ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

รวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุว่า “ค่าเที่ยว” เป็น “ค่าจ้าง” การจ้างแรงงานรายเดียวกันอาจกำหนดวิธีคิดคำนวณค่าจ้างเป็นหลายแบบผสมผสานกันได้ มิใช่ว่าหากค่าตอบแทนมีจำนวนไม่แน่นอนเท่ากันทุกเดือนแล้วจะไม่ใช่ค่าจ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 6100/6101/2556

 

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 จำเลยรับโจทก์ ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ตามลำดับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายโจทก์ที่ 1 เดือนละ5,980 บาท โจทก์ที่ 2 เดือนละ 9,027 บาท ค่าเที่ยวเฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท ต่อคน และค่ารักษารถเดือนละ 3,000 บาทต่อคน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 และวันที่ 27 มิถุนายน 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ตามลำดับ โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด จำเลย ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 101,880 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 160,216 บาท สินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 33 วัน เป็นเงิน 18,678 บาท โจทก์ ที่ 2 จำนวน 27 วัน เป็นเงิน 24,699 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับอายุงานปีละ 1 เดือน โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 84,900 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 180,243 บาท และจำเลยต้องคืนเงินประกันในการทำงาน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1

 

จำเลยให้การว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายโจทก์ที่ 1 เดือนละ 5,959 บาท โจทก์ที่ 2 เดือนละ 8,768 บาท เงินค่าเที่ยวคำนวณตามระยะทางเมื่อขับรถไปส่งสินค้าแต่ละครั้งตามประกาศอัตราค่าเที่ยว มิได้เป็นเงินที่จ่ายให้ประจำ เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 5,000 บาท

 

ส่วนค่ารักษารถเป็นเงินรางวัลจูงใจพนักงานขับรถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย มิได้เป็นเงินที่จ่ายให้แน่นอน ขึ้นยู่กับการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบข้อบังคับของจำเลย

 

วันที่ 26 เมษายน 2549 โจทก์ที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจปราบปรามการทุจริตน้ำมันทำการจับกุมบริเวณ เพิงรับซื้อขายน้ำมันไม่มีเลขที่ ริมถนนบางปะหัน - บางปะอิน และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน2549 โจทก์ที่ 1 ร่วมกับนายจะเด็ด ทับทิมทอง พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุง แผนกปฏิบัติการขนส่งของจำเลยปลอมแปลงเอกสารการเบิกจ่ายน้ำมัน ลงลายมือชื่อพนักงานคนอื่นและเอาน้ำมันโซลาของจำเลยไป

 

การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นความผิดร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับ ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 8,370 บาท

พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องโจทก์ที่ 2

 

โจทก์ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์ศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ได้ค่าจ้าง 5,959 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้าง 8,768 บาท และโจทก์ทั้งสองยังได้เงินค่าเที่ยวคิดตามจำนวนเที่ยว ระยะทางและประเภทรถตามอัตราที่จำเลยกำหนดได้เงินรางวัลในการขับรถปลอดภัยและรอบคอบ มีความขยัน การดูแลรักษารถตามอัตราค่าเที่ยวและคู่มือพนักงานขับรถเงินค่าเที่ยวมีจุดมุ่งหมายจ่าย เพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานจึงเป็นค่าจ้าง ส่วนเงินรางวัลเป็นเงินที่จ่ายให้เป็นกำลังใจในการทำงานตอบแทนความดี ความขยัน ไม่ใช่ตอบแทนการทำงานโดยตรงจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

 

จำเลยไม่มีประจักษ์พยาน หรือพยานแวดล้อมรู้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ยักยอกน้ำมัน ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีส่วนรู้เห็นในการจัดทำและลงลายมือชื่อในเอกสารการเติมน้ำมัน จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

 

จำเลยมีพันตำรวจตรีปรีชา เบิกความเป็นพยานยืนยันว่าซุ่มดูเห็นโจทก์ที่ 2 เปิดฝาถังน้ำมันรถให้นายสมบัติ ใช้สายยางดูดน้ำมันใส่ถัง พยานเข้าจับกุมและยึดได้ของกลาง จึงเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

 

เงินค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า การจ่ายเงินค่าเที่ยวเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่จ่ายให้พนักงานขับรถ เมื่อขับรถไปส่งน้ำมันให้ลูกค้า โดยมีอัตราการจ่ายที่สถานที่ขับรถไปย่อม เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง จึงเป็นค่าจ้างค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างที่คิดคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำงานขับรถให้แก่นายจ้างจึงมีจำนวนผันแปรไปตามปริมาณงานที่ทำได้ ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้เหมือน กับค่าจ้างรายเดือนแบบเหมาจ่ายซึ่งเป็นเรื่องปกติ

 

การจ้างแรงงานรายเดียวกันอาจกำหนดวิธีคิดคำนวณค่าจ้างเป็นหลายแบบผสมผสานกันได้ มิใช่ว่าหากค่าตอบแทนมีจำนวนไม่แน่นอนเท่ากันทุกเดือนแล้วจะไม่ใช่ค่าจ้าง

 

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3631-3667/2552

 

คดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 42 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 42 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย

 

โจทก์ทั้งสี่สิบสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อส่งสินค้าให้ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสทั่วประเทศ ได้รับเงินเดือนตามฟ้องของโจทก์แต่ละคน โดยมีลักษณะการทำงานเป็นรอบ รอบละ 14 วัน

 

กล่าวคือ 7 วันทำการแรกโจทก์ทั้งสี่สิบสองต้องขับรถร่วมกับพนักงานขับรถคู่กะวิ่งงานระยะยาว (ต่างจังหวัด) ผลัดเปลี่ยนกันขับ หากวันทำการที่ 7 โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นผู้ขับกลับ วันทำการที่ 8 และที่ 9 โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้หยุดพัก ส่วนคู่กะจะต้องวิ่งงานระยะสั้น (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ในวันดังกล่าวโดยลำพัง และในวันทำการที่ 10 และที่ 11 โจทก์ทั้งสี่สิบสองต้องวิ่งงานระยะสั้น (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ส่วนคู่กะจะได้หยุดพักในวันดังกล่าว หลังจากนั้นในวันทำการที่ 12 ถึง 14 โจทก์ทั้งสี่สิบสองกับคู่กะจะต้องวิ่งงานระยะสั้นร่วมกัน แล้วจึงเริ่มต้นรอบงานใหม่

 

ในแต่ละรอบ 14 วัน โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้หยุดงาน 2 วัน ส่วนอีก 12 วัน ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หากไม่ขับรถก็ต้องนอนพักผ่อนในรถหรือรอรับงานในเที่ยวต่อไป คิดเป็นชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ชั่วโมง นอกเวลาทำงานปกติ 16 ชั่วโมง จำเลยจ่ายเงินเดือนและเงิน "ค่าเที่ยว" ตามระยะทางใกล้ไกลที่ขับรถไปทำงานยังสถานที่ต่างๆ ให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ แต่จำเลยไม่เคยจ่ายเงินดังกล่าว

 

โจทก์ทั้งสี่สิบสองขอคิดค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติเป็นเวลา 2 ปี ย้อนหลังถึงวันฟ้องของโจทก์แต่ละคน โดยหักวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ทำงานล่วงเวลาวันละ 16 ชั่วโมง รวมเป็นเวลาทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ตามฟ้องของโจทก์แต่ละคน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย

 

จำเลยให้การว่า เดิมพนักงานขับรถของจำเลยทำงาน 12 วัน หยุด 2 วัน ต่อมาเดือนตุลาคม 2548 ได้เปลี่ยนเป็นทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน โดยมีจำนวนวันทำงานและวันหยุดเท่าเดิม จำเลยจัดให้มีพนักงานขับรถประจำ 2 คน ต่อรถบรรทุก 1 คัน และมีพนักงานสำรองไม่ประจำรถหมุนเวียนเป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ 2 เดือน รถบรรทุก 1 คัน จะขับส่งสินค้าระยะสั้นและระยะไกลสลับกันไป โดยระยะสั้นไม่เกิน 400 กิโลเมตร ใช้พนักงานขับรถ 1 คน ต่อเที่ยว หากเป็นระยะไกลเกิน 400 กิโลเมตร ขึ้นไปจะใช้พนักงานขับรถ 2 คน ต่อเที่ยวสลับกันขับ

 

ทั้งบางครั้งเมื่อกลับมาแล้วพนักงานขับรถอ่อนเพลียไม่สามารถขับเที่ยวต่อไปหรือไม่มาทำงานหรือลางานหรือมีเหตุอื่น จำเลยก็จะจัดพนักงานสำรองขับรถสลับกับพนักงานประจำรถดังกล่าวโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงไม่ได้ทำงานขับรถตลอดเวลา

 

การทำงานของโจทก์ทั้งสี่สิบสองนั้นเป็นไปตามกฎหมายโดยทำงานตามปกติวันละ 8 ชั่วโมง หยุดพัก 1 ชั่วโมง และมีสิทธิคิดค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติต่อเมื่อทำงานเกินเวลาดังกล่าวการนับชั่วโมงการทำงานต้องนับเวลาการทำงานจริง การรอรับงานเพื่อวิ่งรถในเที่ยวต่อไปไม่ใช่เวลางานที่จะนำมาคิดค่าตอบแทนและจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองรอรับงาน

 

การทำงานของโจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นประเภทงานขนส่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6 โจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินเวลาทำงานปกติ

 

โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะทำงานต่อเมื่อขับรถขนส่งสินค้าเป็นเที่ยว ๆ ตามระยะทางใกล้ไกลโดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำและเงินค่าเที่ยวต่อการขับรถแต่ละเที่ยวมากน้อยตามระยะทางใกล้ไกล ซึ่งได้รวมค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวอีก อัตราเงินเดือนตามฟ้องของโจทก์แต่ละคนไม่ถูกต้องและสูงเกินจริงช่วงเวลาที่โจทก์เรียกร้องมานั้นโจทก์บางคนไม่ได้ทำงานเกินเวลาทำงานตามปกติ บางคนถูกให้ออกจากงาน และบางคนถูกพักงานชั่วคราว เงินค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์ทั้งสี่สิบสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

 

ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 6 ที่ 7 ที่ 18 ที่ 20 และที่ 25 ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ดังกล่าวจากสารบบความ

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดว่า เงินค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ เห็นว่า

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

 

เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและไม่ได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติแล้วว่างานที่โจทก์ทั้งหมดต้องปฏิบัติคือการขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์จากศูนย์กระจายสินค้า อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั่วประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกลที่ต้องขับรถไปทำงานในแต่ละเที่ยว กำหนดอัตราค่าเที่ยวไว้เป็นจำนวนแน่นอนสามารถคำนวณได้ตามระยะทางและจำนวนเที่ยวที่โจทก์แต่ละคนทำได้ตามตารางกำหนดอัตราค่าเที่ยวเอกสารหมาย จ.ล.2 ซึ่งมีผลบังคับนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547

 

โดยกำหนดระยะทางไว้เป็นกิโลเมตร และจำนวนพนักงานขับรถคูณด้วยค่าเที่ยว เช่น ลำดับที่ 5 สระบุรี 110 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 200 บาท คูณด้วย 1 (ขับคนเดียว) ลำดับที่ 14 พระนครศรีอยุธยา 55 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 200 บาท คูณด้วย 1 (ขับคนเดียว) ลำดับที่ 25 ชลบุรี 300 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 250 บาท คูณ 1 และ 140 บาท คูณ 2 (ขับเดียว 250 บาท ขับ 2 คน คนละ 140 บาท) ลำดับที่ 31 หาดใหญ่ 2,100 กิโลเมตร 1,000 บาท คูณ 2 (ขับ 2 คน คนละ 1,000 บาท)

 

โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ว่า การขับรถไปส่งสินค้าระยะประมาณ 100 กิโลเมตร เช่น จังหวัดสระบุรีหรือพระนครศรีอยุธยา พนักงานขับรถได้รับค่าขับรถต่อเที่ยวคนละ 200 บาท หรืออัตราเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 2 บาท และการขับรถไปส่งสินค้าระยะไกลเกิน 1,000 กิโลเมตร เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พนักงานขับรถยังได้ค่าขับรถต่อเที่ยวเพียงคนละ 1,000 บาท หรืออัตราเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 1 บาทเศษ

 

เห็นได้ว่าค่าเที่ยวดังกล่าวกำหนดขึ้นตามระยะทางเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ แสดงว่าค่าเที่ยวดังกล่าวไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการขับรถในส่วนที่เกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ จึงไม่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้พนักงานขับรถเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ทั้งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกกับจำเลยมีข้อตกลงให้จ่ายค่าเที่ยวเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ

 

เงินค่าเที่ยวดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 5 ดังกล่าวแม้โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกจะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้)

 

ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งหมดสำหรับเวลาที่งานเกินเวลาทำงานปกตินั้นด้วย หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่

 

โจทก์ทั้งหมดจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามจำนวนเวลาที่โจทก์ทั้งหมดได้ทำงานเกินจากวันละ 8 ชั่วโมง โดยถือเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเงินค่าเที่ยวรวมกับเงินเดือนได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละหรือชั่วโมงละเท่าใด แล้วนำค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงนั้นมาคำนวณค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไป แต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่ให้เกินคำขอของโจทก์แต่ละคน

 

อนึ่ง ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงจำนวนเงินค่าตอบแทนในการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่ามีสิทธิได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด โจทก์แต่ละคนทำงานเกินเวลาทำงานปกติจำนวนกี่ชั่วโมง และมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติคนละเท่าไรก่อนแล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี"

 

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 24 และที่ 26 ถึงที่ 42 ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคท้าย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12621/2558

 

เรื่อง “ค่าเที่ยว” กำหนดขึ้นจำกระยะทางขับรถจากสถานที่จัดส่งสินค้าไปยังสถานที่ปลายทาง ไม่ได้คำนึงถึงเวลาในการขับรถแต่ละเที่ยวเป็นสำคัญ โดยถือปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่เปิดกิจการค่าเที่ยวจึงถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติโดยปริยาย เป็นค่าจ้างตามมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

 

คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยชำระเงินสมทบเพิ่มเติมเข้ากองทุนเงินทดแทนจำนวน 54,007 บาท และ 80,180 บาท

 

เนื่องจากโจทก์เห็นว่า “ค่าเที่ยว” เป็นเงินที่จ่ายตอบแทนเกินเวลาทำงานปกติแบบเหมาจ่ายไม่เป็นค่าจ้าง จำเลยทั้งสองให้การว่า “ค่าเที่ยว” เป็นค่าจ้างเพราะตอบแทนการทำงานของลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถส่งสินค้า ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการขนส่งทางบกค่าเที่ยวจ่ายให้ตอบแทนการทำงานโดยมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางขับรถใกล้ไกลและประเภทของรถยนต์บรรทุก โจทก์ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมาตั้งแต่เปิดกิจการถึงปัจจุบัน หลักเกณฑ์เวลาทำงานของพนักงานขับรถขนส่งสินค้ากำหนดกรอบไว้อย่างกว้างๆ เวลาพักและเวลาทำงานให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสภาพการบริหารและการให้บริการของโจทก์ เวลาทำงานปกติใช้เฉพาะพนักงานที่มีการทำงานปกติยกเว้นพนักงานที่ทำงานขนส่งสินค้าทางบก

 

ค่าเที่ยวกำหนดขึ้นจากระยะทางขับรถจากสถานที่จัดส่งสินค้าอำเภอวังน้อย ไปยังสถานที่ปลายทาง ไม่ได้คำนึงถึงเวลาในการขับรถแต่ละเที่ยวเป็นสำคัญ เพราะพนักงานขับรถระยะทางใกล้เช่น 90 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง โจทก์ก็คงจ่ายค่าเที่ยวให้ 200 บาท พนักงานขับรถขนส่งสินค้าจะไม่มีเวลาเข้าและออกจากงานที่แน่นอน ถือเอาเวลาเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ขับรถและสิ้นสุด

 

เมื่อส่งของเสร็จตามเป้าหมายและนั่งรถกลับถึงที่ทำการ ซึ่งบางครั้งใช้เวลามากกว่า 8 หรือ 9 ชั่วโมงพนักงานขับรถจะต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา 24 ชั่งโมง ตามที่โจทก์มอบหมายและถือปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่เปิดกิจการหลักเกณฑ์ค่าเที่ยวจึงถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างงานและค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติโดยปริยาย ค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

 

พิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่าโจทก์มีข้อตกลงกับลูกจ้างพนักงานขับรถขนส่งสินค้ารายอื่นว่าการจ่ายค่าเที่ยวเหมาจ่ายรวมค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติอยู่ในนั้นแล้ว ค่าเที่ยวจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

 

ศาลฎีกาเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาเพื่อน าไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าค่าเที่ยวไม่เป็นค่าจ้าง เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12704/2558

 

เรื่อง “ค่าเที่ยว” เหมาจ่ายวันละ 500 บาท นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถทอย ซึ่งสามารถคำนวณได้ตามจำนวนวันที่ทำในเวลาทำงานตามปกติอันมีลักษณะชี้ชัดว่ามุ่งหมายจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน มิใช่จงใจเพื่อจูงใจ “ค่าเที่ยว” จึงเป็น “ค่าจ้าง”

 

คดีนี้จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถทอยประจำสาขาขอนแก่น ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,200 บาท ค่าเที่ยวเหมาจ่ายวันละ 500 บาท โจทก์มีหน้าที่ขับรถบรรทุกก๊าซตามตารางกำหนดโดยในสัปดาห์หนึ่งกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ 12 ชั่วโมง จำนวน 2 วัน บางครั้งเป็นกะเช้า บางครั้งเป็นกะดึกสลับกัน เมื่อจำเลยจ่าย “ค่าเที่ยว” ให้โจทก์เมื่อโจทก์ทำตามหน้าที่ของตนซึ่งจำเลยกำหนดอัตราไว้แน่นอนว่าวันหนึ่งจะจ่ายให้เท่าใด สามารถคำนวณได้ตามจำนวนวันที่ทำในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงานอันมีลักษณะชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน มิใช่จงใจจ่ายไปเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงาน ทั้งจำเลยยังกำหนดเงินดังกล่าวไว้ในโครงสร้างค่าจ้างแรงงานตามสัญญาจ้างแรงงานฉะนั้นเงินค่าเที่ยวจึงเป็น “ค่าจ้าง” ที่ศาลแรงงานภาค 4 นำเงินค่าเที่ยวมารวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลาย่อมเป็นการถูกต้องแล้ว พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14262/2558

 

เรื่อง การคำนวณค่าชดเชยพนักงานขับรถที่ได้รับค่าเที่ยวซึ่งเป็นค่าจ้างตามผลงาน ต้องนำเงินค่าเที่ยวที่ได้รับจริงย้อนหลังมาคำนวณ ไม่ใช่ใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อลูกจ้างไม่ได้รับค่าเที่ยวในช่วงดังกล่าว จึงไม่มีค่าจ้างตามผลงานซึ่งจะนำมาใช้เป็นฐานคำนวณ ดังนั้น จึงนำเฉพาะค่าจ้างรายเดือนมาคำนวณเท่านั้น

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งพนักงานขับรถเซมิเทรลเลอร์ ได้รับค่าจ้าง เดือนละ 8,432 บาท และค่าเที่ยวเฉลี่ยเดือนละ 16,800 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ วันที่ 30 วันที่ 1 ตุลาคม 2550 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด

 

ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษา ให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,626 บาท ค่าชดเชย 201,864 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประเด็นค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น

 

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 จะจ่าย ค่าเที่ยวให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ขนส่งน้ำมันตามหน้าที่ของตน โดยเงินค่าเที่ยว ที่โจทก์จะได้รับนั้นสามารถคำนวณได้แน่นอนขึ้นอยู่กับระยะทางของการขับรถยนต์ในแต่ละเที่ยวตามที่ จำเลยที่ 1 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ลักษณะการจ่ายค่าเที่ยวของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ดังกล่าวเป็นการจ่าย เพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้าง

 

อุทธรณ์ประเด็นการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยโดยคำนวณเงินเดือน รวมกับค่าเที่ยวโดยเฉลี่ยชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า

 

เมื่อเงินค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างตามผลงานแล้ว การที่โจทก์ได้รับ ค่าเที่ยวจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2550 แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้รับค่าเที่ยวอีก ในวันเลิกจ้างจึงไม่มีค่าจ้างตามผลงานซึ่งจะนำมาใช้เป็นฐานคำนวณให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ได้ คงคำนวณจากค่าจ้างซึ่งเป็นเงินเดือนเท่านั้น คิดถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง คราวถัดไปในวันที่ 15 ตุลาคม 2550 เป็นเงิน 4,216.50 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่

 

ส่วนค่าชดเชยนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (4) นอกจาก กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างโดยคำนวณจากค่าจ้างตามระยะเวลาแล้วยังได้กำหนดให้จ่าย ค่าชดเชยสำหรับค่าจ้างตามผลงานไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้าย

 

ดังนั้นจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินค่าเที่ยวที่โจทก์ได้รับจริงย้อนหลังขึ้นไป 240 วัน นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 อันเป็นวันเลิกจ้าง คือระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 30 กันยายน 2550 มาคำนวณจ่ายค่าชดเชยสำหรับค่าจ้างตามผลงาน ให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าโจทก์ได้รับค่าเที่ยวจำนวนน้อยที่สุดโดยเฉลี่ยเดือนละ 16,800 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว และโจทก์ได้รับค่าเที่ยวถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2550 เท่านั้น เมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงาน 77,280 บาท และค่าจ้างที่คำนวณตามระยะเวลาเป็นเงินเดือนๆ ละ 8,433 บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยดังกล่าวอีก 67,464 บาท รวมเป็นค่าชดเชย 144,744 บาท ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยมาจึงไม่ถูกต้อง

 

พิพากษา แก้เป็นให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,216.50 บาท และค่าชดเชย 144,744 บาท



27/Mar/2020

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา