27/04/24 - 02:40 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 47 48 [49] 50
721
เรียน คุณ...........

ผมได้รับหนังสือเมล์ที่ปรึกษาเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้วครับ เบื้องต้นให้คำปรึกษาดังนี้ครับ

๑.การเลิกสัญญาจ้าง (เลิกจ้าง) โดยที่เราไม่มีความผิดนั้น ตามกฎหมายเรามีสิทธิได้รับ "ค่าชดเชย" ตามอายุงานครับ คือ หากทำงานมาไม่เกิน ๓ ปี จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย จำนวน ๙๐ วันครับ (ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘)

๒.ค่าตกใจ (สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.๕๘๒) ๑ งวดการจ่ายค่าจ้าง  หมายความว่า หากนายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างเรา ก็จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าเราเป็นหนังสือให้ได้รับทราบก่อนการจ่ายค่าจ้าง ๑ งวด เพื่อให้มีผลในงวดต่อไป (ซึ่งในกรณีของคุณนี้น่าจะรวมใน ๗ เดือนนี้แล้วครับ)

๓.สิทธิในค่าจ้างค้างจ่าย (ถ้ามีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.๗๐)

๔.ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่

๕.ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของปีที่เลิกจ้าง

๖.หากนายจ้างเจตนาไม่จ่ายเงินตาม ๓,๔,๕ ก็จะมีในส่วนของเบื้ยปรับและเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ของเงินที่ค้างจ่ายทุก ๗ วัน

๗.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ม.๔๙) หากเราถูกเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุและคิดว่าไม่เป็นธรรมกับเรา เราก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างได้ ส่วนจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น อายุ ภาระต่างๆ เป็นต้นซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้จะเรียกต้องเท่าใหร่ก็ตามแต่ต้องมีเหตุมีผล เช่น เราอายุมากแล้วหางานทำยาก ศาลก็พิจารณาให้ครับ (แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ค่าเสียหายในส่วนนี้ส่วนใหญ่จะคิดให้ปีละเดือนครับ)

หรือหากยังสงสัยประการใด ก็สอบถามได้ตามเบอร์โทรศัพท์นี้นะครับ

และยินดีให้คำปรึกษากับลูกจ้างและขอให้กำลังใจครับ

พรนารายณ์
ฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

722
ผมได้รับ email สอบถามมา จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนในกระทู้นี้ครับ

เรียนท่านทนาย

สวัสดีคะ ดิฉันทำงานที่บริษัทมาเป็นระยะเวลา 2ปี เงินเดือนล่าสุด 37,400 บาท โดยมิได้มีความบกพร่องต่อหน้าที่การงานใดๆ และมาวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ดิฉันได้ถูกแผนกบุคคลเรียกขึ้นไปบอกเลิกจ้าง โดยไม่มีเหตุผลใดๆ อ้างว่าทัศนคติไม่ตรงกัน ได้ค่าชดเชยมา 7 เดือน แต่ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วไม่มีความผิดใดๆ

ดิฉันต้องตกงาน และสภาพความมั่นคงในขีวิตหายไป

บริษัทแห่งนี้ยังมีสภาพคล่องปกติและไม่ได้ย้ายออฟฟิตใดๆ

ประมาณ 2 วันต่อมา ดิฉันเข้าไปขอหนังสือรับรองการทำงาน และถูกบังคับให้เซ็นหนังสือลาออกอีกฉบับ โดยแผนกบุคคลอ้างว่าจะไม่ให้หนังสือรับรองการทำงานดิฉันถ้าดิฉันไม่เซ็นในหนังสือลาออก เพราะนายจ้างกลัวว่าดิฉันจะไปฟ้องร้อง


ดิฉันต้องสูญเสียสภาพความมั่นคงในชีวิต ส่วนต่างๆที่ฉันจะได้จนเมื่อดิฉันทำงานจนถึงเกษียนอายุ หรืออยุู่ที่นี่ต่อไปอีกหลายๆปี การเลิกจ้างด้วยสาเหตุที่ไม่มีเหตุผลของนายจ้าง (ซึ่งก็เป็นลูกจ้าง เพราะบริษัทนี้เจ้าของจริงๆคือคนเยอรมัน) ดิฉันจึงอยากฟ้องร้องเอาผิดกับนายจ้างท่านนี้ เพื่อจะทำได้ไหมคะ

รบกวนปรึกษาหน่อยคะ เพราะดิฉันถือว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ขาดมนุษยธรรม ก่อนที่ดิฉันจะตัดสินใจมาทำงานที่นี่ ดิฉันเคยบอกนายจ้างท่านนี้ว่าดิฉันมีภาระต้องผ่อนบ้านต่างๆนานา แต่การเลิกจ้างแบบไม่มีสาเหตุถือว่าไม่มีมนุษยธรรมต่อดิฉันผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อบ้านและต้องดูแลพ่อแม่อีก

ดิฉันต้องการขอเอาผิดต่อนายจ้างผู้ซึ่งเลิกจ้างดิฉันโดยไม่มีสาเหตุอันควรได้ไหมคะ

และดิฉันต้องทำอย่างไรบ้างคะ

723
การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งนี้การกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

รวมถึงการกล่าวข้อความที่หยาบคาย หรือถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเป็นการเหยียดหยามให้อับอาย ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ผมอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสรุปได้ดังนี้ครับ

1.   การใส่ความผู้อื่นที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537)

โจทก์ร่วมซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาการแทนโจทก์ร่วมทำหนังสือสั่งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับ พ.ผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวมีความหมายให้ พ. เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการแล้วหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำโดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จ เพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่อื่น หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เดิม


2.   การเจตนาจงใจใส่ความที่ยังไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือความเท็จ แม้จะเป็นเพียงข้อความตามที่ได้รับบอกเล่ามาก็ตาม (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503    และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541 )

นางใย อาของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่าโจทก์ (เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่า นางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟัง จำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟัง นางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย ถือได้ว่า จำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541 : สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารกล่าวข้อความว่า"โจทก์มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปัญหากับพนักงานในสาขาถึงได้ถูกย้ายไปสำนักงานใหญ่คงอยู่ไม่ได้นานต้องถูกไล่ออก" ต่อ อ. ลูกค้าของธนาคาร ย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งข้อความดังกล่าววิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อ เป็นคนไม่ดี ทะเลาะกับสามี มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน จนต้องถูกย้ายและกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกัน หรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชา หรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อญาติของโจทก์เพียงคนเดียว และข้อความหมิ่นประมาทก็มิได้ทำให้ โจทก์เสียหายมากมายนัก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะ ไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษนั้น หนักเกินไปควรให้ปรับจำเลย 5,000 บาท


3. เอาจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทให้ผู้อื่นอ่าน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515)

การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบ โดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ


724
แม้ว่านายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จะมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างทำการงานตามที่ว่าจ้างก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดทั้งสิ้น ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะบังคับให้ลูกจ้างทำหนังสือลาออกอันเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแต่อย่างใด

ดังนั้นหากนายจ้างบีบบังคับให้ลูกจ้างเขียนหนังสือลาออกโดยลูกจ้างไม่สมัครใจบอกเลิกสัญญาจ้าง ลูกจ้างชอบที่จะฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและเรียกค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 14 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

และหากลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างและเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องนายจ้างเป็นคดีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและค่าเสียหาย ทั้งเรียกค่าชดเชยตามกฎหมายเนื่องจากถูกเลิกจ้างได้ด้วย ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยดังกล่าวนั้น


725
ประการแรก ในเรื่องการฟ้องร้องพี่เขยหรือผู้หญิงคนใหม่ของพี่เขย คงไม่สามารถทำได้ เพราะพี่สาวไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิใดๆเลยในทางกฎหมาย แม้จะอยู่กินกันมายาวนานกว่าสิบปีก็ตาม

ประการที่สอง การกู้ร่วมกันในทางกฎหมาย เรียกว่า “หนี้ร่วม” ดังนั้นจึงต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกัน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า เจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ก็ได้ และเมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหนี้ก็จะระงับไป

ประการต่อมา เนื่องจากพี่สาวและพี่เขยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็เท่ากับว่าไม่ได้เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเรื่องสินสมรสเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ถือว่าเป็นหนี้ร่วมของสามีภรรยาและทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา แต่เป็นเพียงการกู้ร่วมกันของคนสองคนเท่านั้น แปลว่าบ้านที่กู้ซื้อมานั้นมันก็เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของทั้งสองคน

อย่างไรก็ตามเมื่อสามีอ้างว่าเป็นทรัพย์สินร่วมกัน ทั้งๆที่พี่สาวได้ผ่อนชำระหนี้อยู่ฝ่ายเดียว

ถ้ายังผ่อนไม่หมด แนะนำว่าให้พี่สาวหยุดผ่อนไว้ก่อน และปล่อยให้ธนาคารฟ้องร้องคดี นั่นก็หมายความว่า พี่เขยกับพี่สาวตกเป็นจำเลยร่วมกันทั้งคู่ ถึงเวลานั้นก็เจรจาว่า ใครจะเป็นเจ้าของบ้านและส่งหนี้ต่อ และทำสัญญาบันทึกข้อตกลงหลังเจรจาขึ้นมาเป็นหลักฐานยืนยันเรื่องยกทั้งบ้านและที่ดินรวมทั้งหนี้สินให้แก่พี่สาวแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ติดใจความใดๆทั้งสิ้น และหากเราผ่อนหมด พี่เขยก็ยินดีที่จะมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอนชื่อให้เป็นของพี่สาวแต่เพียงผู้เดียวซึ่งเมื่อเราผ่อนหมด ก็บอกให้พี่เขยโอนตามข้อตกลง หากไม่โอนก็ฟ้องร้องบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงนี้

แต่ถ้าพี่สาวได้ส่งหนี้จนหมดแล้ว และต้องให้ “พี่เขย” โอนบ้านหลังนี้ให้เป็นชื่อพี่สาวเพียงคนเดียว และพี่เขยไม่ยอมโอน ในเบื้องต้นเสนอให้เจรจาก่อนว่า พี่เขยจ่ายเงินไปเท่าใดก็ให้พี่สาวเอาคืนที่เคยจ่าย จ่ายคืนพี่เขยไป

แต่ถ้าเรื่องไม่จบ เสนอให้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องให้ขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินกันแทน โดยพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าใครผ่อนมาเท่าไหร่ พี่สาวเท่าไหร่หรือพี่เขยผ่อนมาเท่าไหร่แบ่งกันไปตามสัดส่วนนั้นแทน


726
วันนี้มีน้องชายโทรศัพท์มาสอบถามให้พี่สาวตนเองว่า พี่สาวกับพี่เขยแต่งงานถูกต้องตามประเพณี ญาติพี่น้องทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้ และอยู่กินด้วยกันมาสิบปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและไม่มีลูกด้วยกัน ในระหว่างอยู่ด้วยกัน ทั้งคู่ได้ไปกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ด้วยกันหรือที่เรียกกันว่า “กู้ร่วม” ทำให้พี่เขยกับพี่สาวก็จะมีชื่อร่วมกันในสัญญาจำนองที่ทำไว้กับทางธนาคาร

ปัจจุบันพี่เขยได้ออกจากบ้านหลังนี้ไปแล้ว และพี่สาวผมได้ส่งเงินค่าหนี้บ้านเพียงคนเดียวมากว่า 1 ปีแล้ว โดยไปอยู่กับหญิงอื่นที่เป็นแม่ม่ายลูกติดและได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน ทำให้พี่สาวของผมต้องอับอาย ต่อเพื่อนร่วมงานและญาติผู้ใหญ่ แบบนี้พี่สาวผมสามารถฟ้องร้องอะไรได้บ้างครับ และเรื่องบ้านจะต้องจัดการอย่างไร เพราะพี่เขยอ้างว่า “เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้เหมือนกัน”

727
โดยทั่วไปแล้วการกระทำใดจะเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่นั้ น ศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป ไม่ได้เชื่อตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละบริษัทได้กำหนดไว้

ศาลฎีกาเคยให้เหตุผลไว้ว่า หากถือว่าการกระทำผิดตามที่นายจ้างกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงทุกเรื่องตามที่นายจ้างเขียนไว้ ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง เพราะนายจ้างอาจกำหนดทุกเรื่องเป็นความผิดร้ายแรงได้

อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาข้อเท็จจริงลงไปอีกว่า การกระทำดังกล่าวเกิดความเสียหายต่อนายจ้างอย่างไร หรือไม่

ถ้าเป็นการให้ร้ายบริษัท บริษัทอาจได้รับความเสียหายตามมา แต่ถ้าเป็นเพียงการส่งภาพลามกอนาจารด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท ส่งไปให้เพื่อน แต่บริษัทไม่ได้เสียหาย จึงไม่ถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง

เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 11613/2554 วินิจฉัยไว้ว่า แม้พนักงานจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายจ้างเพื่อการส่วนตัว แจกจ่ายภาพลากมกอนาจารไปยังเพื่อนร่วมงาน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ และรูปถ่ายที่จัดส่งไปเป็นภาพโป๊ลามกอนาจารซึ่งไม่เหมาะสม

แต่เมื่อผู้รับก็ทราบว่าผู้ที่ส่งมากระทำในนามส่วนตัว มิใช่กระทำในนามบริษัทโจทก์ ความเสื่อมเสียโดยตรงก็น่าจะตกแก่พนักงานเอง ไม่เกิดผลกระทบต่อนายจ้างมากนัก จึงยังไม่ถึงกับเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งยังถือไม่ได้ว่า ตั้งใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันจะทำให้โจทก์เลิกจ้าง ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกเช่นกัน


728
นายจ้างสามารถเลิกจ้างพนักงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทส่งข่าวสารให้ร้ายบริษัท หรือแม้แต่ภาพลามกอนาจารไปให้เพื่อนๆพนักงานนอกบริษัท ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ที่นายจ้างจะสามารถเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่?

729
ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติใดที่จะตัดสิทธิผู้ประกันตนที่ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่นไปแล้ว เช่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ดังนั้นผู้ประกันตนยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 54 และยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำละเมิดด้วย

ทั้งนี้ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับที่ได้ใช้เบิกกับบริษัทประกันไปแล้ว สามารถใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลนั้นเบิกกับประกันสังคมได้ ทั้งนี้เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลังที่  กค. 0514/1086 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2539  ระบุว่า สิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างที่ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่บังคับให้เจ้าของรถต้องจัดให้มีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประกันภัย โดยประกันภัยกับบริษัทและต้องเสียเบี้ยประกัน

ส่วนสิทธิของโจทก์ ที่จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เมื่อเป็นสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแต่ละฉบับ โดยโจทก์ต้องเสียเบี้ยประกันภัย และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด ซึ่งต้องชำระทั้งสองทาง

และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิมิให้ผู้ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย (สำนักงานประกันสังคม) ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533



730
วันนี้มีลูกจ้างโทรศัพท์มาสอบถามว่า ตนเองได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ชนที่นอกบริษัท ซึ่งไม่เกียวกับงาน แต่ตนเองได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการรักษาพยาบาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กับบริษัทประกันภัยไปแล้ว ตนเองยังจะสามารถใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้อีกหรือไม่ อย่างไร

731
เนื่องจากที่ดินแปลงนี้เป็นทรัพย์มรดก  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1471 (3) ได้บัญญัติไว้ว่า สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา เพราะฉะนั้นบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของพ่อเพียงคนเดียว ซึ่งไม่เกี่ยวกับแม่ (ภรรยาเก่า) ดังนั้นเมื่อปู่ย่าตายลง ทรัพย์สินจึงตกเป็นมรดก เมื่อพ่อได้รับมรดกดังกล่าวก็กลายเป็นสินส่วนตัวของพ่อ เมื่อพ่อมีชีวิตอยู่ก็มีสิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายโอนไปเมื่อใดก็ได้ เมื่อภริยาใหม่ได้ไป เราจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องคืนแต่อย่างใดครับ

732
วันนี้ทนายได้รับโทรศัพท์สอบถามบางคำถามที่น่าสนใจมาว่า พ่อของผู้ถามได้มีภรรยาใหม่ แต่ยังไม่ได้หย่ากับแม่ (ภรรยาเก่า) ซึ่งแต่งงานกันมากว่า 20 ปีแล้ว ไม่นานมานี้พ่อได้โอนบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นมรดกของปู่ย่า (เสียชีวิตแล้ว) ที่ได้ยกให้พ่อ โอนให้กับภรรยาใหม่เรียบร้อยตามกฎหมายแล้ว แต่ทางลูกได้พยายามขอให้โอนคืนกลับมา แต่ทางภรรยาใหม่ไม่โอน ไม่ทราบว่าลูกมีสิทธิเรียกร้องอะไรได้บ้างหรือไม่ อย่างไร

733
แม้ว่าท่านเป็นลูกจ้างทดลองงาน แต่เมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้าง เพราะปฏิบัติงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนดไว้ และท่านได้ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 120 วันแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ท่าน ตามความมาตรา 118 (1) แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ระบุไว้ว่า

มาตรา 118  ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

734
การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เป็นเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายที่คนเป็นภรรยาจะกล่าวอ้างได้ และยังสามารถเรียกค่าทดแทนทั้งจากสามีและหญิงคนดังกล่าว ฐานที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งเป็นไปตามความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) ที่บัญญัติว่า “สามีหรือภริยา อุปการะเลี้ยงดู หรือ ยกย่อง ผู้อื่น ฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือ มีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่น เป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”  และมาตรา 1516 (4) สามีหรือภริยา จงใจละทิ้งร้าง อีกฝ่ายหนึ่งไป เกิน หนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้น ฟ้องหย่าได้


อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1523 ก็ได้บัญญัติไว้อีกว่า

เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุ ตาม มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับ ค่าทดแทน จากสามีหรือภริยา และจากผู้ซึ่ง ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือ ยกย่อง หรือ ผู้ซึ่งเป็น เหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยา ไปในทางชู้สาวก็ได้ และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ที่แสดงตน โดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยา ยินยอม หรื รู้เห็นเป็นใจ ให้อีกฝ่ายหนึ่ง กระทำการ ตาม มาตรา 1516 (1) หรือ ให้ผู้อื่น กระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้น จะเรียกค่าทดแทน ไม่ได้

แปลว่า เราสามารถเอาผิดกับชู้ได้ แต่ต้องมีพยานหลักฐานแสดงให้ศาลเห็นว่า สามีมีชู้จริงและการกระทำดังกล่าวของชู้  เป็นการแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีของเรา  จึงจะสามารถเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้ 

ทั้งนี้คดีฟ้องหย่าเป็นคดีครอบครัว การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัว กำหนดให้ศาลต้องพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกัน หรือประนีประนอมกันในข้อพิพาท โดยคำนึงถึงหลักการสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรสในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของชายและหญิงที่สมัครใจเข้ามาอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยา หากไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสได้ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรม และเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ตาม พรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 146(1)


อ่านคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://www.thanaiphorn.com/content.php?type=1&id=58

735
เนื่องจากสามีไม่เคยส่งค่าเลี้ยงดูบุตร และยังมีภรรยาใหม่แล้ว แต่สามีไม่ยอมหย่าให้

หน้า: 1 ... 47 48 [49] 50