23/11/24 - 20:00 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: บริษัทย้ายที่ทำงาน แต่ไม่อยากไปครับ  (อ่าน 12588 ครั้ง)

สวัสดีครับ ผมค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการที่บริษัทฯย้ายสถานที่ทำงาน จนกระทั่งมาพบในเว็บฯของคุณ ซึ่งเป็นเดือนมีนาคม 2016 จึงไม่แน่ใจว่ายังครอบคลุมใช้ได้หรือไม่ครับ เรื่องที่ผมจะถามนั้น คือว่าผมเริ่มทำงานมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 บริษัทของผมตั้งอยู่ที่ ถ.ราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี เป็นอาคารพาณิชย์ที่เช่าอยู่ ต่อมาในวันที่ 14 เมษายน พี่ที่เป็นรักษาการ ผจก.ทั่วไป ก็ส่งข้อความมาทางไลน์กลุ่มพนักงานฯว่า ผู้บริหารฯมีนโยบายที่จะย้ายไปทำงานในสถานที่ใหม่ โดยไปใช้ที่ทำงานเดียวกับอีกบริษัทฯหนึ่ง(ซึ่งเป็นบริษัทฯในเครือ) ซึ่งในอนาคตก็คงยุบรวมกัน สถานที่ใหม่นี้ตั้งอยู่ในซอยวัดภคินีนาถ ถ.ราชวิถี แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด โดยระบุให้คำตอบภายในวันที่ 17 เมษายน นี้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วควรจะประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เพื่อสอบถามความสมัครใจของพนักงานฯ อันที่จริงผู้บริหารฯก็มีน้ำใจครับ จากการประกาศให้หยุดทำงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม - 30 เมษายน เพราะเกรงว่าพนักงานจะได้รับเชื้อไวรัสฯ และยังจ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่ง เรื่องนี้ยอมรับในน้ำใจของผู้บริหารฯเลยครับ แต่การที่ต้องย้ายไปสถานที่ทำงานใหม่ที่ไกลกว่าเดิมและเป็นเส้นทางที่มีจราจรแน่นขนัดในเวลาปกติ ผมจึงไม่พร้อมที่จะย้ายไปยังสถานที่ใหม่ บ้านพักผมอยู่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ การเดินทางไปและกลับย่อมต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม ค่าครองชีพก็ต้องเพิ่มขึ้น สภาพร่างกายและจิตใจที่ต้องเผชิญกับการจราจรที่ยาวนานขึ้น ย่อมเหนื่อยล้ากว่าเดิมและเสียสุขภาพจิตจากรถติด อย่างนี้ผมสามารถเรียกร้องสิ่งที่ควรจะได้ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่2) พ.ศ.2551 มาตรา 118 และมาตรา 120 ได้หรือไม่ครับ เราต้องรอผู้บริหารทำจดหมายเลิกจ้างเราก่อน ถึงจะได้เงินชดเชยหรือไม่ครับ? แล้วถ้าผู้บริหารฯไม่ทำจดหมายเลิกจ้างเรา เราสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯและเรียกร้องเงินชดเชยตามมาตรา 118 และมาตรา 120 ใช่ไหมครับ? หากผู้บริหารฯระบุว่าจำต้องย้ายไปยังสถานที่ทำงานแห่งใหม่ เพราะว่าเป็นการลดต้นทุนที่ไม่ต้องเสียค่าเช่าอาคารพาณิชย์ และเพื่อรักษาบริษัทฯให้คงอยู่ต่อไปจากผลประกอบการที่ขาดทุนอันเนื่องมาจากถูกพนักงานเก่ามีการยักยอกฉ้อโกงเงินบริษัทฯ ทำให้บริษัทฯมีหนี้สิน เหตุผลนี้เขาสามารถนำมาอ้างเพื่อไม่จ่ายชดเชยแก่เราได้หรือไม่ครับ? ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
Re: บริษัทย้ายที่ทำงาน แต่ไม่อยากไปครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 16, 2020, 03:16:01 pm »
อ่านแล้วก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายนะครับ เเต่เชื่อเถอะว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอครับ

ถามมาหลายประเด็น งั้นเครียร์ทุกประเด็นเลยครับ

ข้อเท็จจริงจากการเล่ามาว่า นายจ้างย้ายสถานประกอบการจาก แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ไปยังเขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด ซึ่งก็ห่างจากเดิมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร  แล้วถามว่า หากไม่ตามไปจะได้สิทธิเงินค่าชดเชยหรือไม่ อย่างไร

ก็ตอบว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้บัญญัติว่า "(วรรคหนึ่ง)นายจ้างซึ่งประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแห่งใดไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่หรือย้ายไปยังสถานที่อื่นของนายจ้าง ให้นายจ้างปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า โดยให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ และประกาศนั้นอย่างน้อยต้องมีข้อความชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด

(วรรค ๒) ในกรณีที่นายจ้างไม่ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(วรรค ๓) หากลูกจ้างคนใดเห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้น และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการในกรณีที่นายจ้างมิได้ปิดประกาศตามวรรคหนึ่ง และให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘..."

จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้รับรองไว้ว่าหากการย้ายสถานประกอบการนั้น "มีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้าง" เช่น ไม่มีเวลาไปส่งลูกไปโรงเรียน เสียเวลาเดินทางมากกว่าเดิมมาก หรือใช้เวลาเดินทางจากเดิม ๓๐ นาทีถึงบริษัท เปลี่ยนเป็น ๒ ชั่วโมง อย่างนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตแล้ว ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงานครับ

ปัญหาคือ ระยะทางที่เก่ากับที่ใหม่ อยู่ไม่ห่างกันมากนัก จะถือว่า ลูกจ้างจะได้รับผลกระทบสำคัญคือไม่ กรณีนี้ หากถึงเวลาจริงๆจะต้องหาข้อมูลและพยานหลักฐานประกอบว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไร เอาให้เห็นภาพนะครับ ซึ่งก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ทนายก็ได้ใช้โปรแกรมวัดระยะทางจากที่บอกมาปรากฎว่าได้ระยะประมาณ ๑๐ กม. ดังนั้น ถ้าอยากให้คดีไปได้สวยก็ต้องหาหลักฐานและข้อมูลตามที่บอกนะครับ

แล้วถามต่อว่า.. เราต้องรอผู้บริหารทำจดหมายเลิกจ้างเราก่อน ถึงจะได้เงินชดเชยหรือไม่ครับ? แล้วถ้าผู้บริหารฯไม่ทำจดหมายเลิกจ้างเรา เราสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯและเรียกร้องเงินชดเชยตามมาตรา 118 และมาตรา 120 ใช่ไหมครับ?

ก็ตอบว่า...ไม่ต้องรอหนังสือเลิกจ้างเลยครับ (ถ้าได้ก็ดีจะได้ไม่ต้องไปสู่ในมาตรา ๑๒๐ ถือว่านายจ้างเลิกจ้างก็รับค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ ไป) เพราะตามมาตรา ๑๒๐ วรรค กำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ๓๐ วัน หรือหากไม่แจ้งก็ไม่เป็นไร เมื่อมีคำสั่งให้ย้าย ก็ให้ทำหนังสือ "บอกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิต"  ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้าย สปก.ล่ะครับ

ส่วนที่บริษัทจะอ้างว่าบริษัทขาดทุน / ถูกฉ้อโกง ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกเว้นในการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายครับ

น่าจะครบถ้วนนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.

Re: บริษัทย้ายที่ทำงาน แต่ไม่อยากไปครับ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: เมษายน 16, 2020, 05:27:58 pm »
ขอขอบพระคุณครับสำหรับคำแนะนำ ทางผมก็ไม่คิดอยากจะต่อสู้ฟ้องร้องกับทางบริษัทฯที่อยู่มาเกือบ30ปี เพราะผมคิดเสมอมาว่าบริษัทฯคือครอบครัวผม และผมเคารพเจ้าของฯเสมือนพี่ชายคนโต แต่เมื่อลูกขึ้นมาบริหารแทนพ่อ หลายอย่างเปลี่ยนไปมากจริงๆครับ

mnsmns786

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
    • ฝากไม่มีขั้นต่ำ
Re: บริษัทย้ายที่ทำงาน แต่ไม่อยากไปครับ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: เมษายน 30, 2020, 10:39:21 pm »
ตามด้วยคนครับ