30/04/24 - 11:08 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 38 39 [40] 41 42 ... 50
586
ต้องขออภัยด้วยนะครับที่ตอบช้า เห็นความตั้งใจในการเขียนเล่าเหตุการณ์อย่างยาวก็พอจะเข้าใจได้ว่ามีความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง และกำลังคิดหาทางออกว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด และก็ขอให้กำลังใจให้สู้ต่อไปนะครับ

จากคำถาม “อยากทราบว่าทางทนายพร มองเคสนี้เป็นอย่างไร  ว่าเป็นกรณีเลือกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ ”

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” หมายความว่าอย่างไร

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หมายถึง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำผิดหรือไม่มีเหตุผลสมควร เช่น เลิกจ้างโดยอ้างเหตุขาดทุนแต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ขาดทุนจริง , เลิกจ้างโดยอ้างเหตุคัดคนออกโดยไม่มีหลักเกณฑ์ , เลิกจ้างในข้อหาหมั่นไส้ หรือ ไม่สามารถหาเหตุผลมาเลิกจ้าง อย่างนี้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ

เครสนี้ ทนายมองว่า ก้ำกึ่งครับ ทั้งนี้ต้องดูที่พยานหลักฐานเป็นสำคัญครับ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การทำหนังสือลาออกที่ยังไม่ได้ลงวันที่ มีผลในทางกฎหมายหรือยัง และการที่หัวหน้าแจ้งต่อลูกจ้างว่าไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไปแล้ว ถือว่าเป็นการบอกเลิกจ้างตามกฎหมายแล้วหรือยัง ซึ่งทั้งสองประเด็นต่างก็มีข้อโต้แย้งที่ยังหาข้อยุติในชั้นนี้ไม่ได้ คงต้องหาคนกลางมาตัดสิน นั่นก็คือการฟ้องต่อศาล หากเป็นว่าลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเครสนี้ ก็น่าสนใจ แต่อาจจะไม่ถึงต้องมีคำพิพากษาก็เป็นได้ เนื่องจาก กระบวนการพิจารณาคดีแรงงานนั้น จะใช้ระบบไต่สวนและให้น้ำหนักกับการไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน ซึ่งหากตกลงกันได้ คดีจบกันไป หากตกลงกันไม่ได้ก็สืบพยานกันต่อไป ซึ่งกรณีของคุณนี้ อาจจะยกเรื่องการรับปากรับคำที่จะให้เงินพิเศษจึงยอมเขียนใบลาออก ดังนั้น ข้อแนะนำก็คือ ควรไปเรียกร้องสิทธิ์ที่ศาลเลยครับ ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

587
ก่อนที่จะตอบคำถาม ขอถามก่อนว่า ที่เซ็นต์เอกสารไป ๒ ฉบับอ่ะ...คือเอกสารอะไรครับ?

ที่ถามเพราะเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ซึ่งจะนำมาประกอบการให้คำแนะนำและวิเคราะห์ในเบื้องต้นครับ
อย่างไรก็ตาม ขอตอบตามคำถามแบบงงๆ แต่มีสติ ว่า

“1.หนูมีสิทธิ์ได้ค่าชดเชยไหมคะ” ตอบ ถ้าหนู่ไม่ไปเซ็นต์ใบลาออกเอง ก็ยังพอมีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่ทั้งนี้ต้องดูก่อนว่า การเซ็นต์สัญญาปีต่อปีของนายจ้างนั้น มีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากมีการเซ็นต์สัญญาจ้างต่อกันโดยลักษณะการทำงานเป็นแบบเดิมๆ ติดต่อกันไปโดยไม่ขาดช่วงก็ถือว่านายจ้างมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่ทั้งนี้ต้องดูเอกสารสัญญาจ้างและเอกสารที่หนูเซ็นต์ก่อนนะครับ ในชั้นนี้ ยังไม่ฟันธงครับ!

“2. ถ้ามีสิทธิ์ได้ แล้วเขาไม่ยอมจ่าย หนูต้องทำยังไงต่อไป” ตอบ ถ้าไม่จ่ายก็ต้องไปเรียกร้องสิทธิ ซึ่งก็มีอยู่ ๒ ช่องทางหลักๆ ก็คือ ๑. ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คำร้อง คร.๗) ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่หนูทำงานอยู่ กรณีที่เป็นต่างจังหวัด หรือสำนักงานเขตหากอยู่ในกรุงเทพ หรือ ๒. ไปฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินตามสิทธิที่ลูกจ้างได้รับครับ

ทนายพร

588
ขออภัยที่ตอบช้านะครับ ทนายติดภารกิจเยอะจริงในช่วงนี้ครับ

อย่างไรก็ตาม จากคำถาม ทนายก็ให้คำแนะนำว่า ถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องรับผิดครับ และขอให้พึงระลึกเสมอว่า การสร้างหลักฐานเท็จอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้ และสืบไปสืบมาก็ย่อมมีพิรุจอยู่แล้ว ก็ขอให้หาทนายที่เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือก็จะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีครับ

 หากเป็นกรณีกลับกัน ถ้าทำผิดจริง ก็รับสารภาพ โทษหนักก็จะได้เป็นเบาครับ

ทนายพร

589
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ชาวต่างชาติ สอนภาษา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2016, 09:36:29 am »
ต้องขออภัยด้วยครับที่ตอบช้ามาก ด้วยภารกิจที่เร่งด่วนต้องจัดการ คดีความ การให้คำปรึกษาคำแนะนำ การร่างคำฟ้องคดีต่างๆ ตลอดจนเรื่องการศึกษา

โดยหลักการทั่วไปแล้วการทำงานของคนต่างชาติในประเทศไทย ต้องมีใบอนุญาตทำงานหรือที่เรียกว่า  work permit 

ดังนั้นชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยต้องยื่นขอการเปลี่ยนแปลงวีซ่าประเภทการลงตราเป็น Non-Immigrant Visa ''B'' หรือวีซ่าประเภทธุรกิจ และเมื่อทำการเปลี่ยนลงตราเรียบร้อยแล้วนั้น ให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน หรือ work permit มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำงานในราชอาณาจักรไทยได้

โดยสามารถยื่นขอเองได้ทีกรมจัดหางานกระทรวงแรงงาน ภายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่ได้เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ตามกฎหมายที่ให้พำนักอยู่ได้ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีคนต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่มาช่วยสอนภาษาอังกฤษแบบไม่ใช่เชิงธุรกิจหรือเป็นงานประจำ แต่เป็นลักษณะการไหว้วานช่วยเหลือในฐานะเพื่อน ตราบใดที่การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เชิงธุรกิจหารายได้ ไม่ได้สอนในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ยังคงสามารถสอนในลักษณะงานจิตอาสาหรืองานอาสาสมัครได้ต่อไปครับ


590
ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับที่ได้รับชัยชนะ
ส่วนการขอรับเงินที่ที่วางค้ำประกัน (เข้าใจว่าวางไว้ต่อศาลนะครับ) นั้น เมื่อศาลฏีกามีคำพิพากษาแล้วก็ยื่นคำแถลงขอรับเงินได้ทันทีเลยครับ ถ้าศาลอนุญาตก็สามารถรับเงินได้เลยครับ
ทนายพร

591
ในทางกฎหมาย การที่จะเป็นสามี-ภรรยากันได้ ต้องมีหลักฐานทางทะเบียน นั่นก็คือทะเบียนสมรสนั่นเอง

กรณีของคุณนั้น ในทางกฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นสามี-ภรรยา กันนะครับ

ถึงแม้ข้อเท็จจริงคุณจะอยู่กินด้วยกันฉันสามี-ภรรยากันมานานอย่างไรก็ตาม ก็มีสถานะเพียง "คู่ชีวิต" แต่ไม่สามารถเป็น "คู่สมรส" ได้นะครับ

เมื่อไม่ได้เป็นสามี-ภรรยากัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปมีคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบที่จะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากชายหรือหญิงที่ไปมีชู้

หรือเอาตรงๆ ก็ ฟ้องไม่ได้ครับ

สิ่งที่จะทำได้คือ.....อืมมม....เมื่อใจไม่อยู่แล้วก็ปล่อยไปตามเวรตามกรรมของแต่ละคนไปครับ (ข้อแนะนำจะออกสายบู้ไปหน่อยป่ะเนี๊ยะ)

ส่วนทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินด้วยกันก็แบ่งกันคนละครึ่ง ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสอันจะทำให้ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เป็น "สินสมรส" แต่ก็อยู่ในฐานะ "หุ้นส่วนชีวิต"  ก็สามารถแบ่งทรัพย์สินได้ 

แล้วก้าวไปข้างหน้า ตามล่าหารักแท้ต่อไปครับ ขอให้โชคดี ให้กำลังใจครับ ...

ทนายพร

592
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: สลิปเงินเดือน
« เมื่อ: กันยายน 15, 2016, 01:28:59 am »
ตอบแบบฟันธงเลยครับ....สลิปคาร์บอน

โดยปกติแล้วเวลาจะไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เอกสารสำคัญประการหนึ่งก็คือหลักฐานแสดงรายได้ ซึ่งหากเป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือเป็นข้าราชการก็ดี ก็จะต้องมีหลักฐานการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งหลักฐานการจ่ายเงินดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสลิปคาร์บอนนี่แหละครับ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงถึงที่มาของรายได้และรายการหักจ่ายของเราในแต่ละเดือนครับ

ทนายพร

593
จะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวข้อง , เกี่ยวเนื่องกับการทำงานหรือไม่ หากเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งนั้นก็บังคับได้และถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากไม่เกี่ยวข้องกันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ถึงแม้จะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ไม่ทำให้คำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว ลูกจ้างจึงไม่มีความผิดที่ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งนั้น

และจากเรื่องราวที่ได้เล่ามาว่า เดิมใช้บัตรเครดิตส่วนตัว นำไปรูดใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการปฎิบัติงานและในทางส่วนตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาใด สามารถเบิกจ่ายได้ ต่อมา บริษัทเห็นว่า เพื่อให้การบริหารทางการเงินของบริษัทมีความสะดวกและพนักงานจะได้ระยะเวลาเครดิตยาวนานขึ้น จึงให้พนักงานไปทำบัตรเครดิตเพิ่มอีกหนึ่งใบ โดยทำบัตรเครดิตกับธนาคารที่บริษัทกำหนด (อืมมม...มีค่าคอมมิชชั่นหาสมาชิกทำบัตรด้วยนะเนี๊ยะ) หากพนักงานปฎเสธก็จะไม่อนุมัติให้เบิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตส่วนตัว แล้วถามว่า ถ้าไม่ทำจะถูกใบเตือนอันนำไปสู่การเลิกจ้างมั๊ย?

อย่างนี้ครับ ประเด็นแรกต้องพิจารณาจากข้อกฎหมายตามข้อความด้านบนก่อน ว่าคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวข้อง , เกี่ยวเนื่องกับการทำงานหรือไม่ ซึ่งจากข้อเท็จจริงก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับการปฎิบัติงานเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม หากคำสั่งดังกล่าวที่ให้พนักงานไปทำบัตรเครดิตนั้น พนักงานต้องเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายต่างๆในการทำบัตร อย่างนี้ก็มีเหตุที่จะปฎิเสธได้ครับ

และที่สำคัญ การที่พนักงานไปปฎิบัติงานให้กับบริษัทและเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นแล้ว บริษัทจะปฎิเสธไม่จ่ายเงินคืนให้กับพนักงานไม่ได้

ดังนั้น หากมีค่าใช้จ่ายในการสมัครบัตรเครดิตพนักงานสามารถปฏิเสธการสมัครบัตรเครดิตนั้นได้ แต่ถ้าบริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และกำหนดให้พนักงานใช้บัตรเครดิตที่กำหนดธนาคารไว้เพื่อใช้จ่ายเฉพาะเกี่ยวกับการปฎิบัติงาน ก็ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ปฎิบัติตามอาจเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทางบริษัทก็สามารถออกใบเตือนได้ด้วยเช่นกันครับ
 
ส่วนข้อแนะนำคือ หากเห็นว่าเป็นภาระกับเราและไม่เป็นธรรมก็ไม่ต้องทำ และเมื่อบริษัทมีหนังสือเตือนมาก็ค่อยไปทำตามคำสั่งนั้น แล้วใช้สิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนหนังสือเตือนฉบับนั้นเสีย แต่คำถามต่อไปคือ เมื่อมีข้อขัดแย้งแล้วตัวพนักงานจะทำงานได้อย่างสบายใจเหมือนเดิมหรือเปล่า ประเด็นนี้ต้องชั่งตวงวัดให้ดีนะครับ 

ทนายพร

594
มีสองทางเลือกครับ

ทางเลือกที่ ๑ ยื่นคำร้องต่อพนักงาตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ๆคุณทำงานอยู่ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างต้องจ่ายครับ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการวินิจฉัยประมาณ ๖๐ วันครับ

ทางเลือกที่ ๒ ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน โดยในการพิจารณาก็อาจจะใช้ระยะเวลาพอสมควร ตั้งแต่ ๖ เดือน จนถึง ๕ ปี ครับ

ทนายพร

595
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ขับรถชนคนตาย
« เมื่อ: กันยายน 02, 2016, 04:21:24 pm »
 ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนเลยนะครับ ซึ่งอุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก้ไขปัญหาต่อไป
จากคำถาม ใครจะต้องเป็นคนจ่าย?

อย่างนี้ครับ ประเด็นแรกต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด หรือเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า คุณขับรถด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้ว และคนทั่วไปถ้ามาเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องชนคนนั้นเหมือนกัน กรณีอย่างนี้ก็ยกเป็นข้อต่อสู้ได้ครับ แต่อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายสันนิฐานว่าคุณขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตครับ

ประเด็นต่อมา ใครเป็นต้องจ่าย กรณีอย่างนี้ ถือว่าลูกจ้างทำงานให้นายจ้าง นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกจ้างด้วย  โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425    ได้บัญญัติไว้ว่า "นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น"
นอกจานี้แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ยังได้บัญญํติต่อไปอีกว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น หรือในทางกฎหมายเขาเรียกว่า นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ย ล่ะครับ
สรุปก็คือ ในการจ่ายเงินให้กับผู้เสียหายหรือคนตาย นายจ้างกับลูกจ้างต้องร่วมกันรับผิดชอบ และถ้านายจ้างเป็นผู้จ่ายไปเต็มจำนวนก็มีสิทธิไล่เบี้ยกับกับลูกจ้างได้ เว้นแต่ต่อสู้ตามประเด็นแรกคือเป็นเหตุสุดวิสัยครับ

และกรณีที่พนักงานสอบสวนเรียกไปก็ไม่ต้องหลบหนีครับ ให้ไปพบพนักงานสอบสวนและให้ปากคำและยกเหตุเรื่องสุดวิสัย ท้ายที่สุดพนักงานสอบสวนอาจจะมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ได้นะครับ ซึ่งจะเป็นผลดีกับคุณและนายจ้างอย่างที่สุดครับ

ทนายพร


596
ถามมาเป็นข้อก็จะตอบเป็นข้อเลยครับ...

ตอบข้อ ๑. ปกติการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆก็สามารถมอบอำนาจตัวแทนให้กระทำได้ โดยต้องทำหนังสือมอบอำนาจและติดอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง โดยถ้ามอบให้จัดการสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ติดอากรแสตมป์ ๑๐ บาท แต่ถ้ามอบให้จัดการมากกว่านั้น ก็ติดอากรแสตมป์ ๓๐ บาทครับ โดยถ้าคุณจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำแทนก็ต้องทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนทั้งผู้มอบอำนาจและรับมอบไปให้เรียบร้อยเพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นแล้วครับ

ตอบข้อ ๒. อืม...ทนายก็ไม่รู้สินะ..ว่าให้ทำเรื่องต่อทำมัย..!! เอาเป็นว่าข้อนี้เดาเอาละกันครับว่า เนื่องจากการทำสัญญาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์โดยฝ่ายขายหรือเจ้าหน้าที่การตลาด พอส่งเรื่อง( App ) เข้าไปที่สำนักงานใหญ่เพื่อขออนุมัติ แต่เห็นเอกสารไม่ถูกต้องไม่ได้ลงวันที่, เซ็นต์ไม่ครบ หรือ ฯลฯ สำนักงานใหญ่จึงให้ฝ่ายขายมาดำเนินการให้ถูกต้อง เค้าจึงโทรหาคุณงัย เพื่อจัดทำให้ถูกต้องจะได้ไม่โดนตำหนิจากเจ้านาย...ประมาณนี้มั๊ง...

ตอบข้อ ๓. ไม่ถือเป็นลักทรัพย์หรอกครับ เพียงแต่คุณก็จะถูกเรียกทรัพย์คืน ผมว่าทางออกเรื่องนี้ไม่ยากครับ คุณอาจนัดหมายวัน,เวลาที่ตรงกันระหว่างคุณกับฝ่ายขายเพื่อมาเซ็นต์สัญญากันใหม่ หรือถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็นัดซะคนละครึ่งทาง ก็จะได้สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย หาไม่แล้ว ฝ่ายขายอาจถูกให้ออกจากงานฐานปฎิบัติหน้าที่บกพร่องซึ่งก็คงจะสร้างความไม่สบายใจให้กับคุณไม่น้อย(ทนายเดาเอานะ) และคุณก็จะไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่ซื้อไปเพราะอาจถูกเรียกทรัพย์คืน ซึ่งฝ่ายขายก็คงไม่สบายใจที่ไม่ได้ขายของให้คุณและไม่ได้ค่าคอมมิชชั่น(ทนายเดาเอานะ..อิอิ)

ทนายตอบตามที่ถามมาเป็นข้อๆทั้งข้อกฎหมายและข้อคิดเห็นแล้วนะครับ ผิดถูกอย่างไรก็ไตร่ตรองเอาที่สบายใจครับ

ทนายพร

597
อ๊ะ..เริ่มเห็นเค้ารางว่าจะเป็นสัญญาจ้างแรงงานละทีนี้..

อย่างนี้ครับ..ถ้าองค์ประกอบมีการบังคับบัญชา และมีการจ่ายเงินให้จำนวนแน่นอน (เงินการันตี) และหากขายได้ก็จะได้ค่าคอมมิชชั่น กรณีอย่างนี้ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เพราะการจ่ายเงินก็เพื่อตอบแทนการทำงาน เคราะห์ซ้ำกรรมหนัก ถ้าเงินที่การันตีที่จ่ายนั้น น้อยกว่าวันละสามร้อยบาท ก็จะผิดกฎหมายเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกดอกด้วยนะครับคราวนี้

ถ้าถามว่าจะเอางัยดี.....อืมมม...

ก็ต้องตอบว่า ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายก็สิ้นเรื่องครับ

หมายความว่า

หากจะเป็นจ้างแรงงาน ก็กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เงื่อนไขการทำงาน วันเวลาทำงาน ค่าจ้าง ฯลฯ ให้เป็นเรื่องเป็นราว เพียงเท่านี้ก็จะสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

หรือหากจะให้เป็นสัญญาจ้างทำของ ถ้าลูกจ้างไม่ซีเรียส (จริงป่ะ) ก็จะต้องผ่อนปรนเรื่องการบังคับบัญชาหรือการให้คุณให้โทษ แต่เป็นการขอร้องกันให้ช่วยกันทำยอด และเงินการันตีก็ต้องตัดออกไป เเต่ไปเพ่ิมเงินที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากลูกจ้างก่อนนะครับ

ซึ่งที่แนะนำทั้งสองช่องทางนี้ ถูกต้องตามกฎหมายแล้วครับ...ฟันนนนโธงงงงงง....

ทนายพร

598
ตอบ – สรุปก็คือ มีโรงงานผลิตแล้วไปตั้งบูทขายของตามที่ต่างๆ โดยคนขายก็ไปจ้างมาเป็นแม่ค้าโดยแบ่งส่วนแบ่งจากการขาย
ต้องทำความเข้าใจเรื่องสัญญาก่อนว่า ในเรื่องแรงงานนั้น มีสัญญาอยู่สองประเภทคือ “จ้างแรงงาน” กับ “จ้างทำของ”

จ้างแรงงาน สาระสำคัญคือ ต้องมี “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง” และต้องมีการจ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงาน โดนไม่ต้องพิจารณาจากผลสำเร็จของงาน และนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาหรือลงโทษทางวินัยได้หากลูกจ้างกระทำผิดโดยอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและกฎหมายแรงงาน

ส่วนสัญญาจ้างทำของ จะมี “ผู้ว่าจ้าง “ และ “ผู้รับจ้าง” ถ้าให้อธิบายแบบชาวบ้านก็คือ คนรับจ้างทั่วไป เช่น เหมารถ , จ้างซ่อมรถ , จ้างทำบ้าน ฯลฯ โดยสัญญาลักษณะนี้จะดูที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และส่วนใหญ่แล้วจะจ่ายค่าจ้างตอนงานเสร็จ หรือจะจ่ายตามที่ตกลงกัน ที่สำคัญ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชานั้นเอง และผู้รับจ้างไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่จะอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชครับ

ตอบคำถามเลย
ถ้าไม่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างแต่จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ขายได้ ก็จะเป็นสัญญาจ้างทำของครับ แต่ถ้ามี การจ่ายค่าจ้างในจำนวนแน่นอน มีการลงเวลาทำงาน , ลาทุกประเภทต้องขออนุญาต และสามารถลงโทษได้กรณีที่ทำผิด ก็จะกลับกลายเป็นจ้างแรงงานทันทีครับ

ก็ลองไปพิจารณาเอาครับว่ากรณีของผู้ถามเข้าองค์ประกอบตามสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของครับ

ทนายพร


599
ตอบ ผู้ถามคงจะเป็นหัวหน้างานอ่ะนะครับ ดูจากสำนวนที่เขียนถามมาก็พอจะเดาได้ว่าคุณเป็นคนที่เห็นความอยุติธรรมไม่ค่อยได้ เจอคนที่ถูกกระทำแล้วอยากจะช่วยใจจะขาด อยากพูด อยากเถียง แต่ทำอะไรไม่ได้ คงจะประมาณนี้ ดีแล้วครับ ทำดีต่อไป และใช้หลักบริหารการเป็นหัวหน้างานแบบพระคุณมากกว่าพระเดช วันต่อไปภายภาคหน้าลูกน้องจะรักท่านและทำงานให้ท่านแบบถวายหัวเลยอ่ะ.....(เยอะแระทนายยยยย!!!)

ตอบคำถามเลยดีกว่า...กรณีอย่างนี้เห็นได้ชัดว่านายจ้างไม่ผ่านโปร (probation) เนื่องจากนายจ้างไม่อยากจ้างเพราะไม่อยากเป็นภาระหรืออาจจะทำงานให้นายจ้างได้ไม่เต็มที่

ดังนั้น การที่นายจ้างอ้างว่าไม่ผ่านการทดลองงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้วเลิกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ครับ สามารถฟ้องศาลขอให้นายจ้างรับกลับไปทำงานหรือจะเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ

ซึ่งที่เล่ามานั้นก็น่าจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแต่ปัญหาของลูกจ้างที่จะไปเรียกร้องสิทธิในทางศาลก็คือหาพยานบุคคลค่อยข้างยาก แต่เครสนี้ไม่ยากครับ หลักฐานมันประจักษ์อยู่ทนโท่ และนายจ้างอาจจะถูกผู้พิพากษาดุเอาก็ได้ ฐานมีจิตใจ(เหี้ย ม ม ม ม ม) ไม่มีมนุษยธรรมอ่ะครับ

ในเบื้องต้นอย่าลืมให้ลูกจ้างใช้สิทธิรักษาด้วยกองทุนเงินทดแทนนะครับเพราะสิทธิประโยชน์จะได้มากกว่าสิทธิประกันสังคมและหากท้ายที่สุดต้องตัดอวัยะบางส่วนทิ้งไปก็จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนด้วยนะครับ และหากมีอะไรจะให้ช่วยเหลือติดต่อมาได้นะครับ เครสอย่างนี้พร้อมช่วยเต็มที่ครับ

ทนายพร


600
หยยยยย....กรณีอย่างนี้ศาลถือว่าทำความผิดซ้ำซากครับ และก็ยังดีนะครับที่ศาลปราณีให้ประกันตัวออกมา

ส่วนโทษที่จะได้รับนั้น ต้องดูว่า ยาบ้านั้น นำไปสกัดหาค่าของสารบริสุทธิ์ของสารแอมเฟตามีน แล้วนำไปเทียบกับข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งโทษจำคุกมีตั้งแต่หนึ่งปี จำคุกตลอดชีวิตและบางกรณีมีโทษถึงประหารชีวิตก็มีนะครับ

ดังนั้นทนายจึงตอบไม่ได้ว่าจะติดคุกกี่ปี ต้องอยู่ในการรับฟังพยานหลักฐานประกอบข้อกฎหมายและดุลพินิจของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีครับ

ส่วนประเด็นที่จะจะนับค่อมได้หรือไม่นั้น ผมว่าน่าจะยากอยู่นะครับ เพราะพนักงานอัยการคงจะบรรย้ายฟ้องและขอให้ศาลนับโทษต่อจากคดีก่อน แต่ถ้าพนักงานอัยการไม่ขอไปในคำฟ้องเพื่อขอให้นับโทษต่อก็พอมีโอกาสค่อมครับ

และถ้ามีโอกาสออกมาสู่สังคมอีกครั้งหนึ่งก็พึงตระหนักว่าอย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อีก เพราะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและผู้คนรอบข้าง และที่สำคัญยังสร้างความลำบากให้กับครอบครัวอย่างสุดจะบรรยายด้วยครับ ก็ขอให้กำลังใจและขอโชคดีนะครับ

ทนายพร


หน้า: 1 ... 38 39 [40] 41 42 ... 50