ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การบูรณาการแรงงานต่างชาติ ในประเทศไทย

คอลัมน์ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

การบูรณาการหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Integration ไม่ได้หมายความแค่การปรับตัวของแรงงานต่างชาติเข้ากับสังคมของประเทศปลายทางเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการยอมรับของสังคมในประเทศปลายทางต่อการเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันกับเจ้าของประเทศด้วย กล่าวคือการบูรณาการเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนร่วม 2 ส่วน ส่วนหนึ่งได้แก่คนต่างชาติที่เข้ามาร่วมสังคมและอีกส่วนหนึ่งได้แก่ชุมชนที่รับคนต่างชาติเข้ามา

ในปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้แรงงานต่างชาติอย่างกว้างขวางสหประชาชาติรายงานว่า ในปี 2553 มีประชากรที่ไปอาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนประมาณ 213.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรโลก 7 พันล้านคน ในจำนวนประชากรที่ย้ายถิ่นนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศประมาณว่า 105 ล้านคนเป็นแรงงาน และการย้ายถิ่นมักมีปัญหาสังคมติดตามมาทำให้ประเด็นการบูรณาการแรงงานต่างชาติเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ในกรณีของประเทศไทยที่มีแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาพำนักอาศัยไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน นั้นปัญหาการบูรณาการแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามก็นับเป็นเรื่องใหญ่ในระดับโลก

ขณะนี้ผู้เขียนเองได้รับทุนวิจัยจากToyota Foundation International Grant ให้ศึกษาเรื่องนี้ของประเทศไทย (โดยเน้นที่แรงงานระดับล่างจากพม่า กัมพูชา และลาว) ร่วมกับสถาบัน Philippines Institute for Development Studies (PIDS) ของฟิลิปปินส์ และสถาบันวิจัย SMERU ของอินโดนีเซียซึ่งต่างคนก็รับผิดชอบวิจัยเรื่องประเทศตน แต่ทำร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดกัน

เรื่องอย่างนี้แสดงว่าต่างชาติเขาให้ความสำคัญการบูรณาการแรงงานต่างชาติมาก

การบูรณาการแรงงานต่างชาติประกอบด้วยประเด็นใด

สําหรับประเทศไทยซึ่งเป้าใหญ่อยู่ที่แรงงานระดับล่างจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านมีประเด็นที่สำคัญหลายด้าน ตั้งแต่คุณภาพชีวิตในชีวิตประจำวันของแรงงานต่างชาติ (รวมถึงที่พักอาศัย การเข้าได้กับชุมชน ตลอดจนปัญหาอาชญากรรม) การทำงาน สุขภาพและการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม การศึกษา สิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติ การเอาเปรียบและข่มเหงรังแก ตลอดจนความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ

ปัญหาต่างๆ ของแรงงานต่างชาติในประเทศไทยมีผู้ติดตามศึกษากันมานานแล้วทั้ง นักวิชาการ แพทย์ รัฐบาล องค์กรเอกชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ

เรื่องที่ได้ยินคุ้นหูในอดีตสำหรับแรงงานต่างชาติคือการได้รับค่าจ้างต่ำ ที่พักอาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การถูกจำกัดสิทธิ เช่น ยึดหนังสือเดินทาง การไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในบางจังหวัด การศึกษาของบุตร การถูกประทุษร้าย ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือการถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Migrant workers in Thailand : Inhospitality กล่าวถึงปัญหาหลายอย่างของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ตอนหนึ่งพูดถึงเจ้าหน้าที่ไทยว่า "แรงงานต้องถูกข่มขู่ ข่มขืน หรือแม้กระทั่งถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งควรจะเป็นผู้คุ้มครองเขา" The Economist อ้างองค์กร Human Right Watch บอกว่า "เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติเหมือนกับตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่"

นั่นอาจถือว่าเป็นเรื่องในอดีตแต่ปัจจุบันระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านได้พัฒนาไป ณ ระดับหนึ่ง ดังนั้น สถานการณ์ของแรงงานต่างชาติคงดีขึ้น

แต่การศึกษาของนักวิชาการชั้นนำอย่าง Jerry Huguet อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ และ Claudia Natali ของประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วนี้ (ตุลาคม 2555) ให้ข้อมูลว่ายังมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงงานดีๆ (decent work) สิทธิมนุษยชน และบริการด้านสุขภาพ

แรงงานต่างชาติจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มที่เข้ามาโดยถูกกฎหมาย (นำเข้าตามข้อตกลงเอ็มโอยู) หรือได้ผ่านกระบวนการฟอกตัวให้ถูกกฎหมายโดยวิธีพิสูจน์สัญชาติ สอง กลุ่มที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้ขึ้นทะเบียนโดยได้รับอนุญาตให้ทำงานได้เท่าที่รัฐบาลกำหนดและสาม กลุ่มที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ไม่เข้ารายงานตัวเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งกลุ่มหลังนี้ย่อมจะมีปัญหาในการบูรณาการมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางกฎหมายและใช้ชีวิตอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่ที่จริงจะเป็นอย่างที่ The Economist กล่าว คือการมีหนังสือเดินทางถูกต้องก็ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย (แล้ว) ให้พ้นมือเจ้าหน้าที่และนายจ้างชั่วๆ ได้ แรงงานต่างชาติถูกกฎหมายก็ยังไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ หรือรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานได้

นอกจากนั้นแล้ว การศึกษาของ Huguet อภิชาติ และ Natali ก็ยังบอกว่า ถึงแม้กรณีของแรงงานต่างชาติถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของไทย แต่ในทางปฏิบัติแรงงานต่างชาติก็มิได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ การรับค่าจ้างขั้นต่ำ การคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงานโดยการเข้าร่วมกองทุนทดแทน หรือการยึดเอกสารบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทาง การไม่อนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงาน การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพก็เช่นกัน รัฐบาลไทยยังมีปัญหาในการให้บริการด้านสุขภาพแก่แรงงานต่างชาติทั้งในแง่งบประมาณ การเข้าถึงบริการและคุณภาพในการให้บริการ

ผลงานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของผู้นำแรงงานไทยเช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน ซึ่งมีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ว่า มาตรการที่ออกมาใช้กับแรงงานต่างชาติเป็นมาตรการเพื่อการควบคุม มิใช่มาตรการเพื่อการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และว่า แม้การดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะแรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามมติรัฐมนตรีให้เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายได้เสร็จสิ้นมาตั้งแต่วันที่14 ธันวาคม 2555 ก็ยังมีแรงงานข้ามชาติอีกนับล้านคนที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว

ทั้งนี้ มีสาเหตุหลัก คือ แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารประจำตัวอะไรเลย รวมทั้งเอกสารที่แรงงานใช้ในการทำงานและนายจ้างที่จ้างงานอยู่จริงไม่ตรงกัน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ และต้องกลายเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในอนาคต ซึ่งกระทรวงแรงงานยังไม่มีมาตรการในการแก้ไขข้อจำกัดของแรงงานกลุ่มนี้

ขณะนี้ ถ้าไปดูตัวเลขแรงงานต่างชาติจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน (จากรายงานสถิติของกระทรวงแรงงาน) จะเห็นว่าในเดือนมกราคม พ.ศ.2555 เรายังมีแรงงานต่างชาติประเภทขึ้นทะเบียนอยู่ถึง 1.25 ล้านคน ขณะที่มีแรงงานต่างชาติประเภทเอ็มโอยู (พิสูจน์สัญชาติและนำเข้า) ประมาณ 6 แสนคน มาปลายปี (ธันวาคม 2555) แรงงานขึ้นทะเบียนเหลือ 167,881 คน หายไปกว่า 1 ล้านคน ในขณะที่แรงงานเอ็มโอยูเพิ่มเพียง 3 แสนคน หายไป 7 แสนคน อยากรู้จังว่าไปไหน ระหว่างถูกส่งกลับ กลับลงใต้ดิน หรือรอกระบวนการนำเข้าสู่ระบบต่อไป แต่น่าจะมีตัวเลขออกมาชัดๆ ผู้เขียนคิดว่าจะไปกราบเรียนถามเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานดู

ที่ห่วงตรงนี้มากคือกระบวนการบูรณาการแรงงานต่างชาติอาจจะต้องนับหนึ่งใหม่และประเทศจะเสียโอกาสไปมหาศาล


ที่มา : นสพ.มติชน 13 ธันวาคม 2556



16/Dec/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา