23/11/24 - 15:58 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: เลิกจ้าง นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย  (อ่าน 2750 ครั้ง)

zenon

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
เลิกจ้าง นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย
« เมื่อ: ธันวาคม 08, 2021, 10:49:01 am »
4 ตค 54 - เริ่มงาน เป็นพนักงานรายเดือน นายจ้างเป็นร้าน เวลาทำงานคือ 8.00 - 17.00, จันทร์ - เสาร์

23 พค 56 - จดทะเบียนบริษัท ผู้ถือหุ้น 4 คน คือ 1.เจ้าของเดิม 2.ภรรยาเจ้าของ 3.ลูกชายเจ้าของ 4.ลูกสะใภ้เจ้าของ บริษัทซื้อกิจการร้าน โดยลูกสะใภ้เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจบริหารงานบริษัท

~ มิย 63 - พนักงาน ก. โดนนายจ้างสั่งให้หยุดงานไปก่อน เมื่อมีงานจะเรียกเข้ามาทำ พนักงาน ก. ปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไรดี เพราะว่าสั่งให้หยุดงานอย่างนี้ทำให้เขาขาดรายได้ ผมแนะนำให้ไปปรึกษาประกันสังคม พนักงาน ก. โทรไปหาเพื่อนที่ทำงานอยู่ประกันสังคม เพื่อนของพนักงาน ก. แนะนำว่าให้ไปปรึกษาที่สำนักงานสวัสดิการฯ

วันรุ่งขึ้นพนักงาน ก. ไปที่สำนักงานสวัสดิการฯ เจ้าหน้าที่ได้โทรเรียกนายจ้างเข้าไปเนื่องจากมีพนักงานมาร้องเรียน หลังจากนายจ้างกลับมาก็ได้เรียกประชุมพนักงานทั้งหมด โดยแจ้งว่า พนักงาน ก. ไปแจ้งกับสำนักงานสวัสดิการฯว่าถูกเลิกจ้าง แต่ตัวเค้า(นายจ้าง) แค่ให้หยุดงานไม่ได้จะเลิกจ้าง
หลังจากประชุม ผมเอางานไปให้นายจ้างตรวจ จึงได้คุยกันเรื่องพนักงาาน ก. อีก ผมบอกกับนายจ้างว่า ผมเป็นคนแนะนำให้พนักงานคนนั้นไปปรึกษาที่ประกันสังคม นายจ้างถามว่าทำไมไม่แนะนำให้มาคุยกับเค้า คราวหน้าหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก ให้แนะนำคนที่มาปรึกษาว่าให้มาคุยกับเค้า(นายจ้าง)แทน
จากเหตุการณ์นี้นายจ้างแจ้งด้วยวาจาว่าจะออกใบเตือนผม เรื่องยุยงให้แตกแยก แต่จนวันที่เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเรียกเข้าไปพบ ผมก็ยังไม่เคยเห็นใบเตือนฉบับนี้

~ สค 63 - ประชุมพนักงาน เรื่องบริษัทมีปัญหาทางการเงิน เนื่องจากโควิดทำให้ยอดขายน้อย เพื่อให้บริษัทดำเนินการต่อไปได้จึงขอความร่วมมือพนักงาน โดยตั้งแต่เดือน กันยายน 2563 ขอลดเงินเดือนลง 25 % สำหรับผมคือจาก 10,500(วันละ 350) เป็น 7,875 และปรับเวลางานเป็น 9.00 - 16.30, จันทร์ - ศุกร์ และเมื่อถึงปลายปี หากสถานะการดีขึ้น บริษัทจะปรับเงินเดือนกลับตามเดิม ซึ่งตอนนั้นพนักงานทุกคนยอม
 
~ ธค 63 - ประชุมพนักงาน เรื่องสถานะการณ์ของบริษัทยังไม่ดีขึ้น หลังปีใหม่ยังขอต่อเวลาการลดเงินเดือนออกไปอีก และปรับเวลางานเป็น 8.30-17.00, จันทร์-ศุกร์ หากสถานะการดีขึ้น บริษัทจะปรับเงินเดือนกลับตามเดิม

31 สค 64 - ประชุมพนักงาน ว่าทางบริษัทมีปัญหาทางการเงิน ทำให้ไม่สามาถจ่ายเงินเดือนของเดือนสิงหาคมได้ ขอเลื่อนการจ่ายออกไปก่อน เมื่อบริษัทมีรายรับเข้ามา จะทยอยจ่าย และเดือนกันยายน บริษัทจะปรับการทำงาน เหลือสัปดาห์ละ 2 วัน พนักงานคนหนึ่งได้ถามว่า แล้วจะคิดเงินเดือนอย่างไร กรรมการผู้จัดการ ตอบว่า จ่ายตามวันที่มาทำงาน หากใครตกลงให้เซ็นชื่อยินยอมในหนังสือที่ กรรมการผู้จัดการ เตรียมมา หากไม่ตกลงทางบริษัทจะเลิกจ้าง โดยจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามอายุงาน แต่เนื่องจากบริษัทยังไม่มีเงิน ฉะนั้นเงินชดเชยจะทยอยจ่ายเมื่อบริษัทมี ผมขอคิดดูก่อน ส่วนพนักงานที่เหลือเซ็นต์ยอมรับเงื่อนไขการทำงานใหม่

2 กย. 64 - หลังตอกบัตรเลิกงาน กรรมการผู้จัดการ ถามว่าเรื่องทำให้ทำงานสัปดาห์ละ 2 วัน ตกลงอย่างไร ผมตอบว่าผมเลือกให้เลิกจ้าง

24 กย 64 - ได้รับเงินเดือนของเดือน สค.

เดือนกันยายน ผมได้ถูกกำหนดให้มาทำงานวันอังคารและวันพฤหัสบดี ทำงานรวมทั้งหมด 9 วัน ระหว่างนี้เคยถาม กรรมการผู้จัดการ ว่า เงินชดเชยคิดจากเงินเดือนเดิม(10,500) หรือเงินที่ขอลด 25%(7,875)
กรรมการผู้จัดการ แจ้งว่าคิดจากยอดเงินเดือนที่ขอลด

30 กย 64 ทำงานวันสุดท้าย

5 ตค 64 - ได้รับเงินเดือนของเดือนกันยายน(ทำงาน 9 วัน) ยอดเงินจากเว็ปประกันสังคม 3,135 บาท (บริษัทไม่ทำสลิปเงินเดือนให้มานานแล้ว) คิดเป็นวันละ 348.33 บาท

22 พย 64 - ไลน์ถามเรื่องเงินชดเชย ผจก ตอบว่ายังไม่มี ถ้ามีจะทยอยให้

24 พย 64 - ยื่นคำร้องเรื่องเงินชดเชยเลิกจ้างที่สำนักงานสวัสดิการฯ จำนวน 240 วัน x 350 บาท เป็นเงิน 84,000 บาท

7 ธค 64 - เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานนัดเข้าไปพบ นายจ้างแจ้งว่าจะผ่อนจ่ายเงินชดเชยเป็นงวดๆ ประมาณ 6 หรือ 7 งวด รวมเป็นจำนวน 63,000 บาท(8 เดือน x 7,875) ที่เป็น 7,875 ต่อเดือน แทนที่จะเป็น 10,500 เพราะผมโดนลดเงินเดือนจากใบเตือนเรื่องที่เคยมีพนักงานมาร้องเรียนกับสำนักงานสวัสดิการฯ เพราะพนักงานคนนั้นถามผมว่าได้โบนัสหรือเปล่า แล้วผมบอกว่าได้ แต่พนักงานคนนั้นไม่ได้ โดยนายจ้างแจ้งว่า การบอกว่าได้โบนัสเป็นการเปิดเผยเงินเดือนซึ่งถือเป็นความลับ ห้ามเปิดเผย มีความผิดตามกฏของบริษัท
ผมไม่ยินยอมตามที่นายจ้างว่า ผมขอให้ชดเชยที่ยอดเงินเดือนเดิม ชำระทั้งหมดในครั้งเดียว เนื่องจากผมคิดว่านายจ้างมีเจตนาไม่จ่ายค่าชดเชยตั้งแต่แรกถ้าให้ผ่อนชำระอาจจะจ่ายแค่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว และผมไม่มั่นใจว่าบริษัทจะยังเปิดกิจการนานพอที่จะชำระครบหรือเปล่า
เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน แจ้งว่าขอตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ก่อน หากต้องการหลักฐานเพิ่มจะติดต่อไปอีกที
หลังจากนายจ้างกลับไปแล้วผมได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าใบเตือนที่นายจ้างเอามาเป็นเหตุผลในการลดเงินเดือนไม่เป็นความจริงและได้เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับใบเตือนให้ฟัง

สอบถามดังนี้ครับ
1.บริษัทออกใบเตือนแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ และสามารถเอาใบเตือนมาลดเงินเดือนได้หรือเปล่าครับ
2.ยอดเงินชดเชยที่ผมเรียกถูกต้องไหมครับ
3.ผมขอให้จ่ายครั้งเดียว นายจ้างอ้างไม่มีเงินขอผ่อน ถ้าผมไม่ยอมจะเป็นอย่างไรครับ
4.หากตกลงให้นายจ้างผ่อน ต่อมานายจ้างไม่ยอมจ่าย ต้องทำอย่างไรครับ
5.เงินเดือนที่ถูกลด 25% ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัด(320 บาท) ตอนเขียนคำร้องครั้งแรกไม่ได้เรียกร้อง ผมสามารถเรียกร้องส่วนนี้เพิ่มได้ไหมครับ
6.หากพบว่าข้อความในใบเตือนไม่เป็นความจริง นายจ้างมีความผิดไหมครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 08, 2021, 11:37:37 am โดย zenon »

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
Re: เลิกจ้าง นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 12, 2021, 09:16:23 am »
ทนายมีเวลาน้อย ตอบตามที่ถามเลยนะครับ ;D ;)
ถามมาว่า...
สอบถามดังนี้ครับ
1.บริษัทออกใบเตือนแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ และสามารถเอาใบเตือนมาลดเงินเดือนได้หรือเปล่าครับ?
ตอบ การตักเตือนคือการลงโทษตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งจะต้องกลับไปดูข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวดวินัยและโทษทางวินัยไว้ว่าอย่างไร มีเรื่องของการตัดค่าจ้างหรือไม่ อย่างไร แต่ทนายไม่คอยเจอการลงโทษด้วยการลดเงินเดือนนะครับ เอาเป็นว่า เวลาที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้าง ก็จะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือว่ากระทำผิดเมื่อใด ความผิดใด โทษที่ได้รับจะอ้างอิงข้อบังคับหรือกฎหมายข้อใด มาตราใด และต้องแจ้งว่าจะต้องไม่ทำความผิดซ้ำอีก จึงจะถือว่าเป็นการลงโทษโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยสรุป การกล่าวอ้างว่าเอาใบเตือนมาลดเงินเดือนคงเป็นเพียงข้ออ้างล่ะครับ

2.ยอดเงินชดเชยที่ผมเรียกถูกต้องไหมครับ?
ตอบ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ได้บัญญัติวิธีคิดหลักการคำนวนเงินค่าชดเชยไว้ว่า ให้คิดจาก "ค่าจ้างสุดท้าย" ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า ค่าจ้างสุดท้ายของเราเป็นเท่าใด ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีค่าจ้างเดือนละ ๑ หมื่นบาท การคิดค่าชดเชยก็จะคำนวณที่ฐาน ๑ หมื่นบาท แต่หากต่อมานายจ้างมาขอลดค่าจ้างลงเหลือเดือนละ ๘ พันบาท โดยที่เรายินยอม ย้ำ เรายินยอม ในการคำนวณคิดค่าชดเชยก็จะใช้ฐานคิดที่ ๘ พันบาท เพราะถือเป็นค่าจ้างสุดท้าย เป็นต้น เว้นแต่การลดค่าจ้างนั้นมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยที่เต็มจำนวนก็ต้องว่ากันเป็นกรณีๆไปตามพยานหลักฐานละครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างที่นำมาคำนวณค่าชดเชยนั้น จะต้องไม่ต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่าเราจะยินยอมให้ลดแต่ก็ลดได้เพียงเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ หากเกินกว่านั้น ถือว่าข้อตกลงที่เรายอมไปนั้นเป็นโมฆะครับ

3.ผมขอให้จ่ายครั้งเดียว นายจ้างอ้างไม่มีเงินขอผ่อน ถ้าผมไม่ยอมจะเป็นอย่างไรครับ?
ตอบ หากเราไม่ยอมเราก็ยืนยันให้พนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งให้นายจ้างปฎิบัติตามคำสั่งภายใน ๓๐ วัน หากเกินระยะเวลาที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้วนายจ้างยังไม่จ่ายก็ให้แจ้งพนักงานตรวจแรงงานดำเนินคดีอาญากับนายจ้างฐานไม่ปฎิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งเรื่องนี้ศาลเคยมีคำพิพากษาจำคุกและปรับนายจ้างเป็นคดีตัวอย่างแล้ว แต่กระบวนการในส่วนค่าจ้างตามคำสั่งที่ค้างก็ต้องไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยต่อไป หรือหากยังไม่จ่ายอีกก็ยึดทรัพย์บังคับคดีตามขั้นตอนครับ

4.หากตกลงให้นายจ้างผ่อน ต่อมานายจ้างไม่ยอมจ่าย ต้องทำอย่างไรครับ
ตอบ ก็ต้องนำสัญญานั้นไปฟ้องต่อศาล และยึดทรัพย์บังคับคดีล่ะครับ

5.เงินเดือนที่ถูกลด 25% ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัด(320 บาท) ตอนเขียนคำร้องครั้งแรกไม่ได้เรียกร้อง ผมสามารถเรียกร้องส่วนนี้เพิ่มได้ไหมครับ?
ตอบ หากพนักงานตรวจแรงงานยังไม่ได้ออกคำสั่ง ก็สามารถไปยื่นคำร้องเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าออกคำสั่งแล้ว ก็จะยากนิดนึง เพราะต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยว่าค่าชดเชยควรจะไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่อธิบายไว้ตอนต้นครับ

6.หากพบว่าข้อความในใบเตือนไม่เป็นความจริง นายจ้างมีความผิดไหมครับ
ตอบ ก็คงจะมีความผิดที่ข้อความไม่จริง แต่เรื่องนี้คงเอาผิดยากเพราะเป็นมุมมองของนายจ้าง แต่ถ้าข้อความที่ผิดนั้นไปปรากฎอยู่ในหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าพนักงาน ก็จะมีความผิดฐานแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นคดีอาญา

ครบถ้วนนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ทนายพร.
[/color]