19/04/24 - 14:35 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 48 49 [50]
736
ก่อนที่จะถึงคำตอบของคำถามนี้ มีตัวอย่างน่าสนใจ โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ศาลแรงงานอ่านคำวินิจฉัยของอธิบดี ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 73/2555 เรื่อง เขตอำนาจศาลในคดีแรงงาน คดีระหว่าง นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ โจทก์ กับ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำเลย

โดยระบุว่า โจทก์กับจำเลย มีฐานะเป็นลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทำของ จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแรงงานที่จะรับฟ้อง โดยพิจารณาจาก

(1) อำนาจการควบคุมหรืออำนาจการบังคับบัญชาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน ยิ่งมีการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานมากเพียงไร ก็ย่อมชี้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงาน

(2) มีการจ่ายค่าตอบแทนเมื่องานสำเร็จ หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นระยะๆโดยสม่ำเสมอ เพราะหากมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นระยะๆโดยสม่ำเสมอก็เป็นสัญญาจ้างแรงงาน

(3) ใครเป็นเจ้าของเครื่องใช้ไม้สอยประจำสำนักงาน เช่น โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ หากผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ก็ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน

(4) แม้ว่าในสัญญาจ้างจะระบุว่า ให้การจ้างงานตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ก็มิใช่เป็นกรณีที่จะยกเว้นว่าสัญญาจ้างนี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น

เพียงแต่เป็นการแค่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป แต่มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้ และมีผู้ตกลงจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่เป็นการจ้างแรงงาน

ซึ่งการจะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามสัญญาเป็นสำคัญ เช่น ผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างเป็นรายเดือน ในอัตราเดือนละ..........บาท กำหนดจ่ายทุก...................

ดังนั้นจากการระบุเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่า เป็นการจ่ายค่าจ้างที่แน่นอน สม่ำเสมอ โดยมิได้คำนึงผลสำเร็จของงาน แบบสัญญาจ้างทำของ เป็นสำคัญ

หรือการกำหนดสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ผู้รับจ้างจะได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้รับงานปฏิบัติตามสัญญานี้ เช่น การลาป่วยตามระยะเวลาที่ป่วยจริง เป็นต้น

(5) สัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้การปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามข้อบังคับ กฎ ระเบียบของผู้ว่าจ้างหรือองค์กรผู้ว่าจ้าง หรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าการทำงานหรือการบริหารงานของผู้รับจ้างมิใช่ดำเนินการได้โดยอิสระ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล และบังคับบัญชาของคนที่อยู่สูงกว่า อีกทั้งยังมีการระบุเรื่องเวลาบอกเลิกสัญญาไว้ด้วย

เหล่านี้ทั้ง 5 ข้อ คือ ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ที่ผู้รับจ้างสามารถฟ้องศาลแรงงานกลางเรียกค่าชดเชยจากผู้ว่าจ้างได้ตามที่กฎหมายกำหนดครับ


737
มีเจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชนหลายคน (NGOs) มักส่ง mail มาถามว่า สัญญาจ้างทำงานแบบ TOR ที่มีระยะเวลาจ้างชัดเจน เช่น 1-5 ปี เป็น “สัญญาแบบจ้างทำของ” หรือ “สัญญาจ้างแรงงาน” และถ้าหัวหน้างานกระทำการอันไม่เป็นธรรม มีการเลิกจ้างโดยตนเองไม่ได้ทำผิด หรือเลิกจ้างก่อนเวลาที่ระบุไว้ใน TOR ดังกล่าวนั้น สามารถฟ้องศาลแรงงานเรียกค่าชดเชยได้หรือไม่ อย่างไร

738
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องขับรถชนคนหลายฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับร่างกายและชีวิต, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ความผิดในการขับรถ, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความเสียหายและการชดเชยค่าเสียหาย

- ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีมีผู้เสียชีวิตผู้ก่อเหตุก็จะมีความผิดอาญา ตามมาตรา 291 ที่ระบุว่า...“ผู้ใดกระทำโดยประมาท และ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท”

- ความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานขับรถโดยประมาท มาตรา 78 ระบุไว้ว่า...ผู้ใดขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้ง   ชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

- ความผิดทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากตกลงชดใช้ชดเชยค่าเสียหายกันได้ก็ไม่ต้องนำกฎหมายนี้มาใช้ เว้นเสียแต่ผู้เสียหายไม่ได้รับการชดใช้หรือมีการทำผิดไปจากข้อตกลง ก็มีความผิดฐานละเมิด ซึ่งมาตรา 420 ระบุว่า...“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้น ทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” อย่างนี้เป็นต้น

กระบวนการที่เกี่ยวข้อง

-   พนักงานสอบสวนก็จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ส่งให้กับพนักงานอัยการ เช่น ยึดรถ ไว้เพื่อตรวจพิสูจน์  หากดำเนินการเสร็จ เรามีสิทธิขอรับรถคืนเพื่อนำไปซ่อมและใช้งานตามปกติ

-   ในชั้นพนักงานสอบสวนนี้จะเป็นผู้ชี้ผิด-ถูกในเบื้องต้น ต้องตกลงในชั้นนี้ให้ดี เพราะในกรณีที่ไม่ต้องขึ้นศาลนั้น พนักงานสอบสวนมักทำสำนวนว่า ผู้ตายประมาทฝ่ายเดียว แต่ถ้าทำสำนวนว่าเป็นประมาทร่วม ต้องส่งอัยการ ฟ้องศาลต่อไป

-   พนักงานอัยการทำการตรวจรับคำฟ้อง

-   ส่งขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาคดี

-   กรณีขับรถชนคนตาย ศาลจะพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ถ้าไม่เคยทำความผิด ไม่เมา และยอมชดใช้ค่าเสียหาย ในสำนวนการสอบสวน ฝ่ายผู้เสียหายได้แสดงการยอมความไม่ติดใจเอาเรื่อง เนื่องจากทางฝ่ายผู้กระทำผิดยินยอมชดใช้ และผู้เสียหายได้มีการแถลงต่อหน้าศาลไว้ ศาลท่านก็มักจะพิจารณาโทษให้จำคุก 1 ปี 2 ปี 3 ปี หรือแล้วแต่

-   ที่สำคัญหากคู่กรณียอมความ ไม่ติดใจเอาเรื่อง ศาลก็มักจะปรานีลดโทษจำคุกให้เหลือเพียงการรอลงอาญา โดยต้องรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือขึ้นกับดุลพินิจของศาล

สำหรับบางกรณีที่อาจ มีหลายคนสงสัย เช่นเป็นกรณีที่ขับรถมาโดยปกติ และเกิดมีคนกระโดดพุ่งชนรถ หรือพุ่งออกมาจนถูกรถชนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบหรือไม่-อย่างไร ? ตามกฎหมายระบุไว้ในชั้นแรกว่าผู้ขับขี่เป็นผู้กระทำผิด เว้นแต่มีการพิสูจน์ได้ว่าเหตุนั้นเกิดจากผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บเป็นผู้กระทำ กฎหมายก็จะถือว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่ง

ในกรณีที่ผู้ขับขี่ รถหลบหนีไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือได้ตัวผู้ขับขี่   “ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือ ว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำ ความผิด และให้ตกเป็นของรัฐ”


739
จากการสอบถามข้อเท็จจริง พบว่า พนักงานคนนี้ได้ต่อยเพื่อนร่วมงาน หลังจากเลิกเวลางานแล้ว แต่ตนเองและคู่กรณียังอยู่ภายในบริเวณบริษัท โดยบริษัทระบุว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและการดำเนินธุรกิจของบริษัท เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยแต่อย่างใด

ผมให้คำแนะนำไปว่า

-   แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท จะระบุว่าการทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัทฯ เป็นการกระทำผิดวินัยกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การจะเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบด้วย หาใช่ถือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทแต่อย่างเดียวไม่ โดยเฉพาะการทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท

-   ถ้าไม่ทำให้บริษัทเสียหาย จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง อีกทั้งบริษัทก็สามารถลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือแทนได้ ซึ่งถ้าบริษัทไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ดังนั้นในกรณีเลิกจ้างแบบนี้ ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอย่างแน่นอน

-   อย่างไรก็ตามในกรณีการใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงาน ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต บริษัทสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

อิงคำตอบตามคำพิพากษาฎีกาที่ 13806/2555 ครับ


740
วันนี้มีลูกจ้างคนหนึ่งโทรศัพท์มาสอบถามว่า “ได้ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน จนเกิดการต่อยกันภายในสถานที่ทำงาน” เมื่อบริษัททราบจึงมีจดหมายแจ้งเลิกจ้างและไม่ได้ค่าชดเชย  ตนเองจะต้องทำอย่างไร ??? เพราะแค่ต่อยกันธรรมดา

741
มีหลายคนถามมาว่า เงินค่าครองชีพ เป็น ค่าจ้างไหม ? ขอตอบว่า เงินค่าครองชีพ เป็น "ค่าจ้าง” แน่นอนครับ

ค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง เนื่องจากเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ได้ให้คำนิยามคำว่า ค่าจ้าง หมายความว่า
- เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง
- สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน
- และให้หมายความรวมถึง เงิน ที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง ในวันหยุดและวันลา ที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ดังนั้นการที่ “เงินค่าครองชีพ” เป็น “ค่าจ้าง” เนื่องจากเงินค่าครองชีพนั้น นายจ้างได้จ่ายเป็นรายเดือน มีลักษณะเป็นการจ่ายประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอน จ่ายสม่ำเสมอ เหมือนกับการจ่ายเงินเดือนทุกเดือน โดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่

เช่น จ่ายเดือนละ 1,000 บาท ทุกเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แบบเดียวกับค่าจ้าง แม้ว่าจะจ่ายเพื่อช่วยเหลือในภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูงขึ้นก็ตาม เป็นการจ่ายให้กับลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนอกเหนือไปจากค่าจ้างหรือเงินเดือน

เงินค่าครองชีพที่มีการจ่ายแบบนี้ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างครับ และสามารถนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยเวลาถูกเลิกจ้างได้ด้วยครับ

อาจมีหลายคนแย้งว่า ค่าครองชีพ ถือเป็น สวัสดิการ ขอตอบว่า การจะตีความว่าเป็นสวัสดิการ หรือ ค่าจ้าง จะยึดหลักเรื่องลักษณะการจ่ายเงินประกอบเป็นสำคัญครับ เพราะเมื่อนายจ้างได้จ่ายเงินค่าครองชีพให้ลูกจ้างแน่นอน เป็นประจำทุกเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างครับ

มีตัวอย่างที่อาจทำให้หลงกลได้ เช่น

(1) บริษัทกำหนดจ่ายให้ลูกจ้างรายวัน และรายเดือนเฉพาะวันที่ลูกจ้างมาปฏิบัติงาน ในอัตราวันละ 15 บาท ก็ถือว่าเป็นการจ่ายที่มีจำนวนแน่นอน และเป็นการประจำ มิใช่เป็นการจ่ายครั้งคราว ดังนั้นค่าครองชีพก็ถือเป็นค่าจ้างเช่นเดียวกันครับ

(2) เงินประจำตำแหน่ง ,ค่านายหน้าที่จ่ายตอบแทนในการทำงานที่คำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ , ค่าเที่ยว ซึ่งเงินเหล่านี้นายจ้างได้จ่ายให้ลูกจ้างในลักษณะประจำ เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ก็ถือว่าเป็นค่าจ้างเช่นเดียวกันครับ ไม่ใช่ สวัสดิการ

(3) มีการจ่ายเงินบางประเภทที่จ่ายเป็นประจำทุกเดือน แน่นอน สม่ำเสมอ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นไปเพื่อตอบแทนในการทำงาน แต่เพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้มาก ทำงานให้ดี ก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างนะครับ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้าน ค่าหอพัก ค่าอาหาร เบี้ยขยัน บิลที่นำมาเบิกค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยประชุม เงินรางวัล โบนัส ค่าน้ำมันรถเหมาที่จ่ายเพื่อชดเชยกับการที่ลูกจ้างนำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน


ในที่นี้ต้องตระหนักเพิ่มขึ้นว่า แม้ว่าสหภาพแรงงานกับบริษัทจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีเงื่อนไขว่า มิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้าง เพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงถือว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันกับลูกจ้างใดๆทั้งสิ้น (เพราะตามข้อเท็จจริงนายจ้างก็ยังคงจ่ายค่าครองชีพในอัตราเท่ากันทุกเดือนให้กับลูกจ้างนั่นเอง)


อ้างอิงตามคำพิพากษาฎีกา 3987 - 4329 /53 , 8938 - 8992/2552 , 4842/2548 ,9023/2546 , 875/2544 , 2819/2532 , 171/2530 , 509/2525 , 1133-1268/2525 , 1437/2524

742
(1) ไปที่หน้านี้ครับ click :  http://thanaiphorn.com/boards/index.php?action=post;board=1.0 จะเจอกระดานให้ตั้งคำถาม ก็สามารถพิมพ์ถามได้เลยครับ โดยกรอกตรงหัวข้อว่า "ปัญหาอะไรที่ตนเองสงสัย" และก็มาพิมพ์รายละเอียดปัญหาที่ต้องการถามผม ได้ที่ตรงหน้าว่างๆ สีขาว ใช้ภาษาง่ายๆ ตามที่ตนเองเข้าใจครับ ไม่ต้องกังวลว่าจะเขียนผิดๆถูกๆ ถ้าพิมพ์ไม่เป็น ให้เพื่อนช่วยพิมพ์ก็ได้ครับ

(2) เมื่อกรอกคำถามเรียบร้อยแล้ว ก็กดคำว่า ตั้งกระทู้ ที่อยู่ด้านล่าง แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ

(3) เมื่อผมได้รับคำถามแล้วก็จะพยายามตอบให้เร็วที่สุดครับ ถ้าไม่เข้าใจ ผมจะสอบถามรายละเอียดตอบกลับไป หรือถ้ารอไม่ไหว ก็ให้โทรศัพท์หรือ email มาพูดคุยกันแทนก็ได้ครับ เพราะทนายมีภารกิจว่าความและงานประจำที่หนาแน่นมาก ซึ่งอาจไม่สามารถตอบคำถามได้โดยทันทีในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น หรืออาจภายในสัปดาห์นั้นก็ได้ ถ้ามีคดีความที่ต้องว่าความโดยตลอด ให้โทรศัพท์มาสอบถามแทน

(4) ดูคำถามอื่นๆได้ที่หน้านี้ครับ  http://thanaiphorn.com/boards/index.php?board=1.0



(5) ข้อมูล เนื้อหา สาระอื่นๆเพิ่มเติม ดูได้ที่ http://thanaiphorn.com


อย่างไรก็ตามเนื่องจากเวบไซดนี้ เน้นการให้คำปรึกษาทางคดี ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางคดีเป็นสำคัญในทุกๆคดี เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประสบปัญหาต้องการคำแนะนำทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นคำถามอื่นๆจะพิจารณาเป็นลำดับรองลงไปนะครับ และไม่อนุญาตให้โพสต์เรื่องใดๆที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องการพนันต่างๆ , การให้สินเชื่อ , การขายสินค้าออนไลน์ ฯลฯ ถ้าฝ่าฝืนจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้โพสต์ต่อไป


743
ผมตอบไปว่า การจะเป็น "ฝ่ายบุคคลที่ดี" มี 31 ข้อในกฎหมายแรงงาน ที่ควรรู้ ซึ่ง 31 ข้อนี้ใช้กับลูกจ้างทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไร้สัญชาติครับ

อย่างที่ผมย้ำกับหลายๆคนบ่อยครั้งว่า กฎหมายแรงงานทุกฉบับคุ้มครองคนที่เป็น “แรงงานทุกชาติ” สำหรับผู้ที่ทำงานโดยลักลอบเข้าประเทศไทยและไม่มีใบอนุญาตทำงาน ย่อมทำผิด พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 เท่านั้น แต่ไม่เป็นเหตุหรือเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ที่เป็นแรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวนั้น

รายละเอียด มีดังนี้ครับ


สัญญาจ้างแรงงาน

(1)   เมื่อมีการจ้างแรงงานแล้ว แม้จ้างกันด้วยวาจา ก็มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง”

(2)   แม้นายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานกันด้วยความสมัครใจ แต่ถ้าข้อตกลงส่วนใดขัดหรือผิดแผกแตกต่างกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็ตกเป็นโมฆะ จะอ้างข้อตกลงนั้นมิได้

(3)   นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เฉพาะการจ้างลูกจ้างให้ทำงานตามโครงการ หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลฯเท่านั้น มิใช่ในงานปกติทั่วไป

การทำงานล่วงเวลา

(4)   การทำงานหลังเวลาเลิกงานเป็นการทำงานล่วงเวลา จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน และนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างนั้นด้วย ส่วนที่ลูกจ้างมาทำงานสาย นายจ้างลงโทษทางวินัยได้

(5)   เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง จะตกลงให้หยุดงานชดเชยแทนมิได้


(6)   ไม่ว่าลูกจ้างจะมีตำแหน่งสูงเพียงใด หรือได้รับเงินเดือนมากสักเท่าใด หากทำงานล่วงเวลาก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา คงมีข้อยกเว้นตามกฎหมายไว้เฉพาะ “ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง” เท่านั้น

วันหยุด


(7)   กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า เพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดงาน เมื่อกฎหมายบัญญัติเป็นวันหยุดจึงมิใช่วันลา แม้ลูกจ้างไม่ได้ลา นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินเป็นค่าทำงานในวันหยุดให้


(๘) เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง เว้นแต่งาน ในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่มสโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง นายจ้างจึงจะตกลงกับลูกจ้างที่ต้องมาทำงานในวันหยุดตามประเพณี โดยให้หยุดในวันอื่นชดเชยแทนการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดได้

การลากิจ

(9)   ลูกจ้างที่ขอลาเพื่อกิจธุระ นายจ้างมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเอง แต่เมื่ออนุญาตแล้ว จะไปหักวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ หากจะให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีก็ต้องแจ้งลูกจ้างว่าไม่อนุญาตให้ลา แต่ให้เป็นวันหยุดดังกล่าวแทน


การลาป่วย/คลอดบุตร/ลาบวช

(10)   ลูกจ้างที่ลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์หรือใบรับรองของสถานพยาบาลของทางราชการก็ได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ ให้ชี้แจงนายจ้าง

(11)   กฎหมายปัจจุบันมิได้กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิเรียกใบรับรองของแพทย์ประกอบการลาเพื่อคลอดบุตรไว้ นายจ้างจึงไม่อาจกำหนดให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์(ดังเช่นการลาป่วย)ได้


(12)   กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นในการลาเพื่อคลอดบุตรไว้ ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์จึงมีสิทธิลาได้เมื่อมีครรภ์ ต่างกับกฎหมายประกันสังคมที่กำหนดให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบแล้วเจ็ดเดือนจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน

(13)   กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดสิทธิในการลาเพื่ออุปสมบทไว้ ลูกจ้างซึ่งประสงค์จะลาอุปสมบทจึงลาได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างนั้น หรือตกลงกับนายจ้างสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้จนพอที่จะขอหยุดไปอุปสมบทได้



ค่าจ้าง คืออะไร

(14)   การคำนวณค่าล่วงเวลาหรือเงินประเภทอื่นตามกฎหมาย(เช่น ค่าชดเชย เป็นต้น) นายจ้างจักต้องคำนวณจาก “ค่าจ้าง” ซึ่งหมายถึงเงินทุกประเภทได้ที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน มิใช่เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น

(15)   สัญญาหรือข้อตกลงที่นายจ้างทำไว้กับลูกจ้างว่าเงินเดือนของลูกจ้างได้รวมค่าล่วงเวลาไว้ด้วยแล้วนั้น เป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้

(16)   ค่าจ้าง คือ
- เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง
- สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน
- และให้หมายความรวมถึง เงิน ที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง ในวันหยุดและวันลา ที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้


ลูกจ้างชั่วคราว/ลูกจ้างทดลองงาน/ลูกจ้างรับจ้างทำของ


(17)   ลูกจ้างชั่วคราวก็ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” มีสิทธิและได้รับ การคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น

(18)   ลูกจ้างรายวันก็ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” มีสิทธิและได้รับ การคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด

(19)   ลูกจ้างทดลองงานเป็น “ลูกจ้าง”ตามกฎหมาย หากนายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแทน


(20)   ลูกจ้างทดลองงานเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย จึงมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองทุกบทมาตราอายุงานเพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายจึงเริ่มนับทันที

(21)   กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาทดลองงานไว้ นายจ้างจึงกำหนดระยะเวลาทดลองงานเท่าใดก็ได้ แต่ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นเมื่อทำงานครบ 120 วันแล้ว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย


(22)   คนงานที่ทำงานเหมา (เช่น ทอผ้าเป็นหลา เย็บเสื้อเป็นโหล เป็นต้น) ถือว่าเป็น “ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลของงาน” มีสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น


เจ็บป่วยจากการทำงาน


(23)   อ่านที่ link นี้ครับ ผมได้เคยเขียนไว้แล้วอย่างละเอียดแล้ว http://thanaiphorn.com/boards/index.php?topic=5.msg8;topicseen#new


การเลิกจ้าง/หยุดกิจการ

(24)   นายจ้างที่มีความจำเป็นโดยเหตุที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่

(25)   ตามกฎหมาย นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง การสั่งพักงานลูกจ้างที่กระทำความผิดทางวินัยในระยะเวลาสั้นๆ ก็ย่อมกระทำได้


(26)   การลาออกจากงานเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ตามกฎหมายลูกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายจ้างทราบ เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

(27)   การลาออกจากงานเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยฝ่ายลูกจ้าง การบอกเลิกสัญญาเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว มีผลเป็นการเลิกสัญญาทันทีเมื่อถึงกำหนดเวลาที่แจ้งหรือระบุไว้ในการลาออกนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิยับยั้งหรือไม่อนุมัติแต่อย่างใด

(28)   นายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ก็จะไม่ถูกฟ้องร้องเฉพาะข้อหาไม่จ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ลูกจ้างอาจฟ้องร้องนายจ้างในข้อหาอื่นได้อีกมาก เช่น ข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ข้อหาไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นต้น


ศาลแรงงาน

(29)   การฟ้องศาลแรงงานในคดีผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาจ้างก็ฟ้องได้

(30)   ถ้าเป็นการจ้างหรือตกลงด้วยวาจา พยานหลักฐานที่ดีที่สุดก็คือตัวลูกจ้างอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า นายจ้างให้สัญญาอย่างไร หรือตกลงอย่างไร ลูกจ้างเบิกความซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา หากเป็นความจริงก็ชนะคดีได้


(31)   การฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แม้ฟ้องไปแล้วศาลจะพิพากษายกฟ้องหรือแพ้คดี ก็ไม่เป็นเหตุให้ฝ่ายชนะคดีฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายได้ เว้นแต่ได้เบิกความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี ก็จะมีความผิดทางอาญา


ทั้งนี้ 31 ข้อ ผมประมวลข้อมูลจากการอ่านหนังสือหลายๆเล่มของ ศ.เกษมสันต์  วิลาวรรณ โดยเฉพาะเรื่องสังเวียนแรงงานการต่อสู้คดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมีกฎหมายแรงงานเป็นกติกา และมีผู้พิพากษาเป็นกรรมการชี้ขาดตัดสิน

744
ฝ่ายบุคคลบริษัทหนึ่ง (ญาติๆกันครับ) โทรมาหาผมว่า มีกฎหมายแรงงานอะไรบ้างที่เขาและลูกน้องควรต้องรู้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงาน เอาแบบสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ใน 15 นาที จบ

745
อ้างจากพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด  พ.ศ.2545  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  3  มีนาคม  2546  เป็นต้นมา  บัญญัติว่า  "ผู้เสพ  คือผู้ป่วย  ไม่ใช่อาชญากร"  ดังนั้นจะเน้นถึงกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตามบุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ จะต้องถูกตำรวจจับในความผิดฐานเสพและมียาเสพติด  หรือยาบ้า  จำนวนไม่เกิน  5  เม็ดเท่านั้น  จะถือว่าเป็นผู้เสพที่เข้าข่ายตามกฎหมายบังคับบำบัด 

แต่หากมีตั้งแต่  6  เม็ดขึ้นไปถือเป็นผู้ค้า  ก็จะไม่เข้าข่ายในระบบบังคับบำบัดนี้ 

ซึ่งคนที่ติดยาจะต้องถูกส่งตัวไปตรวจพิสูจน์ก่อนจะใช้เวลา  15  วัน  อาจขยายไปได้ไม่เกิน   30  วัน  เพื่อตรวจพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสพหรือไม่ 

และระหว่างนี้จะถูกควบคุมตัว   ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะอยู่ในเรือนจำ  แต่ถ้าเป็นเด็กก็จะอยู่สถานพินิจ  แต่บุคคลนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกฟ้อง  ไม่มีคำพิพากษาของศาลว่ากระทำผิด  ก็จะไม่ปนกับนักโทษเด็ดขาด

อีกทั้งยังมีกระบวนการตรวจสอบด้วยว่า คนที่ถูกจับถูกยัดข้อหาหรือไม่ อย่างไร

สำหรับระยะเวลาฟื้นฟูจะอยู่ที่  4  เดือน  และต่อได้ไม่เกิน  3   ปี  แต่ถ้าไม่สามารถฟื้นฟูได้  กระบวนการก็จะกลับมาสู่การพิจารณาทางอาญาตามปกติ

สำหรับในส่วนของกรมคุมประพฤติ  มีสถานที่ฟื้นฟูฯ  ที่อยู่ในสังกัดเพียงแห่งเดียวคือ  ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด  (ลาดหลุมแก้ว)  จังหวัดปทุมธานี  ศูนย์แห่งนี้มีระบบการฟื้นฟูแบบควบคุมตัวอย่างเข้มงวด   และรับผิดชอบฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากทุกท้องที่ทั่วประเทศ


746
มักมีพี่น้องแรงงานถามผมบ่อยครั้งว่า เวลามีญาติพี่น้องติดยาเสพติดและถูกจับ จะติดคุกนานกี่ปี หรือจะถูกเลิกจ้างหรือออกจากงานหรือไม่


747
ในเบื้องต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า

(1)   กองทุนเงินทดแทน คืออะไร จะคุ้มครองใครบ้าง ?

-   กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญเสียเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง

-   นายจ้างที่มีลูกจ้างจำนวน 10 คนขึ้นไป มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียว (รายปี หรือ รายงวด) ทั้งนี้เว้นแต่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ แม่บ้าน ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี รวมถึงข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ครูโรงเรียนเอกชน

-   เงินสมทบนี้จะคิดจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน คูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้น ซึ่งนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่ายในอัตราเงินสมทบหลักที่ไม่เท่ากัน ระหว่างอัตรา 0.2 เปอร์เซ็นต์ - 1.0 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงภัยตามลักษณะงานของกิจการของนายจ้าง

-   แม้ภายหลัง กิจการของนายจ้างจะเหลือลูกจ้างไม่ถึง 10 คน หากนายจ้างได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วทุกเดือน ต้องจ่ายต่อเนื่อง

-   เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างแล้วเกิดประสบอันตราย ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาล (45,000 ถ้าเกินพิจารณาตามเงื่อนไข แต่ไม่เกินอีก 65,000 รวม 110,000 และถ้าเกิน 110,000 จะเบิกได้อีกไม่เกิน 300,000 แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์) ค่าทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ

-   ลูกจ้างสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลใดก็ได้ โดยทดลองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วนำใบเสร็จรับเงิน  ไปเบิกคืนภายใน 90 วัน หรือใช้แบบ กท.44  ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล หากสถานพยาบาลนั้นอยู่ในความตกลงกับกองทุนเงินทดแทน ทางสถานพยาบาลจะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล จากกองทุนเงินทดแทนเอง (จะรู้ได้ยังไง ว่าโรงพยาบาลใดอยู่ในกองทุนเงินทดแทน ให้ check จากที่นี่ได้เลยครับ http://www.sso.go.th/wpr/hospital_in_term.jsp?cat=793&webId=0)


-   แต่ถ้านายจ้างไม่มีการจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เมื่อลูกจ้างได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากการทำงาน ก็จะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนได้ และค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าชดเชย ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมาย ทุกบาททุกสตางค์นั้น นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เพียงผู้เดียว


-    แม้ว่าสืบสวนแล้วพบว่าการเจ็บป่วยของแรงงานไม่ได้เกิดจากการทำงาน ก็สามารถโอนไปใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมได้โดยทันทีเช่นเดียวกัน


-   หากแรงงานมีเหตุจำเป็นให้ต้องไปใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาพยาบาล เช่น รอผลสรุปการสืบสวนโรคไม่ไหว ต้องรีบเข้ารับการรักษาเพื่อไม่ให้อาการป่วยลุกลาม เมื่อแรงงานแจ้งเหตุจำเป็นต่อ สปส. และได้มีการสืบสวนโรคแล้วพบว่าป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนย้อนหลัง


(2)   กรณีใดบ้างที่เรียกว่า บาดเจ็บจากการทำงาน


บาดเจ็บจากการทำงาน หมายถึง การที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานให้แก่นายจ้าง (เน้นย้ำคำนี้นะครับ – จากการทำงาน) ได้แก่

-   ลูกจ้างได้รับอันตรายในขณะที่เดินทางไปทำงาน โดยมีหัวหน้าควบคุมไปด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๕ / ๒๕๑๖)

-   ลูกจ้างได้รับอันตรายในขณะเดินทางกลับ จากการไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๐๒ / ๒๕๒๗ , ๒๗๐๐ / ๒๕๓๐ และ ๘๓๙ / ๒๕๓๑)


-   ลูกจ้างได้รับอันตราย ขณะเดินทางไปและกลับจากการแข่งขันกีฬาที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างเข้าร่วม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๗๓ / ๒๕๒๖ , ๓๐๒๓ / ๒๕๒๖ , ๔๘๐ / ๒๕๒๕ , ๓๔๕๑ – ๓๔๙๒ / ๒๕๒๗ , ๑๕๒๔ / ๒๕๓๐ , ๑๙๓๗ / ๒๕๓๐ , ๒๙๖๒ – ๒๙๖๔ / ๒๕๓๐ , ๔๔๖๓ / ๒๕๓๐ , ๗๕๘ – ๗๕๙ / ๒๕๓๑ , ๓๕๙๖ / ๒๕๓๑ , ๕๐๘๙ / ๒๕๓๒ , ๑๑๔๙ – ๑๑๕๐ / ๒๕๓๓)

-   ลูกจ้างเป็นลม ในขณะที่ทำงานให้แก่นายจ้างโดยมีเหตุปัจจัยให้ลูกจ้างเป็นลม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๑๘ / ๒๕๒๕ , ๑๔๙๑ / ๒๕๒๖ และ ๒๑๗๘ / ๒๕๒๗) 

-   ลูกจ้างถูกยิงหรือถูกทำร้ายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๒๖ / ๒๕๒๘ , ๓๔๖๖ / ๒๕๒๘)

-   ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานหรือการงานของลูกจ้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๐๘ / ๒๕๓๓ , ๕๑๑ / ๒๕๓๕)


ตัวอย่างรูปธรรมเช่น

-   บริษัทจำกัดกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่ 8-17 นาฬิกา นายดำ ลูกจ้างมาถึงที่ทำงานเวลา 7 นาฬิกาแล้วเข้าปฏิบัติงานก่อนเวลาแล้วได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงาน ถือว่านาย ดำลงมือทำงานแล้ว

-   นายดำทำงานจนถึงเวลา 17 นาฬิกา งานไม่เสร็จจึงทำงานต่อไปจนถึงเวลา 20 นาฬิกา แล้วได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงานถือว่าลงมือทำงานแล้ว

-   นางสาวเขียว ทำงานทอผ้าที่บริษัท ข จำกัดมานานหลายปีจนเป็นโรค บิซิโนซิส ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากฝุ่นเส้นใยฝ้ายเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน

-   นายเหลือง ปฏิบัติหน้าที่ทำบัญชีอยู่แล้วเกิดเพลิงไหม้โรงงานจึงช่วยดับไฟจนถูกไฟลวกได้รับบาดเจ็บเป็นการบาดเจ็บเนื่องจากการรักษาผลประโยชน์ให้นายจ้าง

-   การปฏิบัติงานนั้นต้องมีการเดินทางอยู่ด้วย เช่น คนขับรถรับส่งพนักงานรับส่งสินค้า พนักงานขาย ซึ่งต้องออกเดินทางไปขาย พนักงานรับส่งเอกสาร พนักงานเก็บเงิน หรืองานที่ต้องออกเดินทางไปปฏิบัตินอกสถานที่ หรือ ต้องออกเดินทางไปปฏิบัตินอกสถานที่ ให้ถือว่าลงมือทำงานตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง

-   กรณีที่ทางโรงงานจัดการแข่งกีฬามีโครงการ หลักฐานการประชุม แบ่งทีมแข่ง แล้วพนักงานบาดเจ็บ ใช้กองทุนเงินทดแทน แต่ถ้าพนักงานเล่นกันเอง แล้วบาดเจ็บ ถือว่าไม่ใช่บาดเจ็บจากการทำงานครับ


(3)   กรณีใดบ้างที่เรียกว่า ไม่ถือว่าบาดเจ็บจากการทำงาน


-   ลูกจ้างได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานพาหนะขณะที่ยังเดินทางไปไม่ถึงสถานที่ทำงานและยังไม่ได้ลงมือทำงาน หรือขณะไปทำธุรกิจอันมิใช่การงานของนายจ้าง หรือในขณะที่ไม่ใช่ระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๗๙ / ๒๕๒๐ , ๒๕๐๗ / ๒๕๒๑ , ๖๙๗ / ๒๕๒๒ , ๑๓๑๐ / ๒๕๒๕ , ๑๑๗๒ / ๒๕๒๖ , ๒๐๘ / ๒๕๓๐ , ๓๙๖๖ / ๒๕๓๐ และ ๒๑๑๔ / ๒๕๓๑)

-   ลูกจ้างถูกยิงหรือถูกทำร้ายอันเนื่องมาจากสาเหตุส่วนตัว แม้จะถูกยิงหรือถูกทำร้ายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่หรืออยู่ในที่ทำงานของนายจ้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๑ / ๒๕๒๓ , ๖๘๘ / ๒๕๒๔ , ๙๓๙ / ๒๕๒๕, ๑๗๙๙ / ๒๕๒๓ , ๑๘๙๒ / ๒๕๒๗ , ๒๓๒๐ / ๒๕๒๗)

-   ลูกจ้างได้รับอันตรายในขณะทำธุรกิจส่วนตัวไม่เกี่ยวกับงานอยู่ในระหว่างการทำงานก็ตาม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๗๓ / ๒๕๒๕)

-   ลูกจ้างได้รับอันตรายขณะแข่งกีฬาซึ่งนายจ้างไม่ได้สั่งให้แข่งกีฬาเพียงแต่อนุญาตให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างลูกจ้างได้เท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๗๘ / ๒๕๓๑)

ตัวอย่างเช่น
-   นาย ดำเดินทางจากบ้านพักเพื่อจะมาทำงานที่บริษัทแล้วเกิดอุบัติเหตุถูกรถชนได้รับบาดเจ็บในขณะเดินทางไม่ถือว่าลงมือทำงาน
-   แต่ถ้าผู้ตายออกเดินทางเพื่อไปปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้าง แม้จะยังไม่ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ถือว่าลงมือทำงานแล้ว

748
เมื่อเช้านี้ผมนั่งอ่านข่าว พบว่า มีลูกจ้างคนหนึ่งถูกเลิกจ้างในระหว่างทดลองงาน จากบริษัทแห่งหนึ่งที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องยนต์ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ทั้งๆที่อยู่ระหว่างการพักรักษาตัวเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างทำงาน กระดูกข้อมือเคลื่อนพับไปด้านหน้า แต่ต้องทนทำงานจนเลิกงาน (หัวหน้าได้มีการพาไปห้องพยาบาล พยาบาลให้พาไปโรงพยาบาลแต่ก็ไม่มีใครพาไป) จึงต้องทนทำงานจนเลิกงานและรุ่งเช้าจึงได้ไปโรงพยาบาล รักษาตัวได้หนึ่งเดือน กลับพบว่า นายจ้างให้ไปเขียนไปลาออกและใบเลิกจ้าง เพื่อไม่ให้เสียประวัติบริษัทในเรื่อง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในการทำงาน

ผมพบว่ามีหลายกรณีที่มีความคลุมเครือ และพี่น้องแรงงานมักเกิดความสงสัยว่า “อะไรบ้างที่เรียกว่าบาดเจ็บจากการทำงาน และกองทุนเงินทดแทนต้องคุ้มครอง” ครับ

749
ในกรณีนี้ หลังจากสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ผมได้ให้คำปรึกษาไปว่า

(1)   ลูกจ้างคนนี้มีความผิดจริงเรื่องการลงเวลาบันทึกการปฏิบัติงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ถือว่าเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานเท่านั้น ทั้งนี้แม้บริษัทจะกล่าวอ้างว่าลูกจ้างมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต แต่ก็ยังไม่สามารถถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด และนายจ้างมิอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1103/2531)

(2)   ทางคณะผู้สอบสวนยังไม่มีการแจ้งความผิดและออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้กล่าวหา หรือมีการลงโทษทางวินัย อีกทั้งยังไม่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องต่อกรณีดังกล่าวนี้ร่วมด้วย

(3)   แม้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2648/2525 ที่ 3438/2526 และที่ 1076/2541  เรื่องการตอกบัตรลงเวลาทำงานโดยไม่ตรงกับความจริง อันอาจทำให้เป็นหลักฐานให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างและอาจต้องจ่ายรางวัลการทำงานแก่พนักงานผู้นั้นมากกว่าความเป็นจริง ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ พบว่า ความผิดดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนในกรณีที่ร้ายแรง เนื่องจากการลงเวลาที่ไม่ถูกต้องนั้น มิได้ทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น เบี้ยขยัน แก่พนักงานผู้นั้นมากกว่าความเป็นจริงที่ได้รับอยู่แล้วเป็นรายเดือนแต่อย่างใด

(4)   การบันทึกเวลาไม่ถูกต้องไป 1 ชั่วโมง ไม่ได้ส่งผลต่อความเสียหายในการปฏิบัติงานของบริษัท ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้นายจ้างได้รับความเสียหายแก่การผลิตแต่อย่างใด อีกทั้งลูกจ้างได้ทำงานให้บริษัทมาตลอดทั้งวัน ไม่ได้มีการละทิ้งหน้าที่ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างมุ่งผลสำเร็จของงานบริษัทเป็นสำคัญ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยังไม่พอถือได้ว่าลูกจ้างทำการทุจริตต่อหน้าที่และยังไม่เป็นการทำผิดอาญาแก่นายจ้างแต่อย่างใด เพราะคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2839/2528 คำพิพากษาฎีกาที่ 2127/2530 คำพิพากษาฎีกาที่ 1102/2531 คำพิพากษาฎีกาที่ 1806/2540)

750
เมื่อหลายวันมาแล้ว มีลูกจ้างคนหนึ่งโทรมาคุยกับผมว่า ตนเองเป็นลูกจ้างที่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ได้ลงเวลาทำงานไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง  2 ครั้ง คือ เวลาจริง 17.30 น. แต่ได้บันทึกเวลาตอกบัตรเป็นเวลา 19.00 น. กับครั้งที่ 2 จากเวลาจริง 20.00 น. บันทึกเวลาตอกบัตรเป็นเวลา 21.14 น.  เมื่อหัวหน้างานทราบตนเองก็ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมีการสอบสวนขึ้นมา และการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่ตนเองกลับได้รับคำสั่งเลิกจ้างแล้ว จะต้องทำอย่างไรดี

หน้า: 1 ... 48 49 [50]