับแห่งหนึ่งช่วงกลางคืน (มีประกันสังคม มีสวัสดิการต่างๆ) โทรศัพท์มาสอบถามว่านายจ้างประกาศให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากในช่วงนี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งนายจ้างแจ้งว่าจะเปิดร้านตามปกติก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามนายจ้างไม่ได้แจ้งว่าช่วงหยุดงานนี้ ลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนหรือไม่ อย่างไร จึงโทรมาสอบถามถึงความกังวลดังกล่าว

ผมได้ตอบไปว่า เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ที่นายจ้างต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว  แต่มีสาเหตุมาจากผลกระทบต่อการประกอบกิจการของทางร้าน  จนทำให้ร้านไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  ดังนั้นตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 จึงได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75  ของค่าจ้างในวันที่ทางร้านไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานนั้นๆครับ 

709
มีคนสอบถามมาว่า ขณะนี้รับเด็กคนหนึ่งมาเป็นลูกบุญธรรม แต่ไม่อยากให้เด็กรู้ว่าเราไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง เราสามารถเปลี่ยนชื่อพ่อแม่เด็กที่เป็นพ่อแม่จริงๆ มาเป็นชื่อตนเอง (พ่อแม่บุญธรรม) ในทะเบียนบ้านได้หรือไม่ อย่างไร

ตามระเบียบแล้ว การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อบิดามารดาบุตรบุญธรรมในทะเบียนบ้านจะกระทำได้หรือไม่ ย่อมเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนายการทะเบียนกลางกำหนด ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร 2534 มาตรา 27 ที่บัญญัติไว้ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย หรือสูติบัตรและมรณบัตรให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

ดังนั้นควรสอบถามรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวกับนายทะเบียนท้องถิ่นโดยตรง จะเป็นการดำเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมายดีกว่าครับ

710
มีลูกความโทรศัพท์มาถามว่า บิดาได้ซื้อรถให้บุคคลภายนอกใช้ แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาบิดาได้เสียชีวิตลง เลยไม่ได้ส่งงวดรถกับไฟแนนซ์ต่อ ทำให้ทางบริษัทไฟแนนซ์มาทวงถามค่างวดรถที่บ้านกับลูกและภรรยา และจะดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายกับครอบครัว จะต้องทำอย่างไรหรือแก้ปัญหาอย่างไรบ้างในกรณีอย่างนี้

ผมได้แนะนำไปว่า เมื่อบิดาเป็นผู้เช่าซื้อ บริษัทไฟแนนซ์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายในฐานผิดสัญญาเช่าซื้อได้อยู่แล้ว อีกทั้งสิทธิเช่าซื้อทรัพย์สินถือเป็นมรดกที่ตกทอดมายังทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 แต่ทั้งนี้ทายาทรับผิดไม่เกินมรดกที่ตกทอดแก่ตน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1601 ดังนั้นในฐานะทายาทจึงต้องเข้าไปเป็นคู่ความโดยอัตโนมัติ และต้องต่อสู้คดีเพื่อขอลดค่าเสียหายตามหมายฟ้องดังกล่าวครับ

711
มีแม่ค้าตลาดนัดตอนกลางคืนหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โทรศัพท์มาสอบถามว่า ตนเองขายแว่นตาทั่วๆไป แต่เป็นสินค้า copy ยี่ห้อ เช่น Rayband แล้วพอดีมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบลิขสิทธิ์เข้ามาพอดี จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ ตนเองได้ยอมรับข้อกล่าวหา และสอบถามว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การขายของละเมิดลิขสิทธิ์ และมีพยานหลักฐานชัดเจน ถือว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว จึงมีความผิดตามมาตรา 110 มีโทษตามมาตรา 108 จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นข้อเสนอของผมคือ เมื่อรับสารภาพไปแล้ว ก็ให้ขอลดหย่อนโทษ และประกันตัวออกมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว คดีแบบนี้ศาลมักจะรอการลงโทษ ส่วนจะปรับเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่านครับ


712
วันนี้ทนายความได้ให้คำปรึกษากรณี “ภรรยาหนีออกจากบ้านไปอยู่กับผู้หญิงอีกคนที่เป็นทอม และไม่สนใจลูกๆแม้แต่น้อย พอโทรศัพท์ไปถามก็แจ้งว่า จะไม่กลับมาอยู่กับสามีหรือพ่อของลูกอีกต่อไปแล้ว สามีเลยสอบถามมาว่าสามารถแจ้งความกรณีที่ภรรยาละทิ้งบุตร และข้อหามีชู้กับแฟนใหม่ที่เป็นทอม ได้หรือไม่ อย่างไร”

ผมได้คำแนะนำไปว่า

การกระทำของภรรยานั้น สามีสามารถร้องขอให้ศาลสั่งถอนอำนาจปกครองบุตรของภรรยาได้เพราะถือเป็นกรณีที่ภรรยาให้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1582

แต่การที่ภรรยาคบหาหญิงที่เป็นทอม ซึ่งมีลักษณะเป็นชายเพียงรูปลักษณ์ภายนอกนั้น ยังไม่เข้าความหมาย “ชู้” ตามกฎหมาย สามีจะอ้างสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับการกระทำของภรรยานั้นไม่ได้ เพราะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ครับ

713
ค่าจ้างเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง ดังนั้นแม้ลูกจ้างจะลาออกจากงานโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งได้ทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างนั้น

ดังนั้นลูกจ้างจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ตนทำงานอยู่เพื่อทำการสอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง

หรือฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้จ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามนัยมาตรา 9 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ครับ

714
เงินต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

1) เงินที่จ่ายเป็นสวัสดิการ หมายถึง นายจ้างจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในด้านต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องแบบ ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก ค่าหอพัก  ค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียนบุตร เงินฌาปนกิจศพ ค่าคลอดบุตร ค่าประกันอุบัติเหตุ เงินโบนัส ค่าภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่ารถประจำตำแหน่ง เป็นต้น


2) เงินที่จ่ายจูงใจลูกจ้างให้ทำงานมากกว่ามาตรฐานปกติ เช่น ค่าทิปจากงานบริการ

หรือเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำยอดขายได้ตามเป้า ที่กำหนด  เพื่อจูงใจให้ทำยอดขายเพิ่ม  ไม่ได้ตอบแทนการทำงานโดยตรง  ทั้งยังจ่ายเป็นรายเดือน  รายไตรมาส  หรือรายปี  มิใช่ตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน  มิใช่ค่าจ้าง  (คำพิพากษาที่ 2246 / 2548)

“เบี้ยเลี้ยง” ที่จ่ายให้เมื่อออกไปทำงานต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ค่าจ้าง (คำพิพากษาที่ 2335 / 2523)
     
         
3) เงินที่จ่ายจ่ายเพื่อให้ลูกจ้างออกจากงาน


4) เงินที่จ่ายจ่ายเพื่อทดแทนเงินหรือสิ่งที่ลูกจ้างจ่ายไป เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่ารถประจำตำแหน่ง เป็นต้น 


เช่น ค่าน้ำมันรถเหมา จ่ายเพื่อชดเชยกับการที่ลูกจ้างนำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน (คำพิพากษาที่ 4842 / 2548) ค่าพาหนะเหมา จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เดินทางไปทำงานนอกสถานที่  เป็นเงินช่วยเหลือค่าเดินทาง  (คำพิพากษาที่ 9016 – 9043 / 2549)

             
5) เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาหรือเกินเวลาในวันทำงาน


6) เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาหรือเกินเวลาในวันหยุด


7) ค่าจ้างที่ได้โดยไม่ต้องทำงานได้แก่                            

7.1) เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลา                 

7.2) ลูกจ้างไม่ได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย                       

7.3) ค่าจ้างในวันหยุด เช่น ลูกจ้างรายเดือนได้ค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง และลูกจ้างตามผลงานได้ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี  หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี  เป็นต้น   

 
8) ค่าจ้างในวันลา เช่น ลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วันทำงาน ลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกินครรภ์ละ 45 วัน เป็นต้น



สำหรับค่าใช้จ่ายต่อไปนี้ ต้องถือว่าเป็น "ค่าจ้าง"

(1) ลูกจ้างได้รับค่าน้ำมันรถ และค่าโทรศัพท์ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอน ในลักษณะเหมาจ่าย  ไม่ต้องมีใบเสร็จ  มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือ  ได้รับเนื่องจากการทำงานตามปกติ เป็นค่าจ้าง (คำพิพากษาที่ 7316 / 2549)

(2) ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนการขาย คำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้  เป็นค่าจ้างตามมาตรา 5   อายุความ 2 ปี (คำพิพากษาที่ 3759 / 2546 , 2863 / 2552) ค่าคอมมิชชั่นลูกจ้าง ได้รับเมื่อหาลูกค้ามาทำป้ายโฆษณาจากนายจ้างได้  เป็นค่าจ้างตามผลงาน (คำพิพากษาที่ 8758 / 2547)

(3) “เบี้ยเลี้ยง” จ่ายให้ทุกคนที่มาปฏิบัติงาน ฯ อัตราแน่นอนทุกเดือน ไม่ใช่จ่ายเมื่อออกไปทำงานนอกสถานที่ (คำพิพากษาที่ 1328 / 2527)


(4) “เงินเพิ่มพิเศษ” สำหรับการทำงานเป็นกะ  นายจ้างจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน (คำพิพากษาที่ 2770/2528)

(5) ค่าชั่วโมงบิน จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงาน จ่ายเป็นรายเดือน  แม้แต่ละเดือนจะได้รับในจำนวนไม่แน่นอน  ไม่เท่ากัน แต่ก็ถือว่าเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน (คำพิพากษาที่ 1394/2549)

(6) เงินประจำตำแหน่ง เป็นค่าจ้างที่ต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (คำพิพากษาที่ 5024 / 2548)


(7) ค่านายหน้าในการยึดรถเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยคำนวณจากจำนวนรถที่ลูกจ้างยึดได้ในอัตราแน่นอนคันละ 10,000 บาท นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือนเดือนละ 9,500 บาท ที่กำหนดจ่ายให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน จึงเป็นการจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงานคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานถือเป็น ค่าจ้าง (คำพิพากษาที่ 7891/2553)

(8) ค่าครองชีพ จ่ายให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ (คำพิพากษาที่ 8938-8992/2552)

(9) "ค่าเที่ยว" ลูกจ้างทำงานขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งสินค้าทั่วประเทศ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกล คำนวณได้ตามระยะทางและจำนวนเที่ยวที่ได้โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ ค่าเที่ยวดังกล่าวจึงไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนในส่วนเวลาที่ทำเกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ (คำพิพากษาที่ 3631-3667/2552)

(10) ค่าอาหารที่ได้รับเท่ากันทุกเดือน จ่ายเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน (คำพิพากษาที่ 5738-5742/2548)


715
ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ดังนั้นนายจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะมาบังคับให้ลูกจ้างทำ OT ได้ ยกเว้นเพียง “ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น” เช่น ในกรณีของโรงงานหลอมแก้ว ที่หากหยุดทำงานแล้วเกิดเตาไฟดับ แก้วที่หลอมแข็งตัวเสียหายเป็นสิบล้านบาท แบบนี้ก็ถือว่าให้ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น เป็นต้น

ดังนั้นการที่นายจ้างหรือหัวหน้างานให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไปครับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 ดังนั้นหากลูกจ้างไม่ยินยอมทำ นายจ้างก็ไม่สามารถบังคับได้ แต่หากเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างด้วย


มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985-2986/43
งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปนั้นคือ งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ ถ้าหยุดก่อนงานที่ทำจะเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินคือ งานที่เกิดในทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายล่วงหน้าได้และงานนั้นต้องทำให้เสร็จทันทีมิฉะนั้นงานจะเสียหาย เมื่องานที่ลูกจ้างได้รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำล่วงเวลาต่อ ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมเสียหายแต่อย่างใด และการที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายได้ จึงไม่ใช่งานฉุกเฉิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121/43

การที่นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะทำให้แตกต่างไปจากกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบฯหาได้ไม่ หากนายจ้างมีความประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาใด นายจ้างต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานไว้ล่วงหน้า และหากจะออกคำสั่งอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว หากไม่สอดคล้องก็ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 24

716
มีลูกความโทรมาถามว่า วันนี้มีคนในครอบครัวถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 2 ปี เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท โดยขับรถไปชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคนขับไม่มีใบขับขี่ด้วย จะต้องทำอย่างไรต่อไป

ผมได้ให้คำแนะนำไปว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้วว่า เป็นกระทำการโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 291 โดยพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ดังนั้นหาจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193,198 ครับ

717
ปัจจุบันมีการนอกใจภรรยาและนอกใจสามีเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การดำเนินคดีกับชายชู้หรือหญิงชู้หรือเมียน้อยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ได้คุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพียงฟ้องเรียกค่าทดแทนเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าทดแทนฟ้องชายชู้หรือเมียน้อยสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง 

โดยอายุความในการดำเนินคดีกับชายชู้หรือเมียน้อยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้หรือควรรู้เกี่ยวกับการมีชู้หรือการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1529

แต่ทั้งนี้จะฟ้องให้บังคับภริยาน้อยหรือชายชู้ยุติความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีหรือภรรยาตนเองไม่ได้ เพราะสภาพแห่งคำขอไม่เปิดช่องให้ทำได้และไม่สามารถบังคับได้และจะเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นรายประเด็น จนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

อีกทั้งถ้าเป็นเพียงการแอบได้เสียกันแบบลับๆ ไม่ถือว่าเป็นหญิงชู้หรือเมียน้อยที่จะเรียกค่าทดแทนตามกฎหมายได้ ทั้งนี้มีหลายคดีที่เมียน้อยไปอยู่กินกับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น มีการซื้อคอนโดให้ ซื้อบ้านให้ แต่แอบมาลักลอบได้เสียกันถือว่า ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ศาลจะถือว่าเป็นการลักลอบได้เสียกันและมักจะยกฟ้อง


ในที่นี้ ชายชู้ หมายถึง การที่ชายไปเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น โดยมีการล่วงเกินภริยาผู้อื่นไปในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ตัวอย่างการเป็นชู้ เช่น ไปกอดจูบลูบคลำภริยาผู้อื่นหรือไปร่วมหลับนอน ร่วมประเวณีกับภริยาผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับ ก็ถือว่าเป็นชู้แล้วตามกฎหมาย
 
หญิงชู้หรือเมียน้อย หมายถึง หญิงไปแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับสามีชาวบ้านในทำนองชู้สาว

ตัวอย่างคดีชู้สาวในชั้นศาลที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535 
จำเลยที่ 2 (เมียน้อย) ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์อยู่ร่วมเรือนเดียวกันไปไหนมาไหนด้วยกัน บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นทั้งสองคนนอนร่วมเตียงเดียวกัน จำเลยที่ 2 เคยไปบ้านมารดาของจำเลยที่ 1 ในเทศกาลสำคัญ ถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538
การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง มิได้เขียนไว้ว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อย แม้ไม่ฟ้องหย่าสามี ก็เรียกค่าทดแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6851/2537 
แม้โจทก์จะทราบความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยกับนาย อ. สามีโจทก์มาตั้งแต่ปลายปี 2529 ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์นั้นเองก็อ้างความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ฉันสามีภริยาจนมีบุตร 1 คน และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นต่อมามิได้หยุดกระทำและสิ้นไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยยินยอมให้นาย อ. สามีโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย และเคยขอร้องให้เลิกเกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ นาย อ. ไม่เชื่อฟัง เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับนาย อ. โจทก์และนาย อ.ได้ทะเลาะโต้เถียงกันแล้วแยกทางกัน พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้นาย อ. กับจำเลยมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ที่ศาลล่างพิพากษาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538 

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเอง หรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา1516 (1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรกหรือไม่

718
ผมได้รับการสอบถามมาว่า ตำรวจให้คนติดยาเสพติดอยู่แล้วไปล่อซื้อยาเสพติดให้ มีความผิดอะไรบ้าง

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2554 พบว่า การที่ตำรวจให้คนที่ติดยาเสพติดอยู่แล้วไปล่อซื้อยาเสพติดให้ตำรวจนั้น ถือว่าไม่มีความผิดเพราะไม่ได้เป็นคนริเริ่มกระทำความผิดด้วยตนเอง เนื่องจากตำรวจเป็นคนริเริ่ม

จากคำพิพากษาได้ระบุไว้ว่า

การที่เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เช่นนี้ ถือเป็นการอาศัยจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้เริ่มมิใช่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มในการไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2

ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจมอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้จำเลยที่ 1 ก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจก็ดี เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่เคยให้สายลับไปดำเนินการ ซึ่งโดยปกติเจ้าพนักงานตำรวจก็มักจะให้ค่าตอบแทนแก่สายลับ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในสถานะเดียวกับสายลับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิด

719
เมื่อผู้จองรถได้ทำสัญญาและเช่าซื้อ และวางเงินดาวน์จองรถไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้แล้วระหว่างคู่สัญญา หากจะบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงรุ่นรถ โดยฝ่ายผู้ขายหรือผู้ซื้อไม่ได้กระทำผิดสัญญาและตกลงยินยอมยกเลิกสัญญาแต่อย่างใดด้วย การที่บอกเลิกสัญญาจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดาวน์หรือมัดจำคืนได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378(2), มาตรา 379

720
การหักค่าจ้างของลูกจ้าง นายจ้างจะกระทำได้เฉพาะที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ในมาตรา 76 เท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น หักเพื่อชำระภาษีเงินได้ ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานฯ ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เป็นเงินประกัน เงินสะสมตามข้อตกลง โดยที่ลูกจ้างให้การตกลงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้นจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจนายจ้าง ในการลงโทษพนักงานที่มาทำงานสายโดยหักค่าจ้างเลย

ดังนั้นหากลูกจ้างมาทำงานสาย

นายจ้างสามารถลงโทษได้ตามมาตรการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯเท่านั้น และนายจ้างสามารถที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเท่าที่ลูกจ้างไม่ทำงานให้กับนายจ้างตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาจ้างงาน

หน้า: 1 ... 46 47 [48] 49 50