29/03/24 - 07:56 am


ผู้เขียน หัวข้อ: ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว เลิกจ้างต้องแจ้งล่วงหน้ามั่ยค่ะ  (อ่าน 7321 ครั้ง)

supery

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ขอปรึกษานะคะ ในฐานะนายจ้างมีโอกาศชนะหรือไม่

เป็นร้านในศูนย์อาหารค่ะ ซึ่งตั้งแต่รับลูกจ้างคนนี้มายอดตกลงเยอะมาก ซึ่งไม่คุ้มค่าเช่าและค่าจ้าง (มีการบันทึกยอดขายโดยลูกจ้างทุกคนให้ตลอด )

จึงคิดจะเซ้งร้าน ซึ่งลูกจ้างก็ทราบมาตลอดว่าขายไม่ดีจึงจะเซ้งกิจการ และลูกจ้างเป็นคนส่งข้อความมาถามด้วยว่าจะขายถึงเมื่อไหร่ ขายได้น้อยก็เห็นใจเรา ก็บอกไปว่าจะเซ้งร้านแต่ยังหาคนเซ้งต่อไม่ได้

 เมื่อเราตกลงกับคนเซ้งได้ในวันเสาร์ จึงแจ้งลูกจ้างในวันจันทร์ ว่าให้ช่วยขายถึงวันศุกร์ เค้าก็อยู่ถึงวันศุกร์ ตอนเย็นพอรับค่าจ้างเสร็จก็มาบอกว่าเราไม่แจ้งล่วงหน้า 30-60 วัน จะไปฟ้องกระทรวงแรงงาน

ซึ่งมารู้ภายหลังในวันที่แจ้งลูกจ้างจากผู้ค้าในศูนย์อาหารนั้นว่า ลูกจ้างไม่ค่อยอยู่ประจำร้าน ชอบออกไปเดินซื้อของเวลางาน (
ให้ลูกจ้างขายของคนเดียวค่ะ)

รบกวนด้วยค่ะ ไม่คิดว่าร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ จะถูกลูกจ้างฟ้อง

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 750
    • ดูรายละเอียด
ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายครับ เพราะเป็นธุรกิจเล็กๆ จริงๆถ้าคุยกันด้วยความเข้าอกเข้าใจกันก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อถามมาก็จะตอบในข้อกฎหมายเพื่อท่านอื่นจะได้เรียนรู้ไปด้วยนะครับ

ประเด็นแรก ร้านก๋วยเตี๋ยวต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานหรือไม่? 

มาดูกัน  กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้บัญญัติว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใช้บังคับกับนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ยกเว้นนายจ้างในกิจการ (1) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

ด้วยเหตุนี้ ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานครับ

ประเด็นที่สอง ลูกจ้างและนายจ้าง มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไร?

เห็นว่ากฎหมายได้กำหนดให้แต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะได้รับและมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่ออีกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ซึ่งสิทธิของลูกจ้างคือได้รับค่าจ้าง และหน้าที่ของนายจ้างคือจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ขณะเดียวกัน หน้าที่ของลูกจ้างคือต้องทำงานให้กับนายจ้างตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเวลาการทำงานและอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง ส่วนสิทธิของนายจ้างคือได้รับผลประโยชน์จากการใช้แรงงานของลูกจ้าง

นอกจากนี้แล้ว กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างต้องมีหน้าที่ปฎิบัติต่อลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ด้วย

ประเด็นที่สาม ตอบตามคำถามที่ว่า “แจ้งเลิกจ้างลูกจ้างวันจันทร์ ให้มีผลวันศุกร์ ตอนเย็นพอรับค่าจ้างเสร็จก็มาบอกว่าเราไม่แจ้งล่วงหน้า 30-60 วัน จะไปฟ้องกระทรวงแรงงาน”

กรณีอย่างนี้ ต้องดูว่าได้ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน,รายสัปดาห์หรือรายเดือน หากเป็นการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน ก็ถือว่าได้บอกเลิกจ้างล่วงหน้าถูกต้องแล้ว หากไม่ใช่รายวันก็ถือว่ายังบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้างไม่ถูกต้อง เพราะตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”

คำถามต่อมา “ซึ่งมารู้ภายหลังในวันที่แจ้งลูกจ้างจากผู้ค้าในศูนย์อาหารนั้นว่า ลูกจ้างไม่ค่อยอยู่ประจำร้าน ชอบออกไปเดินซื้อของเวลางาน (ให้ลูกจ้างขายของคนเดียวค่ะ)”

อืมมม...กำลังจะจินตนาการตามความคิดไปว่า ก็เพราะลูกจ้างไม่อยู่ขายของจึงทำให้ยอดขายตกลง และส่งผลต่อยอดขายทำให้ไม่มีกำไร ซึ่งเกิดจากความผิดของลูกจ้าง...(เป็นความคิดของทนายนะครับ.ฮา) จึงจะไม่อยากจ่ายเงินต่างๆที่ลูกจ้างเรียกร้อง...

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ..ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะกระทำอย่างที่เล่ามาก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจ้างจะเสียสิทธิที่จะต้องได้รับตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าจ้าง , ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือสิทธิอื่นๆที่กฎหมายรับรอง

ดังนั้น เมื่อเราเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมิได้กล่าวอ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดอย่างไร จะยกขึ้นว่ากล่าวเพื่อปัดความรับผิดไม่ได้ครับ

ดังนั้น ในความคิดของทนายคิดว่าคดีอย่างนี้ไม่ค่อยยุ่งยากซับซ้อนอะไร หากแต่ละฝ่ายมีความบริสุทธิใจต่อกันก็สามารถจะพูดคุยตกลงกันได้ หรือหากลูกจ้างไปร้องต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อมีคำสั่งเรียกไปพบ เราก็ไปเพื่ออธิบายความจำเป็นต่างๆซึ่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานก็จะทำการไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติบนความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายครับ

หรือหากลูกจ้างไปฟ้องศาลแรงงานก็ให้ไปศาลและเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยยึดหลักใจเขาใจเราก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายครับ...ตอบซะยาวแต่อยากให้ได้ความรู้ครับ...

ทนายพร


supery

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณมากๆ ค่ะ