ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต่อนายจ้าง ครอบคลุมถึงลูกจ้างรับเหมาค่าแรง หรือไม่ อย่างไร

ในประเด็นนี้กลุ่มงานที่ปรึกษากฎหมาย นิติกรรมและสัญญา กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้เคยตอบคำถามสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี จดหมายลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗ เรื่องข้อหารือกองนิติการ ที่ รง ๐๕๐๔/๐๐๔๕๓ ไว้ดังนี้

 

คำถามที่ : สถานประกอบกิจการที่มีสหภาพแรงงานและมีลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงในสถานประกอบกิจการ และทำงานมีลักษณะเช่นเดียวกันกับลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้น

 

ต่อมาสหภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการดังกล่าวได้ยื่นข้อเรียกร้อง โดยในข้อเรียกร้องดังกล่าว เช่น โบนัสประจำปีและสวัสดิการอื่นๆ ให้นายจ้างของสถานประกอบกิจการของสหภาพแรงงานจ่ายเงินโบนัสและสวัสดิการอื่นๆ ให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย

 

การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ยื่นต่อนายจ้าง และสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย ถือเป็นข้อเรียกร้องหรือไม่

 

คำตอบที่ : พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๘ (๑) กำหนดไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกร้อง เจรจาทำความตกลง และรับทราบคำชี้ขาดหรือทำข้อตกลงกับนายจ้าง หรือสมาคมนายจ้าง ในกิจการของสมาชิกได้”

 

ดังนั้นการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น จะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกไม่ได้

 

ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ตามมาตรา ๑๓ ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ผู้ยื่นต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างตามมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ตามคำนิยามของคำว่าลูกจ้าง และข้อตกลงเกี่ยวกับภาพการจ้างจะมีผลผูกพันเฉพาะนายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติฯดังกล่าวเท่านั้น

 

กรณีสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงตามมาตรา ๑๑/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงไม่สามารถกระทำได้

 

และการยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงและไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๖๓๔/๒๕๓๔

 

คำถามที่ : สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับนายจ้างของสถานประกอบกิจการที่เป็นนายจ้างของสหภาพแรงงาน โดยสหภาพแรงงานไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรง เมื่อสหภาพแรงงานและนายจ้างสามารถตกลงกันได้ และจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงจะมีผลผูกพันกับลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงในสถานประกอบกิจการนั้นด้วยหรือไม่

 

คำตอบที่ : ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่สามารถตกลงกันได้ ย่อมมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องนั้นตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘

 

ดังนั้นลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงมิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องหรือมีส่วนเลือกตั้งผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจากับนายจ้าง จนได้มาซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

 

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรง

 

เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๐๘/๒๕๓๐ คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๔๘/๒๕๓๑ และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๐๖/๒๕๓๘

 

คำถามที่ : สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับนายจ้างของสถานประกอบกิจการที่เป็นนายจ้างของสหภาพแรงงาน โดยสหภาพแรงงานไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรง ดังนั้นเมื่อสหภาพแรงงานและนายจ้างสามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะเงินโบนัสและจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง จะเรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ เท่ากับลูกจ้างของผู้ว่าจ้างได้หรือไม่

 

คำตอบที่ : การยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ และเมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะมีผลผูกพันกันเฉพาะนายจ้างและลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นเท่านั้น ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘

 

ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากการยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา ๑๓ จึงไม่มีผลผูกพันกับลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

 

และสหภาพแรงงานมีหน้าที่ทำข้อตกลงกับนายจ้างต้องเพื่อประโยชน์ของสมาชิกของสหภาพแรงงานตามมาตรา ๙๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เท่านั้น

 

สหภาพแรงงานจึงไม่มีอำนาจทำข้อตกลงกับนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายโบนัสให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรง ซึ่งเป็นคนละนายจ้างกัน และการยื่นข้อเรียกร้อง เรื่องเงินโบนัสให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรงมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิกของสหภาพแรงงานแต่อย่างใด ในเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวสหภาพแรงงานทำกับนายจ้างโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ข้อตกลงนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันผู้รับเหมาค่าแรง เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๓๔/๒๕๓๔

 

อย่างไรก็ตามจากคำตอบข้างต้นของกองนิติการดังที่กล่าวมานั้น พบว่า ได้แย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๓๒๖ – ๒๒๔๐๔ / ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ กรณีมาตรา ๑๑/๑ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งได้วางบรรทัดฐานในกรณีลูกจ้างเหมาค่าแรง ไว้ชัดเจนว่า

 

สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคสองนั้น เป็นสิทธิตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติไว้โดยตรงอย่างชัดเจน

 

แม้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจะมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือมีส่วนในการเลือกผู้แทนในการเจรจาเพื่อจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ตาม แต่หากลักษณะงานที่ทำเหมือนกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของผู้ประกอบกิจการแล้ว

 

ผู้ประกอบกิจการต้องมีหน้าที่ดำเนินการจัดให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเหล่านั้นได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการจ่ายสิทธิประโยชน์และสวัสดิการแต่ละประเภทที่ผู้ประกอบกิจการให้กับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง

 

ผู้ประกอบกิจการมิอาจอ้างว่าได้จ่ายเงินต่างๆ ให้แก่บริษัทผู้รับจ้างเหมาค่าแรงตามที่ตกลงในสัญญาว่าจ้างเพื่อปฏิเสธให้ตนไม่ต้องรับผิดต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเหล่านั้นได้

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

๑ สิงหาคม ๒๕๕๘



01/Aug/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา