สวัสดีครับ ยินดีให้คำปรึกษาครับ ซึ่งจากที่เล่ามานี้ก็เข้าใจว่าอยู่ในภาวะเครียดพอสมควร ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจอย่างชัดเจนก็จะขออธิบายให้เข้าใจแบบยาวๆตามคำถามเลยนะครับ
ดังนี้ครับ
คำถาม..คือที่บริษัทเวลาเลิกจ้างพนักงาน เขาไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินก้อนทีเดียวทั้งหมด แต่กลับใช้วิธีผ่อนจ่ายทีละเดือนจนครบตามตกลง ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นการยุติธรรม เช่นนี้แล้วไม่ทราบว่าผมสามารถไม่ยอมรับวิธีการนี้ของบริษัทได้หรือไม่ครับ แล้วหากไม่ยอมรับแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะบังคับให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเต็มจำนวนในครั้งเดียวได้ครับ ในเรื่องนี้มี กม. รองรับหรือไม่ครับ
ตอบ...กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยภายในกี่วัน แต่มีบทบัญญัติที่ใกล้เคียงที่เทียบได้อยู่ 2 มาตรา ดังนี้
มาตรา 9 ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่าง เวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี
ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดย ปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน
มาตรา 70 วรรคท้าย ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วง เวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามที่ลูกจ้าง มีสิทธิได้รับ ให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง”
หมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิดแล้ว นายจ้างต้องมี “หน้าที่” ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ม.118) เต็มจำนวน หากเกินเวลา 7 วันลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 7 วัน (นับเพิ่มทุกเจ็ดวันจนกว่านายจ้างจะจ่าย เช่น มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย 10,000 บาท เมื่อพ้นไปเจ็ดวันลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาท + เงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 อีกจำนวน 1,500 บาท รวมเป็น 11,500 บาท หากยังไม่จ่ายอีก ก็จะเป็นต้นเงิน 10,000 บาท + เงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 เป็นเงิน 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท ซึ่งหากยังไม่จ่ายอีกก็จะคิดไปเรื่อยๆจนกว่านายจ้างจะจ่าย ทั้งนี้ การที่นายจ้างไม่จ่ายต้อง “ปราศจากเหตุผลอันสมควร” ด้วย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างที่จะแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เว้นแต่ลูกจ้างจะยินยอมและยอมรับเงื่อนไขการแบ่งจ่ายครับ
คำถาม..อีกเรื่องในกรณีเป็นเรื่องขึ้นศาลเเรงงาน มีขั้นตอนการพิจารณาเนินนานเพียงใดครับ ซึ่งในระหว่างที่เรื่องพิพาทในชั้นศาลนั้น ระยะเวลาที่ผ่านไปนับจากวันเลิกจ้างโดยที่ผมยังไม่ได้ค่าชดเชย ค่าเสียหายต่างๆนั้น เมื่อคดีสิ้นสุดหากผมชนะ เวลาในส่วนนี้ทางบริษัทต้องชดเชยกลับมาด้วยหรือไม่ครับ และมีหลักเกณฑ์อย่างไร
ตอบ...ศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษ โดยใช้ระบบไต่ส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดี (ในทางปฎิบัติแล้วจะไม่ค่อยเป็นเช่นนี้แต่จะใช้ระบบการพิจารณาเหมือนคดีแพ่งตามปกติ คือเป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏในสำนวน) ส่วนการดำเนินคดีนั้น สามารถที่จะร้องขอให้นิติกรประจำศาลจัดทำคำฟ้องให้ได้ และหลังจากนั้น ก็จะมีการนัดไกล่เกลี่ยนัดแรก (ประมาณ 45 วันนับแต่วันยื่นฟ้อง) หากตกลงกันไม่ได้จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเต็มรูปแบบ ก็คือศาลจะสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การ หลังจากนั้นก็จะเป็นการ “กำหนดประเด็นข้อพิพาท” และกำหนดวันในการ “สืบพยาน จำเลย” และ “สืบพยานโจทก์” เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนี้แล้ว ศาลก็จะทำ “ร่าง” คำพิพากษาและนัดคู่ความมาฟังคำพิพากษาต่อไป(โดยทั่วไปประมาณ 1 เดือน) และหลังจากนั้นประมาณ 15-30 วันจึงจะไปขอคัดคำพิพากษาได้ครับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่ความยากง่ายของคดีครับ
ถ้าลูกจ้างชนะลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินตาม “คำขอท้ายฟ้อง” ซึ่งอยู่ที่เราจะขอให้ศาลพิพากษาอย่างไร ซึ่งหากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะต้องมีคำขอให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 ซึ่งมีแนวคำพิพากษาฎีกาไว้ประมาณว่าคิดจากอายุงานที่ทำงานมา “ปีละเดือน” ครับ และในการดำเนินคดีแรงงานนั้นไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลแต่อย่างไดครับ
รบกวนแนะนำชี้เเนะด้วยนะครับว่าผมควรทำอย่างไร ทางบริษัทจะเรียกเข้าไปแจ้งเลิกจ้างในวันอังคารนี้แล้วครับ ผมจะได้เตรียมการได้ถูกว่าจะทำอย่างไร
ส่วนข้อแนะนำคือ ไม่ต้องเซ็นต์ใบลาออก หรือไม่ต้องเซ็นต์ยอมรับเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น และยืนยันให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนภายใน 7 วันครับ ถ้านายจ้างไม่จ่ายก็ไปใช้สิทธิได้ 2 ช่องทาง คือ ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (เรื่องค่าจ้าง,ค่าชดเชย,ดอกเบี้ย,เงินเพิ่ม ซึ่งเป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) หรืออีกช่องทางหนึ่งก็คือไปใช้สิทธิทางศาล ตามคำตอบข้างต้นครับ ให้กำลังใจครับ
ทนายพร