ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ข้อบังคับประธานศาลฎีกาวิธีดําเนินคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559

ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๖๔ ก ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๙

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๗ วรรคสอง มาตรา ๙ วรรคสอง มาตรา ๒๗ วรรคสอง มาตรา ๔๕ วรรคสอง (๘) และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๙

 

ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดําเนินคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๙”

 

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

 

“องค์คณะผู้พิพากษา” หมายความว่า องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคําร้องตามมาตรา ๔๔

 

ข้อ ๔ ในกรณีมีความจําเป็นต้องมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กําหนดวิธีการนั้น

 

ข้อ ๕ ให้ประธานศาลฎีการักษาการและมีอํานาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติรวมทั้งออกระเบียบ ประกาศ คําสั่ง หรือคําแนะนําเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้

 

หมวด ๑ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่ต้องมีการปกปิด

 

ข้อ ๖ ให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลก่อนวันตรวจพยานหลักฐานหรือวันสืบพยานในกรณีไม่มีการตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

 

หากคู่ความฝ่ายใดเห็นว่ามีความจําเป็นต้องปกปิดชื่อและที่อยู่ของบุคคลหรือข้อมูลอย่างอื่นที่อาจระบุตัวบุคคลได้ซึ่งปรากฏอยู่ในพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่ส่งศาลเพื่อความปลอดภัยของบุคคล ให้แถลงให้ศาลทราบกับให้จัดทําสําเนาหรือภาพถ่ายพยานหลักฐานนั้นโดยปิดหรือลบชื่อและที่อยู่หรือข้อมูลใดที่อาจระบุตัวบุคคลนั้นได้ แต่หากการปิดหรือลบชื่อและที่อยู่หรือข้อมูลอย่างอื่นนั้นไม่อาจกระทําได้ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานทําบันทึกสรุปเรื่องเกี่ยวกับพยานหลักฐานรวมไว้กับพยานหลักฐานอื่นที่ส่งศาล และให้นําพยานหลักฐานที่ต้องการปกปิดใส่ซองหรือบรรจุภัณฑ์ปิดผนึกประทับตรา “ลับ” ยื่นต่อศาล

 

ข้อ ๗ ในกรณีที่คู่ความประสงค์จะขอตรวจหรือคัดสําเนาพยานหลักฐานตามข้อ ๖ ให้คู่ความยื่นคําร้องต่อศาล หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่คู่ความขอตรวจหรือคัดสําเนาเป็นพยานหลักฐานที่คู่ความอีกฝ่ายต้องการปกปิด ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความฝ่ายนั้นตรวจหรือคัดสําเนาพยานหลักฐานที่ได้มีการปิดหรือลบชื่อและที่อยู่หรือข้อมูลใดที่อาจระบุตัวบุคคลหรือบันทึกสรุปเรื่อง แล้วแต่กรณี

หมวด ๒ การดําเนินกระบวนพิจารณาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ

 

ข้อ ๘ การสืบพยานก่อนฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดีในกรณีที่ศาลอนุญาตให้พยานเบิกความที่ศาลอื่นหรือสถานที่ทําการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่น โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ให้นําข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสืบพยานในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ. ๒๕๕๖ มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้

 

ข้อ ๙ ในกรณีที่พยานมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และสถานที่ที่จะให้พยานเบิกความในลักษณะการประชุมทางจอภาพเป็นศาลในต่างประเทศ หรือสถานที่ของหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศ หรือสถานที่ขององค์กรระหว่างประเทศ ให้ดําเนินการตามความตกลงระหว่างกัน ถ้าไม่มีความตกลงเช่นว่านั้นให้สํานักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ติดต่อประสานงานตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ

 

ในกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งหากเนิ่นช้าไปจะทําให้พยานบุคคลดังกล่าวยากแก่การนํามาสืบหรือสูญหาย ให้สํานักงานศาลยุติธรรมติดต่อประสานงานกับศาลในต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศได้โดยตรง

 

ในกรณีศาลในต่างประเทศต้องการสืบพยานบุคคลในลักษณะการประชุมทางจอภาพในศาลใด ถ้าไม่มีความตกลงใดกําหนดวิธีการไว้ ให้สํานักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับศาลนั้น ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ

 

ข้อ ๑๐ การติดต่อหรือส่งเอกสารระหว่างศาลหรือสถานที่ที่ใช้ในการพิจารณาคดีในลักษณะการประชุมทางจอภาพ อาจดําเนินการทางไปรษณีย์ตอบรบั โทรสาร หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดก็ได้

 

หมวด ๓ ฎีกา

 

ข้อ ๑๑ คําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาต้องแสดงถึง

 

(๑) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง และ

 

(๒) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสําคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๕ หรือในข้อบังคับนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย

 

กรณีตามมาตรา ๔๕ วรรคสี่ คําร้องเพียงแสดงว่าอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย

 

ข้อ ๑๒ กรณีที่กฎหมายกําหนดให้ผู้ฎีกาต้องชําระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา ผู้ฎีกาต้องยื่นคําร้องพร้อมกับคําฟ้องฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและต้องนําเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคําพิพากษาหรือคําสั่งมาวางศาลพร้อมกับคําฟ้องฎีกานั้นด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม ถ้าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคําร้องพร้อมสํานวนความไปยังศาลฎีกา กรณีเช่นว่านี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษามีคําสั่งไม่รับคําร้องและไม่รับฎีกาโดยสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหากมี ให้แก่ผู้ฎีกา

ข้อ ๑๓ ให้ศาลชั้นต้นมีอํานาจตรวจคําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาและคําฟ้องฎีกาและมีคําสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๐ หากผู้ฎีกาไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคําร้องและคําฟ้องฎีกาดังกล่าวพร้อมสํานวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป

 

กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคําสั่งของศาลชั้นต้นถูกต้อง ให้มีคําสั่งไม่รับคําร้องและไม่รับฎีกา หรือถ้าไม่มีคําร้องก็ให้สั่งไม่รับฎีกาและสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมด หากมี ให้แก่ผู้ร้อง

 

ข้อ ๑๔ ในกรณีมีการขอขยายระยะเวลาใด ๆ เช่น การยื่นคําร้องหรือคําฟ้องฎีกา หรือการชําระหรือวางเงินค่าธรรมเนียมตามข้อ ๑๒ หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ขยาย ให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร มิฉะนั้นให้รีบส่งคําร้องขอขยายระยะเวลาพร้อมสํานวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป

 

ข้อ ๑๕ เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคําร้องและคําฟ้องฎีกาตามข้อ ๑๑ แล้ว ให้รีบส่งสําเนาคําร้องและคําฟ้องฎีกานั้นให้คู่ความอีกฝ่ายแล้วส่งคําร้องพร้อมคําฟ้องฎีกาและสํานวนความไปยังศาลฎีกาโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ ไม่จําต้องรอคําคัดค้านของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ในกรณีที่คู่ความอีกฝ่ายได้ยื่นคําร้องและคําฟ้องฎีกาด้วยให้ศาลชั้นต้นดําเนินการเกี่ยวกับคําร้องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วจึงส่งคําร้องและคําฟ้องฎีกาของคู่ความทุกฝ่ายไปยังศาลฎีกาในคราวเดียวกันถ้ามีการยื่นคําคัดค้านภายหลังที่ได้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ก็ให้ส่งคําคัดค้านนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

 

ข้อ ๑๖ การขอแก้ไขคําร้องหรือคําฟ้องฎีกาให้กระทําได้ภายในกําหนดระยะเวลาตามมาตรา ๔๓ หรือตามที่ศาลมีคําสั่งให้ขยายออกไป

 

ข้อ ๑๗ การพิจารณาคําร้องตามมาตรา ๔๔ องค์คณะผู้พิพากษาพึงพิจารณาวินิจฉัยและมีคําสั่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับสํานวนหรือตามระเบียบของประธานศาลฎีกา

 

ข้อ ๑๘ ปัญหาสําคัญอื่นตามมาตรา ๔๕ วรรคสอง (๘) ได้แก่ กรณีดังต่อไปนี้

 

(๑) คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์มีความเห็นแย้งในสาระสําคัญ

(๒) คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสําคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย

(๓) คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์กําหนดให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามมาตรา ๑๔ สูงเกินส่วน

(๔) ปัญหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

ข้อ ๑๙ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า ปัญหาตามคําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาทั้งหมดหรือบางข้อเป็นปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคําสั่งอนุญาตให้ฎีกาและสั่งรับฎีกาทั้งหมดหรือบางข้อไว้พิจารณาแล้วส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านคําสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง

 

จําเลยฎีกาอาจยื่นคําแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคําสั่ง และภายในกําหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จําเลยฎีกายื่นคําแก้ฎีกาหรือนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดไว้สําหรับการยื่นคําแก้ฎีกาได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคําแก้ฎีกาไปยังศาลฎีกาหรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคําแก้ฎีกา เมื่อศาลฎีกาได้รับคําแก้ฎีกาหรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นําคดีลงสารบบความโดยพลันการขอขยายระยะเวลายื่นคําแก้ฎีกาให้นําความในข้อ ๑๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ข้อ ๒๐ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า คําร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อ ๑๑ หรือปัญหาตามคําร้องทั้งหมดมิใช่ปัญหาสําคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคําสั่งยกคําร้องและไม่รับฎีกาแล้วส่งสํานวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว คําสั่งที่ไม่อนุญาตตามวรรคหนึ่งให้แสดงเหตุผลโดยย่อ และให้องค์คณะผู้พิพากษามีอํานาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่ผู้ฎีกาได้ตามที่เห็นสมควร

 

ข้อ ๒๑ ในกรณีที่มีคู่ความหลายฝ่ายต่างยื่นคําร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาให้วินิจฉัยโดยทําเป็นคําสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

 

ข้อ ๒๒ ห้ามมิให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะที่พิจารณาสั่งอนุญาตให้ฎีกาคดีใดเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอีก

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

วีระพล ตั้งสุวรรณ

ประธานศาลฎีกา

 

อ่านเอกสารทั้งฉบับในรูปเอกสารได้ที่นี่



14/Aug/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา