06/05/24 - 18:59 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 44 45 [46] 47 48 ... 50
676
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ผมโดนโกงเงินครับ
« เมื่อ: มกราคม 13, 2015, 10:59:53 pm »
เพื่อนผมยืมเงินผมไปซื้อ โทรศัพท์ 5,000 บาท และเพื่อนผมก็ไม่คืนเลยครับทำอย่างไงดีครับ...อือ..เป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจกับใครหลายๆคนเลยทีเดียว และส่วนใหญ่ในการกู้ยืมเงินกันระหว่างเพื่อนอย่างนี้ก็มักจะไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ด้วย และถ้าหากทวงมากๆก็เสียเพื่อน หรือถ้าไม่ทวงเราก็เสียเงิน จะเลือกทางใหนดีล่ะ...
อย่างนี้ครับ ผมขอตอบข้อกฎหมายก็แล้วกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า "การกู้ยืมเงิน กว่า สองพันบาท ขึ้นไป นั้น ถ้า มิได้มี หลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อ ผู้ยืม เป็นสำคัญ จะฟ้องร้อง ให้บังคับคดี หาได้ไม่  ในการกู้ยืมเงิน มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่า จะนำสืบการใช้เงิน ได้ต่อเมื่อ มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืม มาแสดง หรือ เอกสาร อันเป็น หลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น ได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอน ลงใน เอกสาร นั้นแล้ว"
    ก็หมายความว่า กู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท (เดิม 500 บาท) ต้องมีหลักฐานการกู้ยืม ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาหรือหลักฐานอื่นๆเช่นการผ่อนชำระหนี้,หนังสือรับสภาพหนี้ (อันนี้เราอาจจะทำเอาแล้วเอาไปให้เพื่อนที่ยืมเงินเซ็นต์ในวันพรุ่งนี้ว่าเค้าเป็นหนี้เราจะนวนเท่านั้นเท่านี้ก็ถือว่าเป็นหลักฐานได้ถ้าเพื่อนยอมเซ้นต์) หากไม่มีฟ้องได้ก็แพ้ครับ และ   จากคำถามที่ถามมา ก็ไม่รู้ว่าได้ทำสัญญาต่อกันหรือไม่ หากไม่มีสิ่งที่จะทำได้ในตอนนี้อาจจะต้องทำใจว่าได้ทำบุญครั้งใหญ่ละครับถ้ายังอยากคบคนนี้เป็นเพื่อนอยู่
ทนายพร

677
เป็นปัญหาที่น่าเห็นใจครับ เพราะกว่าเก็บเงินเพื่อจะซื้อทองได้ซักเส้นก็ยากในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุแล้วก็ต้องให้กฎหมายบ้านเมืองจัดการต่อไปครับ จากที่ถามมาขอตอบดังนี้ครับ
ถ้าตามที่เข้าใจ ก็คือ มีทองคำอยู่ และวันหนึ่งก็พบว่าทองที่เก็บไว้หายไป และต่อมาก็มีทองคำกลับมาอยู่ที่เดิม และพอตรวจสอบจึงรู้ว่าทองที่กลับมามันไม่ใช่ทองแท้ จึงได้ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนหรือตำรวจเพื่อหาคนผิด และที่ทองคำนั้นจะมีหลักฐานคือลายนิ้วมือของคนร้ายติดอยู่หรือไม่ และกระบวนการในการเอาคนผิดมาลงโทษจะใช้เวลานานเท่าใหร่
   ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า โดยทั่วไปเวลาไปแจ้งความต่อตำรวจแล้ว ตำรวจก็จะมาสอบข้อเท็จจริงและเก็บหลักฐานทางคดี ซึ่งก็คือต้องเอาทองคำปลอมที่ว่าเนี๊ยะไปตรวจพิสูจน์ และในกระบวนการในการ "เอาไปตรวจสิสูจน์" ลายนิ้วมือแฝงที่ติดอยู่ที่ทองนั้น หากตำรวจที่ไปเอามาไม่มีหลักการในการเก็บหลักฐานก็เป็นการยากที่จะหลงเหลือลายนิ้วมืออยู่ รวมทั้งหากเราเองหรือคนอื่นเป็นคนหยิบจับทองนั้นด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเป็นการพิสูจน์ยากมากครับ แต่ก็ไม่ใช่จะไม่สามารถจะพิสูจน์ได้เลย ซึ่งคงต้องใช้วิทยาการทางด้านพิสูจน์หลักฐานเข้ามาช่วยค่อนข้างมาก แต่ประเด็นมันก็อยู่ที่ว่า คดีอย่างนี้ ตำรวจมักจะให้ความใส่ใจน้อย เนื่องจากไม่ใช่คดีใหญ่ หรือตำรวจอาจจะมีภารกิจมากหรือต้องทำคดีอื่นๆควบคู่ไปด้วย ซึ่งก็จะส่งผลต่อการดำเนินคดีที่ล่าใช้ได้ครับ ดังนั้น เรื่องลายนิ้วมือแฝงอาจจะยังอยู่ แต่อาจจะพิสูจน์ยากว่าลายมือที่ปรากฎบนทองนั้นเป็นลายมือของใครบ้าง
    ส่วนตำรวจจะใช้เวลาในการดำเนินคดีนานเท่าใหร่นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีอาญา (ลักทรัพย์) ก็เริ่มจากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน(ตำรวจ) แล้วพนักงานสอบสวนก็จะเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบสวน (ถ้าสงสัยว่าใครเป็นคนทำ หรือเราบอกตำรวจว่าใครลักเอาทองเราไป) เมื่อมีการสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวนส่งให้กับพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณา หากเห็นว่า คดีมี "มูล" ก็หมายความว่า มีความเป็นไปได้ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นคนร้ายลักทรัยพ์เราไป ก็จะทำการทำคำฟ้อง และฟ้องต่อศาลยุติธรรม เมื่อฟ้องและศาลรับฟ้องแล้ว ผู้ต้องสงสัยก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นจำเลยในคดีอาญา และเข้าสู่กระบวนการในการพิจารณาคดี สืบพยานหลักฐานกันไป ซึ่งในคดีอาญาศาลต้องเชื่อว่าจำเลยเป็นคนร้ายโดยปราศจากข้อสงสัย ก็จะพิพากษาจำคุกจำเลยต่อไป โดยกระบวนการต่างๆอาจจะไวหรือช้าก็ไม่อาจคาดหมายได้ แต่โดยทั่วไปไม่น่าจะเกินหนึ่งปี และก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าหากพนักงานสอบสวนใส่ใจในคดี เร่งหาตัวคนร้ายแล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลไว คดีก็จะไวตามไปด้วยครับ
   ให้กำลังใจนะครับ
ทนายพร...

678
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าการตอบข้อสอบในแต่ละสนามสอบไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมีหลักกฎหมายเหมือนๆกันเนื่องจากใช้กฎหมายแรงงานฉบับเดียวกัน โดยกฎหมายแรงงานฉบับหลักๆก็จะมีด้วยกัน 8 ฉบับ ไม่รวมประกาศกระทรวง ซึ่งมีอีกมากมาย ซึ่งทั้ง 8 ฉบับก็ครอบคลุมเกือบจะทุกประเภทงานแล้ว ซึ่งผู้จะศึกษากฎหมายแรงงานนั้นต้องเข้าใจหลัก "เจตนารมณ์" ของกฎหมายแต่ละฉบับก่อนว่าเป็นอย่างไร มิเช่นนั้นก็จะตีความกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งก็จะทำให้การทำความเข้าใจในข้อกฎหมายยากขึ้น อย่างเช่น ในคำถามข้อ 3 เรื่องการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น ก็อยู่ในก็ได้บัญญํติไว้ใน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมวด 5 มาตรา 52 ซึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน" ซึ่งนั้นหมายความว่า การจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างในทุกกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อนจึงจะทำหนังสือเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างคนนั้นได้ เป็นต้น
ก็เป็นกำลังใจการศึกษาเรียนรู้กฎหมายแรงงานนะครับ ซึ่งบางเรื่องศาลฏีกาก็ได้วางแนวทางในการวินิจฉัยไว้แล้วท่านสามารถหาอ่านได้ที่เว็บไซด์ศาลฎีกาหรือที่กระทรวงแรงงานได้ครับ
ปล.ถ้าต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมกรุณาแจ้งมาด้วยว่าสอบสนามใหนหรือสถาบันใดครับ
ทนายพร

679
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ผมโดนเลิกจ้าง 16 12 57
« เมื่อ: ธันวาคม 19, 2014, 01:43:38 pm »
เข้าใจว่าคงจะเป็นการขับรถโฟร์คลิฟภายในโรงงาน เท่าที่ได้อ่านรายละเอียดว่าจะมีความผิดหรือไม่ มีข้อแนะนำอย่างนี้ครับ


ประเด็นแรก


ให้ดูที่ “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” หรือ “ประกาศบริษัท” เกี่ยวกับเรื่องการใช้รถโฟร์คลิฟ ว่าได้กำหนดหน้าที่หรือโทษไว้ว่าอย่างไร

ซึ่งจากการพิจารณาที่บอกมานี้เข้าใจว่า ถูกนายจ้างเลิกจ้างเพราะถูกใบเตือน 3 ครั้ง (หนังสือเตือน) ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องพิจารณาหนังสือเตือนนั้นอย่างละเอียดด้วยว่า เตือนด้วยข้อหาอะไร? และเป็นข้อหาเดิมหรือไม่?


ถ้าใช่ก็เป็นการผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย


แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า การให้หนังสือเตือนนั้น ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ประกอบด้วย


ประเด็นที่สอง

ถ้าดูจากพฤติกรรมแล้วถ้ามองด้วยใจเป็นธรรมก็จะเห็นว่า ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ทำเพื่อให้บริษัทได้ประโยชน์จากระบบการผลิตที่เร่งรีบ แต่การที่บริษัทได้มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยฯก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม


แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไปว่าการออกกฎระเบียบนั้นเป็นไปด้วยความเป็นธรรมหรือไม่ และผู้ต้องปฎิบัติหรือผู้ที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ออกมานั้น รู้หรือไม่? ถ้ารู้ก็ผิด ถ้าไม่รู้จะถือว่าทำผิดก็อาจจะเกินเลยไปหน่อย ยิ่งเป็นการย้ายแผนกและประกอบกับแผนกที่ย้ายไปนั้นไม่มีพนักงานขับรถโฟร์คลิฟที่มีใบอนุญาตทำงานในเวลากลางคืน ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีการพิสูจน์กันในชั้นศาลถ้าหากลูกจ้างนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาล


และโดยปกติแล้วการจะออกกฎระเบียบก็จะต้องมีการให้ลูกจ้างรับรู้รับทราบ ด้วยการอบรมหรือการเซ็นต์เอกสารเพื่อรับทราบ หากไม่มีการยืนยันว่าได้รับทราบระเบียบก็ถือว่ายังมีข้อต่อสู้ได้ครับ


ดังนั้น หากเราคิดว่าเราไม่น่าจะถึงขั้นถูกเลิกจ้าง และประสงค์จะเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ให้พิจารณาทั้งสองประเด็นตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถนำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้ครับ



อนึ่ง สำหรับประเด็นการฟ้องต่อศาลมีดังนี้ คือ เรียกค่าชดเชย , ค่าบอกกล่าว,ค่าจ้างค้างจ่าย(ถ้ามี),ค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม(ถ้ามี) และวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนในปีที่เลิกจ้าง, ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ครับ แต่ถ้าเรามีความผิดกรณีร้ายแรง ทั้งหมดนี้จะไม่มีสิทธิได้รับครับ



คำตอบยาวหน่อย แต่เพื่อให้ได้คำอธิบายที่ชัดเจนขึ้น หวังว่าคำตอบคงสร้างความกระจ่างได้ในระดับหนึ่งนะครับ


ส่วนที่บอกว่าส่งเรื่องให้อัยการนั้น ตอบได้ตรงนี้เลยว่าคนแนะนำนั้นไม่รู้เรื่อง และเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอัยการเลยแม้แต่นิดเดียว


หรือถ้ายังสงสัยในประเด็นไหนก็สามารถโทรสอบถามได้ครับ...ให้กำลังใจครับ...





680
ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเรื่องขยายเวลาการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติครับ ยังไงถ้ารัฐบาลมีนโยบายขยายเวลาเมื่อไหร่ ผมจะมาแจ้งทันทีครับ

681
ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  มาตรา31 ได้เขียนไว้ว่า  “เมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา  ไกล่เกลี่ย  หรือชี้ขาด  ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่ของลูกจ้าง  ผู้แทนลูกจ้าง  กรรมการ  อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน เว้นแต่บุคคลดังกล่าว


(1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง


(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง ไม่ต้องตักเตือน ทั้งนี้ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น ต้องไม่ออกเพื่อขัดขวางไม่ให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง


(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร”


ทั้งนี้ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายด้วย คือ ต้องยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ และข้อเรียกร้องนั้นต้องเป็นเรื่องสภาพการจ้างเท่านั้น  และต้องมีรายชื่อลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องอย่างน้อยร้อยละ 15  ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง หากเป็นแค่เพียงลูกจ้างกลุ่มใหญ่เข้าพบนายจ้างและเรียกร้องด้วยวาจาขอเพิ่มสวัสดิการ  หรือลูกจ้างแค่ไม่กี่คน (จากลูกจ้างทั้งหมดเป็นพันคน) ยื่นหนังสือถึงนายจ้างขอปรับสภาพการจ้าง ลูกจ้างเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายข้างต้นครับ


682
มีพนักงานบริษัทคนหนึ่งถามมาว่า บริษัทเคยให้สวัสดิการเงินค่านํ้ามันรถพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ทุกเดือนให้เท่ากัน โดยไม่ต้องมีใบเสร็จมาแสดง ต่อมาบริษัทได้ออกประกาศยกเลิก โดยที่ผู้จัดการที่เกี่ยวข้องไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งแต่อย่างใด ต่อมาบริษัทได้เลิกจ้างผู้จัดการคนหนึ่ง ผู้จัดการคนนี้สามารถฟ้องศาลเรียกค่าชดเชยและเงินอื่นๆ รวมถึงในส่วนของเงินค่านํ้ามันแบบนี้ได้หรือไม่ อย่างไร?


ก่อนอื่นต้องวินิจฉัยก่อนว่า เงินค่านํ้ามันรถที่บริษัทจ่ายให้ผู้จัดการนั้น เป็นค่าจ้างหรือไม่ใช่ค่าจ้าง โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่า บริษัทจ่ายค่าน้ำมันเป็นแบบเหมาทุกเดือนเท่ากัน เดือนละ 5,000 บาท โดยไม่ต้องตรวจสอบการใช้จริง และไม่ต้องมีใบเสร็จการเติมนํ้ามันมาแสดงประกอบการเบิก ดังนั้นเงินค่านํ้ามันรถเป็น “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ “สวัสดิการ”


การจ่ายเงินค่านํ้ามันรถที่บริษัทมีประกาศจ่ายให้ผู้จัดการ ถือว่าเป็น “สภาพการจ้าง” หากบริษัทจะยกเลิกไม่จ่ายอีกต่อไป บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ คือ บริษัทต้องยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อลูกจ้าง หรือต้องให้ลูกจ้างยินยอม

การที่บริษัททำเป็นประกาศบริษัท แม้ลูกจ้าง (ผู้จัดการที่เคยได้ค่านํ้ามันรถ) จะไม่โต้แย้ง ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเงินค่านํ้ามันรถที่เคยได้เป็นค่าจ้าง สามารถใช้เป็นฐานในการเรียกเงินค่าชดเชย หรือเงินอื่นๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างได้ครับ

ทั้งนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่ในเรื่องนี้ที่ระบุว่า

การที่บริษัทประกาศให้ค่านํ้ามันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร ต่อมาได้ประกาศลดค่านํ้ามันรถยนต์ และต่อมาได้มีประกาศยกเลิกค่านํ้ามันรถยนต์ดังกล่าว แม้ลูกจ้างจะมิได้คัดค้าน แต่ก็มิได้ตกลงยินยอมให้บริษัทลดหรือยกเลิกการจ่ายค่านํ้ามันรถยนต์สำหรับผู้บริหารดังกล่าว ถือว่าประกาศของบริษัททั้งสองฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศฉบับเดิม และไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ บริษัทจึงต้องมีหน้าที่ต้องจ่ายค่านํ้ามันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามจำนวนประกาศเดิม (คำพิพากษาฎีกาที่ 875 / 2544)

683
การที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 และได้จ่ายเงินให้ลูกจ้างระหว่างหยุดกิจการร้อยละ 75 เคยมีลูกจ้างสงสัยว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างร้อยละ 75 นั้น นายจ้างต้องหักเงินจากเงินร้อยละ 75 นี้ ส่งประกันสังคมหรือไม่ อย่างไร


ในเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคม เคยมีหนังสือที่ รง 0607/573 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552 สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีบันทึกความเห็นที่ 275/2552 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ตอบสำนักงานประกันสังคม ซึ่งสรุปได้ว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 เป็น “ค่าจ้าง” ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อหักนำส่งเป็นเงินสมทบตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

ซึ่งความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม ในการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนั้นการที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 และจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 นั้น นายจ้างต้องหักเงินดังกล่าวส่งกองทุนประกันสังคมตามปกติครับ

684
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ฟ้องหญิงที่เป็นชู้
« เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2014, 06:42:39 pm »
การที่สามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นนั้น หากจะเป็นการฟ้องก็ต้องฟ้องเรียกค่าทดแทนเพราะเหตุหญิงอื่นแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ มาตรา มาตรา 1523 โดยในวรรคสอง บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" นั่นก็หมายความว่า เราสามารถเรียกค่าทดแทนตามสิทธิที่กฎหมายเปิดช่องให้ได้ครับ โดยนำคดีไปฟ้องยังศาลเยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้การเป็นสามีภรรยากันนั้น ต้องเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายนะครับ ซึ่งกรณีลักษณะนี้มีแนวคำพิพากษาฏีกาอยู่หลายเรื่อง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551 ทั้งนี้ หากจะดำเนินคดีก็จะต้องจัดเตรียมหลักฐานและเอกสารต่างๆให้พร้อมทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารเช่นรูปถ่ายนะครับ

685
ก่อนอื่นต้องขอให้กำลังในในภาวะยากลำบากในครั้งนี้ และขอให้ก้าวข้ามไปให้ได้ความความเข็มแข็งนะครับ


จากรายละเอียดวิเคราะห์เป็นข้อกฎหมายได้ใน 3 ประเด็น และจะขอตอบดังนี้ครับ


ประเด็นแรก เรื่องการโยกย้ายหน้าที่การงาน นายจ้างสามารถกระทำได้หรือไม่


การโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างนั้น เป็นอำนาจบริหารของนายจ้าง ซึ่งมีแนวคำพิพากษาของศาลฏีกาได้วางบรรทัดฐานไว้หลายเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องการโยกย้ายรวมทั้งการให้ความดีความชอบแก่ลูกจ้าง เป็นอำนาจการบริหาร ของนายจ้างที่จะกระทำได้ เพื่อให้กิจการของนายจ้างบรรลุผลและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่กิจการของนายจ้างมากที่สุด และหลักเกณฑ์ในการโยกย้ายนั้นกฏหมายมิได้บัญญัติไว้แต่ศาลฏีกาได้มีการวางแนวไว้โดยสรุปมีหลักเกณฑ์


ดังนี้ คือ ตำแหน่งใหม่ต้องไม่ต่ำกว่าเดิม,ค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าเดิม,ต้องกระทำด้วยความเป็นธรรม ดังนั้น เมื่อนายจ้างมีคำสั่งให้ไปทำงานที่สาขา แต่เราไม่ไปจึงเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างสามารถลงโทษได้ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวดวินัยและโทษ (ทุกบริษัทจะต้องมี) ซึ่งโทษที่ได้รับก็จะมีตั้งแต่ ตักเตือนด้วยวาจา , ตักเตือนเป็นลายเป็นหนังสือ , และเลิกจ้าง ซึ่งต้องดูเป็นกรณีๆไปครับ


ประเด็นที่ 2 เรื่องการเลิกจ้างมีผลเมื่อไหร่ และอย่างไรถึงจะถือว่าเป็นการเลิกจ้าง



พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 118 วรรคสองบัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรา นี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะ เป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุ ที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป”


เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดที่บรรยายมานั้น ต้องดูว่า เจตนาของนายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างหรือเพียงโยกย้ายงานแล้วเราฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างจึงถือว่าเราละทิ้งต่อหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันซึ่งถือเป็นเหตุในการเลิกจ้างได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาจากประเด็นที่หนึ่งประกอบด้วยครับ ทั้งนี้ หากเรายังไม่เซ็นต์ใบลาออก(หรือเรียกว่าการเลิกสัญญาจ้างต่อกัน) ก็ยังพอมีหวังโดยพิจารณาจากพฤติกรรมของนายจ้างอย่างละเอียดอีกครั้งครับ


ประเด็นที่ 3 นายจ้างไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่น ได้หรือไม่


ค่าคอมมิชชั่น ในภาษาไทยเรียกว่า "ค่าบำเหน็จ " หมายถึง เงินหรือผลประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนแบ่งของจากราคาสินค้าที่เราขายได้ ซึ่งค่าคอมมิชชั่นของแต่ละสินค้าก็จะไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าบริษัทฯ จะกำหนดหรือตามที่ตกลงกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการจ่ายคอมมิชชั่นจึงไม่ถือเป็นค่าจ้าง แต่เป็นสวัสดิการประเภทหนึ่ง 


ดังนั้น เมื่อเป็นข้อตกลงเรื่องสวัสดิการที่นายจ้างตกลงจ่ายให้กับลูกจ้างเมื่อทำยอดขายได้ตามข้อกำหนดที่ตกลงกันไว้ ย่อมเป็นสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าคอมมิชชั่น เพราะเป็นการคอมมิชชั่นรอบนี้ได้เกิดขึ้นแล้วตามจำนวนยอดขายที่ขายได้ นายจ้างจะกล่าวอ้างเพื่อจะหาเหตุไม่จ่ายไม่ได้ เป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง


แต่ทั้งนี้ ต้องดูข้อตกลงเรื่องเงื่อนไขการจ่ายค่าคอมมิชชั่นด้วยว่าข้อตกลงเป็นธรรมหรือไม่ เป็นสัญญาที่เอาเปรียบลูกจ้างเกินไปหรือไม่ ซึ่งหากว่าเป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบก็สามารถนำคดีฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวให้เราต่อไปครับ....


ขอให้โชคดีครับ

พรนารายณ์ ทุยยะค่าย
ทนายความ


686
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / เจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2014, 10:11:07 pm »
เจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐,๙๑,๒๘๘,๓๗๑,๓๗๖ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗,๘ ทวิ , ๗๒,๗๒ ทวิ
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก ๑๐ ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ จำคุก ๑๐ วัน รวมจำคุก ๑๐ ปี ๑๒ เดือน ๑๐ วัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น คงลงโทษฐานมีอาวุธปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก ๑๒ เดือน ๑๐ วัน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อาวุธปืนเป็นอาวุธที่สามารถทำอันตรายบุคคลถึงแก่ชีวิตได้ในระยะไกล หากจำเลยมีเจตนาฆ่าจริงและกระทำโดยผู้เสียหายไม่รู้ตัวเช่นนี้ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องไปปรากฏตัวให้ผู้เสียหายและคนที่เล่นสะบ้าเห็น ด้วยการเดินเข้าไปใช้อาวุธปืนจ้องผู้เสียหายในระยะใกล้ๆ ในการเข้าไปใช้อาวุธปืนจ้องผู้เสียหายในระยะใกล้ ๒ ถึง ๓ เมตรดังกล่าว แม้จะฟังว่าจำเลยเอานิ้วสอดไปไว้ในโกร่งไกปืนตามที่โจทก์นำสืบ หากจำเลยมีเจตนาฆ่าก็ย่อมมีช่วงเวลาเพียงพอที่จะเหนี่ยวไกยิงผู้เสียหายได้ ก่อนที่นายอุดรจะเข้าห้าม พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปใช้ปืนจ้องในระยะใกล้และพูดกับผู้เสียหายต่อหน้าคนอื่นหลายคน โดยไม่ยิงทันที่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีจุดประสงค์อื่นมากกว่าจะเอาชีวิตผู้เสียหาย ผู้เสียหายเองก็เบิกความว่า อาวุธปืนของจำเลยจะต้องขึ้นนกปืนหรือง้างไกปืนก่อนจึงจะยิงได้ แต่ก็ไม่ยืนยันว่าจำเลยต้องการยิงเพื่อฆ่าผู้เสียหาย จำเลยก็ยังมีโอกาสยิงได้เพราะนายอุดรเพียงแต่พูดห้ามและผลักจำเลย ไม่เข้าจับกุมหรือแย่งอาวุธปืนไปจากจำเลย แต่จำเลยก็ไม่ได้ยิงกลับถือปืนวิ่งออกจากลานบ้านที่เกิดเหตุไปที่ถนนห่างออกไป ๑๕ ถึง ๒๐ เมตรา แล้วจึงยิงปืนขึ้นฟ้า ๑ นัด สอดคล้องกับพฤติการณ์ดังที่ได้วินิจฉัยในตอนต้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยเพียงแต่ต้องการแสดงให้ผู้เสียหายเห็นว่าจำเลยมิได้เกรงกลัวผู้เสียหายและน้องชายมากกว่าจะมุ่งเอาชีวิตผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเพียงพี่ชายของบุคคลที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายกฟ้องจำเลยฐานพยายามฆ่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟ้องไม่ขึ้น

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๓๓/๒๕๕๖
[/tt][/tt]

687
หลังจากสิ้นสุดการเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 นั้น ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่มีนโยบายขยายระยะเวลาจดทะเบียนแต่อย่างใดครับ ดังนั้นนายจ้างจึงไม่สามารถนำแรงงานไปขึ้นทะเบียนที่ศูนย์บริการต่างๆได้ครับ


688
ได้ครับ แต่อย่างไรก็ต้องแจ้งสำนักงานจัดหางานอยู่ดี เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงนายจ้างเป็นคนใหม่ที่ไม่ได้เป็นคนเดิมเหมือนกับตอนที่จดทะเบียนไว้ครับ


นอกจากอีกวิธีการหนึ่ง คือ ถ้าไม่อยากยุ่งยากก็คือ นายจ้างทั้งคนเก่าและคนใหม่เป็นที่ทราบกันเองว่ามีการเปลี่ยนนายจ้างแล้ว (ไม่ต้องแจ้งสำนักงานจัดหางาน) แต่จะเจอปัญหาตอนที่ไปต่ออายุบัตรแน่นอน ซึ่งจำเป็นต้องให้นายจ้างคนเดิมไปต่อให้แทนครับ ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรในอนาคต 


รวมถึงในกรณีเวลาเกิดอุบัติเหตุที่นายจ้างใหม่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลแรงงานข้ามชาติคนนี้ด้วย เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง นายจ้างเก่าที่เคยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน (ถ้าเป็นกิจการที่ต้องเข้าประกันสังคม) นายจ้างเก่าก็อาจจะไม่ส่งต่อ รวมทั้งนายจ้างใหม่ก็ไม่สามารถส่งต่อให้ได้ (เนื่องจากไม่ได้แจ้งเปลี่ยนนายจ้าง) ดังนั้นเมื่อแรงงานข้ามชาติคนนี้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้แก่ลูกจ้างเองด้วยเช่นเดียวกัน

689
ตามที่ได้ถามมานั้นจะเห็นว่าแรงงานข้ามชาติต้องการทั้ง “เปลี่ยนประเภทงาน” คือ จากแม่บ้านไปทำงานกรรมกรในโรงงาน กับ เปลี่ยนนายจ้างด้วย


ตามระเบียบของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน  ได้ระบุไว้ว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติต้องการเปลี่ยนนายจ้างเป็นนายจ้างรายใหม่นั้น ให้ปฏิบัติดังนี้


ให้นายจ้างเก่าต้องไปแจ้งต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือในกรุงเทพมหานครให้ติดต่อที่สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว ตึกกระทรวงแรงงาน ชั้น 3 นับจากที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติออกจากงานหรือไปทำงานกับนายจ้างอื่น โดยต้องยื่นแบบ ตท. 10 http://115.31.137.49/angthong/form/wp10.doc  ที่กรอกเรียบร้อยแล้ว พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง + สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล) + หนังสือมอบอำนาจติดอากร 10 บาท (กรณีนายจ้างไม่ได้แจ้งด้วยตนเอง) + สำเนาใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ


ต่อมาเมื่อแรงงานข้ามชาติจะไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ ให้นายจ้างรายใหม่นั้นต้องแจ้งความประสงค์กับสำนักงานจัดหางานเช่นเดียวกัน



โดยให้นายจ้างยื่นแบบ ตท. 13 http://info.doe.go.th/pagedata/frmDocOpen.aspx?filename=020400004055_0.pdf  พร้อมแนบใบโควตา + ใบอนุญาตทำงานเดิมของแรงงานข้ามชาติคนที่จะจ้าง + เอกสารเกี่ยวกับสถานที่ทำงานใหม่ เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสัญญาการได้งาน + แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ทำงานใหม่ + หนังสือมอบอำนาจติดอากร 10 บาท (กรณีไม่มาดำเนินการเอง) + สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ + ค่าธรรมเนียม 250 บาท


หลังจากนั้นทางสำนักงานจัดหางานจะพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป






690
หมายศาลนั้นมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งหมายศาลแต่ละประเภทนั้นได้ก่อให้เกิดหน้าที่ของผู้รับหมายแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

หมายศาลในคดีแพ่ง เฉพาะที่สำคัญ ๆ ได้แก่


1.หมายเรียกและคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ ซึ่งหากท่านได้รับหมายดังกล่าวก็หมายความว่าท่านได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วนั้นเอง

หน้าที่ของผู้ที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า

“เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน”

ดังนั้นท่านที่ได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง จึงมีหน้าที่ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย มิฉะนั้นแล้วท่านจะหมดสิทธิในการต่อสู้คดีอันมีผลให้ท่านต้องแพ้คดี หรือต้องรับผิดตามที่โจทก์ได้ฟ้องมา

2.หมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง) หรือที่เรียกว่า “คำสั่ง” เรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง)”

ท่านที่ได้รับหมายดังกล่าว มีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการและวันที่ที่ระบุ ไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่ยอมส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุตามคำสั่งเรียกอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 อันมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในหลังหมายหรือคำสั่งเรียกนั้น จะมีคำเตือนดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ดี หากท่านไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียกนั้นไว้ในความครอบครอง ท่านก็ไม่ต้องจัดเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นไปยังศาล แต่ท่านจะต้องทำหนังสือชี้แจงถึงเหตุดังกล่าวไปยังศาล เพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกพยานได้รับทราบต่อไป

แต่หากท่านมีเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นในความครอบครองเพียงบางส่วน หรือมีอยู่ทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียก แต่ท่านไม่สามารถจัดส่งไปยัง ศาลได้ทันกำหนดเวลาเพราะเหตุใดก็ตาม ท่านก็ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวไปยังศาลเพื่อขออนุญาตศาลจัดส่ง เอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลในคราวอื่น

ซึ่งหากท่านละเลยไม่ดำเนินการใด ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อแก้ไขเหตุขัดข้อง ท่านก็อาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 เช่นกัน

3.หมายเรียกพยานบุคคล

ท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว มีหน้าที่ต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในหมายเรียกเพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปศาลตามหมายเรียกดังกล่าว ศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 111(2) และอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 โดยมาตราดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการเบิกความต่อศาลนั้น หากเบิกความเท็จในคดีแพ่งก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 หรือ 180 ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

อย่างไรก็ดี หากท่านมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมายท่านก็ สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ที่ขอหมายเรียกร้องประสงค์จะให้ท่านเบิกความเป็นพยานต่อศาลอีก ก็จะต้องส่งหมายเรียกมายังท่านอีกครั้งหนึ่ง

หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว และท่านอยากทราบว่าท่านจะมีความผิดประการใดหากไม่ไปศาลตามวันและเวลาระบุไว้ในหมาย ท่านก็สามารถพลิกดูคำเตือนพยานซึ่งอยู่ด้านหลังของหมายเรียกดังกล่าวได้

4.หมายบังคับคดี


ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องปฎิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นโจทก์สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาทำการยึดทรัพย์สินของจำเลยออก ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ไปได้หรือบังคับการใด ๆ ตามคำพิพากษาต่อไป

หมายในคดีอาญา ที่สำคัญ ๆ ได้แก่


1.หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง

เมื่อท่านได้นับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง สิ่งที่ท่านควรจะทำมีดังนี้

1.ดูรายละเอียดในหมายก่อนว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญประการใด

2.หากท่านประสงค์จะขอประนีประนอมกับโจทก์ก็ต้องเจรจากับตัวความซึ่งหากโจทก์ ยินยอมตามที่ท่านขอประนีประนอม และยินยอมถอนฟ้องออกไปคดีก็เป็นอันเสร็จสิ้น หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวก็เป็นอันเสร็จสิ้นผลไปทันที

3.หากท่านประสงค์จะสู้คดี หรือโจทก์ไม่ยินยอมประนีประนอมยอมความด้วยท่านก็ต้องรีบนำคดีไปปรึกษาทนายความและทำหนังสือแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทนท่าน

โดยในวันนัดดังกล่าวท่านไม่จำเป็นต้องไปศาลตามวันที่และเวลาที่ระบุไว้แต่ อย่างใดแต่หากท่านจะไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องท่านก็เตรียมหลักทรัพย์ไปเพื่อเตรียมประกันตัวในกรณีศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

2.หมายเรียกพยานบุคคล

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 53 บัญญัติไว้ว่า “หมายเรียกต้องทำเป็นหนังสือ” และมีข้อความดังต่อไปนี้

(1) สถานที่ที่ออกหมาย
(2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3) ชื่อและตำบลที่อยู่ของบุคคลที่ออกหมายเรียกให้มา
(4) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา
(5) สถานที่ วันเดือนปีและเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง
(6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล หรือลงลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย

ท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว ท่านต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านที่ได้รับหมายเรียกพยานบุคคลในคดีแพ่งดัง ได้กล่าวมาแล้ว

3.หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ (คดีอาญา)

หากท่านได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลท่านมีหน้าที่ ต้องจัดส่งเอกสารหรือพยานวัตถุไปยังศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวอยู่ในความครอบครอง หรือมีเพียงบางส่วนหรือไม่สามารถจัดส่งไปได้ทันเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ท่านมีหน้าที่ต้องแจ้งไปยังศาล โดยอาจทำเป็นหนังสือไปแถลงต่อศาลด้วยวาจาในวันที่ระบุในหมายเรียกก็ได้

ท่านที่ไม่แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล หรือขัดขืนไม่จัดส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมาย ท่านอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท่านที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวสามารถดูคำเตือนด้านหลังหมายว่าจะต้องรับผิดประการใดหากขัดขืนหมายศาลดังกล่าว

4.หมายจับ ค้น ขัง จำคุก และปล่อย

สิ่งที่ท่านควรกระทำเมื่อได้รับหมายค้นและหมายจับ ก็คือ

1.อ่านรายละเอียดในหมายว่า ระบุให้ใคร กระทำการอะไร ที่ไหนเวลาอะไร ใครเป็นผู้ขอให้ออก และออกด้วยสาเหตุใด นอกจากนี้ ต้องดูอีกว่าผู้ใดเป็นผู้ออกหมายและหมายดังกล่าวได้ออกโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่

2.หากตรวจดูรายละเอียดในหมายแล้ว เห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายท่านก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมาย ดังกล่าว เช่น หากเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้แต่การตรวจค้นจะต้องกระทำภายในเวลาและสถานที่ที่ระบุไว้ในหมายเท่านั้น และต้องกระทำอย่างเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตรวจค้น หากพบว่าการตรวจค้นไม่ชอบ ท่านสามารถดำเนินคดีเอากับผู้ตรวจค้นได้ หากเป็นหมายจับ ท่านก็ต้องถูกจับ และต้องประกันตัวต่อศาลเพื่อต่อสู้คดี หรือเจรจาประนีประนอมยอมความเอากับผู้เสียหายต่อไป

สำหรับหมายขัง จำคุก และปล่อยนั้น เป็นเรื่องที่ศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการเมื่อใด อย่างไร ซึ่งท่านก็ต้องถูกบังคับให้เป็นไปตามนั้น

หลักเกณฑ์ในการออกหมายค้น จับ ขัง จำคุก หรือปล่อย เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 59 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“เจ้าพนักงานหรือศาลผู้มีอำนาจออกหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง จะออกหมายนั้นโดยพลการหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
ในกรณีที่มีผู้ร้องขอ เจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออกหมายจะต้องสอบให้ปรากฏเหตุผลสม-ควรที่จะออกหมาย นั้นเสียก่อน เหตุผลนี้จะได้มาจากคำแจ้งความโดยสาบานตัวหรือจากพฤติการณ์อย่างอื่นก็ได้”

มาตรา 30 หมายจับ ค้น ขัง จำคุก หรือปล่อย ต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้
(1)สถานที่ที่ออกหมาย
(2)วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3)เหตุที่ต้องออกหมาย
(4) (ก)ในกรณีออกหมายจับ ต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของบุคคลที่จะจับ

(ข)ในกรณีออกหมายขัง จำคุก หรือปล่อย ต้องระบุชื่อบุคคลที่จะถูกขัง จำคุก หรือปล่อย

(ค)ในกรณีออกหมายค้น ให้ระบุสถานที่ที่จะค้นและชื่อหรือรูปพรรณบุคคลหรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการ ค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นนั้น

(5) (ก)ในกรณีออกหมายจับ หมายขัง หรือหมายค้นให้ระบุความผิด
(ข)ในกรณีออกหมายจำคุก ให้ระบุความผิดและกำหนดโทษตามคำพิพากษา
(ค)ในกรณีออกหมายขังหรือจำคุก ให้ระบุสถานที่ซึ่งจะให้ขังหรือจำคุก
(ง)ในกรณีออกหมายปล่อย ให้ระบุเหตุที่ให้ปล่อย

(6)ลายมือชื่อ และประทับตราของศาล หรือลายมือชื่อและตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย



หน้า: 1 ... 44 45 [46] 47 48 ... 50