04/05/24 - 03:06 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 31 32 [33] 34 35 ... 50
481
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ถูกกลั่นแกล้ง
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2018, 03:22:59 am »
จากที่เล่ามาก็น่าเห็นใจอยู่นะครับ

อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำงานด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่างานทั่วไป และเป็นกลุ่มอาชีพที่น่ายกย่องชื่นชมครับ

จากคำถามสรุปได้ประมาณว่า บริษัทได้มีนโยบายว่า หากผู้ใดหาคนมาทำงานและบุคคลนั้นทำงานได้เกิน ๑ เดือน ก็จะให้เงินเป็นค่าคอมมิชชั่น ๑ พันบาท ต่อมาผู้ถามได้หาเงินให้บริษัทได้ จึงได้ทวงถามเงินค่าคอมฯ แต่บริษัทกลับเพิกเฉย มิหนำซ้ำ กลับไม่มอบหมายงานให้ทำ เป็นเวลากว่า ๑ เดือน จึงถามว่า จะเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง? ประมาณนี้

ทนายก็ขอตอบว่า ตามมาตรา ๑๑๘  วรรคสองว่า "การกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป"

ดังนั้น ในกรณีของผู้ถามนี้ ก็เข้าองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว เพราะไม่มอบหมายงานให้ทำ และน่าจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย จึงถือเป็นการเลิกจ้างตามนัยของกฎหมายแล้ว

เมื่อถือว่าเป็นการเลิกจ้าง คุณพี่ก็มีสิทธิที่จะได้รับความชดเชยตามอายุงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘ ตั้งแต่ อนุ(๑) ถึง อนุ(๕) โดยขอให้คุณพี่ไปยื่นคำร้อง (คร.๗) ต่อพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ที่ทำงานอยู่เพื่อมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่อไป

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

482
การที่จะตอบว่าเป็นลูกจ้าง-นายจ้าง ตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๕ หรือไม่ต้องดูองค์ประกอบเป็นสำคัญ นั่นก็คือ
๑. มุ่งเน้นการใช้กำลังแรงงานจากลูกจ้าง
๒. นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้าง มีอำนาจสั่งงาน มีอำนาจในการอนุมัติหรือควบคุมการลา เป็นต้น
๓. ลูกจ้างมีสิทธิรับเงินค่าจ้าง แม้งานยังไม่สำเร็จ
๔. ลูกจ้างใช้เครื่องมือ / ฝีมือ / ความคิด ตามคำสั่งของนายจ้าง

แต่หากสัญญาจ้างทำของ จะมีองค์ประกอบสำคัญ คือ
๑. มุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงาน
๒. ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจควบคุมผู้รับจ้าง
๓. ผู้รับจ้างได้รับสินจ้างเมื่องานสำเร็จ
๔. ผู้รับจ้างใช้เครื่องมือ /ฝีมือ / ความคิด ของตนเอง

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่เล่ามา ก็พออนุมานได้ว่า เป็นสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ครับ
ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องดูที่สาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ หากไม่มีเหตุผล ก็เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร


483
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ถูกเลิกจ้าง
« เมื่อ: ตุลาคม 31, 2018, 02:14:55 am »
ถามมาว่า
1.ผมอยากทราบว่า การย้ายที่ทำงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเลยผมไม่ไปได้ไหมครับเพราะไกลจากที่พักเดิมมากจะเป็นการขัดคำสั่งนายจ้างไหม?
ตอบ ต้องดูข้อเท็จจริงก่อนว่า สถานที่ทำงานแห่งใหม่ กับที่เดิมนั้น ห่างกันไกลแค่ใหน เพราะเป็นสาระสำคัญ หากสถานที่แห่งใหม่ห่างกันไกลและข้ามจังหวัดทำให้สถาพการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ลูกจ้างก็สามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอเลิกสัญญาจ้างและรับค่าชดเชยได้ครับ แต่หากห่างกันไม่มากและนายจ้างจัดรถรับส่งหรือมีหอพักให้ อันนี้ก็อยู่ในวิสัยที่นายจ้างจะมีคำสั่งให้ย้ายที่ทำงานได้ครับ ดังนั้น คงจะตอบแบบฟันธงไม่ได้ ต้องขอข้อมูลเพิ่มครับ

2.ผมทำงานมา3สัญญาเลยคือ7ปียังไม่ได้เขียนใบลาออกครับสามารถฟ้องร้องที่กรมแรงงานเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายอะไรได้บ้างครับกับการเลิกจ้าง
ตอบ ถ้าถูกนายจ้างเลิกจ้าง ก็สามารถฟ้องเรียกเงินตามที่กฎหมายกำหนดได้ครับ เว้นแต่หากเราไปเซ็นต์ใบลาออกเอง อันนี้จะไม่ได้อะไรเลยนะครับ

3.ช่วงที่ฟ้องร้องกับบริษัทเราสามารถไปสมัครงานและทำงานที่อื่นได้ไหม
ตอบ ไปทำงานที่อื่นได้ครับ

4 ใช้เวลานานไหมครับในการฟ้องร้องกันจะได้ขึ้นศาลไม่
ตอบ ขึ้นอยู่กับจำนวนคดีในศาลนั้นๆว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยปกติก็ประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี ในศาลชั้นต้น แต่ถ้ามีการสู้กันถึงศาลอุทธรณ์ ก็บวกเพิ่มอีกประมาณ ๒ ถึง ๓ ปี ครับ

5 แล้วถ้าผมฟ้องร้องชนะนายจ้างผมจะได้ค่าชดเชยภายในกี่วันหรือกี่เดือนครับ
ตอบ ถ้าชนะก็คงไม่เกินเดือนละครับ

ตอบให้ทุกข้อแล้ว ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

484
เครสนี้อธิบายได้ชัดเจนดีครับ
เอาเป็นว่า ทนายสรุปจากคำอธิบายและคำถามที่ว่า "คิดว่าแบบนี้เราจะได้เงิน ค่าคอมไหมค่ะ 65000"

ก็ต้องตอบว่า ในความคิดเห็นของทนาย ก็ตอบว่า ต้องได้ครับ
ส่วนเหตุผลก็เป็นไปตามที่ผู้ถามได้วิเคราะห์ไว้นั่นแหละครับถูกต้องแล้ว

ดังนั้น ในตอนนี้ก็คือต้องรอให้ครบกำหนดจ่ายก่อน ถ้าบริษัทไม่จ่าย ก็มีไปใช้สิทธิทางศาล โดยให้นิติกรของศาลเขียนคำฟ้องให้ ซึ่งไม่ยากครับ

ส่วนเงินประกัน ถ้าไม่จ่ายคืน ก็ให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่คุณทำงานอยู่ ซึ่งถ้าไม่จ่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ถ้าเกิน 7 วัน ก็ให้เรียกดอกเบี้ยและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน ยกตัวอย่าง หากไม่จ่ายหรือจ่ายช้าจากเงินประกัน 169,000 บาท คุณจะได้เงินเพิ่มอีก 25,350 บาท ทุกระยะ 7 วัน หากคำนวนว่าจ่ายช้าไป 30 วัน คุณจะได้เงินเพิ่มตามมาตรา 9 นี้ อีก 1 แสนกว่าบาทครับ....น่าสนไหมล่ะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

485
ทนายพยายามอ่านและทำความเข้าใจเรื่องราวอยู่หลายรอบ

สรุปก็คือ..ทนายก็ยังไม่ค่อยเข้าใจคำถาม...ฮา

เเต่เอาเป็นว่า ผู้ถามคงอยากจะถามว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้าง จะทำอะไรได้บ้าง? ประมาณนี้(มั๊ง)

ก็ต้องแนะนำว่า อย่างแรก ห้ามเขียนใบลาออกเองโดยเด็ดขาด ถ้านายจ้างอยากเลิกจ้างก็ให้เลิกจ้างไป ถ้านายจ้างบอกว่า ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว ก็ให้ถามนายจ้างว่า เลิกจ้างเราแล้วใช่มั๊ย ถ้านายจ้างบอกว่า ใช่ ก็ให้กลับบ้านไป

แล้วนอนพักให้หายเหนื่อย วันต่อมา หรือ ต่อๆๆๆมา (เอาที่สบายใจ) ก็ไปพบพนักงานตรีวจแรงงานพื้นที่(ถ้าอยู่ใน กทม.) หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำจังหวัด(ถ้าอยู่ต่างจังหวัด) ไปบอกว่าถูกนายจ้างเลิกจ้าง อยากจะเรียกร้อง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม/ตามส่วน และสิทธิ์อื่นๆตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะให้เขียนคำร้อง (คร.7) หลังจากนั้นก็จะมีการสอบสวนทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำวินิจฉัยออกมาว่าจะมีสิทธิ์ได้รับเงินต่างๆหรือไม่

ประมาณนี้ครับ

หรือถ้าต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ ต้องโทรคุยกันแล้วละครับจะได้ถามรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน บอกตรงๆ อ่านแล้วยังงงๆ ครับ โดยเฉพาะ ผู้ถามมาทำงานแล้วทำให้ขายไม่ดี อันนี้ งงมากกกก....แล้วงานที่ทำคืองานอะไรครับ (มีฝ่ายบุคคลด้วย) และที่สำคัญมีคำว่า "ดิฉันเป็นไทย" ด้วยก็เลยอยากรู้มากว่า ทำงานอะไร อยู่ที่ใหน หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

486
ถามทนายมาสั้นๆ ทนายก็จะตอบสั้นๆว่า.....ผิดกฎหมายแน่นอนครับ..

ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรายวัน/รายเดือน หากมีฐานะเป็น "ลูกจ้าง" ย่อมได้สิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพนักงานทดลองงาน แต่ก็ถือว่ามีฐานะเป็นลูกจ้างแล้ว เมื่อกฎหมายกำหนดให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี ตามมาตรา ๕๖ ครับ

ทนายพร

487
ถามมาสั้นๆ แต่เป็นข้อกฎหมายล้วนๆ

เอาเป็นว่า ทนายขอทำความเข้าใจก่อนว่า การนับวันแบบปกติ กับการนับวันฝากขัง จะไม่เหมือนกันโดยบทบัญญัติของกฎหมาย

ซึ่งถ้าเป็นเรื่องฝากขังนั้น จะนับเป็น "ชั่วโมง" ตามความหนักเบาของข้อหาครับ ซึ่งแยกได้ดังนี้
          ๑. ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน ๗ วัน
          ๒. ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า ๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี หรือปรับเกินกว่า ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน ๑๒ วัน และรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกิน ๔๘ วัน
          ๓. ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน ๑๒ วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน ๘๔ วัน

ส่วนระยะเวลาเริ่มนับนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่พนักงานตำรวจผู้จับกุม นำตัวเราไปส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน หรือเอาง่ายๆ หากเราไปถึงสถานีตำรวจก็เริ่มนับเมื่อนั้นแหละครับ (ปัญหาที่พบคือถ้าเป็นคดียาเสพติด ตำรวจผู้จับกุมก็จะพาตัวผู้ต้องหาไปเก็บไว้ก่อน ยังไม่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน โดยอาจจะอ้างเรื่องการขยายผล หรืออาจรอเวลาให้ญาติผู้ต้องหามาเครียร์ เมื่อผู้ต้องหายังไปไม่ถึงพนักงานสอบสวน ระยะเวลาก็ยังไม่เริ่มนับนั่นเอง)

ส่วนการนับวันตามกฎหมาย เป็นไปตามประมวลกฎหมาย ว.แพ่ง มาตรา ๑๙๓/๓ โดยจะไม่นับวันแรก แต่จะนับวันถัดไปเป็นวันแรกครับ

ดังนั้น จากคำถาม ถามว่า โดนจับไวันที่ ๑๑ กันยายน มาศาลวันที่ ๑๓ กันยายน จะเริ่มนับเมื่อไหร่?
ทนายก็ตอบว่า คงจะเริ่มนับวันที่ ๑๔ เป็นวันแรกครับ ทั้งนี้จะต้องดูระยะเวลาครบกำหนดการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนเป็นหลักนะครับ

ทนายพร

488
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: โดนชนท้าย
« เมื่อ: กันยายน 30, 2018, 11:19:38 am »
ถามมาก็ตอบไปครับ

ถามว่า...1.ทางเราจะโดนข้อหา หรือมีความผิดฐานใดบ้างในกรณีนี้
ตอบ ก็คงไม่ผิดละครับ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่เล่ามา เพียงแต่ที่บอกว่า.."ขับรถมาตามช่องทางซ้ายสุด ตามปกติ ได้เกิดเสียงดังขึ้น สามีเข้าใจว่ายางรถตนคงระเบิดเข้าแล้ว" อันนี้เป็นเจตนาภายใน ที่สามีคุณเท่านั้น ที่จะรู้ว่า เเท้จริงแล้ว รู้หรือไม่รู้ว่ามีรถจักรยานยนต์มาชนท้าย หากไม่รู้จริงๆ ก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้ารู้ อันนี้ก็จะผิดฐานไม่ให้ความช่วยเหลือหรือแจ้ง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางมาตรา 78 ครับ

2.การที่เราขับรถมาตามปกติ แล้วมีรถมาชนท้ายรถขณะที่เรากำลังวิ่งอยู่บนถนนในช่องทางของเราเราจะมีความผิดไหม และผิดอย่างไร
ตอบ ไม่ผิดครับ

3.ในกรณีที่เล่ามาทางญาติของผู้ตาย จะสามารถเอาผิด เราได้หรือไม่
ตอบ ถ้าเราไม่ผิด ญาติจะมาเอาผิดเราไม่ได้ครับ กลับกัน เราสามารถเอาผิดผู้ที่มาชนเราได้ด้วย หากทรัพย์สินเสียหายครับ

4.หากผลตรวจแจ้งว่า ไม่มี แอลกอฮอล์ เราจะมีส่วนผิด ไปด้วยไหม  แล้วถ้ามี แอลกอฮอล์ เราก็ยังจะผิดอยู่ไหม แล้วผิดอย่างไร
ตอบ มีแอลกอฮอล์หรือไม่มีแอลกอฮอล์ ถ้าเราไม่ผิดก็คือไม่ผิดครับ ใครก็จะมาทำอะไรไม่ได้ล่ะครับ

อนึ่ง เท่าที่อ่านคำถามก็ดูเหมือนว่าจะกังวลใจมิใช่น้อย ทนายก็แนะนำว่ายังไม่ต้องกังวลใจไปนะครับ เพราะปกติเมื่อมีการตายผิดธรรมชาติ(ตายตามธรรมชาติเข่นแก่ตาย) เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องทำการสอบสวนสาเหตุแห่งการตายว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งในขั้นตอนนี้ แน่นอนว่า ตำรวจต้องเรียกสามีคุณไปสอบสวนแน่นอน ก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ตำรวจฟังและบันทึกไว้ และอ่านเอกสารที่ตำรวจบันทึกให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยเซ็นต์ชื่อ หากตำรวจเห็นว่าคุณขับรถมาตามปกติวิสัย มีอุปกรณืประจำรถครบถ้วนและไม่ได้ประมาท ตำรวจก็คงจะปล่อยตัวไปไม่แจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใดละครับ

น่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้อุ่นใจคลายความกังวลได้บ้างนะครับ

ทนายพร[/size]

489
ถามมาประมาณว่า ถูกหักค่าคอมฯจะฟ้องได้มั๊ย?

ตอบเลยละกัน..

ถามว่า ฟ้องเอาผิดกับบริษัทเอกชนแห่งนี้ได้มั๊ย? ก็ตอบว่า ฟ้องอ่ะฟ้องได้แน่ครับ แต่ก่อนที่จะฟ้องต้องไปดู "กฎระเบียบ/ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน" หรือ "ข้อตกลง" ระหว่างคุณกับบริษัทว่าไอ้เรื่องเงินค่าคอมฯมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขกันไว้อย่างไร เช่น สิทธิในการหักค่าคอมฯ เป็นต้น
หากไม่มี ก็เป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่คุณจะได้รับเงินค่าคอมฯเต็มจำนวนครับ

อนึ่ง ทนายเป็นห่วงเรื่องเดียวกว่า หากไปยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คุณยังสามารถที่จะทำงานที่นั่นต่อไปได้หรือไม่ เพราะคงจะถูกกดดันจากผู้บริหารไม่น้อยเลยล่ะครับ

ก็ขอให้กำลังละกันครับ

ทนายพร

490
จากที่เล่ามา ผู้ถามน่าจะมีอายุ 56 ปี และถูกเลิกจ้างก่อนจะครบเกษียณอายุ ก็เลยรู้สึกว่า "เฮ้ย..ทำงี้กับข้าได้งัยว่ะ..ทำงานมาตั้งนาน ไม่เห็นคุณค่ารึงัย..."อารมณ์คงประมาณนี้ อิอิ

เข้าเรื่องเลยทนาย..ฮา

เอาเป็นว่า ที่ถามมาว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อศาลตามมาตรา ๔๙ (วิ.แรงงาน) แยกออกจากการยื่นคำร้องต่อพนักงาตรวจแรงงาน(คร.7) ให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเงินค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้่าตาม มาตรา ๑๗ (คุ้มครองแรงงาน) นั้น ได้หรือไม่?  ขอตอบว่า...ได้ครับ

ส่วนที่ถามว่าอยากจะเรียกค่าเสียหายโดยใช้ฐานอายุงานที่เหลืออยู่เป็นเกณฑ์ในการให้ศาลกำหนดค่าเสียหายได้หรือไม่?
ก็ขอตอบว่า ก็บอกและอธิบายต่อศาลได้ครับ แต่ศาลจะฟังหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องนึง.. เพราะการกำหนดค่าเสียหายกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ได้บัญญัติให้สิทธิผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายให้ ซึ่งแต่ละเครสก็จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละคดี หรือเรียกว่าต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

ซึ่งแนวฏีกาที่ผ่านมา ศาลจะคำนวณโดยพิจารณาจากอายุงานที่ลูกจ้างเคยทำมา เช่น ทำงานมา ๒๐ ปี ก็จะได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างประมาณ ๒๐ เดือน อย่างนี้เป็นต้น

ประมาณนี้ละครับ เพราะอย่างที่บอกว่าการกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลครับ

ทนายก็ขอให้ผู้ถามได้ค่าเสียหายเยอะๆนะครับ

ทนายพร

491
จากที่อ่านเรื่องราวก็น่าเห็นใจครับ

อยู่กินด้วยกันหวังสร้างอนาคตที่มั่นคงในภายภาคหน้า แต่อย่างว่าละครับ เรื่องของอนาคตมันไม่แน่ไม่นอน ที่แน่นอนคงมีเพียงความตายเท่านั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็แก้ปัญหากันไปทีละเปลาะๆละครับ

และก็เข้าใจว่า ผู้ถามก็รอคำตอบอยู่อย่างกระวนกระวายใจมิใช่น้อย ทนายก็เลยต้องรีบมาตอบให้เผื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาความเครียดไปได้บ้างนะครับ

ขอออกตัวก่อนนะครับว่า ปกติถ้ามีทนายความให้ความช่วยเหลือคดีแล้ว ผมจะไม่ก้าวล่วงไปแนะนำหรือเสนอแนะอะไร เพราะถ้าข้อเสนอแนะไม่ตรงกับทนายที่ท่านจ้างมาทำคดี ท่านก็จะรู้สึกหวั่นไหวกับข้อแนะนำครับ เฉกเช่นเดิมท่านมีนาฬิกาอยู่เพียงเรือนเดียว ท่านก็จะมั่นใจว่านาฬิกาของท่านเดินตรง แต่เมื่อท่านมีนาฬิกามาเพิ่มอีกเรือนเป็นสองเรือนท่านก็จะเกิดข้อสงสัยว่าแล้วนาฬิกาเรือนใหนมันเดินตรงล่ะ ก็ประมาณนี้

เอาละ มาดูข้อกฎหมายกันก่อน อันว่าชายกับหญิงอยู่กินด้วยกันโดยจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ถือว่าเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นสินสมรส
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทรัพย์ที่เกิดขึ้นถึงเเม้จะไม่เรียกว่าสินสมรส แต่จะเรียกว่าทรัพย์สินร่วม ระหว่างชายกับหญิง หรือเรียกง่ายๆ ว่าทรัพย์ของหุ้นส่วนชีวิตนั่นเองครับ

แต่กรณีที่ถามมา มีการจดทะเบียนสมรสกัน ทรัพย์สินรวมทั้งหนี้สิน ก็ถือว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๔

ดังนั้น ในกรณีนี้วิธีการก็คือต้องมาแจกแจงรายละเอียดก่อนว่า ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างสินสมรส มีอะไรบ้าง ก็ทำรายการไว้

รวมทั้งหนี้สินที่เกิดขึ้นมีหนี้อะไรบ้าง ก็ทำรายการไว้

นอกจากนี้ ก็ต้องแยกทรัพย์ที่เป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายเอาไว้ด้วย หรือเรียกง่ายๆว่า เอาทรัพย์สิน และหนี้สินทั้งหมด มาวางกองแล้วค่อยๆแยกออกทีละรายการ ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้ที่รู้ดีที่สุดก็คือคุณและภรรยาครับ ถ้าเรื่องนี้ข้อเท็จจริงยุติ คดีก็จะง่ายขึ้นครับ แต่ถ้ายังมีข้อโต้แย้งว่า ทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ส่วนตัว ทรัพย์ใดเป็นสินสมรส อันนี้ก็จะยุ่งมากมากขึ้น เพราะจะต้องทำการสืบพยานหลักฐานว่าแท้จริงแล้วทรัพย์นั้นอยู่ในสถานะใด

แน่นอนว่า ในการสืบพยานเรียกว่าหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยตัดสินก็จะต้องมีพยานหลักฐานมาประกอบ จะเบิกความลอยๆ ไม่ได้ มันจะไม่มีน้ำหนัก เช่น คุณบอกว่าไปกูธนาคารมา ก็ต้องมีสัญญาเงินกู้มาแสดงต่อศาล หรือบอกว่า เราเป็นคนใช้หนี้มาโดยตลอด ก็ต้องมีหลักฐานการส่งขำระหนี้ ซึ่งขอได้ที่สถาบันการเงินที่เราส่งไป หรือให้ทนายออกหมายเรียกไปกับธนาคารขอรายการเดินบัญชีการชำระเงินก็ได้ อย่างนี้ เป็นต้น

ดังนั้น ในการทำคดีก็ต้องแจ้งทนายความให้ละเอียดว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่มีก่อนสมรส มีทรัพย์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นหลังการสมรส และมีหนี้สินอะไรบ้างที่มีก่อนสมรส และมีหนี้สินอะไรบ้างที่เกิดขึ้นหลังสมรส แล้วมานั่งประชุมคดีกัน ค่อยๆ คิดเเละหาพยานหลักฐานมาประกอบทุกรายการ หากรายการใหนไม่มีพยานหลักฐานอันนี้ก็ต้องทำใจละครับ ถ้าอีกฝ่ายมีพยานหลักฐานที่ดีกว่า เพราะคดีเเพ่งศาลจะใช้วิธีชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานครับ

หลักการและข้อแนะนำก็มีประมาณนี้ครับ

ขอให้ไกล่เกลี่ยกันได้นะครับ ให้กำลังใจครับ

ทนายพร



492
ขออภัยที่ตอบช้านะครับ งานแน่นจริงๆครับช่วงนี้

เอาเป็นว่าตอบเลยละกัน

จากข้อความที่เล่ามานั้น ยังมีความรู้สึกว่ายังไม่เข้าองค์ประกอบข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ หรือ ๓๒๘ นะครับ
ถ้าจะมีเฉี่ยวบ้างก็ข้อความ "ออกแบบไม่ดี" เท่านั้น แต่ก็ยังไม่ชัดเท่าใหร่
เอาเป็นว่า ข้อหาหมิ่นประมาทนั้น ต้องดูที่ข้อความเป็นหลักว่าข้อความที่อีกฝ่ายกล่าวนั้นเป็นข้อความอะไร และข้อความนั้น บุคคลทั่วไปได้ยินแล้วเข้าใจว่าเราเป็นคนไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้เราเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จึงจะถือว่าเข้าองค์ประกอบของข้อหาหมิ่นประมาทครับ เอาผิดได้ทั้งอาญา (จำคุก) หรือเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง(เรียกเงิน) ได้ครับ

ทนายพร

493
เท่าที่อ่านรู้สึกว่าจะโดนจับไม่ใช่ครั้งแรก ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ล่ะครับ
นอกจากนี้ เมื่อได้รับความปราณี ศาลให้คุมประพฤติ ก็ไม่ไปรายงานตัว ก็จะทำให้ทัศนคติของศาลต้องพิจารณามากขึ้น จากที่เคยมองว่าควรได้รับการปราณี
ในรอบนี้อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะศาลจะมองว่าญาติคุณไม่หลาบจำหรือยังไม่สำนึก
ส่วนจะให้ทนายตอบว่าจะศาลจะตัดสินอย่างไรนั้น ทนายคงตอบแบบชัดๆไม่ได้เพราะทนายไม่ใช่ศาลหรือผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี
ดังนั้น ในชั้นสืบพยานก็ให้ญาติคุณหรือทนายเอาใบรับรองแพทย์เสนอต่อศาลไปด้วย เผื่อศาลจะเห็นใจไม่จำคุกแล้วส่งไปเข้าค่ายก็ได้นะครับ

เอาเป็นว่าทนายขอให้กำลังใจแล้วกันนะครับ

ทนายพร

494
ตั้งคำถามมา ๓ ข้อ ทนายก็จะตอบให้ทั้ง ๓ ข้อดังนี้ครับ
ถามว่า...
1. ควรฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม+ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดทำให้เสียชื่อเสียงต่อศาลแรงงานพร้อมกันไหม หรือควรแยกฟ้องจากกัน (คดีแพ่งใกล้ขาดอายุความ)
ตอบ ก็ควรฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อศาลแรงงาน ส่วนเรื่องละเมิดก็ไปว่ากันที่ศาลแพ่ง แต่เท่าที่อ่านข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นก็ยังไม่ชัดนะครับในประเด็นละเมิดหรือทำให้เสียชื่อเสียงครับ หรือหากคิดว่าละเมิดแน่ก็ต้องไปฟ้องที่ศาลแพ่งในเขตอำนาจศาลครับ

2. วิธีการคำนวณค่าเสียหายทั้ง 2 กรณี มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง
ตอบ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จะเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี โดยคำนึงองค์ประกอบหลายอย่างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ โดยปกติตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาจะกำหนดค่าเสียหายตามอายุงานที่ทำมา ประมาณว่าปีละเดือนครับ
ส่วนค่าเสียหายในทางแพ่งฐานละเมิดตามมาตรา ๔๒๓ นั้น ก็เรียกได้เท่าที่เสียหาย หากคิดว่าเสียหายมากก็เรียกมาก แต่ทั้งนี้ ต้องมีพยานหลักฐานประกอบด้วยนะครับ จะกล่าวอ้างลอยๆโดยไม่มีหลักฐานไม่ได้ ศาลมักจะไม่กำหนดค่าเสียหายให้ ที่สำคัญหากเรียกค่าเสียหายมา ก็ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลมากด้วยเช่นกันครับ

3. ก่อนตัดสินใจมาทำงานที่บริษัทนี้ลาออกจากที่เดิมมา ทั้งๆ ที่อายุงาน 6 ปี แต่มาที่นี้ 2 ปี โดนเลิกจ้าง ตรงนี้สามารถนำมาคิดเป็นค่าเสียหายได้หรือไม่
ตอบ คิดได้ครับ แต่รวมๆแล้วศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้ประมาณ ปีละเดือนอย่างที่บอกละครับ

ตอบให้ทั้งสามข้อแล้ว คงจะเครียร์สำหรับคำถามนะครับ ถ้าสงสัยก็ถามมาได้อีกนะครับ

ทนายพร


495
เป็นหัวข้อที่ Hot จริงๆในสมัยนี้ล่ะครับ

เอาเป็นว่าตอบแบบฟันธงตามที่ถามเลยนะครับ

เนื่องจากแฟนคุณ(แต่เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของแฟนเก่า) ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันสถานะทางกฎหมายก็ยังถือว่าเป็นสามีภรรยากัน เพียงแต่การที่แต่ละฝ่ายแยกกันอยู่นั้น เป็นเพียงเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้นั่นเอง

ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะแยกกันอยู่หรือแต่ละฝ่ายจะไปมีคนใหม่ ในทางกฎหมายการกระทำของคุณก็ถือว่าอยู่ในสถานะชู้ตามความเข้าใจของคนทั่วไปและกฎหมายละครับ
ซึ่งแน่นอน เมื่อคุณอยู่ในสถานะนี้แล้วก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องได้เช่นกัน ส่วนฟ้องแล้วจะอย่างไรก็ไปว่ากันไป
 
ซึ่งทนายก็มีข้อแนะนำว่า ให้แฟนคุณไปดำเนินการขอหย่าให้เรียบร้อยซะ จะได้สบายใจ หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไปดำเนินการฟ้องหย่าโดยอ้างเหตุแยกกันอยู่ ซึ่งก็ไม่ยากอะไรอีกเหมือนกันครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร

หน้า: 1 ... 31 32 [33] 34 35 ... 50