05/05/24 - 09:44 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 50
181
เครสนี้ ก้ำกึ่งมากนะครับ  เพราะยังไม่ชัดเจนว่า บริษัทใหม่รับเข้าทำงานแล้ว เพราะเป็นเพียงข้อตกลงทางวาจาในเบี้องต้น ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายในการจ้างแรงงานนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือก็ตาม  และหากต้องฟ้องร้องกันจริงๆ การหาพยานหลักฐานค่อนข้างยาก เว้นแต่จะมีการบันทึกเสียงกันไว้ ซึ่งโทรศัพท์บางรุ่นสามารถบันทึกเสียงสนทนาโดยอัตโนมัติได้

เอาเป็นว่า ถ้าบริษัทเก่ายังไม่ได้คนงานใหม่ ก็ไปคุยว่าเราไม่ออกแล้วนะ ขอทำงานต่อ ถ้าบริษัทโอเค เรื่องก็จบ

แต่ถ้าบริษัทเก่าได้คนใหม่แล้ว ก็ยากแล้วครับ เพราะบริษัทย่อมคิดได้ว่าเราไม่ภักดีต่อบริษัท คงไม่อยากให้เราทำงานต่อเป็นแน่

ก็คงต้องหันไปเรียกค่าเสียหายจากบริษัทใหม่ แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า เครสนี้ ห้าสิบห้าสิบ ว่าจะชนะคดีหรือไม่ เพราะคำพูดของพยานบุคคลนั้นเชื่อถือไม่ค่อยได้ ดังคำที่ว่า ลิ้นไม่มีกระดูก หากบริษัทใหม่ยืนยันว่า ยังไม่ได้ตกลงรับเราเข้าทำงานเป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้น เพียงเท่านี้เราจะเอาพยานหลักฐานใดไปต่อสู้

แต่ถ้ามีหลักฐานอย่างที่ทนายว่า ก็ลุยได้เลยครับ  ส่วนท้ายที่สุดศาลจะตัดสินค่าเสียหายจำนวนเท่าใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาลครับ ศาลตัดสินเท่าใหร่ก็เท่านั้น อุทธรณ์ฏีกาไม่ได้ครับ ต้องห้ามตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒

หรือคิดอีกแง่มุมหนึ่ง  เมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ก็ฟ้องคดีไป เนื่องจากฟ้องคดีในศาลแรงงานไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งในชั้นไกล่เกลี่ยอาจจะได้เงินมาบ้าง ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

182
คดียาเสพติด โดยปกติศาลจะกำหนดระยะเวลาเพื่อคุ้มความประพฤติไว้ในข้อกฎหมาย เช่น ต้องไม่มีคดีใหม่ภายใน ๕ ปี อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น ที่ถามมาว่าจะรอลงอาญามั๊ย ต้องดูว่า ปริมาณที่ครอบครอบนั้นมากน้อยเพียงใด เพราะต้องวินิจฉัยก่อนว่าครอบครองเพื่อเสพ หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย หากจำหน่ายก็ยากที่จะรอลงอาญาเพราะยังไม่เกิน ๕ ปี ถึงแม้ว่ายาเค หรือเรียกภาษาทางการว่า เคตามีน (Ketamine) จะจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภทที่ ๒ ก็ตาม

ส่วนจะตัดสินกี่ปี ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลในการตัดสินนะครับ

ประมาณนี้ครับ

ทนายพร.

183
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: คดีขับเสพ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2020, 10:45:15 am »
คดียาเสพติด โดยปกติศาลจะกำหนดระยะเวลาเพื่อคุ้มความประพฤติไว้ในข้อกฎหมาย เช่น ต้องไม่มีคดีใหม่ภายใน ๕ ปี อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น ที่ถามมาว่าจะนับโทษต่อหรือไม่อย่างไรนั้น  คงตอบไม่ได้ คงต้องไปดูในการบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการว่า ขอให้นับโทษต่อ ขอให้บวกโทษ ขอให้เพิ่มโทษ ฐานไม่หลาบจำ  หากไม่มีบรรยายไว้ในคำฟ้อง ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้นับโทษต่อ บวกโทษ หรือเพิ่มโทษไม่ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามกฎหมาย

ส่วนจะตัดสินกี่ปี คดีขับเสพ น่าจะมีไม่ต่ำกว่า ๒ ปีละครับ ถ้าสู้ก็อาจจะเต็ม หรือ สามในสี่ ของโทษที่กำหนดไว้ใน พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลในการตัดสินนะครับ

ประมาณนี้ครับ

ทนายพร.


184
ตามแบบต่อเนื่อง ทนายก็ไม่ขัดที่จะตอบให้สิ้นข้อสงสัย

เอาเป็นว่า ที่บอกว่าอยากจะร้องเรียนผู้พิพากษา นั้น เปลี่ยนเป็นว่า ขอแถลงให้ผู้พิพากษา จะดีกว่านะ..อิอิ เพราะถ้าร้องเรียนแสดงว่าผู้พิพากษาทำผิดอยู่ ;D

เข้าเรื่องๆ

แน่นอน เรื่องทำนองนี้เป็นเทคนิคในการดำเนินคดี อาจจะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ เนื่องจาก หากในคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานมีหลายคำสั่งย่อยในเรื่องเดียวกัน เช่น มีคำสั่งให้จ่ายเงินค่าชดเชย จ่ายเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จ่ายเงินวันหยุดพักผ่อนประจำปี  อะไรประมาณนี้ หากคำสั่งนั้น นายจ้างเห็นว่า ค่าชดเชยถูก ส่วนเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินวันหยุดฯ ไม่ถูกต้อง นายจ้างก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งเฉพาะเงินตามประเด็นที่เห็นว่าไม่ถูกต้องได้  โดยนำเงินเฉพาะที่ไม่เห็นด้วยไปวางต่อศาลในวันยื่นฟ้อง
ซึ่งวิธีปฎิบัติก็คือ ในวันยื่นอุทรณ์คำสั่งหรือยื่นฟ้องต่อศาล ทนายก็จะนำคำฟ้อง + คำร้องขอขยายระยะเวลาการวางเงิน ไปยื่นต่อศาล เมื่อศาลได้รับ ก็จะมีคำสั่งในคำร้องว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาต และโดยปกติ ศาลมักจะอนุญาต โดยในระหว่างนี้ทีมทนายก็อาจจะไปปรึกษาหารือกับนายจ้างว่า จะเลือกประเด็น หรือเลือกทั้งหมดในการเพิกถอนคำสั่ง หากเพิกถอนทั้งหมด สิ่งที่จะตามมาก็คือ "ดอกเบี้ยเดิน" ถ้ายอดเงินสูงอาจจะไม่คุ้มเมื่อพิจารณาข้อกฎหมายแล้วว่าสู้ไม่ได้ แต่เลือกที่จะอุทธรณ์ในบางประเด็น อย่างนี้เป็นต้น

เอาเป็นว่า ประเด็นใหนหรือเงินตัวใหน หากนายจ้างไม่ฟ้องเพิกถอน เมื่อครบกำหนด ๓๐ วัน แล้ว ก็ให้ไปติดต่อพนักงานตรวจแรงงานที่ออกคำสั่ง ถามว่า นายจ้างนำเงินมาวางหรือไม่ หากไม่นำมาวาง ก็ให้แจ้งไปว่า ให้ดำเนินคดีอาญากับนายจ้างได้เลยครับ เพราะถือว่าคำสั่งสิ้นสุดแล้ว ซึ่งข้อกฎหมายได้วางแนวทางไว้เช่นนี้

ส่วนที่บอกว่า ให้ศาลบอกให้นายจ้างเอาเงินมาจ่ายในวันนัดพิจารณานั้น ก็แจ้งได้ ส่วนวิธีปฎิบัติในทางกฎหมายนั้น อาจจะทำไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในสำนวนคดี คงไปใช้สิทธิตามที่อธิบายไว้ตอนต้น หากยังไม่จ่ายก็สามารถนำคำสั่งนั้น ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา และบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สิน นำขายทอดตลาด เอาเงินมาชำระหนี้ให้เราต่อไปครับ

เครสนี้ ต้องสู้ด้วยข้อกฎหมายและมันสมองครับ

อนึ่ง ไม่แน่ใจว่าบริษัท ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยคนเดียว หรือฟ้องเราด้วย? ถ้าบริษัทไม่ได้ฟ้องเราเป็นจำเลยที่ ๒ ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าไปเป็นจำเลยร่วมในคดี (สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗) จะได้รู้ว่าคดีไปถึงใหนอย่างไร เดี๋ยวจะตกขบวนและไม่รู้เรื่องนะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.


185
ถามว่าทำอะไรได้บ้าง?

ก็ตอบว่า...ทำได้แค่รอ... จบนะ... ;D

ที่ตอบไปแค่นั้น เนื่องจากว่า ในกฎหมายแรงงานไม่ได้บัญญัติในเรื่องการต้องสำรองจ่ายเงินให้นายจ้างไปก่อน แต่เป็นความสมัครใจของลูกจ้างเอง อาจจะด้วยเหตุผลนานับประการ  แต่ก็ใช่ว่า สำรองออกไปแล้วจะไม่ได้คืน เพราะเมื่อลูกจ้างสำรองออกไปแล้ว หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง ก็เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องชดใช้คืนเงินดังกล่าว 

หากไม่คืน ก็ต้องใช้สิทธิได้ทางเดียวคือ ฟ้องต่อศาล ซึ่งในกรณีนี้ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ เพราะมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญํติคุ้มครองแรงงาน แต่สามารถนำไปฟ้องศาลแรงงานได้

ถ้าจะถามต่อว่า คดีมีอายุความสั้น-ยาวขนาดใหน  ก็ตอบให้เลยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙๓/๓๔ ว่า อายุความที่จะฟ้องร้องเงินที่สำรองจ่ายไปนั้น มีอายุความ ๒ ปี หมายความว่า ต้องยื่นฟ้องภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่เราได้สำรองจ่ายเงินไปครับ

แต่ก่อนฟ้องอย่าลืมทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามส่งนายจ้างไปก่อนนะครับ เมื่อนายจ้างเห็นก็อาจจะจ่ายให้เลยโดยไม่ต้องฟ้องก็เป็นได้.....

ทนายพร.

186
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: การเปลี่ยนแปลงสัญญา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2020, 10:10:47 am »
กฎหมายแรงงาน เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงใดที่ขัดต่อกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ 

ซึ่งเจตนารมณ์ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับความเป็นธรรม มิให้ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า

ส่วนที่ถามว่า กรณีที่จะเปลี่ยนสัญญาจากไม่กำหนดระยะเวลาจ้าง มาเป็นสัญญาจ้างชั่วคราวโดยกำหนดระยะเวลาจ้างกันนั้น ทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่

ก็ตอบว่า คงไม่ผิดกฎหมาย หาก เรา "ยินยอม" เพราะสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาทาง "แพ่ง" อย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ ว่าด้วยจ้างแรงงาน

ดังนั้น หากนายจ้างทำสัญญามาในลักษณะ "เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณ" (หมายถึง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้เราเสียสิทธิจากที่เคยได้ หรือได้น้อยลง) หากเราไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเซ็น ก็เท่านั้น นายจ้างจะมาจับมือเราเซ็นไม่ได้  ซึ่งที่บอกไปนี้คือทฤษฎี  แต่การปฎิบัติอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เป็นต้นว่า หากเราไม่เซ็นก็จะหาทางกดดันต่างๆ นานา หรือหาเหตุมาลงโทษ ท้ายที่สุดก็หาเหตุมาเลิกจ้าง อะไรประมาณนี้

แต่ถ้าเราจำยอมต้องรับสภาพการจ้างหรือสัญญาใหม่แล้ว ก็ถือว่า เรายินยอม และก็จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หากทำใจได้ก็ทำงานต่อไปอย่างมีความสุข แต่ถ้าทำใจไม่ได้ก็จะรู้สึกขัดขืนในหัวใจ ว่านายจ้างช่างเอาเปรียบเราเสียเหลือเกินและไม่มีความสุขในการทำงานอีกเลย และหาทางออกด้วยการลาออกไปในที่สุด ก็จะประมาณนี้สำหรับการเป็นลูกจ้างในระบบอุตสาหกรรม

เล่ามาซะยาว ก็สรุปว่า ที่ถามมาก็ตอบไปในคำอธิบายแล้วนะครับ

ทนายพร.

187
หากเป็นจริงอย่างที่เล่าแล้วก็น่าเห็นใจ ทั้งพฤติกรรมของเจ้านายและวิธีการหาช่องทางในการจะไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย

ถามมาว่า จะทำยังงัย? ขอคำแนะนำ

ทนายดูข้อกฎหมายแล้ว เกี่ยวกับการย้ายสถานประกอบการหรือการย้ายสถานที่ทำงานใหม่นั้น มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๗ พ.ศ.๒๕๖๒ โดยสาระสำคัญอยู่ในวรรคสาม และวรรคสี่ ซึ่งกำหนดวิธีการไว้ดังนี้

(วรรคสาม)หากลูกจ้างคนใดเห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้น และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการในกรณีที่นายจ้างมิได้ปิดประกาศตามวรรคหนึ่ง และให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘

(วรรคสี่) ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองหรือค่าชดเชยพิเศษตามวรรคสามให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด

ดังนั้น สรุปได้ว่า  ในกรณีที่บริษัทแจ้งย้ายเราไปให้ไปทำงานที่ใหม่ อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตปกติ หากเราไม่ย้ายตามไป ก็ให้เราแจ้ง "เป็นหนังสือ" ให้นายจ้างทราบ เน้นย้ำ "เป็นหนังสือ"  ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศ หรือถ้าไม่ติดประกาศก็ให้แจ้งเลยในวันที่มีคำสั่งย้าย  เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็ต้องถามกลับไปว่า ที่เราแจ้งไม่ตามไปนั้น แจ้งด้วยวิธีอะไร ถ้าแจ้งไม่ถูกก็ไปจัดการให้ถูกต้อง หรือถ้าต้องการตัวอย่างหนังสือ ก็ส่งอีเมล์มาครับ เดี๋ยวทนายส่งตัวอย่างไปให้....จบนะ :D

ส่วนที่นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยโดยยัดเยียดข้อหานั้น ก็ไม่ต้องกังวลใจไปครับ  เอาเป็นว่า ทำตามคำแนะนำข้างต้น เมื่อครบกำหนด ๗ วัน หากนายจ้างไม่จ่าย ก็ให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานสวัสดิการแรงงาน (ไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่เราทำงานอยู่) ไปเขียนคำร้องเพื่อมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยตามมาตรา ๑๒๐ หากพนักงานสวัสดิการฯ มีคำสั่งแล้วนายจ้างยังไม่จ่ายอีก นายจ้างอาจถูกจับและถูกดำเนินคดีอาญาได้ แต่เท่าที่ทนายทำคดีแรงงานมา ยังไม่เคยเห็นนายจ้างถูกจับเลยนะครับ...แฮ่ >:(

ข้อแนะนำก็ประมาณนี้ หากยังสงสัยก็สอบถามเพิ่มเติมได้นะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

188
อ่านจากคำถามแล้ว ไม่ต้องกังวลใจเลย นอนอุ่น กินอิ่ม และเที่ยวตามนโยบายรัฐบาลได้เลย

ถามว่า ..เอาชื่อพี่สาวออกจากบ้านดีมั๊ย?  ตอบ ไม่ดีมั๊ง ดูจะใจเลยเกินไป แล้วจะให้พี่สาวไปอยู่ในทะเบียนบ้านใหนล่ะ หรือถ้ามีที่ไปก็ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่า ถ้าอยู่ในฐานะ "ผู้อาศัย" ก็ให้อยู่ไปเถอะครับ ไม่ได้กระทบอะไร

ส่วนที่กังวลว่าบ้านจะถูกยึดมั๊ย จะถูกข้อหา "ร่วมกันโกงเจ้าหนี้" หรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเพียงนิติกรรมที่เชิดพี่สาวเป็นผู้ซื้อบ้าน ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด และสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราคือเจ้าของตัวจริง ไม่ยากๆ ครับ

ส่วนคดีพี่สาว ที่ถูกฟ้องบัตรเครดิต ก็ว่าไปตามรูปคดีครับ ดังคำพระที่ว่า "กัมมุนา วัตตติ โลโก” สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม"

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

189
คำถามนี้  "มโนธรรม" ได้ตอบและอธิบายไว้ชัดเจน ถูกต้องแล้วครับ

ทนายพร.

190
ตอนตอบคำถามนี้ เวลาตีสามกว่าแล้ว ตอบเป็นข้อตามที่ถามเลยแล้วกัน

ข้อ ๑ ถามว่า.."ในสิ่งที่นายจ้างแจ้งมา เรื่องบริษัทขาดทุน ล้มละลาย ต้องรอขายทรัพบ์สินได้ (ถ้าเหลือก็ค่อยจ่ายตามเงินที่เหลือ ถ้าไม่เหลือก็ไม่จ่าย) ตรงนี้เป็นทางออกที่นายจ้างทำได้จริงๆหรือไม่ครับ บริษัทฯ ไม่ได้มีการกุ้เงินธนาคารในการดำเนินงาน ใช้เงินกรรมการอย่างเดียว (แต่ติดลบสะสมหลายปี)"
ก็ตอบว่า...เป็นทางออกหนึ่ง ครั้งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด การขอล้มละลายในทางธุรกิจ เป็นเพียง การหนีหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือถ้าธุรกิจยังพอไปใหว ไม่ถึงขนาดต้องล้มละลาย ก็อาจจะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยในระหว่างนี้ เจ้าหนี้ก็ฟ้องบังคับหนี้นั้นไม่ได้ ตกอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติล้มละลาย  เราเป็นว่า คล้ายกับบริษัทการบินไทยในเวลานี้ ลองหาอ่านข่าวดูนะครับ เมื่อศาลมีคำสั่งให้บริษัทล้มละลายแล้ว ศาลก็จะตั้ง "เจ้าพนักงานพิทักทรัพย์" ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดี ไปบริหารจัดการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด ดังนั้น เมื่อถึงขั้นตอนนี้ เราต้องติดตามอย่างไกล้ชิด เพื่อยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัยพ์ละครับ ประมาณนี้ครับ

ข้อ ๒  ถามว่า..ลูกจ้างสามารถฟ้องเพื่อเรียกค่าเลิกจ้าและค่าเสียหายจาก นายจ้าง(ผู้บริหาร) ซึ่งเป็นของทุนไม่ใช่ผู้บริหารที่ถูกจ้างมากระทำแทนได้หรือไม่ (ข้อนี้สงสัยมคากๆๆครับ) เข้าใจว่าถ้ากรรมการบริษัทฯ ที่ถูกจ้างมาเพื่อบริหารนั้นเราไม่สามารถฟ้องได้ แต่ถ้ากรรมการม,ผู้บริหาร และ เจ้าของเงินทุน คือคนเดียวกัน สามารถฟ้องร้องได้ไหมครับ?"
ก็ตอบว่า..ปกติ ผู้บริหารไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว หากดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าฟ้องได้มั๊ย ก็ตอบว่าฟ้องได้ถ้าจะฟ้อง แต่ศาลคงจะไปสั่งให้นายจ้างรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่ได้ คงบังคับได้แต่นิติบุคคล ถ้ามีทรัพย์สินเช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ รถยนต์ กาละมัง ถังซักผ้า หรือทรัพย์สินอื่นที่เป็นกรรมสิทธิของนิติบุลล ก็สามารถยึดทรัพย์นั้น นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเราได้ครับ 

ข้อ ๓ ถามมาว่า...ถ้าเจ้านายสั่งให้ฝ่ายบุคคลทำเอกสาร แต่ในใจไม่เห็นด้วย และไม่ยอมเซ็นต์รับเงื่อนไข และไปฟ้องศาล ผลจะเป็นเช่นไร

คำถามนี้ ไม่ได้อธิบายให้ทนายเห็นว่า เงื่อนไขนั้น คืออะไร เช่น "ลูกจ้างตกลงยินยอมที่จะไม่รับเงินชดเชย" ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะการตกลงดังกล่าว ศาลฏีกาได้วางแนวไว้ว่า กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงใดที่ขัดต่อกฎหมายถือเป็น โมฆะ บังคับไม่ได้ เมื่อไปตกลงที่จะไม่รับค่าชดเชย จึงบังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็ฟ้องศาลได้ (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๓๕๒/๒๕๕๑)

แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะโมฆะทุกเรื่องนะครับ จะเป็นโมฆะเฉพาะที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ เท่านั้น หากเป็นสวัสดิการอื่น หรือไม่ติดใจเรื่องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หากเป็นข้อตกลงในเรื่องเหล่านี้ บังคับได้ แต่ไม่ห้ามที่จะนำไปฟ้อง เพียงแต่ผลของการฟ้อง ก็จะแพ้คดีนั่นเอง

ดังนั้น หากนายจ้างมีคำสั่งให้ทำ ก็ต้องทำครับ เพราะเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำก็จะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายบุคคลนั่นแหละจะถูกเลิกจ้างก่อน และจะไม่ได้รับเงินใดๆอีกด้วย

ประมาณนี้ครับ หากยังสงสัยถามมาใหม่ได้ครับ

ทนายพร.

191
ศาลจะดูพฤติกรรมและปริมาณกัญชา ในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษ

ซึ่งข้อหา "พยายามจำหน่ายกัญชา" นั้น เมื่อมีเจตนาจำหน่าย (ในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะขาย แจก ให้ จะคิดเงินหรือไม่คิดเงิน หรืออะไรก็แล้วแต่ จะตีว่าเป็นจำหน่าย) ก็อยู่ที่การต่อสู้ในสำนวนแล้วละครับ

ถ้าเป็น ยาเสพติดประเภท ๑ ศาลมักจะไม่รอลงอาญา มิหนำซ้ำจะบวกเพิ่มโทษที่รอไว้อีกด้วย

แต่กัญชา เป็นยาเสพติดประเภท ๕ และมีปริมาณน้อย ไม่ได้จำหน่าย อาจจะต้องให้ทนายเขียนคำให้การรับสารภาพสวยๆ เช่น เป็นเสาหลักของครับครัว หารายได้คนเดียว นั่น นี่ โน้น ก็ว่าไป โทษอาจไม่ถึงจำคุกก็ได้นะครับ ส่วนจะรอการลงโทษอีกหรือไม่นั่น เป็นดุลพินิจของศาลเลยครับ แต่ถ้าทนายเป็นศาลก็จะให้รอ แต่ปรับเยอะขึ้น บวกมาตราการอื่นในการคุมประพฤติเพื่อให้หลายจำครับ

ประมาณนี้

ทนายพร.

192
กีฬามวยเวลาชกกันยังต้องมี ๕ ยก แต่เดียวนี้ก็ ๓ ยกเยอะไปนะ  เอาเป็นว่า คดีเรานี้ ที่เราไปร้องพนักงานตรวจแรงงงานหรือที่ทนายมักจะเรียกว่า คร.๗ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายนั่น นี่ โน้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑

หลังจากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายในระยะเวลา ๖๐ วันแล้ว ก็จะมีคำสั่งออกมา และส่งให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฎิบัติตามคำสั่งนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยปกติก็ประมาณ ๓๐ วัน และท้ายของคำสั่งก็จะเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายว่า หากไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวสามารถยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งนั้น ภายใน ๓๐ วัน "นับแต่" วันที่ "ได้รับคำสั่ง" ไม่เชื่อก็กลับไปดูในหน้าสุดท้ายของคำสั่งดูก็ได้ครับ ต้องมีข้อความนี้แน่นอน

เเละเมื่อนายจ้างเป็นผู้ไม่เห็นด้วยและนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่ง นายจ้างก็ต้องฟ้อง พนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยในคดีนี้ หรือจะฟ้องเราเป็นจำเลยที่ ๒ ก็สามารถทำได้ หรือถ้านายจ้างไม่ฟ้องเรา เราก็ต้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ เพื่อจะได้เข้าไปเป็น "คู่ความ" ในคดีและเวลาจะทำอะไรเราจะได้รู้และสามารถอุทธรณ์ ฏีกาได้ในอนาคต

เอาล่ะ เมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล กฎหมายยังกำหนดต่อไปว่า ให้นายจ้างนำเงินไปวางตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง ก่อนที่จะฟ้องคดี หากไม่นำเงินไปวาง ศาลจะไม่รับฟ้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

แต่ก็เป็นสิทธิของนายจ้างอีกนั่นแหละว่าสามารถยื่นคำร้องขอ "ขยายระยะเวลาการวางเงิน" โดยจะอ้างเหตุ อยู่ระหว่างการรวบรวมเงิน คนอนุมัติอยู่ต่างประเทศติดโควิด หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อยื่นไปแล้วก็เป็น "ดุลพินิจ" ของศาลที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต  ซึ่งคดีปกติแล้ว ศาลน่าจะสั่งว่าอนุญาต เราคงไปทำอะไรไม่ได้ เว้นแต่เมื่อครบกำหนดการวางเงินตามที่ศาลอนุญาตแล้ว ให้เราไปตรวจสำนวนดูอีกทีว่า นายจ้างขอขยายระยะเวลาอีกหรือไม่ หากขอก็ให้ยื่น "คำคัดค้าน" คำร้องดังกล่าว เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการสั่งต่อไป ประมาณนี้ในลำดับขั้นตอน

นี่ยังไม่หมดนะ หากศาลมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการวางเงิน นายจ้างก็สามารถ "อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาต" นั้น ต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาจจะย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นมาไต่สวนคำร้องถึงเหตุผลที่นายจ้างยื่นนั้น เพียงพอรับฟังได้หรือไม่ ซึ่งหากเข้าขั้นตอนนี้ ก็ต้องรอเวลาอีกหลายเดือนเลยทีเดียว

ชักจะยาวไปแระ  ตอบที่ถามเลยละกัน ;D

ถามมาว่า...จะขยายการวางเงินได้มั๊ย?  ตอบว่า ขยายได้ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น

ถามว่า...ขยายได้ครั้งละ ๓๐ วันเลยหรา? ก็ตอบว่า ปกติก็ครั้งละ ๓๐ วัน และอาจได้หลายครั้ง แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายได้กี่ครั้งเป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งที่ทนายเคยเจอศาลอนุญาตให้ขยายได้ ๓ ครั้ง รวม ๙๐ วันเลยนะครับ แต่ในระหว่างนี้ เราก็ได้ดอกเบี้ยตามคำสั่ง หรือเรียกว่า ดอกเบี้ยเดินครับ

ถามว่า...หมายเลขคดี มีรหัสขึ้นต้นด้วย ร01010(ตัวอย่าง) อันนี้ไม่ทราบว่าเป็นอุทธรณ์คำสั่ง หรือเป็นลักษณะคำร้องเฉยๆ ?  ก็ตอบว่า...เป็นหมายเลขคดีดำ ที่ศาลเป็นผู้กำหนดตามลำดับก่อนหลังคดีที่นำมาฟ้อง หมายความว่า ถ้าเป็นหมายเลขคดีดำ ร.๐๑๐๑๐/๒๕๖๓ ก็หมายความว่า มีคนมาฟ้องก่อนเราแล้ว ๑,๐๐๙ คน แล้วเราเป็นคนที่ ๑,๐๑๐ เราจึงได้เลขคดี ร.๐๑๐๑๐/๒๕๖๓ นั่นเอง

แล้วตอนนี้คดีของเราได้ หมายเลขดำที่เท่าใหร่ครับ  ทนายว่า ต้องมี ๔,๐๐๐ เป็นแน่ เพราะทนายไปฟ้องเมื่อ ๓ เดือนก่อนยังได้เลขดคี ๓ พันกว่าเลยครับ

เราน่า มวยพึ่งยกแรก  รอหน่อยครับ คิดซะว่า เอาเงินไปฝากธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี  แล้วในระหว่างนี้ก็หาทนายความหรือถ้าทำได้ก็เขียนคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมซะ ต่อไปมีอะไรเราจะได้รู้และต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุดนั่นเอง

ทั้งนี้ ศาลจะให้โอกาส คู่ความทั้งสองฝ่าย ต่อสู้คดีกันอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั่นเอง

เอาใจช่วยครับ

ทนายพร.

193
ทนายอ่านแล้ว ก็โอโห  บริษัทนี้รักเราขนาดนี้เลยหรา  ถามเช้าถามเย็นว่าจะออกเมื่อใหร่  คงเป็นห่วงเราอ่ะมั๊งนะ  ;D

เอาเป็นว่า  ก็คงไม่ถึงกับละเมิดสิทธิ์อะไรมากมายหรอกครับ  เพราะที่บริษัทถามก็เดาว่า ตำแหน่งของเราคงมีความสำคัญที่ต้องหาคนอื่นมาทำแทนได้ยาก และคงต้องใช้ระยะเวลา ถ้าเราออกกระทันหัน จะหาคนมาแทนไม่ทัน และบริษัทอาจได้รับผลกระทบได้ ก็เลยอยากจะรู้เพื่อจะได้กำหนดแผนงานในการหาคนงานใหม่ได้นั่นเอง

ในเมื่อเราก็ไม่มีความชัดเจน ก็แจ้งไปเลยครับว่า เราไม่ไปเรียนแล้ว จะอ้างแม่ไม่ให้ไปเกรงโรคโควิด อะไรก็ว่ไป เจ้านายสบายใจได้ ดิฉันจะทำงานให้นายอย่างเต็มที่เหมือนเดิม  นายไม่ต้องกังวลไปนะจ๊ะๆ  อะไรประมาณนี้  แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป โดยไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการเรียนต่อให้ได้ยินอีก  และถ้าจะต้องไปเรียนต่อจริงๆและตัดสินใจแล้วค่อยเดินไปขอใบลาออก เขียนเสร็จยื่นเลย ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดครับ

ประมาณนี้

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

194
ถามมาหลายข้อ ทนายก็ตอบเป็นข้อๆตามที่ถามเลยนะครับจะได้กระจ่างชัด

ถามมาว่า....

1. ถ้าหากภรรยาผมถูกขอให้ออกจากงานจะเป็นการขัดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงานมาตรา 43 หรือไม่ และทำได้ไหม เนื่องจากเหตุผลการให้ออกไม่ใช่เพราะตั้งครรภ์
ตอบ แน่นอนว่า คงไม่มีบริษัทใหนที่จะระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเพราะเหตุตั้งครรภ์ แต่จะหาเหตุอื่นมากล่าวอ้าง เช่น ตำแหน่งเต็ม หรือจะอะไรก็แล้วแต่ เมื่อนายจ้างไม่ได้อ้างเหตุตั้งครรภ์ กฎหมายจึงไม่ห้ามที่จะเลิกจ้าลูกจ้างที่ตั้งครรภ์ ครับ

2. ถ้าบริษัทยืนยันจะให้ภรรยาผมออกจากงาน ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่
ตอบ  การเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องดูสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ อีกทั้งต้องดูว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือมีเหตุอันควรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การเลิกจ้างภรรยาของเราเกิดจากการเลือกปฎิบัติ ถ้าพิสูจน์ได้ ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งทนายดูแล้วก็มีโอกาสอยู่นะครับ

3. หากมีการเลิกจากงานขึ้นจริง ๆ ภรรยาผมจะสามารถเรียกร้องเงินตามนี้เป็นไปตามสมควรหรือไม่ (ต้องการทราบเอาไว้ก่อนว่าควรจะได้ขั้นต่ำเท่าไร เนื่องจากหากบริษัทเลิกจ้างจะมีการให้ลูกจ้างทำสัญญาการเลิกจ้างโดยยอมรับเงินชดเชยตามยอดที่บริษัทกำหนดเอาไว้ในทันที หากไม่เซ็นลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ ต้องไปฟ้องร้องกับกรมแรงงานเอาเอง)
- 3.1 ค่าชดเชยจากการให้ออกจากงาน อายุงานไม่เกิน 6 ปี = 6 เดือน
- 3.2 ค่าชดเชยจากการให้ออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน
- 3.3 ค่าเสียหายจากเงินเดือนระหว่างลาคลอดบุตร 1.5 เดือน
- 3.4 ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้จากการตกงาน (1)ระหว่างตั้งครรภ์ที่เหลือ 5 เดือน (2)ระหว่างพักฟื้นจากการตั้งครรภ์ 3 เดือน (3)ระหว่างหางานใหม่ 3 เดือน (4)ระหว่างยังหางานใหม่ไม่ได้ 3 เดือน รวม14 เดือน
- 3.5 ค่าเสียหายจากโบนัสที่สัญญาเอาไว้กับลูกจ้างทุกคนว่าจะจ่ายให้ 2.5 เดือนในสิ้นปี 2563 นี้
- 3.6 ค่าเสียหายจากโบนัสของปีหน้าที่ควรจะได้ 3 เดือน (ดูจากค่าเฉลี่ยโบนัสที่เคยได้มาในอดีต) เนื่องจากหากไม่ถูกไล่ออก ภรรยาอย่างน้อยจะต้องอยู่กับบริษัทนี้นานจนถึงได้รับโบนัสเพราะดูจากระยะเวลา 5 เดือนที่ตั้งครรภ์ บวกกับ 3 เดือนที่มีสิทธิลาคลอด
- 3.7 ค่าเสียหายจากการสูญเสียเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทจะต้องสมทบให้พนักงานสูงสุด 15% ต่อเดือน (ตามอายุงานภรรยาคือถ้าออกจากงานจะได้รับเงินสมทบเต็ม 100%) คำนวน 6.5 เดือนตามอายุเงินเดือนต่ำสุดที่ควรได้หากไม่ถูกให้ออกจากงาน เป็นเงินประมาณ 1 เดือน
- 3.8 ค่าเสียหายจากสวัสดิการอื่น ๆ เช่นประกันสุขภาพลูก, สวัสดิการค่าใช้จ่ายพิเศษที่จะได้รับระหว่างการเป็นหนักงาน
ตอบ ทนายพยายยามอ่านข้อนี้หลายรอบว่ากำลังจะสื่อสารอะไร หรือกำลังจะถามว่า หากถูกเลิกจ้างจะสามารถเรียกค่าเสียหายตามข้อ ๓.๑ ถึง ๓.๘ ได้มั๊ย ถ้าถามอย่างนี้ ก็ตอบว่า ได้ครับ แต่อาจจะได้แค่เรียก ;D เพราะการกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลที่จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะดูว่าเราเสียหายเพียงใดโดยคำนึงถึงอายุงาน เงินที่ได้รับไปแล้ว โดยปกติค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนี้ ศาลฏีกาได้วางแนวไว้ว่าให้คำนวณตามอายุงานของลูกจ้างที่ทำงานมา ในอัตราปีละ ๑ เดือน ประมาณนี้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้ว่าเงินอื่นๆตามข้อ ๓.๑-๓.๘ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วเรามีสิทธิได้รับถึงแม้ว่าจะพ้นการเป็นลูกจ้างมาแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เงินโบนัส หากบริษัทตกลงจ่ายเงินโบนัสให้ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม แล้วเรามาถูกเลิกจ้างในวันที่ ๑ มกราคม แต่นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัส กรณีเช่นนี้สามารถเรียกร้องได้ แต่ถ้ากรณีกลับกัน กำหนดจ่ายโบนัสในวันที่ ๒๕ ธันวาคม แต่นายจ้างเลิกจ้างเราในวันที่ ๑ ธันวาคม กรณีเช่นนี้ ไม่สามารถเรียกได้เพราะยังไม่ถึงกำหนดครับ ประมาณนี้

4. ค่าเสียหายจากการให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำให้เสียชื่อเสียงและทำลายขวัญกำลังใจลูกจ้างได้ด้วยหรือครับ เห็นบางกรณีก็มีพูดถึงค่าเสียหายส่วนนี้ ไม่แน่ใจว่าศาลจะพิจารณาเป็นมูลค่าเงินได้ด้วยหรอครับ
ตอบ ค่าเสียหายในส่วนชื่อเสียนั้น ศาลจะรวมๆในอัตราปีละ ๑ เดือนตามอายุงานตามที่อธิบายไว้ในข้อ ๓ แล้วครับ

5. ถ้าบริษัทไม่ได้ให้ภรรยาผมออกจากงาน แต่มอบหมายให้ทำงานตำแหน่งอื่น หรือปรับขึ้นตำแหน่งโดยภรรยาผมไม่ได้รับการปรับค่าจ้างขึ้นหรือปรับขึ้นไม่สมเหตุสมผล และบังคับให้ทำการเซ็นสัญญาเปลี่ยนตำแหน่งงาน และ/หรือ เงินเดือนในทันที ภรรยาผมสามารถเลือกที่จะปฏิเสธการเซ็นสัญญานั้นได้ใช่ไหมครับ ผมแนะนำให้ภรรยาผมไม่ต้องเซ็นย้ายตำแหน่ง แต่ให้ยอมเข้าไปทำงานในตำแหน่งใหม่ไปก่อนด้วยความจำยอมเพื่อไม่ให้ขาดงานหรือละเว้นการทำงาน แล้วค่อยไปฟ้องกรมแรงงานเรื่องการบังคับเปลี่ยนงานโดยไม่ชอบธรรม ไม่ทราบว่าการแนะนำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไรครับ
ตอบ กฎหมายคุ้มครองเรื่องห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณ แต่ที่เล่ามา หากการโยกย้ายตำแหน่งนั้น ค่าจ้างหรือสวัสดิการไม่ลดลงเป็นอำนาจในการจัดการของนายจ้าง สามารถโยกย้ายได้ เว้นแต่เป็นงานเฉพาะที่ต้องใช้วิชาชีพ และสมัครงานมาในตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ อย่างนี้ย้ายไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ นายจ้างสามารถโยกย้ายได้ 
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการโยกย้านนี่ทนายไม่ค่อยกังวลใจเท่าใหร่ แต่กังวลใจในปลายทางว่า หากเราไม่ยอมและไปเรียกร้องสิทธิ ภรรยาของเราจะถูกกดดันอย่างมาก แล้วการทำงานในอนาคตภรรยาของเราจะรับแรงกดดันได้เพียงใด หากรับแรงกดดันไม่ไหว คราวนี้แหละ นรกชัดๆ เลย ทำงานก็ไม่สนุกแน่ๆเลย  ลองไต่ตรองดูเอาครับ

ประมาณนี้ หากสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร

[/color][/size]

195
อันว่าสัญญาจ้่างนั้น ปกติมีสองแบบ คือแบบที่กำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน  และแบบที่ไม่กำหนดระยะเวลาจ้าง ซึ่งทั้งสองแบบจะมีสิทธิและหน้าที่ต่างกัน ซึ่งหากเป็นแบบไม่กำหนดระยะเวลาจ้าง หากจะเลิกจ้างก็ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้ากันก่อน หรือถ้าไม่บอกกล่าว กฎหมายก็กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า "ค่าตกใจ"

และแน่นอนว่าลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ หากถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด หรือหากมีความผิดแต่ไม่ใช่กรณีร้ายแรงก็ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย

แต่หากเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนแล้วเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยหากงานนั้นต้องเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน  หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี หมายความว่า หากจะเข้าเงื่อนไขไม่จ่ายค่าชดเชย จะต้องเป็นงานตามโครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจปกติของนายจ้าง โดยดูได้จากหนังสือวัตถุประสงค์ของบริษัท , งานตามฤดูกาล เช่นงานเกษตร และงานนั้นจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี หากเกิน ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยทุกกรณี

เอาละมาเข้าที่คำถามกัน...ถามว่า จะได้รับค่าชดเชยมั๊ย และ ข้อตกลงที่จะไม่รับเงินค่าชดเชยจะบังคับได้มั๊ย

ก็ตอบว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ได้ทำงานมา ๓ ปีแล้ว ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘

ส่วนที่ไปตกลงว่าสละสิทธิไม่รับค่าชดเชยนั้น มีแนวคำพิพากษาศาลฏีกาว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ

สรุปคือ หากถูกเลิกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแน่นอนครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 50