20/04/24 - 12:47 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: ถูกบังคับให้เขียนใบลาออกจะสู้คดีได้หรือไม่คะ  (อ่าน 21346 ครั้ง)

pattama

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
เรียน  ท่านทนายพร ค่ะ

ดิฉันขอเรียนปรึกษาค่ะ นายจ้างบังคับให้เขียนใบลาออก และให้เขียนข้อความในใบลาออกว่าบกพร่องต่อหน้าที่การทำงานค่ะ
โดยนายจ้างอ้างเหตุการส่งสินค้าโดยบิลชั่วคราวมาเป็นเรื่องให้ลาออกค่ะ หากไม่เขียนใบลาออกจะแจ้งความ ทำให้เสียประวัติการทำงาน ซึ่งดิฉันและน้องพนักงานขายอีกหนึ่งคนก็ได้เซ็นต์ใบลาออกไปโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะลาออกค่ะ
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังทำหนังสือแจ้งพ้นสภาพการเป็นพนักงาน โดยใส่รูปของดิฉันและน้องที่ถูกบังคับให้ลาออก ลงในหนังสือแจ้งพ้นสภาพ และส่งให้กับลูกค้าที่ดิฉันและน้องเซลล์เคยดูแลอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยทำหนังสือแจ้งลูกค้าเลย (กรณีที่มีพนักงานขายออกจากการเป็นพนักงานบริษัท ไม่ว่าจะลาออกเอง หรือ บริษัทจ้างออกก็ตามค่ะ) ต่อมา 1 สัปดาห์ ฝ่ายบุคคลได้นัดเข้ามาคุยรายละเอียดว่าจะจ่ายเงินให้ 6 เดือน แต่ต้องเซ็นต์เอกสารบันทึกข้อตกลง จึงจะจ่ายเงินให้ ซึ่งข้อความในบันทึกไม่มีการระบุว่ากรรมการมอบอำนาจให้มากระทำการครั้งนี้ ดิฉันอ่านแล้วไม่ได้ตอบตกลงไปค่ะ

ทั้งนี้  เหตุการณ์ที่ส่งสินค้าด้วยบิลชั่วคราว ก็เพื่อต้องการให้บริษัทมีรายได้ และไม่สูญเสียลูกค้า โดยที่การส่งของบิลชั่วคราวก็ทำโดยพนักงานขนส่งของบริษัท ไม่มีการทุจริต หรือ โกงใดๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งทางหัวหน้างานก็ไม่มีการแจ้งตักเตือนใดทางวาจา หรือ เอกสาร   แต่มาบังคับให้เขียนใบลาออกทั้งสองคนค่ะ และไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เลย

ขอความกรุณา คุณทนายพร ช่วยกรุณา ให้คำแนะนำแก่ดิฉัน และน้องพนักงานขายด้วยนะคะ สำหรับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ควรปฎิบัติเช่นไรค่ะ
กราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ

ZulmaHuang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
Re: ถูกบังคับให้เขียนใบลาออกจะสู้คดีได้หรือไม่คะ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2015, 03:54:52 pm »
จะจ่ายเงินให้ 6 เดือน ถ้าเป็นปากเปล่าก็ทำเรื่องต่อได้ยากนะผมว่า

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 750
    • ดูรายละเอียด
Re: ถูกบังคับให้เขียนใบลาออกจะสู้คดีได้หรือไม่คะ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2015, 11:20:33 pm »
ตอบ
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของลูกจ้างคือการตกหลุมพรางโดยไปยินยอมเซ็นหนังสือลาออกเอง โดยในทางกฎหมายถือว่าลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างเอง จึงทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ซึ่งมีผลแตกต่างมากมาย หากเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เช่น ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้าหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ค่าตกใจ” เงินค่าทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ ค่าจ้างค้างจ่าย หรือแม้แต่ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กรณีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เอาละ ร่ายยาวมาพอสมควรแระ ตอบคำถามเลยดีกว่า

ประเด็นแรก “นายจ้างบังคับให้เขียนใบลาออก” เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เนื่องๆ แต่ในทางกฎหมายแล้วต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นายจ้างใช้วิธีการใดในการ “บังคับ” ซึ่งหากไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันว่านายจ้างเอาปืนมาขู่ เอามีดมาจี้ หรือใช้คำพูดว่า ถ้าไม่เซ็นใบลาออกจะทำร้ายร่างกาย โอกาสที่จะชนะคดีมีน้อยมาก ซึ่งศาลมักจะถามสั้นๆง่ายๆว่า “มีใครมาจับมือคุณเซ็นหรือเปล่า?” ถ้าเราตอบว่า “ไม่มีค่ะ หนู่เซ็นเอง แต่เค้าบังคับหนูเซ็นค่ะ” กรณีอย่างนี้น้ำหนักน้อยครับ เพราะศาลจะมองมาเป็นความสมัครใจของเราในการเขียนใบลาออกเองครับ และเมื่อเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเอง ทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินต่างๆตามที่กล่าวมาครับ

 และก็ฝากไว้ว่า เมื่อเป็นลูกจ้าง หากไม่อยากออกจากงาน “ห้ามเซ็นใบลาออกเอง” โดยเด็ดขาดครับเว้นแต่จะมีข้อแลกเปลี่ยนจากนายจ้างตามที่เราพึงพอใจครับ หากนายจ้างไม่อยากได้เรา ก็ให้นายจ้างทำหนังสือเลิกจ้างมา แล้วนำใบเลิกจ้างนั้นไปขอใช้สิทธิในทางศาลได้ครับ

ประเด็นต่อมา “ฝ่ายบุคคลได้นัดเข้ามาคุยรายละเอียดว่าจะจ่ายเงินให้ 6 เดือน แต่ต้องเซ็นต์เอกสารบันทึกข้อตกลง จึงจะจ่ายเงินให้ ซึ่งข้อความในบันทึกไม่มีการระบุว่ากรรมการมอบอำนาจให้มากระทำการครั้งนี้ ดิฉันอ่านแล้วไม่ได้ตอบตกลงไป” เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดครับว่าข้อตกลงดังกล่าวเขียนไว้ว่าอย่างไร เขียนแล้วผูกพันทำให้เราเสียเปรียบในภายหน้าหรือไม่ หากไม่เสียเปรียบข้อเสนอแนะของทนายก็คงจะแนะนำให้ลองคุยกับบริษัทดูอีกทีว่าเราประสงค์จะทำงานต่อจะได้หรือไม่ หรือหากนายจ้างยืนยันจะให้เราออก ก็ค่อยมาดูเรื่องผลประโยชน์ หาก 6 เดือนมันน้อยไป ก็อาจใช้หลักการเจรจาตามความสามารถในฐานะที่เป็นพนักงานขาย ขอเพิ่มจำนวนเงินให้มากกว่านี้ โดยอ้างเหตุอะไรก็ว่าไป  ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีครับ

ส่วนประเด็น เหตุการณ์ที่ส่งสินค้าด้วยบิลชั่วคราว หรือ ไม่มีการแจ้งเตือนว่าทำผิดวินัยมาก่อนนั้นก็หาใช่เป็นสาระสำคัญ เพราะเรื่องนี้ ปัญหาสำคัญคือการเซ็นต์ใบลาออกของเรา เว้นแต่เราจะมีหลักฐานอย่างเพียงพอว่าเราถูกบังคับก็มีโอกาสที่จะชนะคดีได้ครับ หากเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆแล้ว ศาลมักจะไม่รับฟัง ให้กำลังใจนะครับ ขอให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยดี หรือหากยังสงสัยก็สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ตามเบอร์ในเว็บไซด์นี้นะครับ

ทนายพร