ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

จับตา ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 10 ประเด็นที่หายไปในการพิจารณา

แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้นมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2556 และจัดส่งรายงานการพิจารณาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาในวาระ 3 ในสภาผู้แทนราษฎร และส่งเรื่องต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

 

 

แต่อย่างไรก็ตามการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2556 จะเปิดการประชุมอีกครั้งในปลายเดือนธันวาคม 2556 หรือในอีก 3 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ ถึงจะมีการลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้

 

ถ้ายังจำกันได้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ (ฉบับ 14,264 รายชื่อ) กับฉบับที่เสนอโดยนายนคร มาฉิม และคณะ และได้รับหลักการเฉพาะร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยนายเรวัติ อารีรอบและคณะ เพียงเท่านั้น

 

ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ขึ้นมาคณะหนึ่ง รวม 31 คน คณะกรรมาธิการฯชุดนี้ได้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมรวม 8 ครั้ง คือ วันที่ 1, 22, 29 เมษายน 7, 20, 27 พฤษภาคม 3, 10 มิถุนายน 2556
 

จากการแลกเปลี่ยนกับนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) หนึ่งในคณะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย พบว่า การประชุมทั้ง 8 ครั้งที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญรวม 10 ประเด็น ที่เห็นควรตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษ ดังนี้

 

(1)   องค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม
 


 

ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่าคณะกรรมการประกันสังคม มาจากภาครัฐ (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ) นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน และสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 5 คน มีเลขาธิการเป็นข้าราชการ
 

แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ มาจากภาครัฐ (รัฐมนตรีเป็นประธาน, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ) นายจ้าง และลูกจ้าง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ฝ่ายละ 7 คน และสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คน มีเลขาธิการเป็นข้าราชการ
 


 

โดยมีความแตกต่างจากร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่ระบุชัดเจนว่าทั้งประธานกรรมการ เลขาธิการ และผู้ทรงวุฒิต้องมาจากการสรรหาจากผู้มีความรู้ความสามารถ มีคุณสมบัติ และประสบการณ์เหมาะสมด้านงานประกันสังคมเป็นสำคัญ
 

ดังนั้นจากร่างกฎหมายฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯจึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่า
 

(1.1)         การให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาเป็นประธานกองทุน กล่าวได้ว่า เป็นการรื้อโครงสร้างของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ที่เอื้อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจบริหารจัดการในกองทุนประกันสังคมแบบเบ็ดเสร็จ การบริหารจัดการทุกอย่างที่จะขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง ทำให้ไม่มีการถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส และอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือผลประโยชน์ขัดกัน เนื่องจากหลักการบริหารราชการแผ่นดินจะมีการแบ่งแยกฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติออกจากกันอย่างชัดเจน
 

 

(1.2)         เมื่อประธาน เลขาธิการ และคณะกรรมการยังคงเป็นตัวแทนส่วนมากที่มาจากภาครัฐ และฝ่ายการเมือง โอกาสที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนก็จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะตัวแทนคณะกรรมการกลุ่มนี้จะมีความโน้มเอียงไปกับความคิดของกระทรวงแรงงานมากกว่าการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมานั่งเป็นประธานกองทุนโดยตรง ยิ่งมีความเกรงใจมากยิ่งขึ้นในเชิงอำนาจการบริหารงาน
 


 

(1.3)         การกำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ยิ่งสะท้อนว่าเป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีในการออกระเบียบหลักเกณฑ์ที่อาจมีความไม่โปร่งใส เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้องตนเอง และยิ่งอาจจะทำให้ได้ผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถดั่งที่ปรากฏในปัจจุบัน ที่กรรมการฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างยังเป็นคนเดิมๆ โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่มาจากคนของตัวแทนผู้ประกันตนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น ทำให้ผู้ประกันตนในฐานะผู้ออกเงินสมทบและเปรียบเสมือนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกองทุนประกันสังคม กลับไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือบริหารกองทุนฯ เพื่อมีส่วนในการบริหารเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่สมควรจะได้รับ
 


 

(2)      สำนักงานประกันสังคมยังเป็นหน่วยงานราชการ เทียบเท่าระดับกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงทำให้สามารถถูกแทรกแซง อีกทั้งยังขาดประสิทธิภาพ ขาดบุคลากรที่มีความสามารถที่เพียงพอ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากฝ่ายผู้ประกันตนในการดำเนินงานและการตรวจสอบ และยังขาดความโปร่งใสด้านข้อมูล ในขณะที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของแรงงานจำนวนมากและต้องบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ แม้คณะกรรมการประกันสังคมจะมีมติดำเนินการในเรื่องใดๆ แต่เมื่อระบบราชการมีระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งที่กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่มากมาย ส่งผลให้การปฏิบัติงานนั้นล่าช้า การมีระเบียบข้อบังคับจำนวนมากนี้ได้สร้างความเคยชินกับข้าราชการว่าต้องเน้นความถูกต้องตามระเบียบมากกว่าประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

 

 

ถ้ามาพิจารณาในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ จะพบว่าในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคม มีฐานะนิติบุคคล สังกัดกระทรวงแรงงาน โดยเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งยังมีการแก้ไของค์ประกอบ กระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันความโปร่งใส ตรวจสอบชัดเจนได้ถึงความรู้ความสามารถ ความสุจริตเชื่อถือได้ทั้งไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีส่วนได้เสียกับกิจการที่กระทำกับสำนักงาน

 

 

อีกทั้งยังให้ผู้ประกันตนได้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรรมการประกันสังคมโดยตรง โดยผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 1,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อมูลแก่คณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาให้กรรมการคนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่งได้


 

(3)      ไม่มีการกำหนดเรื่องคณะกรรมการการลงทุน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แบบมืออาชีพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ทั้งๆที่การบริหารกองทุนต้องการมืออาชีพที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทุนประกันสังคมในภาพรวม มีการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดการทุน รวมทั้งในกรณีของคณะกรรมการตรวจสอบเช่นเดียวกันก็ไม่มีการระบุในเรื่องนี้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานในเรื่องการจัดทำรายการเงิน-บัญชีอย่างถูกต้องและเปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันว่าการบริหารและการดำเนินงานต่างๆจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล


 

ซึ่งแตกต่างจากร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการประกันสังคมแต่งตั้งคณะกรรมการการลงทุน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารใช้จ่ายเงินจัดหาผลประโยชน์กองทุนประกันสังคมให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใสได้มาตรฐานและ เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


 

(4)     ไม่มีการกำหนดให้กองทุนประกันสังคมเป็นนิติบุคคล ดังนั้นจึงทำให้ทรัพย์สินของกองทุนจึงกลายเป็นทรัพย์สินของรัฐไปโดยปริยาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วเงินในกองทุนส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกันตนและนายจ้าง เพราะรัฐจ่ายเงินสมทบน้อยเพียงร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างเท่านั้น ที่เหลือมาจากเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างร้อยละ 5 ทั้ง 2 ฝ่ายตามลำดับ รวมสามฝ่ายเท่ากับร้อยละ 12.75 นั้นแปลว่าถ้ามีเงินในกองทุน 100 บาท จะเป็นส่วนที่มาจากนายจ้างและลูกจ้าง 78 บาท และจากรัฐผ่านเงินภาษีประชาชนอีก 22 บาท เท่านั้น แต่รัฐกลับมีอำนาจควบคุมดูแลเบ็ดเสร็จโดยขาดการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นเจ้าของเงินอย่างแท้จริง
 


 

(5)      ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ไม่มีการระบุเรื่องค่าตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งๆที่สุขภาพเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สุขภาพได้รับการยอมรับให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่รัฐมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชาชน 6 ประการ คือ (1) ไม่เจ็บป่วยหากไม่จำเป็นต้องป่วย (2) หากเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาตามความจำเป็น (3) ไม่พิการหากไม่จำเป็นต้องพิการ (4) หากต้องพิการก็ให้พิการน้อยที่สุด (5) เมื่อพิการต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และ (6) ไม่เสียชีวิตหากไม่จำเป็นต้องเสียชีวิต
 


 

อีกทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจสอบสภาพร่างกาย เพื่อให้ทราบว่ามีสุขภาพดีหรือบกพร่อง เป็นวิธีการค้นหาโรคและความผิดปกติ ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในร่างการที่ดูเสมือนแข็งแรง สบายดี เป็นมาตรการในการป้องกันโรคในระยะเริ่มแรกมิให้ลุกลามมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชาชน การตรวจสุขภาพเป็นวิธีการที่ถูกต้องกว่าการคอยให้การบำบัดรักษาเมื่อมีอาการของโรคปรากฏขึ้น การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญมากสำหรับแรงงาน และยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ได้แก่ (1) แรงงานที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีมลพิษสูง เช่น ทำงานในโรงงานสารเคมี ทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นมาก หรือกับวัตถุอันตราย (2) แรงงานที่อยู่ในสภาพที่เครียดบ่อย ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่กดดัน (3) แรงงานที่อายุเกิน 35 ปี ร่างกายจะอ่อนแอลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น
 


 

(6)      ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานหญิงจะใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนคลอดบุตรได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน และสามารถใช้สิทธิได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ประกันตนต้องมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตั้งแต่วันที่เป็นผู้ประกันตน และควรมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรทุกครั้ง


 

เนื่องจาก “เด็ก” จะกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอนาคตของประเทศชาติ ดังนั้นคนเป็น “แม่” จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการสมทบเงิน เป็นการช่วยให้เกิดการดูแลสุขภาพก่อนคลอดอย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงในการคลอดที่ไม่ปกติ หรืออาจเกิดผลแทรกซ้อนในระหว่างคลอด อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่มาส่งผลกระทบในระหว่างการทำงาน เช่น ระยะทางระหว่างโรงพยาบาลกับสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกลมาก หรือชั่วโมงการทำงานของแรงงานในสถานประกอบการยาวนานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ


 

รวมถึงการที่เสนอให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรทุกครั้ง เนื่องจากเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของแรงงาน เพราะแรงงานต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการมีบุตรเพิ่มขึ้น อาจมีผู้ท้วงติงว่ายิ่งเป็นการส่งเสริมให้แรงงานมีบุตรมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ด้วยสภาพการจ้างงานและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เปิดโอกาสให้แรงงานหญิงสามารถมีบุตรได้จำนวนมากเหมือนในสมัยก่อนอย่างแน่นอน


 

(7)      ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ ในข้อนี้โดยข้อเท็จจริงแล้วควรมีการขยายอายุบุตรไปจนถึงอายุ 20 ปี เนื่องจากเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพแรงงาน โดยเฉพาะการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่จะเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละระดับชั้น โดยเฉพาะในช่วงระดับปริญญาตรี
 


 

(8)      ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ปรากฏสัญชาติจากประเทศต้นทางและมีนายจ้างผู้ได้รับอนุญาตให้จ้างงาน ซึ่งเป็นผู้ประกันในมาตรา 33 มาตราเดียวกับกลุ่มแรงงานในระบบ อย่างไรก็ตามพบว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และทำงานระดับล่าง ยังมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว เพราะขาดกลไกในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมกับการเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ระบุถึงกลไกการเข้าถึงดังกล่าว ซึ่งไม่ควรใช้เพียงช่องทางเดียวกับกลุ่มแรงงานในระบบหรือกลุ่มแรงงานชาวต่างประเทศที่เป็นแรงงานมีฝีมือเพียงเท่านั้น

 

(9)          ยังไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยได้ทันที เมื่อเป็นลูกจ้างในทุกสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาในความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง  เพราะในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกันตนสำรองเงินจ่ายไปก่อน และค่อยนำมาเบิกในภายหลัง อีกทั้งอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมากหรือน้อยนั้นควรจักต้องให้ขึ้นกับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเป็นสำคัญมากกว่าการระบุอัตราเดียวกันทุกคน

 

(10)       ยังไม่มีการแก้ไขอัตราการจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 39 และมาตรา 40 โดยรัฐจักต้องสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันสมทบ  และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น เพราะรัฐยังคงมองว่าถ้าตนเองจ่ายเงินมากกว่าผู้ประกันตนจะเป็นภาระการคลังให้กับรัฐบาลในระยะยาว ทั้งที่ปัจจุบันโดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลจ่ายสมทบให้แก่แรงงานในระบบ 2.75% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจ่ายให้แรงงานนอกระบบหลายเท่าตัว อีกทั้งในร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯได้มีการระบุชัดเจนว่า รัฐบาลจะจ่ายสมทบไม่เกินเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย ดังนั้นจึงทำให้ลูกจ้างที่ไม่มีนายจ้างก็ต้องรับภาระนี้เองทั้งหมด ซึ่งถ้ามองในแง่ความทั่วถึงและความเป็นธรรม ก็พบความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน เพราะแท้จริงแล้วแรงงานนอกในระบบในแง่สัดส่วนรายได้เป็นกลุ่มที่รายได้น้อยกว่ากลุ่มแรงงานในระบบ และรัฐบาลจะต้องอุดหนุนมากกว่า

 

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จำเป็นที่พี่น้องแรงงานต้องจับตาดูการทำหน้าที่ของวุฒิสภาในขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป ว่าจะมีการนำ 10 ประเด็นนี้มากล่าวถึงหรือไม่ เพราะการเกิดขึ้นมาของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อนั้น เป็นภาพสะท้อนสำคัญของเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 นั้นเอง

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

เผยแพร่เมื่อ 30 กันยายน 2556



16/Nov/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา