24/04/24 - 16:12 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - ทนายพร

หน้า: 1 [2] 3 4
16
ในคดีอาญานั้นเมื่อท่านถูกจับดำเนินคดีไม่ว่าจะในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อถูกตำรวจจับกุม ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ต้องหาอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

สำหรับคำรับสารภาพของผู้ต้องหาว่าตนได้กระทำความผิดในชั้นจับกุมนั้น กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และหากผู้ต้องหาจะให้การใหม่หรือกลับคำให้การเมื่อใดก็ได้อีกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามการกลับคำให้การของผู้ต้องหาจะต้องมีเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุนว่า เหตุใดจึงกลับคำให้การเช่นนั้น หากผู้ต้องหาหรือจำเลยให้การกลับไปกลับมาจะเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหามากกว่าผลดี

ดังนั้นก่อนจะให้การต่อสู้คดี ผู้ต้องหาควรจะปรึกษาหารือกับทนายความไว้ก่อน และสิ่งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยกล่าวอ้างต้องไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย สามารถพิสูจน์และนำมาสู้คดีได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ศาลจะไม่รับฟังคำให้การ

สิ่งที่นำมากล่าวอ้างในการสู้คดีนั้น ต้องสามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้อย่างเพียงพอทีเดียวจึงจะชนะคดี

หลังจากพนักงานตำรวจส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลแล้ว ในวันส่งฟ้อง ศาลจะสอบถามคำให้การว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือปฎิเสธ

หากจำเลยรับสารภาพ หากเป็นคดีเล็กน้อยศาลก็จะมีคำพิพากษาได้ทันที ถ้าคำพิพากษาไม่เป็นไปตามที่จำเลยคาดหวัง จำเลยเปลี่ยนใจกลับมาต่อสู้คดีอีก พบว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นไปตามคำตัดสินเดิมนั้น แต่หากจำเลยปฏิเสธก่อนเพื่อมีโอกาสได้พบหรือปรึกษาทนายความก่อนน่าจะเป็นผลดีต่อตัวจำเลยเองมากกว่า

การที่จำเลยได้พบหรือรับการปรึกษาจากทนายความก่อนที่จะให้การต่อศาล จะเป็นหลักประกันหนึ่งที่จะให้ความเป็นธรรมต่อจำเลยได้ ดังนั้นแนะนำเบื้องต้นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยควรได้พบหรือรับคำปรึกษาจากนักกฎหมายหรือทนายความเสียก่อน

หากจำเลยกระทำความผิดจริงเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง หากรับสารภาพในภายหน้าก็ไม่เสียหายอะไร กลับเป็นผลดีต่อตัวจำเลยด้วยซ้ำ เพราะอย่างน้อยทนายความจะได้มีโอกาสยื่นคำร้อง คำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหตุอันจำเป็นต่างๆ เพื่อประกอบคำรับสารภาพได้ ซึ่งคำแถลงประกอบคำรับสารภาพนี้ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ศาลเมตตาลดโทษหรือรอการลงโทษจำเลย

ดังนั้นก่อนที่ท่านจะให้การใดๆไม่ว่าปฎิเสธหรือรับสารภาพ ควรได้รับคำปรึกษาอย่างถูกต้องจากทนายความหรือนักกฎหมายที่น่าเชื่อถือก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาต่างๆ แทนที่จะแก้ไขหรือคลี่คลายออกไป กลับอาจพอกพูนขึ้นจนแก้ไขไม่ได้อีกต่อไปครับ


17
ผู้เสียหายที่เป็นคนจนไม่มีเงินไปจ้างทนายความหรือวางเงินประกันที่ศาล สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาได้จากนิติกรของศาลโดยตรง หรือที่ทำการสภาทนายความประจำจังหวัดนั้นๆ โดยบุคคลที่สภาทนายความจะเข้าช่วยเหลือเรื่องว่าความแก้ต่างให้นั้น ต้องเป็นผู้ยากจนและไม่ได้รับความยุติธรรมเท่านั้น การขอรับบริการจากสภาทนายความตามที่กล่าวมานี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด   

สำหรับการติดต่อสภาทนายความส่วนกลาง ติดต่อได้ที่สภาทนายความ 7/89 อาคาร 10 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 0-2629-1430 ต่อ 129

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา 155  เรื่องขอยกเว้นค่าธรรมเนียม  และถ้าศาลเชื่อว่าเป็นคนจนจริงก็จะอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ด้วยเช่นเดียวกันครับ


18
วันนี้ทนายได้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์กรณีที่พ่อของคนที่โทรศัพท์มา ได้ไปค้ำประกันกู้เงินซื้อบ้านให้ลูกของเพื่อนพ่อที่สนิทกัน โดยมีการทำสัญญาผ่อนกับธนาคารทุกเดือน ต่อมาลูกของเพื่อนพ่อไม่ชำระค่างวด  ธนาคารจึงแจ้งให้ไปชำระค่างวด แต่ก็ไม่มีการไปชำระแต่อย่างใด จนธนาคารดำเนินการฟ้องร้องคดี  และมีหมายศาลมาถึงพ่อ ในกรณีเช่นนี้จะต้องทำอย่างไร


ทนายได้ให้คำแนะนำไปว่าในกรณีเช่นนี้ พ่อต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “ลูกของเพื่อนพ่อ” คนนี้ มีทางที่จะชำระหนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาเลือกที่จะไม่ยอมชำระ เพื่อทำให้ศาลเห็นความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ที่แท้จริง

19

สำหรับท่านที่ไม่สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มศาลยุติธรรมได้จากหน้าเวบไซด์โดยตรง ท่านสามารถดาวน์โหลดได้จากที่นี่อีกช่องทางหนึ่งครับ

http://www.trachu.com/index.php?module=download&op=list&type=25

แบบฟอร์มศาลใช้ Font TH SarabunPSK ทุกท่านต้องติดตั้ง Font นี้ในเครื่องก่อน ถึงจะสามารถ download แบบฟอร์มออกมาใช้ได้

20
คำพิพากษาที่ 1115/2541 ให้แนวทางไว้ว่า

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ความเป็นเจ้าของต้องพิจารณาจากแนวเขตที่ดิน ที่ทั้งสองฝ่ายยึดถือครอบครอง

น.ส.๓ ก.ของจำเลยเป็นเพียงคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดิน แล้วเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินส่วนที่มิได้ยึดถือครอบครอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดิน น.ส.๓ ก.ด้านทิศตะวันออกที่อยู่นอกเขตการยึดถือครอบครองของฝ่ายจำเลย

และเมื่อโจทก์และจำเลยต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของตน ดังนี้ ที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ในส่วนที่จำเลยมิได้ยึดถือครอบครองจึงเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยคงเป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะส่วนที่จำเลยยึดถือครอบครองในกรอบเส้นสีดำประ ในแผนที่พิพาท

ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.๓ ที่พิพาทในกรอบเส้นสีแดงดำในแผนที่พิพาท เว้นแต่ที่ดินในกรอบเส้นสีดำประ และให้เพิกถอน น.ส.๓ ก.ของจำเลยด้านทิศตะวันออกเฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครองที่ดิน กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์



21
พอดีได้รับคำถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ เลยนำมาแจ้ง ณ ที่นี้ครับ


การเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้ดำเนินการดังนี้

1. เขียนรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วน โดยเฉพาะหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ลงในแบบฟอร์มใบเยี่ยมญาติที่เรือนจำจัดเตรียมไว้ให้ เสร็จแล้วส่งมอบให้เจ้าหน้าที่พร้อมบัตรประชาชนหรือใบขับขี่

เรือนจำจะเปิดทำการเวลา 08.00 น. ณ จุดกรอกเอกสารการขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังเปิดตั้งแต่เวลาประมาณ 07.45 น. และปิดห้องเยี่ยมเวลา 15.00 น. (ควรไปก่อนเวลา 14.30 น.) ทั้งนี้แต่ละเรือนจำมีการกำหนดวัน เวลาเยี่ยมและรายละเอียดผู้เข้าเยี่ยมได้ที่แตกต่างกัน


2. นำแบบฟอร์มที่กรอกพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้ ตามจำนวนคนเข้าเยี่ยม ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสาร รอฟังรายชื่อและเข้าเยี่ยมภายในห้องเยี่ยมที่เรือนจำกำหนด คือห้องเยี่ยมโดยเจ้าหน้าที่จะดูแลอยู่ไม่ห่าง


สำหรับผู้ขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาล เพื่อพบทนายความ หรือในชั้นตำรวจฝากขังระหว่างสอบสวนคดี ทางเรือนจำจะจัดพื้นที่ให้ตามความเหมาะสมโดยเฉพาะ


3. เมื่อเยี่ยมเสร็จแล้ว ให้ไปรับใบฝากเงินและฝากสิ่งของกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปซื้อสิ่งของจากร้านสงเคราะห์ของเรือนจำฯ (สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าของเรือนจำฯ ห้ามเปิดหรือฉีกถุงที่บรรจุแล้วโดยเด็ดขาด) และฝากเงินที่ช่องฝากเงิน แล้วนำสิ่งของฝากที่ช่องฝากส่งของ



กำหนดวันและเวลาเยี่ยม



1.  วันจันทร์ – ศุกร์ รวมทั้งวันหยุดนักขัตฤกษ์  เว้นวันเสาร์ – อาทิตย์
2.   ผู้ต้องขังออกรับการเยี่ยมญาติได้คนละ 1 ครั้ง/วัน ครั้งละประมาณ 15-20 นาที
3.   เวลาเยี่ยม ภาคเช้าเวลา 08.30 – 12.00 น. ภาคบ่ายเวลา 13.00 – 15.00 น.

 

การฝากสิ่งของ



เรือนจำได้จัดร้านค้าสงเคราะห์ฯ ไว้บริเวณหน้าเรือนจำ (หน้าห้องเยี่ยมญาติ) เพื่อจำหน่ายสิ่งของต่างๆ ในราคาปกติ และสิ่งของที่ซื้อจากร้านค้าฯ ของเรือนจำจะใส่ถุงพลาสติกปิดผนึกอย่างดี ทำให้ฝากส่งให้แก่ผู้ต้องขังได้อย่างรวดเร็ว หากท่านนำสิ่งของต่างๆ มาจากที่อื่น ทางเรือนจำจะทำการตรวจค้นสิ่งของนั้นๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการซุกซ่อนลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามนำเข้าภายในเรือนจำ


ข้อห้ามต่างๆ


1.  สิ่งของต้องห้ามที่ไม่อนุญาตฝากให้แก่ผู้ต้องขัง

1.1   ฝิ่น กัญชา ยาเสพย์ติด หรือของมึนเมาอย่างอื่น
1.2   สุรา หรือน้ำเมาซึ่งดื่มได้เมาเหมือนสุรา
1.3   เครื่องอุปกรณ์สำหรับเล่นการพนัน
1.4   เครื่องอุปกรณ์ในการหลบหนี
1.5   ศัตราวุธ
1.6   ของเน่าเสีย หรือของมีพิษต่อร่างกาย
1.7   วัตถุระเบิด หรือน้ำมันเชื้อเพลิง
1.8   สัตว์มีชีวิต


2.  ห้ามถ่ายภาพ, วีดีโอ, วีดีทัศน์, ภาพยนตร์

3.  ห้ามใช้เครื่องบันทึกเสียง และสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง

4.  ห้ามพกอาวุธทุกชนิด

5.  ห้ามใช้โทรศัพท์ขณะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง


การปฏิบัติตนในการติดต่อราชการเรือนจำ

1.  แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย

2.  เมื่ออยู่ภายในเรือนจำฯ ต้องอยู่ในความสงบ

3.  ติดต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำฯ โดยตรง


4. ระวังบุคคลภายนอกแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำฯ หรือกรมราชทัณฑ์รับอาสาหรือหลอกลวงว่าสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังญาติของท่านได้ โดยเรียกร้องเงินเป็นค่าตอบแทน อย่าได้หลงเชื่อ ท่านจะสูญเสียเงินเปล่า   
 

หากสงสัยหรือไม่ได้รับความสะดวกประการใดในการติดต่อราชการเรือนจำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฯ หรือผู้บัญชาการเรือนจำฯ โดยตรง


22
วันนี้มีคนโทรมาสอบถามว่า บุตรชายได้ไปขโมยรถจักรยานยนต์มาจากที่ผับแห่งหนึ่งในตอนกลางคืน และตำรวจตามจับได้พร้อมของกลาง และแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ บุตรชายได้ยอมรับผิดแล้ว ถามว่าจะถูกจำคุก หรือไม่ อย่างไร กี่ปี

ความผิดเรื่องลักทรัพย์นี้ หากผู้ต้องหาถูกฟ้องเป็นจำเลยและให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง  ศาลสามารถพิพากษาได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการสืบพยานเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 176

(ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษ อย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง)


สำหรับบทลงโทษนั้น มีดังนี้ครับ


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  334  ระบุว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท


มาตรา 335 ผู้ใด ลักทรัพย์

                (1) ในเวลา กลางคืน
                (2) ในที่ หรือ บริเวณ ที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่ หรือ บริเวณ ที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัย แก่ รถไฟ หรือ ยานพาหนะอื่น ที่ประชาชนโดยสาร หรือ ภัยพิบัติอื่น ทำนองเดียวกัน หรือ อาศัยโอกาส ที่มีเหตุ เช่นว่านั้น หรือ อาศัยโอกาส ที่ประชาชน กำลังตื่นกลัว ภยันตรายใดๆ
                (3) โดยทำอันตราย สิ่งกีดกั้น สำหรับคุ้มครอง บุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ โดยผ่าน สิ่งเช่นว่านั้น เข้าไป ด้วยประการใดๆ
                (4) โดยเข้า ทางช่องทาง ซึ่ง ได้ทำขึ้น โดยไม่ได้จำนง ให้เป็นทางคนเข้า หรือ เข้าทางช่องทาง ซึ่ง ผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
                (5) โดยแปลงตัว หรือ ปลอมตัว เป็นผู้อื่น มอมหน้า หรือ ทำด้วยประการอื่น เพื่อไม่ให้ เห็นหรือจำ หน้าได้
                (6) โดยลวงว่า เป็นเจ้าพนักงาน
                (7) โดยมี อาวุธ หรือ โดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่ สองคน ขึ้นไป
                (๘) ใน เคหสถาน สถานที่ราชการ หรือ สถานที่ ที่จัดไว้ เพื่อบริการสาธารณ ที่ตนได้เข้าไป โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ซ่อนตัว อยู่ในสถานที่นั้นๆ
                (9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือ เรือสาธารณ สาธารณสถาน สำหรับขนถ่ายสินค้า หรือ ในยวดยานสาธารณ
                (10) ที่ใช้ หรือ มีไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์
                (11) ที่เป็นของ นายจ้าง หรือ ที่อยู่ใน ความครอบครอง ของนายจ้าง
                (12) ที่เป็นของ ผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็น ผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือ เครื่องมือ อันมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม หรือ ได้มาจากการกสิกรรม นั้น

            ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง ห้าปี และ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท

            ถ้า ความผิด ตามวรรคแรก เป็นการกระทำ ที่ประกอบด้วย ลักษณะดังที่บัญญัติไว้ ในอนุมาตราดังกล่าว ตั้งแต่ สองอนุมาตรา ขึ้นไป ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง เจ็ดปี และ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นสี่พันบาท

            ถ้า ความผิด ตามวรรคแรก เป็นการกระทำต่อ ทรัพย์ ที่เป็น โค กระบือ เครื่องกล หรือ เครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรม มีไว้สำหรับ ประกอบกสิกรรม ผู้กระทำ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ สามปี ถึง สิบปี และ ปรับตั้งแต่ หกพันบาท ถึง สองหมื่นบาท

            ถ้า การกระทำความผิด ดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำ โดยความจำใจ หรือ ความยากจนเหลือทนทาน และ ทรัพย์นั้น มีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษ ผู้กระทำความผิด ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้


มาตรา  357  ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


23
วันนี้มีลูกจ้างที่ทำงานประจำในผับแห่งหนึ่งช่วงกลางคืน (มีประกันสังคม มีสวัสดิการต่างๆ) โทรศัพท์มาสอบถามว่านายจ้างประกาศให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากในช่วงนี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งนายจ้างแจ้งว่าจะเปิดร้านตามปกติก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามนายจ้างไม่ได้แจ้งว่าช่วงหยุดงานนี้ ลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนหรือไม่ อย่างไร จึงโทรมาสอบถามถึงความกังวลดังกล่าว

ผมได้ตอบไปว่า เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ที่นายจ้างต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว  แต่มีสาเหตุมาจากผลกระทบต่อการประกอบกิจการของทางร้าน  จนทำให้ร้านไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  ดังนั้นตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 จึงได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75  ของค่าจ้างในวันที่ทางร้านไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานนั้นๆครับ 

24
มีคนสอบถามมาว่า ขณะนี้รับเด็กคนหนึ่งมาเป็นลูกบุญธรรม แต่ไม่อยากให้เด็กรู้ว่าเราไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง เราสามารถเปลี่ยนชื่อพ่อแม่เด็กที่เป็นพ่อแม่จริงๆ มาเป็นชื่อตนเอง (พ่อแม่บุญธรรม) ในทะเบียนบ้านได้หรือไม่ อย่างไร

ตามระเบียบแล้ว การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อบิดามารดาบุตรบุญธรรมในทะเบียนบ้านจะกระทำได้หรือไม่ ย่อมเป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนายการทะเบียนกลางกำหนด ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร 2534 มาตรา 27 ที่บัญญัติไว้ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย หรือสูติบัตรและมรณบัตรให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

ดังนั้นควรสอบถามรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวกับนายทะเบียนท้องถิ่นโดยตรง จะเป็นการดำเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมายดีกว่าครับ

25
มีลูกความโทรศัพท์มาถามว่า บิดาได้ซื้อรถให้บุคคลภายนอกใช้ แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาบิดาได้เสียชีวิตลง เลยไม่ได้ส่งงวดรถกับไฟแนนซ์ต่อ ทำให้ทางบริษัทไฟแนนซ์มาทวงถามค่างวดรถที่บ้านกับลูกและภรรยา และจะดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายกับครอบครัว จะต้องทำอย่างไรหรือแก้ปัญหาอย่างไรบ้างในกรณีอย่างนี้

ผมได้แนะนำไปว่า เมื่อบิดาเป็นผู้เช่าซื้อ บริษัทไฟแนนซ์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายในฐานผิดสัญญาเช่าซื้อได้อยู่แล้ว อีกทั้งสิทธิเช่าซื้อทรัพย์สินถือเป็นมรดกที่ตกทอดมายังทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 แต่ทั้งนี้ทายาทรับผิดไม่เกินมรดกที่ตกทอดแก่ตน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1601 ดังนั้นในฐานะทายาทจึงต้องเข้าไปเป็นคู่ความโดยอัตโนมัติ และต้องต่อสู้คดีเพื่อขอลดค่าเสียหายตามหมายฟ้องดังกล่าวครับ

26
มีแม่ค้าตลาดนัดตอนกลางคืนหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โทรศัพท์มาสอบถามว่า ตนเองขายแว่นตาทั่วๆไป แต่เป็นสินค้า copy ยี่ห้อ เช่น Rayband แล้วพอดีมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบลิขสิทธิ์เข้ามาพอดี จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ ตนเองได้ยอมรับข้อกล่าวหา และสอบถามว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การขายของละเมิดลิขสิทธิ์ และมีพยานหลักฐานชัดเจน ถือว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว จึงมีความผิดตามมาตรา 110 มีโทษตามมาตรา 108 จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นข้อเสนอของผมคือ เมื่อรับสารภาพไปแล้ว ก็ให้ขอลดหย่อนโทษ และประกันตัวออกมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว คดีแบบนี้ศาลมักจะรอการลงโทษ ส่วนจะปรับเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่านครับ


27
วันนี้ทนายความได้ให้คำปรึกษากรณี “ภรรยาหนีออกจากบ้านไปอยู่กับผู้หญิงอีกคนที่เป็นทอม และไม่สนใจลูกๆแม้แต่น้อย พอโทรศัพท์ไปถามก็แจ้งว่า จะไม่กลับมาอยู่กับสามีหรือพ่อของลูกอีกต่อไปแล้ว สามีเลยสอบถามมาว่าสามารถแจ้งความกรณีที่ภรรยาละทิ้งบุตร และข้อหามีชู้กับแฟนใหม่ที่เป็นทอม ได้หรือไม่ อย่างไร”

ผมได้คำแนะนำไปว่า

การกระทำของภรรยานั้น สามีสามารถร้องขอให้ศาลสั่งถอนอำนาจปกครองบุตรของภรรยาได้เพราะถือเป็นกรณีที่ภรรยาให้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1582

แต่การที่ภรรยาคบหาหญิงที่เป็นทอม ซึ่งมีลักษณะเป็นชายเพียงรูปลักษณ์ภายนอกนั้น ยังไม่เข้าความหมาย “ชู้” ตามกฎหมาย สามีจะอ้างสิทธิฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับการกระทำของภรรยานั้นไม่ได้ เพราะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ครับ

28
ค่าจ้างเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง ดังนั้นแม้ลูกจ้างจะลาออกจากงานโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งได้ทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างนั้น

ดังนั้นลูกจ้างจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ตนทำงานอยู่เพื่อทำการสอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง

หรือฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้จ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามนัยมาตรา 9 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ครับ

29
เงินต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

1) เงินที่จ่ายเป็นสวัสดิการ หมายถึง นายจ้างจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในด้านต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องแบบ ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก ค่าหอพัก  ค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียนบุตร เงินฌาปนกิจศพ ค่าคลอดบุตร ค่าประกันอุบัติเหตุ เงินโบนัส ค่าภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่ารถประจำตำแหน่ง เป็นต้น


2) เงินที่จ่ายจูงใจลูกจ้างให้ทำงานมากกว่ามาตรฐานปกติ เช่น ค่าทิปจากงานบริการ

หรือเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำยอดขายได้ตามเป้า ที่กำหนด  เพื่อจูงใจให้ทำยอดขายเพิ่ม  ไม่ได้ตอบแทนการทำงานโดยตรง  ทั้งยังจ่ายเป็นรายเดือน  รายไตรมาส  หรือรายปี  มิใช่ตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน  มิใช่ค่าจ้าง  (คำพิพากษาที่ 2246 / 2548)

“เบี้ยเลี้ยง” ที่จ่ายให้เมื่อออกไปทำงานต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ค่าจ้าง (คำพิพากษาที่ 2335 / 2523)
     
         
3) เงินที่จ่ายจ่ายเพื่อให้ลูกจ้างออกจากงาน


4) เงินที่จ่ายจ่ายเพื่อทดแทนเงินหรือสิ่งที่ลูกจ้างจ่ายไป เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่ารถประจำตำแหน่ง เป็นต้น 


เช่น ค่าน้ำมันรถเหมา จ่ายเพื่อชดเชยกับการที่ลูกจ้างนำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน (คำพิพากษาที่ 4842 / 2548) ค่าพาหนะเหมา จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เดินทางไปทำงานนอกสถานที่  เป็นเงินช่วยเหลือค่าเดินทาง  (คำพิพากษาที่ 9016 – 9043 / 2549)

             
5) เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาหรือเกินเวลาในวันทำงาน


6) เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาหรือเกินเวลาในวันหยุด


7) ค่าจ้างที่ได้โดยไม่ต้องทำงานได้แก่                            

7.1) เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลา                 

7.2) ลูกจ้างไม่ได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย                       

7.3) ค่าจ้างในวันหยุด เช่น ลูกจ้างรายเดือนได้ค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง และลูกจ้างตามผลงานได้ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี  หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี  เป็นต้น   

 
8) ค่าจ้างในวันลา เช่น ลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วันทำงาน ลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกินครรภ์ละ 45 วัน เป็นต้น



สำหรับค่าใช้จ่ายต่อไปนี้ ต้องถือว่าเป็น "ค่าจ้าง"

(1) ลูกจ้างได้รับค่าน้ำมันรถ และค่าโทรศัพท์ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอน ในลักษณะเหมาจ่าย  ไม่ต้องมีใบเสร็จ  มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือ  ได้รับเนื่องจากการทำงานตามปกติ เป็นค่าจ้าง (คำพิพากษาที่ 7316 / 2549)

(2) ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนการขาย คำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้  เป็นค่าจ้างตามมาตรา 5   อายุความ 2 ปี (คำพิพากษาที่ 3759 / 2546 , 2863 / 2552) ค่าคอมมิชชั่นลูกจ้าง ได้รับเมื่อหาลูกค้ามาทำป้ายโฆษณาจากนายจ้างได้  เป็นค่าจ้างตามผลงาน (คำพิพากษาที่ 8758 / 2547)

(3) “เบี้ยเลี้ยง” จ่ายให้ทุกคนที่มาปฏิบัติงาน ฯ อัตราแน่นอนทุกเดือน ไม่ใช่จ่ายเมื่อออกไปทำงานนอกสถานที่ (คำพิพากษาที่ 1328 / 2527)


(4) “เงินเพิ่มพิเศษ” สำหรับการทำงานเป็นกะ  นายจ้างจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน (คำพิพากษาที่ 2770/2528)

(5) ค่าชั่วโมงบิน จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงาน จ่ายเป็นรายเดือน  แม้แต่ละเดือนจะได้รับในจำนวนไม่แน่นอน  ไม่เท่ากัน แต่ก็ถือว่าเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน (คำพิพากษาที่ 1394/2549)

(6) เงินประจำตำแหน่ง เป็นค่าจ้างที่ต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (คำพิพากษาที่ 5024 / 2548)


(7) ค่านายหน้าในการยึดรถเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยคำนวณจากจำนวนรถที่ลูกจ้างยึดได้ในอัตราแน่นอนคันละ 10,000 บาท นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือนเดือนละ 9,500 บาท ที่กำหนดจ่ายให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน จึงเป็นการจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงานคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานถือเป็น ค่าจ้าง (คำพิพากษาที่ 7891/2553)

(8) ค่าครองชีพ จ่ายให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ (คำพิพากษาที่ 8938-8992/2552)

(9) "ค่าเที่ยว" ลูกจ้างทำงานขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งสินค้าทั่วประเทศ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกล คำนวณได้ตามระยะทางและจำนวนเที่ยวที่ได้โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ ค่าเที่ยวดังกล่าวจึงไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนในส่วนเวลาที่ทำเกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ (คำพิพากษาที่ 3631-3667/2552)

(10) ค่าอาหารที่ได้รับเท่ากันทุกเดือน จ่ายเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน (คำพิพากษาที่ 5738-5742/2548)


30
ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ดังนั้นนายจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะมาบังคับให้ลูกจ้างทำ OT ได้ ยกเว้นเพียง “ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น” เช่น ในกรณีของโรงงานหลอมแก้ว ที่หากหยุดทำงานแล้วเกิดเตาไฟดับ แก้วที่หลอมแข็งตัวเสียหายเป็นสิบล้านบาท แบบนี้ก็ถือว่าให้ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น เป็นต้น

ดังนั้นการที่นายจ้างหรือหัวหน้างานให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไปครับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 ดังนั้นหากลูกจ้างไม่ยินยอมทำ นายจ้างก็ไม่สามารถบังคับได้ แต่หากเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างด้วย


มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985-2986/43
งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปนั้นคือ งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ ถ้าหยุดก่อนงานที่ทำจะเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินคือ งานที่เกิดในทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายล่วงหน้าได้และงานนั้นต้องทำให้เสร็จทันทีมิฉะนั้นงานจะเสียหาย เมื่องานที่ลูกจ้างได้รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำล่วงเวลาต่อ ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมเสียหายแต่อย่างใด และการที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายได้ จึงไม่ใช่งานฉุกเฉิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121/43

การที่นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะทำให้แตกต่างไปจากกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบฯหาได้ไม่ หากนายจ้างมีความประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาใด นายจ้างต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานไว้ล่วงหน้า และหากจะออกคำสั่งอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว หากไม่สอดคล้องก็ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 24

หน้า: 1 [2] 3 4