ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

เมื่อลูกจ้างนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันได้ ศาลแรงงานสามารถกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน เพราะการที่นายจ้างจะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นมิใช่พิจารณาเพียงความสามารถของลูกจ้างเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่า นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และจะสามารถกลับไปทำงานร่วมกันได้โดยไม่เป็นปัญหาแก่ทั้งสองฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8629/2550

 

คำพิพากษาย่อสั้น

 

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ได้กำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานสั่งเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้

 

ก็ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน ซึ่งการที่นายจ้างจะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นมิใช่พิจารณาเพียงความสามารถของนายจ้างที่จะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปเท่านั้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และจะสามารถกลับไปทำงานร่วมกันได้โดยไม่เป็นปัญหาแก่ทั้งสองฝ่าย หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้จึงจะกำหนดค่าเสียหายให้แทน

 

ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายนี้ศาลแรงงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างอื่นเกี่ยวกับลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ประกอบการพิจารณาด้วย

 

เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้ทำงานกับนายจ้างอื่นแล้วจึงไม่พิจารณาข้อที่โจทก์ขอกลับเข้าทำงานอีก เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

ซึ่งศาลแรงงานจะต้องดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนการที่ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้วประกอบกับที่โจทก์ได้งานใหม่ทำแล้วภายหลังถูกเลิกจ้างเพียงหนึ่งเดือนจึงไม่ได้รับความเสียหายนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างเดิม นับอายุงานต่อเนื่องและสภาพการจ้างเดิม พร้อมทั้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างคือวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ในอัตราวันละ 176 บาท จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,520 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,240 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2548 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง คือวันที่ 15 ธันวาคม 2547 จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2548 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลแรงงานแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ โดยให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อน หากไม่สามารถทำได้จึงจะให้ชำระเงิน

 

การที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ แล้วไม่กำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์จึงขัดต่อกฎหมาย เห็นว่า

 

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า "การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา"

ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานสั่งเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด คือสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ก็ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน ซึ่งการที่นายจ้างจะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นมิใช่พิจารณาเพียงความสามารถของนายจ้างที่จะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปเท่านั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่านายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และจะสามารถกลับไปทำงานร่วมกันได้โดยไม่เป็นปัญหาแก่ทั้งสองฝ่าย หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้จึงจะกำหนดค่าเสียหายให้แทน

 

ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายนี้ศาลแรงงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นเกี่ยวกับลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ประกอบการพิจารณาด้วย

 

เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้ทำงานกับนายจ้างอื่นแล้วจึงไม่พิจารณาข้อที่โจทก์ขอกลับเข้าทำงานอีก เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องดำเนินการตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติไว้โดยให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน

 

ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยเห็นว่าจำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว ประกอบกับที่โจทก์ได้งานใหม่ทำแล้วภายหลังถูกเลิกจ้างเพียงหนึ่งเดือนจึงไม่ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

 

อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

 

จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณาด้วย แล้วพิพากษาใหม่ต่อไป

 

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เฉพาะส่วนที่มิได้กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามนัยที่กล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี



28/Nov/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา