04/05/24 - 03:07 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 34 35 [36] 37 38 ... 50
526
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: เป็นไปได้ไหมครับ
« เมื่อ: ธันวาคม 28, 2017, 10:46:27 am »
เรียน คุณ amonpn.999@gmail.com
 
​ตามที่ท่านได้ถามคำถามไว้ในเว็บไซด์ ทนายพร.รับทราบคำถามแล้ว เเต่เนื่องจากท่านได้แนบไฟล์มาด้วย เกรงว่าจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปใช้ประโยชน์ในทางเสียหาย ดังนั้น จึงได้ให้ admin ลบไฟล์แนบออก นะครับ

อนึ่ง สำหรับคำถาม มีข้อสงสัยคือ เงินที่ถูกโอนไปคือเงินของ หจก.หรือเงินสวนตัวครับ หากเป็นเงินส่วนตัว ในทางกฎหมายถือเป็นความบกพร่องของคุณด้วยที่ให้เอกสารหลักฐานในการถอนเงินให้กับเค้าไป

แต่ถ้าเป็นบัญชี หจก. อันนี้อาจจะเข้าองค์ประกอบฉ้อโกงได้ หากมีหลักฐานยืนยันได้ว่า มีการยักย้ายถ่ายเทเงินไปเป็นของตนโดยทุจริต ​ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนได้ครับ ทั้งนี้ จะต้องแจ้งภายใน 3 เดือน "นับแต่" วันที่รู้นะครับ ไม่งั้นจะขาดอายุความ

หรือหากสงสัยก็โทรสอบถามได้ครับ

ทนายพร

527
ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าครองชีพ(แล้วแต่จะเรียก) หรือแม้แต่ค่าจ้าง หากนายจ้างมาขอลด แล้วลูกจ้างยินยอมก็สามารถทำได้นะครับ แต่ถ้าไม่ยินยอมอันนี้ลดไม่ได้ แต่ปัญหาก็จะตามมาเพราะอำนาจการต่อรองไม่เท่ากัน อาจจะถูกกลั่นแกล้งหรือกระทำการใดๆอันไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เป็นต้น ดังนั้น กรณีที่ถามมา จะต้องดูว่า Allowance เนี๊ยะมี “เงื่อนไข” การจ่ายหรือไม่ เช่น ขาดลามาสายก็ยังได้ จ่ายให้เป็นประจำเท่ากันทุกๆเดือนเพื่อตอบแทนการทำงาน อย่างนี้ก็ไม่เป็นไรครับ คงเป็นการแยกรายการที่ไม่ส่งผลกระทบเพราะอย่างไรเสียมันก็คือ “ค่าจ้าง” แต่ถ้า Allowance มีเงื่อนไขละทีนี้ยุ่งล่ะ เพราะค่าจ้างจะถูกลดลงมา ซึ่งส่งผลต่อค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา หรือเงินอื่นๆที่คำนวณจาก “ค่าจ้าง” ลองพิจารณาดูครับ

ทนายพร

528
ทนายตอบตามที่ถาม เข้าเรื่องเลยนะครับ เวลามีน้อยๆ..555
1.ถ้าผมโดนเลิกจ้าง จะได้เงินชดเชย ตามมาตรา 118 หรือไม่ครับ?
ตอบ ถ้าวิเคราะห์เท่าที่เล่ามา คงยากครับ เพราะเท่าที่เล่ามานิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างกันนั้นเบาบางมากนะครับ จะเข้าองค์ประกอบเรื่องสัญญาจ้างทำของละครับ

2.ถ้าผมโดนเลิกจ้างด้วยวาจา ควรดำเนินการอย่างไร ครับ (ไม่มีบัตรตอก,ไม่มีประกันสังคม บริษัท)
ตอบ คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ก็ไม่ตัดโอกาสให้ไปร้องพนักงานตรวจแรงงานและอธิบายเรื่องนิติกรรมอำพรางว่าเป็นสัญญาจ้างทำของแต่แท้จริงแล้วเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เพราะนายจ้างยังมีอำนาจบังคับบัญชา เช่น ถ้าจะลาก็ต้องขออนุญาต หรือนายจ้างมีให้คุณให้โทษกับเราได้ อะไรประมาณนี้ แล้วให้พนักงานตรวจแรงงานไปวินิจฉัยเอาครับ

3.เงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก ๆ 7 วัน ในมาตรา 9 นี่ คุ้มครองแรงงานเคยบังคับใช้ หรือ เปล่า ครับ (ข้อนี้ คนในบริษัท เคยออกจากงาน แล้วทาง บริษัท ดึง เงิน ไว้ ประมาณ 10-20 วัน แล้วแต่คน และคนพวกนี้ได้แต่มาบ่น ผมเลยแนะนำให้เค้าไป คุ้มครองแรงงาน แต่ เค้าแค่โทรไป คุ้มครองแรงงานเลยโทรมาที่ บริษัท แล้วทาง บริษัท รีบจ่ายเงินเลย ครับ)
ตอบ ใช้กันเยอะครับ แต่ทั้งนี้ เวลาเขียนคำร้อง (คร.7) ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ต้องการเรียกดอกเบี้ยเงินเพิ่มตามมาตรา 9 นะครับ หากไม่เขียนขอไปพนักงานตรวจแรงงานอาจไม่คิดคำนวณให้ก็ได้นะครับ

4.พนักงานทุกคนที่ตอกบัตร(ยกเว้นผม) ถ้าไม่สบายต้องมีใบรับรองแพทย์ แม้ 1 วัน ต้องมีมาแสดง ไม่อย่างนั้นจะโดนหักเงินตอนสิ้น เดือน คนพวกนี้ไม่กล้าไป คุ้มครองแรงงาน เนื่องจากกลัวโดนไล่ออก คุณ ทนายพร พอจะมีคำแนะนำ ยังไงบ้าง ครับ
ตอบ คงต้องให้ความรู้กันต่อไปครับ และถ้าโดนหักค่าจ้างก็ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้สั่งจ่ายได้ แต่คำถามที่สำคัญคือ กล้าพอหรือไม่? เท่านั้นเองครับ

ทนายพร

529
1.หากดิฉันทำใบลาออกเสนอควบคู่ไปกับสัญญาจ้างแล้วผลทางกองพิสูจน์หลักฐานแจ้งว่าดิฉันบริสุทธิ์ แต่เราเขียนใบลาออกไปแล้ว แต่บริษัทจะใช้ใบลาออกนี้ กับฉันในทางอื่นด้วยหรือไม่(ในกรณีหากบริษัทคิดจะเอาเปรียบ)เช่น ดิฉันทำงานให้กับบริษัทโดย ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เมื่อ พ้นระยะเวลาทดลองงาน 90 วัน และบริษัทแจ้งให้ออกโดยเขียนใบล่วงหน้าไว้แล้ว อย่างนี้บริษัทจะกระทำกับเราได้หรือไม่
ตอบ ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เดี๋ยวเมื่อได้ทำงานแล้วจะไม่มีความสุขซะเปล่าๆ เอาเป็นว่า การที่บริษัทให้ทำหนังสือลาออกไว้ก่อนเข้าทำงานนี่ก็แปลกแระ แต่จะตอบตามหลักกฎหมายก็คือ การลาออกคือการแสดงเจตนาที่ไม่ประสงค์จะผูกสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยใจสมัคร ดังนั้น ในกรณีนี้การเซ็นต์ใบลาออกล่วงหน้า (เข้าใจว่าไม่ลงวันที่) ก็ไม่ได้มีผลอะไร เพราะหากท้ายที่สุดบริษัทเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำผิดก็ยังสามารถฟ้องต่อศาลได้ครับ หากนายจ้างนำเอาใบลาออกมาเป็นหลักฐานว่าเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเอง ก็ต่อสู้ว่าเราไม่ได้ลาออก แต่นายจ้างบังคับให้เขียนในวันที่เข้าทำงาน และก็ส่งใบลาออกนั้นไปพิสูจน์สีหมึกว่าไม่ใช่แท่งเดียวกับที่เขียนข้อความในใบลาออกเท่านี้ก็สู้ได้แล้วครับ

2.และในกรณีใบลาออก หากผลตรวจอาชญากรออกมาเป็นหลักฐานยืนยัน ใบนั้นจะสิ้นสุดเป็นโมฆะทันทีเลยไหมค่ะ
ตอบ ตามข้อ ๑ ครับ

3.ความรู้สึกที่ให้เขียนใบลาออกพร้อมเซ็นหนังสือสัญญาจ้างไม่เคยเจอมาก่อน เลย้ริ่มเกิดความไม่ยุติธรรมกับตัวดิฉัน ซึ่งแสดงว่า บริษัท พอใจจะเลิกจ้างดิฉันเมื่อไหร่ก็ได้อย่างนั้นหรือ
ตอบ เป็นการสร้างอำนาจต่อรองมากกว่าครับ ข้อแนะนำของทนายคือ อย่างไปทำเลยครับบริษัทนี้ เมื่อจะสร้างความสัมพันธ์ความเป็น “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง” และต้องทำงานด้วยกันแล้ว ก็ไม่ควรจะตั้งเงื่อนไขให้เป็นที่กังวล และควรไว้ใจซึ่งกันและกัน แต่นี่กลับมาสร้างอำนาจต่อรองบนความไม่เท่าเทียมเช่นนี้ เป็นผม คงไม่ทำงานกับบริษัทนี้แน่นอนครับ

4.หากเกิดความไม่เป็นทำกับดิฉันจริงๆ ดิฉันจะใช้หลักฐานอย่างไรป้องกันตัวเองคะ เพราะ สัญญาจ้าง ที่ให้เซ็นมีแค่ บัวบเดียว และเขายังไม่ทำสำเนาให้กับดิฉัน
ตอบ ขอให้จำข้อความไว้ให้ได้ ถ้าจำไม่ได้ก็จดไว้ ถ่ายรูปไว้ เพราะสัญญาจ้างแรงงานปกติไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ หากทำเป็นหนังสือคู่สัญญาก็มีสิทธิที่จะได้รับเอกสารดังกล่าวยึดถือไว้ เอาเป็นว่า หากถูกเลิกจ้างโดยที่คุณไม่ได้ทำผิดก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

530
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: การลดเงินเดือน
« เมื่อ: ธันวาคม 03, 2017, 02:40:11 am »
ขออภัยที่ตอบช้านะครับ เข้าใจว่า มารออ่านคำตอบอยู่หลายวัน แต่ทนายก็ไม่ตอบซะที กระทั่งต้องโทรมาถามเอาคำตอบ..ฮา

เอาเป็นว่าทนายตอบดังนี้ครับ

กรณีที่ปรับลดตำแหน่ง ตามกฎหมายแล้วหากลูกจ้างไม่ยินยอม จะลดตำแหน่งไม่ได้ครับ หากฝ่าฝืนก็จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนคำสั่งและคืนสิทธิได้ครับ
อนึ่ง ในการเซ็นต์เอกสารใดๆก็ดี พึงระวังข้อความของเอกสารด้วยนะครับว่า ข้อความใดที่ทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ก็ขีดฆ่าออกและเซ็นต์ชื่อกำกับไว้ เพราะมิเช่นนั้น การเซ็นต์เอกสารเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิและเเพ้คดีอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ

เอาเป็นว่า ถ้าไม่อยากเซ็นต์ก็ไม่ต้องเซ็นต์ครับ ซึ่งต่อไปก็ต้องรับแรงกดดันให้ได้นะครับ เพราะนายจ้างก็จะต้องหาวิธีกลั่นแกล้งเราต่างๆนานาจนกว่าเราจะไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ อันนี้ก็อยู่ที่การตัดสินใจนะครับเพราะเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นเยอะครับที่นายจ้างมักไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร

531
ตอบตามที่ถามเลยนะครับ และขอเน้นย้ำอีกครั้งนะครับว่า ทนายจะตอบคำถามกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดจากการดำรงชีวิตประจำวันแล้วเกิดปัญหาเท่านั้น ส่วนที่จะให้วินิจฉัยข้อกฏหมายเพื่อที่จะไปประกอบการเรียนหรือการสอบนั้น ท่านสามารถค้นคว้าได้ตามคำพิพากษาฏีกา ก็จะเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมายและดีต่อผู้เรียนมากว่าครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามมา ทนายก็จะตอบให้ตามที่ถามเลยครับ

1. ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยขณะลูกหนี้ผิดนัด (แต่พ้นวิสัยเพราะความผิดบุคคลภายนอก) เมื่อลูกหนี้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ไปแล้วตามมาตรา 217 ลูกหนี้จะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากผู้ทำละเมิดตามม.227 ได้หรือเปล่าคะ
(อ่านในหนังสือ เจอแต่ตัวอย่างกรณีสัญญาประกันภัย)

ตอบ หลักการเดียวกันกับสัญญาประกันภัยครับ โดยอาศัยหลัก ป.แพ่ง ม.๒๒๗ ดังว่าครับ

2. แล้วถ้าเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมจากลูกหนี้(บนฐานเรื่องการผิดนัด)แล้ว เจ้าหนี้จะไปเรียกร้องค่าสินไหมจากผู้ทำละเมิดอีกในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิได้ไหมคะ แล้วจะเรียกได้เท่าไหร่(เต็มจำนวนไหมคะ)
(จะเหมือนกรณีที่ผู้เสียหายได้รับเงินจากบริษัทประกัน หรือเงินสวัสดิการอื่นๆ แล้วยังมีสิทธิเรียกค่าสินไหมจากผู้ทำละเมิดหรือเปล่าคะ)

ตอบ หากเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมครบจำนวนแล้ว ก็ถือว่าไม่ได้รับความเสียหายแล้ว คงเรียกค่าสินใหม่อีกไม่ได้ เพราะจะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ม.๕ กรณีที่จะเรียกค่าสินไหมเพิ่มเติมได้ก็ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้ค่าสินไหมหรือค่าเสียหายไม่ครบถ้วนตามที่”ควรจะได้” เช่น ทำสัญญาประกันไว้ ห้าพันบาท บริษัทประกันจ่ายให้ ห้าพันบาท ตามสัญญา แต่ความเสียหายเกิดขึ้นคิดเป็นเงินหนึ่งหมื่นบาท ในกรณีอย่างนี้ ก็สามารถเรียกค่าสินไหมในส่วนที่ขาดไปกับผู้ทำละเมิดได้อีกห้าพันบาท เป็นต้น

เช่น ก. ซื้อรถยนต์จาก ข. กำหนดส่งมอบพรุ่งนี้ ปรากฎว่า ข. ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ตามเวลาที่ตกลงกัน (ข. ผิดนัด) ขณะผิดนัด นาย ค.บุคคลภายนอก ขับรถมาชนรถยนต์ของนาย ก. เสียหาย เช่นนี้ ใครจะเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคะ(ก. เจ้าของรถยนต์ หรือ ข)
ตอบ อย่าคิดเยอะครับ เมื่อ ก. ซื้อรถแล้วแต่ยังไม่ส่งมอบ ก. ก็ไม่ต้องรับรถ  ไปหาซื้อคันใหม่ เพราะถือว่า ข.ผู้ขายผิดสัญญา ง่ายกว่าครับ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของ ข. ก็ให้ ข.ไปเรียกค่าสินไหมจาก ค. ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดดีกว่าครับ

3. กรณีม.228 หากทรัพย์เพียงบุบสลาย (มิได้ถึงขนาดทำให้การชำระหนี้พ้นวิสัย) แต่ผู้ทำละเมิดได้ให้ของแทนแก่ลูกหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของนั้นได้ไหม / หรือเจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมจากผู้ทำละเมิดตามมาตรานี้ได้ไหมคะ
ตอบ กรณีจะให้ลูกหนี้ส่งมอบของแทนนั้น จะต้องเป็นกรณีตาม ม.๒๒๘ และเป็นกรณีที่การชำระหนี้เป็นการพ้นวิสัย เจ้าหนี้จึงจะสามารถเรียกให้ลูกหนี้ส่งมอบของนั้นได้ หากเป็นเพียงบุบสลาย จะนำ ม.๒๒๘ มาปรับใช้ น่าจะไม่ถูกต้องครับ ลองกลับไปอ่านและทำความเข้าใจ ม.๒๒๘ อีกครั้งนะครับ

ขอถามเรื่องอื่นด้วยนะคะ
4. กรณีที่มีเจ้าหนี้สามัญหลายคนเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แต่ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอ จะต้องเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เจ้าหนี้ทุกคนเท่าๆกัน หรือเฉลี่ยให้ตามสัดส่วนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่คะ

ตอบ ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าหนี้นั้น เป็นชำระหนี้ที่แบ่งได้หรือไม่ได้ หากเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งชำระได้ ก็ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามส่วนเท่าๆกัน แต่หากเป็นหนี้ที่ไม่สามารถแบ่งชำระหนี้ได้  และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน ลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น ให้ไปดู ม.๒๙๐ และ ม.๓๐๒ นะครับ

ทนายพร

532
ก็เป็นเรื่องปกติของการรับทุนที่จะต้องใช้คืนทุนตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่เอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งจนเกินควร หากเป็นข้อตกลงที่เอาเปรียบคู่สัญญาเกินควรในทางกฎหมายศาลก็มีอำนาจที่จะปรับให้เท่าที่ควรได้

จากคำถาม ถามว่า จะทำอะไรได้มั๊ย?

เอาเป็นว่า ทนายให้คำแนะนำในการดำเนินการดังนี้ครับ
๑.ให้ทำ "หนังสือ" ขอสำเนาเอกสารข้อตกลงเรื่องการรับทุนมาเพื่อศึกษาช่องทางกับทางบริษัทอย่างเป็นทางการ ไม่ขอด้วยวาจา หรือฝากใครขอ เพื่อเอกสารฉบับนี้จะเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้
๒. หากขอไปแล้วก็ยังไม่ได้สำเนาเอกสาร ให้ไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ ไปขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่(พนักงานตรวจแรงงาน)ให้มีคำสั่งเรียกเอกสารมาจากนายจ้างได้เหมือนกันครับ

แต่สิ่งที่ทนายกังวลก็คือ แฟนของคุณจะรับแรงกดดันได้มากน้อยเพียงใด เพราะในระหว่างการดำเนินการในเรื่องนี้นั้น ก็คงจะสร้างความระคายเคืองใจต่อนายจ้างเหมือนกันนะครับ แล้วจะทำงานกันต่อไปอย่างไร

หรือคิดว่า ไม่ทำแล้ว ก็ลองปรึกษาแฟนของคุณดูนะครับว่า ที่รับทุนไป รับไปเท่าไหร่? คิดคำนวณการทำงานคืนทุนไปกี่ปี หารค่าเฉลี่ย หากไม่มากนักพอรับยอดเงินหากบริษัทฟ้องได้ ก็ลาออกเลยครับ ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทก็คงจะจ้างทนายไปฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายจากข้อสัญญารับทุน ทีนี้ คุณก็ไปตั้งเรื่องสู้เรื่อง "ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่งหากศาลเห็นว่า แฟนของคุณชดใช้ทุนไปเหมาะสมกับระยะเวลาแล้ว ก็อาจไม่ต้องเสียเงินเพิ่มก็อาจเป็นได้ครับ หรือหากศาลเห็นว่าแฟนคุณยังชดใช้ทุนไม่เพียงพอ ศาลก็มีิสิทธิที่จะกำหนดค่าเสียหายให้เหมาะสมได้ครับ

หรืออาจโชคชะตาฟ้าลิขิต บริษัทอาจจะไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพราะไม่คุ้มกับค่าทนายความ ก็ถือว่าเลิกแล้วต่อกันไป ก็อาจเป็นได้นะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

533
อ่านที่นี่ได้เลยครับ ทนายเคยเขียนตอบไว้แล้ว http://thanaiphorn.com/boards/index.php?topic=5.msg8#msg8

กรณีที่ทางโรงงานจัดการแข่งกีฬามีโครงการ หลักฐานการประชุม ประกาศแข่งขัน ใบรายชื่อนักกีฬา ตารางแข่ง แบ่งทีมแข่ง แล้วพนักงานบาดเจ็บ ในช่วงวันที่แข่งจริง  ไม่ว่าจะเป็นช่วงซ้อมก่อนลงสนามหรือเวลาลงแข่งจริงของวันดังกล่าวก็ตาม ต้องใช้กองทุนเงินทดแทนครับ

ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2533 ที่วางไว้ว่า

การที่นายจ้างจัดให้มีการแข่งขันกีฬาภายในระหว่างหน่วยงาน ถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของนายจ้าง และเมื่อระเบียบของนายจ้างกำหนดว่าการแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ เมื่อลูกจ้างที่ลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลเพื่อคัดเลือกหาทีม ตัวแทน สำนักงานตามคำสั่งของนายจ้าง และได้รับบาดเจ็บขณะทำการแข่งขัน จึงเป็นกรณีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนเป็นรายเดือนที่ถึงกำหนดแล้วทั้งหมดให้แก่ลูกจ้าง ในคราวเดียวกัน

แต่ถ้าพนักงานเล่นกันเอง แล้วบาดเจ็บ ถือว่าไม่ใช่บาดเจ็บจากการทำงานครับ หรือพนักงานได้รับอันตรายขณะแข่งกีฬาซึ่งนายจ้าง "ไม่ได้สั่งให้แข่งกีฬา"  เพียงแต่ "อนุญาตให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างกัน" ได้เท่านั้น ก็ไม่สามารถใช้กองทุนเงินทดแทนได้ครับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3878 / 2531)

534
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: เพิ่มวันทำงาน
« เมื่อ: กันยายน 30, 2017, 02:26:43 am »
เอาเป็นว่าตอบตามที่ถามเลยนะครับ เท่าที่ได้อ่านคำถามน่าจะทำงานเกี่ยวกับการจดมิเตอร์ไม่ไฟฟ้าก็น้ำปะปาละครับ เครสนี้...ชัวร์
ถามมาว่า
*ผมทำแบบนี้ผิดหรือปล่าวครับ?
ตอบ จะให้ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ตอบว่า คุณไม่ผิดหรอก เพราะอีกฝ่ายไม่ปฎิบัติตามสัญญา แต่ปัญหาก็คือ คุณก็เคยปฎิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่เพิ่มวันทำงานจากเดิมที่ตกลงกัน ดังนั้น จึงมีข้อสงสัยอยู่ว่า คุณจะเอางัยแน่ แต่ผมว่าคุณควรจะไปคุยกับผู้มีอำนาจเพื่อให้เครียร์ๆกันไปเลยว่าจะเอาอย่างไร เพราะหาไม่แล้วคุณก็จะอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ล่ะครับ

*หรือผมต้องทำโดยไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อไปหรือ?
ตอบ ยืนยันได้เลยตรงนี้ว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องแน่นอนครับ อยู่ที่ว่าคุณพร้อมที่จะเรียกร้องสิทธิ์หรือไม่เท่านั้น และจงเชื่อมั่นในความถูกต้องครับ

*สัญญาที่ไม่เหมือนสัญญาสักเท่าไหร่นายจ้างจะยกเอามาอ้างได้ไหม?(เพราะในสัญญานายจ้างจะได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว)
ตอบ เป็นปกติของการร่างสัญญาครับ เพราะผู้ร่างย่อมร่างให้ตนได้เปรียบ เพียงแต่ว่า ในทางกฎหมายหากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมศาลก็สามารถกำหนดให้เท่าที่เป็นธรรมได้ครับ และผมก็เชื่อมั่นว่าคุณก็เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น" ก็เป็นการฉายภาพชัดเจนเช่นเดียวกับกรณีของคุณครับ

ลองพิจารณาตัดสินใจดูครับ และหากยังสงสัยก็โทรสอบถามได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

535
เครสนี้ต้องรีบเข้ามาตอบ เพราะถามทนายมาหลายช่องทาง ก็เข้าใจในความร้อนใจครับ

เอาเป็นว่า ทนายก็ขอให้กำลังใจในการต่อสู้ละกันนะครับ และหากพื้นที่นี้ทำให้คุณชลธีมีความรู้สึกที่ดีขึ้นต่อขบวนการยุติธรรม ทนายก็ยินดีมากครับ

ก็คงไม่มีอะไรแนะนำหรือสามารถที่จะเร่งรัดคดีให้กับคุณชลธีได้ เนื่องจาก ในแต่ละคดีก็จะต้องเป็นไปตามลำดับ หรือที่นักกฎหมายเค้าเรียกกันในภาษาพูดว่า "คดีลงราง" ก็หมายความว่า ในคดีแต่ละคดีก็จะไปต่อท้ายกัน เหมือนการเข้าคิวล่ะครับ

และ ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง (หัวลำโพง) ก็มีจำนวนประมาณ ๓๐ คน และคดีของคุณก็เป็นคดีที่ ๒๗๗๒ (หมายความว่า มีคนมาฟ้องคดีก่อนคุณแล้ว ๒,๗๗๑ คน) ก็เเสดงว่า ผู้พิพากษาแต่ละคนก็จะต้องรับผิดชอบคดีประมาณ ๑๐๐ เรื่อง ซึ่งในแต่ละปีศาลแรงงานกลางก็จะรับคดีไว้พิจารณาประมาณ ๑๐,๐๐๐.- เรื่อง แต่จำนวนผู้พิพากษาก็คงมีจำนวนเท่าเดิม หรือต้องรับผิดชอบคดีคนละหนึ่งพันเรื่อง หนึ่งปีมี ๓๖๕ วัน ตัดวันหยุดไปประมาณ ๑๓๐ วันต่อปี ก็จะเหลือวันทำงานประมาณ ๒๕๐ วัน เฉลี่ยในแต่ละวันผู้พิพากษาต้องนั่งพิจารณาคดีวันละ ๔ คดี มันจึงมีระยะเวลานานกว่าจะได้วันว่างนัดแต่ละคดีงัยล่ะครับ

ทนายก็คงไม่มีอะไรแนะนำ นอกจากให้ทำใจละครับงานนี้...แต่ล่าสุดคดีของทนายที่นัดสืบพยาน นี่ไปเดือนเมษายน ๖๑ แล้วนะครับ..ฮา ซึ่งอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ในการตั้งศาลแรงงานที่มีสโลแกนว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม" แต่ก็ไม่มีทางเลือกครับ เพราะทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการศาลก็ต้องต่อคิวเช่นเดียวกันครับ


ส่วนเนื้อหาของคดีนั้น เอาเป็นว่า บริษัทคงแจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนของคุณเป็น รหัส R5 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยมีความผิด (ขาดงานติดต่อกัน ๓ วัน) เป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา.๑๑๙ ดังนั้น เมื่อนายจ้างแจ้งประกันสังคมเป็น R5 คุณก็ยังไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน จนกว่าศาลแรงงานจะตัดสินงัยล่ะครับ หรือหากตกลงกันได้ ก็ขอให้บันทึกข้อความให้ดีนะครับ มิเช่นนั้น ประกันสังคมก็จะไม่แก้ไขให้ คุณก็จะเสียประโยชน์อีก ยังงัยก็สอบถามผู้รู้หรือหาผู้รู้ไปช่วยเหลือคดีก็จะเป็นประโยชน์กับคุณนะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ทราบว่าคุณร่างฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องอะไรบ้าง โดยปกติถ้าทนายร่างฟ้องในกรณีอย่างนี้ ก็จะขอท้ายฟ้องว่าเรื่อง ขอสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า(ม.๑๗) ค่าชดเชย (ม.๑๑๘) ค่าเสียหาย (วิ.แรงงาน ม.๔๕) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(ถ้ามี) , ให้แก้ไขข้อมูลประกันสังคมจาก R5 เป็น R3 อะไรประมาณนี้ครับ ลองดูครับ หากไม่ครบก็ไปขอแก้ไขคำฟ้องให้ครบถ้วนได้ครับ

ก็อย่าพึ่งหมดศรัทธราครับ เพราะไม่มีหนทางอื่นใดนอกจากการอาศัยอำนาจจากคำพิพากษาของศาลในการเรียกร้องสิทธิครับ

หากยังสงสัยก็โทรสอบถามมาได้นะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

536
ต้องขอออกตัวก่อนว่าทนายก็ไม่มีความเชียวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์,สิทธิบัตร หรือกฎหมายที่คล้ายกันนี้ ดังนั้น คำตอบของทนายก็ขอให้ใช้เป็นแนวทางเท่านั้น และถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรจะตั้งคำถามสอบถามหลายๆแห่ง หรือสอบถามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จะได้รับคำตอบที่ชัดเจนครับ

อย่างไรก็ตาม ทนายและทีมงานได้ตรวจสอบพร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อกฎหมายตามคำถามที่ถามมาทุกข้อ ซึ่งในแต่ละคำถามก็จะอธิบายยาวหน่อยนะครับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ถามและผู้ที่เข้ามาเก็บความรู้ในห้องนี้ เอาละ ออกตัวมาหลายบรรทัดแระ เข้าเรื่องเลย

คำถามแรก ถามว่า "ขายเสื้อวงดนตรีต่างประเทศยุค60-80 ยกตัวอย่างเช่นวงดนตรี the beatles โฆษณาเปิดตัวในปี คศ. 1960–1970 ซึ่งปัจจุบันปี2017 ในพรบกล่าวว่า ศิลปประยุกต์ มีความคุ้มครอง25ปี ทั้งนี้สามารถเป็นกรณีสาธารณะได้ไหมคะ? แล้ว เป็นศิลปะประยุกต์หรือเปล่าคะ?" 

ทนายเปิดยูทูปฟังเพลง The beatles แล้วขอตอบว่า “เสื้อวงดนตรี” ถือได้ว่าเป็นศิลปประยุกต์ โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า”

ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 (7) เขียนไว้ว่า
มาตรา 4 ศิลปกรรม หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ
หลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง
(2) งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้
(3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย
(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
(5) งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น
(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์
(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า


คำถามต่อมา ถามว่า “ศิลปประยุกต์ มีความคุ้มครอง25ปี ทั้งนี้สามารถเป็นกรณีสาธารณะได้ไหมคะ?”

ทนายนั่งเปิดกฎหมายดูแล้ว วิเคราะห็ตามข้อกฎหมายตามมาตรา 19 ซึ่งได้เขียนไว้ว่า “มีอายุคุ้มครองไปอีก 50 ปี นับแต่ได้โฆษณา” ถ้ากล่าวอย่างที่ว่ามา คือ โฆษณาครั้งแรก คศ. 1970 (เอาตัวหลังเพื่อความชัวร์) ก็น่าจะหมดอายุในปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ครับ

อย่างไรก็ตามเท่าที่ทนายพอจะมีข้อมูลคือ ลิขสิทธิ์งานของวง The Beatles นั้น บริษัท SONY ประเทศญี่ปุ่น เป็นคนถือลิขสิทธิ์เพลงของวงนี้อยู่ครับ ในส่วนอื่นๆที่นอกเหนือจากเพลง เช่น การจัดจำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ เช่น เสื้อ ทนายไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ครับ

 ซึ่งกฎหมายังเขียนไว้อีกว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีก เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย

ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก”

คำถามต่อมาถามว่า "เครื่องหมายการค้า  เคยเสิช(สืบค้น)ในเน็ตว่า the beatles มีเครื่องหมายการค้าเป็นรูปแอปเปิ้ล (สัญลักษณ์แทนวงของเขา) แต่เราไม่ได้พิมพ์รูปแอปเปิ้ลที่เป็นเครื่องหมายของเขา แล้วเราสามารถพิมพ์ ชื่อวง กับ รูปนักดนตรีได้ไหมคะ?"

ข้อนี้อย่างที่ตอบไปแล้วครับ ว่า ลิขสิทธิ์งานของวง The Beatles นั้น บริษัท SONY ประเทศญี่ปุ่น เป็นคนถือลิขสิทธิ์เพลงของวงนี้อยู่ครับ ดังนั้นการถามว่าเราสามารถพิมพ์ชื่อวง กับรูปนักดนตรีได้ไหม ? ถ้ารูปนั้นคาบเกี่ยวกับการเล่นคอนเสิร์ต ภาพจากคอนเสิร์ตต่างๆ คิดว่าไม่น่าจะได้ครับ เพราะถือเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทไปแล้ว

คำถามถัดมา ถามว่า "ถ้าเกิดว่าได้ทำการเช็คการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ปรากฏว่า ไม่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งนี้ตำรวจสามารถแจ้งจับได้ไหมคะ? ทั้งๆที่ไม่ได้มีหลักฐานอนุมัติจากเจ้าของหรือตัวแทนลิขสิทธิ์ กับเครื่องหมายการค้า เซ็นรับรอง"

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ขอตอบอย่างนี้ครับว่า เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นของ ดังนั้น บริษัท SONY จากญี่ปุ่นต้องเป็นคนแจ้งจับเราโดยตรง และต้องมีใบมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้จับด้วยครับ ไม่ใช่ตำรวจไทยจะมาจับสุ่มสี่สุ่มห้าแต่อย่างใด ซึ่งหากมีใครจะมาจับเราก็ขอตรวจสอบก่อนได้ครับ

ยังมีคำถามอีกว่า "จะต้องผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อนถึงจะดำเนินคดีได้หรือเปล่าคะ? และเคยมีอยู่ครั้งนึง มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาประมาณ4-5คน มาแจ้งจับเรื่องลิขสิทธิ์ แล้วเขามีเอกสารบอกว่า จากอเมริกา แต่เราก็ไม่ได้ตรวจอะไร ไม่ได้รู้เรื่องกฎหมาย บอกให้ไปสน. อย่างเดียว แล้วจ่ายค่าละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน20000 ก็จบอะค่ะ แบบนี้เราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นยังไงคะ ว่าเป็นการดำเนินคดีจริงหรือเปล่า"

เอาเป็นว่า ทนายจะบอกขั้นตอนของการจับผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ว่าปกติจะมีขั้นตอนที่เราสามารถตรวจสอบได้ ดังนี้

(1)   ตำรวจต้องมีหมายค้น ที่ระบุว่ามาค้นในเรื่องอะไร เช่นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์

(2)   ในกรณีไม่มีหมายค้นโดยอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า และเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แจ้งความไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้วท่านมีสิทธิปฏิเสธการตรวจค้นได้ทันที ตามหนังสือของสำนักงานกฤษฏีกาเรื่องเสร็จที่ ๔๕๒/๒๕๔๖ มีสาระสำคัญว่า การตรวจค้นจับกุมดังกล่าวไม่เป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล เนื่องจากมิใช่กรณีเป็นความผิด ซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ให้จับได้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดไว้  ซึ่งสามารถนำไปอ้างอิง และโต้แย้งกับผู้ที่มาตรวจค้นจับกุมได้

(3)   ดูการมอบอำนาจว่าถูกต้องหรือไม่ โดยหนังสือมอบอำนาจจะต้องมีการมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์จนถึงผู้รับมอบอำนาจช่วงคนสุดท้ายโดยไม่ขาดสาย และตรวจสอบหนังสือยืนยันความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งตรวจสอบบัตรตัวแทนรับมอบอำนาจหรือหนังสือรับรองการเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนบัตรประจำตัวประชาชนว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนหรือไม่

(4)   กรณีเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นชาวต่างประเทศ ต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย โดยผ่านการรับรองความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดจากสถานทูตไทย หรือผู้มีอำนาจรับรองการมอบอำนาจ และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้จริงด้วย

(5)   ให้สอบถามว่า งานที่ถูกละเมิดนั้น โฆษณาครั้งแรกเมื่อไรและงานยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ โดยขอหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของงาน อันมีลิขสิทธิ์ประกอบรายละเอียด วัน เดือน ปี และสถานที่ออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกประกอบด้วย

(6)   ถ้าตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ถูกต้อง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นการแอบอ้างจับกุมดำเนินคดีละเมิด ลิขสิทธิ์ โดยที่ผู้จับกุมไม่มีอำนาจ แต่หากตรวจสอบแล้วถูกต้อง ก็ต้องยอมรับในการที่จะถูกจับกุม หากมีการกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์จริง

(7)   อย่าจ่ายเงินเองเด็ดขาดให้ศาลสั่งเท่านั้น เพราะอาจจะโดนปรับจริงๆน้อยกว่าที่ตำรวจเรียกก็ได้ เพราะคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดียอมความได้ จ่ายแล้วจบ ตำรวจที่ทำไม่ถูกต้องถึงชอบทำ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน

คำถามสุดท้าย มีว่า "ถ้ามีคนไทยไปซื้อลิขสิทธิ์วง the beatles เราสามารถตรวจสอบได้ไหมว่าใครเป็นเจ้าของ ถ้าได้แล้วเช็คได้ที่ไหนคะ?"

ก็ขอตอบว่า เท่าที่ทนายทราบตอนนี้คือ บริษัท SONY ที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ทนายไม่มีข้อมูลครับ


ดังนั้นข้อแนะนำของทนายในเรื่องนี้ก็คือ ต้องหาคนวาดภาพวง the beatles ขึ้นมาเอง จะได้ไม่ต้องไปละเมิดลิขสิทธิ์ใครครับ เพราะแม้ว่าเราไม่ใช้เครื่องหมายการค้า แต่ชื่อวง รูปนักร้อง ถ้าเราไป copy มาจากทางเน็ตหรือเอารูปคนอื่นมาใช้ ยังไงก็ละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่นอยู่ดีเช่นกันครับ

ตอบยาวหน่อย แต่เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้.. ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร



537
ทนายพอจะเข้าใจแล้วว่า พนักงานขายกับเข้าของโชว์รูม ร่วมกันแจ้งยอดขายเพื่อให้เป็นไปตามเป้า ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงเป้าก็เอายอดล่วงหน้ามาบันทึกรายการว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายเพื่อจะนำไปสู่การได้รับเงินค่าคอมมิชชั่้นในการขาย ประมาณนี้

เอาเป็นว่า กรณีอย่างนี้ หากจะลุยเพื่อเอาเงินจำนวนดังกล่าวจริงๆ เรื่องราวที่ปิดไว้ก็คงจะแตกก็งานนี้ล่ะ..(ฮา) เพราะน่าจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายคน(ทนายคิดเองนะ)
เอาละ เอาเป็นว่า มูลเหตุทนายไม่ก้าวล่วงล่ะครับ แต่จะตอบเป็นข้อกฎหมายตามที่ถามมาดังนี้ครับ

ประเด็นแรกมีว่า ผู้ถามควรจะได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ? ซึ่งประเด็นนี้ ก็ต้องถามว่า แล้วคันที่ขายได้ ผู้ถามได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นไปหรือยัง ถ้ายังก็แน่นอนว่า ผู้ถามย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินดังกล่าว แต่ถ้าได้รับไปแล้วจากการแจ้งขายล่วงหน้า อันนี้ก็เป็นอันหมดสิทธิครับ

ประเด็นที่สอง ถามว่า แล้วจะทำอะไรได้บ้าง? ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายแรงงาน ดังนั้น หากคิดว่าเราถูกละเมิดสิทธิหรือถูกตัดสิทธิประโยชน์ ก็สามารถเรียกร้องโดยผ่านช่องทางศาลแรงงานได้ แต่คำถามคือ มันจะคุ้มหรือเปล่ากับจำนวนเงินที่เรียกร้อง กับเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการเรียกร้องสิทธิ อาจจะต้องชั่งน้ำหนักดูนะครับ แต่ถ้า "ตั้งธง" เครื่องความถูกต้องชอบธรรม ก็ลุยได้เลยครับ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ก็จะต้องมีการ "ไกล่เกลี่ย" กันตามที่กฎหมายกำหนด ไม่แน่ว่า อาจจะตกลงกันได้ในชั้นไกล่เกลี่ยก็อาจเป็นได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

538
ตอบ ทนายไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ขายรถที่แจ้งขายไปแล้ว” ว่าหมายถึงอะไร คงต้องขอคำอธิบายเพิ่มละครับ

อย่างไรก็ตาม เอาหลักการว่า หากมีข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินพิเศษจากการขาย (คอมมิชชั่น) หากขายได้ตามเป้าหมาย เมื่อพนักงานสามารถปฎิบัติได้ดังนั้น นายจ้างก็ต้องปฎิบัติตามสัญญาคือต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น หากนายจ้างไม่จ่ายก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา ก็สามารถที่จะไปฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้จ่ายได้ครับ ซึ่งคดีประเภทนี้มีขึ้นสู่ศาลเยอะมากนะครับ

หากคำตอบยังไม่เคลียร์ก็โทรสอบถามเพิ่มเติมได้นะครับ เพราะทนายก็อยากรู้เหมือนกันว่าขายรถที่แจ้งขายไปแล้วหมายความว่าอย่างไร....จะได้วิเคระห์ข้อกฎหมายให้ต่อไปครับ

ทนายพร

539
ตอบ ถ้าให้ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ นายจ้างสามารถทำได้ แต่ทำแล้วจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นี่แหละคือประเด็น จากกรณีคำถามเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการ “เปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง”  ดังนั้น ทางแก้ก็คือไปใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องเพิกถอนคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวต่อศาลแรงงาน ทั้งนี้ ลูกจ้างก็ควรจะเข้าไปคุยและส่งเป็นหนังสือคัดค้านอีกครั้งหนึ่งว่าการโยกย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ย้ายกลับตำแหน่งหน้าที่เดิม หากนายจ้างเพิกเฉยก็ใช้บารมีศาลเป็นที่พึ่งฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ครับ

อนึ่ง ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมความหมายของคำว่า "สภาพการจ้าง" ตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ครับ

ขอให้โชคดี

ทนายพร

540
ถามว่า "ถ้าการฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ตามสัญญาขาดอายุความแล้ว และอีกฝ่ายยกอายุความขึ้นกล่าวอ้าง เราจะกำหนดเวลาพอสมควรให้อีกฝ่ายชำระหนี้ เพื่อบอกเลิกสัญญาหากอีกฝ่ายยังคงไม่ชำระหนี้ตาม ม.387 ได้ไหม"

ตอบ ที่ถามมาเป็นคนละประเด็นกันครับ กล่าวคือ ตาม ป.แพ่ง ม.๓๘๗ เป็นกรณีที่มีหนี้ต่อกันแล้วไม่ชำระตามสัญญาจึงใช้สิทธิบอกกล่าวให้ชำระหากเพิกเฉยจึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อกัน เช่น ทำสัญญากู้เงินกัน ๑๐๐ บาท กำหนดชำระคืนภายใน ๗ วัน เมื่อครบกำหนดผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ผู้ให้กู้จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้กู้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา เพื่อดำเนินการฟ้องตามขั้นตอนต่อไป ส่วนกรณีที่ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว อีกฝ่ายยกขึ้นต่อสู้ ก็เป็นข้อกฎหมายที่คู่ความจะยกว่ากล่าวกันได้ ทางแก้กรณีที่ขาดอายุความ คือต้อง “ต่อ” อายุความไห้ได้ เช่น การทำสัญญารับสภาพหนี้ หรือ รับชำระหนี้บางส่วน เป็นต้น


ตามต่อว่า "แล้วถ้าอีกฝ่ายไม่คืนเงิน จะฟ้องบังคับให้กลับสู่ฐานเดิมได้ไหมคะและการฟ้องเรียกทรัพย์คืนนี้มีอายุความไหมเช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน กำหนดโอนวันพรุ่งนี้ แต่ผู้ขายผิดสัญญาไม่มาจดทะเบียน และยังมิได้ส่งมอบการครอบครองที่ดิน ผ่านไป 12 ปี (ขาดอายุความแล้ว) ผู้จะซื้อไปฟ้องศาล ผู้จะขายยกอายุความขึ้นกล่าวอ้าง ศาลยกฟ้อง ทีนี้หลังจากศาลยกฟ้องแล้วเราจะบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 ได้หรือเปล่าคะ แล้วถ้าเราไปฟ้องอีกครั้งเพื่อเรียกเงินคืน จะถือว่าขาดอายุความไปแล้ว ทำให้ศาลจะยกฟ้องอีกไหม"

ตอบ ก่อนอื่นต้องกลับไปดูสัญญาว่าในสัญญาเปิดช่องให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือ ถ้าข้อเท็จจริงตามที่เล่ามามีเพียงเท่านี้ ศาลต้องยกฟ้องอีกแน่ แต่ทนายว่าอีกฝ่ายจะยกข้อต่อสู้ว่าเป็นฟ้องซ้ำอ่ะครับ แต่ท้ายที่สุดก็คงจะนำไปสู่จุดหมายเดียวกันคือศาลยกฟ้องครับ

ทนายพร

หน้า: 1 ... 34 35 [36] 37 38 ... 50