ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) กลไกใหม่ในการเรียกร้องค่าเสียหาย

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2558 ได้บัญญัติเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ไว้ทั้งสิ้น 49 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 222/1 ถึงมาตรา 222/49 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2558

 

โดยการร่างกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มของประเทศไทยได้ยกร่างโดยนำหลักการส่วนใหญ่มาจากกฎข้อ 23 ของกฎสหพันธรัฐว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง (Rule 23 of Federal Rules of Civil Procedure) ของสหรัฐอเมริกา การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้นอกจากจะบังคับใช้ในสหรัฐแล้วยังบังคับใช้ในอีกหลายประเทศ กลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐที่ได้รับความเสียหายได้ใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่มฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ประกอบธุรกิจอยู่บ่อยครั้ง เช่น กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทยา บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ เป็นต้น



การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่บรรดาผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการกระทำเดียวกัน จึงมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น กรณีที่มีผู้เสียหายที่มีมูลเหตุในการฟ้องคดีร่วมกันเป็นจำนวนมาก การจะฟ้องคดีโดยผู้เสียหายทุกคนเป็นโจทก์ร่วมกันย่อมทำให้ไม่ได้รับความสะดวก หรือถ้าผู้เสียหายทุกคนต่างฟ้องคดีก็ย่อมก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทุกคน และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกันของคำพิพากษาด้วย



ในประเทศไทย การดำเนินคดีแบบกลุ่มตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมายความถึงการดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม โดยในคดีละเมิด คดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า



กลุ่มบุคคลที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลัก กฎหมายเดียวกัน คือมีข้อเท็จจริงร่วมกันที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องร่วมกันของกลุ่มบุคคล และมีสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เหมือนกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มบุคคลเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม สามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม พร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบ กลุ่มได้
 


โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี ตัวอย่างของกรณีที่สามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ เช่น กรณีรถก๊าซระเบิดทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน เป็นจำนวนมาก



หรือกรณีโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้เลี้ยงปลา ชาวสวน ผู้ใช้น้ำจากแม่น้ำได้รับความเสียหาย หรือกรณีที่น้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลสร้างความเสียหาย เป็นต้น



การที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะประกาศและส่งคำบอกกล่าวคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มทราบ โดยในประกาศและคำบอกกล่าวนี้จะแจ้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับคดี

 

สำหรับผลของคำพิพากษาศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคนแม้ว่าสมาชิกกลุ่มจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้สิทธิสมาชิกกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแบบกลุ่ม ที่จะแสดงความประสงค์ขอออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม (Opt-out) โดยการแจ้งความประสงค์ต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด และเนื่องจากสมาชิกกลุ่มไม่มีฐานะเป็นคู่ความเพราะไม่ได้เป็นโจทก์ในคดี จึงมีสิทธิจำกัดเพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดให้ไว้เท่านั้น



การดำเนินคดีแบบกลุ่มมีรูปแบบการดำเนินคดีที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ เช่น ในวันนัดพร้อมหรือวันชี้สองสถานได้กำหนดให้มีการนำหลักการเปิดเผยเอกสาร (Discovery of Document) และการสอบถามข้อเท็จจริง (Interrogatories) มาใช้ในกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐานและรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนวันสืบพยาน



หลังจากศาลมีคำพิพากษาในการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้โจทก์ชนะคดีแล้ว โจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์เท่านั้นที่จะมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด

 

โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีด้วยตนเอง และศาลต้องประกาศและส่งคำบอกกล่าวแจ้งคำพิพากษาให้อธิบดีกรมบังคับคดีและสมาชิกกลุ่มทราบ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ สมาชิกกลุ่มมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มคนอื่นได้



และสมาชิกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ของ เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยื่นคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาล ได้ และหากสมาชิกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลก็สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้



คู่ความในการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยไม่นำข้อจำกัดสิทธิเรื่องทุนทรัพย์ของการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับ

 

ส่วนสมาชิกกลุ่มเนื่องจากไม่ได้เป็นคู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่เป็นการอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลในเรื่องคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดี



เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวบรวมเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยเสร็จและหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว

 

กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนที่เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเป็นลำดับแรก จากนั้นจ่ายเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ แล้วจึงจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์เป็นลำดับถัดไป และจ่ายให้โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์ เป็นลำดับสุดท้าย
 


การฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม สมาชิกกลุ่มจึงต้องพิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่จะได้รับด้วย

 

เนื่องจากทนายความฝ่ายโจทก์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในคดี กฎหมายจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์ไว้เป็นการเฉพาะ และให้จำเลยเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์ (ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐที่สมาชิกกลุ่มจะเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลทนายความ)
 


โดยจำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ ซึ่งเรื่องเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์นี้ นักกฎหมายบางท่านมีความคิดเห็นว่า เป็นการยุยงส่งเสริมให้เป็นความกันและทำให้ทนายความได้รับประโยชน์แทนที่จะเป็นสมาชิกกลุ่ม



กฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีประโยชน์และข้อดีในหลายๆ ด้านดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งการจะให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มก่อเกิดประโยชน์จนบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในบทบัญญัติกฎหมาย และความเข้าใจและตระหนักในสิทธิและบทบาทหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา โจทก์ ทนายความฝ่ายโจทก์ และสมาชิกกลุ่มซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป



จึงจะทำให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มมีประสิทธิภาพและบรรลุประโยชน์ที่ตั้งไว้ได้

 

มติชน 3 ธันวาคม 2558 กระแสทรรศน์ โดย ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด



08/Dec/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา