28/03/24 - 15:37 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: ใช้สิทธิจากพรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปแล้ว ยังใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่  (อ่าน 18889 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 750
    • ดูรายละเอียด
วันนี้มีลูกจ้างโทรศัพท์มาสอบถามว่า ตนเองได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ชนที่นอกบริษัท ซึ่งไม่เกียวกับงาน แต่ตนเองได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการรักษาพยาบาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กับบริษัทประกันภัยไปแล้ว ตนเองยังจะสามารถใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้อีกหรือไม่ อย่างไร

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 750
    • ดูรายละเอียด
ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติใดที่จะตัดสิทธิผู้ประกันตนที่ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่นไปแล้ว เช่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ดังนั้นผู้ประกันตนยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 54 และยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำละเมิดด้วย

ทั้งนี้ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับที่ได้ใช้เบิกกับบริษัทประกันไปแล้ว สามารถใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลนั้นเบิกกับประกันสังคมได้ ทั้งนี้เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลังที่  กค. 0514/1086 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2539  ระบุว่า สิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างที่ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่บังคับให้เจ้าของรถต้องจัดให้มีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประกันภัย โดยประกันภัยกับบริษัทและต้องเสียเบี้ยประกัน

ส่วนสิทธิของโจทก์ ที่จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เมื่อเป็นสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแต่ละฉบับ โดยโจทก์ต้องเสียเบี้ยประกันภัย และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด ซึ่งต้องชำระทั้งสองทาง

และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิมิให้ผู้ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย (สำนักงานประกันสังคม) ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533