05/05/24 - 14:38 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 50
196
ที่ถามเพิ่มเติมมาว่า เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ๘ ปีอยู่หรือไม่นั้น

ทนายอ่านข้อความในข้อ ๑๐ ข้อย่อย ๑๐.๑ และ ๑๐.๒ แล้ว เห็นว่า เป็นสัญญาที่ไม่ได้ผูกมัดหรือกำหนดระยะเวลาจ้างไว้ที่แน่นอน ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถเลิกสัญญาจ้างต่อกันได้ โดยมีเงื่อนไขในการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ดังนั้น จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน มิใช่สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้าง ๘ ปีครับ หากจะมีการเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า และในการฟ้องก็ฟ้องค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒

ทนายพร.

197
คำถามในช่วงนี้ค่อนข้างที่จะคล้ายกัน เป็นต้นว่า ให้ลาออก ขอให้ลดค่าจ้างเงินเดือน ให้ลาโดยไม่รับค่าจ้าง เลิกจ้างเพราะสถานการณ์โควิด ซึ่งเครสนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น และทนายก็เห็นใจลูกจ้างทุกคนที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ ซึ่งถ้าถูกเลิกจ้างก็เป็นการยากที่จะหางานทำได้ ส่งผลถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในทุกเดือน หรือถ้าไม่อยากตกงานก็ต้องจำยอมกลืนความเจ็บช้ำระกำใจที่รายได้หายไป

อย่างไรก็ตาม ทนายก็ขอให้กำลังใจกับทุกท่านให้สามารถก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปให้ได้นะครับ

มาเข้าปัญหากันเลย..

ถูกสั่งไม่ให้มาทำงานแถมไม่ได้ค่าจ้าง พอกลับมาก็ให้ย้ายตำแหน่งละขอลดค่าจ้าง ซึ่งก็ยินยอมเพื่อหวังว่าจะได้ทำงานต่อไป พอนายจ้างเห็นว่าเราอยากทำงานก็บีบทุกทางโดยจะให้ลาออกแล้วสมัครใหม่ เพื่อยกเลิกอายุงานที่ทำมาแต่เดิม ทำให้ขาดสิทธิประโยชน์ในค่าชดเชหากถูกเลิกจ้างหรือเกษียณอายุงาน ..แล้วถามว่า จะทำอะไรได้บ้าง มีช่องทางสู้มั๊ย? ประมาณนี้

ทนายให้ชองทางต่อสู้เป็นประเด็นๆนะครับ
ประเด็นแรก  กรณีที่นายจ้างสังให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างนั้น เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและสัญญาจ้างแรงงาน เพราะการที่เราไม่ได้ทำงานเกิดจาก "คำสั่ง" ของนายจ้างให้เราหยุด ลูกจ้างจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่นายจ้างสั่งให้หยุด และนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างนั้น และกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ ก็ให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.๗) เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี

ประเด็นต่อมา เรื่องการย้าไปทำงานที่แผนกบัญชี ประเด็นนี้ คงทำอะไรไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้างก็ตาม เเต่เมื่อลูกจ้าง "ยินยอม" นายจ้างก็สามารถทำได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่จะให้ลาออกแล้วสมัครใหม่นั้น ทนายเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกและผลประโยชน์ของลูกจ้างด้านอายุงานที่ต้องเสียไป ดังนั้น ขอแนะนำว่าห้ามเขียนใบลาออกโดยเด็ดขาดนะครับ มิเช่นนั้นท่านจะเสียสิทธิในการรับค่าชดเชยและเสียด้านอายุงานด้วย

แน่นอนว่า เมื่อไม่เซ็นใบลาออก นายจ้างก็จะหาทางกดดันในทุกวิถีทาง ก็ต้องเตรียมใจไว้ให้ดีว่าอาจจะถูกกลั่นแกล้ง เช่น การไม่มอบหมายงาน การหาเหตุมาลงโทษ หรือ ฯลฯ สุดแท้แต่จริตของนายจ้างแต่ละคน

และการที่เราไม่เซ็นใบลาออก ก็เป็นสิทธิของเรา นายจ้างจะมาบังคับหาได้ไม่  เว้นแต่จะเอาปืนมาจี้ เอามีดมาจ่อหรือเอานักเลงมาคุมมาขู่ว่าจะทำร้าย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เซ้นไปเถอะ ไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะไม่ได้เกิดจากเจตนาของเรา แต่เป็นการขู่บังคับ ซึ่งหลังจากเซ็นแล้วก็ไปที่สถานีตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้ว่านายจ้างข่มขู่ให้เซ็นใบลาออกโดยที่เราไม่ได้สมัครใจ

หรือไม่ก็ใช้วิธีการเจรจาในเรื่องค่าจ้างที่จะลดลงจะลดกี่เดือน ลดเท่าใหร่ ก็ให้อธิบายเหตุผลถึงความเดือดร้อนของเราให้นายจ้างทราบ หรือถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็ให้นายจ้างเลิกจ้างและหางานใหม่ทำน่าจะดีกว่าที่ทนทำงานแบบอึดอัดนะทนายว่า และเชื่อว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ทนายเห็นมาเยอะแระ เดิมไม่อยากออกงาน แต่เมื่อได้ออกมาแล้วไปพบกันอีกครั้งหนึ่งต่างก็บอกว่า "รู้งี้ ออกมาตั้งนานแล้ว" เชื่อเถอะว่าถ้าเรามีความสามารถการหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

198
การที่จะเรียกร้องเอาผิดกับโครงการนั้น ต้องพิจารณาถ้อยคำตามคำชี้ชวน หรือเอกสารสัญญาเป็นหลัก เพราะประเทศไทยใช้กฎหมายแบบลายลักษณอักษร หมายความว่าจะตีความตามตัวอักษร

ดังนั้น หากนิติบุคคลระบุว่า "มีระบบความปลอดภัย​ รปภ.​ CCTV ตลอด24ชั่วโมง" ก็ย่อมตีความได้ว่า โครงการจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และติดตั้งกล้องวงจรปิด ส่วนจะมี รปภ.กี่คน มีกล้องวงจรปิดกี่ตัว เมื่อไม่ได้ระบุไว้ ก็ต้องจัดให้มีตามที่ระบุไว้ ก็ถือว่าโครงการได้จัดให้ตามที่ระบุไว้ในโครงการแล้ว เว้นแต่จะมีหลักฐานอื่นที่แสดงได้ว่า จะต้องติดกล้องวงจรปิดทั่วทั้งโครงการ กรณีนี้จึงจะถือว่าโครงการเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือผิดเงือนไข

เมื่อผิดเงื่อนไขผิดสัญญาก็ต้องไปพิจารณาในสัญญาที่ทำกันไว้ว่า แต่ละฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่กรณีผิดสัญญากันไว้อย่างไร เช่น ผู้ซ์้อสามารถยกเลิกสัญญาและรับเงินดาวน์คืนได้ ก็ว่ากันไปตามข้อสัญญานั้น

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า เมื่อโครงการเสร็จสิ้นและมีการตั้งนิติบุคคลขึ้น ก็คงต้องอาศัยนิติฯเป็นผู้ดำเนินการต่อหากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องติดกล้องเพิ่ม

หรือถ้าอยากให้โครงการรับผิดชอบ ก็มีอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะได้ผล คือให้ผู้ซ์้อรวมตัวกันอย่างน้อยก็ซักครึ่งหนึ่งของผู้ซื้อทั้งหมด ทำหนังสือเสนอข้อเรียกร้อง แล้วไปยื่นต่อเจ้าของโครงการ และใช้เวทีตรงนั้น เจรจาหาข้อยุติ หากไม่ได้ก็ยกระดับการขับเคลื่อนเช่น ร้องศูนย์ดำรงธรรม และหน่วยงานอื่นๆที่อยู่ในพื้นที่เพื่อเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกัน  ซึ่งสมัยนี้กล้องวงจรปิดก็ไม่ได้มีราคาแพงอะไรมากมาย  ลองวิธีนี้ดูครับ เชื่อว่าได้ผลแน่นอน ทนายเคยใช้วิธีนี้ได้ผลมาแล้ว ลองดูครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

199
ทนายพยายามอ่านหลายรอบเพื่อทำความเข้าใจกับคำถาม ก็ไม่แน่ใจว่า พยายามจะสื่อถึงอะไร หรือจะถามว่าอย่างไร

ซึ่งจากที่เล่ามา การตอกบัตรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และนายจ้างก็ได้จ่ายเงินค่าโอทีมาให้ด้วยแล้ว กรณีอย่างนี้ ถือว่าเป็นทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นความผิดร้ายแรงนะครับ นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเรียกเงินค่าโอทีคืนได้ด้วย

ขอแนะนำว่าหากมีโอกาสก็อย่าทำอีกนะครับ ควรหาวิธีแก้ปัญหาวิธีอื่นแทนการตอกบัตรไม่ตรงเวลานะครับ เดี๋ยวจะเป็นเรื่องราวใหญ่โต โอกาสสู้คดีแล้วชนะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีโอกาสเลยทีเดียว

ส่วนปัญหาที่ว่าจะไม่ได้ค่าคอมฯจากการทำยอดไม่ได้ ก็ควรจะปรึกษาหารือกับหัวหน้าหรือนายจ้างว่าเป้าที่กำหนดนั้นสูงเกินไปในสถานการณ์อย่างนี้ ขอให้ปรับลดมาหน่อย ก็จะเป็นทางออกที่ดีกว่านะครับ

ทนายพร.


200
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: โดนไล่ออก
« เมื่อ: กันยายน 13, 2020, 01:43:20 am »
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจ ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ ยิ่งหางานยาก

เอาเป็นว่า หากความผิดดังกล่าว มิใช่เกิดจากการกระทำของแม่ ก็ถือว่าไม่ไม่ผิด หรืออาจจะมีส่วนทำผิดอยู่บ้าง ก็อาจจะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ซึ่งต้องดูเป็นกรณีๆไป เพราะมีรายละเอียดที่จะต้องซักถามเพื่อให้ได้ข้อสรูปว่าที่เล่ามานั้น เท็จจริงหรือไม่ อย่างไร

ดังนั้น หากไม่ได้ทำผิด หรือเป็นความผิดไม่ร้ายแรง หากถูกเลิกจ้างแม่ย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายครับ

ให้พาแม่ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีการสอบสวนถึงสาเหตุและความผิดดังกล่าวว่าแม่ไม่ได้กระทำผิดตามข้อบังตับเกี่ยวกับการทำงานหรือเข้าเหตุกรณีร้ายแรงหรือไม่ หากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วเห็นว่าไม่ผิดหรือไม่ใช่ความผิดร้ายแรง พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับแม่เองครับ ไม่ยากๆ

หรือหากยังสงสัยโทรมาถามได้นะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

201
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจ และสถานการณ์ตอนนี้ก็คงมีนายจ้างที่อยู่ในสภาพย่ำแย่มากมาย แต่ก็มีอีกหลายสถานประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด

แต่เท่าที่อ่านเรื่องราว ก็น่าจะได้รับผลกระทบอยู่นะครับ เพราะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

เอาเป็นว่า ทนายจะตอบรวมๆไปก็แล้วกันนะครับ เพราะเท่าที่อ่านก็จะประมาณว่าเล่าให้ฟังซะมากกว่า

ซึ่งตามข้อกฎหมาย หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายค่าจ้างไม่ครบ ก็สามารถไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.๗) เพื่อขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่าย รวมถึงกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง ก็สามารถไปยื่นคำร้องได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อยื่นคำร้องแล้ว พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งภายใน ๖๐ วัน หากมีคำสั่งแล้วนายจ้างไม่นำเงินมาจ่ายตามคำสั่งนายจ้างก็จะมีความผิดอาญาด้วย

หรือหากต้องการคำอธิบายหรือมีคำถามก็สามารถโทรมาถามได้ตามเบอร์โทรที่ปรากฎในเว็บไซด์นี้นะครับ เพื่อจะได้อธิบายได้อย่างชัดเจนและถูกต้องครับ

ให้กำลังใจนะครับ

ทนายพร.


202
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: เกี่ยวกับแรงงาน
« เมื่อ: กันยายน 13, 2020, 12:55:49 am »
โหยยย...ถามเฉยๆก็ได้ครับ ไม่ต้องถึงกับกราบหรอกครับ ตอบให้ทุกคำถาม (ถ้ามีเวลาว่าง..อิอิ)

ตอบเลย

อันดับแรก น่าจะถามว่า ทำงานปกติเข้า ๘ โมงเช้า เลิกงาน ๑๗.๓๐ น. หากต้องไปส่งสินค้ากลับแล้วเลยเวลาเลิกงาน ไม่ได้โอที แต่ถ้ามาสายถูกหักตังค์ แล้วบอกว่าซึ่งเหมือนจะโดนเอาเปรียบ...ทนายอ่านแล้วดูเหมือนจะไม่ใช่คำถาม แต่น่าจะเป็นการเล่าให้ฟังมากกว่า ใช่ป่ะ..อิอิ  เอาเป็นว่า ถ้ากำหนดเวลาเลิกงาน ๑๗.๓๐ น. หากเกินเวลาดังกล่าวก็ต้องได้โอที หรือถ้าเป็นงานขนส่ง จะไม่เรียกโอที แต่จะเรียกว่า ค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ก็จะได้แค่ ๑ เท่าของชั่วโมงที่ทำนะครับ(ประกาศกระทรวงฉบับที่ ๑๒)

อันดับสอง การคำนวนฐานในการส่งประกันสังคมนั้น จะคิดที่ฐาน "ค่าจ้าง" ซึ่งหมายถึง เงินที่จ่ายให้เสมอๆ เงินที่จ่ายให้ประจำๆ และเงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้โดยไม่มีเงือนไข ถือเป็นค่าจ้าง ดังนั้น ต้องดูว่า ค่าขนส่ง และค่าติดตั้งาน ถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ถ้าเป็นค่าจ้างก็ต้องนำมาคำนวนเป็นฐานในการคิดเงินส่งประกันสังคมด้วย  ดังนั้น ข้อนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจน จึงตอบไม่ได้ว่า นายจ้างทำถูกหรือผิด

อันดับที่สาม การพักกฎหมายบอกว่า ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างพักอย่างน้อย ย้ำ อย่างน้อยวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง หมายความว่า มากกว่า ๑ ชั่วโมงได้ แต่จะน้อยกว่า ๑ ชั่วโมงไม่ได้ และใน ๑ ชั่วโมงก็ยังสามารถแบ่งพักเป็นช่วงได้ด้วยนะครับ แต่วันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงครับ

สำหรับวันนี้ ทนายก็คงจะตอบเพียงเท่านี้ครับ

ขอบคุณที่ถามมานะครับ

ทนายพร.

203
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: กรณีการลดเงินเดือน
« เมื่อ: กันยายน 13, 2020, 12:25:47 am »
ถ้าจะให้ทนายตอบแค่ให้เซ็นกับไม่เซ็น ก็คงเป็นเรื่องง่ายที่จะตอบ

แต่ทนายสนใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปทั้งการเซ็นและไม่เซ็นมากกว่า  ดังนั้น จึงต้องถามตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะเดินทางใหน

ทางแรก ยินยอมเซ็นลดเงินเดือน  ก็มีงานทำ แต่รายได้ก็ต้องลดลง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตจะถูกขอร้องให้ลดค่าจ้างอีกมั๊ย แต่มุมของนายจ้างก็จะมองว่าท่านเป็นคนดี มีความเห็นอกเห็นใจบริษัท เอาเป็นว่า หากเลือกทางนี้ก็ลองเจรจาเรื่องระยะเวลาที่จะต้องถูกลดเงินเดือนว่าจะกี่เดือน กี่ปี เพื่อจะได้สบายใจทั้งสองฝ่ายและมองเห็นอนาคตได้บ้าง

อีกทาง ไม่เซ็นและไม่ให้ลด ถ้าเป็นทางนี้ ท่านอาจจะต้องเตรียมใจรับแรงกดดันต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น (หรืออาจไม่เกิดขึ้นก็ได้) เช่นการไม่มอบหมายงานให้ทำ การหาเหตุมาลงโทษ หรือ ฯลฯ ซึ่งมุมของนายจ้างจะมองว่าเราเอาแต่ได้ ไม่เข้าใจสถานการณ์ของบริษัท และอาจจะถูกเลิกจ้าง โดยอ้างเหตุไวรัส covid ก็เป็นได้ นั่นก็จะทำให้ท่านต้องตกงาน ขาดรายได้ แต่แน่นอนว่า หากนายจ้างเลิกจ้างท่าน ก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การจะเซ็นหรือไม่เซ็น เป็นสิทธิของลูกจ้าง นายจ้างจะมาบังคับไม่ได้ หากเราเซ็นก็ถือว่าเรายินยอม หากไม่เซ็นนายจ้างก็ไม่สามารถลดเงินเดือนเราได้ หากฝ่าฝืนก็ผิดกฎหมายนั่นเอง

ทนายได้อธิบายไปแล้ว ก็อยู่ที่ท่านจะตัดสินใจเลือกทางเดินด้วยตัวเองแล้วครับ

ให้กำลังใจนะครับ

ทนายพร

204
อ่านแล้วก็รู้สึกสงสารคนค้ำ ;) ที่ต้องมารับผิดชอบกับผู้กู้ที่ไม่รับผิดชอบ เพราะเรื่องเหล่านี้ คิดว่าหลายคนคงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะเวลาเพื่อนอยากจะให้เรามาค้ำประกันให้ ก็ชักแม่น้ำทั้งห้า พร้อมสัญญาว่าจะไม่ทำให้เราเดือดร้อน แต่พอเสร็จสมอารมณ์หมายแล้ว ก็หายเงียบ ภาระตกกับผู้ค้ำประกันอีก ถึงเเม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไปยึดทรัยพ์เอากับผู้กู้ก่อน หากผู้กู้หรือมีทรัพย์ เว้นแต่ไม่มีทรัพย์ใดจึงจะมายึดหรืออายัดเอากับคนค้ำตามลำดับต่อไป...

ตอบตามที่ถามเลยนะ...

กรณีที่จะเอาทรัพย์ของภรรยา (กรณีที่ภรรยามาเซ็นรับรู้ว่าสามีมาค้ำประกัน) ก็สามารถยึดได้ครั้บ แต่ไม่ทั้งหมด จะได้เฉพาะส่วนที่เป็น "สินสมรส" เท่านั้น หากเป็นสินส่วนตัวของภรรยา รวมทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง ยึดหรืออายัดไม่ได้ครับ แต่ถ้าเป็นกรรมสิทธิรวม เช่น มีชื่อในที่ดินร่วมกัน กรณีเช่นนี้ก็สามารถยึดที่ดินนั้นมาขายทอดตลาดได้ แต่ภรรยาก็มีสิทธิที่จะ "ร้องกันส่วน" ในส่วนของตนออกได้ครับ แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าทรัพย์นั้น ได้มาระหว่างสมรสหรือมีอยู่แล้วก่อนสมรส เพราะเป็นสาระสำคัญ หากยึดผิด ก็มีสิทธิถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เหมือนกันครับ

คงครบถ้วนนะครับ

ทนายพร.

205
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองคนงานที่มีอำนาจการต่อรองน้อยกว่านายจ้าง และเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่มักไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงในการเปลี่ยนแปลงสังคมซักเท่าใหร่ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้มีการออกกฎหมายเพื่อมาคุ้มครองดังกล่าว

ซึ่งเรื่องหนึ่งที่คุ้มครองคือ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ โดยกำหนดอัตราสุงสุดที่ ๔๐๐ วัน

หรือแม้แต่เป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้แน่นอน หากเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่ดีครับ เว้นแต่เป็นงานโครงการหรืองานตามฤดูกาล แต่งานนั้นจะต้องมีระยะเวลาเสร็จสิ้นไม่เกินสองปี เป็นต้น

ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไร แม้จะมีการบอกกล่าวล่วงหน้านานเพียงใดก็ตาม ก็ยังต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหากต้องเลิกจ้างครับ แต่ไม่จำต้องจ่ายเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามาตรา ๑๗ ครับ

ส่วนกรณีที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ นั้น มีกำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๙ แล้ว เช่น กระทำผิดร้ายแรง ผิดซ้ำคำเตือน กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ขาดงานติดต่อกันเกินกว่าสามวัน เป็นต้น


ทนายพร.

206
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ป.อ. มาตรา 397
« เมื่อ: กันยายน 12, 2020, 11:35:41 am »
อัยยะ  จะเอาคดีอาญามาลุยเลยหรา ;D

คืองี้ครับ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๗ บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท"
องค์ประกอบของมาตรานี้ที่ดูจะไกล้เคียงกับความต้องการของผู้ถาม คือ ต้องมีเจตนา "รังแก" , "ข่มเหง"  โดยทั้งสองคำนี้ ต้องไปดูว่าทั้งสองคำแปลว่าอะไร

ทนายไปเปิดดูแระ ..สรุปว่า "รังแก หมายความว่า (กิริยา) คำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น"  ส่วนคำว่า "ข่มเหง เป็นคำกิริยาเช่นกัน หมายความว่า ใช้กำลัง และอิทธิพลรังแกสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น"

ดังนั้น โดยสรุป มาตรานี้มีเจตนาที่จะลงโทษผู้ทำทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญ อับอาย จากการกระทำดังกล่าว เมื่อมาพิจารณาจากการที่นายจ้างประเมินการทำงานไม่ตรงกับความรู้ ซึ่งอาจจะเป็นการกลั่นแกล้ง จึงยังไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรานี้ครับ...ฟันธง


ซึ่งมาตรานี้ ศาลก็มักจะใช้ในการตัดสินบ่อยๆอยู่เหมือนกันนะครับ ซึ่งล่าสุดก็เป็นคดีดังอยู่นะ ที่มีคนไปจอดรถขวางหน้าบ้านคุณป้า ทำให้ป้าต้องเอาพรั่วทุบรถนั่นงัย หรือตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๙๐๘/๒๕๑๘ ก็พิพากษาในทำนองเดียวกันครับ

สรุป หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับการประเมินไม่ชอบ ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อเพิกถอนการประเมินดังกล่าวแล้วให้ประเมินใหม่ได้ครับ

ทนายพรง

207
เซ็นต์แค่สำเนาถูกต้องในโฉนด โดยไม่ได้ให้สำเนาบัตรประชาชนไปด้วย ทนายว่า ไม่น่าจะเอาโฉนดในชื่อเราไปทำอะไรได้นะ เว้นแต่จะมีสำเนาบัตรประชาชนของเราที่ยินยอมไปด้วย จึงจะสามารถดำเนินการทำนิติกรรมต่างๆได้

เอาเป็นว่า ตามหลักการและวิธีการแล้ว เป็นไปตาม "มโนธรรม" ได้อธิบายไว้

หรือไม่ก็รีบไปทำสัญญาเช่ากันซะให้เรียบร้อยก็จะได้นอนหลับ มิเช่นนั้น ก็จะกังวลอยู่เช่นนี้ และอาจบานปลายในอนาคตด้วย

ทนายพร.

208
อ่านตามที่เล่ามาก็ดูจะขัดแย้งกันอยู่ในตัวนะครับ

ยังเป็นเด็กแต่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ก็จะเสียอนาคตและไม่แน่ว่าจะส่งผลถึงอาชีพการงานในภายภาคหน้าที่จะหางานยาก หรือบางเห่งหากตรวจพบว่า เราเคยไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด บริษัทก็ไม่รับเข้าทำงานเลย หรือถ้าไปกรอกไปสมัครว่าไม่เคยต้องโทษเกี่ยวกับยามาก่อน แล้วถูกตรวจพบภายหลัง ก็อาจถูกเลิกจ้างได้ เห็นมั๊ยว่า ไม่ดีเลย

แต่เอาล่ะ เรื่องมันผ่านมาแล้ว ก็ถือเป็นบทเรียนสำหรับทุกท่านโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้เลยครับ มันไม่ใช่เรื่องดีที่คนดีๆเค้าทำกันแน่ๆ

ถามว่า จะโดนประมาณกี่ปี?  เอาเป็นว่ายาอี ซึ่งย่อจาก “เอ็กสตาซี่” (ecstasy) ยานี้เป็นอนุพันธ์ของ methamphetamine หรือย่อคือ MDMA จัดเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังนั้น โทษที่จะได้รับตามข้อหาจำหน่ายนั้น ตั้งแต่ ๔ ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต แต่โดยทั่วไปตามที่เคยทำมาหากรับสารภาพ ศาลมักลง ๔ ปี ลดโทษ เหลือ ๒ ปี ครั้บ

ส่วนกรณีอยู่ในวัยเรียนนั้น มิใช่เหตุที่ศาลจะปราณีไม่ลงโทษนะครับ แต่กลับกัน ศาลอาจจะมองว่า เรามีหน้าที่เรียนแต่ไม่ตั้งใจเรียน ก็เป็นได้

หากอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ศาลจะลดอัตราส่วนโทษลงจากที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น ปกติโทษกำหนดไว้ ๔ ปี ก็จะลดอัตราส่วนโทษลง เป็น ๓ ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ ๑ ปี หกเดือน แทนที่จะเป็น ๒ ปี อย่างนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากทำผิดจริง ก็รับสารภาพ โดยให้ทนายความทำคำให้การสวยๆ ยกความดีความชอบที่เราเคยทำมาบรรยายไว้ในคำให้การเพื่อให้ศาลปราณีรอการลงโทษก็เป็นได้ครับ

ดังนั้น หากได้รับความปราณีจากศาลแล้ว ก็ให้หลีกหนีให้ไกลกับยาเสพติดนะครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร

209
โดนจับกัญชานี่ โทษไม่ร้ายแรงหรอกครับ เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ 

ซึ่งปกติศาลมักจะลงโทษปรับเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นการครอบครอบเพื่อเสพ

แต่ปัญหาคือ ถูกจับตอบใหนล่ะ...เสพแล้วไปขับรถหรือไม่ ถ้าใช่ งานก็งอกแระ

เพราะตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ เค้าห้ามมิให้ผู้ไดที่เสพยาเสพติดนั้นขับรถ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปตามข้อหาที่ตำรวจตั้งว่า "ขับเสพ" ซึ่งจะต้องรับโทษเพิ่มขึ้นอีก ๑ ใน ๓ ตามโทษที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ

เอาเป็นว่า เครสนี้ ไม่น่าจะติดคุกครับ แต่จะมีโทษปรับแน่นอน

ประมาณนี้ ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

210
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ภรรยาโดนจับ
« เมื่อ: สิงหาคม 04, 2020, 03:22:43 am »
ถูกจับเสพยาไอซ์ ถ้ารับสารภาพ ศาลมักจะใช้ดุลพินิจในการรอลงอาญาได้ครับ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลนะครับ

และถ้าผิดจริง ก็แนะนำว่า ให้รับสารภาพ โทษหนักจะได้เป็นเบา โดยปกติศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่งครับ

ส่วนคดีครอบครองไอซ์นั้น ต้องดู "ปริมาณ" เป็นหลักครับว่า ครอบครองจำนวนกี่กรัม ถ้าเกินกว่า ๒๐ กรัมขึ้นไป (สารบริสุทธิ์) กฎหมายสันนิฐานและถือเป็นจำหน่าย มีโทษจำคุกและศาลมักไม่รอลงอาญา และมีโทษปรับอีกด้วย

ส่วนการประกันตัวนั้น ปกติศาลมักจะให้ประกันตัวอยู่แล้วและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการที่จะไม่ให้ประกันตัวนั้น เป็นข้อยกเว้นและต้องมีเหตุ เช่นจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน เป็นผู้มีอิธิพล โทษสูง อย่างนี้เป็นต้น

ประมาณนี้ ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 50