อันว่าสัญญาจ้่างนั้น ปกติมีสองแบบ คือแบบที่กำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน และแบบที่ไม่กำหนดระยะเวลาจ้าง ซึ่งทั้งสองแบบจะมีสิทธิและหน้าที่ต่างกัน ซึ่งหากเป็นแบบไม่กำหนดระยะเวลาจ้าง หากจะเลิกจ้างก็ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้ากันก่อน หรือถ้าไม่บอกกล่าว กฎหมายก็กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า "ค่าตกใจ"
และแน่นอนว่าลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ หากถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด หรือหากมีความผิดแต่ไม่ใช่กรณีร้ายแรงก็ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย
แต่หากเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนแล้วเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหากงานนั้นต้องเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี หมายความว่า หากจะเข้าเงื่อนไขไม่จ่ายค่าชดเชย จะต้องเป็นงานตามโครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจปกติของนายจ้าง โดยดูได้จากหนังสือวัตถุประสงค์ของบริษัท , งานตามฤดูกาล เช่นงานเกษตร และงานนั้นจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี หากเกิน ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยทุกกรณี
เอาละมาเข้าที่คำถามกัน...ถามว่า จะได้รับค่าชดเชยมั๊ย และ ข้อตกลงที่จะไม่รับเงินค่าชดเชยจะบังคับได้มั๊ย
ก็ตอบว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ได้ทำงานมา ๓ ปีแล้ว ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘
ส่วนที่ไปตกลงว่าสละสิทธิไม่รับค่าชดเชยนั้น มีแนวคำพิพากษาศาลฏีกาว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ
สรุปคือ หากถูกเลิกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแน่นอนครับ
ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร.