ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ลูกจ้างไปทำงานที่อื่นระหว่างนายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ถือว่ามิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง เมื่อจะเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่  7675/2548 โดยสาระสำคัญระบุว่า

 

1. กิจการของนายจ้างประสบกับการขาดสภาพคล่องเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นายจ้างจึงมีประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด เป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบ (ปัจจุบันร้อยละเจ็ดสิบห้า) ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน  โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นในระหว่างนั้น  ให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันที

 

2. ลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้าง เนื่องจากถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่

 

ประเด็นวินิจฉัย

 

1. การที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงาน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น  ให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันทีนั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้วินิจฉัยไว้ว่า ประกาศของนายจ้างเป็นเพียงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของนายจ้างที่ ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราว โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะ เวลาที่หยุดกิจการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75   ดังนั้นประกาศดังกล่าวจึงมิใช่หนังสือเลิกจ้าง  แต่เป็นเพียงประกาศให้ลูกจ้างได้ทราบถึงเงื่อนไขในการที่นายจ้างจะใช้สิทธิในการเลิกจ้างลูกจ้างได้ หากไปทำงานประจำให้นิติบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเท่านั้น

 

2. ในระหว่างนายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว  นายจ้างมิได้มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำในระหว่างนี้   เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างนั้น ก็เป็นเงินที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75   ซึ่งมิใช่เงินค่าจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน

 

3. การที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง  แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำ กับนิติบุคคลอื่นก็ตาม แต่เป็นเพียงเงื่อนไขที่ให้นายจ้างสามารถใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น

 

ดังนั้นการที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้าง และตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศ หยุดกิจการชั่วคราวแต่อย่างใด 

 

 ดังนั้นการที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้างเมื่อจะเลิกจ้างลูกจ้าง  แม้ว่านายจ้างจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศ  แต่ไม่ใช่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119  นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

 

รายละเอียดคำพิพากษา 7675/2548

ผู้พิพากษา : รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์

 

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่  105/2545 และมีคำสั่ง ให้การเลิกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย

 

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กแผ่นชนิดต่างๆ 

 

ต่อมาในปี 2540 กิจการของ โจทก์ประสบกับการขาดสภาพคล่องเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โจทก์ได้ยื่นคำร้อง ขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2543 ซึ่งศาลล้มละลาย กลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยตั้งให้บริษัทรามคำแหงแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน

 

ต่อมาวันที่  2  มีนาคม  2544  ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนใหม่เป็น บริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด และวันที่ 11 ธันวาคม 2545 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบด้วย แผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 5 ปี  นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบตามแผน โจทก์โดยบริษัท มหาราชแพลนเนอร์ จำกัด 

 

ผู้ทำแผนได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,750 บาท เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน  2544  โจทก์มีประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันที่  1 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไป โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันที 

 

ต่อมาวันที่  17 ธันวาคม 2544  จำเลยที่ 2 กระทำผิดเงื่อนไข ในประกาศ โดยไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 ให้จำเลยที่ 2 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2

 

จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลย ที่ 1 มีคำสั่งที่ 105/2545  ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 118,500 บาท ตามสำเนาคำสั่งเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8

 

คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตาม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่

 

โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีประกาศฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544   ให้ปรับลดเงินเดือนของพนักงานลงร้อยละห้าสิบเนื่องจากมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อหาผู้ร่วมทุนรายใหม่และปรับกระบวนการผลิตตามแนวทางที่ กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ก็ยังมีความจำเป็นต้องคงสภาพของลูกจ้าง ส่วนใหญ่เอาไว้เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญงาน จึงได้กำหนดไว้ในตอนท้ายของประกาศว่า "หากพนักงานท่านใดได้ไปทำงานประจำกับหน่วยงาน สถาบันหรือองค์กรอื่นที่เป็นนิติบุคคล สถานภาพการเป็นพนักงานจะสิ้นสุดลงทันที"

 

เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปทำงานเป็นลูกจ้างประจำของบริษัท อินดัสทรีเมนเทนเนน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม  2544 ถือว่าจำเลยที่ 2 ตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น และการที่จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์แต่ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นในขณะเดียวกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาจ้างอย่างร้ายแรง โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

 

เห็นว่า ประกาศลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ของโจทก์นั้น เป็นเพียงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมด ลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอด ระยะเวลาที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75  แต่มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น  ก็เป็นเพียงเงื่อนไข ที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น 

 

การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น  จึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์อันจะทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุด จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานตามที่โจทก์มอบหมายตามวันเวลาทำงาน และสถานที่ทำงานที่โจทก์กำหนดโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2 ทำงาน ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 575 และ 583 ประกอบ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 แม้จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้าง ของโจทก์ในระหว่างที่โจทก์ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว แต่โจทก์มิได้มอบหมายงานให้จำเลยที่ 2 ทำในระหว่างนี้

 

ส่วนเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ ห้าสิบของค่าจ้างนั้น ก็เป็นเงินที่ต้องจ่ายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.  2541 มาตรา 75  มิใช่เงินค่าจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน

 

อีกทั้งมาตรา 75  ก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุด กิจการชั่วคราว การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง และไม่เป็นการเอาเปรียบโจทก์ที่รับเงินสองทาง เพราะเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละห้าสิบนั้นมิใช่ค่าจ้าง

 

เมื่อโจทก์ มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2545  โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119  โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามมาตรา 118 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น..."

 

พิพากษายืน 

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 บัญญัติว่า “ใน กรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่ว คราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างใน วันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง”

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุ ที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป”

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 บัญญัติว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้......

 (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร......

 

ป.พ.พ. มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”

 

ป.พ.พ. มาตรา 583 บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ดี หรือ ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือ ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและ สุจริตก็ดี ท่านว่า นายจ้างจะไล่ออก โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”



18/Apr/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา