ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

กิจการที่จัดตั้งขึ้นโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไร เช่น งานองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) งานมูลนิธิต่างๆ ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ถึงมาตรา 122 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ไม่ได้ยกเว้นเรื่องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 รวมถึงในองค์การมหาชนที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลักด้วยเช่นเดียวกัน

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14399/2553 และคำพิพากษาฎีกาที่  1375/2557 ได้ระบุไว้ชัดเจน ดังนี้

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14399/2553

 

คำพิพากษาย่อ (ย่อสั้น)

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่... นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งจะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้"

 

เมื่อปรากฏว่ากฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) บัญญัติว่า "มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา... หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122... บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ"

 

เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่าจำเลยเป็นสมาคมที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงนำค่าชดเชยมาตรา 118 ถึงมาตรา 122 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาบังคับใช้กับการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามไม่ได้

 

กฎกระทรวงดังกล่าวได้บัญญัติยกเว้นเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเว้นกรณีจำเลยหรือนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ทั้งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นคนละกรณีและบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติต่างหากจากกันเช่นนี้

 

ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยหรือไม่ พิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และมาตรา 119

 

ส่วนการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามที่มีอยู่ตามกฎหมายและการแปลความกฎหมายให้เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามย่อมไม่ชอบ

 

ดังนั้นกฎกระทรวงดังกล่าวข้อ (3) จึงนำมาใช้บังคับกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ไม่ได้ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้

 

คำพิพากษาฉบับเต็ม (ย่อยาว)

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับและเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย

 

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 65,000 บาท 60,000 บาท และ 16,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,500 บาท 6,000 บาท และ 5,500 บาท ค่าเสียหายจากกการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 390,000 บาท 360,000 บาท และ330,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ

 

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 120,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2535 ตำแหน่งพนักงานธุรการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,500 บาท โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อเดือนมีนาคม 2525 ตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,000 บาท โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 ตำแหน่งพนักงานธุรการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน

 

ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยโจทก์ทั้งสามมิได้กระทำความผิดสมาคมจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในเรื่องค่าชดเชยตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3)

 

จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม แต่ให้จำเลยค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่า กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3) นำมาใช้บังคับกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่

 

เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่...นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งจะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้"

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมออกกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3) ว่า "มิให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ... หมวด 11 ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 ... บังคับแก่นายจ้าง ซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ" เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นสมาคมที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงนำค่าชดเชยมาตรา 118 ถึงมาตรา 122 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาบังคับใช้กับการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามไม่ได้

 

กฎกระทรวงดังกล่าวได้บัญญัติยกเว้นเฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเว้นกรณีจำเลยหรือนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

ทั้งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นคนละกรณีและบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติต่างหากจากกันเช่นนี้ ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยหรือไม่ พิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และมาตรา 119

 

ส่วนการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามที่มีอยู่ตามกฎหมายและการแปลความกฎหมายให้เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามย่อมไม่ชอบ

 

ดังนั้น กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (3) นำมาใช้บังคับกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ไม่ได้ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน

 

 

คำพิพากษาฎีกาที่  1375/57

 

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า  จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่เป็นหน่วยงานหรือตัวแทนกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 

 

โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ปี  2536  ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ  80,000  บาท  วันที่  1  มกราคม  2547  จำเลยออกข้อบังคับหรือคู่มือการจ้างให้มีผลบังคับในวันดังกล่าวเมื่อวันที่  30  กันยายน  2549 

 

จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดจำเลยทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์  โดยจำเลยจ่ายค่าแยกจากกันจำนวน  180,000  บาท  และเงินเดือนๆ ที่  13  จำนวน  60,000  บาท  โดยท้ายบันทึกดังกล่าวจำเลยจัดทำข้อความให้โจทก์สละสิทธิในการเรียกร้องเงินใดๆ  ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 

 

ส่วนข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องใดจากจำเลย  ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 

 

โจทก์ทำงานกับจำเลยมาตั้งแต่ปี  2536  จนถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลามากกว่า  10  ปี  จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย  800,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  นับแต่วันเลิกจ้างคิดถึงวันฟ้องดอกเบี้ยเป็นเงิน  81,534.25  บาท  รวมเป็นเงิน  881,534.25  บาท  ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย  881,534.25  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  ของต้นเงิน  800,000  บาท  นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

 

จำเลยให้การว่า  จำเลยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย  แต่เป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

 

จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ  แต่เป็นการช่วยเหลือทางด้านวิชาการให้แก่ประเทศไทยโดยไม่มีค่าตอบแทน  ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน  เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาจ้างงานตามสัญญา  โจทก์รับเงินและลงลายมือชื่อว่าไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดกับจำเลยอีก  จำเลยจึงไม่ได้เลิกจ้างโจทก์  จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์  ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม  ขอให้ยกฟ้อง

 

 

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว  พิพากษายกฟ้อง

 

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นตัวแทนของรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่บริหารความร่วมมือทางวิชาการให้แก่ประเทศไทย  ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ  จึงไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างทำงานใดๆ  เพื่อมุ่งแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ

 

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่  10  พฤษภาคม  2536  ทำสัญญาจ้างต่อเนื่องมาจนถึงฉบับสุดท้ายสิ้นสุดวันที่  30  กันยายน  2549  ตำแหน่งพนักงานโครงการ  ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ  80,000  บาท 

 

วันที่  29  กันยายน  2549  โจทก์กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงหรือการสละสิทธิที่จะเรียกร้องเกี่ยวกับสัญญาจ้างงานที่จะสิ้นสุดลงโดยจำเลยยอมจ่ายเงิน  211,500  บาท  แก่โจทก์  เพราะเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างตามสัญญา  ไม่ใช่กรณีที่โครงการความร่วมมือได้สิ้นสุดไปก่อนกำหนดแล้ว

 

วินิจฉัยว่ากฎกระทรวง  (พ.ศ.2541)  ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.2541  (3)  ห้ามมิให้นำบทบัญญัติหมวด  11  ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา  118 – มาตรา  122  มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าว  และคู่มือการว่าจ้างพร้อมคำแปลเอกสารหมาย  จ.1  และ  จ.2  ข้อ  8.6.1  กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยกรณีที่โครงการความร่วมมือได้สิ้นสุดไปก่อนกำหนดเท่านั้น  แต่กรณีของโจทก์เป็นการสิ้นสุดการจ้างตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับจำเลย  โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ  8.6.2

 

 

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า  คู่มือการว่าจ้างพร้อมคำแปลเอกสารหมาย  จ.1  และ  จ.2  เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจหรือไม่  คำว่า  “โครงการ” ในข้อ  8.6  หมายถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยถ้าการบริหารงานความร่วมมือทางวิชาการที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีให้แก่ ประเทศ ไทยสิ้นสุด  ก็หมายถึงโครงการตามคู่มือดังกล่าวสิ้นสุด

 

 เมื่อวัตถุประสงค์ของจำเลยยังไม่สิ้นสุด  จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด  โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องนั้น   เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างทำงานใดๆ  เพื่อมุ่งแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ  และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างตามสัญญาไม่ใช่กรณีที่โครงการความร่วมมือได้สิ้นสุดไปก่อนกำหนด  เพื่อนำไปสูข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ 

 

อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ.  2522  มาตรา  54  วรรคหนึ่ง  ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

 

อีกทั้งยังสอดคล้องกับเมื่อปี 2556 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือ เรื่อง การจ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้าง ให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ทำเรื่องขอหารือ

 

โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างได้จ่ายค่าตอบแทนกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการมาโดยตลอด ก่อนจะถูกทักท้วงจากสำนักงาน ก.พ.ร. ว่า องค์การมหาชนไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้ผู้อำนวยการ ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555

 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงได้ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน 2 ประเด็น คือ

 

1. คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนใช้ดุลยพินิจพิจารณาแล้วเห็นควร จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์) ซึ่งดำรงตำแหน่งจะครบวาระตามสัญญาจ้างในวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยจะใช้อำนาจตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 อนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างแก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้หรือไม่

 

2. ดุลยพินิจและการดำเนินการของคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตามข้อ 1. จะขัดกับมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 หรือไม่

 

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว มีความเห็น ดังนี้

 

 

ประเด็นที่หนึ่ง การใช้อำนาจของคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะใช้อนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนไม่ได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจกระทำการเกินขอบวัตถุประสงค์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

 

 

ดังนั้น คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจึงไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 20 (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 อนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้

 

 

ประเด็นที่สอง เห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนโดยกำหนดให้องค์การมหาชนไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ นั้น

 

เนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนไว้แล้ว ว่า

 

ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

 

 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ประกอบกับ (3) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ตั้งแต่ มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ องค์การมหาชนที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชน

 

ด้วยเหตุนี้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนให้ถูกต้องตามที่กฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน และกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้

 

อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ทำสัญญาจ้างรายนี้ แต่เมื่อการจะจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างมิได้มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือตามผลแห่งสัญญาจ้างแต่อย่างใด

 

การที่คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะใช้ดุลยพินิจจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างดังกล่าวภายหลังมติคณะรัฐมนตรี นอกจากไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจแล้ว ยังเป็นการขัดกับมติคณะรัฐมนตรี

 

 

ดังนั้น การที่คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเห็นควรอนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนการเลิกจ้างกรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างให้แก่ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

 

นอกจากนั้นแล้วยังสอดคล้องกับบันทึก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ่ายค่าชดเชยในกรณีการออกจากงานเพราะเกษียณอายุของเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เมื่อปี 2556 เช่นเดียวกัน ว่าทางสถาบันฯ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยจากการออกจากงานดังกล่าว

 

ตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒

 

มาตรา ๑๙ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๘

 

(๓) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

 

ข้อ ๑๒ แห่งระเบียบคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕

 

ประเด็นที่หนึ่ง การเลิกจ้างเพราะเหตุที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีความผิดและถูก เลิกจ้างเพราะครบกำหนดเกษียณอายุ ถือเป็นการกระทำที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือไม่

 

โดยที่พระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ บัญญัติให้กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน  ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และ (๓) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด ๑๑ ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา ๑๑๘ ถึงมาตรา ๑๒๒ บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

 

รวมทั้งข้อ ๑๒ แห่งระเบียบคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ บัญญัติให้การจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับในขณะนั้นกำหนด 

 

ดังนั้น สวพส. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ

 

แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงอาจกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนการเลิก จ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สวพส. ในรูปแบบของประโยชน์ตอบแทนอื่นตามมาตรา ๒๔ (๓) (จ) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ และมาตรา ๑๙ (๙) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สวพส. ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับลูกจ้างทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงานซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงานก็ชอบที่จะกระทำได้

 

ประเด็นที่สอง หากกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยกรณีข้าราชการที่โอนมาจากสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครบเกษียณอายุราชการนั้น สวพส. ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายหรือไม่

 

ประเด็นที่สาม หาก สวพส. ต้องจ่ายค่าชดเชย กรณีเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกเลิกจ้างตามกำหนดเกษียณอายุในช่วงระยะเวลา ๑ ถึง ๕ ปีที่ผ่านมามีสิทธิเรียกร้องให้ สวพส. จ่ายค่าชดเชยย้อนหลังหรือไม่

 

ประเด็นที่สี่ การกรอกรายละเอียดระยะเวลาการจ้างเจ้าหน้าที่โดยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาในสัญญาจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงว่าด้วยการพัฒนาและบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ ถือเป็นเหตุยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่

 

ประเด็นที่สอง สาม และสี่ เมื่อได้ให้ความเห็นในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า สวพส. ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวอีก

 



26/Sep/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา