ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อเลิกจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย

คำพิพากษาฎีกาที่ 7717 /2551

 

 

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13  มกราคม 2540  ถึงวันที่ 13  มกราคม  2543 โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด   ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทร่วมค้าของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ วันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีกำหนดเวลา 12 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 150,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน

 

 

ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างตามข้อตกลงในวันที่ 13 เมษายน 2544 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานต่อและจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามปกติโดยต่อเนื่อง และโจทก์ยังคงทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม ณ ที่ทำการของจำเลยตลอดมาโดยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,000 บาท และค่าที่พักเดือนละ 60,000 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างเดือนละ 210,000 บาท

 

ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด และจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย  จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าชดเชย 630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

 

 

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 โจทก์ทำสัญญาจ้างกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด แต่เหตุที่โจทก์ทำงานในบริษัทจำเลยได้เนื่องจากจำเลยและบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในเครือของบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างเดิมของโจทก์ จำเลยมิได้จ้างโจทก์ ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยและไม่อาจนำมาบังคับจำเลยได้  

 

โจทก์มีข้อตกลงตามสัญญาจ้างเดิมระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าว ฉบับลงวันที่  24  มีนาคม 2543  ชอบที่โจทก์จะเรียกร้องจากบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยไม่เคยตกลงรับโอนการจ้างโจทก์มาจากบริษัทฟาสโก้ยามาบิชิ จำกัด ประเทศออสเตรเลียและไม่เคยตกลงนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องมาจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด

 

โจทก์ตกลงกับบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิกจำกัด  เพื่อทำงานในบริษัทจำเลยตำแหน่งผู้จัดการโครงการ  มีกำหนดเวลา 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 ตามจดหมายการจ้างงานลงวันที่ 24 มีนาคม 2543 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,000  บาท และค่าที่พักเดือนละ 60,000 บาท รวมเดือนละ 210,000 บาท ซึ่งมีข้อตกลงโดยชัดแจ้งว่าให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด สิ้นสุดลง

 

ต่อมาบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด ตกลงต่ออายุการทำงานของโจทก์ต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 หลังจากนั้นได้ต่ออายุการทำงานอีกครั้งจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2544 เมื่อครบกำหนดการจ้างจำเลยมิได้ต่ออายุสัญญาโจทก์อีก

 

เมื่อสัญญาจ้างโจทก์สิ้นสุดลงบริษัทฟาสโก้ออสเตรเลียพีทีวาย จำกัด ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แทนบริษัทฟาสโก้เอเซียแปซิฟิก จำกัด  ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยจึงมิต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย และการจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

 

 

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า

 

นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงาน และสัญญาจ้างดังกล่าวกำหนดระยะเวลา 12 เดือน เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน จำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า   อันมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  มาตรา 118  วรรคสาม  พิพากษายกฟ้อง

 

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างในวันที่ 13  เมษายน 2544 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจ่ายค่าจ้างให้ จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยมีหนังสือยืนยันให้การจ้างสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์

 

เห็นว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 วรรคสาม  นั้น สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องเป็นไปตามมาตรา 118 วรรคสี่ กล่าวคือต้องเป็นสัญญาจ้างในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องแล้วเสร็จในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

 

เมื่อคดีนี้มิใช่การจ้างงานในโครงการ หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 118 วรรคสาม ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 

 

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า

 

แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเดิมจะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนคือระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2544 แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวในวันที่ 13 เมษายน 2544 แล้วจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่ยังคงให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปทั้งยังยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงกลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างกันไว้

 

ดังนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป

 

จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2544 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 31 ธันวาคม 2544 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 คิดเป็นเงิน 150,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

 

 

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 กันยายน 2545) และค่าชดเชย 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 ธันวาคม 2544)  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์



31/Jan/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา