21/11/24 - 15:52 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: [1] 2 3 ... 51
1
เอ้าาา....ซื้อทองต้องให้บัตรประชาชนด้วยรึ? สิ่งนี้ทนายพึ่งได้ยิน
ส่วนขายนั้น พอมีเหตุผล ซึ่งร้านทองขอบัตรนั้น อาจจะเพื่อป้องกันการรับซื้อของโจทก์ จึงขอให้แสดงบัตรเพื่อแสดงความบริสุทธิใจว่าเราไม่ได้ลักทองใครมาขาย
แต่โดยปกติแล้ว เราไม่จำเป็นต้องให้ก็ได้นะครับ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ หรือหากจะต้องให้จริงๆก็ให้ถ่ายเอกสารและเขียนระบุไว้ว่า "ใช้สำหรับขายทองให้ร้าน....เมื่อวันที่....เท่านั้น" และอย่างให้เลขหลังบัตรไป เท่านี้ก็สบายใจและผู้ที่ได้ไปก็ไม่สามารถนำไปทำอะไรได้แล้วครับ

ทนายพร.

2
หากไม่สบายใจ ก็ให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจไว้ก่อนก็ได้ครับ

ทนายพร.

3
ถามมาเป็นข้อ ก็ตอบตามที่ถามฮะ :D
ถามว่า...
1.นายจ้างสามารถเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างได้ไหม ถ้าได้(ลูกจ้างยินยอม) นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยตามอายุงานเดิมก่อนหรือไม่ ค่อยจะสามารถเริ่มทำสัญญาจ้างใหม่   
ตอบ กรณีที่เป็น "สภาพการจ้าง" ซึ่งสัญญาจ้าง ถือเป็น "สภาพการจ้าง" เมื่อตกลงกันแล้วจะเปลี่ยนแปลงจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายเสียก่อน เว้นแต่กการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็น "คุณยิ่งกว่า" ไม่จำต้องได้รับความยินยอม ดังเช่น คำถามนี้ หากลูกจ้างไม่ต้องการไปเป็นสัญญาจ้างรายปี ก็ไม่ต้องเซ็นครับ นายจ้างก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ครับ
แต่หากลูกจ้างยินยอม อันนี้จบครับ แต่อย่าพึ่งกังวลไป หากนายจ้างเลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญาก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตรา ๑๑๘ อยู่นะครับ ไม่เป็นการนับอายุงานใหม่ครับ


2.หากลูกจ้างไม่ยินยอม ไม่ยอมเซ็นสัญญา จะต้องทำยังไงค่ะ
ตอบ  ก็ไม่ต้องเซ็นครับ แต่ต้องพร้อมรับแรงกระแทกจากข้อหาจิปะถะที่นายจ้างจะยัดข้อหาให้นะครับ ทั้งนี้ หากคิดว่าฉันโดนแน่ๆ ก็ให้เตรียมเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้แต่เนิ่นๆเลยครับ รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่กระทำผิดระเบียบข้อบังคับฯโดยเด็ดขาดครับ หากทำได้ก็จะอยู่รอดปลอดภัยครับ

ทนายพร.
[/color]

4
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: สอบถามกม.ล้มละลาย ครับ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2024, 09:30:32 am »
สำหรับคำถามนี้ เกี่ยวกับ พรบ.ล้มละลายฯ
เข้าใจว่าผู้ถามอยู่ระหว่างการศึกษา และเป็นคำถามในการสอบในองค์กรทดสอบความรู้แห่งหนึ่ง
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถามได้พัฒนาความรู้ ก็ให้กลับไปอ่าน พรบ.ล้มละลายฯ หลายๆรอบก็จะเข้าใจนะครับ ซึ่งคำถามนี้ไม่ยากเลยและมีอธิบายอยู่มาก หรือศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๓๓/๓๗,๖๙๓๔/๔๓ ที่วางแนวเกี่ยวกับ ม.๑๑๕ และทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เว้นแต่จะเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อน
ทนายพร.

5
หากรับสารภาพ ไม่น่าจะติดนะครับ แต่หาก ๒ เม็ดที่ว่า เป็นข้อหา "จำหน่าย" ก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นดุลพินิจของศาลครับ
ทั้งนี้ ต้องทำคำให้การรับสารภาพดีๆ มีความดีความชอบอะไรก็บอกไป มีภาระต้องดูแลใครก็แถลงให้ศาลทราบ
อะไรประมาณนี้ ก็น่าจะรอดอยู่ครับ
ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร.

6
อัยยะ...ยังมีอีกหรา บริษัทแบบนี้

ง่ายๆ เลย แจ้งไปที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในพื้นที่ (สามารถสืบหาได้ใน google) โดยจะทำเป็นจดหมายน้อย, ส่งอีเมล์ หรือไปแจ้งด้วยตัวเองก็ได้ ให้มาตรวจสอบว่าบริษัทนี้ มีการกำหนดวันหยุดตามประเพณีโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๙ กำหนดว่า ให้นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่าปีละ ๑๓ วัน โดยใน ๑๓ วันนี้ ต้องมีวันแรงงานแห่งชาติด้วย หากนายจ้างไม่ให้หยุดในวันแรงงานแห่งชาติมีความผิดตามกฎหมาย และมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐.-บาท ครับ

ทนายพร.

7
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: นายจ้างจะฟ้อง
« เมื่อ: มิถุนายน 05, 2024, 10:10:41 am »
ทนายคิดว่า การพูดคุยเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ
แนะนำให้เข้าไปคุยกับโรงเรียน รวมทั้งดูระเบียบข้อบังคับฯว่ากรณีต้องการลาออก มีเงื่อนไขอย่างไร ทางโรงเรียนแจ้งขึ้นทะเบียนการเป็นครูของเราต่อหน่วยงานของรัฐแล้วหรือไม่ อะไรพวกนี้ หากปฎิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่ถูกต้องก็คงไม่มีปัญหาแน่นอนครับ
ให้กำลังใจครับ
ทนายพร.

8
ถามมาเรื่อง ผัดฟ้อง ฝากขัง มาว่ามีเงื่อนไขอย่างไร

จะบอกว่า เรื่องผัดฟ้อง ฝากขังนั้น ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ หรือที่เรียกว่า อำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
ซึ่งกฎหมายได้วางหลักไว้ตามโทษที่จะได้รับดังนี้
๑.กรณีความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้อง ฝากขังได้ไม่เกิน ๕ คราว คราว ละไม่เกิน ๖ วัน
๒.กรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้เพียงครั้งเดียว ไม่เกิน ๗ วัน
๓.กรณีความผิดอาญาอัตราโทษจำคุก สูงเกินกว่า ๖ เดือน ไม่ถึง ๑๐ ปี หรือปรับเกิน ๕๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดกัน แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน ๑๒ วัน และรวมกันไม่เกิน ๔๘ วัน
๔.กรณีความผิดอาญาอัตราโทษสูงตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับหรือไม่ ศาลมีอำนาจสั่งขัง หลายครั้งติดกัน ครั้งละไม่เกิน ๑๒ วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน  ๘๔ วัน
เมื่อรู้หลักเกณฑ์แล้ว ก็มาเทียบโทษของเราที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีกำหนดกี่ฝาก กี่วัน
ทั้งนี้ หากครบกำหนดแล้วพนักงานอัยการยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาล ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความผิด เพียงแต่ตำรวจไม่สามารถจะควบคุมตัวเราได้ต่อไปเพียงเท่านั้น แต่พนักงานอัยการก็สามารถยื่นฟ้องได้ภายในกำหนดอายุความของความผิดนั้นๆครับ
ทนายพร.

9

   ไม่กี่วันมานี้ ทนายได้รับโทรศัพท์สอบถามวิธีคืนรถยนต์แล้วไม่ถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างต้องทำอย่างไรไม่ต่ำกว่า 10 สาย ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีการและขั้นตอนไป แต่ก็ยังมีคำถามเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ อย่ากระนั้นเลย เอาเป็นว่าทนายขอแนะนำและบอกขั้นตอนการคืนรถกรณีที่ผ่อนไม่ไหว หากดำเนินการเช่นนี้จะไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกฟ้องนะครับ เพราะการฟ้องเป็นสิทธิที่จะฟ้องได้ เมื่อถูกฟ้องแล้วท่านต้องไปศาลให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ผิดสัญญาและแน่นอนว่าแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางแนวไว้แล้วว่ากรณีการคืนรถตามขั้นตอนนี้ไม่ต้องเสียส่วนต่าง
   มาดูกันเลย อย่างแรก ๑. ท่านต้องนำรถไปตรวจสภาพก่อนว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้หรือไม่หากอะไรที่เสียหายก็ไปทำให้ใช้งานได้ แต่ไม่ต้องถึงขนาดเอาเหมือนป้ายแดง เอาแค่สภาพปกติก็พอ แน่นอนว่าเวลาใช้รถก็จะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา หากได้หนังสือยืนยันสภาพจากศูนย์บริการก็จะดีมาก
   ๒.เมื่อรถพร้อมแล้ว ก็ให้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา ขอคืนรถ ย้ำต้องทำเป็นหนังสือ ส่งไปยังบริษัทไฟแนนท์ นัดหมายวัน เวลา และสถานที่ให้เรียบร้อย โดยให้ส่งด้วยวิธีลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้ และอย่าลืมถ่ายสำเนาเก็บไว้ด้วยนะ มีคำถามต่อว่า “ทนาย...แล้วเขียนยังงัยอ่ะหนังสืออ่ะ?” อย่ากระนั้นเลย ทนายจะแนบตัวอย่างให้ละกัน..จบนะ...
   ๓. เมื่อถึงวันนัดหมายก็นำรถยนต์ไปคืน หากบริษัทไฟแนนท์มารับคืนก็ให้ทำบันทึกไว้ว่าเราคืนรถในสภาพสมบูรณ์ขับขี่ได้ปกติ แล้วถ่ายรูปไว้ ส่วนเอกสารที่บริษัทไฟแนนท์ทำมาให้ทำนองว่า จะต้องรับผิดชอบส่วนต่างก็ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวค่อยไปว่ากันทีหลังให้ไฟแนนท์รับรถคืนไปก่อน
มีคำถามต่อว่า ท่านทนาย แล้วเมื่อถึงวันนัดหมายแล้วไฟแนนท์ไม่ติดต่อมาไม่ยอมรับคืนล่ะทำงัย? ก็ให้ไปที่สถานีตำรวจไปลงบันทึกประจำวันว่าเราได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว แต่ไฟแนนท์ไม่ยอมมารับรถคืนแล้วขอบันทึกประจำวันมา เอาไปถ่ายเอกสารเพิ่มอีกซัก ๑ ใบ จากนั้นไปต่อ
        ๔. เดินทางพร้อมรถยนต์ไปที่ “สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี” ในพื้นที่ ซึ่งสามารถสืบค้นได้ทาง Google เลย เมื่อไปถึงก็ไปติดต่อขอ “แบบฟอร์มคำร้อง” วางทรัพย์ หรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ก็ได้ ซึ่งก็จะมีคำแนะนำและขั้นตอนต่างๆ และให้เตรียม สำเนาหนังสือขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อและใบแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้ติดไปด้วยเพื่อประกอบการยื่นขอวางทรัพย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะมีการถ่ายรูป โน่น นี่ นั้น พร้อมเก็บเงินค่าธรรมเนียม หลักร้อยต้นๆ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย หากมีที่จอดเจ้าหน้าที่ก็อาจจะให้จอดที่นั่นเลยหรือถ้าไม่มีก็จะให้เราเอาไปเก็บรักษาเอง เราก็อย่าเอามาใช้ละกันเดี่ยวจะมีปัญหา ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็จะมีหนังสือไปถึงไฟแนนท์ให้มารับรถคืนตามขั้นตอนต่อไป เป็นอันจบ
       ๕. คืนแล้วจะไม่ถูกฟ้องแน่นะทนาย???  ก็บอกแล้วงัยว่าการฟ้องเป็นสิทธิของไฟแนนท์ เมื่อไฟแนนท์ฟ้องเราก็ต่อสู้ดิ ไม่เห็นยาก โดยทำคำให้การจำเลยให้การต่อสู้ว่าเราไม่ได้ผิดสัญญา ขอให้ศาลยกฟ้องและให้จ่ายค่าทนายความแทนเราด้วย ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ให้ท่านหาทนายไปสู้คดีแทนท่านซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวางแนวไว้อยู่แล้ว
       เอาตัวอย่างหนังสือขอยกเลิกสัญญาไป
                                                                                     (ตัวอย่าง)
                                                                          หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ
                                                                     วันที่.......เดือน..........พ.ศ.........
เรื่อง      บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ขอคืนและส่งมอบรถยนต์คืน
เรียน      กรรมการผู้จัดการ.....(ชื่อบริษัทไฟแนนท์ โดยดูได้ในสัญญา)....
อ้างถึง   สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ฉบับลงวันที่.......
      ตามที่ข้าพเจ้าได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคาร.........โดยเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อ.....รุ่น.....สี.....หมายเลขทะเบียน.......เลขเครื่องยนต์.....เลขตัวรถ.......กับท่านตามสัญญาที่อ้างถึง รายละเอียดท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น
      ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และข้าฯมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นและ....(จะอ้างเหตุอะไรก็ระบุไป) ส่งผลกระทบทำให้ข้าฯอาจจะไม่สามารถที่จะชำระค่าเช่าซื้อในส่วนที่เหลือได้
      ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าฯจึงขอบอกกล่าวขอบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยขอคืนและส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวตามสัญญาเช่าชื้อที่อ้างถึงคืนให้แก่ท่าน และข้าฯขอนัดหมายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนท่านในวันที่......เดือน.......พ.ศ..... ณ .......(จะคืนที่ใหนก็ระบุสถานที่ไป) ตำบล....อำเภอ....จังหวัด...เวลา.....(ไปให้ตรงเวลานะและถ่ายรูปไว้).... ทั้งนี้ ให้ท่านหรือผู้แทนท่านซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ หรือติดต่อประสานงานมายังข้าฯก่อนวันนัดหมายไม่น้อยกว่า ๓ วันเพื่อนัดหมายส่งมอบและรับรถยนต์คืนต่อไป ทั้งนี้ หากท่านได้รับหนังสือฉบับนี้แล้วท่านละเลยเพิกเฉย ไม่ไปรับมอบรถยนต์ตามวัน, เวลาและสถานที่ข้างต้น หรือไม่ติดต่อประสานงานมายังข้าฯ ให้ถือว่าท่านไม่ปฎิเสธการรับรถยนต์คืนอันจะยกเป็นเหตุเพื่อปฎิเสธในการบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อได้
      จึงบอกกล่าวมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการ
                                                                               ขอแสดงความนับถือ
                                                                         (นาย.........................)
                                                                                     ผู้เช่าซื้อ

10
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ครอบครองยาบ้า 8 เม็ด
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2024, 11:20:37 am »
ดูจากคำถามแล้ว มันขัดแย้งกันพอสมควรนะครับ

เนื่องจากการครอบครอง ๘ เม็ด หรือ ๘ หน่วยการใช้ ตาม พรบ.ยาเสพติดถือว่าไม่เยอะนะครับ และโทษก็ไม่สูงด้วย

เว้นแต่ มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย จากการขยายผลของชุดจับกุม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกรณีเช่นนี้จะมีโทษสูงเพราะกฎหมายถือว่าเป็นผู้ค้า

เอาเป็นว่า กรณีพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่ได้ประกันตัว ซึ่งการประกันตัวเป็น "สิทธิ" ของผู้ต้องหา และเป็น "ดุลพินิจ" ของศาลว่าหากปล่อยตัวเราไปแล้วมีความเสี่ยงว่าเราจะหลบหนีหรือไม่ จะไปยุ่งเหยิงหรือจะไปข่มขู่พยานหรือไม่ ประมาณนี้ หากเราไม่ได้มีพฤติการเช่นนี้และมียาบ้าเพียง ๘ เม็ด ยังงัยศาลก็ให้ประกันตัวครับ

ทนายพร.

11
หากไม่อยากย้ายไปก็ห้ามเขียนใบลาออกเด็ดขาดนะครับ
แต่ให้ทำหนังสือแจ้งไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ เพื่อขอรับเงินค่าชดเชยพิเศษได้

ถามต่อว่า...เขียนยังงัยอ่ะทนาย นู๋ เขียนไม่เป็น.... :D

เอาเป็นว่า ทนายให้ตัวอย่างไปเป็นแนวก็แล้วกันตามข้อความข้างล่างนี้ครับ


....... กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เรื่อง   หนังสือแจ้งไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่
เรียน   กรรมการผู้จัดการบริษัท.....
อ้างถึง   ประกาศบริษัทฉบับลงวันที่.........
   ตามประกาศที่อ้างถึง ที่บริษัทมีคำสั่ง..........(พิมพ์รายละเอียดที่เป็นใจความสำคัญ วัน/เวลา/สถานที่/จำนวนคนงานที่ถูกให้ย้าย)..... รายละเอียดท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น
   ข้าพเจ้านาย........... พนักงานตำแหน่ง.....แผนก.......บัตรพนักงานเลขที่..... ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้าฯไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ตามคำสั่ง/ประกาศ ตามที่อ้างถึงได้ เนื่องจากสถานประกอบกิจการแห่งใหม่ส่งผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของข้าฯและครอบครัวทั้งเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งด้านความปลอดภัยและการดำรงชีวิตประจำวันที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก อีกทั้งจะทำให้ข้าฯไม่สามารถจะไปส่งภรรยาและสมาชิกในครอบครัวไปทำงานได้เช่นที่เคยปฎิบัติมา (ใส่เหตุผลเกี่ยวกับภาระต่างๆ)
   ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้านาย......... จึงมีหนังสือมายังบริษัทฯ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ตามประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้บริษัทฯจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๗ พ.ศ.๒๕๖๒ โดยข้าฯเริ่มทำงานกับบริษัทตั้งแต่วันที่......จวบจนถึงวันทำหนังสือนี้ รวมอายุงาน.....ปี จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยพิเศษเป็นเงินจำนวน......บาท โดยขอให้โอนเงินในจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคาร....เลขที่บัญชี.......ให้กับข้าฯด้วย
   อนึ่ง หากท่านไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของข้าฯ ท่านสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้
   จึงแจ้งมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ

(นาย...............)
.......... กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗


รู้เรื่องนะ ;D

ทนายพร.

[/size]

12
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: บริการสังคมไม่ครบ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2024, 10:55:22 am »
เป็นแน่นอนครับ มิเช่นนั้นศาลจะกำหนดเงื่อนไขไว้เพื่ออะไร
ทั้งนี้ หากเกินกำหนดแล้วให้รีบติดต่อกรมคุมประพฤติ โดยด่วนเพื่อหาทางแก้ไข มิเช่นนั้น เจ้าพนักงานคุมประพฤติก็จะรายงานศาลว่าเราหลบเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ศาลอาจจะมีมาตรการบังคับเราในทางอื่นต่อไปได้ครับ
ทนายพร.

13
ให้ทำหนังสือ ย้ำ เป็นหนังสือขอสัญญาเลยครับ
ซึ่งสามารถโหลดแบบฟอร์มโดยค้นหาใน google ว่า "แบบคำขอข้อมูลข่าวสาร"
ซึ่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมีสิทธิขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของตนหรือเกี่ยวกับตนเองได้ หากมหาวิทยาลัยยังเพิกเฉยก็จะมีความผิดครับ

14
ไม่แน่ใจว่า โรงเรียนฯได้แจ้งขึ้นทะเบียนเป็นครูผู้สอนที่เขตพื้นที่การศึกษาแล้วหรือยัง?
เมื่อในสัญญาระบุว่า หากจะลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า ๑ เดือน เมื่อเราไม่ประสงค์จะทำงานต่อไป ก็ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งล่วงหน้าการลาออกไม่น้อยกว่า ๑ เดือน ก็เพียงเท่านี้ครับ และการลาออกไม่มีใครจะเหนี่ยวรั้งได้ เมื่อครบกำหนด ๑ เดือนแล้วก็ออกเลย
ทั้งนี้ ให้ทำสำเนาส่งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาด้วย
อนึ่ง หากไม่สบายใจ ให้คุณครูไปขอคำปรึกษาที่เขตฯ เพื่อจะได้แนะนำช่องทางที่ถูกต้องและเป็นการป้องกันตัวเราเองด้วยครับ
ส่วนการลาออกจะมีผลต่อคนค้ำประกันหรือไม่นั้น คงไม่มีผลใดๆ หากเราออกถูกต้องตามระเบียบ หากโรงเรียนทำประการใดให้เราหรือคนค้ำต้องเสียหายก็สามารถใช้สิทธิปกป้องและฟ้องได้ครับ
ให้กำลังใจครับ
ทนายพร.

15
ถามมาว่า...จะติดคุกมั๊ย...

อืมม....ทนายก็ไม่ใช่ศาลซะด้วย....ว้าวุ้นเลยทีนี้ ;)

เอาเป็นว่าจะติดหรือจะรอ ต้องดูแนวทางการต่อสู้เป็นหลักครับ  หากทำผิดจริงตามที่พนักงานตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา และเป็นไปตามท่านอัยการยื่นฟ้อง หากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก เคยทำความดีต่อสังคม และมีความดีอยู่บ้าง หรือมีเหตุอันควรปราณีอื่นๆ เช่น ชี้ช่องให้ตำรวจขยายผลจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ หากรับสารภาพ ก็มีโอกาสที่จะรอลงอาญาสูงอยู่ครับ

แต่ถ้าสู้คดีแล้วแพ้ ก็ติดแน่...ส่วนจะนานเท่าใด เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาปรับโทษกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดครับ

แต่หากกระทำความผิดซ้ำซาก กรณีนี้ ศาลมักจะไม่ปราณี และจะลงโทษจำคุกสถานเดียวล่ะครับ

ดังนั้น ที่ถามว่าจะติดมั๊ย...ก็อยู่ที่แนวทางในการต่อสู้คดีครับ

ขอให้โชคดี

ทนายพร.

หน้า: [1] 2 3 ... 51