ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การแถลงข่าว “สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฎิรูป”

ใบแถลงข่าว

“สถานการณ์การเลิกจ้างคนงานกับข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมที่ยังรอการปฎิรูป”

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2560 เวลา 11.00–11.20 น.

ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ มักกะสัน กรุงเทพมหานคร

แถลงโดยฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

 

นับเป็นเวลา 4 ปีกว่าที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมายขึ้นมาอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 พบว่าระหว่างปี 2558-2560 ฝ่ายกฎหมาย คสรท. ได้มีการช่วยเหลือดำเนินคดีความทางกฎหมายให้ลูกจ้างทั้งสิ้น 647 คน รวม 70 กรณี ทั้งที่เป็นสมาชิก คสรท.และไม่ได้เป็นสมาชิก ในคดีแรงงาน คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง (ปี 2556-57 มีทนายเพียงคนเดียวในการดำเนินการจึงไม่มีการบันทึกจำนวนคดีอย่างละเอียด)

 

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรสมาชิกใน คสรท.โดยตรงจำนวน 240,550 บาท หรือเฉลี่ยคดีละ 3,436.50 บาท จากปกติอัตราค่าจ้างทนายอย่างน้อย 15,000 บาท/คดี

 

จำแนกเป็น

 

  • ปี 2558 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 10 กรณี รวมสำนวนคดี 285 สำนวน
  1. เลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย 5 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7  คน
  2. เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 3 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 276 คน
  3. ถูกลงโทษทางวินัยไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  4. ฟ้องดำเนินคดีอาญาลูกจ้างกรณีลักน้ำมัน 1  กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

 

  • ปี 2559 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 10 กรณี รวมสำนวนคดี 125 สำนวน
  1. นายจ้างเลือกปฎิบัติต่อลูกจ้าง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 96 คน
  2. เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 19 คน
  3. เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  4. ฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  5. การนิคมอุตสาหกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสหภาพแรงงานชุมนุมหน้าโรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  6. ลูกจ้างถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาทเศษ 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  7. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีสำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพไม่ถูกต้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  8. บริษัทยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  9. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบกรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,781,241 คน กรณีที่สองเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,369,083 คน

 

  • ปี 2560 จำนวนลูกจ้างที่มาขอรับความช่วยเหลือ 50 กรณี รวมสำนวนคดี 239 สำนวน
  1. เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆ 34 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 42 คน
  2. ขออำนาจศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  3. ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนสืบพยานใหม่ ในรายละเอียดเวลาทำงานและวันหยุด ของลูกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน
  4. ฟ้องบริษัทเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีการจ่ายเงินโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ  63 คน
  5. นายจ้างฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โยกย้ายงานไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน
  6. ขออำนาจศาลเลิกจ้าง เหตุหมิ่นประมาทนายจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  7. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างมาทำงานสาย 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  8. บริษัทไม่จ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม จำนวน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4 คน
  9. ลูกจ้างขอเป็นจำเลยร่วม ในกรณีที่บริษัทขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีสั่งให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2 คน กลับเข้าทำงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  10. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  11. นายจ้างไม่คืนเงินประกันและจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  12. บริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทและเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  13. บริษัทฎีกาคดีอาญาข้อหาลูกจ้างลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  14. เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  15. ฟ้องบริษัทเรื่องคำนวณวันลาผิดพลาดและส่งผลต่อการจ่ายโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  16. ฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เรียกเงินตามมาตรา 39 คืน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน

 

มีรายละเอียดเรียงตามลำดับจำนวนข้อหา 24 ข้อหา ดังนี้

  1. เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าอื่นๆ 40 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 51 คน
  2. เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 295 คน
  3. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 3 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3 คน
  4. บริษัทแจ้งความหมิ่นประมาทและเลิกจ้าง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  5. นายจ้างเลือกปฎิบัติต่อลูกจ้าง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 96 คน
  6. ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนสืบพยานใหม่ ในรายละเอียดเวลาทำงานและวันหยุด ของลูกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน
  7. ฟ้องบริษัทกรณีฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน
  8. ฟ้องบริษัทเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กรณีการจ่ายเงินโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ  63 คน
  9. ขออำนาจศาลลงโทษ เหตุกรรมการลูกจ้างมาทำงานสาย 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  10. ขออำนาจศาลเลิกจ้าง เหตุหมิ่นประมาทนายจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5 คน
  11. บริษัทไม่จ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทรับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม จำนวน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4 คน
  12. การนิคมอุตสาหกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีสหภาพแรงงานชุมนุมหน้าโรงงาน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  13. ลูกจ้างขอเป็นจำเลยร่วม ในกรณีที่บริษัทขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีสั่งให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 2 คน กลับเข้าทำงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 คน
  14. ถูกลงโทษทางวินัยไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  15. บริษัทฟ้องคดีศาลอาญาข้อหาลักน้ำมัน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  16. บริษัทยื่นคำร้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  17. บริษัทและอัยการฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ เรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาทเศษ 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  18. เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน  1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  19. ฟ้องบริษัทเรื่องคำนวณวันลาผิดพลาดและส่งผลต่อการจ่ายโบนัส 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  20. ฟ้องบริษัทเรื่องไม่คืนเงินประกันและจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่น 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  21. ฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  22. ฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เรียกเงินตามมาตรา 39 คืน 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  23. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีสำนักงานประกันสังคมวินิจฉัยกรณีทุพพลภาพไม่ถูกต้อง 1 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1 คน
  24. ลูกจ้างฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี รวมลูกจ้างได้รับผลกระทบกรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,781,241 คน กรณีที่สองเกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,369,083 คน

 

แม้ว่าโดยเจตนารมณ์สูงสุดของศาลแรงงาน คือ การยึดหลักให้นายจ้างลูกจ้างทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเป็นธรรม การพิจารณาคดีแรงงานจึงใช้ระบบไต่สวน โดยศาลจะเป็นผู้สืบเสาะหาข้อเท็จจริงเอง รวมทั้งสามารถเรียกบุคคลหรือเอกสารต่างๆเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพิพากษาไปตามรูปคดี โดยมีผู้พิพากษา 3 คนเป็นองค์คณะ ประกอบด้วยผู้พิพากษากลาง (เจ้าของสำนวน) ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง เน้นใช้ระบบไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้ตลอดระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

 

อย่างไรก็ตามกลับพบปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องมีการปฏิรูปต่อไป รวม 10 ประการ ได้แก่

 

1. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยุ่งยาก มีหลายขั้นตอนในทางคดี ซึ่งแต่ละขั้นตอนทางศาลแรงงานล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และนายจ้างมักใช้ข้อเสียเปรียบนี้มาต่อรองกับลูกจ้าง

 

2. ผู้พิพากษามาจากกระบวนการยุติธรรมปกติ จึงไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงาน และนำเอาทัศนคติหรือวิธีการปฏิบัติแบบเดิมที่เชื่อว่าลูกจ้างและนายจ้างมีสถานะเท่ากันในการพิจารณาทางคดี ศาลมีหน้าที่รับฟังผ่านข้อมูลต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะหาข้อมูลได้มากกว่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงก็พบชัดเจนว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาได้เท่าเทียมกันโดยพื้นฐานอยู่แล้ว มีลูกจ้างจำนวนมากไม่สามารถจ้างทนายความได้ หรือว่าไม่อาจนำสืบพยานหลักฐานที่สมบูรณ์ให้สามารถได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนต่อสู้คดีได้เต็มที่

ทั้งที่เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มีที่มาจากการที่คดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และอื่นๆ ดังนั้นทำอย่างไรที่จะให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นผู้พิพากษาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความเข้าใจในเรื่องแรงงาน กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นสำคัญ

 

3. ผู้พิพากษา 3 คนที่เป็นองค์คณะ มีสถานะไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั้นพบว่า บางคนยังไม่สามารถเป็นตัวแทนลูกจ้างที่สามารถรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างได้จริง และยังขาดความรู้ทางกฎหมายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง

 

4. แนวโน้มของการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้น บางครั้งขัดแย้งกับสิทธิแรงงาน ไม่คำนึงเรื่องข้อเท็จจริง เช่น ค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับจากการถูกเลิกจ้าง เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในศาลแรงงาน จำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจต่อปัญหาแรงงาน  ไม่มีความเป็นมืออาชีพ การไกล่เกลี่ยจึงเป็นไปในลักษณะให้คดีจบโดยไว และเป็นไปในลักษณะคดีแพ่งหรือเรื่องระหว่างบุคคลเท่านั้น ขาดการมองในเชิงความมั่นคงและศักดิ์ศรีของมนุษย์

 

5. ศาลมักจะให้มีการประนีประนอมยอมความซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้าง เพื่อลดจำนวนคดีที่จะต้องพิจารณา มีคำตอบชัดเจนตั้งแต่ในชั้นไกล่เกลี่ยว่าควรจะดำเนินไปในทิศทางใดเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ทำให้ในบางกรณีเมื่อลูกจ้างไม่แม่นข้อกฎหมาย จึงเลือกที่จะยอมความให้คดีจบไป ขณะเดียวกันมีจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างก็มักจะเสนอเงินชดเชยจำนวนมากเพื่อเลี่ยงการรับกลับเข้าทำงานแทน (ส่วนใหญ่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่มีบทบาท) และศาลก็มักจะดำเนินตามขนบดังกล่าวนี้ มากกว่าเน้นเรื่องการปรับทัศนคติให้อยู่ร่วมกันได้ดี กลับมองในเรื่องการอยู่ด้วยกันไม่ได้และลูกจ้างได้ค่าชดเชยและค่าเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพียงพอแล้ว

 

6. คำพิพากษาศาลฎีกามีแนวโน้มที่จะนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับคดีแรงงานอย่างเคร่งครัด แทนที่จะนำมาใช้โดยอนุโลม ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานไม่แตกต่างจากการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเท่าใดนัก นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาทแรงงานก่อนคดีสู่ศาลยังมีน้อย ทำให้ศาลแรงงานต้องพิจารณาพิพากษาคดีมากเกินไป และส่งผลโดยตรงต่อความรวดเร็วแห่งคดี

 

7. คดีแรงงานมีความล่าช้ามาก ในศาลแรงงานภาคบางแห่งเลื่อนคดีแต่ละครั้ง ราว 3 เดือน หรือในช่วงที่โยกกย้ายผู้พิพากษา กว่าจะมีผู้พิพากษาใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ก็ใช้ระยะเวลาหลายเดือน ผู้พิพากษาที่เหลืออยู่น้อยจึงต้องทำงานหนักมากหรือไม่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คดีล่าช้า

 

8. คดีแรงงานที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ฎีกา กำหนดว่าการฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทําได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา​​ ยิ่งทำให้เป็นข้อจำกัดของลูกจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มากยิ่งขึ้น แม้มีศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปริมาณคดีแรงงานที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและยังเป็นการเพิ่มศาลอุทธรณ์อีกชั้นหนึ่ง ต่างจากหลักการและเจตนารมณ์เดิมของการจัดตั้งศาลแรงงาน

 

9. มีการอ้างหรือใช้ประเด็นทางอาญาเพื่อต่อรองในเรื่องทางแรงงานกับผู้นำแรงงาน ทำให้เป็นภาระแก่ลูกจ้างอย่างมากในการต่อสู้คดี และไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการประกันตัว เช่น นายจ้างเสนอว่าถ้าไม่ลาออกจะดำเนินคดีอาญา หรือถ้ายอมลาออกจะถอนแจ้งความหรือถอนฟ้องคดีอาญา

 

10. ในความเป็นจริงศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ อีกทั้งผู้พิพากษาก็สามารถสั่งให้มีผลผูกพันกับคู่ความได้ ทั้งนี้มีคำพิพากษาฎีกา 9139/2553 วางบรรทัดฐานไว้ว่า “ศาลแรงงานมีคำสั่งหรือพิพากษาเกินคำขอได้ หากเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ” ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้" แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาจะพิพากษาตามคำร้องหรือคำฟ้องที่ลูกจ้างเป็นผู้ฟ้องมา ซึ่งในหลายกรณีพบว่ามีลูกจ้างจำนวนมากที่ไม่รู้ประเด็นทางกฎหมายว่ามีสิทธิฟ้องร้องว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง จึงทำให้สิทธิที่ควรจะรับตกหล่นไป

 

ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดพื้นที่หนึ่งของผู้ไร้อำนาจให้สามารถเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานเพื่อปลดล็อคปัญหาที่กล่าวมาทั้ง 10 ประการ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว การทำหน้าที่ของศาลไม่ใช่แค่การพิพากษาตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ตัวคำพิพากษาของศาลเองก็เป็นกฎหมายในตัวมันเอง ที่วางบรรทัดฐานแนวปฏิบัติให้ปฏิบัติต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า  “Judges make law”



12/Dec/2017

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา