ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

‘หลุมพรางนายจ้าง’ กับการเลิกจ้าง ‘สหภาพแรงงาน’ ที่ไม่เป็นธรรมโดยถูกกฎหมาย

เพราะชีวิตแรงงานในระบบ คือ ชีวิตที่มีความเสี่ยงกับสภาพการจ้างงานที่ดูราวกับว่า “มั่นคง แน่นอน” มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับ แต่ใครจะรู้บ้างว่า “แรงงานในระบบ” คือ ชีวิตบนเส้นด้ายที่สายป่านสั้นและความไม่มั่นคงก็อยู่รายรอบ ถ้าใครสักคนหนึ่งหาญกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่ส่งผลให้นายจ้างรู้สึกว่า “พวกเขาและเธอ” ไม่ได้มาทำงานและรับค่าจ้างเพียงเท่านั้น ชะตากรรมที่จะหลุดจากรั้วโรงงานก็จะติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
 
           
4 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลแรงงานแห่งหนึ่งได้มีคำพิพากษา กรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ที่ตัดสินให้บริษัทแห่งนี้ต้องรับลูกจ้าง (กรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 4 คน) กลับเข้าทำงานและให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างนี้ เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำ งาน โดยคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้นนี้ ได้ตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งของ ครส. ฉบับนี้
             
 
คำถามสำคัญ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆที่บริษัทได้ทำผิดตามกฎหมายจริง แต่ทำไมศาลยังซ้ำเติมลูกจ้างอีกคำรบหนึ่ง
 
           
แม้จะได้ยินคำร่ำลือของการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มาพร้อมกับการเลิกจ้าง ผู้ก่อการและกรรมการสหภาพแรงงานในพื้นที่กลุ่มย่านอุตสาหกรรมอื่นๆสม่ำเสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ “พวกเขาและเธอท้อถอย” เพราะคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว
 
           
หลายปีที่ผ่านมาคนงานที่นี่ต้องเผชิญกับสภาพการจ้างที่ย่ำแย่มิใช่น้อย วันดีคืนดีนายจ้างก็บอกว่าขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจากรายเดือนมาเป็นรายวัน , มีการย้ายโรงงานบางแผนกไปอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, มีการตัดสวัสดิการต่างๆนานา มีกระทั่งหากพบชิ้นงานเสีย ลูกจ้างจะต้องทำการชดใช้เงิน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งได้สร้างความยากลำบากในการทำงานให้กับคนงานอย่างมาก
 
           
ที่นี่ไม่ใช่บริษัทห้องแถวกิ๊กก๊อก แต่เป็นบริษัทด้านสิ่งทอขนาดกลางที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2541 ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
 
 
ที่ใดมีความอยุติธรรม ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ นี้ย่อมคือสัจธรรม
 
 
ตุลาคม 2556 คนงานตัดสินใจยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานกับนายจ้าง โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ที่บัญญัติไว้ว่า “การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการ จ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ”
 
 
มหกรรมเชือดไก่ให้ลิงดูก็เกิดขึ้นตามมาโดยทันที
 
 
  • บริษัทสั่งพักงานลูกจ้างที่เป็นผู้แทนเจรจารวม 5 คน โดยอ้างว่าทำตัวกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
  • บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 10 คน โดยอ้างว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ยอมเซ็นสัญญาฉบับใหม่เพื่อรับสภาพเงื่อนไขใหม่ในการจ้างงาน
  • มีการลดตำแหน่งและโยกย้ายหน้าที่การงานของตัวแทนเจรจา
 
 
อย่างไรก็ตามคนงานก็ไม่ยอมจำนน พฤศจิกายน 2556 คนงานบริษัทแห่งนี้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้สำเร็จ
 
 
แต่นั้นเองความหวาดหวั่นมาเยี่ยมเยือนหัวใจ พอๆกับความท้าทายถึงอนาคตข้างหน้าว่าสหภาพแรงงานแห่งนี้จะอยู่รอดและคงมั่น ปานใด ในเมื่อ ณ พื้นที่แห่งนี้ ดูราวกับเป็นเขตปลอดสหภาพแรงงานอย่างถาวรมาหลายปีดีดัก และสหภาพแรงงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ก็เพิ่งจะเป็นแห่งที่ 5 ของจังหวัดนี้เช่นเดียวกัน
 
 
3 ธันวาคม 2556 ในที่สุดหลังจากผ่านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานมาร่วม 7 ครั้ง สหภาพแรงงานกับบริษัทก็ได้ข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับสมบูรณ์
 
 
ผ่านไปแค่ 1 เดือน คำสั่งสายฟ้าฟาดมาเยือนประธานสหภาพแรงงาน, รองประธาน และกรรมการอีก 2 คน ทันที
 
 
6-7 มกราคม 2557 บริษัทได้เลิกจ้างคนกลุ่มนี้โดยแจ้งเลิกจ้างทางวาจา อีกทั้งในวันเดียวกันบริษัทก็ได้โอนเงินค่าชดเชย 3 เดือน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้างแต่ละคน
 
 
ท่ามกลางความมึนงง สับสน ไม่ทันตั้งตัว
 
 
วันรุ่งขึ้น 8 มกราคม 2557 ลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้จึงได้ตัดสินใจไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)  ว่าถูกบริษัทเลิกจ้าง ขณะที่ข้อตกลงสภาพการจ้างเพิ่งมีผลบังคับใช้ กล่าวได้ว่านายจ้างได้ทำความผิดตามมาตรา 121 และ 123 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518
 
 
สาระสำคัญโดยสรุปของ 2 มาตรา นี้ คือ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัดชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน และในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือคำชี้ขาด มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่ทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดตามระเบียบและข้อบังคับต่างๆตามที่กำหนดไว้
 
 
ดังนั้นลูกจ้างจึงขอให้ ครส. มีคำสั่งให้บริษัทแห่งนี้รับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึง วันรับกลับเข้าทำงาน
 
 
ขณะเดียวกัน 5 กุมภาพันธ์ 2557 ลูกจ้างทั้ง 4 คน ที่ถูกเลิกจ้างก็ได้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (ที่เรียกกันว่า เขียน คร. 7) เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจากการทำงาน (คือระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 - วันที่ 7 มกราคม 2557) เนื่องจากที่ผ่านมานั้น นายจ้างได้จ่ายเพียงแค่ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงเท่านั้น แต่ค่าจ้างค้างจ่ายนายจ้างยังไม่ได้จ่าย ดังนั้นลูกจ้างจึงไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่ในประเด็นนี้เพิ่มเติม
 
 
28 มีนาคม 2557 พนักงานตรวจแรงงานก็ได้มีคำสั่งให้บริษัทแห่งนี้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่กรรมการสหภาพแรงงาน 4 คนที่ถูกเลิกจ้าง
 
 
ใครเล่าจะรู้บ้างว่า............การรับค่าชดเชย รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าผ่านบัญชีธนาคารมาแล้ว และไปร้องเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย จะกลายเป็น “หนามแหลมบาดชีวิตของลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้” ในเวลาต่อมาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าต่อจากนี้
 
 
เมษายน 2557 ครส. มีคำสั่งให้บริษัทต้องรับลูกจ้าง 4 คนนี้กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึง วันรับกลับเข้าทำงาน เนื่องจากบริษัทได้เลิกจ้างลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและลูกจ้างไม่มีความผิด
 
 
บริษัทอุทธรณ์คำสั่ง ครส. โดยไปฟ้องศาลแรงงานโดยบริษัทเป็นโจทก์ และ ครส. เป็นจำเลย โดยระบุว่าเหตุผลที่บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้นั้น ไม่ใช่เพราะเกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง แต่เป็นเพราะบริษัทปรับลดขนาดองค์กร อีกทั้งบริษัทก็ได้จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปแล้วอย่างครบถ้วน ถูกต้องกฎหมาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ลูกจ้างจะมาร้องต่อ ครส. เรื่องการกลั่นแกล้งและไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงขอให้ศาลแรงงานมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่ง ครส.ฉบับนี้ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 
 
ธันวาคม 2557 ศาลแรงงานนัดสืบพยาน มีการไกล่เกลี่ยระหว่างบริษัท กับ ครส. ทั้งนี้ในวันดังกล่าวบริษัทแจ้งต่อศาลว่า “การ รับลูกจ้างทั้ง 4 คน กลับเข้าทำงานเป็นเรื่องยากที่บริษัทจะรับข้อเสนอดังกล่าว และลูกจ้างทั้ง 4 ได้รับเงินค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปครบถ้วนแล้ว” ในส่วนทนายจำเลย คือ ครส. ก็แถลงเช่นเดียวกันว่า “ลูกจ้างทั้งสี่ได้รับเงินค่าชดเชยและสินจ้างการบอกกล่าวล่วงหน้าไปครบถ้วนแล้วจริง
 
 
วันนั้นศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อลูกจ้างทั้ง 4 คนได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่คู่ความแถลงรับกัน จึงไม่ต้องสืบพยานโจทก์และจำเลยอีกต่อไป นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์2558 เลย
 
 
4 กุมภาพันธ์ 2558 ณ บัลลังก์พิจารณา ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 225/2557 ทีละบรรทัดๆ จนมาถึงวรรคท้ายช่วงสำคัญ
 
 
  • ศาลแรงงานพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมได้ 2 ช่องทาง คือ (1) การยื่นคำร้องต่อ ครส. เพื่อให้มีคำสั่งรับกลับเข้าทำงาน หรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย หรือทั้ง 2 อย่าง นี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 124 กับ (2) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ระบุว่า ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 123 และ 124 ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมและลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด
 
  • แม้ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ช่องทาง คือ ครส. และพนักงานตรวจแรงงาน แต่เมื่อมีคำสั่งออกมาแล้ว ลูกจ้างจะใช้สิทธิ 2 ทางไม่ได้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน
 
  • ดังนั้นในกรณีนี้แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่นายจ้างก็ได้จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายไปแล้วในวันที่ เลิกจ้าง ถือได้ว่าลูกจ้างได้รับประโยชน์ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไปแล้ว ซึ่งย่อมหมายความว่า ลูกจ้างสละสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์ตามแนวทางของ ครส.
 
  • ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม คำสั่งของครส. ถือได้ว่า คำสั่งครส.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งครส. ฉบับนี้
 
 
แค่การหางานทำใหม่และทำมาหาเลี้ยงชีพแต่ละวันๆ ให้รอดก็ยากพอแล้ว เมื่อมานั่งอ่านคำพิพากษาแต่ละบรรทัดๆ ที่เป็นภาษากฎหมาย อ้างอิงมาตราต่างๆ กฎหมายฉบับต่างๆ ก็ยิ่งความมึนงงให้กับลูกจ้างมากขึ้นไปอีกว่า “แล้วตนเองควรทำอย่างไร ภายใต้ชะตาชีวิตแบบนี้”
 
 
ใครบางคนพยายามอธิบายด้วยภาษาง่ายๆให้ฟังว่า
 
 
คำพิพากษาศาลแรงงานฉบับนี้ ได้เดินตามบรรทัดฐานของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3808/2547 ทุกประการ กล่าวคือ คำพิพากษาฉบับที่ 3808/2547 นี้ ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า
 
  • แม้บทบัญญัติของ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาแก่ลูกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคน ละฉบับ แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน
 
  • ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรม และการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้างจะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำสั่ง ของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
 
  • ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
 
  • ลูกจ้างถูกบริษัทเลิกจ้างจึงยื่นคำร้องทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงาน
 
  • เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง พร้อมดอกเบี้ย และลูกจ้างได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบ ถ้วนแล้ว อันเป็นการเลือกถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว
 
  • ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างสละสิทธิ์ไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของคณะ กรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในส่วนให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน
 
  • ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับบริษัทตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก
 
ใครอีกคนก็อธิบายด้วยภาษาที่ง่ายขึ้นไปอีกว่า
 
 
เพราะบริษัทต้องรู้ช่องว่างของกฎหมายแน่นอน บริษัทจึงเลือกกำจัดลูกจ้างในฐานะ “สหภาพแรงงานผู้หัวแข็ง” ด้วยการโอนเงินผ่านระบบบัญชีธนาคารแทน เพื่อทำให้ลูกจ้างที่ไม่รู้ช่องทางทางกฎหมายต้องรับสภาพการเลิกจ้างไปโดย ปริยาย นี้ไม่นับว่าบริษัทก็ยังมีหลักฐานอีกว่า พนักงานตรวจแรงงานก็มีคำสั่งให้บริษัทต้องจ่ายเงินค้างจ่ายจากการทำงานให้ ลูกจ้างอีก เหล่านี้เป็นหลักฐานรูปธรรมทั้งสิ้นที่ส่งผลให้การเลิกจ้างดังกล่าวถูก กฎหมายและชอบธรรม
 
 
ประสิทธิ์ ประสพสุข รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) และมงคล ยางงาม นักจัดตั้งสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) ผู้คร่ำหวอดและคุ้นชินกับประเด็นการเลิกจ้างนักสหภาพแรงงาน อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
 
 
“ในเมื่อถ้าลูกจ้างรู้แล้วว่าตนเองถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันดับแรกต้องไปแจ้งความดำเนินคดีทางอาญาเอาผิดกับนายจ้าง นำข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับนั้นไปบันทึกไว้เป็นหลักฐานก่อน และให้ถอนเงินนั้นออกมาเป็นหลักฐานว่า เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะลูกจ้างไม่ได้อยากถูกเลิกจ้าง แต่นายจ้างกลับมัดมือชกโอนเข้าบัญชีมาเอง เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ยอมรับการเลิกจ้างด้วยวิธีบังคับขืนใจให้สมยอมแบบนี้
 
 
หลังจากนั้นให้ลูกจ้างไปยื่นคำร้องต่อ ครส. เพื่อให้ ครส.มีคำสั่งให้นายจ้างต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายจากการ เลิกจ้างครั้งนี้เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึง วันรับกลับเข้าทำงาน
 
 
ซึ่งคาดการณ์ได้ไม่ยากอีกว่าในกรณีแบบนี้ว่า ครส. ก็จะตัดสินให้ลูกจ้างชนะ และนายจ้างก็จะอุทธรณ์คำสั่งโดยไปฟ้องศาลแรงงานจนถึงขั้นศาลฎีกา
 
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงสอนให้ลูกจ้างต้องละเอียดรอบคอบมาก ขึ้นในการก้าวเดิน นายจ้างมีที่ปรึกษากฎหมายทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ จากนี้ไปเมื่อโดนเคสแบบนี้ต้องทำหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างส่งถึงบริษัท สำเนาเรียนสวัสดิการและคุ้มครองฯไว้เป็นหลักฐาน แจ้งความเรื่องมีเงินไม่ชอบโอนเข้าบัญชีเรา แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างละเมิดพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 31 และ ร้องครส. ตามมาตรา 121 -123 ต้องปิดช่องว่างทางกฎหมายให้หมด”
 
 
บนเส้นทางนักต่อสู้ ย่อมมีความหมาย ขอให้เพียงได้ลุกขึ้นสู้ ย่างก้าวแห่งการต่อสู้จักมีความหมาย นักรบย่อมมีบาดแผลและร่องรอยความเจ็บปวดข่นแค้นเสมอมา
 
 
ปี 2553 ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 8802/2553 โดยวางบรรทัดฐานไว้ว่า “ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจากการเลิกจ้าง กับ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นคนละเรื่องกัน” กล่าวได้ว่าบนเส้นทางที่ดูเหมือนจะตีบตัน ลูกจ้างทั้ง 4 คนนี้ ก็ยังสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลแรงงานกรณีให้นายจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายจากการ เลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้เช่นเดียวกัน
 
 
กล่าวคือ
 
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามคำว่า ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ค่าชดเชยตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง
 
  • ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า
 
  • “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการ เลิกจ้าง ลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้าง ที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้างระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา”
 
  • บทบัญญัติดังกล่าวให้การคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ เป็นธรรม หากลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อ ลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน ขอให้ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับใน ขณะที่เลิกจ้าง
 
  • หากคำขอดังกล่าวศาลไม่อาจพิจารณาบังคับให้ได้ ศาลจะสั่งให้นายจ้างซึ่งเป็นจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแทน หรือหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะกลับเข้าไปทำงานก็อาจจะขอให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายก็ได้
 
  • ดังนั้นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับค่าชดเชยจึงเป็นคนละเรื่องกัน แม้จะเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง แต่ก็เป็นบทบัญญัติต่างหากจากกัน
 
  • เมื่อศาลแรงงานวินิจฉัยว่า บริษัทเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แม้บริษัทจะนำเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปวางต่อพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างรับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว
 
  • ศาลแรงงานก็พิพากษาให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกได้
 
  • ศาลแรงงานพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของบริษัทจึงฟังไม่ขึ้น
 
  • ศาลฎีกายกฟ้องประเด็นนี้ที่บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง
 
พรนารายณ์  ทุยยะค่าย หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ปิดท้ายการสนทนาด้วยบทสรุป และสะท้อนถึงชีวิตแรงงานในระบบในประเทศไทย ที่โหดร้ายทารุณมิใช่น้อยว่า
 
 
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนถึงความยากลำบากของคนงานที่ต้องต่อสู้ กับระบบทุนและส่วนอื่นๆที่ทำให้ทุนได้รับชัยชนะเหนือลูกจ้าง แต่ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ นายจ้างก็กระทำสิ่งต่างๆได้ และลูกจ้างก็ต้องไปต่อสู้เอง
 
 
ที่ผ่านมาได้แนะนำลูกจ้างเสมอมาว่า กระบวนการทางศาลขอให้เป็นช่องทางสุดท้าย มีหลายครั้งที่ลูกจ้างพอไปถึงศาลจำชื่อตนเองไม่ได้ก็มี หรือเคยเข้าไปในฐานะทนายความก็เคยถูกศาลให้ออกนอกห้องมาแล้ว หรือหลายกรณีมีการไกล่เกลี่ย กดดันให้ลูกจ้างต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม
 
 
บางครั้งกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือให้ลูกจ้างต้องยอมรับสภาพที่เกิด ขึ้น แม้กฎหมายเขียนไว้ว่าให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ถ้านายจ้างไม่จ่าย ลูกจ้างไปฟ้องศาลเอง บางครั้งก็ฟ้องแค่เรื่องเรียกค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น โดยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรง งานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ก็ตกหล่นเรื่องนี้ไปก็มี หรือไกล่เกลี่ยก็เพียงแค่เรื่องรับค่าชดเชย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ลูกจ้างก็ต้องได้รับด้วย
 
 
อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดๆที่ระบุว่า เมื่อนายจ้างรับคนงานกลับเข้าไปทำงานแล้วภายหลังข้อพิพาทแรงงานเป็นที่สิ้น สุด จะต้องคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิม สถานะเดิม คือ มาอย่างไร ไปอย่างนั้น ไม่ใช่มาอย่างไร เวลากลับไป ให้ไปนั่งในเต็นท์ นี้คือการผิดหลักการอย่างยิ่ง
 
 
กฎหมายคุ้มครองแรงงานดูเหมือนว่าจะคุ้มครองลูกจ้างได้จริง ถ้อยคำสวยหรู แต่เนื้อแท้ วิธีปฏิบัติกลับไม่สามารถใช้ได้จริง พึ่งศาลก็ล่าช้า กลายเป็นความอยุติธรรม  ต่อสู้มานานจะได้รับความเยียวยาอย่างไร หรือบางทีศาลเองก็มองว่าแก้วมันร้าวกลับไปทำงานไม่ได้อยู่แล้ว มองว่าเข้าไปก็ลำบาก ถ้านายจ้างยืนยันไม่รับเข้าไปทำงาน ก็เข้าลำบาก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงลูกจ้างก็ยังไม่ได้ลองกลับเข้าไปทำงานเลย
 
 
แล้วสุดท้ายชีวิตลูกจ้างจะอยู่อย่างไร เพราะเกิดปัญหาครั้งใดก็ผลักไปคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) ผลักไปศาลแรงงาน นี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาการจ้างงานในประเทศอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด”
 
 
 
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
15 มีนาคม 2558
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://prachatai.org/journal/2015/03/58391
 
 
หมายเหตุผู้เขียน: ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณประสิทธิ์ ประสพสุข , คุณมงคล ยางงาม และคุณวิทยากร บุญเรือง สำหรับการแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์ต่อการขบคิดประเด็นต่างๆเพิ่มเติมมิใช่น้อย


15/Mar/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา