อ้างจากพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2546 เป็นต้นมา บัญญัติว่า "ผู้เสพ คือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร" ดังนั้นจะเน้นถึงกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามบุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ จะต้องถูกตำรวจจับในความผิดฐานเสพและมียาเสพติด หรือยาบ้า จำนวนไม่เกิน 5 เม็ดเท่านั้น จะถือว่าเป็นผู้เสพที่เข้าข่ายตามกฎหมายบังคับบำบัด
แต่หากมีตั้งแต่ 6 เม็ดขึ้นไปถือเป็นผู้ค้า ก็จะไม่เข้าข่ายในระบบบังคับบำบัดนี้
ซึ่งคนที่ติดยาจะต้องถูกส่งตัวไปตรวจพิสูจน์ก่อนจะใช้เวลา 15 วัน อาจขยายไปได้ไม่เกิน 30 วัน เพื่อตรวจพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสพหรือไม่
และระหว่างนี้จะถูกควบคุมตัว ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะอยู่ในเรือนจำ แต่ถ้าเป็นเด็กก็จะอยู่สถานพินิจ แต่บุคคลนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกฟ้อง ไม่มีคำพิพากษาของศาลว่ากระทำผิด ก็จะไม่ปนกับนักโทษเด็ดขาด
อีกทั้งยังมีกระบวนการตรวจสอบด้วยว่า คนที่ถูกจับถูกยัดข้อหาหรือไม่ อย่างไร
สำหรับระยะเวลาฟื้นฟูจะอยู่ที่ 4 เดือน และต่อได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าไม่สามารถฟื้นฟูได้ กระบวนการก็จะกลับมาสู่การพิจารณาทางอาญาตามปกติ
สำหรับในส่วนของกรมคุมประพฤติ มีสถานที่ฟื้นฟูฯ ที่อยู่ในสังกัดเพียงแห่งเดียวคือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (ลาดหลุมแก้ว) จังหวัดปทุมธานี ศูนย์แห่งนี้มีระบบการฟื้นฟูแบบควบคุมตัวอย่างเข้มงวด และรับผิดชอบฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากทุกท้องที่ทั่วประเทศ