18/05/24 - 08:20 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 24 25 [26] 27 28 ... 50
376
มีคลิปด้วย...รีบส่งมาให้ทนายเลย....อยากดู...เอ้ยยย..อยากฟัง

ไม่ใช่อะไร ที่อยากฟังก็เพื่อจะดูว่า คำพูดดังกล่าวทนายฟังแล้วจะเป็นการข่มขู่จริงหรือไม่ หรือคำพูดดังกล่าวถึงขนาดที่จะทำให้เราหวาดกลัวจนกระทั่งต้องยินยอมเขียนใบลาออกตามคำขู่นั้นหรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นการข่มขู่จริง ก็แน่นอนว่า คุณสามารถไปต่อได้ โดยฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม พร้อมจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน และให้จ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับนั้นด้วย

ส่วนที่ถามว่าจะยกเลิกได้ใหม่  ก็คงไม่ต้องยกเลิกหรอกครับ แต่ให้ไปใช้อำนาจศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายจ้างรับเรากลับเข้าทำงาน ก็เท่ากับว่าใบลาออกนั้นถูกยกเลิกไปโดยปริยาย นั้นเองครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

377
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: วันทำงานของพนักงาน
« เมื่อ: ธันวาคม 15, 2019, 11:41:12 pm »
อ่านแล้วก็ งงๆ ครับ ไม่แน่ใจว่าจะถามอะไร เพราะอธิบายว่า ทำงานวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ โดยมีวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์

ทนายนับวันแล้วก็ ทำ ๖ วัน หยุด ๑ วัน ใช่ป่ะ หรือทนายนับผิด

หรือจะถามว่า เดิมทำงานปกติวันจันทร์ ถึง วันเสาร์ มีวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ แล้วแต่มา บริษัทได้ออกประกาศให้พนักงานสลับวันหยุด จากเดิมหยุดวันอาทิตย์พร้อมกัน ก็สลับกันหยุดเรื่อยไป อย่างนี้หรือเปล่า

เอาเป็นว่า ทนายยังไม่เครียร์สำหรับคำถาม รบกวนตั้งคำถามมาใหม่ให้ชัดเจน ทนายจะตอบให้แบบฟันธงเลยครับ

และแนะนำเบื้องต้นก็ให้ไปพูดคุยกันก่อน หากไม่ได้ผลก็อาจจะต้องทำหนังสือคัดค้านไว้ เพื่อจะได้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวต่อไป

หรือถ้าอยากมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ก็ควรศึกษาการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อเป็นองค์กรหรือผู้แทนในการคุ้มครอง แสวงหาผลประโยชน์ให้กับลูกจ้าง ครับ

ทนายพร.

378
อัยยะ จะเอาทั้งค่าชดเชย ค่าเสียหาย แล้วยังจะเอาค่าจ้างตามสัญญาที่เหลืออยู่ด้วยหรา... ;D

ถามมาก็ตอบไป

กรณีที่มีสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอนไว้ หากนายจ้างเลิกจ้างก่อนที่จะสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว ลูกจ้างสามารถเรียก"ค่าเสียหาย" เท่ากับจำนวนค่าจ้างตามจำนวนวัน/เดือน ที่เหลือตามสัญญานั้นๆได้ครับ เช่น สัญญาจ้างกำหนดระยะเวลา ๑ ปี ตกลงค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๐๐๐.- บาท แล้วพอทำงานไปได้ซัก ๖ เดือน นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างจำนวน ๖๐,๐๐๐.- บาท

คงครบถ้วนนะครับ

ทนายพร.

379
อย่างแรกให้ไปดูในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบว่าด้วยการหยุดพักผ่อนประจำปี ว่ากำหนดไว้ว่าอย่างไร

ซึ่งวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือการสะสม ถือเป็นสภาพการจ้าง หากจะออกระเบียบใดๆมาขัดหรือแย้งกับระเบียบปฎิบัติเดิมย่อมทำไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการออกระเบียบที่ "เป็นคุณ" แก่ลูกจ้างยิ่งกว่า หมายความว่า ออกระเบียบแล้วลูกจ้างได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น ในกรณีนี้ นายจ้างสามารถทำได้เลย

แต่ถ้าเป็นกรณี นายจ้างออกระเบียบหรือเงื่อนไขในภายหลังแล้วไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง กรณีนี้กฎหมายวางหลักไว้ว่า นายจ้างไม่สามารถกระทำได้ "เว้นแต่ลูกจ้างจะยินยิม"

และหากดูที่เล่ามาก็จะเห็นว่า นายจ้างได้ออกคำสั่งให้ลูกจ้างใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้หมด หากไม่หมดถือว่าสละสิทธิ์ มีปัญหาว่า ระเบียบดังกล่าวบังคับได้หรือไม่ เพียงใด

เห็นว่า การที่นายจ้างออกคำสั่งให้ลูกจ้างใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้หมด นั้น สามารถกระทำได้ ส่วนลูกจ้างจะปฎิบัติตามหรือไม่นั้นเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะใช้หรือไม่ใช้ แต่กรณีที่นายจ้างระบุว่า "หากลาหยุดไม่หมดถือว่าสละสิทธิ์" กรณีอย่างนี้ นายจ้างไม่สามารถออกคำสั่งเช่นนั้นได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ คือต้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าว เพราะถ้าเราไม่คัดค้านไว้ ก็เท่ากับเรายอมรับโดย "ปริยาย" ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้คำสั่งนั้นขอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

ประมาณนี้ครับ

ทนายพร.

380
เป็นคำถามที่นักกฎหมายก็ยังมีความเห็นเป็นสองแนวทางครับ

โดยทางหนึ่งมองว่าการค้ำประกันเป็นเรื่องเฉพาะตัว หากผู้คำประกันเสียชีวิต การค้ำประกันนั้นก็ควรจะสิ้นผลไป แต่อีกแนวหนึ่ง มองว่า การค้ำประกันเป็นมรดกตกทอดแต่ทายาท ถึงเเม้ผู้ต้ำประกันตาย ทายามก็ยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๖๘/๒๕๕๕ ที่วินิจฉัยว่า แม้ผู้ค้ำประกันจะถึงแก่ความตายก่อนลูกหนี้ผิดนัดต่อเจ้าหนี้ ความรับผิดก็ยังคงต้องตกแก่ทายาทของผู้ค้ำประกัน

แต่กรณีที่ถามมานี้ ไม่เกี่ยวกับที่ยกข้อกฎหมายมาอธิบายข้างต้น...ฮา...

ถ้าตอบตามที่ถาม ก็ตอบได้ ๒ แนวทางเช่นกันในวิธีปฎิบัติ

ถ้าเป็นสหกรณ์ฯ ก็ปล่อยให้เวลามันเดินไป หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ก็ฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำที่เหลืออยู่ให้รับผิดชอบ โดยจะฟ้องทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ค้ำประกันรายที่เสียชีวิตด้วยก็ได้ หรือ

เรียกผู้กู้และผู้ค้ำประกันมาตกลงกัน โดยให้ผู้ค้ำประกันทำหนังสือสัญญาค้ำประกันใหม่ โดยยึดถือตามยอดหนี้คงเหลือ ณ เวลานั้นๆ ก็สามารถทำได้ครับ แต่ถ้าผู้ค้ำไม่ยอม ก็ไปเลือกแนวทางแรก ซึ่งหากลูกหนี้มีวินัยและชำระหนี้ครบถ้วน ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเบี้ยวก็ไม่มีทางเลือกตัองไปใช้สิทธิทางศาล หรือจะทำสัญญายอมรับสภาพหนี้ให้ผู้ค้ำประกันที่เหลืออยู่ลงลายมือชื่อรับผิดก็ทำได้เช่นกันครับ

หากสงสัยก็ถามมาเพิ่มเติมได้นะครับ

ทนายพร.


381
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ลาออกไม่ได้
« เมื่อ: ธันวาคม 15, 2019, 11:05:55 pm »
อยากลาออก แต่เจ้านายไม่ให้ออก เอาละซิ อย่างงี้ก็ต้องเป็นลูกจ้างตลอดไป อยากจะไปประกอบอาชีพอะไรก็คงไม่ได้ล่ะมั๊งเนี๊ยะ...หยอกครับหยอก

เอาเป็นว่า ตามหลักกฎหมาย ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาจ้างต่อกัน โดยการแสดงเจตนาต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อแสดงเจตนาแล้วก็ไม่จำต้องรอคำอนุมัติใดๆทั้งสิ้น และนายจ้างก็ไม่มีสิทธิที่จะเหนี่ยวรั้งเราไว้ได้

ซึ่งถ้าอยากออกจริงๆก็ทำหนังสือยื่นให้ผู้มีอำนาจหรือหัวหน้างาน แล้วก็เดินออกมาเลย ถึงแม้ว่าจะมีข้อบังคับให้ต้องลาออกก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วันหรือจะกี่วันก็ตาม เพียงแต่ว่า หากเราไม่แจ้งการลาออกให้กับนายจ้างตามข้อบังคับ หากเกิดความเสียหายและสามารถคิดเป็นมูลค่าได้ นายจ้างก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเราได้

แต่กรณีที่ถาม มีเรื่องการออกรถมาเกี่ยวพันด้วย ซึ่งหากพิจารณาก็จะเห็นว่า ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง กับเรื่องการออกรถ มันเป็นคนละเรื่องกัน ทางแก้ง่ายๆถ้าไม่อยากเป็นเรื่องก็คือ คืนรถให้กับนายจ้างไป เพราะผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของนายจ้าง แต่ถ้าอยากลองกันซักตั้ง ก็เอารถไป และผ่อนชำระตามสัญญาให้ครบถ้วน เมื่อครบถ้วนแล้วก็ทวงถามให้นายจ้างส่งมอบรถให้กับเราในฐานะผู้เช่าซื้อ ถ้าไม่ให้ก็ไปแจ้งความว่านายจ้างยึดหน่วงทรัพย์เราโดยมิชอบด้วยกฎหมายครับ

ส่วนที่นายจ้างขู่ว่าจะแจ้งตำรวจว่าเราขโมยรถนั้น คงไม่เข้าองค์ประกอบของการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์นะครับ เพราะถ้าชื่อในเล่มทะเบียนลงชื่อเราเป็นผู้ครอบครองจะมาแจ้งว่าเราลักทรัพย์ไม่ได้ครับ เว้นแต่ ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิและชื่อผู้ครอบครองเป็นชื่อของนายจ้าง กรณีอย่างนี้ ทนายแนะนำให้ตัดใจคืนรถไปเลยดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องยุ่งยากภายหลังครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

382
อ่านคำถามแล้วก็เหนื่อยใจแทน ทนายก็พยายามให้ความรู้ว่า หากเราไม่อยากลาออก ก็ไม่ต้องไปเขียนครับ เพราะถ้าเขียนใบลาออกเมื่อใหร่ คดีก็จบครับ เพราะถือว่าเราสมัครใจที่จะออกเอง เว้นแต่ ถูกบังคับ ขุ่มขู่ อันนี้ก็ว่าไป สู้ได้แน่นอน

ส่วนที่ถามมา ๒ ข้อว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้ออก แล้วไปร้องพนักงานตรวจแรงงานแล้วนั้น ก็คงต้องรอคำวินิจฉัยและคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานว่าจะวินิจฉัยอย่างไร หากวินิจฉัยแล้วไม่พอใจก็สามารถที่จะฟ้องเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ครับ

ส่วนประเด็นประกันสังคม นั้น แน่นอนว่า นายจ้างได้แจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนว่าเรากระทำความผิด (รหัส R๕) ประกันสังคมก็จะไม่จ่ายเนื่องจากเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายนั่น เอง จนกว่าเราจะพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้กระทำความผิดตามที่นายจ้างกล่าวอ้าง แล้วให้นายจ้างไปแก้ไขข้อมูลการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมให้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการพูดคุยละครับ หากคุยได้ก็จบ หากคุยไม่ได้ก็ตงต้องพึ่งศาลล่ะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

383
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: จ้างงานรายปี
« เมื่อ: ธันวาคม 15, 2019, 11:54:36 am »
ไม่แน่ใจว่าวันที่ทนายมาตอบนี้ จะทันเวลาหรือเปล่า เอาเป็นว่า ทนายจะเร่งตอบทุกคำถามที่ค้างคาในเว็บภายในเดือนธันวาคม นี้แน่นอน...ฮา

กฎหมายกำหนดว่า ในการจ้างงานกันนั้น ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ แม้ตกลงจ้างกันด้วยวาจา หรือโดยปริยาย ก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่สมบูรณ์แล้ว

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดไว้ในมาตรา ๑๗ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๑๑๘ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ว่า สัญญาจ้างแรงงานสามารถทำได้สองแบบคือ สัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ที่แน่นอน และสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ต้องดูที่เจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญว่าประสงค์จะทำสัญญาแบบใด

ทั้งนี้ กฎหมายก็มองเห็นแล้วว่า ในระหว่างการทำสัญญาอำนาจการต่อลองของลูกจ้างย่อมน้อยกว่านายจ้าง กฎหมายจึงคุ้มครองว่า หากเป็นการกำหนดสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาสิ้นสุดไว้แน่นอนนั้น จะต้องเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี นั้นหมายความว่า นายจ้างจะเลี่ยงกฎหมายไม่ได้ หากเข้าตามเงื่อนไขข้างต้น ก็ถือว่า เป็นการจ้างงานแบบไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน หากจะเลิกจ้างก็ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าละครับ

ซึ่งที่อธิบายไปนั้น ก็เพื่อให้เข้าใจหลักกฎหมายก่อน...เมื่อเข้าใจแล้วก็มาดูคำถามกัน..โดยผู้ถามๆว่า "ควรกรอกใบสมัตรใหม่หรือไม่ และถ้าไม่กรอกจะมีความผิดไหม"

ก็ตอบว่า นี่คือกลลวงของนายจ้างที่จ้องเอาเปรียบลูกจ้าง ซึ่งแน่นอนว่า นายจ้างก็รู้ว่าหากเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้เป็นที่แน่นอน จะสามารถจ้างได้เพียงระยะเไม่เกินสองปี หากเกินกว่านั้น ก็จะเป็นการเลี่ยงกฎหมายอาจเป็นความผิดได้ จึงได้พยายามให้ผู้ถามเขียนในสมัครใหม่ แล้วนำใบสมัตรนั้นไปเป็นข้อต่อสู้ว่า ลูกจ้างเริ่มเป็นลูกจ้างตามใบสมัตรใหม่นั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อลูกจ้างไม่รู้กฎหมาย ก็จะเออ ออ ห่อหมกไปตามนั้น ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างหมดสิทธิที่จะได้รับเงินตามที่กฎหมายให้สิทธินั่นเอง

ดังนั้น ทนายคงตอบไม่ได้ว่าควรเขียนหรือไม่ควรเขียน เพราะถ้าคุณไม่เขียนก็อาจจะไม่ได้รับการต่อสัญญาและพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างไป หรือถ้าเขียนก็จะเข้าสู่วังวลดังที่ทนายได้อธิบายไว้ข้างต้น

คงต้องตัดสินใจเอาล่ะครับงานดี

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.


384
ถามสั้นๆ แต่น่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่น้อย เนื่องจากประชาชนผู้มีหนีสินทั่วไปคงอยากรู้ เพราะอาจจะเป็นผู้ประสบเหตุเช่นเดียวกันกับผู้ถามนี้

คดีบัตรเครดิต หรือบัตรโน้น นั่น นี่ ถือเป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งเป็นคดีแพ่งครับ สิ่งที่สบายใจได้ก็คือ คดีแพ่ง ไม่มีติดคุกครับ เพียงแต่อาจจะถูกยิดทรัพย์บังคับคดีได้

ถามว่า กรณีถูกฟ้องเรื่องบัตรเครดิตแล้วไม่มีเงินไปชำระ ตามที่ศาลฟ้องต้องทำยังไงคะ
1.มีที่ดิน 4 ไร่ ค่ะ
2.ที่ดิน ตอนนี้โดน กยศ ห้ามซื้อขาย หรือโยกย้าย ค่ะ

ก็คงต้องตอบว่า ต้องพยายามหาเงินไปชำระแล้วล่ะครับ เพราะมิเช่นนั้นก็อาจถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ หรืออาจถูกอายัดเงินเดือนได้ หากเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน แต่ถ้าเป็นราชการก็ไม่ต้องไปกังวลเรื่องการอายัดเงินเดือน เพราะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกอายัดเงินเดือน

ซึ่งทนายแนะนำว่า ควรไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนจ่าย เอาที่พอใหว ซึ่งคิดว่า เจ้าหนี้ก็จะมียอดที่จะพอผ่อนผันได้ เช่น อาจจะไม่คิดดอกเบี้ย เป็นต้น แต่ถ้าเราไม่ไปศาล ซึ่งแน่นอนว่า ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้เราแพ้คดีแน่นอน และจะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ บังคับคดีตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นล่ะครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดิน ๔ ไร่ หากมีมูลค่าสูง เช่นอยู่ใน กทม.หรือในเมือง เจ้าหนี้ก็ตาโตละครับ เพราะง่ายในการบังคับคดีมาก และเมื่อเราถูกฟ้องหรือมีการโยกย้ายทรัพย์นับแต่วันที่ผิดนัดผิดสัญญา งานจะงอกแล้วล่ะครับทีนี้ เพราะเจ้าหนี้ก็จะไปฟ้องเป็นคดีอาญา ในข้อหาโกงเจ้าหนี้ มีโทษติดคุกล่ะคราวนี้

ฉะนั้น ในประเด็นนี้ ทนายขอบอกในในที่นี้เลยนะครับว่า หากถูกฟ้องแล้วอย่าโยกย้ายถ่ายเททรัพย์ไปให้บุคคลอื่น โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ ไม่งั้นเรื่องจะยาวครับ

ส่วนกรณีที่ที่ดินถูกหมายสั่งห้ามซื้อขาย ก็เป็นแค่การใช้สิทธิของเจ้าหนี้ของเรา ซึ่งหากเจ้าหนี้ กยศ. นำยึดและขายทอดตลาดแล้ว หากเจ้าหนี้บัตรไม่สามารถที่จะสืบค้นหาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของเราได้ เจ้าหนี้บัตรเครดิตก็มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับ ขอให้ศาลมีคำสั่งเฉลี่ยทรัพย์นั้น ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหนี้เค้าครับ ไม่ต้องกังวลเลย

คงจะพอเข้าใจนะครับ หรือหากสงสัยก็โทรสอบถามได้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

385
เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นกำลังเป็นประเด็นของสังคมไทย จากกรณีหลอกให้ทำผิดแล้วล่อซื้อ ซึ่งท้ายทีสุดจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันสำหรับคดีนี้

อย่างไรก็ตาม อยากจะให้รู้กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของไทย เพื่อจะได้ไม่ไปทำผิดกฎหมายนะครับ

ซึ่งหลักกฎหมายในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยนั้นจะมีอายุการคุ้มครอง ๕๐ ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต เน้นย้ำ "กรณีผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต" แต่ถ้าเป็นกรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะเสียชีวิตไม่ได้เพราะไม่มีชีวิต ก็จะเริ่มนับอายุตั้งแต่ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก ๕๐ ปี หรือที่เข้าใจง่ายๆก็คือ สร้างเสร็จเมื่อใหร่ให้เริ่มนับวันนั้นเรื่อยไปจนกว่าจะครบ ๕๐ ปี  หรือเริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นก็จะต้องเกิดขึ้นภายใน ๕๐ ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา
หมายความว่า ถ้าพ้น ๕๐ ปีไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ งานนั้นก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองอีกต่อไป

ส่วนคำถามที่ว่า ไปซื้อของลเมิดลิขสิทธิ์ มาขายในไทยจะผิดกฎหมายมั๊ย?
ก็ตอบว่า หากงานนั้นยังมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ ก็ผิดครับ แต่ถ้างานนั้น เกินกว่าอายุความสิขสิทธิ์แล้ว ก็ไม่ผิดครับ

แล้วถามต่อว่า ถ้าผิดจะทำอย่างไรให้ถูก?
ง่ายนิดเดียวครับ ก็ไปสืบค้นว่า งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ใครเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือสิขสิทธิ์ แล้วติดต่อขอเป็นตัวแทนซึ่งแน่นอนว่า คงมีค่าใช้จ่าย แต่ว่าสบายใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายล่ะครับ หรือไม่ก็ รอ รอ รอ ให้หมดอายุความก่อน  ก็เลือกเอาครับ

ทนายพร.

386
ตื่นเข้าแต่งตัวเดินเข้าไปทำงานในหน่วยงานราชการ มองๆดูช่างดีแท้

แต่ความเป็นจริง คนกลุ่มนี้ที่เป็นพนักงานสัญญาจ้างรายวัน รายเดือน หรือจะเรียกอย่างไรก็ตาม เป็นกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามมากที่สุด เเม้แต่ลูกจ้างที่ไปทำงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด เช่น แม่บ้าน คนสวน คนขับรถ ก็ยังถูกละเลยในการบังคับใช้กฎหมายอ่างเท่าเทียม ซึ่งทนายก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกฎหมายถึงเป็นเช่นนี้

และตราบใดที่กฎหมายแรงงานยังเป็นเช่นนี้ คนกลุ่มนี้ก็คงต้องก้มหน้ารับชะตากรรมไป จนกว่าจะมีผู้หลักผู้ใหญ่จะเห็นความสำคัญตามหลักสากล

เอาละ เดียวยาว....ถามมาว่า
๑.มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชยได้หรือไม่ในกรณีที่ไม่ได้ต่อสัญญา
๒.นายจ้างต้องออกหนังสือเลิกจ้างให้หรือไม่เพื่อที่จะนำไปแสดงประกอบขอเงินชุดเชยการว่างงาน

ทนายก็ขอตอบว่า..ที่ถามมา เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ๒ ฉบับ นั่นก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓
ตอบตามที่ถามเลยนะครับ
๑.ไม่ได้ค่าชดเชยครับ
๒.สิทธิประโยชน์กรณ๊ว่างงาน ก็ไม่ได้ครับ

เหตุที่ไม่ได้ ก็เนื่องมาจาก ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ต่างยกเว้นมิให้บังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานของรัฐ ในมาตรา ๔ เหมือนกันเลย ดังนั้น จึงส่งผลเป็นไปตามคำตอบข้างต้นนั่นเอง

ซึ่งคุณ Manotham ได้ตอบไว้นั้น ถูกต้องแล้วครับ

ทนายพร.

387
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: วินัยตำรวจ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2019, 03:20:50 am »
ถามสั้นๆ แต่ได้ใจความ เสมือนว่ามีประสบการณ์ตรงประมาณนั้น

เอาเป็นว่า สิ่งที่ควรจะรู้ก็คือ กุญแจมือ มิใช่ "ยุทธภัณฑ์" นั่นก็หมายความว่า บุคคลทั่วไปก็สามารถซื้อหามาใช้ได้ แต่จะใช้เพื่อการใดก็แล้วจะจุดประสงค์ของบุคคลนั้นๆ แม้แต่เว็บขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังก็ยังมีขายเลย

แต่กรณีที่ถามนั้น ต้องพิจารณาก่อนว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกุญแจมือมาให้ประชาชนใช้นั่น ใช้อย่างไร? ต้องดูลักษณะการใช้เป็นสำคัญ ถ้าเจ้าหน้าที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิดและเรียกให้ประชาชนเข้าช่วยเหลือโดยส่งมอบกุญแจมือให้ประชาชนนำไปใส่กับคนร้าย กรณีเช่นนี้ถือเป็นการช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ย่อมไม่มีความผิด และกระทำได้

แต่ถ้าตำรวจให้กุญแจมือของตนกับประชาชนไป แล้วบุคคล คนนั้น เอาไปโชว์โก้ๆ โดยที่ยังไม่ได้นำไปใช้พันธนาการกับใคร อันนี้ก็ยังถือว่ายังไม่มีความผิด

แต่ถ้านำกุญแจมือไปไส่ใครต่อใครโดยพละการ อันนี้แหละ มีปัญหาแน่ เพราะถือเป็นการกระทำความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว มีโทษสูงทีเดียว

เอาเป็นว่า หลักกฎหมายเกี่ยวกับการไส่เครื่องพันธนาการหรือการใส่กุญแจมือ โซ่ตรวน นั้น แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้เอง ก็ต้องมีเหตุว่าผู้ต้องหาหรือผู้ก่อการร้ายมีลักษณะจะหลบหนี หรือดุร้าย ก็ให้ใส่เครื่องพันธนาการ แต่ถ้าเป็นคดีเล็กน้อยแล้วไปไส่เครื่องพันธนาการก็จะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลได้เคยมีคำพิพากษาที่สำคัญคือ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๓๔๔/๒๕๐๑ ที่เป็นคดีเกี่ยวกับการพนันแล้วตำนวจควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีการพนันโดยใส่กุญแจมือล่ามโซ่เดินไปตามถนนให้ผู้ต้องหาอับอายนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ป.วิ.อ มาตรา ๘๖ เป็นต้น

คงหายสงสัยนะครับ

ทนายพร.

388
ทนายเป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ฯและเป็นผู้บริหารมาก็ถือว่านานมาก รวมทั้งทำคดีสหกรณ์นับเรื่องไม่ถ้วน พบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ฉากหน้าก็เป็นภาพที่ดี แต่ภายในปัญหาเยอะมาก หากไม่ยึดถือกฎหมาย , ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แต่หากสหกรณ์ใดยึดถือหลักการอย่างที่ว่า การบริหารงานของสหกรณ์ก็จะราบรื่น มีปัญหาน้อย แต่ที่มักเจอเป็นประจำก็คือ พวกใคร พวกมัน อันเกิดจากการแข่งขันกันเข้าไปบริหารเงิน เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆกัน ซึ่งมักจะเป็นได้ว่าเวลาเปิดรับสมัครคณะกรรมการดำเนินงานก็จะมีผู้ลงสมัครมาก และถึงขั้นเคาะประตูหาเสียงเหมือนการเลือก สส.เลยล่ะ

เอ้า..อารัมภบท มาเยอะแล้ว ตอบซะที...ฮา

ถามว่า "สหกรณ์ให้เหตุผลในการไม่อนุมัติเงินกู้สามัญข้าพเจ้า โดยให้เหตุผลว่า เผื่อในอนาคตผู้กู้ไม่ชำระ?"

อย่างแรก ให้ไปดู "ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ว่าด้วยการให้เงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้" ว่ามีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้กู้และการอนุมัติอย่างไร

เมื่อดูแล้ว การอนุมัติหรือไม่อนุมัติเงินกู้เป็นไปตามระเบียบนั้นหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามระเบียบ ให้เขียนคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการ (ปกติทุกสหกรณ์ก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้เพื่อพิจารณาเงินกู้ทั้ง ฉุกเฉิน /สามัญ /หรือพิเศษ) เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน มีการพิจารณาทบทวนการไม่อนุมัตินั้น โดยให้ยกระเบียบอย่างที่ว่าประกอบด้วย แน่นอนว่า หากคุณทำเช่นนี้ ที่ประชุมย่อมต้องพิจารณาคำร้องของคุณแน่

แต่ถ้ายังไร้ผล ให้ทำหนังสือแจ้งต่อ "กรมส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่ที่สหกรณ์ตั้งอยู่" เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ได้

หรือถ้ายังไม่ได้อีก...ก็คงต้องทำใจร่มๆไว้..ถ้าจะเดินต่อ...ไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์...พบรัฐมนตรีเลย หรือไม่ ก็ลาออก ไปกู้ธนาคารเอา

แต่เครสนี้ ฟ้องศาลปกครองไม่ได้นะครับ...เพราะไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ถึงแม้จะทำงานอยู่ศาลปกครองก็ตาม

แหมๆๆๆ...เสียดายจัง เมื่อวานทนายก็พึงจะไปที่ศาลปกครองมา ไม่งั้นจะไปให้คำปรึกษาอยู่ชั้น ๑ โต๊ะด้านขวา...ที่นั่งก็นิ่มดีครับ...คริ คริ

ขอให้สมหวังครับ

ทนายพร.



389
ทนายหายไปนานทีเดียว ไม่ได้เข้ามาตอบ เอาเป็นว่าจะตอบให้ทุกคำถามที่ถามมานะครับ (แต่ช้าหน่อย...ฮา) หรือหากใครต้องการคำตอบที่เร่งด่วนก็สามารถสอบถามไปได้ทางอีเมล์ pornnarai2516@gmail.com นะครับ

ส่วนท่านนี้ ถามมาว่า

"ตามกรณีของผมสามารถเรียกค่าชดเชยอะไรเพิ่มเติมได้บ้างนอกจาก 180 วัน + เงินเดือน เดือนสุดท้าย
และให้จ่ายเงินในวันที่ 20 ต.ค. 2562 เลยได้หรือไม่
สามารถเรียกร้องค่าปรับอะไรได้เพิ่มไหม
-ไม่ได้จ่ายเงินภายในวันที่ระบุในสัญญาเลิกจ้าง แจ้งว่าจะจ่ายให้ 10 พ.ย. 2562
-แจ้งให้ทราบวันที่ 1 ต.ค. 2562 (มีผลวันที่ 20 ต.ค. 2562)"

ก็ขอตอบว่า...ข้อมูลไม่ครบ...เนื่องจากไม่ได้บอกว่าปกติจ่ายค่าจ้างกันทุกวันที่เท่าใหร่? ทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน/รายเดือน เพราะเป็นสาระสำคัญในการตอบทำถามในครั้งนี้

แต่เอาเป็นว่า อนุมานว่า เงินเดือนออกทุกวันสิ้นเดือนละกันนะ
ดังนั้นสิ่งที่ได้แน่ๆ ก็คือค่าชดเชยตามอายุงาน โดยจะได้รับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ นั้นคือ ๑๘๐ หากมีอายุงานอยู่ระหว่าง ๓ ปี ถึง ๖ ปี

ส่วนเรื่องเงินเดือน แน่นอนว่าเมื่อลูกจ้างยังทำงานให้นายจ้างอยู่ก็ชอบที่จะได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำ รวมทั้งหากนายจ้างมีคำสั่งให้หยุดงาน ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างด้วย ดังนั้น เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้างให้มีผลวันที่ ๒๐ ตุลาคม คุณก็มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างนับถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ครับ....ฟันธง!

แล้วถามต่อว่า...จ่ายเลยได้มัีย? ...จ่ายได้ถ้านายจ้างอยากจ่าย ถ้าไม่จ่ายก็ต้องเดินไปบอกนายจ้างว่า "เจ้านายครับ..เจ้านายจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ผมภายใน ๓ วันนี้นะครับ เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา ๗๐ (๓)ไว้แล้วครับนาย"....ส่วนบทสนทนายต่อจากนี้ไปก็ตัวใครตัวมันครับ..ฮา  สรุปก็คือ กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายภายใน ๓ วันนับแต่วันเลิกจ้างมีผลครับ

ถามต่ออีกว่า...จะเรียกค่าปรับได้มั๊ย...อัยยะ..จะเอาค่าปรับเลยหรา....ตอบเลย ค่าปรับอ่ะไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เรียกค่าปรับ แต่จะเรียกว่า "ดอกเบี้ย"และ "เงินเพิ่ม" ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้าง,ค่าชดเชย, นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี และหากการที่เบี้ยวจ่ายเงินนั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็จะต้องเสีย "เงินเพิ่ม" ในอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน ...แล้วคิดยังงัย...สมมุติว่ามีค่าจ้าง ๑ หมื่นบาท ก็จะได้เงินเพิ่ม ๑,๕๐๐.-บาท ทุก ๗ วัน หนึ่งเดือนมี ๔ สัปดาห์ ก็จะได้เงินเพิ่ม รวม ๖ พันบาท เป็นงัย..เยอะป่ะละ

ส่วนจะมีสิทธิได้รับ "ค่าตกใจ" หรือที่กฎหมายเรียกว่า "สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า" นั้น ถ้าปกติจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน การบอกเลิกจ้างเช่นนี้ไม่ถูกต้องครับ โดยกฎหมายกำหนดให้บอกก่อนวันเงินเดือนออกหรืออย่างช้าที่สุดในวันวันเงินเดือนออก เพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในงวดการจ่ายค่าจ้างถัดไป ดังนั้น หากเครสนี้ เงินออกทุกวันสิ้นเดือน คุณจะมีสิทธิได้รับ "ค่าตกใจ" อีกจำนวน ๔๑ วัน (นับ ๒๑ -๓๑ ต.ค. /๑ -๓๐ พ.ย.) เป็นเงินเท่าใหร่ก็ไปคิดเอาครับ
แต่ถ้าเป็นลูกจ้างรายวัน หรือราย week ก็จะได้น้อยกว่านี้ แต่หลักการคำนวณก็เหมือนกันครับ

ถามไม่ยาว..แต่ทนายตอบยาวมว๊ากกกกกกก

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

390
ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะทำผิดไม่ว่าจะ Cheating หรือทำผิดในข้อหาอื่นๆอันเป็นความผิดไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว กฎหมายกำหนดสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายที่ต้องปฎิบัติต่อกันเป็นวาระสุดท้ายคือ ใบผ่านงาน และการโกงหรือทำผิดเป็นคนละเรื่องกับใบผ่านงานนะครับ

ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ มาตรา ๕๘๕ ได้บัญญัติไว้ว่า "เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญ แสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร่และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร"

หมายความว่า หากลูกจ้างต้องการใบผ่านงาน บริษัทก็ต้องออกใบผ่านงานให้ จะบอกว่าเธอทำผิดชั้นไม่ออกใบผ่านงานให้ อย่างนี้ไม่ได้นะครับ และใบผ่านงานนั้นจะระบุความดีความชอบหรือความผิดก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้แค่ว่าใบผ่านงานนั้น ระบุได้แค่การยืนยันว่าลูกจ้างคนนั้นเคยเป็นลูกจ้างของบริษัท เริ่มงานตั้งแต่วันใดถึงวันใด และทำในตำแหน่งหน้าที่อะไร เท่านั้น นอกนั้น กฎหมายห้าม หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมายนะครับ

หากสงสัยก็ถามเข้ามาใหม่ได้นะครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 24 25 [26] 27 28 ... 50