ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ดังนั้นนายจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะมาบังคับให้ลูกจ้างทำ OT ได้ ยกเว้นเพียง “ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น” เช่น ในกรณีของโรงงานหลอมแก้ว ที่หากหยุดทำงานแล้วเกิดเตาไฟดับ แก้วที่หลอมแข็งตัวเสียหายเป็นสิบล้านบาท แบบนี้ก็ถือว่าให้ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น เป็นต้น
ดังนั้นการที่นายจ้างหรือหัวหน้างานให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไปครับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 ดังนั้นหากลูกจ้างไม่ยินยอมทำ นายจ้างก็ไม่สามารถบังคับได้ แต่หากเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างด้วย
มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985-2986/43
งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปนั้นคือ งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ ถ้าหยุดก่อนงานที่ทำจะเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินคือ งานที่เกิดในทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายล่วงหน้าได้และงานนั้นต้องทำให้เสร็จทันทีมิฉะนั้นงานจะเสียหาย เมื่องานที่ลูกจ้างได้รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำล่วงเวลาต่อ ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมเสียหายแต่อย่างใด และการที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่สามารถคาดหมายได้ จึงไม่ใช่งานฉุกเฉิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121/43
การที่นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะทำให้แตกต่างไปจากกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบฯหาได้ไม่ หากนายจ้างมีความประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาใด นายจ้างต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานไว้ล่วงหน้า และหากจะออกคำสั่งอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว หากไม่สอดคล้องก็ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 24