30/04/24 - 10:15 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 40 41 [42] 43 44 ... 50
616
ตั้งคำถามมาให้ทนายตอบงั้นทนายก็จะตอบตามคำถามเลยนะครับ...

บริษัทแจ้งยุบแผนก  มีเมล์แจ้งพนักงานทั้งบริษัทให้ทราบว่ายุบแผนก ได้ค่าชดเชยกี่เดือน ทำงานมา 20  ปี
ตอบ ค่าชดเชยคิดตามอายุงานครับ กรณีทำงานเกินกว่า 10 ปี จะได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 300 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ครับ

1.บริษัท หาแผนกใหม่ให้ไม่ได้  ถ้าให้ออก จะมีการให้ออกกี่วิธี (ลาออก , ให้ออก ) และ แต่ละวิธี จะได้เงินชดเชยกี่เดือนครับ
ตอบ โดยปกติถ้าไม่ประสงค์จะเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างกันแล้วทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิที่ขอเลิกสัญญาจ้างต่อกันได้ ซึ่งหากฝ่ายลูกจ้างเป็นฝ่ายขอเลิกสัญญาจ้าง จะเรียกว่า “ลาออก” ซึ่งกรณีนี้เป็นการเสนอของลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใดครับ แต่กรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายขอเลิกสัญญาจ้าง จะเรียกว่า “ให้ออก , ปลดออก , เลิกจ้าง หรือไล่ออก” ตามแต่จะเรียก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามอายุงานครับ และเวลานายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องแจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ด้วย หากหากเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลอันสมควรก็อาจจะเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้ซึ่งหากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ครับ

2.บริษัท  หา Project พิเศษ ให้ทำระยะสั้น ๆ  ถ้าผลงานไม่ได้ ถ้าให้ออกยังได้ค่าชดเชยหรือไม่ครับ
ตอบ ถ้าไม่ลาออกเองก็ยังได้ค่าชดเชยครับ

3 ถ้าอีก 2-3  เดือน มี Project ใหม่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนบีบให้ลาออก ถ้าไม่ทำต่อ  ให้ออก ยังได้ค่าชดเชยหรือเปล่าครับ 
ตอบ การเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่เป็นอำนาจการบริหารจัดการของนายจ้าง แต่ทั้งนี้ หน้าที่ใหม่ต้องไม่ต่ำกว่าเดิมหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าต้องเป็นคุณยิ่งกว่าเดิมหรือจะเท่าเดิมก็ได้ ส่วนถ้าเราทนไม่ไหวไปเขียนใบลาออก อันนี้ไม่ได้ค่าชดเชยละครับ

4  เงินประกันสังคม จะแจ้งเรื่องลักษณะไหนที่จะได้ชดเชย เยอะหน่อย ครับ
ตอบ อัยยะ..จะเอาเยอะๆเลยหราครับและคำถามก็คนละเรื่องเดียวกันเลยนะครับ อย่างนี้ครับโดยปกติผู้ประกันตน (ตัวเราอ่ะ) จะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ เจ็บป่วย , ทุพพลภาพ , ตาย , คลอดบุตร , สงเคราะห์บุตร , ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งกรณีว่างงานจะเกิดสิทธิได้ 2 ประเภท คือ หากเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกจะได้เงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน และหากเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยผู้ประกันตนไม่มีความผิด จะได้เงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือนครับ ทีนี้ก็รู้แล้วว่าอย่างไหนได้เยอะกว่ากัน ก็เลือกเอาที่สบายใจละกันครับ...(อิอิ) ส่วนค่าชดเชยกับเรื่องประกันสังคม มันไม่เกี่ยวกันครับ เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับครับ

หมายเหตุ   (อยู่ในสายงานขาย  มีเงินเดือน มีค่าคอมมิชั่น ค่าสึกหรอ ค่าน้ำมันรถบริษัทให้เป็นแบบใช้บัตรเครดิตควบคุม250 ลิตรต่อเดือน  )
ตอบหมายเหตุ – เงินเดือน คือค่าจ้าง , ค่าคอมมิชชั่นและค่าสึกหรอ ถ้าจ่ายเสมอๆ ประจำๆ และนายจ้างจ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อตอบแทนการทำงานก็คือค่าจ้าง แต่ถ้ามีเงื่อนไขการจ่าย ก็ไม่ใช่ค่าจ้างแต่เป็นสวัสดิการ และค่าน้ำมันรถ อันนี้ชัดเจนว่าเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างครับ ข้อนี้ถือว่าทนายแถมคำตอบให้อีกข้อละกันครับ
ขอให้โชคดีและเอาใจช่วยให้ได้ค่าชดเชยเยอะๆครับ


ทนายพร

617
ก็น่าเห็นใจคนที่อยู่ข้างหลังนะครับในเรื่องแบบนี้ และไม่รู้ว่าจะตอบได้ทันหรือเปล่า เพราะตัวทนายเองก็มีภารกิจมากแต่ก็จะหาเวลามาตอบคำถามด้วยตัวเองในทุกคำถามครับ

และจากคำถามที่ถามว่า “อยากทราบว่าศาลจะตัดสินโทษยังไงจะประกันตัวได้ไหมค่ะ?”

กรณีอย่างนี้ ถ้าให้ทนายตอบก็คงตอบอย่างชัดแจ้งไม่ได้ เนื่องจากทนายไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนครับ แต่พอจะคาดเดาได้ว่า ถ้าถูกจับอีกข้อหา “เสพ” อย่างเดียว ศาลอาจจะปราณี รอการลงโทษไว้ แต่ถ้า เป็น “มียาบ้าไว้ครอบครองเพื่อจำหน่วย และจำหน่าย (แบบมีสายสืบมาล่อซื้ออะไรประมาณนี้) อันนี้โทษหนักอยู่เหมือนกันนะครับ

และปัญหาของคุณอีกอย่าง คือ ไม่ไปรายงานตัว..ศาลจะถามว่าทำไมไม่ไป...ท่านก็ต้องเตรียมคำตอบไปด้วยนะครับ แต่ก็ขอให้ฟังแล้วน่าเชื่อว่ามีเหตุผลที่ดีที่ไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ แต่ถ้า ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ศาลนับโทษต่อแน่ครับ

ส่วนเรื่องการขอประกันตัวนั้น โดยปกติ การประกันตัว เป็น “สิทธิ” ของผู้ต้องหาที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ซึ่งการจะอนุญาตให้ประกันหรือไม่อยู่ในดุลพินิจของศาลครับ แต่ถ้าศาลไม่อนุญาต คงต้องหาทนายความช่วยเขียนคำร้องขอประกันตัวแล้วนำไปยื่นใหม่ก็ได้ครับ

ทนายพร

618
ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่า อะไรคือค่าจ้าง และอะไรคือสวัสดิการ!

ในเรื่องค่าจ้าง กฎหมายได้นิยามไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ว่า  “ค่าจ้างหมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวันรายสัปดาห์รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้”

เมือ่พิจารณาจากคำนิยามดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่า ค่าจ้างก็คือเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ซึ่งลักษณะการจ่ายเงินดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไข (องค์ประกอบมี 3 อย่าง คือ 1.เงินที่จ่ายให้เสมอๆ 2. เงินที่จ่ายให้ประจำๆ และ 3. เงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขในการจ่าย) ถ้าครบทั้ง 3 อย่างนี้ ถือเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมาคำนวนค่าชดเชยด้วย

เมื่อรู้ข้อกฎหมายแล้ว ก็มาดูว่า Job bonus เป็นค่าจ้างหรือไม่? ก็ต้องดูว่าเงินที่จ่ายเป็นค่า Job bonus นั้นบริษัทจ่ายแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ (เป็นรายละเอียด) ถ้าไม่มีเงื่อนไขอื่นใด ก็คือค่าจ้างตามความหมายของกฎหมายแล้วครับ

ทีนี้มาตอบคำถามกัน

1 หากบริษัทเลิกจ้าง แล้วจ่ายเงินชดเชยให้ผม 16000 บาทคูณด้วยระยะเวลาการทำงาน 8 ปี เท่ากับ 128000 บาท ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นธรรม ผมสามารถไม่เซ็นยอมรับแล้วฟ้องเพื่อเรียกเงินชดเชยที่เป็นธรรมโดยเอาเงินที่จ่ายรายวันมาคิดคำนวณรวมด้วยได้หรือไม่?

ตอบ  ถ้าเป็นค่าจ้างก็ต้องนำมาคิดคำนวนด้วย ถ้าบริษัท ไม่นำมาคำนวนก็สามารถฟ้องเรียกร้องสิทธิคืนได้ครับ

2 การที่บริษัทแจ้งว่า เงินที่จ่ายรายวันนั้นเป็นค่าคอมมิสชั่น หรือค่าอะไร ที่ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นเงินชดเชยนั้นได้หรือไม่?

ตอบ ตอบให้แล้วว่าอะไรคือค่าจ้างและอะไรคือค่าคอมมิสชั่น ถ้าเป็นค่าจ้างก็ต้องนำมาคำนวนด้วย ถ้าไม่ใช่ค่าจ้างโดยมีการจ่ายแบบมีเงื่อนไขก็เป็นสวัสดิการ ไม่ต้องนำมาคำนวนค่าล่วงเวลาหรือค่าชดเชยครับ

3 การลงไปทำงานกลางทะเล จะมีระยะเวลาการลงไปทำคราวละ 28 วัน มีเวลาพัก 14 หรือ 28 วันแต่ละเดือนอาจจะมีวันที่ลงไปทำงานไม่เท่ากันเช่น เดือนนี้ มีนาคม เดินทางไปทำงานวันที่ 15 มีนาคมก็จะมีวันทำงาน 17 วัน ในเดือน เมษาจะมีวันทำงาน 11 วัน จำนวนวันในแต่ละเดือนจะถูกนำไปคูณกับ 3700บาท  เงินที่จ่ายตามวันที่ลงไปทำงานตรงส่วนนี้ถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ครับ?

ตอบ งานที่เกี่ยวกับการทำงานกลางทะเล มีกฎหมายเฉพาะที่แตกต่างกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน นั้นก็คือประกาศกระทรวง (ฉบับที่ 7) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และประกาศกระทรวง(ฉบับที่ 13) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 แต่อย่างไรก็ตาม ตามประกาศกระทรวงก็ไม่ได้บัญญัติยกเว้นในเรื่องค่าจ้างไว้ จึงต้องยึดถือตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ครับ และในความเห็นของทนาย จากการเล่ามาหลายๆข้อ ก็น่าลุ้นครับว่ามันคือค่าจ้าง และถ้าจะให้ชัวร์ ก็ต้องตั้งเรื่องเพื่อให้ศาลแรงงานเป็นผู้ตัดสินครับว่าเงินค่า Job bonus นั้น คือค่าจ้างหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายและคงต้องสู้กันถึงฏีกาแน่ครับ

4 คู่สัญญาที่เซ็นตอนเริ่มงานทางบริษัทเก็บไว้โดยไม่ได้ให้ พนง. ถือคู่สัญญาไว้ ตรงส่วนนี้รายละเอียดในสัญญาจะทำให้เราเสียเปรียบมากน้อยขนาดไหนครับ หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม

ตอบ ถ้าสัญญาเขียนโดยไม่เป็นธรรมก็จะบังคับเท่าที่เป็นธรรม อีกทั้งถ้าเขียนไว้แล้วขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาดังกล่าวก็เป็นโมฆะ ครับ ส่วนจะเสียเปรียบมากน้อยนั้น ต้องขอพิจารณาจากสัญญาดังกล่าวได้ ในชั้นนี้ ทนายขอแนะนำว่า ควรจะไปขอสำเนาจากบริษัทมาศึกษาทางหนีทีไล่ไว้ก่อนครับ ถ้าบริษัทไม่ให้ ก็คงจะได้เห็นเมื่อตอนสืบพยานที่ศาลละครับ?

ทนายพร

619
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ลาออก
« เมื่อ: มีนาคม 15, 2016, 10:37:55 pm »
คุณสิริรัตน์ถามมา ทนายก็ตอบไป ตามนี้เลยครับ
๑.บริษัทจะหักค่าจ้างจำนวน 8 วันเป็นค่าชดเชย( ค่าชดเชยอะไรอ่ะ..ทนายงง...อ๋อ..น่าจะเป็นค่าเสียหายที่ออกก่อนกำหนดมั๊งงงงง) บริษัทำทำได้ป่าว?

 ตอบแบบ "ฟันธง"เลยว่า บริษัททำไม่ได้และบริษัทต้องจ่ายเงินค่าจ้างเท่ากับวันทำงานถึงวันสุดท้าย ในที่นี้ บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างให้คุณสิริรัตน์ จำนวน 15 วันครับ และบริษัทไม่มีสิทธิที่จะหักเป็นค่าชดเชยและไม่มีกฎหมายกำหนดให้นายจ้างสามารถที่จะหักค่าจ้างได้ นอกจากการหักตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ครับ
ส่วนการลาออกโดยไมได้แจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หากทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาหรือผิดระเบียบดังกล่าวได้ครับ แต่จะได้รับค่าเสียหายมากน้อยเพียงใดหรือไม่  ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงซึ่งศาลจะเป็นผู้กำหนดครับ

ส่วนข้อแนะนำก็คือ ไม่ต้องไปกังวลอะไร และบอกให้บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างให้กับเราที่หักเราไป 8 วันมาซะดีๆ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาก่อนว่า ที่เราลาออกก่อนกำหนดนั้น ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือเปล่า หากเสียพิจารณาแล้วเห็นว่าเสียหายก็ “นิ่งๆไว้ครับ” ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่ทำงานแห่งใหม่เพื่อความท้าทายใหม่ๆดีกว่าครับ
 
ทนายพร

620
ก่อนอื่นต้องมาดูข้อกฎหมายที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑  ความว่า

          “มาตรา ๑๒๐ ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสําคัญต่อการดํารงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทํางานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณีโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘ 
           (วรรค ๒) ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่าย
ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย
            (วรรค๓)ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญา”

   ก่อนที่จะตอบคำถามต้องเข้าใจก่อนว่า “ย้ายสถานประกอบกิจการ” หมายถึง การย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ โดยสถานประกอบกิจการเดิมได้ปิดตัวลง หรือไม่มีการผลิตหรือการทำงานในที่เดิมแล้ว จึงจะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา ๑๒๐ ครับ

   แต่หากบริษัทมีหลายสาขา และมีการโยกย้ายพนักงานไปยังสาขาที่บริษัทมีอยู่แต่เดิม กรณีเช่นนี้จะไม่ใช่การย้ายสถานประกอบกิจการครับ

เอาละ เมื่อได้รู้ข้อกฎหมายแล้วก็มาดูคำตอบเลย..

๑.   ดิฉันอยากสอบถามหากดิฉันไม่พร้อมใจจะย้ายไปตาม ดิฉันจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องชนะบริษัทได้หรือไม่
ตอบ ถ้าไม่อยากไปก็บอกเลิกสัญญากับบริษัทซะก่อน แล้วบอกให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยพิเศษให้กับเราตามมาตรา ๑๒๐ ครับ ถ้าไม่จ่าย ก็ไปร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการ ได้ครับ

๒.    จะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนหรือไม่ค่ะ
ตอบ ถ้าไม่ถูกหักก็จะได้รับเต็มจำนวนตามมาตรา ๑๑๘ ครับ

๓.   ดิฉันทำงานที่นี้มา 8 ปีกว่า บ้านดิฉันอยู่รังสิตคลอง 2 การจะมาทำงานที่ ณ ปัจจุบันนี้ก็รถติดจะแย่อยู่แล้ว  พอย้ายสถานที่ประกอบการใหม่เข้าไปในเส้นที่รถติดหนัก ทำให้ต้องตื่นเช้าและกลับถึงบ้านเย็นกว่าเดิม เสียสุขภาพจิตรถติด ค่าครองชีพก็สูงขึ้น  เฉพาะค่าทางด่วน/มอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นตกเดือนละ 3000บาท ซึ่งดิฉันไม่สมัครใจจะไปทำงานที่ใหม่ด้วยนี้ จะสามารถขอรับเงินชดเชยตามกฏหมายแรงงานได้หรือไม่?
ตอบ คำตอบเหมือนข้อ ๑ ครับ (โหยยย..ตอบสั้นไปป่ะ..อิอิ)

๔.   เพราะว่าบริษัทบอกว่าเขาจะจ่ายแค่ 50% ( คือตามกฏหมายที่อ่านมาดิฉันมีสิทธิ์รับ 8 เดือน แล้วบริษัทจะขอจ่ายแค่ 50% คือ 4 เดือน ) ดิฉํนเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทางบริษัทจริงบอกว่าให้ไปฟ้องรองเอากับกรมแรงงาน ซึ่งเขาก็พูดขู่ๆว่าจะเอา 50%นี่ หรือจะไปฟ้องร้องเอาซึ่งอาจจะไม่ได้อะไรเลย เขาพูดมาแบบนี้ดิฉันจึงสงสัยว่าถ้าถึงขั้นฟ้องร้องกันจริง ดิฉันมีสิทธ์ชนะและได้รับเงินเต็มจำนวน 8 เดือนหรือไม่คะ
ตอบ บริษัทคงจะไปดูกฎหมายเก่าแน่ๆเลย เนื่องจากมาตรา ๑๒๐ ได้ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ โดยก่อนหน้านี้ ได้กำหนดให้จ่ายเพียงร้อยละ ๕๐ แต่หลังจากปี พ.ศ.๒๕๕๑ ต้องจ่ายเต็มตามอายุงานตามมาตรา ๑๑๘ ครับ ส่วนคำขู่อื่นๆ ก็อย่าไปสนใจเลยครับ ใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการที่กระทรวงแรงงานหรือจะไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่บริษัทตั้งอยู่ หรือในเขตพื้นที่หากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ลองพูดคุยกันดีๆ เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วค่อนข้างที่จะใช้เวลานานครับ แต่ถ้าคุยแล้วไม่เข้าหูก็ลุยเลยครับ เพื่อรักษาสิทธิ์ของเราครับ จะร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการ หรือจะฟ้องศาลก็เลือกเอาตามสะดวกเลยครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร

621
ยินดีต้อนรับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์มาเรียนรู้กฎหมายแรงงานด้วยกันครับ...เป็นเรื่องที่ดีแล้วครับที่ไม่มั่นใจข้อกฎหมายก็ต้องศึกษาหาความรู้กันไป ทั้งจากตำรับตำรา หรือสอบถามแลกเปลี่ยนจากผู้รู้ทั้งหลาย เพราะไม่มีใครรู้มาตั้งแต่เกิด อยู่ที่ใครจะไฝ่รู้มากกว่ากันก็เท่านั้น...

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีก่อน (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวันลาพักร้อน) ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้เขียนไว้ดังนี้ครับ

มาตรา ๕ “วันหยุด” หมายความว่า วันที่กําหนดให้ลูกจ้างหยุดประจําสัปดาห์ หยุดตามประเพณีหรือหยุดพักผ่อนประจําปี

มาตรา ๓๐ ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจําปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทํางานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กําหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกําหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
ในปีต่อมานายจ้างอาจกําหนดวันหยุดพักผ่อนประจําปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทํางานก็ได้
นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
สําหรับลูกจ้างซึ่งทํางานยังไม่ครบหนึ่งปีนายจ้างอาจกําหนดวันหยุดพักผ่อนประจําปีให้แก่ลูกจ้างโดยคํานวณให้ตามส่วนก็ได้

ดังนั้น เมื่อรู้ข้อกฎหมายแล้วก็มาตอบคำถามกันเลย...

ขอตอบว่า...ถ้าจะให้ตอบว่าถูกก็ถูก ถ้าจะบอกว่าไม่ถูกก็ไม่ผิด..(ฮา)
อย่างนี้ครับ เนื่องจากกฎหมายบอกว่า “ให้นายจ้างเป็นผู้กําหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกําหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน” ก็จะเห็นว่านายจ้างสามารถเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้กับลูกจ้างได้ เช่น ให้หยุดเดือนละ ๑ วันทุกวันที่ ๑๖ (จะได้ไปลุ้นหวย) เมื่อลูกจ้างลาออกก่อนที่จะครบปีจึงไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีในเวลาที่ยังมาไม่ถึงครับ (ถ้าลูกจ้างอยากจะหยุดก็ต้องบอกให้ลูกจ้างทำงานต่อก็จะได้หยุดอ่ะนะ)

แต่ในทางกลับกันหากประเพณีที่ปฎิบัติกันมาอย่างนานนมว่า ถ้าลูกจ้างจะหยุดพักผ่อนประจำปี ก็ให้แจ้ง (หรือจะให้เขียนในใบลาก็ว่ากันไป) เมื่อนายจ้างอนุญาตก็หยุดได้ ดังนี้ ก็เป็นดุลพินิจของนายจ้างแล้วละครับว่า จะอนุมัติการลาหยุดงานให้หรือไม่ หากอนุญาตให้หยุดรวดเดียว ๑๒ วันเลย ก็ถือว่าเป็นพระคุณต่อลูกจ้างอย่างหาที่สุดไม่ได้ (อิอิ) แต่ถ้าไม่อนุญาตให้หยุดเลยก็จะใจจืดใจดำเกินไป อย่ากระนั้นเลยคิดให้ตามส่วนตามมาตรา ๓๐ วรรคสี่ ก็ได้ โดยคำนวณตามส่วนที่ทำงานมา เช่น ทำงานมา ๓ เดือนก็ให้เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน ๓ วัน อย่างนี้เป็นต้น ส่วนอีก ๙ วันก็ไม่จำต้องจ่ายเป็นเงินให้อีกเพราะบริษัทคิดตามส่วนในปีที่ทำงานนั่นเอง

ที่อธิบายมาทั้งหมดนั้น เป็นการตอบทั้ง ๒ ข้อแล้วนะครับ

อย่างไรก็ตาม ตามปกติการที่ลูกจ้างจะได้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายนั้น จะต้องทำงานมาครบ ๑ ปีเสียก่อนจึงจะมีสิทธิหยุดในปีถัดไป (เช่นเริ่มทำงาน ๑๕ มกราคม ๒๕๕๗ ครบ ๑ ปี เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๘ ลูกจ้างจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน ๖ วันตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป)
หรือหากเป็นกรณีที่นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้โดยไม่ต้องรอให้ครบปี กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไว้ โดยให้นายจ้างคำนวนให้ตามส่วนตามระยะเวลาที่ทำงาน เช่น เข้างานวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ในระหว่าง ๖ เดือนของปี ๒๕๕๘ นั้น ถ้านายจ้างให้สิทธิหยุดพักผ่อนปีละ ๖ วัน ก็เทียบอัตราส่วน สองเดือนต่อวันหยุด ๑ วัน ดังนั้น นายจ้างอาจให้ลูกจ้างหยุดได้ในหว่าง ๖ เดือนนี้ จำนวน ๓ วันก็ได้

ทนายพร

622
๑. อยากจะขอสอบถามทนายว่าน้องจะโดนข้อหาอะไรบ้าง?

ตอบ มาตรา ๖๖ ผู้ใดจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตครับ

๒. สามารถประกันตัวบนชั้นศาลได้ไหม? ( เพราะพึ่งคดีแรก )

ตอบ ตามปกติการประกันตัวนั้นสามารถขอประกันตัวได้ใน ๓ ระยะ คือ ชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ และในชั้นศาล ซึ่งทั้ง ๓ ระยะนั้น การจะได้รับการประกันตัวต้องอยู่ใน “ดุลพินิจ” ของผู้มีอำนาจที่พิจารณา ประกอบกับ หลักประกันที่เสนอไปนั้นจะต้องมีมูลค่าที่เหมาะสมกับข้อหาหรือจำนวนของยาเสพติด ซึ่งในการยื่นคำร้องขอประกันตัวนั้น จะต้องมีเหตุผลในการประกันตัวด้วย เช่น ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อัตราโทษตามที่ฟ้อง แนวทางการต่อสู้คดี รวมถึงประวัติการกระทำความผิด เคยกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่ และมีแนวทางการต่อสู้อย่างไร มีเหตุผลที่จะต่อสู้คดีอย่างไร เป็นต้น

ซึ่งเรื่องเหล่านี้คงต้องอาศัยผู้รู้หรือทนายความให้ความช่วยเหลือเพื่อเขียนคำร้องประกันตัวครับ ถ้าให้ตอบว่ามีโอกาสที่จะได้ประกันตัวหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายังพอมีโอกาสอยู่ครับ เนื่องจากจำเลยในคดีอาญาศาลจะเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ครับ

๓. ถ้าสมมติว่าต้องจำคุก ต้องจำคุกประมาณกี่ปี?

ตอบ ศาลจะลงโทษจำคุกกี่ปีนั้น ต้องดูที่สารบริสุทธิ์ เป็นสำคัญครับ (ต้องนำยาเสพติดนั้นไปสกัดเป็นสารบริสุทธิ์ก่อน) เมื่อคำนวณสารบริสุทธิ์ได้เท่าใดแล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายที่บังคับใช้ คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งจากที่เล่ามานั้น น้องของคุณจะโดน ๒ ข้อหา คือ จำหน่ายยาเสพติด (ล่อซื้อ) และ ครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย(ค้นภายหลังจากที่ไปล่อซื้อมาแล้ว) ซึ่งตามมาตรา มาตรา ๖๖ ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท

ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่ง มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ครับ


[u]ข้อกฎหมาย[/u]

มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑

การผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย

(๑) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จํานวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ําหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป

(๒) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จํานวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ําหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป

(๓) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ นอกจาก (๑) และ (๒) มีปริมาณคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป

623
ตอบ
ต้องดูสัญญาก่อนครับว่าที่ระบุว่าเป็นสัญญาจ้าง ๒ ปีนั้น กำหนดไว้ชัดเจนหรือไม่เพียงใด หากไม่ชัดเจนก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เมื่อยังไม่ครบสัญญาผู้ว่าจ้างมาขอยกเลิกสัญญาก่อนครบสัญญา ก็สามารถเรียกค่าเสียหายตามจำนวนวันที่สัญญาคงเหลือครับ

แต่จากที่เล่าให้ฟัง บริษัทก็รู้ว่าทำผิดสัญญาจึงได้พยายามขอประณีประนอมยอมความกับคุณ แต่ปัญหาก็คือ คุณไปเซ็นยินยอมว่าจะไม่ไปฟ้องร้องใดๆกับบริษัทอีก  นั่นเท่ากับว่า คุณต้องปฎิบัติไปตามสัญญาที่ได้เซ็นตกลงไว้ และถ้าคุณนำคดีไปฟ้องศาล ก็จะเกิดข้อโต้แย้งขึ้นมาทันทีว่าฝ่ายคุณไม่ปฎิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ และท้ายที่สุดก็จะเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายครับ

ส่วนการกระทำของบริษัท ที่บอกว่าเช่นถ้าใครไม่เซ็นต์ยินยอมหรือฟ้องร้องบริษัท จะส่งรายชื่อแบล็คลิสไปหลายที่ที่เป็นบริษัทในเครือ ไม่ให้รับเข้าทำงานอีก- อย่างนี้ในทางกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่นะครับ เพราะถ้าเป็นมือของเราเองที่เซ็นชื่อในกระดาษ ก็คือการแสดงเจตนาด้วยความสมัครใจ เว้นแต่ อีกฝ่ายจะมาจับมือเราไปเซ็น หรือ เอาปืนมาจ่อ เอามีดมาจี้ ถ้าไม่เซ็นจะแทงให้ตาย อย่างนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงต้องดูข้อความในสัญญาก่อนว่าได้เขียนไว้ว่าอย่างไร จึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ได้อย่างชัดเจนครับ


ทนายพร

624
เป็นเรื่องที่ดีมากครับ ที่ผู้ถามได้สืบค้นข้อมูลในหลายๆด้าน โดยเฉพาะสอบถามข้อกฎหมายจากนักกฎหมายหรือทนายความ เพื่อจะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายแต่ละท่านก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกัน หาไม่แล้วในศาลคงไม่มีฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยในการต่อสู้ทางข้อกฎหมายกันละครับ
อย่างนี้ครับ ท่านครูประชาบาล
อันว่า "สัญญาหย่า" เมื่อทั้งสองฝ่าย (สามี-ภรรยา) ได้สมัครใจที่จะยุติความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากัน ด้วยใจสมัคร ก็ไปดำเนินการขอจดทะเบียนหย่า ได้ ซึ่งสัญญาดังกล่าวสามารถบังคับได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายก็ยังมีสิทธิและหน้าที่ที่ยังต้องดำเนินการต่อไป เช่น การดูแลบุตร การปฎิบัติตามสัญญาท้ายหนังสือหย่า เป็นต้น
และจากคำถาม ท่านครูประชาบาลถามว่า อดีตภรรยา จะร้องเรียนทางวินัยต่ออดีตสามีได้หรือไม่?
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องทางวินัย ตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องทางแพ่งครับ ซึ่งถ้าเป็นสัญญาหย่าโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย และอีกฝ่ายเรียกร้องค่าเลี้ยงดูย้อนหลัง อย่างนี้ไม่สามารถฟ้องได้ตามที่ท่านทนายแนะนำนั้นท่านเข้าใจถูกต้องแล้ว...ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร

625
เป็นคำถามสั้นๆ แต่ก็สร้างความกังวลใจให้กับผู้ถามมิใช่น้อย และในสังคมปัจจุบันก็มีเรื่องเหล่านี้เพิ่มมาขึ้นตามเทคโนโลยีอันทันสมัยที่เอื้อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นไปอย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส และพัฒนาความสัมพันธ์ง่ายกว่าสมัยเก่าก่อนมากมาย ซึ่งก็เป็นข้อดีอย่างเหลือคณานับของการแข่งขันแบบทุนนิยม แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เกิดความห่างขึ้นทุกวันๆ ท้ายที่สุดก็มีอันเลิกรากันไป (มันเกี่ยวกับคำถามป่าวเนี๊ยะ..)

เอาละ..ถามมาก็ตอบไป

“ข้าราชการครู หมายความว่า ผู้ที่ประกอบวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาของรัฐ” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครูหรือบุคลากร ถือเป็นวิชาชีพเฉพาะที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะมีกฎหมายมาควบคุมดูแล เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗”

ซึ่งจะมีรายละเอียดและกฎเกณฑ์ต่างๆที่ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

และจากคำถาม ภรรยาเก่า(หลวง) จะร้องเรียนอดีตสามี เพื่อให้ต้องถูกลงโทษทางวินัยได้หรือไม่?

อย่างนี้ครับ กรณีอย่างนี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องมีการสอบสวนก่อนว่า การหย่าขาดจากกันนั้นเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ หรือเกิดจากความสมัครใจกันทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายสามีเป็นฝ่ายหักหาญน้ำใจกันจนไม่สามารถที่จะเป็นสามีภรรยากันได้อีกต่อไป ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนและชี้ผิดชี้ถูก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะตอบว่า อดีตภรรยาก็สามารถร้องเรียนทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาของอดีตสามีได้

ส่วนร้องเรียนไปแล้ว ผลจะออกมาเป็นเช่นไรก็อยู่ที่ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆประกอบด้วย ซึ่งจะมีขั้นตอนต่างๆตาม หมวด 7 แห่ง พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗” ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า “ช่วงยังไม่ได้หย่า ภรรยาหลวง ไม่ร้องเรียน มาร้องเรียน เมื่อหย่าไปแล้ว?” ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการสอบสวนฯจะนำเป็นข้อพิจารณาว่า จุดประสงค์ของผู้ร้องเรียนต้องการกลั่นแกล้งหรือไม่ เหตุใดจึงมาร้องเรียนภายหลังจากยุติความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากันแล้ว ก็อยู่ที่ดุลพินิจและพยานหลักฐานเพื่อปรับบทลงโทษทางวินัย หรืออาจจะไม่มีความผิดเลยก็เป็นไปได้ครับ

ทนายพร


626
สวัสดีครับ คุณศุภร ล.

ตอบตามคำถามเลยนะครับ

1.พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 หรือ กฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่นั้น ไม่มีผลย้อนหลัง โดยจะมีผลสำหรับผู้ที่ไปค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไปครับ ดังนั้น ใครที่ค้ำประกันมาก่อนจะไม่ได้รับประโยชน์จาก กฎหมายฉบับนี้ครับ

2.รวมการค้ำประกันเงินกู้ของสหกรณ์ด้วยครับ

3. ปัญหาคือไปค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ฯไว้ แล้วผู้กู้ไม่ชำระหนี้ อย่างแรกให้ตรวจสอบก่อนว่า สหกรณ์ฯแห่งนั้น ได้ทำประกันเงินกู้หรือไม่? (บางสหกรณ์ที่ใหญ่ๆและมีหนี้สูญเยอะจะทำประกันประเภทนี้ไว้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ค่ำประกันไม่ต้องชดใช้หนี้แทนผู้ก็แต่บริษัทประกันจะจ่ายหนี้ทั้งหมดให้แทน) แต่ถ้าไม่มี อาจจะต้องพิจารณาดูว่าผู้กู้มีทรัพย์สินอะไรบ้างเพื่อที่จะให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอากับทรัพย์ของผู้กู้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แทน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราชำระหนี้แทนให้แก่ผู้กู้แล้ว ตามกฎหมายเราก็มีสิทธิที่จะติดตามเอาเงินที่เราได้ชำระแทนคืนมาภาษากฎหมายเค้าเรียกว่า "รับช่วงสิทธิ" หรือ "สิทธิไล่เบี้ย" โดยยื่นคำฟ้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้ผู้กู้หาเงินมาชำระหนี้ให้กับเรา หรือถ้าไม่ชำระก็ยื่นคำร้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดทรัพย์นำออกขายทอดตลาดต่อไปครับ

อนึ่ง..หากสหกรณ์ยื่นฟ้องก็ให้ไปศาลตามหมายศาลเรียกนะครับ มิเช่นนั้น ท่านจะเสียสิทธิในทางกฎหมายหลายอย่างและท่านจะเเพ้คดีแบบไม่ได้ต่อสู้ ซึ่งกรณีเป็นผู้ค้ำประกันศาลจะให้ความปราณีเป็นพิเศษนะครับ

ยังไม่ต้องกังวลไปนะครับ หากมีปัญหาอะไรก็ถามมาได้ครับ

ทนายพร

627
เรียน ท่านพรนารายณ์และเพื่อน ที่เคารพค่ะ

พอดีหนูหาข้อมูลได้จากเวปของท่าน เรื่องเข้าใจกฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20) พ.ศ. 2557 เลยมีข้อสงสัยที่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

1. กฎหมายที่ออกมานี้มีผลคุมครองผู้ค้ำประกันย้อนหลังไหมคะ

2. กฎหมายที่ออกมานี้รวมถึงผู้ค้ำประกันเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์หรือไม่คะ

คือหนูค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ให้เพื่อนไว้ค่ะ แต่เค้าไม่มาส่งชำระแล้ว 2 งวด หนูเลยอยากทราบข้อมูลว่ากฎหมายนี้คุ้มครองผู้ค้ำแบบไหนบ้างและรบกวนปรึกษาว่าในกรณีอย่างนี้หนูจะต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ขอรบกวนด้วยนะคะ พอดีหนูกังวลมากค่ะ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้านะคะ หวังว่าจะได้รับความกรุณาค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ศุภร  ล.


628
ตอบ

ต้องเข้าใจก่อนว่าบริษัท รีครูทเม้น (Recruitment Agency) ก็คือบริษัทที่รับจัดหาคนให้กับบริษัทที่ต้องการคนงาน โดยจะทำการคัดกรองใบสมัคร สัมภาษณ์เบื้องต้นให้ เมื่อทางบริษัทตกลงรับพนักงานเข้าทำงาน ก็จะเป็นพนักงานของทางบริษัทต้นสังกัดโดยตรงและจะมีความแตกต่างกับการรับงานแบบเหมาค่าแรงงาน (Outsource)

โดยหากเป็นการเหมาค่าแรงงานคนงานจะเป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาหรือ Outsource แต่บริษัทแม่หรือบริษัทที่เราเข้าไปทำงานก็ยังต้องเป็นนายจ้างของเราตามลำดับชั้นตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

เอาเป็นว่าไม่ต้องสาธยายยืดยาว ตอบตามคำถามเลย

คำถามที่ 1 ถามว่า “ผมจะทำอะไรได้บ้างครับ ฟ้องศาลแรงงานได้ไหม ถ้าได้มีโอกาสชนะไหม” เป็น 1 คำถามใหญ่ 3 คำถามย่อย ไม่เป็นปัญหา ถามมาก็ตอบไป

คืออย่างนี้ครับ ต้องดูที่นิติสัมพันธ์ในทางการจ้างว่า เราเป็นลูกจ้างของใคร และใครคือนายจ้างของเรา และเท่าที่เล่ามาก็มีติดใจคำว่า “ฟรีแลนซ์” เพราะถ้ารับงาน “ฟรีแลนซ์” ก็จะเป็นสัญญา “จ้างทำของ” แต่ถ้าไม่ใช่ “ฟรีแลนซ์” ก็จะเป็นจ้างแรงงาน ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณต้องดูว่าการทำงานเข้าองค์ประกอบของสัญญาประเภทใด

บริษัท เอ มีอำนาจบังคับบัญชา หรือให้คุณให้โทษได้หรือไม่เพียงใด หากเป็นกรณีที่บริษัท เอ สามารถให้คุณให้โทษ หรือมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือคุณ ก็เป็นสัญญาจ้างแรงงาน (สัญญาจ้างแรงงานไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ จะจ้างด้วยวาจา หรือโดยปริยายก็ถือว่ามีสัญญาจ้างกันโดยสมบูรณ์)

ดังนั้น หากรายละเอียดเป็นสัญญาจ้างแรงงาน คุณก็สามารถที่จะฟ้องศาลแรงงานได้ครับ ส่วนจะแพ้หรือชนะนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายโจทก์ คือผู้ฟ้อง – ฝ่ายจำเลยคือผู้ถูกฟ้องหรือบริษัท) ที่จะนำเสนอต่อศาลให้วินิจฉัย เมื่อมีการสืบพยานหลักฐานต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะพิจารณาว่าให้ใครแพ้ใครชนะ หรือชนะฝ่ายละครึ่ง หรือแพ้ทั้งสองฝ่าย หรือชนะทั้งสองฝ่าย ก็อยู่ที่รูปคดีและน้ำหนักของพยานหลักฐานครับ ซึ่งในกรณีของคุณต้องมีการสอบถามข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจึงจะวิเคราะห์ได้ครับ

คำถามข้อ 2 ถามว่า “ถ้าฟ้องร้องเกิดขึ้น ผมจะฟ้องใครระหว่าง รีครุตหรือบริษัท เอ” ...นั่นงัยล่ะ..ชักรู้สึก งงๆ แล้วใช่ใหมล่ะว่า เราทำงานมาตั้งนาน ไม่รู้ว่าใครคือนายจ้าง (เอาละซิ ยุ่งแระ) และผู้ถามได้เพิ่มเติมคำอธิบายไว้ในวงเล็บด้วยว่า “ทุกครั้ง จะได้ค่าจ้างโอนมาจากบริษัทรีครุต”

คืออย่างนี้ครับ กรณีที่จะได้รับเงินโอนมาจากใครไม่สำคัญ ต้องพิจารณาว่า ใครเป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับเรา

ซึ่งจากที่เล่ามาก็จะเห็นได้ว่า บริษัท เอ นั้น ได้จ่ายค่าจ้างผ่านบริษัทตัวแทนหรือ Recruitment Agency ซึ่งในสัญญาระหว่างบริษัทตัวแทนกับบริษัท เอ นั้น อาจจะมีข้อตกลงบางอย่างที่คุณไม่รู้ เช่น บริษัทเอ อาจตกลงจ้างคุณในอัตราห้าหมื่นบาท แต่บริษัทตัวแทน มาจ่ายให้คุณเพียง สี่หมื่นบาท อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งส่วนต่างก็จะเป็นของบริษัทตัวแทน

ดังนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินผ่านบริษัทตังแทนในกรณีอย่างนี้บริษัทตัวแทนจะไม่มีสถานะบริษัทตัวแทนอีกต่อไป แต่จะกลับกลายมาเป็นบริษัท Outsource หรือบริษัทรับเหมาค่าแรง ที่ได้ส่วนต่างจากการทำงานของคุณ

ซึ่งกรณีอย่างนี้ ทั้งบริษัทเอ และบริษัทตัวแทนก็จะเป็นนายจ้างคุณทั้งสองบริษัทตามความใน พรบ.คุ้มครองแรงงานครับ และเวลาจะฟ้องก็ฟ้องทั้งสองครับ
 
ทนายพร


629
ถามมาเป็นข้อก็จะตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. ผมไม่ยอมรับค่าชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องการเต็มจำนวนตามกฎหมายได้หรือไม่

ตอบ กฎหมายแรงงานมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองคนทำงานให้ได้รับการปฎิบัติอย่างเป็นธรรมไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ มิเช่นนั้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวายในสังคมได้ และกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำให้นายจ้างต้องปฎิบัติ

ดังนั้นแล้วการที่ผู้ถามจะรับค่าชดเชยเพียงครึ่งหนึ่งของค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับนั้น ก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ หากคุณยินยอมก็บังคับได้ตามที่ตกลงกัน

แต่ถ้าคุณไม่ยินยอมและจะรับเงินค่าชดเชยตามสิทธิที่ควรจะได้ คุณก็จะได้สิทธินั้น แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการเรียกร้องสิทธิ เช่น ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หรือศาลแรงงาน เพื่อมีคำสั่งบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามสิทธิที่ควรจะได้ครับ

2. ถ้าบริษัทไม่ยอม ผมจะฟ้องร้องบริษัทแล้วมีโอกาสได้ เต็มจำนวนตามกฎหมายหรือเปล่าหรือศาลจะไกล่เกลี่ยให้ยอมรับค่าชดเชยนั้นหรือเปล่า

ตอบ ฟ้องศาลได้แน่นอนครับ ส่วนคำถามที่ว่ามีโอกาสได้เต็มจำนวนหรือไม่นั้น คงตอบได้ว่า ได้เต็มแน่นอนแต่ต้องใช้เวลาหน่อยนะครับ กล่าวคือ เมื่อมีการฟ้องต่อศาลแรงงานแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้คดีแรงงานต้องมีการไกล่เกลี่ยก่อนเสมอ หากเราไม่อยากไกล่เกลี่ยหรือไกล่เกลี่ยแล้วได้น้อยกว่าสิทธิที่เราควรจะได้ก็แจ้งผู้ไกล่เกลี่ยไปว่า ไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยอีกต่อไปให้นำคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี เพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานโจทก์-จำเลย ต่อไป

และท้ายที่สุดเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าเราชนะ ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีหากนายจ้างยังดื้อแพ่งไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษาก็ต้องยื่นคำร้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดโรงงานหรือทรัพย์สินนายจ้างนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป ซึ่งกระบวนการต่างๆนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรครับ

3. ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายคิดราคาอย่างไร ถ้าผมชนะผมให้ผู้แพ้จ่ายค่าทนายความให้ได้หรือไม่ครับ

ตอบ ค่าจ้างทนายความนั้นไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของคดี รวมทั้งความใกล้ไกลประกอบด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะจ้างทนายความก็ลองตรวจสอบค่าใช้จ่ายตามสำนักงานทนายความต่างๆหลายๆที่แล้วมาเปรียบเทียบกันจนกว่าเราจะพอใจ

แต่อย่างไรก็ตาม คดีแรงงงานใช้การพิจารณาในระบบ “ไต่สวน”ซึ่งศาลจะเป็นผู้สืบหาข้อเท็จจริงเองและพิพากษาไปตามรูปคดี ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความก็ได้

หรือหากประสงค์จะจ้างทนายความจริงๆก็ขอให้ใช้ทนายความที่เชี่ยวชาญด้านแรงงานก็จะเป็นประโยชน์ในทางคดีครับ

และคดีแรงงานศาลแรงงานยังไม่เคยมีคำพิพากษาให้ผู้แพ้คดีจ่ายค่าทนายความให้กับทนายฝ่ายชนะคดีครับ เว้นแต่จะดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2558 ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่ที่พึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2558 และยังไม่มีคำพิพากษาในเรื่องนี้เหมือนกัน คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

ทนายพร


630
ผมคงตอบไม่ได้ว่าจะให้ย้ายได้หรือไม่ได้นะครับ แต่อย่างไรก็ตามได้มีกฎกระทรวงฉบับหนึ่งออกมาซึ่งน่าจะปรับใช้ได้กับกรณีของเจ้าของคำถาม คือกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุก โดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556” ซึ่งเน้นลดจำนวนนักโทษชราและเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง เอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น 

กฎกระทรวงบัญญัติว่า ข้อ ๒ ในการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีการจํากัดการเดินทางและอาณาเขตแก่ผู้ซึ่งต้องจําคุกผู้ใด ให้เจ้าพนักงานคํานึงถึงเหตุจําเป็นซึ่งรวมถึงเหตุ ดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจําคุก (๒) ผู้ซึ่งต้องจําคุกจําเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะ (๓) ผู้ซึ่งต้องจําคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง (๔) ผู้ซึ่งต้องจําคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จําคุกด้วยเหตุอื่น ๆ) ดังนั้น ขอให้ติดต่อกับเรือนจำที่สังกัดเพื่อขอใช้สิทธิตามกฎกระทรวงนี้ได้ครับ


กรณีที่ผู้ต้องขังจะเรียกร้องสิทธิกรณีที่ไม่ได้กระทำผิดแต่ถูกจำคุกในขณะที่อยู่ระหว่างพิจารณาด้วยเหตุต่างๆกัน เช่น ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว , ไม่มีหลักทรัพย์ไปประกันตัว เป็นต้น และท้ายที่สุด หากศาลตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง กรณีอย่างนี้ สามารถเรียกค่าชดเชยจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้ครับ ซึ่งจะชดเชยให้เป็นรายวันๆละไม่เกิน 200 บาท

แต่หากเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่า “มีเหตุอันควรสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ซึ่งหมายความว่าในทางคดีฝ่ายโจทก์ไม่สามารถนำสืบในทางคดีให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง กรณีอย่างนี้จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชยครับ

ทนายพร

หน้า: 1 ... 40 41 [42] 43 44 ... 50