24/11/24 - 15:09 pm


ผู้เขียน หัวข้อ: สัญญาจ้างทำงานแบบ TOR ที่มีระยะเวลาจ้างชัดเจนเป็นสัญญาทำของหรือสัญญาจ้างแรงงาน  (อ่าน 10682 ครั้ง)

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
มีเจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชนหลายคน (NGOs) มักส่ง mail มาถามว่า สัญญาจ้างทำงานแบบ TOR ที่มีระยะเวลาจ้างชัดเจน เช่น 1-5 ปี เป็น “สัญญาแบบจ้างทำของ” หรือ “สัญญาจ้างแรงงาน” และถ้าหัวหน้างานกระทำการอันไม่เป็นธรรม มีการเลิกจ้างโดยตนเองไม่ได้ทำผิด หรือเลิกจ้างก่อนเวลาที่ระบุไว้ใน TOR ดังกล่าวนั้น สามารถฟ้องศาลแรงงานเรียกค่าชดเชยได้หรือไม่ อย่างไร

ทนายพร

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 758
    • ดูรายละเอียด
ก่อนที่จะถึงคำตอบของคำถามนี้ มีตัวอย่างน่าสนใจ โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ศาลแรงงานอ่านคำวินิจฉัยของอธิบดี ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 73/2555 เรื่อง เขตอำนาจศาลในคดีแรงงาน คดีระหว่าง นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ โจทก์ กับ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำเลย

โดยระบุว่า โจทก์กับจำเลย มีฐานะเป็นลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทำของ จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแรงงานที่จะรับฟ้อง โดยพิจารณาจาก

(1) อำนาจการควบคุมหรืออำนาจการบังคับบัญชาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน ยิ่งมีการควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานมากเพียงไร ก็ย่อมชี้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงาน

(2) มีการจ่ายค่าตอบแทนเมื่องานสำเร็จ หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นระยะๆโดยสม่ำเสมอ เพราะหากมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นระยะๆโดยสม่ำเสมอก็เป็นสัญญาจ้างแรงงาน

(3) ใครเป็นเจ้าของเครื่องใช้ไม้สอยประจำสำนักงาน เช่น โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ หากผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ก็ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน

(4) แม้ว่าในสัญญาจ้างจะระบุว่า ให้การจ้างงานตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ก็มิใช่เป็นกรณีที่จะยกเว้นว่าสัญญาจ้างนี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น

เพียงแต่เป็นการแค่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป แต่มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้ และมีผู้ตกลงจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่เป็นการจ้างแรงงาน

ซึ่งการจะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามสัญญาเป็นสำคัญ เช่น ผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างเป็นรายเดือน ในอัตราเดือนละ..........บาท กำหนดจ่ายทุก...................

ดังนั้นจากการระบุเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่า เป็นการจ่ายค่าจ้างที่แน่นอน สม่ำเสมอ โดยมิได้คำนึงผลสำเร็จของงาน แบบสัญญาจ้างทำของ เป็นสำคัญ

หรือการกำหนดสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ผู้รับจ้างจะได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้รับงานปฏิบัติตามสัญญานี้ เช่น การลาป่วยตามระยะเวลาที่ป่วยจริง เป็นต้น

(5) สัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้การปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามข้อบังคับ กฎ ระเบียบของผู้ว่าจ้างหรือองค์กรผู้ว่าจ้าง หรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าการทำงานหรือการบริหารงานของผู้รับจ้างมิใช่ดำเนินการได้โดยอิสระ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล และบังคับบัญชาของคนที่อยู่สูงกว่า อีกทั้งยังมีการระบุเรื่องเวลาบอกเลิกสัญญาไว้ด้วย

เหล่านี้ทั้ง 5 ข้อ คือ ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ที่ผู้รับจ้างสามารถฟ้องศาลแรงงานกลางเรียกค่าชดเชยจากผู้ว่าจ้างได้ตามที่กฎหมายกำหนดครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 18, 2018, 05:46:14 pm โดย ทนายพร »