ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

"ศาลรัฐธรรมนูญ" แถลงผลงานรอบ 1 ปี เผยพอใจผลงานพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็ว

วันที่ 24 ธ.ค. 2556 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงผลงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ในรอบปี 2556 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ และแผนยุทธศาสตร์ตามวิสัยทัศน์ที่ว่าศาลรัฐรัฐธรรมนูญ ได้ยึดถือหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยในรอบปี 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องทั้งสิ้น 113 คำร้อง ซึ่งเป็นการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง วันที่ 18 ธ.ค. โดยมีคำร้องค้างพิจารณายกมาจากปี 2555 จำนวน 14 คำร้อง คำร้องที่รับไว้พิจารณาในปี 2556 มีจำนวน 99 คำร้อง และคำร้องค้างพิจารณาที่จะยกไปดำเนินการในปี 2557 มี 39 คำร้อง ส่วนคำร้องที่พิจารณาแล้วเสร็จมีจำนวน 74 คำร้อง
 
 
โดยมีคำร้องสำคัญๆ อย่างเช่น การพิจารณาวินิจฉัยคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของที่มาของ ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับ ส.ส.และส.ว. 312 คน ซึ่งมีอยู่ 3 คำร้อง โดยศาลได้พิจารณาในคราวเดียวกัน โดยศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งการจัดทำและเนื้อหา อีกทั้งยังมีการพิจารณากรณีร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่เกี่ยวกับงบประมาณของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงการพิจารณาสถานภาพการเป็นรัฐมนตรี ของนายวราเทพ รัตนากร รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1 คำร้อง ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าไม่สิ้นสภาพ
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญยังมีการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคชีวิตที่ดีกว่าและพรรคพลังแผ่นดินหรือพรรคพลังอาสามาตุภูมิ โดยมีคำสั่งให้ยุบ 2 พรรค ส่วนคำร้องอื่นที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ที่เป็นการยื่นตรงจากประชาชน 21 คำร้อง ศาลไม่สามารถรับไว้พิจารณาไว้ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และคำร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 190 และกรณีให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
 
 
ความคืบหน้าคำร้องในพิจารณาคำร้องว่าร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ขณะนี้ศาลก็ได้เร่งกระบวนการพิจารณาคำร้องอยู่ เพราะกรณีนี้มีความซับซ้อน ศาลจึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่อยู่ในขั้นที่เพียงพอต่อการพิจารณา ส่วนคำร้องที่เกี่ยวกับการพิจารณาสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงหรือไม่นั้น  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับการดำเนินงานของศาลอื่นด้วย โดยศาลเองก็ต้องรอข้อมูล ข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ส่วนการยุบสภาแล้ว นายอภิสิทธิ์ก็พ้นจากการเป็น ส.ส. แล้ว ศาลสามารถจำหน่ายคดีได้ออกหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา 
 
 
เมื่อถามว่าในคำร้องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญต้องรอให้มีคำวินิจฉัยของศาลปกครองออก มาใช่หรือไม่ นายเชาวนะ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องรอกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐาน อย่างอื่น เพื่อมาประกอบการพิจารณา เพราะเป็นคดีที่ซับซ้อน และมีคาบเกี่ยวกับศาลอื่นด้วย ส่วนคำวินิจของศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาขัดแย้งกันหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ก็ต้องรอดูว่าจากนี้ไปจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ไม่ขอไปเร่งการทำงานของศาลปกครอง เพราะในทางปฏิบัติศาลจะไม่มีการไปก้าวล่วงอำนาจกัน
 
 
เมื่อถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่ของ ส.ว. จนมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องดัง กล่าวไว้พิจารณา นายเชาวนะ กล่าวว่า ศาลเองก็มีหลักในการพิจารณา คือความยุติธรรม ความเป็นกลาง ยึดหลักรัฐธรรมนูญ ยึดหลักนิติธรรม ซึ่งความเห็นที่เหมือนหรือต่างนั้น ศาลก็เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นที่เหมือนหรือต่างจากศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผลกระทบต่อ การวินิจฉัยของศาลแต่อย่างใด เพราะศาลรักษาระเบียบแบบแผนกฎหมายของรัฐธรรมนูญไว้เป็นสำคัญ
 
 
เมื่อถามว่าจากที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักจะถูกโยงเป็นคู่กรณีการขัดแย้งทางการเมือง โดยภายในปี 2557 นั้น ศาลจะมีนโนบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ นายเชาวนะ กล่าวว่า ศาลเองเป็นองค์กรเยียวยาปัญหาข้อพิพาทในคดีซึ่งมีทั้งคดีที่เกี่ยวกับการ เมืองหรือไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ในการทำหน้าที่ของศาลก็ยึดหลักการดำรงนิติธรรม โดยรักษาเป้าหมายของความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนผลการพิจารณาของศาลจะออกมาในรูปแบบไหน มีผลต่อการเมืองอย่างไรนั้น ศาลคงไม่ไปคาดหมายหรือมีความเกี่ยวข้องในเป้าหมายทางการเมือง เพราะ ศาลมีส่วนในการกำหนดกรอบด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญ และยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการพิจารณา
 
 
"ตลอดการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญก็มีความพอใจในการดำเนินคดี เพราะศาลได้เร่งรัดให้มีความรวดเร็ว และคดีที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบการบริหารราชการแผ่นดินในด้านต่างๆ ศาลก็สามารถทำได้ในเวลาที่ทัน และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องแก้ไขเยียวยา ส่วนเรื่องของอุปสรรคในการทำงาน ศาลเองไม่มีการพูดการหยิบยกปัญหาอุปสรรคมาพูดกัน แต่กรณีของคดีที่มีความสำคัญ มีความซับซ้อนนั้น กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงก็ต้งใช้เวลา เป็นไปตามเหตุผลในการพิจารณา เพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม" นายเชาวนะกล่าว
 
ข่าวสด 24 ธันวาคม 2556


27/Dec/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา