โดยทั่วไปแล้วการกระทำใดจะเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่นั้ น ศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป ไม่ได้เชื่อตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละบริษัทได้กำหนดไว้
ศาลฎีกาเคยให้เหตุผลไว้ว่า หากถือว่าการกระทำผิดตามที่นายจ้างกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงทุกเรื่องตามที่นายจ้างเขียนไว้ ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง เพราะนายจ้างอาจกำหนดทุกเรื่องเป็นความผิดร้ายแรงได้
อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาข้อเท็จจริงลงไปอีกว่า การกระทำดังกล่าวเกิดความเสียหายต่อนายจ้างอย่างไร หรือไม่
ถ้าเป็นการให้ร้ายบริษัท บริษัทอาจได้รับความเสียหายตามมา แต่ถ้าเป็นเพียงการส่งภาพลามกอนาจารด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท ส่งไปให้เพื่อน แต่บริษัทไม่ได้เสียหาย จึงไม่ถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง
เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 11613/2554 วินิจฉัยไว้ว่า แม้พนักงานจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายจ้างเพื่อการส่วนตัว แจกจ่ายภาพลากมกอนาจารไปยังเพื่อนร่วมงาน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ และรูปถ่ายที่จัดส่งไปเป็นภาพโป๊ลามกอนาจารซึ่งไม่เหมาะสม
แต่เมื่อผู้รับก็ทราบว่าผู้ที่ส่งมากระทำในนามส่วนตัว มิใช่กระทำในนามบริษัทโจทก์ ความเสื่อมเสียโดยตรงก็น่าจะตกแก่พนักงานเอง ไม่เกิดผลกระทบต่อนายจ้างมากนัก จึงยังไม่ถึงกับเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งยังถือไม่ได้ว่า ตั้งใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันจะทำให้โจทก์เลิกจ้าง ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีกเช่นกัน