02/05/24 - 21:00 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 23 24 [25] 26 27 ... 50
361
เครสนี้ ทนายอ่าน ๓ รอบ เพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีคนไปกู้เงินแทนคนอื่น หากไม่ใช่ญาติจริงๆ หรือถึงแม้จะเป็นญาติก็ยังต้องคิดหนักเลยครับ เรื่องนี้ เพราะที่เป็นคดีอยู่มากมายก็เรื่องนี้แหละโดยเฉพาะเพื่อนฝูงกันนี้แหละ ตัวดีเลย ขอให้ไปค้ำประกันให้ ถ้าไม่ไปก็จะเสียเพื่อน ถ้าไปก็เครียดว่าเจ้าเพื่อนมันจะผ่อนชำระมั๊ย ถ้าไม่ผ่อนความซวยก็มาหาเรานี่แหละ พอไปทวงถามเพื่อนก็บ่ายเบี่ยง ท้ายที่สุดก็เสียเพื่อนไปอยู่ดี ดังนั้น หากจะให้ดีก็ไม่ต้องไปกู้ให้ใคร ไม่ต้องไปค้ำประกันให้ใคร อย่างนี้ปลอดภัยแน่ แต่จะอยู่แบบเดียวดายหน่อยนะครับ...ฮา

เอ้า ตอบตามที่ถามเลยนะครับ โดยถามว่า...ทำงัยดีธนาคารจะฟ้องแล้ว และเอาผิดกับคนที่ให้เรากู้แทนได้หรือไม่

ทนายตอบแบบเป็นข้อแนะนำว่า...คงต้องกัดฟันเดินไปที่ ธกส. ไปขอปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ขอปรับยอดเงินผ่อนลง และผ่อนไปตามนั้นจนหมด ขณะเดียวกันก็ติดต่อให้คนที่ให้เราไปกู้ แล้วทำหนังสือขึ้นมา ๑ ฉบับ เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ แล้วให้ลงชื่อไว้ต่อหน้าพยาน ๒ คน เพื่อเอาไว้ฟ้องไล่เบี้ยเรียกเงินที่เราผ่อนไปคืน

ส่วนการเอาผิดข้อหาอื่นนั้น คงยากหรือแทบปิดประตูเลยครับ เว้นแต่การที่คุณไปกู้นั้น เกิดจากการหลอกลวงอย่างถึงขนาด ถูกข่มขู่ว่าจะทำร้าย อย่างนี้สู้ได้ แต่ต้องมีหลักฐานเช่นบันทึกแจ้งความประกอบด้วย ซึ่งก็น่าจะไม่มี เพราะผ่านมาหลายเดือนแล้ว และการข่มขู่ดังกล่าวก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้น ยากครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

362
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: คุณป้าอายุ60
« เมื่อ: มกราคม 04, 2020, 01:54:15 pm »
โห..อายุ ๖๐ ปี ถูกจับยา แล้วจำนวนเกิน ๑๐ หน่วยการใช้ด้วย ในทางกฎหมายสันนิฐานว่า ครอบครองเพื่อจำหน่ายครับ

เท่าที่ทำคดียาฯมา ไม่รอดครับ ส่วนใหญ่ศาลจะลง ๔ ปี รับสารภาพ ลดกึ่งหนึ่ง และส่วนใหญ่จะไม่รอลงอาญาในศาลชั้นต้นครับ ก็ให้ทนายความทำอุทธรณ์โดยอ้างเหตุเจ็บป่วยอาจได้รับการปราณีจากศาลอุทธรณ์ลดโทษหรือรอฯก็อาจเป็นได้ครับ ซึ่งที่ทนายตอบเป็นความเห็นของทนายที่เคยทำคดีมา และอาจจะแตกต่างจากนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนครับ โดยท่านจะพิจารณาจากพฤติกรรมและองค์ประกอบอื่นเป็นสำคัญครับ

ส่วนข้อกฎหมายและโทษเป็นไปตามที่คุณมโนธรรมได้ตอบไว้ หรือศึกษาเพิ่มเติมได้ที่พระราชบัญญํติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ครับ

ทนายพร.

363
ถ้าถูกเลิกจ้างก็ฟ้องได้อยู่แล้วครับ ส่วนจะได้เท่าใหร่ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นประเด็นๆไป

เช่น ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเท่าไหร่? เงินอะไรบ้างที่ถือเป็นค่าจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่จะต้องไปพิจารณาให้ได้ข้อยุติก่อน

เมื่อได้ข้อยุติแล้ว จึงจะมาพิจารณาว่า คุณจะได้รับค่าชดเชยเป็นเงินเท่าใด (แน่นอนว่าต้องคำนวนจ่ายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน) โดยคิดจากฐาน "ค่าจ้าง"

ส่วนที่จะได้มากกว่าค่าชดเชย ที่เรียกว่า ค่าเสียหายนั้น ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าเราไม่ผ่านการประเมินผลงานนั้น เป็นการประเมินที่เป็นธรรมหรือไม่ เลือกปฎิบัติหรือไม่ กลั่นแกล้งหรือไม่ หากคิดว่าเราทำงานดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ก็มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ

สรุปฟ้องได้ครับ แต่จะได้เท่าไหร่ก็ไปว่ากันอีกทีที่ศาลครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

364
อย่างแรก ต้องพิจารณาให้ได้ข้อยุติก่อนว่า สัญญาจ้างที่ได้ทำต่อกันไว้นั้น เป็นสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ที่แน่นอน หรือเป็นสัญญาจ้างแบบไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะตอบว่า ผู้ถามจะได้รับเงินชดเชยหรือไม่

ในเรื่องนี้กฎหมายได้วางหลักไว้ในมาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๑๑๘ วรรคสาม และวรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งมาตรา ๑๗ กำหนดประเภทของสัญญา ส่วนมาตรา ๑๑๘ กำหนดเรื่องค่าชดเชย และข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในวรรคสาม หากเข้าเงื่อนไขในวรรคท้าย คืองานนั้นต้องเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ดังนั้น งานพรรคการเมือง อาจถือได้ว่าเป็นงานตามฤดูกาล หรืองานเฉพาะก็อาจเป็นได้ แต่ก็ไม่ใช่ข้อยุตินะครับ คงต้องดูที่ว่างานที่เราทำเป็นงานอะไร มีหน้าที่ทำอะไร หากเป็นงานด้านธุรการที่ต้องทำเป็นปกติธุระของพรรคการเมือง เช่น การรับสมัครสมาชิกพรรค การจัดทำเอกสารต่างๆ งานบัญชี การเงิน อะไรประมาณนี้ ไม่ถือว่าเป็นงานตามฤดูกาล ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้แน่นอนก็อาจมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ นะครับ

 ยังงัยก็ลองเจรจาดูนะครับ หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ก็อาจไปใช้สิทธิทางศาล เพื่อให้เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ก็คงจะได้ข้อยุติ เพราะเรื่องประเภทนี้ สื่อชอบทำข่าวครับ

ทนายพร.


365
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: หลักทรัพย์
« เมื่อ: มกราคม 04, 2020, 01:29:03 pm »
ถามทนายพร แต่ขอปรึกษากับหน่อย..อิอิ หยอกครับหยอก..

เรื่องมีอยู่ว่า มีคนร้ายไปหลัก (ที่ถูกน่าจะเป็นลัก) ลักตัดต้นยาง และได้หนี้ไป โดยรู้ตัวว่าผู้ที่ตัดต้นยางนั้นคือใคร จึงได้ไปคุยกับบิดามารดาเขาเพื่อให้รับผิดชดใช้ แต่ถูกปัดว่า ชั้นไม่รู้ ไม่เป็น ไม่เกี่ยวกับชั้นนนน!...แล้วถามว่า..ผมจะต้องไปดำเนินคดีแบบไหรครับ?

ทนายก็ตอบว่า...ให้คุณเดินไปที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ แจ้งความว่า มีคนร้ายมาทำลายทรัพย์สิน ขอให้ตำรวจจับคนร้ายมาดำเนินคดีข้อหา "ทำให้เสียทรัพย์"  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ซึ่งถ้าตำรวจไม่รับแจ้งความให้จดชื่อ-นามสกุล ตำรวจคนนั้นไว้ แล้วขอเข้าพบ ผู้กำกับให้ดำเนินการให้ครับ ไม่ยากๆ

หลักจากที่ตำรวจรับแจ้งความแล้วก็จะมีการสืบสวนสอบสวนและตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายครับ

อนึ่ง...ทนายยังมีข้อสงสัยว่า ทำมัยอยู่ดีๆ เค้าจึงมาตัดต้นยางของเรา?  หรือมีเหตุจูงใจอะไรจึงทำเช่นนั้น หรือมีข้อพิพาทในเรื่องที่ดินกันอยู่ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสาระสำคัญที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรด้วยนะครับ

เบื้องต้นก็ตอบตามที่มีข้อมูลเท่านี้ก่อนนะครับ หรือถ้ายังสงสัยก็สอบถามเข้ามาเพิ่มเติมได้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

366
เรื่องนี้ยาวววว....หมายถึงเล่ารายละเอียดได้ดีครับ โดยสรุปแล้ว ผู้ถามได้ลาออกเป็นที่เรียบร้อย โดยให้มีผลในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ซึ่งขณะที่เริ่มทำงานได้ตกลงเริ่มสตาร์ทอยู่ที่ ๒๒,๐๐๐.- บาท ต่อมามีการตกลงกันให้สตาร์ทที่ ๑๘,๕๐๐.- บาท (นี่ขนาดแค่สตาร์ทยังได้ตั้ง ๒ หมื่น ถ้าไส่เกียร์เหยียบคันเร่ง น่าจะประมาณ ๓ หมื่นได้มั๊ง ทนายว่า..อิอิ หยอกครับหยอก) และในระหว่างทำงาน ฝ่ายการเงินน่าจะคำนวนจ่ายเงินผิดจึงจ่ายให้ ๒.๒ หมื่น ผู้ถามได้รับและไม่คัดค้าน ต่อมาจึงได้มีการทักท้วงจากฝั่งนายจ้างว่าไม่ถูกต้อง จึงปรับลด มิหนำซ้ำถูกหักย้อนหลังเดือนละห้าพัน พร้อมกับเงินประกันอีกห้าพัน เบ็ดเสร็จ ๒.๒ หมื่น เกินกว่าที่หักไปอีก

 แล้วถามว่า....กรณีนี้สามารถเอาผิดกับทางบริษัท เรียกร้องเงินที่ทางบริษัทหักไปทั้งหมดคืนมาได้หรือไม่คะ?

ทนายก็ตอบว่า...เอาผิดกรณีที่ไม่คืนเงินค้ำประกันได้ แต่กรณีการหักเงินที่จ่ายเกินนั้น ถ้ามีการตกลงกันว่าค่าจ้างเดือนละ ๑๘,๕๐๐.-บาท จริง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เซ็นต์สัญญาจ้างเป็นหนังสือก็ตาม ก็คงต้องบังคับตามที่คู่สัญญาตกลงกันอย่างแท้จริง

ดังนั้น เมื่อบริษัทได้จ่ายเงินให้เกินกว่าสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ นายจ้างก็มีสิทธิติดตามเงินนั้นคืนได้ครับ แต่ที่นายจ้างทำไม่ถูกก็คือ ไม่มีการพูดคุยหรือตกลงกันให้ดีก่อน เพื่อลดข้อขัดแย้ง แต่ใช้วิธีให้ฝ่ายบัญชีหักดิบอย่างนี้ ไม่ถูกต้องครับ และยิ่งมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัตคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ได้กำหนดเงินที่นายจ้างสามารถหักจากค่าจ้าง ก็ไม่เข้าองค์ประกอบกับการหักเงินตามกรณีนี้ ถ้าตีความเงินที่หักนี้คือค่าจ้าง นายจ้างจึงไม่สามารถหักได้ นอกจากนี้ ในมาตราที่ ๗๗ ยังกำหนดไว้ด้วยว่า หากนายจ้างจะหักเงินใดๆจากค่าจ้าง ต้องทำเป็นหนังสือและลูกจ้างต้องยินยอมไว้โดยชัดเเจ้งด้วยแล้ว การกระทำของนายจ้างจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๗๖ ประกอบ ๗๗ ดังกล่าวครับ

แล้วมีคำถามต่อว่า..เมื่อนายจ้างทำผิดจะทำอะไรได้บ้าง? (ข้อนี้ทนายถามให้เลย..ฮา) อย่างแรก ก็ต้องไปเรียกร้องเงินที่ถูกหักคืน โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.๗) ให้มีการสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัย ซึ่งทนายเชื่อว่าก็คงไม่แตกต่างไปจากข้อกฎหมายที่ทนายได้อธิบายไว้ หรือถ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยว่า นายจ้างทำถูกต้องแล้ว หากลูกจ้างไม่เห็นด้วย ลูกจ้างก็มีสิทธิไปฟ้องเพิกถอนคำสั่งนั้นต่อศาลได้ แพ้ชนะก็ว่ากันด้วยพยานหลักฐานล่ะทีนี้ ซึ่งท่านอาจจะเสียเปรียบในรูปคดีเพราะท่านก็ยอมรับเองว่าได้ตกลงค่าจ้างอยู่ที่ ๑๘,๕๐๐.- บาท หรือท่านอาจจะชนะคดีกรณีที่นายจ้างหักค่าจ้างท่านโดยไม่ชอบ แต่ท้ายที่สุดท่านอาจถูกฟ้องแย้งให้คืนเงินที่ท่านไม่มีสิทธิได้รับดังกล่าวให้กับนายจ้าง ซึ่งบทสรุปก็คือ ต้องคืนเงินดังกล่าวนั่นเอง ทนายจึงขึ้นหัวว่าง เรื่องนี้ยาววววว.....

ส่วนประเด็นประกันสังคม คงสิ้นปัญหาไปแล้วเพราะได้รับการแก้ไขแล้ว ทนายก็ขอละไว้ในที่นี้นะครับ

หากยังสงสัยก็ถามเข้ามาใหม่ได้นะครับ

ทนายพร.

367
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ค่าล่วงเวลา
« เมื่อ: มกราคม 04, 2020, 11:55:49 am »
อ่านไปก็น้ำตาจะใหล ไม่รู้ว่าทนายเข้ามาตอบทันหรือเปล่านะ...แต่เอาเถอะเมื่อถามมาก็ตอบไป เผื่อจะเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นๆที่เข้ามาอ่านบ้าง

ก่อนอื่น ทนายอ่านแล้ว ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานที่ทำว่าเป็นงานประเภทอะไร เพราะงานแต่ละประเภทจะคิดค่าตอบแทนที่ทำงานแตกต่างกันและมีเวลาทำงานที่แตกต่างกันด้วย เช่นงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป หากทำงานเกินเวลาทำงานปกติ จะเรียกว่า ค่าล่วงเวลา แต่ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับขนส่ง จะไม่เรียกค่าล่วงเวลา แต่จะเรียกว่า ค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ตามประกาศกระทรวงฉบับที่ ๑๒ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้คิดเงินแตกต่างกัน หากเป็นงานปกติจะได้ ๑.๕ เท่า แต่ถ้าเป็นงานขนส่งจะได้ ๑ เท่า ครับ

ดังนั้น ตามที่ถาม หากการทำงานของแฟนคุณเป็นงานทั่วไป วิธีคิดตามที่คุณคิดมานั้น ถูกต้องแล้ว 
แต่ถ้าเป็นงานประเภทขนส่ง วิธีคิดของบริษัท ก็ถูกต้องเช่นกันครับ

ส่วนประเด็นการหักเงิน ๕ เปอร์เซ็นต์ หรือภาษาทางการเรียกว่า ร้อยละ ๕ นั้น ก็ต้องดูว่าหักเป็นค่าอะไร ถ้าหักเพื่อนำส่งประกันสังคม ก็เป็นการหักที่ถูกต้อง หรือถ้าไม่ใช่ ก็ต้องตามว่าหักเป็นค่าอะไร เพราะกฎหมายห้ามหักค่าจ้างเว้นแต่เป็นการหักตามมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญํติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ นั่นก็คือ (๑) หักภาษีหรือชำระเงินอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด (๒) หักค่าสหภาพ (๓) ชำระหนี้สหกรณ์ (๔) หักเงินประกันบางประเภท หรือหักค่าเสียหายโดยลูกจ้างต้องยินยอม หรือ (๕) หักเงินสะสม

ส่วนการเลื่อนการจ่ายค่าจ้างนั้น ถ้าตอบตามหลักกฎหมายนั้น ได้วางหลักไว้ในมาตรา ๗๐ ว่า บรรดาเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับหรือนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย ให้จ่ายให้แก่ลูกจ้างภายใน ๓ วัน นับแต่วันที่กำหนด ดังนั้น เมื่อนายจ้างจ่ายเงินล่าช้ากว่า ๓ วัน ก็ให้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.๗) เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่าย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินที่ค้างจ้าย และอย่าลืม ขอให้พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน ของเงินที่ค้างจ่ายตามมาตรา ๙ ไปด้วยนะครับ

ส่วนเมื่อไปร้องแล้ว จะทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ ทนายก็รอลุ้นต่อไป...อิอิ (นายจ้างคงโกรธจนควันออกหูแน่)

ส่วนปัญหาและความเครียดที่เกิดขึ้น คิดซะว่า เป็นลิขิตฟ้าที่กำหนดให้เราเป็นแบบนี้ครับ คิดเสียว่า ยังมีคนอื่นที่มีปัญหามากกว่าเรา เครียดกว่าเราอีกมากมาย และทนายจะบอกให้ว่า คนรวยๆหรือนักธุรกิจทั้งหลาย ล้วนแต่ผ่านปัญหาและความเครียดมาอย่างมากมาย แต่คนเหล่านั้นก็ยังสามารถยืนหยัดต่อไปได้ เพราะความไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้แก่โชคชะตาครับ  เอาน่า ทนายเชื่อว่าด้วยความดีที่ท่านและครอบครัวทำงาน จะนำพาท่านและครอบครัวพ้นผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

368
ถามมาสั้นดี  แต่ต้องอธิบายกันยาววววววว....ฮา

เมื่อลูกจ้างตอบตกลงว่าจะเป็นลูกจ้างของนายจ้าง สัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นในทันทีโดยไม่จำต้องเซ็นต์สัญญาเป็นหนังสือ
แต่การตกลงดังกล่าวต้องได้ข้อสรุปว่า จะจ้างมาทำอะไร ได้ค่าจ้างเท่าไหร่ มีสวัสดิการอะไรบ้าง มีเงื่อนไข/ข้อบังคับ/ข้อห้ามอย่างไรบ้าง ซึ่งต่างๆเหล่านี้ เรียกรวมๆว่า "สภาพการจ้าง"

เมื่อได้ตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้อย่างไรแล้ว สภาพการจ้างดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายเสียก่อน หรือต้องไปใช้สิทธิยื่นข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัตแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ เว้นแต่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นคุณ (หมายถึงลูกจ้างได้ผลประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม) แก่ลูกจ้างมากกว่า กรณีเช่นนี้ นายจ้างสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ลูกจ้างเสียสิทธิประโยชน์ไปจากเดิม กฎหมายห้าม ทำไม่ได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า หากลูกจ้าง "ยินยอม" ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้

มาเข้าคำถาม ที่ถามว่า...นายจ้างสามารถลดค่าจ้าง ลดตำแหน่งต่อพนักงานได้ไหมครับ ?

ก็ตอบว่า...ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว ลดค่าจ้าง หรือลดตำแหน่ง ทำไม่ได้ เว้นแต่ถ้าลูกจ้างยินยอมก็สามารถลดค่าจ้างหรือลดตำแหน่งได้ครับ

ถามมาเท่านี้ ก็ตอบเท่านี้ แต่ที่ทนายกังวลคือ ถ้าไม่ยอมแล้วจะทำอย่างไรล่ะทีนี้ คงถูกนายจ้างหาทางบีบและกดดันสารพัดแน่ อยู่ที่ว่าลูกจ้างจะทนรับแรงกดดันเช่นนี้ได้หรือไม่เท่านั้น ถ้าคำตอบว่า ได้ ก็ไม่ต้องไปให้ความยินยอม สู้ต่อไป ทาเคชิ!...ฮา  แต่ถ้าคำตอบมีว่า..ผมคงทนแรงกดดันไม่ไหวแน่ ..อันนี้ก็คงต้องยอมๆกันไป เพื่อแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและช่วยๆบริษัทให้พ้นวิกฤติไป อะไรประมาณนี้

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

369
เครสนี้ ถามแทนเพื่อน  ซึ่งที่เล่ามาก็ยืนยันเสียงเเข็งว่าเพื่อนอยู่กับผู้ถามโดยตลอด ไม่ได้ไปมีเรื่องมีราวกะใคร

แล้วถามว่า... ถ้าเพื่อนผมโดนไล่ออกทั้งๆที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง​ แบบนี้เพื่อนผมจะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้มั้ย​ และต้องฟ้องใครบ้าง?

ก็ตอบว่า...หากไม่ได้ทำผิด ก็ไม่ต้องกังวลเลยครับ ถ้านายจ้างเลิกจ้างก็ฟ้องนายจ้างนั่นแหละว่าเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม นอกจากจะได้ค่าชดเชยแล้ว ยังมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญํติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ด้วยนะจะบอกให้

หรือถ้ายังอยากจะทำงานกับนายจ้างต่อไป ในคำขอท้ายฟ้องก็ระบุเพียงว่า  "ขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม ให้จ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี" แล้วไปลุ้นเอาว่า ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอหรือไม่ หากศาลพินิจพิเคราะห์ว่าคงไม่สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้อีก ศาลก็จะกำหนดค่าเสียหายให้เอง

คงครบถ้วนนำหรับคำถามนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

370
ตามแนวคำพิพากษาของศาลฏีกา ได้วางหลักไว้ว่า สัญญาจ้างทดลองงาน เป็นสัญญาจ้างประเภทไม่กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน

เมื่อเป็นเสัญญาจ้างประเภทไม่กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน การจะเลิกจ้างต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่จ่ายค่าจ้างเพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในงวดการจ่ายค่าจ้างถัดไป ที่อธิบายมานี้คือหลักกฎหมาย

ส่วนที่ถามว่า...ดิฉันจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และสามารถได้รับค่าเสียหายจากบริษัทฯ นี้ได้หรือไม่?

ก็ตอบว่า...คุณมีสิทธิ์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ เพราะการอ้างเหตุไม่ผ่านการทดลองงานเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ตามสมควร และหากจะต่อสู้ว่า คุณมีผลงานดี เท่าที่เคยทำคดีมากรณีอย่างนี้ส่วนใหญ่จะสู้ยาก เว้นแต่ว่ามีหลักฐานอย่างชัดเจนว่าคุณถูกเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมครับ

ขอให้ได้งานใหม่โดยเร็ววันนะครับ

ทนายพร.

371
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: การยึดทรัพย์
« เมื่อ: มกราคม 04, 2020, 03:32:59 am »
ตอบตามที่ถามเลยละกันครับ เพราะอ่านแล้วเหมือนอีกกระทู้นึงที่ทนายได้ตอบไปแล้ว...

ถามว่า...หากไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เราจะทราบได้อย่างไรว่าเจ้าหนี้ดำเนินการขั้นตอนยึดทรัพย์ของเราแล้ว?
ตอบว่า...หากเรามีทรัพย์ เดี๋ยวก็จะมีหมายยึด/อายัดมาติดที่หน้าบ้านเราเองครับ หรือไม่เดี๋ยวบริษัทก็จะแจ้งเราเองว่า บริษัทจะทำการหักเงินเดือน(หากมีเกินกว่า ๒ หมื่นบาท) ส่งสำนักงานบังคับคดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ /ไม่มีเงินเดือน เราก็จะไม่ทราบ หรือถ้าอยากจะทราบว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการถึงขั้นตอนใด ก็ไปขอตรวจ "สำนวน" ได้ที่ศาล โดยไปที่ห้อง "เก็บสำนวนคดีดำ-คดีแดง" แล้วก็บอกหมายเลขคดีดำ-คดีแดงให้เจ้าหน้าที่ไป บอกเค้าไปด้วยนะครับว่า ขอตรวจสำนวน เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็จะไปเอาสำนวนทั้งปึกนั้นมาให้เราดู เราก็เปิดดูหน้าท้ายๆว่า เจ้าหนี้เค้ายื่นคำร้องอะไรบ้าง เช่น ขอให้ศาลออกคำบังคับ ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าขั้นตอนมาถึงอย่างหลังนี้ ก็แสดงว่า เจ้าหนี้อยู่ระหว่างการสืบทรัพย์ เพื่อยึดทรัพย์บังคับคดีนั่นเอง

ถามต่อว่า...ระยะเวลากี่วันครับหลังจากที่เราไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
ตอบว่า...อยู่ที่ความขยันของโจทก์หรือทนายความโจทก์จะไปยื่นคำร้องต่อศาลตามขั้นตอนที่ได้อธิบายไว้ในข้อแรกครับ

ถามต่อว่า...เจ้าหนี้ผู้ที่เราจำนำเล่มทะเบียนรถยนต์ไว้ก่อนและโอนลอยไว้ เขาสามารถนำรถยนต์ไปขายและโอนกรรมสิทธิต่อได้หรือไม่ครับ เราจะผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ครับ ผมกลัว
ตอบว่า...ถ้ากลัวก็ไปใช้หนี้เค้าซะ..อิอิ...โอ๋ โอ๋ ไม่ต้องต้องกลัว ทนายอยู่นี่ ฮา (หยอกครับหยอก) เอาเป็นว่า ตอนนี้รถยนต์ยังอยู่ที่ท่าน (เดาจากคำถามก่อนหน้านี้) ซึ่งแน่นอนว่า ที่ท่านโอนลอยไว้ ผู้ที่ท่านไปจำนำไว้ ยังไม่ไปโอนกรรมสิทธิแน่นอน เพราะถ้าจะโอนได้ต้องมีตัวรถไปตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่งด้วย เว้นแต่ว่าเค้ามายึดรถของท่านไปแล้ว กรณีอย่างนี้ก็สามารถโอนได้ ส่วนท่านจะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่นั้น ได้อธิบายไว้ในคำถามก่อนหน้านี้แล้วเช่นกันครับ

ทนายพร.

372
เล่ามายาว แต่ถามมาแค่ ๒ ข้อว่า การกระทำของนายจ้างที่หักค่าจ้างไปหนึ่งวัน นั้นผิดกฎหมายหรือไม่ และที่ลูกจ้างทำงานชดเชย(คอม) ไว้ล่วงหน้าแล้วจะขอเป็นเงินได้มั๊ย ประมาณนี้

เอาเป็นว่า ข้อแรกก่อน การระบุว่าทำงานวันสุดท้ายในวันที่ ๒๙ แล้วนายจ้างจ่ายค่าจ้างแค่วันที่ ๒๙ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากหากระบุไว้ในใบลาออกว่าการลาออกให้มีผลในวันที่ ๓๐ ย้ำว่าในใบลาออกให้มีผลการลาออกในวันที่ ๓๐ กรณีอย่างนี้ ที่นายจ้างหักค่าจ้างไป ๑ วันนั้น ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องไปนึกดูครับว่าได้เขียนไว้ว่าอย่างไร เพราะถ้าเขียนว่าให้มีผลการลาออกในวันที่ ๓๐ หรือวันสิ้นเดือน ข้อความการทำงานวันสุดท้ายในวันที่ ๒๙ ก็จะสิ้นผลไปทันทีเพราะวันที่ ๓๐ เป็นวันหยุด ซึ่งพนักงานรายเดือนวันหยุดก็ได้ค่าจ้างครับ

ดังนั้น ในข้อนี้จึงต้องว่า นายจ้างอาจทำถูกหรืออาจทำผิดกฎหมายก็เป็นได้ ตามที่ได้อธิบายเหตุผลไปข้างต้นละคร๊าบบบบบ

ส่วนข้อต่อมา ถามว่าจะได้ค่าแรงที่ทำชดเชยไว้คืนมั๊ย

ตอบว่า โดยปกติ ทำงานต้องได้รับค่าจ้าง ดังนั้น เมื่อท่านทำงานก็มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามกฎหมายครับ ถึงแม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ตาม ก็สามารถไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ท่านเคยทำงานอยู่ ให้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวน ๑ วันให้ก็ได้ครับ เรื่องนี้ง่ายๆ ไม่ยากครับ  ทั้งนี้ ต้องไปยื่นคำร้อง(คร.๗) ภายในกำหนด ๒ ปี นับแต่วันที่ท่านมีสิทธิได้รับค่าจ้างนะครับ หากเกิน ขาดอายุความครับ

คงครบถ้วนแล้วนะครับ ถ้ายังไม่ครบหรือยังสงสัยก็ถามเข้ามาใหม่ได้นะครับ

ทนายพร.


373
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: การยึดทรัพย์
« เมื่อ: มกราคม 04, 2020, 02:56:19 am »
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจนะครับ ปัญหาเช่นนี้หลายคนก็ประสพพบเจอ และการหาทางออกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เอาเป็นว่า ทนายขอให้กำลังใจทุกๆท่านให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีนะครับ

ที่ถามว่าจะมีความผิดมั๊ย ต้องทำอย่างไร?

เอาเป็นว่า อย่างแรก ท่านไม่ต้องคิดมากนะครับ ทำใจให้สบาย ไม่ต้องเครียด ทำมาหากินไปตามปกติ รถถูกยึดก็หาใหม่ได้

กรณีนี้รถยนต์เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถาม เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตรวจสอบพบว่าเป็นทรัพย์สินของท่านก็สามารถที่จะยึดนำขายทอดตลาดได้ เว้นแต่ว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้ถูกโอนไปเป็นกรรมสิทธิของผู้อื่นก่อนที่จะมีคำพิพากษาหรือโจทก์ได้ใช้สิทธิในทางศาลแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ก็มิใช่ของท่านอีกต่อไป กรณีอย่างนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถยึดรถยนต์คันนั้นได้ แต่สามารถยึดทรัพย์สินอื่น(หากมี) ของท่านได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ

และหากไฟแนนท์ (คาดว่าน่าจะเป็นเงินด่วนติดล้อ เพราะเจ้านี้จะให้เซ็นต์ชุดโอนลอยไว้) ยึดรถท่านไป ก็ให้ไปครับ โดยปกติก็จะนำไปประมูลขาย โดยผู้ซื้อได้ก็สามารถนำไปโอนกรรมสิทธิ์ได้ หรือถ้าโอนไม่ได้ผู้ซื้อก็จะนำรถไปคืนบริษัทที่ประมูลและขอรับเงินคืน เว้นแต่มีเงื่อนไขว่าไม่รับผิดชอบการโอน

ส่วนจะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ "ภายใน" หรือเรียกโดยทั่วไปว่า "เจตนา"  หากท่านรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนี้บุคคลอื่นและบุคคลนั้นได้ใช้สิทธิทางศาล ท่านทำการจำหน่าย จ่าย แจก หรือกระทำด้วยประการอื่นใดให้ทรัพย์พ้นจากการครอบครองของท่านโดยเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ อันนี้แหละงานจะเข้าครับ เพราะเข้าข่ายโกงเจ้าหนี้

เว้นแต่ว่า ท่านมีทรัยพ์สินอื่น เช่น เงินฝาก ที่ดิน ที่มีมูลค่ามากกว่ายอดหนี้ที่ท่านมีอยู่ ถ้าอย่างนี้ ก็ไม่เป็นไรครับ

เอาเป็นว่า ตอนนี้ท่านไม่ต้องทำอะไร ถ้าเป็นไปได้ ก็ติดต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ขอปรับโครงสร้างหนี้ หากพอผ่อนจ่ายได้ก็จ่ายไปครับ หรือถ้าไม่มีทางเลือกจริงๆก็ปล่อยไปเลยครับ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป รถจะถูกยึดก็ปล่อยให้ยึดไป หรือหากถูกฟ้องอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ก็คงต้องติดต่อให้ทนายความอาสาช่วยเหลือได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ

ให้กำลังใจครับ

ทนายพร.

374
เป็นการพยายามทำหน้าที่พ่ออย่างน่าชื่นชมครับ

ส่วนการรับรองบุตร กรณีที่บิดา-มารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น มีได้หลายกรณี เช่น บิดา-มารดา ไปจดทะเบียนสมรสกัน , ไปยื่นขอรับรองว่าเป็นบุตรกับนายทะเบียน ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากแม่เด็ก และตัวเด็กเองก็ต้องรู้ภาษาหรือตอบคำถามได้แล้วจึงจะสามารถทำได้ หรือไปขอใช้อำนาจทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตร

ซึ่งจากที่เล่ามา กว่าเด็กจะรู้เดียงสาก็คงอีกหลายปี และผู้ถามก็คงหมดไปอีกหลายสตางค์ และก็ไม่แน่ว่าแม่เด็กจะมาให้ความยินยอมแต่โดยดีหรือไม่

อย่ากระนั้นเลย ทนายแนะนำช่องทางที่สามละกัน ให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว สอบถามดูว่าต้องทำอย่างไร หรือจะใช้บริการทนายความอาสาที่ประจำอยู่ที่นั่นก็ได้ ทั้งนี้ หลังจากที่ยื่นคำร้องแล้วท่านต้องไปให้ปากคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก(หลายท่านอาจจะ งงๆว่ามันเกี่ยวอะไรกับสถานพินิจ ก็ตอบว่า มันเป็นขั้นตอนของกฎหมายเพื่อรับรองว่าเราเป็นพ่อที่แท้จริงหรือไม่และเป็นการคุ้มครองเด็ก ซึ่งเค้าก็จะถามว่าเด็กเกิดที่ใหนอย่างไร ใครเลี้ยง ซึ่งหากเป็นบุตรของท่านจริงก็ต้องตอบได้ แล้วสถานพินิจฯก็จะมีหนังสือมาที่ศาลเพื่อแจ้งว่าได้ทำการสอบปากคำแล้วเห็นว่าเป็นบุตรจริงอะไรประมาณนี้ครับ)

หลังจากนั้น อีกไม่นาน (ประมาณไม่เกิน ๔๕ วัน) ศาลก็จะนัดไปไต่สวนคำร้อง ท่านก็ไปเบิกความตามลำดับขั้นตอนว่า อยู่กินกะใคร ชื่อไร เมื่อใหร่ และท้องเมื่อไหร่ (ไม่ต้องบอกจำนวนครั้งที่ทำนะ..ฮา..หยอกครับหยอก) คลอดที่ใหน ใครรู้เห็นบ้าง ใครไปแจ้งเกิด อะไรประมาณนี้ ซึ่งทนายก็คงจะแนะนำและทำการซักซ้อมกันท่านก่อนขึ้นเบิกความ

หลังจากนั้น ศาลก็จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่า ท่านเป็นบิดา-บุตร กันจริง เมื่อได้คำสั่งมาแล้ว ท่านก็นำคำสั่งไปที่อำเภอเพื่อขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนรับรองบุตรให้ เป็นอันจบข่าวเท่านี้ครับ

ไม่ยากๆ

ทนายพร.

375
อธิบายมายาว และถามมาสองข้อว่า
๑. ตามที่อ่านตามกฎกระทรวงแรงงานนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยตามระยะเวลาของแต่ละคนที่ทำงานมาไม่ใช่หรอคะ? เช่นแม่เกิน10ปี ต้องได้ชดเชย300วัน น้องทำ6ปีขึ้นไป ได้240 วัน..แต่ไม่มีสัญญาว่าจ้าง แบบนี้เราฟ้องแรงงานได้มั้ยคะ..หรือว่าเขาให้เท่าไหร่ก็ต้องยอมเขาไปคะ?

ตามกฎหมายก็เป็นไปตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน นั่นก็คือตามอายุงาน เกิน ๑๐ ปี ก็ ๓๐๐ วัน ถึงแม้ไม่มีสัญญาว่าจ้าง ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนข้อถามว่าเขาให้เท่าไหร่ก็ต้องยอมเขา อันนี้ก็อยู่ที่เราละครับว่า อยากจะยอมหรือไม่ยอม ถ้ายอมเรื่องก็จบ แต่ถ้าไม่ยอมก็มีทางเลือกให้ ๒ ทาง คือ ๑ ไปฟ้องศาล และ ๒ ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในจังหวัดที่ลูกจ้างทำงานอยู่ ซึ่งทนายก็แนะนำช่องทางนี้ เพราะเรื่องราวไม่ได้ซับซ้อนอะไร และหลังจากที่ยื่นคำร้องแล้ว พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับเราภายใน ๖๐ วันครับ...ไม่ยาก ไม่ยาก ส่วนอีกคำถามที่ถามว่า..

2. เขาไม่บอกเราเป็นทางการหรือเป็นจิตจะลักษณะ ได้แต่พูดเกิ่นๆทีเล่นทีจริงแบบนี้ แล้วอยู่ๆต้น ธ.ค เขาบอกเราว่าให้เราทำงานเดือนสุดท้าย เพราะ ปตท.ไม่ต่อสัญญา แบบนี้เราเรียกค่าตกใจได้มั้ยคะ?

ก็ตอบว่า ค่าตกใจหรือที่กฎหมายเรียกว่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หากมีการเเจ้งเลิกจ้างโดยไม่ถูกต้อง คือต้องแจ้งก่อนหรือวันที่จ่ายค่าจ้างเพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในคราวถัดไป ก็มีสิทธิได้รับค่าตกใจครับ

และทนายขอแนะนำว่า หากนายจ้างแจ้งด้วยวาจาโดยไม่มีหนังสือเลิกจ้าง ต้องมีหลักฐานพอสมควรนะครับว่า นายจ้างไม่จ้างเราต่อแล้ว อาจจะต้องมีการบันทึกเสียง หรือมีพยานยืนยันว่านายจ้างบอกเลิกจ้างเราจริง มิเช่นนั้น เมื่อเราไปใช้สิทธิไม่ว่าจะฟ้องศาล หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างอาจจะยกข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้เลิกจ้าง แต่เราไม่ไปทำงานเอง ถือว่าขาดงานเกินกว่าสามวัน ถือเป็นความผิดและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เดี๋ยวจะไปตกหลุมเสียสิทธิอีก ก็ฝากไว้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.[/size]

หน้า: 1 ... 23 24 [25] 26 27 ... 50