30/04/24 - 09:53 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 37 38 [39] 40 41 ... 50
571
อัยยะ..ยังไม่หมดคำถาม...เอ้า..ถามมาทนายพรก็จัดให้..มาว่าเป็นข้อๆเลย...

๑.ถามต่ออีกนิดครับ บ.ได้หักเงินประกันเราไว้ บ.จะต้องเอาไปฝากไว้ให้เรารึปล่าว
ตอบ กฎหมายกำหนดว่าต้องนำไปฝากไว้ในชื่อของลูกจ้างครับ ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑและวิธีการเรียกหรือ
รับหลักประกันการทํางานหรือหลักประกันความเสียหายในการทํางานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑
 
๒.หรือหักไปแล้วจะเอาไปทำอะไรก็ได้ครับ?
ตอบ กฎหมายห้ามนายจ้างนำเงินนี้ไปใช้ แต่ให้นำไปฝากธนาคารอย่างเดียวครับ

๓.การที่บ.แจ้งกับประกันสังคมเรื่องเงินเดือนน้อยกว่าที่จ่ายจริงอันนี้จะทำให้เราเสียสิทธิ์รึปล่าว แล้วเราควรทำไงครับ?
ตอบ แล้วคุณมีความรู้สึกว่าเสียหายหรือเปล่าครับ? (อิอิ ทนายถามกลับ แต่ไม่ต้องตอบกลับมานะครับ..ฮา)
อย่างนี้ครับ ถ้านายจ้างแจ้งจำนวนเงินเดือนน้อยกว่าความเป็นจริง อย่างแรก นายจ้างผิดกฎหมายประกันสังคมแน่ๆ และอาจต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่กำหนด ส่วนลูกจ้างจะเสียสิทธิเกือบทุกอย่างเช่น เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย , ทุพพลภาพ , ว่างงาน , ชราภาพ ฯลฯ ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายตามยอดเงินที่ส่งเข้ากองทุน เมื่อส่งยอดเข้าไปน้อย ก็จะถูกคำนวณตามยอดที่ส่งไป ซึ่งคุณก็จะเสียสิทธิคือได้รับเงินน้อยกว่าที่ควรจะได้รับนั่นเอง ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ก็คือไปแจ้งที่สำนักงานประกันสังคมครับ

ทนายพร

572
การยักยอกทรัพย์เป็นความผิดอาญา และถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่เลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
จากคำถามนี้ ก็ถือว่าบริษัทก็ใจกว้างดีนะครับ และขอชื่นชมน้ำใจ ที่ไม่เอาเรื่องเอาราว แต่ก็ได้ดำเนินการด้วยการหักเงินคืนจนครบจำนวน (อิอิ)
จากคำถาม "ถ้าในอนาคตพนักงานท่านนี้ยักยอกอีก บริษัทฯ สามารถให้ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชย 10 เดือนได้หรือไม่?"

หากยักยอกอีกก็คือการทำผิดอาญาอีก และเป็นความผิดร้ายแรง อันเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ครับ

ส่วนจะทำหนังสือเตือนหรือภาคทัณฑ์หรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็น เพราะถ้ายักยอกก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้วครับ

ก็เตือนสำหรับลูกจ้างที่มีหน้าที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับเงินกับทองของนายจ้างก็อย่าได้เผลอใจไปเอาเงินเขามาใช้ส่วนตัวนะครับ มิเช่นนั้นท่านจะเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งตกงาน และอาจถึงต้องติดคุกนะครับ เตือนกันๆ..เป็นห่วงๆ...

ทนายพร


573
ระบบศาลแรงงานไทย ใช้ระบบไต่สวน (ระบบไต่สวนคือการที่ศาลแสวงหาพยานหลักฐานเอง ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ให้นึกถึงละครเรื่องเปาบุ้นจิ้น) ซึ่งศาลแรงงานบางศาลก็ใช้ระบบไต่สวน แต่บางศาลผู้พิพากษาท่านก็ให้คู่ความได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยเปิดโอกาสให้ทนายความซักถามพยานหรือซักค้านพยานอีกฝ่ายได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ สายป่านแต่ละคนไม่เท่ากัน นายจ้างย่อมมีอำนาจในการจ่ายในการจ้างทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือและต่อสู้คดี แต่ฝ่ายลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ย่อมที่จะเสียเปรียบเพราะไม่มีเงินที่จะไปว่าจ้างทนายให้ความช่วยเหลือและต่อสู้คดี ทำให้การเริ่มต้นคดีลูกจ้างมักจะเสียเปรียบ ที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือระบบและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมประเทศไทยครับ

อย่างไรก็ตาม หากประสงค์จะรู้ว่าค่าว่าจ้างทนายความนั้น กี่บาท? คงตอบไม่ได้อยู่ที่ความยากง่ายของคดีครับ ต้องนำเอกสารหลักฐานที่มีทั้งหมดมานั่งคุยกับทนายถึงจะได้คำตอบครับ รวมทั้งระยะทาง , ระยะเวลาในการต่อสู้คดี ก็เป็นส่วนประกอบในการกำหนดค่าจ้างว่าความด้วยครับ เอาเป็นว่าหากต้องการทนายให้ความช่วยเหลือจริงๆโทรมาคุยกันก่อนครับ

ทนายพร

574
ถามสั้นๆ แต่ถามเยอะ(ฮา) ประหนึ่งว่าจะนำไปตอบข้อสอบ แต่เป็นคำถามที่ดีมากครับ เพราะหลายคนไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายใดในการบังคับใช้ เพราะปัจจุบันมีการจ้างงานกันหลายลักษณะด้วยกัน อย่างเช่นคำถามที่ผู้ถามมานี้ ก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ต้องตีความครับ

เข้าเรื่องเลยดีกว่า...จากคำถามที่ถามมาทั้ง 5 ข้อ ทนายก็จะไขปัญหาเป็นข้อๆเพื่อให้หายสงสัยเลยนะครับ
 
คำถามข้อแรก ลูกจ้างเอกชนที่ทำงานแทนรัฐวิสาหกิจมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากรัฐวิสาหกิจหรือไม่?

ในคำถามนี้ต้องพิจารณาเป็น 2 ประเด็น คือ
 
ประเด็นที่ 1 ถ้าลูกจ้างบริษัทเอกชนที่มาทำงานแทนรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของลูกจ้าง มีสิทธิคัดเลือกลูกจ้างเข้าทำงาน ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้าง กำหนดเงื่อนไขการทำงาน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีสิทธิของเปลี่ยนตัวลูกจ้าง และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ถึงแม้ว่าบริษัทเอกชนจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างก็ตาม กรณีนี้จะถือว่า รัฐวิสาหกิจเป็นนายจ้างของลูกจ้าง จึงมีสิทธิได้รับสวัสดิการตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนดไว้
 
คำว่า “นายจ้าง” ตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้ระบุไว้ในมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ว่าหมายถึง รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้ และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย
 
ประเด็นที่ 2 ถ้ารัฐวิสาหกิจได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนมาทำงานแทนด้วยวิธีเหมาค่าแรง
 
ถ้าตอบตามหลักกฎหมายโดยตรง แม้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ประกอบกิจการ ก็ไม่ถือว่ารัฐวิสาหกิจเป็นนายจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543  เพราะจากนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่าไม่รวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการแทนรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด อีกทั้งในกฎหมายก็มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่ว่าจ้างด้วยวิธีการเหมาค่าแรงแต่อย่างใดด้วย
 
การจ้างเหมาค่าแรง ถูกอธิบายอยู่ในมาตรา 5 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แทน ใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ
 
(1) เป็นการมอบหมายให้บุคคลอื่นรับช่วงงานไปควบคุมและเหมาค่าแรง โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ
 
(2) เป็นการให้ผู้อื่นจัดหาลูกจ้างมาทำงานส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ โดยมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน
 
ซึ่งในมาตรา 4 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ระบุชัดว่า กฎหมายนี้ไม่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
 
ดังนั้นตามหลักการทางกฎหมาย จึงถือว่ารัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างบริษัทเอกชนผู้รับเหมาค่าแรงแห่งนั้น
 
แต่อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ เมื่อมีนาคม 2553 นายสมชาย ชุ่มรัตน์ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือกระทรวงแรงงาน ที่ รง 0507/ว 0339 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2553 (ค้นหาได้จาก Google) ถึงหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เรื่องการคุ้มครองแรงงานเหมาค่าแรงในหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
 
มีใจความสรุปว่า "สืบเนื่องจากการที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจมีการจ้างเหมาค่าแรงโดยให้เอกชนจัดหาคนเข้าไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด ในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจึงเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย อีกทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกรณีมีการจ้างงานในลักษณะดังกล่าวในหน่วยงานราชการระดับกรมและรัฐวิสาหกิจ ให้ประสานแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบ เพื่อดำเนินการตรวจคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมาย" หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจใดจ้างเหมาค่าแรงให้ปฎิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั่นเองครับ
 
คำถามที่ 2 และคำถามที่ 3 ที่ถามว่า เรามีนายจ้างกี่คน? ใครบ้างถือเป็นนายจ้างตามกฏหมาย?
ก็ตอบว่า มีนายจ้าง 2 คนในทางกฎหมาย คือ บริษัทเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงกับเรา กับ รัฐวิสาหกิจซึ่งถือเป็นนายจ้างในทางกฎหมาย 
 
คำถามที่ 4 เราเป็นพนักงานของที่ใด?
ก็ตอบว่า คุณเป็นพนักงานของบริษัทเอกชนเพราะเราได้สมัครงานโดยตรงกับ บ.แห่งนี้ แต่สวัสดิการที่ได้รับ บ.เอกชนต้องจัดให้เท่าเทียมกับภาครัฐวิสาหกิจ หรืออย่างน้อยต้องเป็นไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ระบุไว้
 
คำถามที่ 5 รัฐวิสาหกิจสามารถปรับเงินจากการที่เราทำงานผิดพลาดได้หรือไม่
เอาละซิ...คำถามนี้ชักเข้าตัว..อย่างนี้ครับ หากเราทำงานผิดพลาดและในสัญญาระหว่างบริษัทนายจ้างของคุณกับรัฐวิสาหกิจ มีข้อตกลงกันไว้ก็สามารถปรับเงินได้ ซึ่งผู้ที่จ่ายค่าปรับก็คือบริษัทนายจ้างคุณ หลังจากนั้น บริษัทนายจ้างคุณก็จะมาหักเงินจากคุณหากความผิดพลาดนั้นเกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดโดยตัวของคุณเอง เว้นแต่เป็นเรื่องสุดวิสัย คุณก็ไม่ต้องรับผิดในค่าปรับครับ สรุปก็คือ แล้วแต่ข้อตกลงที่ได้ทำสัญญาต่อกันไว้ครับ

ทนายพร

575
อืมม...เป็นเรื่่องในครอบครัวที่ลำบากใจพอสมควร เพราะอีกฝั่งก็ภรรยา และคู่กรณีก็เป็นน้องภรรยา ทำรุนแรงไปเดี๋ยวคุณแม่ยายมีสำสั่งเรียกลูกสาวเค้าคืนก็จะเป็นเรื่องอีก อิอิ อย่าคิดมากไม่อยากให้เครียดครับ  เอาเป็นว่าตอบตามคำถามเลยนะครับ

เรื่องมีอยู่ว่า เงินหายในบ้าน แล้วสงสัยว่าน้องเมียจะเป็นคนเอาไป จึงไปแจ้งความเพื่อหาคนผิด แต่ตำรวจก็เพิกเฉย
ข้อแนะนำก็คือ ให้ไปสอบถามที่โรงพักว่า คดีเรา ตำรวจคนใดเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อรู้แล้วก็เข้าไปถามไปพูดคุยถึงแนวทางการสืบสวนสอบสวน ซึ่งก็อาจจะได้ความกระจ่างและกรอบเวลาการทำงานก็ได้ครับ หรือหากตำรวจคนที่รับผิดชอบไม่สามารถให้คำตอบหรือสร้างความกระจ่างกับเราได้ ก็ให้ขอเข้าพบผู้กำกับสถานีตำรวจนั้นๆ เพื่อขอทราบความคืบหน้า หากผู้กำกับหรือหัวหน้ายังไม่สามารถให้คำถอบได้ก็แจ้งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือศูนย์ดำรงธรรม คดีของท่านก็จะรวดเร็วขึ้นครับ
หรือ หากอยากจะให้มีหลักฐานว่าได้มีการติดตามแล้ว ก็ให้ทำเป็นหนังสือไปสอบถามได้ครับ

ขอแนะนำของทนายก็คงจะมีประมาณนี้ครับ

ทนายพร

576
ขออภัยอย่างยิ่งด้วยภารกิจที่มากมาย ทำให้มาตอบช้ามาก ไม่แน่ใจว่าจะทันเวลาหรือไม่ อย่างไร

(1)  การทำงานของแรงงานข้ามชาติ จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นฉบับหลักๆที่ดูแลเรื่องนี้  ในกรณีงานก่อสร้างปัญหาที่พบตลอด คือ แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มี passport มีแค่บัตรสีชมพู จะต้องทำงานภายในพื้นที่เขต หรืออำเภอที่ขอขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติงานก่อสร้างต้องย้ายสถานที่ทำงานไปตามไซต์ก่อสร้างใหม่อยู่เรื่อย ๆ

ดังนั้นถ้าจะทำให้ถูกต้อง จะต้องไปขออนุญาตกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่นั้นๆอีกครั้ง ทำให้นายจ้างจึงมักหลีกเลี่ยงกลายเป็นข้อจำกัดว่าทำไมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายยังดำรงอยู่ และถูกตำรวจเข้าจับกุมอยู่บ่อยครั้ง

(2) นายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานข้ามชาติมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีโทษปรับ 1 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติ 1 คน ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานมีความผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 พัน ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่หากแรงงานต่างด้าวยอมกลับประเทศต้นทางภายใน 30 วัน ให้เจ้าหน้าที่ลงโทษปรับและส่งกลับประเทศต้นทาง

(3) ในกรณีที่เล่ามา ถือว่าผู้รับเหมาค่าแรงช่วง เป็นนายจ้างตัวจริงที่มีความผิดในการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แต่สำหรับวิศวกรที่ควบคุมโครงการ เนื่องจากไม่เห็นเอกสารที่แนบมา คาดว่าน่าจะเป็นคนเซ็นสัญญาจ้างผู้รับเหมาค่าแรงช่วง ทำให้ถือได้ว่าเป็นผู้กระทำการแทนนายจ้าง

ซึ่งตำรวจจะมองว่า เรารู้เห็นในลักษณะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในการให้บริษัทรับเหมาค่าแรงใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายร่วมด้วย ทำให้ตำรวจจึงเรียกวิศวกรในฐานะผู้กระทำการแทนนายจ้างในครั้งนี้ไปพบเพื่อสอบสวนเพิ่มเติมด้วย

โดยเป็นไปตามมาตรา 48 ในพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามหนังสือสอบถามหรือหนังสือเรียกหรือไม่ยอมให้ข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันควร จะถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท


เอาเป็นว่า ข้อแนะนำของทนายคือไปตามคำสั่งเรียก แล้วไปเจรจาความเพื่อหาทางออก และคราวหน้าก็จัดทำเอกสารหรือสัญญาจ้างผู้รับเหมาให้รัดกุมว่า ต้องไม่ทำแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายมาทำงานในไซด์งานของเรา ก็จะเป็นการป้องกันปัญหาในเบื้องต้นได้ครับ

ทนายพร

577
โหย..ต้องด่วนด้วยอ่ะ..ทนายรีบเข้ามาตอบให้เลยครับ
ดังนี้ครับ ข้อแรก คนต่างชาติ(หรือที่กฎหมายเรียกว่าบุคคลต่างด้าว) กระทำผิดกฏหมายไทยต้องรับโทษตามที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ เช่น คนต่างด้าวกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ก็คือการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย โดย "ผู้เสียหาย" ต้องไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินการพร้อมพยานหลักฐานอันเชื่อได้ว่า คนต่างด้าวกระทำความผิดจริง ซึ่งถ้าคนต่างด้าวกระทำความผิดจริง ตำรวจต้องรับแจ้งความแน่นอน หากไม่รับก็ให้จดชื่อ-สกุล ตำรวจคนนั้นไว้ เพราะถือว่าตำรวจคนดังกล่าวก็กำลังทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ครับ เว้นแต่ ผู้ที่ไปแจ้งความ ไม่ใช่ผู้เสียหาย ตำรวจก็จะไม่รับแจ้งครับ
ประเด็นต่อมา คนต่างด้าว ที่มีวีซ่ารหัส o (ในฐานะเป็นบุคคลในครัวเรือนหรือในความอุปการะ) นั้นสามารถที่จะทำงานอะไรได้บ้าง? มาดูกัน
กฎหมายไทยได้ออกข้อกำหนดห้ามบุคคลต่างด้าว(ไม่ว่าจะรหัสใด) ทำงานดังต่อไปนี้
     1. งานกรรมกร
     2. งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานงานควบคุมดูแลฟาร์ม
     3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น
     4. งานแกะสลักไม้
     5. งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ
     6. งานขายของหน้าร้าน
     7. งานขายทอดตลาด
     8. งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว
     9. งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย
   10. งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย
   11. งานทอผ้าด้วยมือ
   12. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่
   13. งานทำกระดาษสาด้วยมือ
   14. งานทำเครื่องเขิน
   15. งานทำเครื่องดนตรีไทย
   16. งานทำเครื่องถม
   17. งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก
   18. งานทำเครื่องลงหิน
   19. งานทำตุ๊กตาไทย
   20. งานทำที่นอนผ้าห่มนวม
   21. งานทำบาตร
   22. งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ
   23. งานทำพระพุทธรูป
   24. งานทำมีด
   25. งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า
   26. งานทำรองเท้า
   27. งานทำหมวก
   28. งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
   29. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ
   30. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ
   31. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
   32. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา
   33. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ
   34. งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว
   35. งานเร่ขายสินค้า
   36. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ
   37. งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ
   38. งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ
   39. งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี
 **หมายเหตุ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา)
ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ 1. งานกรรมกร และ 2. งานบ้าน

ทั้งหมดนี้ คนต่างด้าวทำงาน 39 ประเภทนี้ไม่ได้ ซึ่งการขายของก็อยู่ในอาชีพต้องห้ามครับ (แต่ก็เห็นคนต่างด้าวขายขอหน้าร้านกันเกลื่อนประเทศ..555++) เอาเป็นว่าฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันและบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัดด้วยก็จะดีต่อคนไทยนะครับ...หรือถ้าทำไม่ได้ก็ยกเลิกกฎหมายให้รู้แล้วรู้รอดไป...ฮา
ทนายพร

578
ต้องขออภัยที่ตอบช้านะครับ

เท่าที่เล่ามาก็น่าเห็นใจนะครับ แต่เมื่อเหตุมันเกิดแล้วก็ต้องแก้ไขกันไปนะครับ

ก่อนอื่น ทนายแนะนำให้ไปเขียนคำร้อง(คร.๗) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด กรณีมีสถานที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด หรือไปร้องที่สำนักงานเขต กรณีอยู่ในกรุงเทพ สามารถสืบค้นได้ที่นี่ครับ http://www.mol.go.th/anonymouse/labour_area โดยให้คุณไปเล่าเรื่องราวนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ฟัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการให้คุณได้รับสิทธิตามกฎหมายครับ หรือหากไปร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ให้โทรมาหาทนายตามเบอร์โทรในเว็บไซด์นี้อีกครั้งนะครับ

เข้าใจในความเดือดร้อนและทุกข์ยาก ก็ขอให้กำลังใจนะครับ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป

ทนายพร

579
แต่ใบสมัคร ลงท้ายว่าลูกจ้างจะไม่มีสิทธิ์เรียกตอบแทนจากนายจ้างได้? เป็นหนังสือลาออกหรือเปล่าครับ ที่มีข้อความดังกล่าวนี้??(ทนายงง ว่า ใบสมัครมีคำลงท้ายอย่างนี้ด้วยหรา..มีทำมัย? เพื่ออะไร?)

เอาเป็นว่า ข้อแนะนำสำหรับเครสนี้ก็คือ
๑. ทำงานต่อไปตามปกติ
๒. ไม่ต้องเขียนใบลาออก
๓. หากนายจ้างไม่พอใจให้นายจ้างทำหนังสือเลิกจ้างมา
๔. ถ้านายจ้างเลิกจ้างคุณจริง คุณมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย,ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยนับอายุงานต่อเนื่อง(๘ปี) ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลา ๗ ปี คุณได้เขียนใบลาออกก็ตาม

ทนายพร

580
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ไม่ต่อสัญญาจ้าง
« เมื่อ: ธันวาคม 30, 2016, 12:40:34 am »
ต้องขออภัยนะครับที่เข้ามาตอบช้า..(อิอิ..ช้าตลอดดดด)

เข้าเรื่องกันเลย..ก็พึ่งจะเคยได้ยินว่าลูกจ้างไม่อยากต่อสัญญาจ้าง ปกตินายจ้างจะเป็นฝ่ายปฎิเสธที่จะต่อสัญญาจึงเกิดเรื่องเกิดราวขึ้น แต่นี่เป็นกรณีกลับกัน...เอาละมาเข้าเรื่องตามที่ถามเลยดีกว่า

ข้อแรก ถามว่า “ลูกจ้างแจ้งว่าจะไม่ขอสัญญาต่อ นายจ้างไม่ยอมจะให้เขียนหนังสือลาออก จะรบกวนถามว่าควรเขียนไหม?” ก็ตอบว่า เมื่อเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาก็ไม่จำเป็นต้องเขียนใบลาออกแต่อย่างใดครับ

ข้อสอง ถามว่า “ถ้าเขียนแล้วจะมีข้อเสียเปรียบไหม หรือถ้าไม่เขียนแล้วนายจ้างบีบไม่ดำเนินการต่อแล้วให้หนังสือไล่ออกแทนจะได้ไหม?” ก็ตอบว่า ถ้าเขียนน่ะเสียเปรียบแน่ครับ เพราะคือการแสดงเจตนาของเลิกสัญญาจ้างโดยฝ่ายลูกจ้าง เมื่อเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยใจสมัคร ก็จะการสละสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจได้รับตามกฎหมายแรงงานครับ

ข้อต่อมา ถามว่า “มีคำแนะนำว่าควรดำเนินการอย่างไร?” ก็ให้ข้อสังเกตว่า ทำไม? นายจ้างจึงจะให้คุณเขียนใบลาออก? ก็เนื่องจากว่า บริษัทพยายามจะเลี่ยงกฎหมายในเรื่องอายุงาน และที่สำคัญบริษัทก็อยากจะให้คุณลาออกเอง ไม่ใช่บริษัทเลิกจ้าง เพราะถ้าบริษัทเลิกจ้างถึงแม้ว่าจะมีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาปีต่อปีก็ตาม กฎหมายมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ วรรคได้ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า งานประเภทใดบ้างที่สามารถจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาจ้างกันโดยกำหนดระยะเวลาไว้ หากมีการทำงานอันไม่ใช่ลักษณะที่กฎหมายอนุญาต หากมีการเลิกจ้างก็ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยครับ ส่วนข้อแนะนำก็แนะนำว่า ให้ไปหาอ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับล่าสุด) มาตรา ๑๗ , มาตรา ๑๑๘ ก็จะได้ประโยชน์ต่อผู้ถามครับ....

ทนายพร

581
ทนายอ่านแล้ว ขอตอบว่า ไม่เข้าใจคำถามครับ เหมือนมาเล่าให้ทนายฟัง(อิอิ)....ถามใหม่ๆ

แต่ถ้าให้เดา ก็ประมาณว่า ถูกตรวจพบสารเสพติด (ฉี่สีม่วง) บริษัทรู้เลยอยากจะไล่ออก ก็กลัวเสียเงินค่าชดเชย ประกอบกับบริษัทเข้าร่วมโครงการโรงงานสีขาว ก็เลยไม่อยากให้บริษัทเสียชื่อ จึงให้คุณไปเขียนใบลาออก ทุกอย่างจะได้จบๆไป คุณก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดีฐานเสพยาเสพติด โรงงานก็ยังโชว์ได้ว่า โรงงานฉันไม่มีพนักงานเสพยา ประมาณนี้

แต่ครั้นจะให้คุณเขียนเหตุผลจริงๆไปว่า ตรวจพบสารเสพติด ก็กระไรอยู่ มันก็จะไปขัดแย้งกับโล่ห์รางวัลที่บริษัทได้รับว่าเป็นโรงงานสีขาวปลอดยาเสพติด ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทก็คือ ให้คุณไปทำนา(ซะ) จะได้ไม่มีปัญหากับการเข้าร่วมโครงการ ก็เท่านั้น
แต่ถ้าคุณไม่คิดมากและเสพจริง ก็คงทำใจปล่อยๆไป หรือถ้าคุณคิดมาก ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะคุณไปเซ็นต์ใบลาออกไปซะแล้ว เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้

อนึ่ง เตือนไปยังพนักงานลูกจ้างทั้งหลายว่า การเสพยาบ้าหรือยาอี ไอซ์ เมื่อเสพ (ดูด,ดื่ม,ดม,ฉีด ฯลฯ) เข้าสู่ร่างกาย สารเสพติดเหล่านี้จะยังตกค้างอยู่ในร่างกายผู้เสพประมาณ ๒๐-๓๐ วัน และสามารถตรวจพบได้ (ตรวจฉีเป็นสีม่วง) ดังนั้น ก็อย่าชะล่าใจว่า เสพไปตั้งนานแล้ว คงตรวจไม่พบ หากคิดอย่างนี้ คุณคิดผิดครับ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคืออย่าไปยุ่งกับมันเลยดีกว่าครับ ไปซื้อน้ำแร่ธรรมชาติมาเสพดีกว่าครับ..อร่อยๆ..เชื่อทนายเถอะ..ฟันธง

ทนายพร

582
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: โดนทำร้ายร่างกาย
« เมื่อ: ธันวาคม 11, 2016, 10:54:35 am »
ก็น่าเห็นใจนะครับ

แต่ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนครับว่า "ทะเลาะวิวาท" กับ "ทำร้ายร่างกาย" มันคนละเรื่องกันเลยนะครับ

อันว่าทะเลาะวิวาท หมายถึง การสมัครใจเข้าโต้เถียงกันด้วยวาจา  การด่าทอกันไปมาระหว่างคู่วิวาท หรืออาจมีการลงไม้ลงมือต่อกัน ไม่สำคัญว่าฝ่ายใดจะเริ่มก่อน เช่นนี้ถือเป็นการทะเลาะวิวาทแล้วครับ

ส่วนทำร้ายร่างกาย หมายถึง  การกระทำของบุคคล คนหนึ่งได้กระทำต่ออีกคนหนึ่ง ถึงขั้นที่ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งจะเห็นว่า ผู้ถูกทำร้ายไม่ได้มีการตอบโต้ กรณีอย่างนี้ เรียกว่าทำร้ายร่างกายครับ

ประเด็นต่อไปคือ ต้องพิจารณาว่า กรณีของคุณนั้นเข้าเหตุทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร้างกาย เมื่อได้ข้อยุติแล้ว ก็ไปเปิด "ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน" ว่า กรณีทะเลาะวิวาท มีโทษทางวินัยสถานใด หรือ การทำร้ายร่างกาย จะได้รับโทษทางวินัยหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูที่ข้อบังคับฯเป็นสำคัญครับ

และหากจับยามสามตาแล้วเห็นว่าเราเป็นฝ่ายถูกทำร้าย แต่บริษัทกลับมาเลิกจ้างเราโดยที่เราไม่ได้ทำผิด คุณก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายได้ เช่น เรียกเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ทนายพร

583
เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าอันนี้ทนายตอบไม่ได้ครับ
แต่ประเด็นก็คือ การให้ลาออกแล้วสมัครใหม่ เป็นการเลี่ยงข้อกฎหมายของนายจ้างเพื่อเอาเปรียบลูกจ้างเรื่องอายุงานครับ
และที่สำคัญการเขียนใบลาออกแล้วไปเขียนใบสมัครใหม่ นี่คือการขอยุตินิติสัมพันธ์ของฝ่ายลูกจ้างต่อนายจ้างเอง ซึ่งส่งผลให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรจะได้รับสูญสิ้นไปด้วยครับ
ทนายพร

584
เบื้องต้นแนะนำว่า ให้สอบถามบริษัทให้แน่ชัดว่า "ไม่ให้เรามาทำงานแล้ว" หากเป็นไปได้ก็บันทึกเสียงไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน

หรือหากไม่สามารถทำได้ก็พยายามหาเพื่อนที่ไว้ใจได้ ไปร่วมฟังด้วย ทั้งนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่า หัวหน้าที่มาบอกเรานั้น เป็นหัวหน้าระดับใหน เป็นตัวแทนนายจ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าจะให้ชัวร์ก็ไปถามผู้มีอำนาจสูงสุดเลยครับ

หากบริษัทยืนยันว่า ไม่ต้องมาทำงานแล้ว และยินยอมจ่ายค่าจ้างจนครบสัญญา อย่างนี้ คุณก็ไม่ต้องไปทำงานแล้วครับ และที่สำคัญอย่าไปเซ็นต์เอกสารใดๆที่ระบุข้อความประมาณว่า "จะไม่ติดใจเรียกร้องเงินจากบริษัทอีก" มิเช่นนั้น ทุกอย่างก็จบนะครับ

เอาเป็นว่าโทรมาครับ เบอร์โทรทนายก็อยู่ในเว็บไซด์นี้แหละครับ...

ทนายพร

585
ต้องขออภัยที่ตอบช้านะครับ เข้าใจว่า คงจะรอคำตอบจากทนายอยู่ และถือโอกาสนี้แจ้งทุกท่านว่า หากต้องการข้อแนะนำในเรื่องที่เร่งด่วน หรือมีความรู้นึกร้อนใจ ก็สามารถโทรสอบถามได้เลยนะครับ ถ้าโทรมาแล้วทนายไม่ได้รับสายก็จะโทรกลับเองครับ

เอาละ ทีนี้ก็มาดูกันว่าเครสอย่างนี้ในทางกฎหมายมีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยหรือไม่ อย่างไร

เท่าที่ได้รับรายละเอียดเพิ่ม สรุปได้ว่า บริษัทได้ทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไว้สามปี และก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้าง (๑๖ มกราคม ๖๐) บริษัทก็แจ้งว่าไม่ต่อสัญญาโดยให้เหตุผลว่าไม่ผ่านการทดลองงาน ซึ่งลักษณะการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันแจ้งสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างก็ทำในลักษณะเดียวกันไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแต่อย่างใด ประมาณนี้

ซึ่งก่อนอื่นต้องมาดูข้อกฎหมายก่อนว่า การทำสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างสามารถทำได้หรือไม่ และมีเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างไร

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ ได้บัญญัติว่า “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า...” แสดงว่า นายจ้างสามารถทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาได้...

และมาตรา ๑๑๘ ได้บัญญัติว่า วรรคสอง “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น”

และวรรคสามบัญญัติว่า “การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง” วรรคนี้ หมายความว่า กฎหมายให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน "สอง" ปี และงานนั้น ต้องเป็นงานโครงการหรืองานที่ต้องทำตามฤดูกาล เช่น เก็บผลไม้ เป็นต้น

ดังนั้น การที่บริษัทเลิกจ้างคุณจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ (๓) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน...

นอกจากนั้นแล้ว จากการพิจารณาเหตุผลในการบอกเลิกจ้างคุณว่าไม่ผ่านการทดลองงานนี่ก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้ง ซึ่งการทดลองงานนั้นต้องไม่เกิน 119 วัน แต่นี่สามปี ไม่สมเหตุสมผลครับ ซึ่งประเด็นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งสามารถฟ้องศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ

ทนายพร

หน้า: 1 ... 37 38 [39] 40 41 ... 50