28/03/24 - 19:26 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - ทนายพร

หน้า: [1] 2 3 4
1

   ไม่กี่วันมานี้ ทนายได้รับโทรศัพท์สอบถามวิธีคืนรถยนต์แล้วไม่ถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างต้องทำอย่างไรไม่ต่ำกว่า 10 สาย ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีการและขั้นตอนไป แต่ก็ยังมีคำถามเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ อย่ากระนั้นเลย เอาเป็นว่าทนายขอแนะนำและบอกขั้นตอนการคืนรถกรณีที่ผ่อนไม่ไหว หากดำเนินการเช่นนี้จะไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกฟ้องนะครับ เพราะการฟ้องเป็นสิทธิที่จะฟ้องได้ เมื่อถูกฟ้องแล้วท่านต้องไปศาลให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ผิดสัญญาและแน่นอนว่าแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางแนวไว้แล้วว่ากรณีการคืนรถตามขั้นตอนนี้ไม่ต้องเสียส่วนต่าง
   มาดูกันเลย อย่างแรก ๑. ท่านต้องนำรถไปตรวจสภาพก่อนว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้หรือไม่หากอะไรที่เสียหายก็ไปทำให้ใช้งานได้ แต่ไม่ต้องถึงขนาดเอาเหมือนป้ายแดง เอาแค่สภาพปกติก็พอ แน่นอนว่าเวลาใช้รถก็จะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา หากได้หนังสือยืนยันสภาพจากศูนย์บริการก็จะดีมาก
   ๒.เมื่อรถพร้อมแล้ว ก็ให้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา ขอคืนรถ ย้ำต้องทำเป็นหนังสือ ส่งไปยังบริษัทไฟแนนท์ นัดหมายวัน เวลา และสถานที่ให้เรียบร้อย โดยให้ส่งด้วยวิธีลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้ และอย่าลืมถ่ายสำเนาเก็บไว้ด้วยนะ มีคำถามต่อว่า “ทนาย...แล้วเขียนยังงัยอ่ะหนังสืออ่ะ?” อย่ากระนั้นเลย ทนายจะแนบตัวอย่างให้ละกัน..จบนะ...
   ๓. เมื่อถึงวันนัดหมายก็นำรถยนต์ไปคืน หากบริษัทไฟแนนท์มารับคืนก็ให้ทำบันทึกไว้ว่าเราคืนรถในสภาพสมบูรณ์ขับขี่ได้ปกติ แล้วถ่ายรูปไว้ ส่วนเอกสารที่บริษัทไฟแนนท์ทำมาให้ทำนองว่า จะต้องรับผิดชอบส่วนต่างก็ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวค่อยไปว่ากันทีหลังให้ไฟแนนท์รับรถคืนไปก่อน
มีคำถามต่อว่า ท่านทนาย แล้วเมื่อถึงวันนัดหมายแล้วไฟแนนท์ไม่ติดต่อมาไม่ยอมรับคืนล่ะทำงัย? ก็ให้ไปที่สถานีตำรวจไปลงบันทึกประจำวันว่าเราได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว แต่ไฟแนนท์ไม่ยอมมารับรถคืนแล้วขอบันทึกประจำวันมา เอาไปถ่ายเอกสารเพิ่มอีกซัก ๑ ใบ จากนั้นไปต่อ
        ๔. เดินทางพร้อมรถยนต์ไปที่ “สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี” ในพื้นที่ ซึ่งสามารถสืบค้นได้ทาง Google เลย เมื่อไปถึงก็ไปติดต่อขอ “แบบฟอร์มคำร้อง” วางทรัพย์ หรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ก็ได้ ซึ่งก็จะมีคำแนะนำและขั้นตอนต่างๆ และให้เตรียม สำเนาหนังสือขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อและใบแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้ติดไปด้วยเพื่อประกอบการยื่นขอวางทรัพย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะมีการถ่ายรูป โน่น นี่ นั้น พร้อมเก็บเงินค่าธรรมเนียม หลักร้อยต้นๆ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย หากมีที่จอดเจ้าหน้าที่ก็อาจจะให้จอดที่นั่นเลยหรือถ้าไม่มีก็จะให้เราเอาไปเก็บรักษาเอง เราก็อย่าเอามาใช้ละกันเดี่ยวจะมีปัญหา ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็จะมีหนังสือไปถึงไฟแนนท์ให้มารับรถคืนตามขั้นตอนต่อไป เป็นอันจบ
       ๕. คืนแล้วจะไม่ถูกฟ้องแน่นะทนาย???  ก็บอกแล้วงัยว่าการฟ้องเป็นสิทธิของไฟแนนท์ เมื่อไฟแนนท์ฟ้องเราก็ต่อสู้ดิ ไม่เห็นยาก โดยทำคำให้การจำเลยให้การต่อสู้ว่าเราไม่ได้ผิดสัญญา ขอให้ศาลยกฟ้องและให้จ่ายค่าทนายความแทนเราด้วย ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ให้ท่านหาทนายไปสู้คดีแทนท่านซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวางแนวไว้อยู่แล้ว
       เอาตัวอย่างหนังสือขอยกเลิกสัญญาไป
                                                                                     (ตัวอย่าง)
                                                                          หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ
                                                                     วันที่.......เดือน..........พ.ศ.........
เรื่อง      บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ขอคืนและส่งมอบรถยนต์คืน
เรียน      กรรมการผู้จัดการ.....(ชื่อบริษัทไฟแนนท์ โดยดูได้ในสัญญา)....
อ้างถึง   สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ฉบับลงวันที่.......
      ตามที่ข้าพเจ้าได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคาร.........โดยเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อ.....รุ่น.....สี.....หมายเลขทะเบียน.......เลขเครื่องยนต์.....เลขตัวรถ.......กับท่านตามสัญญาที่อ้างถึง รายละเอียดท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น
      ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และข้าฯมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นและ....(จะอ้างเหตุอะไรก็ระบุไป) ส่งผลกระทบทำให้ข้าฯอาจจะไม่สามารถที่จะชำระค่าเช่าซื้อในส่วนที่เหลือได้
      ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าฯจึงขอบอกกล่าวขอบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยขอคืนและส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวตามสัญญาเช่าชื้อที่อ้างถึงคืนให้แก่ท่าน และข้าฯขอนัดหมายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนท่านในวันที่......เดือน.......พ.ศ..... ณ .......(จะคืนที่ใหนก็ระบุสถานที่ไป) ตำบล....อำเภอ....จังหวัด...เวลา.....(ไปให้ตรงเวลานะและถ่ายรูปไว้).... ทั้งนี้ ให้ท่านหรือผู้แทนท่านซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ หรือติดต่อประสานงานมายังข้าฯก่อนวันนัดหมายไม่น้อยกว่า ๓ วันเพื่อนัดหมายส่งมอบและรับรถยนต์คืนต่อไป ทั้งนี้ หากท่านได้รับหนังสือฉบับนี้แล้วท่านละเลยเพิกเฉย ไม่ไปรับมอบรถยนต์ตามวัน, เวลาและสถานที่ข้างต้น หรือไม่ติดต่อประสานงานมายังข้าฯ ให้ถือว่าท่านไม่ปฎิเสธการรับรถยนต์คืนอันจะยกเป็นเหตุเพื่อปฎิเสธในการบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อได้
      จึงบอกกล่าวมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการ
                                                                               ขอแสดงความนับถือ
                                                                         (นาย.........................)
                                                                                     ผู้เช่าซื้อ

2
หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ระบาด ก็สร้างผลกระทบกับทุกภาคส่วนถ้วนทั่วกัน รวมถึงกระบวนการยุติธรรมก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ซึ่งประธานศาลฏีกาได้ให้แนวทางในการพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน จึงได้ให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

เว้นคดีบางประเภทเท่านั้น เช่น ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก , นัดฟังคำพิพากษาที่คู่ความมีจำนวนน้อย เป็นต้น

ดังนั้นในระหว่างนี้ หากผู้ใช้แรงงานหรือนายจ้างท่านใดสงสัยในปัญหาข้อกฎหมายในวิธีปฎิบัติ หรือในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปิดงาน หรือไม่ให้ลูกจ้างทำงานต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินหรือไม่

ก็สามารถตั้งคำถามมาได้ที่ http://www.thanaiphorn.com

ทนายจะเข้ามาตอบทุกคำถาม หรือถ้าเร่งด่วนก็สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ ๐๘๑-๓๔๒๔๒๖๓ (ขอเป็นในเวลาราชการนะครับ หรือจำเป็นจริงๆไม่เกิน ๑๙.๐๐ น.)

แล้วเราจะฝ่าฟันอุปสรรคในครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

ด้วยความสมานฉันท์

ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย
๖ เมษายน ๒๕๖๓

3
เรียน ท่านพรนารายณ์และเพื่อน ที่เคารพค่ะ

พอดีหนูหาข้อมูลได้จากเวปของท่าน เรื่องเข้าใจกฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20) พ.ศ. 2557 เลยมีข้อสงสัยที่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

1. กฎหมายที่ออกมานี้มีผลคุมครองผู้ค้ำประกันย้อนหลังไหมคะ

2. กฎหมายที่ออกมานี้รวมถึงผู้ค้ำประกันเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์หรือไม่คะ

คือหนูค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ให้เพื่อนไว้ค่ะ แต่เค้าไม่มาส่งชำระแล้ว 2 งวด หนูเลยอยากทราบข้อมูลว่ากฎหมายนี้คุ้มครองผู้ค้ำแบบไหนบ้างและรบกวนปรึกษาว่าในกรณีอย่างนี้หนูจะต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ขอรบกวนด้วยนะคะ พอดีหนูกังวลมากค่ะ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้านะคะ หวังว่าจะได้รับความกรุณาค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ศุภร  ล.


4
ทนายได้รับอีเมล์สอบถามเรื่องสิทธิผู้ต้องขัง มีประเด็นน่าสนใจที่ควรนำมาเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้ร่วมกันครับ

เรียนคุณทนายคะ

รบกวนสอบถามสิทธิผู้ต้องขัง อยู่เรือนจำคลองด่านค่ะ พอดีตอนนี้ผู้ต้องขังป่วยหนักมาก เป็นมะเร็งที่จมูก ขั้นที่ 4 ผู้ป่วยอายุ 65 ปี
คุณหมอที่เรือนจำ ย้ายให้มารักษาตัวที่โรงพยาบาลบางบ่อค่ะ อยากสอบถามค่ะว่าสามารถมีสิทธิที่จะขอไปรักษาตัวที่อื่นได้มั้ยคะ ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเลย กลัวว่าจะไม่ทันค่ะ เพราะตอนนี้ทางโรงพยาบาลบางบ่อ บอกเเค่ว่าต้องรอดูอาการของคนไข้ว่าจะย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีไหวมั้ยค่ะ

อีก 1 เรื่องพอดีหนูได้เพิ่งเข้ามาอ่านเจอเพจนี้ค่ะ ว่าผู้ต้องขังคดีอาญาสามารถเรียกร้องสิทธิได้กรณีที่ไม่มีความผิด เเต่คดีนี้ เค้าติดมา 2 ปีกว่าเเล้วค่ะ คดีลักทรัพย์ โดนศาลอาญาตัดสินคดี 20 ปี ของกรณีนี้ไม่ทันเเล้วใช่มั้ยคะ รบกวนขอความช่วยเหลืออย่างสูงค่ะ
 
ขอบคุณมากๆค่ะ

5
มีคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย กับสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนกัน หรือเรียกกันว่าคู่ชีวิตว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะจัดการอย่างไร ผลของกฎหมายเป็นอย่างไร

ทนายก็ขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “หลักกฎหมายครอบครัว” ซึ่งเขียนด้วยศาสตราจารย์พิเศษประสพสุข บุญเดช เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นอดีตประธานวุฒิสภา และปัจจุบันเป็นอาจารย์บรรยายวิชากฎหมายครอบครัว ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตยสภา ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า

-   มาตรา 1457  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5  ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า  การสมรสจะมีได้เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วเท่านั้น  ชายและหญิงที่อยู่ด้วยกันดังกล่าวจึงไม่เป็นคู่สมรสต่อกัน  บุตรที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นบุตรของหญิงฝ่ายเดียว  สินส่วนตัวและสินสมรสไม่เกิดขึ้น 

-   แต่อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่ชายหญิงคู่นี้ได้ลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้น  ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันและมีส่วนในทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่งเท่ากัน แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ก็หาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่

เช่น หญิงชายอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  ได้ร่วมกันซื้อนาและทำกินเป็นการแสดงเจตนาให้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ส่วนเงินที่ซื้อ ฝ่ายใดจะยืมใครมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์  ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง  เป็นต้น 

-   สำหรับทรัพย์สินที่ต่างคนต่างทำมาหาได้แยกกันนั้นเป็นสิทธิของฝ่ายนั้นผู้เดียว  อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนแบ่งด้วยเพราะไม่ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) ฉะนั้น  สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ภรรยาจึงไม่มีสิทธิฟ้องของแบ่งทรัพย์จากสามี ในส่วนทรัพย์ที่ภรรยามิได้ร่วมแรงร่วมทุนทำมาหาได้กับสามีแต่อย่างใด

-   การลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน  โดยหลักการแล้วหมายถึงเฉพาะการที่ชายและหญิงร่วมกันทำการค้าหรือดำเนินกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงแล้วได้เงินหรือทรัพย์สินมา  เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจึงจะถือว่าชายและหญิงเป็นเจ้าของร่วมกันในส่วนเท่ากัน 

-   ตัวอย่างเช่น หากชายรับราชการได้เงินเดือนเดือนละ 15,000  บาท  เงินเดือนและค่าจ้างเป็นของชายโดยเฉพาะ หรือหญิงได้รับมรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง  ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวก็เป็นของหญิงโดยลำพังเช่นเดียวกัน 

-   การที่ชายหญิงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน  ชายประกอบกิจการค้าส่วนหญิงอยู่บ้านเลี้ยงบุตร  ดูแลบ้าน  ทำอาหารเลี้ยงดูครอบครัวเป็นเวลาหลายปี  มีทรัพย์สินหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มขึ้น  จะถือว่าการที่หญิงเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว  เป็นการลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกันกับชาย  จึงมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินส่วนนี้หรือไม่ 

ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ในปี 2512  ว่า  การที่หญิงดูแลครอบครัวให้ชายเป็นการร่วมกันกับชาย  ทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติร่วมกันแล้ว  ชายหญิงจึงมีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวเท่า ๆ กัน

-   สำหรับการที่ชายกับชายก็ดี  หรือหญิงกับหญิงก็ดี  มาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยานั้น  เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้  เพราะขัดต่อเงื่อนไขของการสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชาย  และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง  แต่ในทางด้านทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองทำมาหาได้ด้วยกันในระหว่างอยู่กินด้วยกันนี้  ต้องถือว่าบุคคลที่สองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน  โดยมาตรา 1357  ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน  จึงต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

-   เคยมีคดีที่โจทก์เป็นหญิงแต่มีนิสัยและทำตัวเป็นชาย  มีอาชีพขายเนื้อโค  กระบือ  ส่วนจำเลยก็เป็นหญิงมีอาชีพเป็นนักร้อง  โจทก์และจำเลยได้มาอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันโดยจำเลยเลิกอาชีพดังกล่าวและทำพิธีเข้าถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับโจทก์  ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันมาเกิดมีทรัพย์สินคือ  ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 3 แปลง  โดยที่ดินทั้งสามแปลงนี้มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์  โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าว   

-   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  “แม้โจทก์จำเลยเป็นหญิงไม่สามารถจะเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  แต่ตามพฤติกรรมที่บุคคลทั้งสองได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี  โดยจำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน  แต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าบางครั้งจำเลยก็มาช่วยโจทก์ขายเนื้อในตลาด  ในการซื้อ โค  กระบือนั้น  หากจ่ายเป็นเช็คก็ใช้เช็คของจำเลย 

แสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของโจทก์จำเลยร่วมกัน  บรรดาทรัพย์ที่โจทก์หรือจำเลยทำมาหาได้ระหว่างนั้น  ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดหาใช่ข้อสำคัญไม่  แต่ต้องถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่โจทก์จำเลยอยู่ร่วมกัน  จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้โจทก์และจำเลยมีส่วนในทรัพย์สินที่พิพาททั้งหมดคนละกึ่งหนึ่ง”  พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงนี้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

-   ในกรณีที่ชายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  แต่มาได้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นภริยาน้อยชายและภริยาน้อย  ร่วมกันทำมาหาได้ทรัพย์สินใดมา  ทรัพย์สินที่ได้มานี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างชายกับภริยาน้อย โดยภริยาน้อยมีส่วนครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นของชายเป็นสินสมรสชายกับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ถ้าภริยาน้อยไม่มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้  ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นสินสมรสระหว่างชายกับภริยาหลวงทั้งหมด 

เช่น  ชายกับภริยาน้อยร่วมกันทำการค้าได้กำไรไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง  หากจะต้องแบ่งที่ดินแปลงนี้ให้ภริยาน้อยครึ่งหนึ่งภริยาหลวงได้เศษหนึ่งส่วนสี่  และชายได้เศษหนึ่งส่วนสี่ เป็นต้น 

นอกจากคำอธิบายจากหนังสือข้างต้นแล้ว ขออธิบายเพิ่มเติมว่า

-   ปกติสามีภริยาหากอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน เรียกว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่ถ้าจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังจดทะเบียน คือ สินสมรส ทั้ง 2 กรณี ต้องแบ่งครึ่งเช่นเดียวกัน

-   หากจดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นสินสมรส ต้องฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัว เพราะเป็นสิทธิในครอบครัว เป็นคดีครอบครัว

-   แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่ใช่สิทธิในครอบครัว เพราะถือว่าเป็นภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องแบ่งตามหลักสินสมรส ต้องฟ้องศาลในคดีแพ่ง เพื่อขอให้แบ่งทรัพย์สินในกรรมสิทธิ์รวมนั้น

-   กรรมสิทธิ์รวม ใครหามาคนนั้นได้ไป แต่ถ้าช่วยกันหามาต้องแบ่งตามสัดส่วน หากหาสัดส่วนไม่ได้ก็ต้องแบ่งครึ่ง เช่น ทำไร่ด้วยกัน และเก็บเงินซื้อรถกระบะ ซื้อที่ดิน อันนี้จะเข้าหลักกรรมสิทธิ์รวมที่จะต้องมาแบ่ง แต่ถ้าเป็นการหามาเองหรือเป็นลาภที่เกิดขึ้นจากการถูกหวย จะถือว่าเป็นเงินส่วนตัว ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวมแต่อย่างใด เพราะมิใช่เงินที่ได้มาจากการลงน้ำพักน้ำแรงร่วมกันแต่อย่างใด

ทนายพร.

6
เมื่อสักครู่มี email มาสอบถามทนายว่า บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานที่ทำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่

สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาแน่นอน มักมีการระบุวันที่เริ่มจ้าง และวันสิ้นสุดการจ้างไว้ชัดเจน เช่น นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 มีนาคม 2559 เป็นต้น

และมักจะเขียนข้อความระบุอีกว่า “การตกลงว่าจ้างครั้งนี้ เป็นการว่าจ้างชั่วคราวที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน และข้อตกลงว่าจ้างครั้งนี้จะหมดผลใช้บังคับโดยทันที เมื่อกำหนดระยะเวลาการจ้างสิ้นสุดลง”

แน่นอนถ้าเลิกจ้างตามสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้ ลูกจ้างก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นไปตาม วรรค 3 มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุไว้ว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น”

อย่างไรก็ตามมักพบว่า บางบริษัทเมื่อครบระยะเวลาตามสัญญากันแล้ว ก็มักจะมีเงื่อนไขกันว่า หากผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจบริษัทก็จะต่อสัญญาไปอีก แต่ถ้าผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะเลิกจ้าง

คำถามก็คือ บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานหรือไม่ เนื่องจากพนักงานคนนี้เป็นพนักงานชั่วคราวและทำสัญญาจ้างงานแบบมีระยะเวลาไว้กับบริษัทแล้ว

คำตอบในเรื่องนี้ ต้องมาพิจารณาที่ มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้


มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

    (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบ หนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่า ค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปีให้ จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่ น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    (5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อย กว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    การเลิกจ้างตามมาตรา นี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะ เป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความ รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะ เวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

    การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของ งานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนด การสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง


ดังนั้นโดยสรุปเมื่อมีการจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป นายจ้างจะเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดอะไรที่เป็นความผิดร้ายแรงแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้กับลูกจ้าง

ยิ่งการจ้างลูกจ้างชนิดต่อสัญญากันไปเรื่อย ๆจนเกินกว่า 120 วัน เช่น สมมติต่อสัญญากันมา 3 ปี เมื่อจะเลิกจ้างลูกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงาน คือ 180 วัน หรือ 6 เท่าของค่าจ้าง จะอ้างว่าไม่ต้องจ่ายเพราะเป็นลูกจ้างแบบมีระยะเวลาไม่ได้ เพราะการต่อสัญญาไปเรื่อย ๆ แบบนี้ก็คือ “สัญญาไม่มีระยะเวลา” ถือเป็นการจ้างแบบเดียวกับสัญญาจ้างพนักงานประจำทั่วไปนั่นเอง

ประการต่อมา อาจมีนายจ้างบางแห่งอ้างเรื่องการไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับต่างๆที่นายจ้างกำหนดไว้

ในข้อนี้มาตรา 119  พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้ระบุไว้ว่า

นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง ของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวัน หยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าใน (4) ระบุชัดเจนว่า นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้นั้น ต้องมีการตักเตือนเป็นหนังสือเตือนก่อน อยู่ดีๆจะมาเลิกจ้างโดยทันที ย่อมกระทำมิได้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน



อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://thanaiphorn.com/boards/index.php?topic=681.0

7
ถ้ากระจกที่ติดรอบอาคาร แล้วทำให้แสงแดดส่องสะท้อนเข้าไปในบริเวณบ้านที่อยู่ใกล้เคียงอาคารนั้น เจ้าของอาคารชุดมีความผิดต้องชดใช้ค่าเสียหาย

เนื่องจากขณะนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772/2557
วางบรรทัดฐานในเรื่องนี้ไว้แล้ว

เนื่องจากมีกรณีที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้กับโครงการอาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ซึ่งติดตั้งกระจกรอบตัวอาคาร แสงสะท้อนจากกระจก ก่อให้เกิดความร้อนจนไม่สามารถใช้ชีวิตในบ้านตนเองได้ ได้มาฟ้องศาลเพื่อขอให้อาคารดังกล่าวแก้ไขความเดือดร้อน และเรียกค่าสินไหมทดแทนจนกว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนให้ลุล่วงไป

โดยบรรยายฟ้องว่า ระหว่างเวลา 15.30 ถึง 18 นาฬิกาของทุกวัน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี เกิดภาวะตะวันอ้อมข้าว แสงแดดซึ่งกระทบกับกระจกอาคารจะสะท้อนและส่องเข้าไปในบ้านของชาวบ้านแถบนั้น ทำให้เกิดแสงสว่างและอุณหภูมิในบ้านสูงขึ้นมาก จนไม่สามารถพักอาศัยได้อย่างปกติสุข

ทางอาคารก็สู้ว่า แสงแดดนั้น เป็นช่วงตะวันอ้อมข้าว ถือเป็นเหตุทางธรรมชาติ และแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลในแต่ละปี  มิได้เกิดจากการที่ละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านและได้รับผลกระทบจากแสงสว่างที่สะท้อนจากอาคาร สาดส่องเข้าในบ้าน ด้วยการกระทำของทางอาคารโดยตรง ย่อมถือได้ว่า เป็นการทำละเมิดเจ้าของบ้านข้างเคียงแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 421 บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษา ให้เจ้าของโครงการจ่ายค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจ ค่าตรวจสุขภาพรายปี ค่าเสียโอกาสใช้สอยพื้นที่หน้าบ้าน
โดยมีคำพิพากษาดังนี้

ให้เจ้าของโครงการอาคารชุด ชดใช้ค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจ ตลอดจนค่าตรวจสุขภาพแก่โจทก์ทั้งสี่ คนละ 10,000 บาทต่อปี (คดีนี้ มีโจทก์ยื่นฟ้อง 4 คน)

ค่าเสียโอกาสใช้สอยพื้นที่หน้าเรือนแถวทั้งสามหลังรวม 7,000 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าเจ้าของโครงการนี้จะแก้ไขความเสียหายได้สำเร็จ หรือหมดสิ้นไปด้วยเหตุอื่น

 

8
วันนี้ผมให้คำปรึกษาลูกจ้างคนหนึ่ง ที่สอบถามมาว่า ตนเองมีกำหนดระยะเวลาสัญญาจ้างงานกับบริษัทแห่งหนึ่งแค่ 3 ปี ซึ่งจะหมดประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 ที่จะถึงนี้
(1)   ถ้าครบระยะเวลาตามสัญญาจ้าง หากบริษัทไม่มีการต่อสัญญาจ้างดังกล่าว ถือว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่
(2)   ตนเองจะได้รับค่าชดเชยต่างๆ จากการไม่ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ อย่างไร 
(3)   นายจ้างต้องแจ้งเหตุผลของการไม่ต่อสัญญาหรือไม่
(4)   ถ้านายจ้างไม่ต่อสัญญาต่อนั้น หากตนเองไม่พอใจ สามารถไปฟ้องศาลแรงงานได้หรือไม่


ในช่วงที่แนะนำไปนั้น ผมได้อ้างถึง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 ที่ระบุไว้ว่า

"ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสีย ได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้"

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า

(1)   สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ถ้าแต่ละฝ่ายต่างยึดการครบกำหนดของสัญญาเป็นสำคัญ ก็ถือเป็นการเลิกสัญญาจ้างโดยผลของสัญญาสิ้นสุด

(2)   อย่างไรก็ตามต้องดูในข้อเท็จจริงหลังจากนั้นเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน เช่น ในเดือนเมษายน 2558 ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาจ้างงาน 1 เดือน นายจ้างได้แจ้งฝ่ายลูกจ้างหรือไม่ว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว หรือสมมติว่าสัญญาสิ้นสุดแล้ว แต่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ลูกจ้างยังมาทำงานให้นายจ้างอยู่ และนายจ้างได้จ่ายค่าตอบแทนให้ อย่างนี้จึงถือว่ามีการทำสัญญาจ้างงานใหม่ขึ้นมาแล้ว

(3)   ต้องพิจารณาเหตุผลว่านายจ้างเลิกจ้างเพราะอะไร แน่นอนนายจ้างอาจมีเหตุผลต่างๆนานาในการพิจารณา ทั้งนี้นายจ้างไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ลูกจ้างรับทราบก็ได้ ถือว่าเป็นสิทธิของนายจ้าง แต่เมื่อสืบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เป็นการเลือกปฏิบัติกับตนเองเพียงคนเดียวหรือเฉพาะกลุ่ม ทั้งๆที่บริษัทก็มีความจำเป็นต้องใช้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งนี้อยู่ และลูกจ้างคนอื่นๆ แม้สัญญาหมดก็ยังให้ทำงานต่อไป นี้จึงเข้าข่ายเรื่องการเลือกปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำไปฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้

(4)   การเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาในการทำงานครับ คือ 180 วัน

1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

(5)   สมมติว่านายจ้างมีการต่อสัญญาอัตโนมัติ คือ ยังมาทำงานในวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ต่อไปและจ่ายค่าตอบแทน นี้จึงถือว่าสัญญาจ้างฉบับใหม่ที่ไม่มีระยะเวลาแน่นอนในการจ้างเกิดขึ้นแล้ว ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 นายจ้างได้บอกเลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า นอกเหนือจากค่าชดเชยด้วยครับ

รายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม อ่านได้จากที่นี่ครับ

-   สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อเลิกจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย http://www.thanaiphorn.com/content.php?type=1&id=93

-   แม้จะเป็นการเลิกจ้างเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างตามที่กำหนดเวลาไว้แน่นอนแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่นายจ้างก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่ดี http://www.thanaiphorn.com/content.php?type=1&id=206


9
เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า “ห้างสรรพสินค้าที่จัดให้มีที่จอดรถ ถ้ารถลูกค้าเกิดการสูญหาย ห้างดังกล่าวนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทที่เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้านั้นๆ”


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2557

สัญญาที่จำเลยร่วม (ในที่นี้ คือ ห้างสรรสินค้า) ตกลงให้จำเลยที่ 1 (ในที่นี้ คือ บริษัทรักษาความปลอดภัย) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้า เป็นการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จแล้ว จำเลยร่วมตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำ

การดูแลรักษาความปลอดภัยตามสัญญาจำนองที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยร่วม

สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วม จึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587

ขณะผู้มาใช้บริการขับรถเข้าห้างสรรพสินค้าของจำเลยร่วม จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 (ในที่นี้ คือ บริษัทจัดการเรื่องรับบัตรเข้าจอดรถ) มอบบัตรจอดรถให้ และรับบัตรจอดรถคืนจากผู้มาใช้บริการเมื่อขับรถออกจากห้าง

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า ที่จำเลยร่วมจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า จำเลยร่วมได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับทรัพย์สินของจำเลยร่วม

โดยจำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแทนจำเลยร่วม โดยถือว่าเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ซึ่งถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของจำเลยร่วมด้วย

เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโดยปล่อยปละละเลยให้คนร้ายลักรถของ ก. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจอดรถอยู่ในลานจอดรถของจำเลยร่วมไป

จำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและความภัยในบริเวณลานจอดรถของจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 และมาตรา 425

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556

กรณีนี้ พบว่า ห้างไม่มีการแจกบัตรจอดรถ ไม่เก็บค่าที่จอดรถ มีแต่กล้องวงจรปิด แต่ห้างก็ยังต้องรับผิดชอบในความสูญหายของรถลูกค้าเช่นเดียวกัน

จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่

แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร ต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง

การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย

แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น

แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
 

3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5800/2553

กรณีนี้ คือ รถหายในห้างที่แจกบัตรเข้าออกลานจอดรถ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ห้างรับผิดชอบในความสูญหายของรถ


จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1

แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1

ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้

แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น

จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3

ทั้งห้างของจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขับรถยนต์มาจอดและเข้าซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้บริโภคขับรถยนต์พิพาทไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถฉบับบนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ประจำอยู่ประตูทางเข้าของห้าง

โดยจำเลยที่ 4 ได้เขียนกำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้บริโภคไว้ในบัตรจอดรถก่อนมอบให้ผู้บริโภค

เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 1

หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคได้กลับมาที่จอดรถ ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทหายไปแล้ว โดยบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค

การออกบัตรจอดรถให้เจ้าของรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาจอดในลานจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยเขียนกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียนแต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าหมายเลขทะเบียน และบัตรอ่อนไม่ระบุวันเดือนปีและเวลาที่รถยนต์เข้ามาจอด จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ

การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภค


ตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย

นอกจากนี้ยังได้ระบุในสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ข้อ 7.3 ว่า “ประสานงานและให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบตลอดจนการก่อความวุ่นวาย การจลาจลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ของผู้ว่าจ้าง” ด้วย

จึงย่อมรวมถึงรถยนต์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่มาจอดในบริเวณห้างและถูกคนร้ายลักไปเพราะการลักทรัพย์ถือเป็นการโจรกรรมและการก่ออาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในขอบเขตการว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย

จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป

จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

10
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 43 (2) ไว้ว่าห้ามมิให้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา และมาตรา 142 วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่ทดสอบ และในวรรคท้าย ถ้าผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) คือ “ขับรถในขณะเมาสุรา” ดังนั้นเมื่อผู้ขับรถขณะที่เมา แต่ไม่ยอมให้ตำรวจเป่าเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์  จึงมีความผิดและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

มาตรา 142  เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ

(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6

(2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)

การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10)พ.ศ. 2557
มาตรา 43  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
(๑) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(๒) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(๓) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(๔) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
(๕) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย
(๖) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(๗) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ
(๘) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
(๙) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น

     


11
ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  มาตรา31 ได้เขียนไว้ว่า  “เมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา  ไกล่เกลี่ย  หรือชี้ขาด  ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่ของลูกจ้าง  ผู้แทนลูกจ้าง  กรรมการ  อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน เว้นแต่บุคคลดังกล่าว


(1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง


(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง ไม่ต้องตักเตือน ทั้งนี้ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น ต้องไม่ออกเพื่อขัดขวางไม่ให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง


(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร”


ทั้งนี้ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครอง ต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายด้วย คือ ต้องยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ และข้อเรียกร้องนั้นต้องเป็นเรื่องสภาพการจ้างเท่านั้น  และต้องมีรายชื่อลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องอย่างน้อยร้อยละ 15  ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง หากเป็นแค่เพียงลูกจ้างกลุ่มใหญ่เข้าพบนายจ้างและเรียกร้องด้วยวาจาขอเพิ่มสวัสดิการ  หรือลูกจ้างแค่ไม่กี่คน (จากลูกจ้างทั้งหมดเป็นพันคน) ยื่นหนังสือถึงนายจ้างขอปรับสภาพการจ้าง ลูกจ้างเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายข้างต้นครับ


12
มีพนักงานบริษัทคนหนึ่งถามมาว่า บริษัทเคยให้สวัสดิการเงินค่านํ้ามันรถพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ทุกเดือนให้เท่ากัน โดยไม่ต้องมีใบเสร็จมาแสดง ต่อมาบริษัทได้ออกประกาศยกเลิก โดยที่ผู้จัดการที่เกี่ยวข้องไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งแต่อย่างใด ต่อมาบริษัทได้เลิกจ้างผู้จัดการคนหนึ่ง ผู้จัดการคนนี้สามารถฟ้องศาลเรียกค่าชดเชยและเงินอื่นๆ รวมถึงในส่วนของเงินค่านํ้ามันแบบนี้ได้หรือไม่ อย่างไร?


ก่อนอื่นต้องวินิจฉัยก่อนว่า เงินค่านํ้ามันรถที่บริษัทจ่ายให้ผู้จัดการนั้น เป็นค่าจ้างหรือไม่ใช่ค่าจ้าง โดยข้อเท็จจริงปรากฎว่า บริษัทจ่ายค่าน้ำมันเป็นแบบเหมาทุกเดือนเท่ากัน เดือนละ 5,000 บาท โดยไม่ต้องตรวจสอบการใช้จริง และไม่ต้องมีใบเสร็จการเติมนํ้ามันมาแสดงประกอบการเบิก ดังนั้นเงินค่านํ้ามันรถเป็น “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ “สวัสดิการ”


การจ่ายเงินค่านํ้ามันรถที่บริษัทมีประกาศจ่ายให้ผู้จัดการ ถือว่าเป็น “สภาพการจ้าง” หากบริษัทจะยกเลิกไม่จ่ายอีกต่อไป บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ คือ บริษัทต้องยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อลูกจ้าง หรือต้องให้ลูกจ้างยินยอม

การที่บริษัททำเป็นประกาศบริษัท แม้ลูกจ้าง (ผู้จัดการที่เคยได้ค่านํ้ามันรถ) จะไม่โต้แย้ง ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเงินค่านํ้ามันรถที่เคยได้เป็นค่าจ้าง สามารถใช้เป็นฐานในการเรียกเงินค่าชดเชย หรือเงินอื่นๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างได้ครับ

ทั้งนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่ในเรื่องนี้ที่ระบุว่า

การที่บริษัทประกาศให้ค่านํ้ามันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร ต่อมาได้ประกาศลดค่านํ้ามันรถยนต์ และต่อมาได้มีประกาศยกเลิกค่านํ้ามันรถยนต์ดังกล่าว แม้ลูกจ้างจะมิได้คัดค้าน แต่ก็มิได้ตกลงยินยอมให้บริษัทลดหรือยกเลิกการจ่ายค่านํ้ามันรถยนต์สำหรับผู้บริหารดังกล่าว ถือว่าประกาศของบริษัททั้งสองฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศฉบับเดิม และไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ บริษัทจึงต้องมีหน้าที่ต้องจ่ายค่านํ้ามันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามจำนวนประกาศเดิม (คำพิพากษาฎีกาที่ 875 / 2544)

13
การที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 และได้จ่ายเงินให้ลูกจ้างระหว่างหยุดกิจการร้อยละ 75 เคยมีลูกจ้างสงสัยว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างร้อยละ 75 นั้น นายจ้างต้องหักเงินจากเงินร้อยละ 75 นี้ ส่งประกันสังคมหรือไม่ อย่างไร


ในเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคม เคยมีหนังสือที่ รง 0607/573 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552 สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีบันทึกความเห็นที่ 275/2552 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ตอบสำนักงานประกันสังคม ซึ่งสรุปได้ว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 เป็น “ค่าจ้าง” ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อหักนำส่งเป็นเงินสมทบตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

ซึ่งความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม ในการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนั้นการที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 และจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 นั้น นายจ้างต้องหักเงินดังกล่าวส่งกองทุนประกันสังคมตามปกติครับ

14
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / เจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2014, 10:11:07 pm »
เจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐,๙๑,๒๘๘,๓๗๑,๓๗๖ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗,๘ ทวิ , ๗๒,๗๒ ทวิ
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก ๑๐ ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ จำคุก ๑๐ วัน รวมจำคุก ๑๐ ปี ๑๒ เดือน ๑๐ วัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น คงลงโทษฐานมีอาวุธปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานยิงปืนโดยใช่เหตุตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก ๑๒ เดือน ๑๐ วัน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อาวุธปืนเป็นอาวุธที่สามารถทำอันตรายบุคคลถึงแก่ชีวิตได้ในระยะไกล หากจำเลยมีเจตนาฆ่าจริงและกระทำโดยผู้เสียหายไม่รู้ตัวเช่นนี้ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องไปปรากฏตัวให้ผู้เสียหายและคนที่เล่นสะบ้าเห็น ด้วยการเดินเข้าไปใช้อาวุธปืนจ้องผู้เสียหายในระยะใกล้ๆ ในการเข้าไปใช้อาวุธปืนจ้องผู้เสียหายในระยะใกล้ ๒ ถึง ๓ เมตรดังกล่าว แม้จะฟังว่าจำเลยเอานิ้วสอดไปไว้ในโกร่งไกปืนตามที่โจทก์นำสืบ หากจำเลยมีเจตนาฆ่าก็ย่อมมีช่วงเวลาเพียงพอที่จะเหนี่ยวไกยิงผู้เสียหายได้ ก่อนที่นายอุดรจะเข้าห้าม พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปใช้ปืนจ้องในระยะใกล้และพูดกับผู้เสียหายต่อหน้าคนอื่นหลายคน โดยไม่ยิงทันที่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีจุดประสงค์อื่นมากกว่าจะเอาชีวิตผู้เสียหาย ผู้เสียหายเองก็เบิกความว่า อาวุธปืนของจำเลยจะต้องขึ้นนกปืนหรือง้างไกปืนก่อนจึงจะยิงได้ แต่ก็ไม่ยืนยันว่าจำเลยต้องการยิงเพื่อฆ่าผู้เสียหาย จำเลยก็ยังมีโอกาสยิงได้เพราะนายอุดรเพียงแต่พูดห้ามและผลักจำเลย ไม่เข้าจับกุมหรือแย่งอาวุธปืนไปจากจำเลย แต่จำเลยก็ไม่ได้ยิงกลับถือปืนวิ่งออกจากลานบ้านที่เกิดเหตุไปที่ถนนห่างออกไป ๑๕ ถึง ๒๐ เมตรา แล้วจึงยิงปืนขึ้นฟ้า ๑ นัด สอดคล้องกับพฤติการณ์ดังที่ได้วินิจฉัยในตอนต้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยเพียงแต่ต้องการแสดงให้ผู้เสียหายเห็นว่าจำเลยมิได้เกรงกลัวผู้เสียหายและน้องชายมากกว่าจะมุ่งเอาชีวิตผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเพียงพี่ชายของบุคคลที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายกฟ้องจำเลยฐานพยายามฆ่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟ้องไม่ขึ้น

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๓๓/๒๕๕๖
[/tt][/tt]

15
หมายศาลนั้นมีหลายประเภท ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งหมายศาลแต่ละประเภทนั้นได้ก่อให้เกิดหน้าที่ของผู้รับหมายแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

หมายศาลในคดีแพ่ง เฉพาะที่สำคัญ ๆ ได้แก่


1.หมายเรียกและคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ ซึ่งหากท่านได้รับหมายดังกล่าวก็หมายความว่าท่านได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วนั้นเอง

หน้าที่ของผู้ที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า

“เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน”

ดังนั้นท่านที่ได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง จึงมีหน้าที่ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย มิฉะนั้นแล้วท่านจะหมดสิทธิในการต่อสู้คดีอันมีผลให้ท่านต้องแพ้คดี หรือต้องรับผิดตามที่โจทก์ได้ฟ้องมา

2.หมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง) หรือที่เรียกว่า “คำสั่ง” เรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีแพ่ง)”

ท่านที่ได้รับหมายดังกล่าว มีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการและวันที่ที่ระบุ ไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่ยอมส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุตามคำสั่งเรียกอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 อันมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในหลังหมายหรือคำสั่งเรียกนั้น จะมีคำเตือนดังกล่าวไว้

อย่างไรก็ดี หากท่านไม่มีเอกสารหรือวัตถุพยานที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียกนั้นไว้ในความครอบครอง ท่านก็ไม่ต้องจัดเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นไปยังศาล แต่ท่านจะต้องทำหนังสือชี้แจงถึงเหตุดังกล่าวไปยังศาล เพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกพยานได้รับทราบต่อไป

แต่หากท่านมีเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นในความครอบครองเพียงบางส่วน หรือมีอยู่ทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเรียก แต่ท่านไม่สามารถจัดส่งไปยัง ศาลได้ทันกำหนดเวลาเพราะเหตุใดก็ตาม ท่านก็ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวไปยังศาลเพื่อขออนุญาตศาลจัดส่ง เอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลในคราวอื่น

ซึ่งหากท่านละเลยไม่ดำเนินการใด ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อแก้ไขเหตุขัดข้อง ท่านก็อาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 เช่นกัน

3.หมายเรียกพยานบุคคล

ท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว มีหน้าที่ต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในหมายเรียกเพื่อเบิกความเป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปศาลตามหมายเรียกดังกล่าว ศาลอาจออกหมายจับเอาตัวกักขังได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 111(2) และอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 โดยมาตราดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการเบิกความต่อศาลนั้น หากเบิกความเท็จในคดีแพ่งก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 หรือ 180 ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

อย่างไรก็ดี หากท่านมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมายท่านก็ สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลได้ ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ที่ขอหมายเรียกร้องประสงค์จะให้ท่านเบิกความเป็นพยานต่อศาลอีก ก็จะต้องส่งหมายเรียกมายังท่านอีกครั้งหนึ่ง

หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว และท่านอยากทราบว่าท่านจะมีความผิดประการใดหากไม่ไปศาลตามวันและเวลาระบุไว้ในหมาย ท่านก็สามารถพลิกดูคำเตือนพยานซึ่งอยู่ด้านหลังของหมายเรียกดังกล่าวได้

4.หมายบังคับคดี


ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีแล้ว และจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ เมื่อจำเลยได้รับหมายบังคับคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องปฎิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา มิฉะนั้นโจทก์สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาทำการยึดทรัพย์สินของจำเลยออก ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ไปได้หรือบังคับการใด ๆ ตามคำพิพากษาต่อไป

หมายในคดีอาญา ที่สำคัญ ๆ ได้แก่


1.หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง

เมื่อท่านได้นับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง สิ่งที่ท่านควรจะทำมีดังนี้

1.ดูรายละเอียดในหมายก่อนว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญประการใด

2.หากท่านประสงค์จะขอประนีประนอมกับโจทก์ก็ต้องเจรจากับตัวความซึ่งหากโจทก์ ยินยอมตามที่ท่านขอประนีประนอม และยินยอมถอนฟ้องออกไปคดีก็เป็นอันเสร็จสิ้น หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวก็เป็นอันเสร็จสิ้นผลไปทันที

3.หากท่านประสงค์จะสู้คดี หรือโจทก์ไม่ยินยอมประนีประนอมยอมความด้วยท่านก็ต้องรีบนำคดีไปปรึกษาทนายความและทำหนังสือแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้ทนายความไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทนท่าน

โดยในวันนัดดังกล่าวท่านไม่จำเป็นต้องไปศาลตามวันที่และเวลาที่ระบุไว้แต่ อย่างใดแต่หากท่านจะไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องท่านก็เตรียมหลักทรัพย์ไปเพื่อเตรียมประกันตัวในกรณีศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา

2.หมายเรียกพยานบุคคล

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 53 บัญญัติไว้ว่า “หมายเรียกต้องทำเป็นหนังสือ” และมีข้อความดังต่อไปนี้

(1) สถานที่ที่ออกหมาย
(2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3) ชื่อและตำบลที่อยู่ของบุคคลที่ออกหมายเรียกให้มา
(4) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา
(5) สถานที่ วันเดือนปีและเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง
(6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล หรือลงลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย

ท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าว ท่านต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านที่ได้รับหมายเรียกพยานบุคคลในคดีแพ่งดัง ได้กล่าวมาแล้ว

3.หมายเรียกพยานเอกสารหรือวัตถุ (คดีอาญา)

หากท่านได้รับหมายเรียกให้ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลท่านมีหน้าที่ ต้องจัดส่งเอกสารหรือพยานวัตถุไปยังศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมายดังกล่าว หากท่านไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวอยู่ในความครอบครอง หรือมีเพียงบางส่วนหรือไม่สามารถจัดส่งไปได้ทันเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ท่านมีหน้าที่ต้องแจ้งไปยังศาล โดยอาจทำเป็นหนังสือไปแถลงต่อศาลด้วยวาจาในวันที่ระบุในหมายเรียกก็ได้

ท่านที่ไม่แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล หรือขัดขืนไม่จัดส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลตามวันที่กำหนดไว้ในหมาย ท่านอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท่านที่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวสามารถดูคำเตือนด้านหลังหมายว่าจะต้องรับผิดประการใดหากขัดขืนหมายศาลดังกล่าว

4.หมายจับ ค้น ขัง จำคุก และปล่อย

สิ่งที่ท่านควรกระทำเมื่อได้รับหมายค้นและหมายจับ ก็คือ

1.อ่านรายละเอียดในหมายว่า ระบุให้ใคร กระทำการอะไร ที่ไหนเวลาอะไร ใครเป็นผู้ขอให้ออก และออกด้วยสาเหตุใด นอกจากนี้ ต้องดูอีกว่าผู้ใดเป็นผู้ออกหมายและหมายดังกล่าวได้ออกโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่

2.หากตรวจดูรายละเอียดในหมายแล้ว เห็นว่าเป็นหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายท่านก็ต้องปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในหมาย ดังกล่าว เช่น หากเป็นหมายค้นก็ต้องยอมให้ตรวจค้นได้แต่การตรวจค้นจะต้องกระทำภายในเวลาและสถานที่ที่ระบุไว้ในหมายเท่านั้น และต้องกระทำอย่างเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตรวจค้น หากพบว่าการตรวจค้นไม่ชอบ ท่านสามารถดำเนินคดีเอากับผู้ตรวจค้นได้ หากเป็นหมายจับ ท่านก็ต้องถูกจับ และต้องประกันตัวต่อศาลเพื่อต่อสู้คดี หรือเจรจาประนีประนอมยอมความเอากับผู้เสียหายต่อไป

สำหรับหมายขัง จำคุก และปล่อยนั้น เป็นเรื่องที่ศาลจะกำหนดไว้ในหมายว่าจะดำเนินการเมื่อใด อย่างไร ซึ่งท่านก็ต้องถูกบังคับให้เป็นไปตามนั้น

หลักเกณฑ์ในการออกหมายค้น จับ ขัง จำคุก หรือปล่อย เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 59 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“เจ้าพนักงานหรือศาลผู้มีอำนาจออกหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง จะออกหมายนั้นโดยพลการหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
ในกรณีที่มีผู้ร้องขอ เจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออกหมายจะต้องสอบให้ปรากฏเหตุผลสม-ควรที่จะออกหมาย นั้นเสียก่อน เหตุผลนี้จะได้มาจากคำแจ้งความโดยสาบานตัวหรือจากพฤติการณ์อย่างอื่นก็ได้”

มาตรา 30 หมายจับ ค้น ขัง จำคุก หรือปล่อย ต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้
(1)สถานที่ที่ออกหมาย
(2)วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3)เหตุที่ต้องออกหมาย
(4) (ก)ในกรณีออกหมายจับ ต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของบุคคลที่จะจับ

(ข)ในกรณีออกหมายขัง จำคุก หรือปล่อย ต้องระบุชื่อบุคคลที่จะถูกขัง จำคุก หรือปล่อย

(ค)ในกรณีออกหมายค้น ให้ระบุสถานที่ที่จะค้นและชื่อหรือรูปพรรณบุคคลหรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการ ค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นนั้น

(5) (ก)ในกรณีออกหมายจับ หมายขัง หรือหมายค้นให้ระบุความผิด
(ข)ในกรณีออกหมายจำคุก ให้ระบุความผิดและกำหนดโทษตามคำพิพากษา
(ค)ในกรณีออกหมายขังหรือจำคุก ให้ระบุสถานที่ซึ่งจะให้ขังหรือจำคุก
(ง)ในกรณีออกหมายปล่อย ให้ระบุเหตุที่ให้ปล่อย

(6)ลายมือชื่อ และประทับตราของศาล หรือลายมือชื่อและตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย



หน้า: [1] 2 3 4