ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ยอดฟรีแลนซ์พุ่ง หนึ่งตัวชี้วัด ปัญหาแรงงานไทย?

แวดวงแรงงานไทย ยังไม่หลุดพ้นจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้หลายคนมองเห็น "โอกาส" จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะมีลู่ทางในการหารายได้ที่มากขึ้น นอกจาก 8 วิชาชีพเสรี อย่างวิศวกรรม, การสำรวจ, สถาปัตยกรรม, แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, บัญชี และการบริการ/การท่องเที่ยว แล้วชนชั้นกรรมาชีพหรือแรงงาน ก็อาจคว้าโอกาสนั้นได้เช่นกัน

จากการวิเคราะห์ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศสมาชิกอาเซียนของ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พบว่า บรูไนมีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละประมาณ 1,835 บาท สิงคโปร์ 853 บาท ขณะที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยเท่ากันคือ 300 บาท ส่วนเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยน้อยกว่า 100 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ การจะย้ายถิ่นฐานเพื่อค้าแรงงานในต่างแดน ดูจะต้องอาศัยความพร้อมในหลายด้าน ที่สำคัญ เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าแวดวงแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร

จะดีอย่างที่คิด หรือแย่จนนึกไม่ถึง ไม่อาจรู้ได้

จากปัญหาเรื่องแรงงานของบ้านเรานี่เอง ไทยพีบีเอส และ AfterShake จึงชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการแรงงาน มาร่วมพูดคุยในวงเสวนา #แรงงานหนักมาก #ฟรีแลนซ์ก็เช่นกัน : จากขบวนการแรงงาน จนถึงการเติบใหญ่ของเจนวาย เพื่อถกเถียงถึงปัญหาแรงงานไทย ว่าอยู่ที่ใด และเพื่อร่วมหาทางออกที่เหมาะกับบ้านเรา


จำนวน "ฟรีแลนซ์" พุ่ง
แต่หลายคนยังโหยหาความมั่นคง


วิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ให้คำตอบว่า แรงงานหมายถึงทุกคนที่ทำงาน ทั้งไพร่, กุลี, กรรมกร, พนักงาน ผู้ทำงานเพื่อผลตอบแทน ค่าจ้าง หรือรายได้

แรงงานที่ด้อยสิทธิหรือไม่ค่อยได้รับความคุ้มครอง คือ "แรงงานนอกระบบ" ซึ่ง "ฟรีแลนซ์" นับเป็นแรงงานนอกระบบเช่นกัน ต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีระบบรักษาพยาบาล ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง รายได้ไม่แน่นอน อาจต้องทำงานหนักกว่าคนในโรงงาน และยังต้องเสียค่าน้ำค่าไฟเองจากการนั่งทำงานที่บ้าน

วิชัยบอกว่า แรงงานในอดีตต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิต่างๆ มากมาย เช่น สิทธิการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่เมื่อมองบ้านเรา ทุกโรงงานต้องมีค่าล่วงเวลาหรือโอที ที่กลายเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง โรงงานไหนไม่มีโอที คนงานต้องไปหาที่ทำงานใหม่ที่มีโอที ตรงนี้สะท้อนว่าค่าจ้างหรือสวัสดิการต่างๆ มันต่ำกว่าเกณฑ์มาก จนต้องละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ตัวเองเคยต่อสู้เรียกร้องมายาวนาน เป็นคำตอบได้ว่าทำไมแรงงานยังเดินขบวนอยู่ทุกปี ไม่ไปสู่สภาพที่มีความมั่นคงในการทำงาน ทั้งนี้ หากเขามีทางเลือกที่ดีกว่าก็อยากออกไปทำงานอิสระ ขณะที่หลายบริษัทมีสวัสดิการดี ระบบดูแล ระบบจ้างงานตลอดชีพ คนงานก็จงรักภักดีกับองค์กร

"ปัจจุบัน นวัตกรรมด้านทุนออกแบบให้การจ้างงานมีความสลับซับซ้อนเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องแรงงาน ทำให้คนรุ่นใหม่เจอปรากฏการณ์ที่ต้องยอมทำงานหนัก ทำล่วงเวลา บางคนมีช่องทางดีกว่า การศึกษาสูงกว่าก็ไปเป็นฟรีแลนซ์ แต่มีฟรีแลนซ์ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ประสบความสำเร็จ เขาไม่มีนายจ้างก็จริง แต่มีระบบที่เราต้องทำงานเยอะๆ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ไม่ได้

"เราเห็นว่ามีฟรีแลนซ์เต็มไปหมด แต่สถิติจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น คนพยายามเข้าสู่ระบบ หาความมั่นคง เพราะการเป็นฟรีแลนซ์เดือนหนึ่งอาจไม่มีรายได้ ต้องมีคนอุดหนุน ครอบครัวต้องมีคนที่ทำงานประจำ"

เราอาจต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานคุ้มครองให้เกิดความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีมาตรฐานเสมอกัน รัฐไทยไม่มีเงินดูแลเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถ้าประเทศเราเป็นอย่างนี้ เราจะก้าวเป็นสิงคโปร์ที่ใฝ่ฝันไม่ได้


′แรงงานอ่อนแอ′
ผลจากการเติบโตแบบก้าวกระโดด


"จำได้ไหม ว่าเราเคยอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) จะแข่งกับเกาหลี ไต้หวัน แต่ตอนนี้เราต้องหนีลาว หนีกัมพูชาให้ได้" วันชัยกล่าว

ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 1 เกิดปรากฏการณ์ที่คนชนบทอยากเข้ามาทำงานในเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่าเมืองมีงานทำเยอะกว่า ให้ชีวิตที่ดีกว่าอยู่บ้านนอกซึ่งรัฐไม่เหลียวแลภาคเกษตรกรรม ผมคิดว่ามันเป็นระบบทุนที่พยายามลดคุณค่าของคน แรงงานที่เข้ามาในเมืองจะด้อยค่าลงเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้รับ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นระบบ ทำให้ในอดีต อาชีพรับราชการคืออันดับ 1 แม้เงินเดือนไม่สูงมากแต่จ้างตลอดชีพ มีความมั่นคง สามารถวางแผนชีวิตได้ตลอดอายุขัย

"เคยไปดูงานที่เยอรมนี เขาทำงานกันวันละ 6 ชั่วโมงแต่เป็น 6 ชั่วโมงที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่เราทำงานวันละ 16-18 ชั่วโมง เหมือนเป็นการแย่งงานคนอื่น แทนที่ตำแหน่งงานจะขยายออกไป กลายเป็นว่าต้องกระจุกอยู่ที่คนคนเดียว ระบบแบบนี้ทำให้คนด้อย ไม่เข้มแข็ง เมื่อคนในประเทศไม่เข้มแข็ง แล้วประเทศชาติจะเข้มแข็ง เป็นไปไม่ได้"

วิชัย เล่าถึงเหตุการณ์ที่พบ ซึ่งสะท้อนสภาพของแรงงานไทยว่า

"คนงานแถวอ้อมน้อยวัยใกล้เกษียณ ได้ค่าแรง 320 กว่าบาทต่อวัน ถ้าทุกคนได้รับค่าแรงแบบนี้ ทุกคนคงจินตนาการได้ว่าเขามีความเป็นอยู่อย่างไร อีกด้านหนึ่งคือแรงงานในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมักต้องทำงานนอกเหนือจากที่ระบุในสัญญาจ้าง 2 กรณีนี้สะท้อนระบบ 2 อย่าง รายแรกเป็นแรงงานในระบบ มีกฎหมาย สามารถเรียกร้องสิทธิได้ แม้อำนาจการต่อรองน้อยแต่ยังมีสวัสดิการ บ้านฟรี อาหารราคาถูก ส่วนน้องที่ร้านสะดวกซื้อเป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบ ซึ่งกฎหมายไม่เปิดให้มีการต่อรอง ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการดีๆ ก็ไม่เกิดขึ้น

การขับเคลื่อนนั้นต้องใช้พลังทางสังคม ระยะใกล้ต้องมีนักศึกษาร่วมด้วย ส่วนระยะไกลกว่านั้นสื่อต้องนำเสนอเพื่อให้เกิดฉันทามติในสังคม ถ้าสื่อไม่นำเสนอก็ยากที่จะทำให้สังคมร้อยรัดเป็นก้อนได้


′สหภาพแรงงาน′
หนทางสู่ทางออก


ระบบเศรษฐกิจหรือวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อแรงงานทุกระบบอย่างเลี่ยงไม่ได้

จะเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะมีแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง เป็นเหตุการณ์ซึ่งกินพื้นที่ข่าวเสมอ หนำซ้ำกฎหมายที่คุ้มครองก็ไม่มีความหมาย เพราะกระบวนการการต่อสู้ทางกฎหมายทำให้คนด้อยโอกาสทางแรงงานสู้ไม่ได้ ต้องใช้เวลานาน ซึ่งการขาดงานสำหรับแรงงานเพื่อมาต่อสู้ทางกฎหมาย เท่ากับเขาขาดค่าแรง ซึ่งขาดค่าแรงสัก 7 วันก็เรื่องใหญ่แล้ว

"นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องรู้มากๆ ว่าในที่สุดแล้ว สังคมอุตสาหกรรมที่เข้มข้นต้องมีการยกระดับ" วิชัยย้ำ

เมื่อเราบอกว่าแรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ กำลังแรงงานของประเทศทั้งในและนอกระบบรวมกัน 40 ล้านคน แต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานกลับเป็นเรื่องยาก เพราะทัศนคติของคนที่มีต่อสหภาพแรงงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มองแรงงานเป็นผู้เดินขบวน ผู้เรียกร้อง โดยไม่มองว่าหลายอย่างที่เราได้รับในปัจจุบันมาจากการเรียกร้องของแรงงาน ทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายลาคลอด กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งล้วนผ่านการต่อสู้ของกลุ่มคนที่เรียกว่าสหภาพแรงงาน

ส่วนการรวมกลุ่มที่ใหญ่กว่าคือการต่อรองทางการเมือง ที่จะเปิดโอกาสให้คนหลากหลายอาชีพมารวมตัวกัน มีลักษณะเหมือนพรรคแรงงานในอังกฤษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานเสมอไป อย่างในเยอรมนี องค์กรแรงงานก็ไม่ใช่พรรคการเมือง สิ่งสำคัญคือต้องมีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้ และคนที่มีคะแนนเสียงต้องคิดว่านโยบายของพรรคมีเรื่องแรงงาน ที่ครอบคลุมทุกระบบได้หมด

"รัฐบาลที่ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน เขาก็ไม่ได้ขึ้นในเชิงโครงสร้างที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้ทำตามโครงสร้างค่าจ้าง ไม่ใช่ว่าอายุ 60 แล้วยังได้ค่าจ้างวันละ 320 บาท แต่ต้องได้มากกว่านี้เพราะทำงานมา 40-50 ปี การขึ้นค่าแรงจึงกลายเป็นประเด็นที่เอาชนะกันทางการเมือง มากกว่านำประเด็นทางการเมืองมาเป็นนโยบายดูแลชีวิตคน

"เสนอให้รวมกลุ่มกัน ไม่อย่างนั้นจะเป็นสหภาพแรงงานไม่ได้" ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย บอก

ช่วงนี้มีกระแสคนออกไปภาคเกษตรมากขึ้น ดารานักแสดงก็มีธุรกิจเป็นของตัวเอง เช่น ตุ๊ก-ชนกวนันท์ รักชีพ หรือพระเอกปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ ที่ปลูกข้าว-ทำนาเป็นอาชีพเสริม

วิชัย ทิ้งท้ายว่า ภาคเกษตรยังเป็นหลังพิงที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย แต่คนจะกลับไปยาก และมีความเป็นไปได้ว่ามีความพยายามสร้างคนในภาคเกษตรไม่ให้เป็นเกษตรกร อย่างเกษตรพันธสัญญา ที่ชาวบ้านเป็นอะไรไม่รู้ ลูกจ้างก็ไม่ใช่ ร้ายได้หลักประกันก็ไม่แน่นอน ไม่นับเมล็ดพันธุ์ที่ต้องขึ้นกับบริษัทต่างๆ

นี่สะท้อนว่า 1) การพัฒนาของเราต้องสมดุลระหว่างคนลงทุน กับคนลงแรง 2) การพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะอุตสาหกรรมตะวันตกนั้นไม่แน่นอน

"ที่แน่นอนคือข้าวปลาที่ทุกคนต้องกิน ซึ่งเราทอดทิ้งมานาน ไม่พัฒนาเลย" วิชัยย้ำ

 

มติชน วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558 โดย กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์

 

 



 


 



27/Aug/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา