29/03/24 - 19:56 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: บอกเลิกจ้างก่อนพ้นทดลองงานและหักค่าเสียหายจากค่าจ้างได้หรือไม่  (อ่าน 2244 ครั้ง)

พันเลิศ

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
ผมเข้าทดลองงานที่บ.นึง โดยมีข้อตกลงปากเปล่าจากเจ้าของบ. ให้ทดลองงาน4เดือน ทำจ.-ศ. เงินเดือน15,000 และจะปรับขึ้นเมื่อพ้นทดลองงาน โดยเริ่มทำงานวันที่ 2 มีค. แต่วันที่ 19 มีค. นายจ้างได้ไลน์ในกลุ่ม ระบุว่างานที่ผมทำส่งลูกค้าถูกตีคืน เกิดอะไรขึ้น ซึ่งผมก็พยายามหาข้อผิดพลาด แต่จากนั้นมีโทรศัพท์จากภรรยานายจ้าง แจ้งให้ผมยุติการทำงาน กลับได้เลย และสิ้นเดือนจะจ่ายค่าจ้าง แต่เมื่อถึงวันที่ 31 มีค. ผมได้ติดต่อสอบถามเรื่องค่าจ้าง ก็ได้คำตอบว่า ผมจะได้รับค่าจ้างที่ 750.-/วัน รวมวันทำงาน 5 วัน เป็น 3,75 หักเบิกล่วงหน้า 1,000.- เหลือ 2,750.- แต่จะถูกหักค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอีก 6,000.- เพราะทำให้บ.ถูกลูกค้าเรียกปรับหลายหมื่น เท่ากับผมจะไม่ได้ค่าจ้างใดๆเลย
  ซึ่งผมได้แย้งว่า จำนวนวันทำงานไม่ถูกต้อง เพราะผมนับวันทำงานได้ 10 วัน หักลากิจงานศพและลาป่วยแล้ว ผมควรจะได้รับเงิน 7,500.- และทางนายจ้างไม่ได้แจ้งว่าจะมีการหักค่าเสียหายด้วย
  ณ. วันนี้ 2 มีค. ผมยังไม่ได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผมต้องได้เงินเท่าไหร่แน่ มีแต่ชี้แจงว่า ต้องขอเช็คจากcctvของบ. ว่าผมเข้าทำงานกี่วัน เนื่องจาก บ.มีเครื่องสแกนนิ้วสำหรับพนง. แต่ผมยังไม่ได้รับการบรรจุข้อมูลลงเครื่อง และไม่มีบันทึกประจำวันให้เซ็นต์เวลาเข้า/ออก งาน ซึ่งแย้งกับที่ว่า ผมมาทำงานเพียง5วัน จากการเช็คเครื่องสแกนนิ้ว
  อยากทราบว่า กรณีนี้ ผมสามารถถูกหักค่าเสียหายเพิ่มเติม โดยที่มีคำสั่งให้ยุติการทำงานได้หรือไม่ครับ และ ผมอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการเบี้ยวค่าจ้างใช่หรือไม่ครับ หากเป็นตามนั้น ผมมีสิทธิเรียกร้องหรือผ่อนปรนใดๆได้บ้าง

มโนธรรม

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 201
    • ดูรายละเอียด
การเลิกจ้าง
  คุณคงไม่ได้รับเงินชดเชย  เพราะทำงานไม่ถึง 120 วัน ส่วนเงินค่าจ้างคุณต้องได้รับตามสิทธิ์ จะ 5 วันหรือ  10 วัน เป็นข้อเท็จจริงต้องหาทางพิสูจน์ให้เห็นจริงว่ากี่วันกันแน่...ส่วนค่าเสียหาย  บริษัทก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า คุณทำให้เกิดความจริง มูลค่าเสียหายเท่าไร...  ใช้วิธีร้องเรียน พนักงานตรวจแรงงาน ในท้องที่ทำงาน ให้ช่วยเหลือ...

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 750
    • ดูรายละเอียด
อธิบายมาพอเข้าใจได้ แล้วตั้งคำถามแบบรวมๆมาว่า "กรณีนี้ ผมสามารถถูกหักค่าเสียหายเพิ่มเติม? โดยที่มีคำสั่งให้ยุติการทำงานได้หรือไม่ครับ? และ ผมอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการเบี้ยวค่าจ้างใช่หรือไม่ครับ? หากเป็นตามนั้น ผมมีสิทธิเรียกร้องหรือผ่อนปรนใดๆได้บ้าง?...

อืม นั่งอ่านอีกรอบก็พยายามคิดว่า ผู้ถามคงสับสนกับสิทธิที่ควรได้ กับหน้าที่ที่ต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีที่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร คงประมาณนี้

เอาเป็นว่า  ถ้าถามว่า ลูกจ้างจะถูกหักค่าเสียหายหรือไม่ นั้น กฎหมายห้ามหักค่าจ้างของลูกจ้าง เว้นแต่หักค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ประกอบด้วย
(๑) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(๒) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(๓) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(๔) เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(๕) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบและจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

จะเห็นได้ว่า ใน (๔) นั้น นายจ้างสามารถหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากเราเสียก่อน คำถามคือ เราไปเซ็นต์ยินยอมแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่เซ็นต์ ก็หักไม่ได้ หรือถ้าหักไป ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายครับ

ถามต่อไปว่า...มีคำสั่งให้หยุดการทำงานได้หรือไม่? อันนี้แหละเป็นปัญหา ทำไมถึงบอกว่าเป็นปัญหา เพราะต้องดูว่า คนที่สั่งให้หยุดงานนี้เป็นใคร? ตำแหน่งอะไร? เพราะข้อเท็จจริงมีเพียงว่าเป็นผู้ที่ออกคำสั่งคือภรรยานายจ้าง ถึงแม้ว่าโดยพฤติกรรมจะมีอำนาจมากกว่านายจ้าง (ฮา) ก็จะถือว่าเป็นนายจ้างไม่ได้นะครับ ต้องดูว่าภรรยานายจ้างเป็นกรรมการบริษัทหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมที่แสดงว่าเป็นการกระทำการแทนนายจ้าง อันจะถือว่าเป็นนายจ้างและมีอำนาจแทนนายจ้าง ถ้าไม่ใช่ ก็จะมีปัญหาเพิ่มขึ้น หากนายจ้างให้การต่อสู้ว่า เค้าไม่ได้สั่งให้หยุดงาน แต่เป็นเราที่ไม่ได้ไปทำงานเกินกว่า ๓ วัน จึงเป็นการขาดงานละทิ้งหน้าที่ ยากเลยทีนี้ ฉนั้น คำถามนี้ ขอคำอธิบายเพิ่มจึงจะตอบคำถามได้อยางฟันธง ครับ

ถามอีกว่า...ผมอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการเบี้ยวค่าจ้างใช่หรือไม่ครับ หากเป็นตามนั้น ผมมีสิทธิเรียกร้องหรือผ่อนปรนใดๆได้บ้าง?  ก็ตอบว่า ไม่ต้องไปกังวลเลยครับว่าจะถูกเบี้ยวค่าจ้าง เพราะคำตอบแรกได้อธิบายไว้แล้วว่า นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้างเราถ้าเราไม่ยินยอม เมื่อนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ก็ไปยืนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ที่เรียกกันว่า คร.๗ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง และขอแนะนำว่า เวลายื่นคำร้องนอกจากจะขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแล้วก็อย่าลืมเรียกดอกเบี้ย และเงินเพิ่มที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติ่คุ้มครองแรงงานด้วยนะครับ

ส่วนกรณีที่นายจ้างอ้างว่าเราทำให้นายจ้างเสียหาย เป็นคนละเรื่องกับการจ่ายค่าจ้าง ดังนั้น หากนายจ้างได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะนำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่างหาก และนายจ้างต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าค่าเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของเรา ศาลจึงจะตัดสินให้แต่จะให้เท่าใหร่เป็นดุลพินิจของศาล ถ้านายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้องครับ

ส่วนประเด็นมาทำงานกี่วัน อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์กัน ก็ไม่ยากครับ หากเรามาทำงานจริงๆ ต้องมีหลักฐานการมาทำงานแน่ๆ เช่น มีคนแถวบ้านเห็นเราออกไปทำงาน มีใบเสร็จค่าทางด่วน หรืออะไรก็ได้ที่แสดงว่าวันนั้นเรามาทำงาน ซึ่งหลักฐานเล่านี้ สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแรงงานรวมทั้งชั้นพนักงานตรวจแรงงานได้ ไม่ยากครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.