20/04/24 - 01:42 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - ทนายพร

หน้า: 1 2 [3] 4
31
มีลูกความโทรมาถามว่า วันนี้มีคนในครอบครัวถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 2 ปี เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท โดยขับรถไปชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคนขับไม่มีใบขับขี่ด้วย จะต้องทำอย่างไรต่อไป

ผมได้ให้คำแนะนำไปว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้วว่า เป็นกระทำการโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 291 โดยพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ดังนั้นหาจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193,198 ครับ

32
ปัจจุบันมีการนอกใจภรรยาและนอกใจสามีเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การดำเนินคดีกับชายชู้หรือหญิงชู้หรือเมียน้อยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ได้คุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพียงฟ้องเรียกค่าทดแทนเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าทดแทนฟ้องชายชู้หรือเมียน้อยสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง 

โดยอายุความในการดำเนินคดีกับชายชู้หรือเมียน้อยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้หรือควรรู้เกี่ยวกับการมีชู้หรือการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1529

แต่ทั้งนี้จะฟ้องให้บังคับภริยาน้อยหรือชายชู้ยุติความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีหรือภรรยาตนเองไม่ได้ เพราะสภาพแห่งคำขอไม่เปิดช่องให้ทำได้และไม่สามารถบังคับได้และจะเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นรายประเด็น จนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

อีกทั้งถ้าเป็นเพียงการแอบได้เสียกันแบบลับๆ ไม่ถือว่าเป็นหญิงชู้หรือเมียน้อยที่จะเรียกค่าทดแทนตามกฎหมายได้ ทั้งนี้มีหลายคดีที่เมียน้อยไปอยู่กินกับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น มีการซื้อคอนโดให้ ซื้อบ้านให้ แต่แอบมาลักลอบได้เสียกันถือว่า ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ศาลจะถือว่าเป็นการลักลอบได้เสียกันและมักจะยกฟ้อง


ในที่นี้ ชายชู้ หมายถึง การที่ชายไปเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น โดยมีการล่วงเกินภริยาผู้อื่นไปในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ตัวอย่างการเป็นชู้ เช่น ไปกอดจูบลูบคลำภริยาผู้อื่นหรือไปร่วมหลับนอน ร่วมประเวณีกับภริยาผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับ ก็ถือว่าเป็นชู้แล้วตามกฎหมาย
 
หญิงชู้หรือเมียน้อย หมายถึง หญิงไปแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับสามีชาวบ้านในทำนองชู้สาว

ตัวอย่างคดีชู้สาวในชั้นศาลที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535 
จำเลยที่ 2 (เมียน้อย) ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์อยู่ร่วมเรือนเดียวกันไปไหนมาไหนด้วยกัน บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นทั้งสองคนนอนร่วมเตียงเดียวกัน จำเลยที่ 2 เคยไปบ้านมารดาของจำเลยที่ 1 ในเทศกาลสำคัญ ถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538
การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง มิได้เขียนไว้ว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อย แม้ไม่ฟ้องหย่าสามี ก็เรียกค่าทดแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6851/2537 
แม้โจทก์จะทราบความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยกับนาย อ. สามีโจทก์มาตั้งแต่ปลายปี 2529 ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์นั้นเองก็อ้างความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ฉันสามีภริยาจนมีบุตร 1 คน และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นต่อมามิได้หยุดกระทำและสิ้นไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยยินยอมให้นาย อ. สามีโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย และเคยขอร้องให้เลิกเกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ นาย อ. ไม่เชื่อฟัง เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับนาย อ. โจทก์และนาย อ.ได้ทะเลาะโต้เถียงกันแล้วแยกทางกัน พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้นาย อ. กับจำเลยมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ที่ศาลล่างพิพากษาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538 

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเอง หรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา1516 (1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรกหรือไม่

33
ผมได้รับการสอบถามมาว่า ตำรวจให้คนติดยาเสพติดอยู่แล้วไปล่อซื้อยาเสพติดให้ มีความผิดอะไรบ้าง

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2554 พบว่า การที่ตำรวจให้คนที่ติดยาเสพติดอยู่แล้วไปล่อซื้อยาเสพติดให้ตำรวจนั้น ถือว่าไม่มีความผิดเพราะไม่ได้เป็นคนริเริ่มกระทำความผิดด้วยตนเอง เนื่องจากตำรวจเป็นคนริเริ่ม

จากคำพิพากษาได้ระบุไว้ว่า

การที่เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 เช่นนี้ ถือเป็นการอาศัยจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้เริ่มมิใช่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มในการไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2

ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจมอบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้จำเลยที่ 1 ก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจก็ดี เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่เคยให้สายลับไปดำเนินการ ซึ่งโดยปกติเจ้าพนักงานตำรวจก็มักจะให้ค่าตอบแทนแก่สายลับ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในสถานะเดียวกับสายลับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิด

34
เมื่อผู้จองรถได้ทำสัญญาและเช่าซื้อ และวางเงินดาวน์จองรถไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้แล้วระหว่างคู่สัญญา หากจะบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงรุ่นรถ โดยฝ่ายผู้ขายหรือผู้ซื้อไม่ได้กระทำผิดสัญญาและตกลงยินยอมยกเลิกสัญญาแต่อย่างใดด้วย การที่บอกเลิกสัญญาจึงไม่อาจเรียกร้องเงินดาวน์หรือมัดจำคืนได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378(2), มาตรา 379

35
การหักค่าจ้างของลูกจ้าง นายจ้างจะกระทำได้เฉพาะที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ในมาตรา 76 เท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น หักเพื่อชำระภาษีเงินได้ ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานฯ ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เป็นเงินประกัน เงินสะสมตามข้อตกลง โดยที่ลูกจ้างให้การตกลงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้นจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจนายจ้าง ในการลงโทษพนักงานที่มาทำงานสายโดยหักค่าจ้างเลย

ดังนั้นหากลูกจ้างมาทำงานสาย

นายจ้างสามารถลงโทษได้ตามมาตรการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯเท่านั้น และนายจ้างสามารถที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเท่าที่ลูกจ้างไม่ทำงานให้กับนายจ้างตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาจ้างงาน

36
ผมได้รับ email สอบถามมา จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนในกระทู้นี้ครับ

เรียนท่านทนาย

สวัสดีคะ ดิฉันทำงานที่บริษัทมาเป็นระยะเวลา 2ปี เงินเดือนล่าสุด 37,400 บาท โดยมิได้มีความบกพร่องต่อหน้าที่การงานใดๆ และมาวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ดิฉันได้ถูกแผนกบุคคลเรียกขึ้นไปบอกเลิกจ้าง โดยไม่มีเหตุผลใดๆ อ้างว่าทัศนคติไม่ตรงกัน ได้ค่าชดเชยมา 7 เดือน แต่ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วไม่มีความผิดใดๆ

ดิฉันต้องตกงาน และสภาพความมั่นคงในขีวิตหายไป

บริษัทแห่งนี้ยังมีสภาพคล่องปกติและไม่ได้ย้ายออฟฟิตใดๆ

ประมาณ 2 วันต่อมา ดิฉันเข้าไปขอหนังสือรับรองการทำงาน และถูกบังคับให้เซ็นหนังสือลาออกอีกฉบับ โดยแผนกบุคคลอ้างว่าจะไม่ให้หนังสือรับรองการทำงานดิฉันถ้าดิฉันไม่เซ็นในหนังสือลาออก เพราะนายจ้างกลัวว่าดิฉันจะไปฟ้องร้อง


ดิฉันต้องสูญเสียสภาพความมั่นคงในชีวิต ส่วนต่างๆที่ฉันจะได้จนเมื่อดิฉันทำงานจนถึงเกษียนอายุ หรืออยุู่ที่นี่ต่อไปอีกหลายๆปี การเลิกจ้างด้วยสาเหตุที่ไม่มีเหตุผลของนายจ้าง (ซึ่งก็เป็นลูกจ้าง เพราะบริษัทนี้เจ้าของจริงๆคือคนเยอรมัน) ดิฉันจึงอยากฟ้องร้องเอาผิดกับนายจ้างท่านนี้ เพื่อจะทำได้ไหมคะ

รบกวนปรึกษาหน่อยคะ เพราะดิฉันถือว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ขาดมนุษยธรรม ก่อนที่ดิฉันจะตัดสินใจมาทำงานที่นี่ ดิฉันเคยบอกนายจ้างท่านนี้ว่าดิฉันมีภาระต้องผ่อนบ้านต่างๆนานา แต่การเลิกจ้างแบบไม่มีสาเหตุถือว่าไม่มีมนุษยธรรมต่อดิฉันผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อบ้านและต้องดูแลพ่อแม่อีก

ดิฉันต้องการขอเอาผิดต่อนายจ้างผู้ซึ่งเลิกจ้างดิฉันโดยไม่มีสาเหตุอันควรได้ไหมคะ

และดิฉันต้องทำอย่างไรบ้างคะ

37
การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งนี้การกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

รวมถึงการกล่าวข้อความที่หยาบคาย หรือถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเป็นการเหยียดหยามให้อับอาย ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ผมอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกา สามารถสรุปได้ดังนี้ครับ

1.   การใส่ความผู้อื่นที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537)

โจทก์ร่วมซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ถูกร้องเรียนว่ายักยอกเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาการแทนโจทก์ร่วมทำหนังสือสั่งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับ พ.ผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวมีความหมายให้ พ. เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการแล้วหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำโดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วมทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จ เพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่อื่น หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัยและหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เดิม


2.   การเจตนาจงใจใส่ความที่ยังไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือความเท็จ แม้จะเป็นเพียงข้อความตามที่ได้รับบอกเล่ามาก็ตาม (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503    และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541 )

นางใย อาของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่าโจทก์ (เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่า นางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟัง จำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟัง นางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย ถือได้ว่า จำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2541 : สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารกล่าวข้อความว่า"โจทก์มีปัญหาในครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปัญหากับพนักงานในสาขาถึงได้ถูกย้ายไปสำนักงานใหญ่คงอยู่ไม่ได้นานต้องถูกไล่ออก" ต่อ อ. ลูกค้าของธนาคาร ย่อมเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งข้อความดังกล่าววิญญูชนทั่วไปย่อมจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อ เป็นคนไม่ดี ทะเลาะกับสามี มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน จนต้องถูกย้ายและกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดจะถูกไล่ออกจากงานด้วย จึงเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หาใช่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามีภริยาทะเลาะกัน หรือเป็นคำติชมของผู้บังคับบัญชา หรือเป็นการกล่าวคาดคะเนแต่อย่างใดไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อญาติของโจทก์เพียงคนเดียว และข้อความหมิ่นประมาทก็มิได้ทำให้ โจทก์เสียหายมากมายนัก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะ ไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกและรอการลงโทษนั้น หนักเกินไปควรให้ปรับจำเลย 5,000 บาท


3. เอาจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทให้ผู้อื่นอ่าน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2515)

การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบ โดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ


38
แม้ว่านายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จะมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างทำการงานตามที่ว่าจ้างก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดทั้งสิ้น ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะบังคับให้ลูกจ้างทำหนังสือลาออกอันเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแต่อย่างใด

ดังนั้นหากนายจ้างบีบบังคับให้ลูกจ้างเขียนหนังสือลาออกโดยลูกจ้างไม่สมัครใจบอกเลิกสัญญาจ้าง ลูกจ้างชอบที่จะฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและเรียกค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 14 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

และหากลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างและเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องนายจ้างเป็นคดีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและค่าเสียหาย ทั้งเรียกค่าชดเชยตามกฎหมายเนื่องจากถูกเลิกจ้างได้ด้วย ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยดังกล่าวนั้น


39
วันนี้มีน้องชายโทรศัพท์มาสอบถามให้พี่สาวตนเองว่า พี่สาวกับพี่เขยแต่งงานถูกต้องตามประเพณี ญาติพี่น้องทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้ และอยู่กินด้วยกันมาสิบปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและไม่มีลูกด้วยกัน ในระหว่างอยู่ด้วยกัน ทั้งคู่ได้ไปกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ด้วยกันหรือที่เรียกกันว่า “กู้ร่วม” ทำให้พี่เขยกับพี่สาวก็จะมีชื่อร่วมกันในสัญญาจำนองที่ทำไว้กับทางธนาคาร

ปัจจุบันพี่เขยได้ออกจากบ้านหลังนี้ไปแล้ว และพี่สาวผมได้ส่งเงินค่าหนี้บ้านเพียงคนเดียวมากว่า 1 ปีแล้ว โดยไปอยู่กับหญิงอื่นที่เป็นแม่ม่ายลูกติดและได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน ทำให้พี่สาวของผมต้องอับอาย ต่อเพื่อนร่วมงานและญาติผู้ใหญ่ แบบนี้พี่สาวผมสามารถฟ้องร้องอะไรได้บ้างครับ และเรื่องบ้านจะต้องจัดการอย่างไร เพราะพี่เขยอ้างว่า “เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้เหมือนกัน”

40
นายจ้างสามารถเลิกจ้างพนักงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทส่งข่าวสารให้ร้ายบริษัท หรือแม้แต่ภาพลามกอนาจารไปให้เพื่อนๆพนักงานนอกบริษัท ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ที่นายจ้างจะสามารถเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่?

41
วันนี้มีลูกจ้างโทรศัพท์มาสอบถามว่า ตนเองได้รับอุบัติเหตุจากรถยนต์ชนที่นอกบริษัท ซึ่งไม่เกียวกับงาน แต่ตนเองได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการรักษาพยาบาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กับบริษัทประกันภัยไปแล้ว ตนเองยังจะสามารถใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้อีกหรือไม่ อย่างไร

42
วันนี้ทนายได้รับโทรศัพท์สอบถามบางคำถามที่น่าสนใจมาว่า พ่อของผู้ถามได้มีภรรยาใหม่ แต่ยังไม่ได้หย่ากับแม่ (ภรรยาเก่า) ซึ่งแต่งงานกันมากว่า 20 ปีแล้ว ไม่นานมานี้พ่อได้โอนบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นมรดกของปู่ย่า (เสียชีวิตแล้ว) ที่ได้ยกให้พ่อ โอนให้กับภรรยาใหม่เรียบร้อยตามกฎหมายแล้ว แต่ทางลูกได้พยายามขอให้โอนคืนกลับมา แต่ทางภรรยาใหม่ไม่โอน ไม่ทราบว่าลูกมีสิทธิเรียกร้องอะไรได้บ้างหรือไม่ อย่างไร

43
แม้ว่าท่านเป็นลูกจ้างทดลองงาน แต่เมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้าง เพราะปฏิบัติงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนดไว้ และท่านได้ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 120 วันแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ท่าน ตามความมาตรา 118 (1) แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ระบุไว้ว่า

มาตรา 118  ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

44
เนื่องจากสามีไม่เคยส่งค่าเลี้ยงดูบุตร และยังมีภรรยาใหม่แล้ว แต่สามีไม่ยอมหย่าให้

45
มีเจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชนหลายคน (NGOs) มักส่ง mail มาถามว่า สัญญาจ้างทำงานแบบ TOR ที่มีระยะเวลาจ้างชัดเจน เช่น 1-5 ปี เป็น “สัญญาแบบจ้างทำของ” หรือ “สัญญาจ้างแรงงาน” และถ้าหัวหน้างานกระทำการอันไม่เป็นธรรม มีการเลิกจ้างโดยตนเองไม่ได้ทำผิด หรือเลิกจ้างก่อนเวลาที่ระบุไว้ใน TOR ดังกล่าวนั้น สามารถฟ้องศาลแรงงานเรียกค่าชดเชยได้หรือไม่ อย่างไร

หน้า: 1 2 [3] 4